บางคนอาจได้ดูภาพยนตร์สารคดี SCALA ที่ระลึกรอบสุดท้าย จากโปรแกรมปิดท้ายในงาน World Film Festival of Bangkok (เทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพฯ) ในโรง SF ที่เซ็นทรัลเวิลด์มาแล้ว แต่หากต้องการอรรถรสครบถ้วนยิ่งกว่า 4D การจัดฉายรอบพิเศษในโรงหนังสแตนด์อโลนอาจตอบโจทย์ได้ เพราะนอกจากมิติ กว้าง×ยาว×สูง ของจอหนังนั้น มีอีกหนึ่งมิติที่ควบรวมหลายสิ่งซึ่งยากจะวัด เราอาจเรียกรวมๆ ได้ว่า ‘ความทรงจำ’
อันที่จริงในช่วงของการเปลี่ยนผ่านพฤติกรรมการดูหนัง มีภาพยนตร์สารคดีหลายเรื่องที่บันทึกช่วงเวลาของความรุ่งเรืองจนถึงร่วงโรยของวงการหนังในบ้านเรา อาจนับรวมได้ตั้งแต่ The Master (2014) โดย นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ The Scala (2015) โดย อาทิตย์ อัสสรัตน์ จนมาถึง SCALA ที่ระลึกรอบสุดท้าย โดย แก๊ป-อนันตา ฐิตานัตต์
สิ่งที่ SCALA ที่ระลึกรอบสุดท้าย ต่างจากหนังสารคดีเรื่องอื่น คือความเป็นส่วนตัวของมัน ฟุตเทจในหนังเริ่มบันทึกจากวันแรกของการรื้อถอดงานประดับตกแต่งอาคารออก ในแต่ละวันที่ผ่านไป แต่ละชิ้นส่วนที่ค่อยๆ ถูกถอดออก ตั้งแต่โคมแชนเดอเลียร์พวงใหญ่ ภาพฝาผนัง กรอบดวงโคมไฟเพดาน ไล่ไปจนถึงงานไม้กรุผนัง ผ้าม่านผืนใหญ่ เก้าอี้นั่งทั้งหนึ่งพันตัว ฯลฯ
แต่ละชิ้นส่วนที่ถูกถอดออกจนเหลือเพียงตัวอาคารคอนกรีตเปล่าๆ ลุ่นๆ ก็ยิ่งทำให้โรงหนังสกาลาเหมือนร่างกายที่สูญเสียอวัยวะไปทีละส่วนๆ จนทางกายภาพนั้นเราอาจไม่รู้สึกว่านี่คือโรงหนังที่เราคุ้นเคยอีกต่อไป
ในทางกลับกัน ขณะที่วัตถุทางกายภาพถูกรื้อ ถอน ถอด ฝุ่นที่ปลิวว่อนนั้นกลับเป็นดั่งละอองของความทรงจำที่แจ่มชัดขึ้นทุกที ภาพปัจจุบันซ้อนทับกับเรื่องเล่าจากอดีตของตัวผู้กำกับ ผู้ซึ่งเคยใช้ชีวิตวัยเด็กกิน นอน วิ่งเล่น อยู่ในอาคารโรงหนัง เราจะได้สัมผัสถึงความใกล้ชิดและความเป็นส่วนตัวหลายๆ อย่างจากเสียงสนทนาในฟุตเทจเหล่านั้น ที่ซับเจกต์ต่างพูดคุยกับกล้องด้วยประโยคแสดงความคุ้นเคย เพราะสกาลาไม่ใช่เพียงแค่ที่ทำงาน แต่คือบ้านของพวกเขา ทั้งคนเดินตั๋ว พนักงานบัญชี แม่บ้าน ต่างทักทายผู้อยู่หลังกล้องด้วยประโยคทำนอง ไม่เจอตั้งนาน ทำอะไรอยู่ พ่อสบายดีไหม กินข้าวหรือยัง กินขนมไหม ฯลฯ
ทว่าก่อนที่มันจะกลายเป็นหนังส่วนตัวจนกีดกันคนดูอย่างเราออกไป ในห้วงเวลาที่พอเหมาะพอดี ก็จะมีเสียงเรียบนิ่งบรรยายขึ้นมา เสียงนั้นเล่าถึงบางฉากบางตอนที่เราคงไม่คิดว่าจะมีโอกาสได้เห็น เช่น ประสบการณ์การปูผ้านอนในโรงหลังจบการฉายหนังรอบสุดท้ายของวันนั้น เพราะแม้จะปิดแอร์ไปแล้วอากาศก็ยังเย็น นอนสบาย และกว่าจะหายเย็นก็ถึงตอนเช้าพอดี เรื่องเล่าเหล่านี้เกือบจะสูญหายไปจากการรับรู้ ผู้กำกับอธิบายไว้สั้นๆ ว่า “ตอนแรกหนังจะมีแต่ฟุตเทจและเสียงในนั้นเฉยๆ แต่พอไปเวิร์กช็อปแล้วได้คอมเมนต์มาว่า มันเหมือนเราจะเข้าใจอยู่คนเดียว ทีนี้สิ่งที่ถ่ายมาทำให้นึกไปถึงเรื่องราวในวัยเด็ก ก็เลยเริ่มเขียนบทบรรยาย เขียนเหมือนเขียนเรียงความเลย ก็เขียนๆ แก้ๆ ไปเรื่อยๆ”
อีกหนึ่งสิ่งที่ควรบันทึกไว้คือ การรื้อถอนนั้นใช้แรงงานคนเป็นส่วนใหญ่ ในช่วงแรกๆ จะเป็นการถอดอุปกรณ์ชิ้นใหญ่โดยใช้คนงานจากสวนนงนุชมาช่วย แต่งานละเอียดและอุปกรณ์ชิ้นเล็กๆ อย่างเก้าอี้ เหล่าอดีตพนักงานเป็นคนลงมือเอง ทั้งผ้าม่าน ไม้กรุ ผนังรอบโรง “เพราะเขาก็เหมือนแบบ…ก็ดีกว่าไม่มีอะไรทำ ได้เจอเพื่อน เหมือนเป็นครั้งสุดท้ายที่มารียูเนี่ยน” การรื้อถอนนั้นจึงเป็นดั่งภารกิจสุดท้ายของเหล่าพนักงานบางคน ผู้เคยใช้เวลากว่า 4 ทศวรรษในโรงหนังแห่งนี้
เรื่องราวคู่ขนานไปกับกิจกรรมการรื้อถอนโรงหนังที่ดำเนินไปในช่วงปี 2020 คือการชุมนุมประท้วงของกลุ่มราษฎรและกลุ่มเยาวชนที่พยายามส่งเสียงไปถึงผู้มีอำนาจ ซึ่งเสียงเหล่านั้นดังสะท้อนเข้ามาถึงในฉากของการทำลายโรงหนังสแตนด์อโลนแห่งนี้ อันอาจเป็นตัวแทนของความพ่ายแพ้ต่อแหล่งทุน
“ระหว่างถ่ายทำมีการชุมนุมอยู่ แล้วรอบๆ ก็มีม็อบ มีวันที่เขาฉีดน้ำใส่เด็กๆ วันนั้นเราไม่ได้อยู่ที่นั่น แต่หลังจากวันนั้นก็มีบทสนทนาเรื่องพวกนี้ในโรงหนัง บริบทต่างๆ เสียงต่างๆ ก็อยู่รอบโรงหนัง”
เสียงของปี 2020 นั่นคือเสียงของประชาชนหลากเพศหลายวัยที่เต็มไปด้วยความโกรธ แต่ก็ช่างกระฉับกระเฉงและเต็มไปด้วยความหวัง “เราได้ข่าวหลายครั้ง เช่น จุฬาฯ จะทุบ หรือจุฬาฯ จะสร้างคร่อมตึกสกาลา แต่สุดท้ายก็ทุบ ยิ่งเป็นสถาบันการศึกษาก็น่าจะต้องยิ่งรักษาศิลปวัฒนธรรม…วันที่ออกไปถ่ายวันแรก เราแค่รู้สึก…โกรธจุฬาฯ เฉยๆ พอโกรธก็เลยหยิบกล้องออกไป ถ่าย ถ่าย ถ่าย จนรู้สึกว่า เนี่ย ถ่ายให้เขารู้สึกเสียดายมันบ้าง”
ชะตากรรมของโรงหนังสแตนด์อโลนในทำเลที่ราคาที่ดินสูงลิบสวนทางกับรายได้ ย่อมต้องพบจุดจบไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แผ่นป้ายโลหะจารึกรางวัล ‘อนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น ปี 2555’ จากสมาคมสถาปนิกในพระบรมราชูปถัมภ์ ก็ถูกถอดออกจากโถงบันไดนั้น ในกรณีของสกาลา คือการหวนกลับคืนสู่มูลค่าทางเศรษฐกิจของอสังหาริมทรัพย์ จากโรงหนังสแตนด์อโลนที่ผุพังตามกาลเวลา สู่มิกซ์ยูสแนวดิ่ง ประกอบด้วยพื้นที่ห้างสรรพสินค้า สำนักงาน โรงแรม ในความสูง 42 ชั้น…
ขณะที่ประเทศอื่นหรือพื้นที่อื่น บางโรงสแตนด์อโลนมีชะตากรรมแตกต่างไป อย่างที่ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ กล่าวถึง
“ในด้านหนึ่ง หนังเรื่องนี้โหด โหดมากๆ มันน่ากลัว ผมก็นึกไม่ออกว่าถ้ามหาวิทยาลัยรวยๆ แบบจุฬาฯ เนี่ย ถ้าเขาอนุรักษ์จัดเก็บเอาไว้ มันจะทำอะไรได้บ้าง คงจะหรูและโก้ และคงจะหรูและโก้กว่าหอประชมศรีบูรพาที่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ก็ได้
“คิดแล้วก็ใจหาย 2 เดือนที่แล้วผมไปอเมริกามา ไปเยี่ยมบ้านเก่าที่ลอสแอนเจลิส โรงหนังที่ผมคุ้นเคยมากๆ ปัจจุบันก็ปิดไปแล้ว แต่เขาไม่ได้ทุบทิ้ง อย่างโรง Egyptian ที่ปิดไปแล้ว หน้าโรงก็มีคนไร้บ้านนอนอยู่ โรงหนังในอเมริกาหลายโรงถูกแปลงเป็นบาร์”
ความทรงจำอันหนักอึ้งของหนังเรื่องนี้ลอยฟุ้งเป็นละออง PM2.5 แพร่จากภาพทึมเทาบนจอภาพยนตร์ออกสู่โรงที่หนังเรื่องนี้จัดฉาย ลิโด้ สกาลา พหลโยธินรามา พระโขนงเธียเตอร์ และอีกหลายชื่อในชีวประวัติส่วนตัวของผู้ชมบางคนจากบางช่วงเวลาที่เหลื่อมซ้อนทับกัน เสียงของหนังอวลด้วยบรรยากาศของการชุมนุมที่เพิ่งผ่านไปเพียง 2 ปี แต่เหมือนเนิ่นนานมาแล้ว ถูกถ่ายทอดด้วยระบบเสียงพ้นยุคล้าสมัย มี noise หึ่งๆ เป็นแบ็กกราวด์ประกอบกับเสียงเอี๊ยดอ๊าดในกาลปัจจุบันของบานพับเก้าอี้จากผู้ชมที่กำลังเมื่อยขบ มันทำให้บางประโยคในหนังเราได้ยินไม่ถนัดนัก แต่มีซับไตเติลภาษาอังกฤษรองรับไว้ใม่ให้บทสนทนาเหล่านั้นร่วงหล่น บางจังหวะคุณอาจละสายตาจากจอหนังแล้วพินิจฝ้าเพดานอันผุพังของพหลโยธินรามาที่กำลังบอกเล่าเรื่องราวของตัวมันเองด้วยความเงียบงัน ฟังฉัน…มองดูฉันสิ นี่คือมิติ กว้าง×ยาว×สูง อีกหนึ่งสเปซที่กำลังหายใจรวยริน ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย และนี่คืออีกหนึ่งความตาย ความตายของโรงภาพยนตร์ที่อาจจะเป็นสัญญะถึงความตายของอะไรอื่นๆ อีกหลายสิ่ง
ผู้กำกับพูดน้อย ไม่นิยมเฉลย นี่คือความทรงจำของเธอ และจากมุมมองของสายตาเธออย่างจริงแท้ แต่หากจะมีอะไรมากกว่านั้น ใน Q&A เธอตอบเพียงสั้นๆ และปล่อยให้เราตีความตามปรารถนา
ติดตามข่าวสารของภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ที่เพจ SCALA Documentary
SCALA ที่ระลึกรอบสุดท้าย จะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์วันที่ 22 ธันวาคมนี้ เช็กโรงภาพยนตร์และรอบฉายได้ที่เพจ หนังเลือกทาง