La Scala หนังรอบสุดท้ายของโรงภาพยนตร์สกาลา การอำลาคือการระลึกถึง

ในวันที่ธุรกิจโรงหนังสแตนด์อโลนเคยรุ่งโรจน์ วัฒนธรรมย่อย ‘หน้าโรง’ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับวัฒนธรรมการดูหนังในโรง ไม่ว่าจะเป็น การขายตั๋วผี การฉายหนังรอบสื่อ นักวิจารณ์หนัง และการสปอยล์ 

WAY รวบรวมวัฒนธรรมย่อยเหล่านี้จากคำบอกเล่าของ มโนธรรม เทียมเทียบรัตน์ นักเขียนและนักวิจารณ์หนังที่มีประสบการณ์ร่วมกับโรงหนังสกาลาและโรงหนังสแตนด์อโลนในกรุงเทพฯ มาอย่างยาวนาน

ตั๋วผี

ในสมัยที่การไปดูหนังในโรงเป็นที่นิยมอย่างมาก ได้เกิดธุรกิจหนึ่งขึ้นมา เรียกกันว่า ‘การขายตั๋วผี’ เป็นการกว้านซื้อตั๋วหนังมาขายต่อเป็นตั๋วมือสองที่เพิ่มกำไรโดยขายในราคาแพงขึ้น เช่นเดียวกับในวงการอื่นๆ เช่น ตั๋วผีหน้าสนามแข่งฟุตบอล บัตรผีหน้าคอนเสิร์ต ที่ปัจจุบันยังคงมีอยู่ แต่สำหรับตั๋วผีหน้าโรงหนัง ทุกวันนี้ไม่มีให้เห็นแล้ว เนื่องจากการเกิดขึ้นของโรงหนังระบบมัลติเพล็กซ์ รวมถึงระบบการจองตั๋วหนังทางออนไลน์ ทำให้เรามีตัวเลือกที่ไม่จำกัด จึงไม่จำเป็นต้องซื้อตั๋วผีอีกต่อไป

ราคาตั๋วหนังจะแบ่งตามตำแหน่งที่นั่งในโรง ที่นั่งใกล้จอจะราคาถูก ซึ่งตั๋วผีจะกอบโกยตั๋วราคาถูกมาปรับราคาใหม่ เช่น เมื่อก่อนตั๋วราคา 10 บาท จะขายต่อในราคา 15 บาท จะมีการมายืนดักรอขายอยู่หน้าโรงหนัง โดยเฉพาะช่วงที่หนังโปรแกรมใหญ่หรือหนังดังกำลังเข้าโรง แต่ก็นับว่าเป็นธุรกิจที่เสี่ยง เพราะหากไม่มีคนซื้อตั๋วผี คนขายก็เข้าเนื้อเต็มๆ นอกจากนี้ยังเคยมีข่าวลือกันว่าห้องขายตั๋วของโรงหนังเองก็สมรู้ร่วมคิดกันกับคนขายตั๋วผีด้วย

หนังรอบสื่อ

ภายในห้องฉายที่อยู่ในออฟฟิศของเครือโรงหนัง ลักษณะคล้ายโฮมเธียเตอร์ที่มีจอภาพขนาดเล็กและระบบเสียงที่ไม่ได้ถึงกับดีมาก จุคนได้ประมาณ 12 คน มีการเปิดหนังให้เหล่าผู้บริหารดูเพื่อวางแผนการขาย สื่อมวลชนทั้งสิ่งพิมพ์และวิทยุ บุคลากรจากแล็บที่รับปรินท์ฟิล์มหนัง รวมถึงนักเรียนภาพยนตร์ที่อาจจะได้รับโจทย์จากอาจารย์ให้มาดูแล้วนำไปเขียนวิจารณ์ส่ง หลังจากนั้นก็จะเปิดรอบฉายให้คนทั่วไปได้ซื้อตั๋วเข้ามาดูในโรงใหญ่ แต่ก็มีหนังบางเรื่องที่เปิดให้ดูเป็นการภายใน แล้วไม่ได้ถูกฉายจริงเป็นประวัติศาสตร์อย่างหนังเรื่อง Birdman เป็นต้น โดยห้องฉายหนังลักษณะนี้จะมีอยู่ในทุกเครือโรงหนัง และค่ายหนัง ซึ่งเครือ Apex เองมีการตกแต่งที่สวยงาม ถึงขนาดได้ถูกใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำละครและหนังเรื่องต่างๆ

ต่อมา เมื่อมีคนเข้ามาใช้พื้นที่ตรงนี้มากขึ้น ห้องเล็กๆ ในออฟฟิศเริ่มมีขนาดไม่เพียงพอสำหรับการใช้งาน จึงขยับไปใช้พื้นที่ในโรงหนังจริง เพื่อรองรับผู้คนที่มากขึ้น ทั้งผู้ที่ประกอบธุรกิจภาพยนตร์ สื่อต่างๆ รวมถึงแฟนคลับของดารา นิตยสาร และเว็บไซต์ต่างๆ จนกลายมาเป็นอีเวนท์ที่ใหญ่โต และเป็นการจัดฉายหนังรอบสื่ออย่างทุกวันนี้

นักวิจารณ์หนัง

เมื่อมีโรงหนัง ก็มีคนดูหนัง และสิ่งที่เกิดขึ้นจากการดูก็ย่อมมีการวิจารณ์ จนเกิดเป็นอาชีพนักวิจารณ์หนัง ซึ่งอยู่ในช่วงที่สื่อสิ่งพิมพ์รุ่งเรือง และการวิจารณ์เป็นสิ่งที่มีมาตลอด โดยการวิจารณ์หนังเป็นส่วนหนึ่งของการโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อกระจายการรับรู้ในวงกว้างให้คนมาดูหนัง และเป็นการช่วยในการตัดสินใจได้ เพราะนักวิจารณ์หนังมีความน่าเชื่อถือ

นักวิจารณ์หนังในสมัยนั้นมีอยู่ไม่กี่คน ถ้าเทียบกับในสมัยนี้ที่มีทั้งนักวิจารณ์และนักรีวิวตามเพจและเว็บไซต์ต่างๆ ซึ่งสมัยก่อนมีการประเมินคุณค่าของหนังด้วยวิธีการให้ดาว และเริ่มมีการประเมินเป็นคะแนนเต็ม 10 จนมาถึงทุกวันนี้ บ้างก็เปลี่ยนไปใช้วิธีการประเมินเป็นเปอร์เซ็นต์

สปอยล์

เมื่อก่อน ทางค่ายหนังจะมีการแจกเนื้อเรื่องย่อของหนังที่เข้าฉาย ตั้งแต่แบบสไลด์ จนมาถึงการแจกเป็นไฟล์ จากนั้นสื่อต่างๆ ก็จะนำเรื่องย่อนี้ไปใช้ต่อเหมือนกันหมด ซึ่งเป็นการเปิดเผยเนื้อเรื่องทั้งหมดของหนัง และผู้คนก็ไม่ได้มีปัญหากับการรู้สปอยล์หนังแต่อย่างใด อาจจะเพราะการเขียนเนื้อเรื่องย่อของหนังนั้นมีลักษณะที่แบน ไม่ได้ใช้ลีลาในการถ่ายทอดเนื้อเรื่องมากนัก จึงทำให้รู้สึกว่าอ่านแล้วไม่เหมือนสปอยล์ โดยมีกรณีที่ใกล้เคียงกันเช่น เรื่องย่อละครในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

แตกต่างจากยุคหลังๆ ที่ผู้คนให้ความสำคัญกับการสปอยล์มากขึ้น หลายคนเป็นห่วงว่าจะเสียอรรถรสในการดูหนังถ้าหากพบเจอเนื้อหาสปอยล์ก่อนที่จะได้ดู แต่ในปัจจุบันนี้เองก็มีผู้คนบางกลุ่มที่ต้องการทราบสปอยล์หนังทั้งเรื่อง ซึ่งจะเห็นได้ตามยูทูบที่มีหลากหลายช่องทำคลิปเล่าหนังทั้งเรื่องจากกว่า 2 ชั่วโมงให้จบลงสั้นๆ ภายใน 10-20 นาที ทั้งหนังเก่าและหนังใหม่ หากดูจากยอดการเข้าชมก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่ากำลังเป็นที่นิยมอย่างต่อเนื่อง ด้วยยอดการเข้าชมที่มีตั้งแต่หลายหมื่นจนถึงหลักล้าน บ้างก็บอกว่าดูคลิปเหล่านี้เพื่อใช้ในการตัดสินใจก่อนไปดูหนังในโรง เนื่องจากตั๋วหนังสมัยนี้ราคาแพง ทำให้ต้องเลือกไปดูเฉพาะเรื่องที่จะถูกใจจริงๆ บ้างก็บอกว่าเลือกดูคลิปสปอยล์เฉพาะหนังผี เนื่องจากหนังผีหลายๆ เรื่องน่าดู แต่ไม่กล้าดูเพราะกลัวผี เป็นต้น

Author

กัลยรัตน์ ธีรกฤตยากร
ฝึกเล่นสเก็ตบอร์ดอยู่ดีๆ ก็หยุดพักมาฝึกงาน เรียนสื่อสารมวลชนใกล้จะจบในไม่ช้า ชอบออกกอง เป็นผู้อ่านมานาน อยากเป็นผู้เขียนที่ดีบ้างจึงมาฝึกกับกองบรรณาธิการ WAY สนใจงานสารคดี มักจะเติมพลังด้วยการไปดูหนัง ไปงานเทศกาลดนตรี และฟังเสวนา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า