ไม่กี่วันมานี้ เครดิตบูโรเปิดเผยข้อมูลหนี้สินบัตรเครดิตของไทยกลายเป็นหนี้เสีย (NPL) ไปแล้ว 1 ล้านใบ จาก 24 ล้านใบ และมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นกว่า 32.4 เปอร์เซ็นต์ในไม่ช้า ขณะที่หนี้สินครัวเรือนไทยทะลุเพดานเกิน 90 เปอร์เซ็นต์ต่อ GDP เกินกว่ามาตรฐานสากลไปแล้วเรียบร้อย จนหลายฝ่ายเป็นกังวลถึงอนาคตเศรษฐกิจที่กำลังจมลงไปในกองหนี้เสีย
เพื่อไขคำตอบที่มาของ ‘หนี้สินครัวเรือน’ ของไทย WAY จึงเดินทางไปพูดคุยกับนักวิชาการอิสระด้านการเงิน สฤณี อาชวานันทกุล หัวหน้าทีมวิจัยแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรม ประเทศไทย (Fair Finance Thailand) เพื่อหาคำตอบว่า วิกฤตหนี้ครั้งนี้ส่งสัญญาณถึงอะไร อะไรคือบ่อเกิดแห่งหนี้สินที่นำพาลูกหนี้คนไทยมาสู่จุดที่ ‘ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย’ หมุนเงินเป็นระวิง ภายใต้ฉากทัศน์ทางเศรษฐกิจไทยที่ถดถอยนับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นต้นมา
คำตอบทั้งหมดอยู่ในบทสัมภาษณ์ชุดนี้ ‘หนี้ไง!’ ตอนที่ 1: บ่อเกิดแห่งหนี้ทะลุเพดาน ลูกหนี้ไทยจ่ายไม่ไหวแล้ว
ในทางการเงิน นิยามของ ‘หนี้’ คืออะไร
นิยามทางการเงินทั่วไป ‘หนี้’ หมายถึง สิ่งที่เราต้องใช้คืนหรือถ้าจะพูดอีกอย่างหนึ่งก็จะหมายถึง ‘เงินในอนาคต’ ที่เราไปยืมคนอื่นมาใช้ก่อน และมีภาระผูกพันที่ต้องจ่ายหนี้คืน คำว่าหนี้ก็มีหลากหลายแบบ จะมีดอกเบี้ยหรือไม่มีก็ได้ เช่น หากยืมเงินจากญาติพี่น้องก็อาจไม่มีดอกเบี้ย หรือถ้าเป็นหนี้สถาบันการเงินหรือเจ้าหนี้ในระบบทั่วไป เขาจะต้องคิดดอกเบี้ย ซึ่งเราจำเป็นจะต้องจ่ายคืนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ดังนั้น หนี้สิน จึงหมายความได้ว่า เงินที่กู้มาใช้ล่วงหน้าและมีภาระเงื่อนไขที่จะต้องจ่ายคืน
คนเรามีเหตุและปัจจัยอย่างไรในการเป็นหนี้
เหตุผลของการกู้หนี้นั้นมีหลากหลายด้วยกัน เช่น การใช้จ่ายในภาวะฉุกเฉินที่จำเป็นต้องใช้เงินทันที ถ้าเราไม่มีเงินเก็บก็จะต้องยืมเงินมาใช้ก่อน ซึ่งก็มีสหกรณ์ออมทรัพย์หรือสถาบันการเงินที่มีให้ยืมเงินฉุกเฉิน เป็นต้น
การกู้หนี้ยืมสินที่สามารถพบเจอได้มากที่สุดในประเทศไทยคือ การกู้ยืมเพื่อการบริโภค เพื่อซื้อสินค้า จับจ่ายใช้สอย และการจับจ่ายใช้สอยนี้ก็มีหลายแบบ ไม่ได้มีเพียงแค่กู้มาเพื่อซื้อสิ่งต่างๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต
ในอีกทางหนึ่งอาจเป็นไปได้ว่า การกู้หนี้ยืมสินเกิดจาก ‘รายได้โตไม่ทันรายจ่าย’ เพราะในแต่ละเดือนเราจำเป็นจะต้องใช้จ่ายทั้งค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าที่อยู่อาศัย ค่าปัจจัยในการดำรงชีวิตต่างๆ ถ้ารายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต เราก็จำเป็นที่จะต้องไปกู้ยืมมาเพื่อการใช้จ่ายในส่วนนี้ได้ หรือเราต้องการสินค้าที่เราเชื่อว่าเรามีกำลังจ่ายได้ในอนาคต เงินกู้ยืมนี้ก็เป็นวิธีการนำของที่เราอยากได้มาใช้ล่วงหน้าโดยผ่อนชำระค่าสินค้าเต็มในอนาคต แต่ทั้งหมดนี้คือ การกู้เพื่ออุปโภคบริโภค
เรื่องการศึกษาของบุตรก็สำคัญมาก ถึงแม้ว่าจะมีนโยบายเรียนฟรี แต่ก็ยังมีค่าใช้จ่ายต่างๆ ตามมา หลายครอบครัวคิดว่าเรื่องการศึกษานั้นเป็นเรื่องที่ประนีประนอมไม่ได้ เป็นเรื่องจำเป็น จึงพยายามกู้เงินมาเพื่อเป็นค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับลูก ตอนเปิดเทอมเราจึงมักเห็นว่า โรงรับจำนำจะคึกคักเป็นพิเศษ
หากเราเป็นผู้ประกอบการรายย่อย (SME) เราก็อยากกู้เงินมาลงทุนในธุรกิจ ขยายกิจการ เพราะเราเชื่อว่าเราสามารถทำธุรกิจที่สร้างรายได้มากพอที่จะจ่ายคืนเงินต้นและดอกเบี้ยได้
การกู้เงิน หรือการเป็นหนี้ ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนไทยไปแล้ว ถ้ามองในทางเศรษฐศาสตร์การกู้เงินมีประโยชน์อย่างไร
เงินกู้ คือเรื่องธรรมดาในชีวิตประจำวัน ตามแต่เหตุผลที่หลากหลายของการกู้เงิน ถ้ามองด้วยกรอบเศรษฐศาสตร์ เงินกู้จะมีประโยชน์ในระยะสั้นในการเพิ่มกำลังซื้อ ถ้าคุณนำเงินนั้นมาจับจ่ายใช้สอย หรือลงทุนทำธุรกิจ มันก็จะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัว ดังนั้น การเป็นหนี้ในระยะสั้นจึงมีประโยชน์
แน่นอนว่า เมื่อหนี้สะสมไปถึงจุดหนึ่ง ในระยะยาวมันอาจก่อให้เกิดปัญหาก็ได้ อย่างเช่นทุกวันนี้ทุกคนก็เริ่มตื่นตัวเมื่อพบข้อเท็จจริงว่า หนี้สินครัวเรือนทะลุ 90 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ไปแล้ว อันที่จริงช่วงโควิด-19 มันขึ้นสูงกว่านี้ไปถึงประมาณ 95 เปอร์เซ็นต์ต่อ GDP แต่ตัวเลข 90 เปอร์เซ็นต์นี้ทำให้หลายคนเริ่มเป็นห่วง ตัวอย่างเช่น คนหนึ่งมีหนี้ 2 แสน กับอีกคนมีหนี้ 1 ล้าน ถ้าเราดูแค่นี้คนที่มีหนี้ 1 ล้านบาท ต้องลำบากกว่าสิ เพราะเขามีหนี้เยอะกว่า แต่ความจริงอาจไม่เป็นเช่นนั้นก็ได้ เพราะคนที่มีหนี้ 1 ล้าน เขาอาจมีรายได้มั่นคง มีความสามารถในการชำระหนี้ แต่คนที่มีหนี้ 2 แสน อาจมีรายได้น้อยมาก รายได้ลดลงหดตัว เริ่มจ่ายหนี้ไม่ได้ จนอาจก่อให้เกิดหนี้เสีย ฉะนั้นลำพังดูแค่ยอดหนี้ไม่เพียงพอ จะต้องดูในสิ่งที่นักการเงินเรียกว่า ‘ความสามารถในการชำระหนี้’ หรือ ‘อัตราส่วนหนี้ต่อรายได้’ (debt service ratio) ตรงนี้จึงเป็นประเด็น
ดังนั้น หากพูดรวมๆ ว่าการก่อหนี้อาจส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในระยะสั้น ซึ่งอาจจะดีต่อลูกหนี้ที่มีความสามารถในการชำระหนี้ได้จริง แต่หากหนี้เพิ่มพูนในระยะยาว โดยเฉพาะจุดที่เป็นปัญหามากที่สุดคือ พวกเขาต้องก่อหนี้เพิ่มเพื่อนำเงินมาจ่ายหนี้เดิม หรือที่เราเรียกว่า ‘หมุนเงิน’ หรือ ‘ผลัดผ้าขาวม้า’ หมายความว่า ก่อหนี้ใหม่เพื่อนำเงินมาโปะหนี้เดิม หนี้ใหม่ก็งอกขึ้นมา อันนี้ก็จะเป็นสัญญาณที่ไม่ดี ดังนั้น ความสามารถในการชำระหนี้จึงเป็นประเด็นสำคัญ
หนี้สินครัวเรือนของไทยที่พุ่งสูงเช่นนี้ ส่งผลต่อเศรษฐกิจภาพรวมอย่างไรบ้าง
ปัจจุบันตัวเลขหนี้สินครัวเรือนของไทยอยู่ที่ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ต่อ GDP เหตุที่หลายฝ่ายให้ความสนใจและเป็นกังวลกัน เพราะถ้าตัวเลขหนี้สูงขึ้นเรื่อยๆ หมายความว่า เราก่อหนี้มากกว่ารายได้ที่เราสร้าง แล้วพอถึงจุดหนึ่งเราจำเป็นต้องเอารายได้ที่หามาได้ไปใช้หนี้สินจนหมด ซึ่งสัดส่วนหนี้ที่เยอะย่อมไม่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ เพราะเราไม่ได้เอาไปจับจ่ายใช้สอย แต่เอาไปใช้หนี้แทน
หากลูกหนี้สูญเสียความสามารถในการชำระหนี้ หรือเกิดภาวะหนี้เสียสูงขึ้น ก็จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินหรือภาคธนาคาร แต่จุดนี้ยังไม่ค่อยน่าเป็นห่วง เพราะจากบทเรียนหลังวิกฤตต้มยํากุ้งในปี 2540 ธนาคารให้ความสำคัญต่อ ‘ทุนสำรอง’ หลายตัวเผื่อไว้สำหรับหนี้เสีย แม้ว่าการสำรองทุนเอาไว้ของธนาคารจะเป็นเรื่องดีในอนาคต แต่หลายคนก็ตั้งข้อสังเกตในแง่ลบว่า การกลั่นกรองสินเชื่อเข้มงวดมากเกินไปหรือไม่ เพราะว่าบางคนไม่ได้มีความเสี่ยงสูงขนาดนั้นในการชำระหนี้คืน แต่ธนาคารดูเหมือนจะระวังมากเลยไม่ยอมปล่อยสินเชื่อให้
มองโดยรวมแล้ว การเป็นหนี้จะไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด หากเราสามารถชำระหนี้ได้ เว้นแต่เราเริ่มมีปัญหาในการชำระหนี้มันจึงเป็นปัญหาตามมาที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจโดยรวมได้ เพราะคนจำเป็นต้องหาตังค์ไปใช้หนี้มากขึ้น แทนที่จะเอามาจับจ่ายใช้สอย
ความสามารถในการชำระหนี้ของแต่ละคนขึ้นอยู่กับอะไรบ้าง
ส่วนหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ โอกาสในการทำมาหากินและภาวะเศรษฐกิจขณะนั้น หากช่วงไหนที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจช้า คนก็จะเริ่มมีปัญหาในการชำระหนี้ เพราะว่ารายได้ที่เขาหามามันไม่พอที่จะนำไปชำระดอกเบี้ยและเงินต้น เหตุการณ์ที่เห็นชัดเลยก็คือ การแพร่ระบาดของโควิด-19 มันกะทันหันและกระแทกอย่างรุนแรงต่อทุกคน มันเป็นวิกฤตที่บังคับให้รัฐบาลต้องออกมาตรการรุนแรงอย่างเช่น การประกาศล็อกดาวน์ ดังนั้น มันจึงกระทบไปทุกภาคส่วน อาจเว้นแต่ธุรกิจเดลิเวอรี อีคอมเมิร์ซ ที่เติบโตได้อยู่ แต่โดยรวมมันกระทบระบบเศรษฐกิจทั้งระบบ และชัดเจนว่าเศรษฐกิจไทยถดถอยไปถึง 6 เปอร์เซ็นต์
ครัวเรือนไทยในช่วงโควิด ยอดหนี้พอกพูน ความสามารถในการชำระหนี้ถดถอย และเป็นที่มาของมาตรการที่จะช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย ในการทำงานร่วมกับธนาคารต่างๆ เพื่อจะปรับโครงสร้างหนี้ในช่วงโควิด แต่ก็เป็นมาตรการแบบเหวี่ยงแหมากกว่าการเจาะจงไปในกลุ่มเฉพาะ เพราะทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า วิกฤตนี้มันกระทบไปหมด ไม่ว่าจะอยู่ในภาคส่วนไหน อันนี้ก็เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่า การหดตัวทางเศรษฐกิจหรือปัญหาทางเศรษฐกิจ มันส่งผลต่อการชำระหนี้
ตัวเลขภาระหนี้สินครัวเรือนที่สูงทะลุเพดานไปแล้ว สะท้อนอะไรบ้าง
จากตัวเลขของเครดิตบูโรที่ออกมาเตือน ไม่ใช่แค่หนี้สินสูงขึ้น แต่หนี้เสียก็เริ่มสูงขึ้นด้วย หนี้ส่วนใหญ่ของคนไทยเกิน 2 ใน 3 คือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งส่วนใหญ่คือ หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล (personal loan) หรือหนี้ที่เอาไปจับจ่ายใช้สอยอุปโภคบริโภค ไม่ใช่การกู้ยืมเพื่อนำไปลงทุนขยายกิจการหรือก่อให้เกิดรายได้เพิ่ม เมื่อรายได้จากการประกอบอาชีพเริ่มมีปัญหา ความสามารถในการชำระหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลจึงเริ่มลดน้อยถอยลง
ในอีกทางหนึ่ง ตัวเลขหนี้สินและหนี้เสียก็อาจจะสะท้อนวัฒนธรรมการก่อหนี้ของคนไทย จากผลสำรวจที่ผ่านมาของธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่า คนที่เป็นหนี้เร็วคือ ‘กลุ่มที่เพิ่งเริ่มต้นทำงาน’ (first jobber) มีหนี้ค่อนข้างเร็วเพราะสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายในยุคปัจจุบัน ส่วนหนึ่งมาจากค่านิยมของสังคมที่เชื่อว่า เขามีสตางค์จ่าย เชื่อว่าสามารถชำระหนี้ได้ ทำงานแล้วก็อยากจะซื้อสินค้าต่างๆ ซึ่งหลังๆ มากลุ่ม first jobber เริ่มเป็นหนี้สินเยอะขึ้น กับอีกกลุ่มที่มีปัญหามากที่สุดคือ กลุ่มเกษตรกรและกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจ เพราะเป็นกลุ่มที่เปราะบางทางเศรษฐกิจมากอยู่แล้ว
จะเห็นว่าหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เริ่มขยับมาที่ของใหญ่ มีความเป็นสินทรัพย์มากยิ่งขึ้น อย่างหนี้รถยนต์เริ่มส่งสัญญาณการถูกยึดเป็นจำนวนมาก รวมไปถึงรถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังเป็นที่นิยมด้วย ซึ่งตอนนี้เริ่มกลายเป็นหนี้เสียแล้ว หนี้พวกนี้โดยปกติเราไม่อยากให้มันหลุดมือไป เพราะคนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญต่อการเป็นหนี้สิ่งเหล่านี้ก่อน
หนี้บ้านก็น่าเป็นห่วง ไม่ใช่แค่สินทรัพย์อย่างเดียว เพราะในเชิงปัจจัยการใช้ชีวิตมันคือที่อยู่อาศัย ถ้าลองจินตนาการกรณีที่เลวร้ายที่สุดเลยคือ การถูกยึดบ้าน จนไม่มีที่อยู่อาศัย
ดังนั้น ประเด็นทั้งหมดไม่ใช่เพียงแค่หนี้เสียที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างเดียว แต่รวมไปถึงประเภทของหนี้ที่กำลังจะกลายเป็นหนี้เสีย ซึ่งบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจไทยที่เราคุยกันมาหลายปีว่า เศรษฐกิจไทยเติบโตช้า เติบโตตํ่ากว่าศักยภาพ กระทบต่อด้วยโควิด-19 จนหดตัวมากกว่าหลายประเทศ และฟื้นช้ากว่าอีกหลายประเทศ สิ่งเหล่านี้สะท้อนออกมาด้วยปัญหาหนี้สินที่เพิ่มมากขึ้น
ภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตและฟื้นตัวช้ากระทบคนกลุ่มไหนมากที่สุด
ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวหรือเติบโตช้า ย่อมกระทบ ‘กลุ่มที่รองรับแรงกระแทกได้น้อยที่สุด’ คนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดี หากเผชิญกับแรงกระแทกก็อาจไม่ได้รับผลกระทบอะไรเลยก็ได้ ต่อให้รายลดลง ผลตอบแทนจากการลงทุนลดลง ก็ยังมีเงินเก็บ ส่วนชนชั้นกลางก็อาจจะสามารถรองรับแรงกระแทกได้ประมาณหนึ่ง แต่ตอนนี้ปัญหาหนี้มันเริ่มลามมาถึงชนชั้นกลางแล้ว
ขณะที่คนที่มีรายได้น้อย ปกติก็แทบจะไม่มีเงินเก็บอยู่แล้ว พอมีแรงกระแทกกะทันหันเข้ามาอย่างโควิด-19 เขาจะได้รับผลกระทบทันทีเลย ยิ่งรายได้หดตัวหรือไม่เพียงพอต่อรายจ่ายแล้ว ก็ยิ่งไม่มีเงินเก็บที่จะเอามาใช้จ่ายได้ พอเป็นเช่นนี้ พวกเขาจึงจำเป็นที่จะต้องก่อหนี้นอกระบบอีก หมุนเงินจากแหล่งหนี้อื่นมาโปะหนี้เดิมที่เริ่มจ่ายไม่ได้ ภาระหนี้สินจึงยิ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น