ลองจินตนาการว่าคุณกำลังติดเกาะ ออกไปไหนไม่ได้เป็นเดือนๆ หรือวันที่หมู่บ้านของคุณเต็มไปด้วยซอมบี้ คุณจำเป็นต้องหลบหนีพวกมัน อาหารเป็นปัจจัยพื้นฐานในการขังตัวเองอยู่ในบ้านเป็นเวลานาน ท่ามกลางเงื่อนไขเช่นนี้ เราคงไปหาอาหารร้อนๆ อุ่นๆ พร้อมเสิร์ฟไม่ได้ หนทางเดียวที่พอจะทำให้มีชีวิตรอดอาจหนีไม่พ้นอาหารกระป๋อง
หากย้อนเวลากลับไปราวๆ เกือบหนึ่งปีที่ผ่านมา ทุกประเทศทั่วโลกจำต้องตกอยู่ในภาวะเลวร้ายจากการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัส แน่นอนว่าโรคระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบไปทุกแวดวง ไม่ว่าการแพทย์ สุขภาพ สังคม โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่พังครืนและยังคงเป็นโจทย์ท้าทายของหลายประเทศที่ต้องเร่งแก้ไข แต่ไม่เพียงเท่านั้น เพราะผลพวงความเดือดร้อนของวิกฤติโควิด-19 ยังก่อให้เกิดพฤติกรรมและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป
ระยะแรกของการแพร่ระบาดทำให้สถานการณ์ทั่วโลกค่อนข้างตึงเครียด ทุกคนอยู่ด้วยความระแวงและหวาดกลัว มนุษย์จำเป็นต้องปรับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของตัวเอง คนหนุ่มสาวจากเดิมที่เดินทางไปทำงานที่ออฟฟิศจำต้องเปลี่ยนมาทำงานที่บ้าน (work from home) นักเรียนนักศึกษาต้องหันไปเรียนออนไลน์ทางไกลผ่านจอสี่เหลี่ยม ทั้งหมดนี้ก็เพื่อการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) และลดความเสี่ยงในการรับเชื้อ
ทว่าการกักตัวอยู่ในบ้านนานๆ โดยไม่ได้ออกไปไหน กลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นของอะไรหลายอย่าง โดยเฉพาะพฤติกรรมการกิน
ข้อมูลจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์ของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของไทยไว่ว่า วิกฤติโควิด-19 ทำให้สินค้าในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มมีการเปลี่ยนแปลงไปจากสถานการณ์ปกติ ไม่ว่าจะเป็นอาหารสำเร็จรูป อาหารทะเลกระป๋อง ผลไม้กระป๋อง รวมถึงซอสปรุงรสกลายเป็นกลุ่มที่เติบโตได้ดีในช่วงกักตัวอยู่กับบ้าน เพราะทุกคนพยายามเก็บกักตุนอาหารไว้เพื่อการบริโภค เนื่องจากมีความไม่แน่ใจในนโยบายการล็อคดาวน์ (lockdown) ของรัฐบาล ซึ่งแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันไป
สอดคล้องกับข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ ที่ระบุว่าหลังจากเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ประชาชนในหลายประเทศทั่วโลกมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่บ้านเพิ่มมากขึ้น และมีความต้องการซื้อสินค้าอาหารที่เก็บไว้ได้นานมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอาหารแห้งหรืออาหารกระป๋อง นี่จึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สินค้าอาหารกระป๋องมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน
ในมุมหนึ่ง นี่จึงเป็นโอกาสที่ประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปอันดับต้นของโลก โดยเฉพาะสินค้าอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปที่มีศักยภาพในการผลิตสูง จะสามารถเพิ่มการผลิตและขยายการส่งออกสินค้าอาหารสำเร็จรูปให้ตอบความต้องการของตลาดโลกได้ และนี่อาจเป็นหนึ่งหนทางที่จะคลี่คลายพิษเศรษฐกิจที่ประเทศกำลังเผชิญให้ดีขึ้นได้
ไม่ต่างจากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ นครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ที่บันทึกตัวเลขการนำเข้าทูน่ากระป๋องในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2563 พบว่าสหรัฐนำเข้าทูน่ากระป๋องเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.4 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยมีแรงผลักดันจากความตื่นตระหนก (panic buying) จากการระบาดของไวรัส ขณะที่การส่งออกสินค้าทูน่ากระป๋องจากไทยไปยังสหรัฐ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 พบว่าไทยส่งออกไปยังสหรัฐ มูลค่า 305.39 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.63 โดยมีคู่แข่งที่สำคัญคือ เอกวาดอร์ สเปน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และจีน จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ จึงอนุมานได้ว่า สินค้าอาหารกระป๋องถูกผลักดันให้กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง เนื่องจากราคาไม่แพง มีอายุการใช้งานนาน เก็บรักษาสะดวก
แม้ความต้องการบริโภคอาหารในรูปแบบกระป๋องหรืออาหารแปรรูปที่เพิ่มขึ้นจะเป็นความต้องการระยะสั้น แต่ข้อมูลจากหลายๆ ภาคส่วนยืนยันว่าตลาดสินค้าดังกล่าวยังคงมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง
สิ่งที่น่ากังวลคือ เมื่อแนวโน้มการบริโภคอาหารกระป๋องเพิ่มขึ้นเช่นนี้ อาจนำไปสู่ประเด็นปัญหาด้านสุขภาพ
อาหารกระป๋องเกิดจากกระบวนการถนอมอาหารอย่างหนึ่ง โดยนำอาหารบรรจุลงในกระป๋องแล้วใช้เทคโนโลยีให้ความร้อนทำลายเชื้อจุลินทรีย์ที่จะเป็นสาเหตุทำให้อาหารเน่าเสีย ผลิตภัณฑ์อาหารกระป๋องจึงมีคุณสมบัติเก็บได้ในอุณหภูมิห้อง นานเป็นระยะเวลาหลายปี
คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าอาหารกระป๋องมีสารอาหารน้อยกว่าอาหารสดหรืออาหารแช่แข็ง แต่มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ตีโต้และยืนยันว่าอาหารที่บรรจุในกระป๋องยังคงมีปริมาณสารอาหารอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสารอาหารจำพวกโปรตีน คาร์โบไฮเดรต แร่ธาตุ หรือวิตามิน
อย่างไรก็ตามแม้อาหารกระป๋องจะดูเหมือนปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภค แต่อาหารกระป๋องยังคงเป็นอาหารที่มีโซเดียมสูงและเป็นอาหารที่มีรสเค็มจัดที่ผู้บริโภคควรระมัดระวังในการกิน ไม่ว่าจะเป็นปลากระป๋อง ผลไม้กระป๋อง ปลาทูน่าในน้ำเกลือ หอยลายกระป๋อง รวมถึงอาหารปรุงสำเร็จอัดกระป๋องต่างๆ
แน่นอนว่าโซเดียมเป็นสารอาหาที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย โซเดียมเป็นเกลือแร่ที่มีความสำคัญต่อร่างกายมนุษย์ที่รักษาความเข้มข้นของออสโมราลิตี (osmolality) ในของเหลวภายนอกเซลล์ ทำหน้าที่ควบคุมความสมดุลของของเหลว รักษาความดันโลหิตให้อยู่ในระดับที่ปกติ ช่วยในการทำงานของประสาทและกล้ามเนื้อ และยังช่วยดูดซึมสารอาหารบางอย่างในไตและลำไส้เล็กอีกด้วย
ความต้องการโซเดียมมีความแตกต่างกันไปในแต่ละวัย เพศชายอายุ 19-30 ปี ต้องการโซเดียม 500-1,475 มิลลิกรัม/วัน ส่วนเพศหญิงต้องการโซเดียม 400-1,200 มิลลิกรัม/วัน สำหรับปริมาณโซเดียมสูงสุดที่สามารถบริโภคได้แล้วไม่เกิดอันตรายคือควรบริโภคไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม/วัน หรือประมาณเกลือ 1 ช้อนชา
ซึ่งหากได้ร้บเกลือหรือบริโภคอาหารที่มีเกลือมากเกินไปมีผลทําให้เกิดภาวะไตเสื่อม เนื่่องจากต้องกรองสารเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังส่งผลให้เกิดกลุ่มโรค NCDs หรือกลุ่มโรคที่ไม่ติดต่อเรื้อรังแต่เกิดจากการดำเนินชีวิตหรือพฤติกรรมได้อีกด้วย โดยปลากระป๋องขนาด 85 กรัม 1 กระป๋อง มีโซเดียมสูงถึง 300 มิลลิกรัม หรือคิดเป็น 1 ใน 7 ของปริมาณที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน
ปัจจุบันคนไทยประสบกับปัญหาสุขภาพมีการเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ อันเนื่องมาจากมีวิถีชีวิตและพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่มีไขมัน น้ำตาล และโซเดียมสูง ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไต โรคมะเร็ง รวมถึงโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งการคาดการณ์ในปี 2568 ระบุว่า จะมีผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 พันล้านคน
ดังนั้นหากนี่คือสนามการแข่งขัน แนวโน้มการบริโภคอาหารกระป๋องที่เพิ่มขึ้นหลังจากไวรัสเข้ามาทักทายโลก อาจเป็นแต้มต่อให้แวดวงธุรกิจอาหารมีคะแนนนำไปก่อน เพราะข้อเท็จจริงนี้เป็นเครื่องการันตีว่าอุตสาหกรรมอาหารกระป๋องน่าจะมีโอกาสในการเติบโต แต่อย่างไรก็ตาม ประเด็นสุขภาพก็ยังคงเป็นสิ่งที่เรายังต้องให้ความสำคัญและระมัดระวังมากขึ้น
แนะนำอาหาร 5 ประเภทเอาไว้หนีซอมบี้ แต่มีโซเดียมสูง
- อาหารตากแห้ง: กุ้งแห้ง ปลาสลิดตากแห้ง ปลาหมึกตากแห้ง หมูแดดเดียว
- ขนมขบเคี้ยว: มันฝรั่งทอดกรอบ (มักโรยเกลือหรือผงรสชาติเพิ่ม) ปลาเส้น สาหร่ายอบกรอบ
- อาหารสำเร็จรูป: บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โจ๊ก ข้าวต้มสำเร็จรูป ข้าวกล่องแช่แข็ง มันฝรั่งแช่แข็ง
- อาหารแปรรูป: หมูหยอง หมูยอ ไส้กรอก แหนม ลูกชิ้น อาหารกระป๋อง
- อาหารหมักดอง: ผักกาดดอง ปลาร้า เต้าเจี้ยว
เอกสารประกอบการเขียน
สนับสนุนโดย
มสช. ได้รับเงินสนับสนุนจาก CCS-NCD