โตมร ศุขปรีชา
โดยไม่ได้นัดหมาย จู่ๆ ก็เกิดปรากฏการณ์ ‘นักวิ่ง’ ขึ้นในแวดวงเพื่อนฝูงและคนรู้จักเต็มไปหมด
‘นักวิ่ง’ ที่ว่า ไม่ใช่นักวิ่งราวหรือนักวิ่งเต้นนะครับ แต่เป็น ‘นักวิ่ง’ จริงๆ ในความหมายของ ‘นักวิ่งมาราธอน’
เพื่อนและคนรู้จักมากมายหันมาวิ่งมาราธอนกันจริงจัง ไม่ว่าจะมีการแข่งที่ไหน ทั้งในและนอกกรุงเทพฯ ต่างก็หันมาออกวิ่งกันเป็นจำนวนมาก ทั้งที่วิ่งแบบเต็มมาราธอน ครึ่งมาราธอน หรือเสี้ยวมาราธอน
รุ่นน้องคนหนึ่งบอกว่า การวิ่งทำให้เขารู้สึกเหมือนกลับไปเป็นหนึ่งเดียวกับผืนโลกอีกครั้ง โดยเฉพาะเมื่อถอดรองเท้าวิ่ง
หลายคนเสาะแสวงหารองเท้าวิ่งดีๆ ราคาแพงๆ บางยี่ห้อนั้น ราคารองเท้าวิ่งพุ่งขึ้นไปถึงเกือบหมื่นหรือเลยหมื่นบาทต่อคู่ แต่กับรุ่นน้องคนนี้ เขาบอกผมว่า การวิ่งไปอย่างเปลือยเปล่านั้น ทำให้การวิ่งมี ‘ความหมาย’ บางอย่างมากมายนัก
นักปั่นจักรยานในชีวิตประจำวันอย่างผมได้แต่บอกเขาว่า การวิ่งเหนือกว่าการขี่จักรยานก็ตรงนี้นี่เอง ผมไม่อาจปั่นจักรยานโดยเปลือยเท้าได้ เนื่องจากบันไดจักรยานของผมขรุขระเพื่อไว้ยึดเกาะกับพื้นรองเท้า การปั่นจักรยานเท้าเปล่าจึงเป็นเรื่องเจ็บปวดจนเกินทน
เขาทำให้ผมนึกถึง มูราคามิ นักเขียนดังที่ชอบวิ่งเป็นชีวิตจิตใจ นึกถึงประโยคที่น่าจะโดดเด่นมากที่สุดในหนังสือเรื่อง What I Talk about When I Talk about Running และหลายคนชอบอ้างอิงถึง นั่นคือประโยคที่บอกว่า
Pain is inevitable. Suffering is optional.
ซึ่งผมชอบแปลแบบขยายความนิดหน่อยว่า,
ความเจ็บปวดนั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่จะเป็นทุกข์กับมันหรือไม่คือทางเลือกของเรา
หลายคนอาจนึกว่า การวิ่งเปลือยเท้าน่าจะเป็นความสบายอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อวิ่งเปลือยเท้าเข้าสู่สนามหญ้าที่นุ่มสบายราวกับปูพรม สีเขียวอันสดใสเจิดจ้าใต้ท้องฟ้าครามเข้มนั้นทำให้จิตใจของเราร่าเริง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีใครรู้หรอกว่าใต้พรมหญ้าสีเขียวสดนั้น มีหลุมเล็กหลุมน้อยหรือหลุมใหญ่ซุกตัวอยู่มากแค่ไหน ใต้หญ้าที่มองเผินๆ เหมือนเรียบนั้น แท้จริงแล้วซ่อนหนามของไมราพยักษ์เอาไว้มากแค่ไหน
เพราะฉะนั้น การวิ่งเปลือยเท้าจึงไม่ใช่เรื่องสบายเสมอไป
หลายครั้งการวิ่งเปลือยเท้าทำให้เราต้องเจ็บปวด
และอาจเจ็บปวดแสนสาหัสถึงชีวิตได้ด้วยซ้ำ
โดยเฉพาะเมื่อวิ่งไปเหยียบตะปู
การวิ่งเปลือยเท้าเหมือนกับการที่เราพาตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์บางอย่างที่ไร้สิ่งปกป้อง เมื่อไม่มีอะไรมาปกป้องเท้าของเรา หนามไหน่ ก้อนกรวด หรือเศษหินคมๆ ก็อาจบาดเท้าเราได้ทุกเมื่อ ดังนั้น การวิ่งเปลือยเท้าจึงมีความเจ็บปวดแทรกซ่อนอยู่ แต่กระนั้น เราจะเป็นทุกข์กับมันหรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการทำงานของสัญญาณประสาทที่ส่งผ่านไปสู่สมองทำให้สารสื่อประสาทแล่นพล่านแทบเดือด-มากเท่ากับ ‘ความคิด’ ของเราเองที่มีต่อเรื่องนั้นๆ
มีอยู่ท่อนหนึ่งในหนังสือเล่มนั้นของมูราคามิที่ผมชอบ เขาเขียนไว้ว่า
ผมมองขึ้นไปบนท้องฟ้า พลางสงสัยว่าผมจะได้พบเห็นแวบแห่งความเมตตากรุณาบนนั้นบ้างไหม แต่ผมไม่เคยพบเลย ทั้งหมดที่ผมเห็น ก็คือเมฆแห่งฤดูร้อนเหนือมหาสมุทรแปซิฟิกที่ล่องลอยไปอย่างเฉยเมย พวกมันไม่ได้พูดอะไรกับผม เมฆนั้นเงียบขรึมเสมอ ผมไม่น่ามองพวกมันเลย สิ่งที่ผมควรมองก็คือภายในตัวเอง เหมือนมองลงไปในบ่อน้ำลึก ผมพบความเมตตากรุณาในนั้นไหม ไม่ ทั้งหมดที่ผมพบเห็นก็คือธรรมชาติของตัวเอง ธรรมชาติของตัวผมเองที่เป็นปัจเจก ดื้อรั้น ไม่ให้ความร่วมมือ และบ่อยครั้งก็เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง แถมยังสงสัยในตัวเองด้วย ตัวตนที่หากเกิดปัญหาขึ้น จะพยายามหาเรื่องตลก หรือบางเรื่องที่เกือบตลก ในปัญหานั้นๆ ผมแบกเอาบุคลิกแบบนี้ไปด้วยเหมือนกระเป๋าเสื้อผ้าเก่าๆ ไปตามเส้นทางยาวไกลเปื้อนฝุ่น ผมไม่ได้แบกมันไปเพราะผมชอบมัน ตัวตนของมันนั้นหนักเกินไป แลดูไร้ค่า หลุดลุ่ยเป็นจุดๆ ผมแบกมันไปกับผมเพราะไม่มีสิ่งอื่นใดอีกแล้วที่ผมควรจะแบก แต่กระนั้น ผมเดาว่าผมคงเติบโตขึ้นมาโดยคุ้นเคยกับมัน เหมือนที่คุณอาจคาดหวัง
มนุษย์เราออกวิ่งเมื่อเนิ่นนานมาแล้ว สมัยที่บรรพบุรุษของเรายังเป็นโฮมินิด หรือมนุษย์ดึกดำบรรพ์ เราถูกบีบให้ต้องออกจากป่าเพื่อมาวิ่งอยู่ในทุ่งหญ้า แอฟริกาในตอนนั้นเปลี่ยนแปลงจากป่าฝนเขตร้อนกลายมาเป็นทุ่งหญ้า รอบข้างแล้งแห้ง มีต้นอะเคเซีย (กระถิน) ขึ้นอยู่ประปราย แท้จริงแล้ว ป่าฝนเขตร้อนถอยร่นออกไปจากถิ่นที่อยู่ของเรามากกว่าที่เราจะกระโดดออกจากต้นไม้เพื่อมาอยู่ในทุ่ง แต่การอยู่ในทุ่งก็กลับเป็นผลดีกับเราในหลายเรื่อง เพราะมนุษย์นั้นมีขนาดความสูงที่พอเหมาะกับทุ่งหญ้า เราจึงมองเห็นทั้งเหยื่อและศัตรูได้ดี นั่นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เผ่าพันธุ์มนุษย์รอดชีวิตอยู่มาได้
ที่สำคัญ นักวิทยาศาสตร์ยังค้นพบอีกว่า ในช่วงนั้น มนุษย์อาจติดเชื้อไวรัสบางอย่างที่ทำให้ดีเอ็นเอของเรากลายพันธุ์ มนุษย์จึงสร้างเอนไซม์ย่อยแป้งขึ้นได้ในน้ำลาย ทั้งที่ก่อนหน้านั้นไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ ผลก็คือ เรามีความสามารถในการกินรากไม้หรือพืชหัวต่างๆ ที่เต็มไปด้วยแป้งโมเลกุลใหญ่ได้มากขึ้น และรากไม้หรือพืชหัวเหล่านี้ก็มีอยู่อุดมสมบูรณ์ในทุ่งหญ้า การ (ถูกบังคับให้) ออกมาสู่ทุ่งหญ้าของเราจึงกลายเป็นเรื่องที่ดีต่อวิวัฒนาการในการเป็นไพรเมตของเรา
แต่นั่นยังไม่หมด ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญมากต่อวิวัฒนาการและความอยู่รอดของเรามาจนถึงทุกวันนี้
สิ่งนั้นคือการวิ่ง!
นักวิ่งมาราธอนระดับโลกชื่อ ฌอว์น ฟาวด์ ซึ่งเป็นแชมป์วิ่งระยะ 25 กิโลเมตรของสหรัฐอเมริกา เคยพูดถึงความรื่นรมย์ในการวิ่งเอาไว้ว่า
“เมื่อคุณออกวิ่ง คุณ…ก็ได้ปลดปล่อยการล่า การวิ่งคือการล่าเหยื่อที่วิ่งเร็วกว่าคุณเป็นระยะทาง 30 ไมล์ แกะรอยเหยื่อไปเพื่อนำเอาชีวิตกลับมาสู่หมู่บ้านของคุณ มันคือสิ่งที่สวยงาม”
การวิ่งจึงไม่ใช่แค่การวิ่ง เราวิ่งเพื่อล่า สัตว์ป่าอื่นๆ อย่างกวางอาจวิ่งได้เร็วกว่าเรา แต่สิ่งที่เรามีมากกว่าก็คือ ความอดทนอดกลั้น มนุษย์อาจวิ่งช้ากว่า แต่เรามีความทรหดอดทนมากกว่า เราค่อยๆ แกะรอยสัตว์พวกนั้นไปจนพวกมันหมดเรี่ยวแรง ที่สุดเราก็สามารถนำพวกมันกลับมาเป็นอาหารได้
การวิ่งจึงไม่ใช่แค่การวิ่ง-แต่การวิ่งคือชีวิต
การวิ่งคือการปลดปล่อยตัวเองให้หวนคืนสู่รากเหง้า ตรงข้อต่อของวิวัฒนาการในการเติบโตเพื่อมาเป็นมนุษย์อย่างที่เราเป็นกันอยู่ในปัจจุบัน
ผมไม่รู้หรอกว่า ปรากฏการณ์นักวิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้คน-โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ เหมือนเป็นแฟชั่นใหม่นั้นจะยั่งยืนต่อไปอีกนานสักแค่ไหน แต่ปรากฏการณ์จักรยานได้ยืนยันกับเราว่า บางเรื่องราวก็อาจยั่งยืนได้ ถ้ามันมีเหตุผลในตัวของมันเองมากพอ
ถ้าการวิ่งของมูราคามิ คือการวิ่งเพื่อมองลึกลงไปในบ่อน้ำในตัว และการวิ่งของนักวิ่งมาราธอนบางคนคือการหวนคืนเป็นหนึ่งเดียวกับบรรพบุรุษในยุคข้อต่อของวิวัฒนาการ,
คุณเล่า คุณคิดว่า ‘การวิ่ง’ มีเหตุผลในตัวเองมากพอที่จะทำให้ตัวคุณลุกขึ้นออกวิ่งบ้างไหม
****************************
(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ Cramp นิตยสาร Way ฉบับ 71)