ดาร์คไซด์ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลีใต้

 

พูดกันตรงๆ แล้ว ‘การเมือง’ ที่เข้ามาแทรกแซงวงการศิลปวัฒนธรรมของประเทศถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลก (ไม่ว่าที่ใดในโลก ต่อให้อ้างว่าเป็นเสรีนิยมขนาดไหนก็ยังมี) ที่เกาหลีใต้ รัฐบาลเองก็เข้ามาเกี่ยวข้อง พัวพัน และแทรกแซง ตั้งแต่สมัยก่อร่างสร้างเป็นประเทศประชาธิปไตยยุคแรกๆ โดยมีพื้นฐานหลักคือ เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมให้คนทั่วโลกได้รับรู้ว่า อารยธรรมที่นี่ไม่ได้ล้าหลัง

การเซ็นเซอร์ตัวเอง (self-censorship) หรือการ blacklist บุคคลในวงการดังกล่าว เป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าจะเป็นศิลปิน นักเขียน นักร้อง นักแสดง หรือกลุ่มผู้สร้างภาพยนตร์ หากการแสดงออกนั้นเป็นไปในทิศทางที่รัฐเห็นว่าอาจก่อให้เกิดความไม่มั่นคง ซึ่งในอดีตนั้น เมื่อผู้ผลิตและผู้กำกับนโยบายของประเทศต่างตกลงผลประโยชน์กันได้ ทุกอย่างก็จบลงแบบ วิน-วิน

กระแสวิพากษ์วิจารณ์ความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองและอุตสาหกรรมบันเทิงเริ่มขึ้นเมื่อปลายปีที่แล้ว หลังประธานาธิบดีปาร์ค กึน เฮ ถูกจับกุมในข้อหาพัวพันกับคดีคอร์รัปชัน ใช้อำนาจในทางมิชอบ จนหลุดจากตำแหน่งและถูกจำคุกอยู่ในขณะนี้

เวลานั้น นอกจากนักการเมือง รายชื่อ blacklist บุคคลในกลุ่มอุตสาหกรรมบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้สร้างหนัง นักเขียน นักแสดง และศิลปิน ทั้งหมดเกือบ 10,000 คนก็ได้หลุดออกมาด้วย และหลายคนถึงกับงงว่าทำไมจึงมีชื่อตัวเองอยู่ในนั้น ที่คนไทยน่าจะรู้กันดี เช่น นักแสดงจากภาพยนตร์เรื่อง Snowpiercer ยึดด่วน วันสิ้นโลก (2013) ซง คัง โฮ (Song Kang-ho) ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง Oldboy เคลียร์บัญชีแค้นจิตโหด (2003) ปาร์ค ชาน วุค (Park Chan-wook) หรือนักเขียนรางวัล Man Booker International ประจำปี 2016 ฮัน คัง (Han Kang) จากผลงานนวนิยายเรื่อง The Vegetarian

ถือเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้อยู่ในรายชื่อนั้น เพราะนั่นเป็นการแสดงให้เห็นถึงความน่าขยะแขยงของรัฐบาลชุดนี้

– โค อัง (Ko Un) นักกวีผู้มีชื่อเสียงกล่าวกับสำนักข่าว SBS เมื่อปลายปีที่ผ่านมา

จุดเริ่มต้นคือเทศกาลภาพยนต์นานาชาติปูซาน

เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน (Busan International Film Festival: BIFF) ถือเป็นงานที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก เริ่มต้นเมื่อปี 1996 แปดปีหลังจากเกาหลีใต้เป็นประเทศประชาธิปไตย และจัดเป็นประจำในเดือนตุลาคมของทุกปี (ปีนี้คือวันที่ 12-21 ตุลาคม) ที่เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้

ชัดเจนว่า BIFF จัดขึ้นเพื่อให้เกาหลีใต้เผยแพร่ศิลปะและวัฒนธรรมของตนเองให้ทั่วโลกได้รับรู้ โดยมีรัฐบาลเป็นสปอนเซอร์ใหญ่ผู้อยู่เบื้องหลังแทบทั้งหมด แต่รัฐบาลเองก็ไม่ได้เข้าไปในลักษณะของการแทรกแซงอย่างเต็มตัว

แต่หลังปี 2014 กลับไม่ใช่แบบเดิม เมื่อ BIFF ปีนั้นได้ฉายภาพยนตร์สารคดีที่ชื่อว่า Diving Bell: The Truth Shall Not Sink With Sewol เนื้อหาเกี่ยวกับเหตุการณ์เรือ เซวอล (Sewol) ล่ม เมื่อ 16 เมษายน 2014 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 300 ราย เกือบทั้งหมดเป็นนักเรียน

 

ทันทีที่รัฐบาลทราบ มีความพยายามที่จะคว่ำบาตรงานดังกล่าว และไม่อนุญาตให้ฉายหนังเรื่องนี้ เพราะกระทบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลปาร์ค กึน เฮ และเป็นการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของเธอ นอกจากนั้น เนื้อหายังพาดพิงถึงนายกเทศมนตรีเมืองปูซาน ซุ บยอง ซู (Suh Byung Soo) อีกด้วย ส่งผลให้ BIFF ในปีนั้นดำเนินต่อไปอย่างกระท่อนกระแท่น และไม่ราบรื่นนัก

หลังจากกรณีภาพยนตร์โศกนาฏกรรมเรือเซวอล เทศกาลภาพยนตร์ระดับโลก BIFF ก็กลายเป็นพื้นที่วิพากษ์วิจารณ์การเมืองเกาหลีใต้อย่างสมบูรณ์แบบ และแทบกล่าวได้ว่าเป็นยุคมืดของ BIFF เลยก็ว่าได้

ปี 2015 สมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งเกาหลี (Korean Film Council) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาล และเป็นนายทุนใหญ่รายสำคัญ ได้หั่นงบประมาณสนับสนุนงานออกครึ่งหนึ่ง ท่ามกลางความไม่พอใจของกลุ่มคนทำหนังชาวเกาหลีใต้ จนมีแคมเปญในโลกออนไลน์พร้อมใจกันขึ้นแฮชแท็ก #isupportbiff

เรื่องราวยังไม่จบเพียงเท่านั้น BIFF ปี 2016 รัฐบาลได้ขอความร่วมมือจากหลายๆ ประเทศไม่ให้เข้าร่วมงานดังกล่าว อีกทั้งกลุ่มคนทำหนังเองก็บอยคอตด้วยการไม่ส่งหนังเข้าฉาย และออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการแทรกแซงเสรีภาพการแสดงออก (freedom of expression) ของภาพยนตร์

หากจำกันได้ ภาพยนตร์เรื่อง Train To Busan ด่วนนรกซอมบี้คลั่ง (2016) ผู้กำกับยอน ซัง โฮ (Yeon Sang ho) ออกมาประกาศลั่นว่าจะไม่ส่งหนังตัวเองเข้าฉายในงาน โดยตัวแทนของเขาออกมาพูดในทำนองว่า เพราะนายกเทศมนตรีเมืองปูซานเป็นส่วนหนึ่งของต้นเหตุที่ทำให้เกิดการแทรกแซงของรัฐบาล

เมื่อวายร้ายคือรัฐบาล

ความย้อนแย้งของ ปาร์ค กึน เฮ อดีตประธานาธิบดีหญิงคนแรกของเกาหลีใต้คือ เธอออกมาพูดอย่างเต็มปากว่าจะสนับสนุนอุตสาหกรรมบันเทิงและภาพยนตร์อย่างเต็มที่ แต่กลับ blacklist เหล่ากลุ่มคนทำหนังเกือบหมื่นรายชื่อ

สามปีที่ผ่านมาจึงนับว่าเป็น ‘ยุคมืดของอุตสาหกรรมหนังเกาหลีใต้’ แต่ความเมามันส์อยู่ที่ว่า การกระทำของรัฐบาลสมัยปาร์ค กึน เฮที่ปฏิบัติต่อพวกเขาไม่ต่างอะไรจากฉากในหนังแอ็คชั่น กล่าวคือ หลายคนถูกรัฐบาลจับตามอง เฝ้าระวัง ตรวจสอบภาษี แอบดักฟังโทรศัพท์ หรือโดนกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลเล่นงานอย่างรุนแรง

ฮง ซง ดัม (Hong Song dam) ศิลปินนักวาดเป็นอีกคนที่ถูกกระทำเช่นนั้น เขาให้สัมภาษณ์กับ The New York Times ว่า เคยมีกลุ่มนักอนุรักษนิยมผู้สนับสนุนรัฐบาลจำนวนมากมาชุมนุมที่หน้าอพาร์ทเมนท์ ถ่ายรูป ตะโกนด่าทอว่าเขาเป็นนักวาดภาพคอมมิวนิสต์ อีกทั้งยังได้รับคำขู่ถึงขั้นจะฆ่ากันให้ตายผ่านโทรศัพท์อยู่บ่อยครั้ง

คิม อิล ควอน (Kim Il-kwon) CEO ของบริษัททำภาพยนตร์ Cinema Dal กล่าวอ้างว่า บริษัทของเขาถูกยกเลิกทุนสนับสนุนจากรัฐบาล ทั้งๆ ทีก่อนหน้ากรณี BIFF เมื่อปี 2014 รัฐบาลยังคงมอบเงินสนับสนุนให้อยู่ นอกจากนั้นรัฐบาลยังเคยลอบตรวจสอบบิลค่าโทรศัพท์ของพนักงานบริษัทด้วย

และยังมีอีกหลายคนที่อ้างว่า รัฐบาลเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์อุบัติเหตุของพวกเขา

The King นำแสดงโดย จอง วู ซอง และ โจ อิน ซอง
Master นำแสดงโดย ลี บยอน ฮุน และ คัง ดง วอน

 

แทนที่การปฏิบัติแบบนั้นของรัฐบาลจะทำให้เรื่องเงียบลง ตรงกันข้าม พวกเขาออกมาโต้กลับด้วยการทำหนังเพื่อแสดงให้เห็นถึงความเน่าเฟะของรัฐบาลผ่านจินตนาการสมมุติของภาพยนตร์ที่สะท้อนออกมาให้ผู้ชมได้มีความรู้สึกร่วม และแทบจะพยักหน้าเออออไปด้วยว่า “คุ้นๆ เนอะ”

ช่วงสองสามปีที่ผ่านมา จึงมีหนังที่พูดถึงการทำงานของรัฐบาลเป็นจำนวนมาก และได้รับความนิยมอย่างสูง ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ เช่น Master ล่าโกง อย่ายิงมันแค่โป้งเดียว (2016) เรื่องราวเกี่ยวกับตำรวจการเงินที่พยายามต่อสู้กับโลกธุรกิจขายตรงรายใหญ่ที่แพร่ขยายอำนาจและอิทธิพลไปทั่วชนชั้นสูงในเกาหลี ไม่ว่าจะเป็นสื่อ นักการเมือง ไปจนถึงกลุ่มขบวนการยุติธรรม ผ่านการเหยียบย่ำและล่อลวงผู้อ่อนแอกว่าและผู้รู้เท่าทันน้อยกว่าขึ้นไป

หรืออีกเรื่องที่โด่งดังไม่แพ้กันอย่าง The King อัยการโคตรอหังการ (2016) เรื่องของอัยการยากจนคนหนึ่งที่เรียนรู้ว่า อำนาจคือสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต เขาได้ชิมรสอันหอมหวานของอำนาจที่นำมาสู่เงินทองและความสำเร็จผ่านช่องโหว่ทางกฎหมาย

ส่วนหนึ่งที่ส่งผลให้เรื่องราวของบทภาพยนตร์แอ็คชั่น บู๊ล้างผลาญ แต่สอดแทรกการวิพากษ์ทางการเมือง ได้รับความนิยมเพิ่มอย่างสูง อาจมาจากการที่ประชาชนเองเริ่มรับรู้และตระหนักถึงปัญหาทางการเมืองที่ตนเองเผชิญอยู่ในโลกแห่งความจริง

“ภาพยนตร์ก็เหมือนกับงานศิลปะประชาธิปไตย ที่ไม่สามารถมองข้ามความรู้สึกของสาธารณชนได้ อีกทั้งยังเป็นเหมือนภาพสะท้อนเวลาและความคิดของสิ่งที่ประชาชนต้องการ ผู้คนต่างตอบสนองต่อภาพยนตร์ในฐานะที่มันได้แสดงให้เห็นถึงความบกพร่องในการเป็นผู้นำ ความล้มเหลวของระบบ และความรู้สึกไม่สบายใจโดยรวมของผู้คน” คิม ซี มู (Kim Si-moo) ประธานกลุ่มสมาพันธ์ศึกษาภาพยนตร์เกาหลีกล่าว

มุน แจ อิน คือความหวัง?

การ blacklist คือความรุนแรงที่ชาติปฏิบัติต่อศิลปะและศิลปินของตนเอง ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย

– มุน แจ อิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้กล่าวเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

 

การขึ้นมาของประธานาธิบดีคนใหม่อย่าง มุน แจ อิน ถือเป็นความหวังสำคัญของกลุ่มอุตสาหกรรมวัฒนธรรมบันเทิงเกาหลีใต้อย่างยิ่ง เพราะเขากล่าวอย่างชัดเจนว่า จะผลักดันและสนับสนุนศิลปวัฒนธรรมเกาหลีใต้ให้เติบโตและไปไกลกว่าที่เป็นในทุกวันนี้ (มุน แจ อิน กดติดตามทวิตเตอร์ของนักร้อง K-pop เป็นจำนวนมาก)

พร้อมกันนั้นเขายังออกมากล่าวอีกว่า จะต้องมีการตรวจสอบรายชื่อ blacklist เหล่านั้นอย่างเร่งด่วน รวมถึงจะจัดการงบสำหรับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ทั้งหมดให้เป็นเหมือนที่ควรเป็นดังเดิม เนื่องจากในสมัยรัฐบาลปาร์ค กึน เฮ ได้ใช้งบประมาณจากภาครัฐกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ในแต่ละปีเพื่อเป็นเงินทุนสนับสนุนภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาโปรรัฐบาลหรือชาตินิยมสูง และเตรียมปลดคนที่เป็นพรรคพวคของปาร์ค กึน เฮที่นั่งในตำแหน่งเหล่านั้นออกให้หมด

ดูเหมือนสิ่งที่มุน แจ อินพูดจะไม่ได้เป็นแค่ลมปาก เพราะปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องกับการทำบัญชีรายชื่อ blacklist ถูกตำรวจเข้าจับกุม ได้แก่ คิม จง ด็อค (Kim Jong-deok) และ โช ยุน ซัน (Cho Yoon-sun) อดีตรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม คิม คี ชุน (Kim Ki-choon) เจ้าหน้าที่ระดับสูงผู้ทำงานใกล้ชิดกับปาร์ค กึน เฮ

อย่างไรก็ตาม แม้จะเปลี่ยนรัฐบาลแล้ว แต่ทุกอย่างยังคงไม่ราบรื่น BIFF 2017 ซึ่งจัดขึ้นอยู่ในเวลานี้ก็ดำเนินไปด้วยงบประมาณที่เต็มไปด้วยข้อจำกัด แต่เหล่าผู้ผลิตหนังต่างก็คาดหวังว่า มุน แจ อินจะทำตามสัญญาที่ให้ไว้จริง ไม่ได้พูดไปลอยๆ เพื่อเอาใจพวกเขา

อีกไม่นานนี้ เราอาจเห็นภาพยนตร์เปิดโปงเบื้องหลังการทำงานที่อื้อฉาวและมนต์ดำของอดีตประธานาธิบดีปาร์ค กึน เฮก็เป็นได้


อ้างอิงข้อมูลจาก:
qz.com
hollywoodreporter.com
nytimes.com
english.yonhapnews.co.kr

 

Author

ชลิตา สุนันทาภรณ์
กองบรรณาธิการรุ่นใหม่ไฟแรงแห่งสำนัก WAY เธอมีความสนใจกว้างขวางหลากหลาย แต่ที่ทำให้หัวใจเต้นแรงเป็นพิเศษ คือด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รายงานข่าวต่างประเทศจากปลายนิ้วจรดคีย์บอร์ดของเธอจึงแม่นยำและเฉียบคมยิ่ง
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า