การปฏิวัติครั้งใหญ่ ‘อาหรับสปริง’ เริ่มต้นที่ตูนิเซีย
17 ธันวาคม 2010 บนถนนเมืองซิดีบูซิด (Sidi Bouzid) ชายขายผลไม้วัย 26 ปี โมฮาเหม็ด บูอาซีซี ทำอัตวินิบาตกรรมด้วยการจุดไฟเผาตัวเอง เพื่อประท้วงความอดอยากและสภาพเศรษฐกิจตกต่ำ หลังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตบหน้าและยึดรถขายผลไม้-ความตายของคนขายผลไม้ดีกรีปริญญาในวันที่ 4 มกราคม 2011 สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ นั่นคือเป็นการจุดปะทุ ‘การปฏิวัติดอกมะลิ’ (Jasmine Revolution) ที่ลุกลามไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในโลกอาหรับ
สิบวันหลังความตายของบูอาซีซี ประธานาธิบดีไซน์ เอล อาบีดีน เบน อาลี แห่งตูนิเซีย ต้องหลบหนีออกจากประเทศ ตามมาด้วยการโค่นผู้นำเผด็จการที่ครองอำนาจมายาวนานในหลายประเทศ โดยเฉพาะการปฏิวัติที่ยังส่งผลมายังปัจจุบันคือกรณีซีเรีย เมื่อ ประธานาธิบดีบาร์ชา อัล อัสซาด ยังคงรักษาอำนาจนำไว้ ทำให้ซีเรียเป็นตัวละครสำคัญที่ทำให้เกิดกลุ่ม IS หนึ่งในกลุ่มก่อการร้ายที่อันตรายที่สุดในโลกยุคปัจจุบัน
ห้าปีผ่านไป ในเมืองที่ประสบปัญหาความยากจน แคสเซอรีน (Kasserine) วันที่ 16 มกราคม ริดฮา ยาห์ยาอุย อดีตนักศึกษาวัย 26 เผาตัวเองตามแบบของบูอาซีซี การประท้วงเริ่มต้นขึ้นอีกครั้งในเดือนครบรอบครึ่งทศวรรษของอาหรับสปริงเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการแสดงความไม่พอใจการทำงานของรัฐบาล พวกเขาทวงถามคำมั่นสัญญาการเปลี่ยนแปลงประเทศที่ยังไม่เป็นจริง การขู่ฆ่าตัวตายของกลุ่มวัยรุ่นเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ สองคนในนั้นได้รับบาดเจ็บเนื่องจากกระโดดจากหลังคาที่ทำการรัฐ เหตุผลส่วนใหญ่มาจากภาวะว่างงาน ที่นับวันจะกลายเป็นปัญหาใหญ่มากขึ้นในตูนิเซีย
ความไม่สงบรอบนี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าครั้งก่อน ถนนสายที่เป็นจุดเริ่มต้นของอาหรับสปริงถูกยึด การลุกฮือเมื่อวันเสาร์ที่ 23 มกราคม กำลังขยายตัวไปยังเมืองอื่นๆ ทั้งทางเหนือและใต้ของประเทศ โดยยังไม่มีทีท่าว่าจะสงบลง ผู้ประท้วงบางส่วนบุกเข้าทำลายสถานีตำรวจและสถานที่ทำการรัฐประจำท้องถิ่น จนมีตำรวจหนึ่งนายเสียชีวิต ทำให้รัฐบาลต้องประกาศเคอร์ฟิวตั้งแต่คืนวันศุกร์ที่ 22 มกราคม ระหว่างสองทุ่มถึงตีห้าทั่วประเทศ
ข้อเรียกร้องคือสิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไป ประชาธิปไตยและการต่อต้านคอรัปชั่นคือส่วนหนึ่งที่ไม่ต่างจากครั้งก่อน แต่อีกเสียงจากผู้ชุมนุมที่ทวีความดังมากขึ้น คือ ‘งาน เสรีภาพ และศักดิ์ศรี’ กระทั่งมีการจุดกระแส ‘การปฏิวัติดอกมะลิ’ เมื่อปี 2011 ขึ้นมาอีกครั้ง เพราะปัญหาใหญ่ประการหนึ่งที่เป็นปัจจัยนำไปสู่เหตุการณ์ครั้งนั้นยังไม่ได้รับการแก้ไข นั่นคือปัญหาเศรษฐกิจและความยากจน แม้ ประธานาธิบดีเบจิ คาอิด เอสเซบซี จะประกาศให้รัฐบาลเพิ่มอัตราการจ้างงานให้ในแคสเซอรีน สร้างโปรเจ็คท์และโครงการพัฒนาใหม่ แต่กลุ่มผู้ชุมนุมก็ยังเชื่อว่านั่นเป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
ผู้ชุมนุมซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยรุ่นและนักศึกษาไม่คิดว่าวงจรเมื่อห้าปีที่แล้วจะกลับมาอีกครั้ง ไม่มีใครรักและปรารถนาความรุนแรง แต่พวกเขาต้องมาเรียกร้องหาสิ่งเดิมๆ อีกครั้ง จากประธานาธิบดีเอสเซบซี ที่แม้จะมาจากการเลือกตั้ง แต่ก็เป็นสาแหรกหนึ่งของกลุ่มอำนาจเก่า เพราะเคยเป็นหนึ่งในสมาชิกของรัฐบาลอดีตประธานาธิบดีเบน อาลี-พวกเขาเชื่อว่า รัฐบาลเอสเซบซีได้พรากความฝันหลังการปฏิวัติไป
หลังการปฏิวัติโลกอาหรับ ตูนิเซียถูกยกเป็นต้นแบบของการเปลี่ยนผ่านจากระบอบปากกระบอกปืนไปสู่หีบเลือกตั้ง ประชาธิปไตยใหม่ของตูนิเซียเกิดขึ้นจากรัฐบาลที่มีการผสมระหว่างพรรคอิสลามสายกลาง Ennahda และพรรคทางโลก Nidaa Tounes
กลุ่มสานเสวนาสี่ฝ่ายแห่งชาติตูนิเซีย หรือ Tunisian National Dialogue Quartet ซึ่งประกอบด้วย สหภาพแรงงานตูนิเซีย (The Tunisian General Labour Union: UGTT) สมาพันธ์อุตสาหกรรม การค้า และหัตถกรรมแห่งตูนิเซีย (The Tunisian Confederation of Industry, Trade and Handicrafts: UTICA) สหภาพสิทธิมนุษยชนแห่งตูนิเซีย (The Tunisian Human Rights League: LTDH) และสมาคมทนายความตูนิเซีย (The Tunisian Order of Lawyers) เข้ามามีบทบาทสำคัญในการสร้างประชาธิปไตยหลังการปฏิวัติในตูนิเซีย จนได้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2015
แต่รางวัลสันติภาพจากชาติตะวันตกไม่ได้สะท้อนถึงภาพรวมภายในประเทศ ตูนิเซียต้องเผชิญภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ คนหนุ่มสาวยังคงสิ้นหวัง นักศึกษาที่จบจากมหาวิทยาลัยหนึ่งในสามตกงาน อัตราการว่างงานเมื่อสิ้นปี 2015 อยู่ที่ 15.3 เปอร์เซ็นต์ มากกว่าตัวเลข 12 เปอร์เซ็นต์ของเมื่อปี 2010 เนื่องจากการลงทุนและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ส่งผลให้ระดับการเติบโตอยู่ที่ 1.5 เปอร์เซ็นต์
นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนอย่างบูอาซีซีต้องมาเป็นคนขายผลไม้ นอกจากนี้ จำนวนคนตกงานที่สูงลิบในหมู่ชนชั้นกลางและนักศึกษา ทำให้ชาวตูนิเซียหลายพันคนหันเข้าไปร่วมรบกับกองกำลัง IS ในซีเรีย อิรัก และลิเบีย
ต่างจากเพื่อนบ้านอย่างลิเบีย และแอลจีเรีย ที่มีทรัพยากรน้ำมัน ตูนิเซียมีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติน้อยมาก สิ่งที่สร้างรายได้และทำให้เกิดการจ้างงานหลักในประเทศคือการท่องเที่ยว แต่จำนวนนักท่องเที่ยวก็ตกวูบ เพราะการโจมตีจากกลุ่มก่อการร้ายครั้งใหญ่ๆ ในปี 2015 ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ทั้งการยิงถล่มพิพิธภัณฑ์และระเบิดพลีชีพ โดยเฉพาะกรณีที่ ไซเฟดดีน เรซกุย วัย 23 ปี ใช้ปืนกราดยิงใส่นักท่องเที่ยวที่ซูสซา (Soussa) เหตุนองเลือดบนชายหาดครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิต 38 คน
สิ่งต่างๆ เหล่านี้ปรากฏขึ้นในช่วงครบรอบห้าปีของอาหรับสปริง ที่ตูนิเซีย ปัญหาเก่ายังคงดำเนินต่อไป ส่วนที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขได้นำไปสู่ปัญหาใหม่ๆ ขณะที่สถานการณ์ในประเทศอื่นๆ ที่ผ่านการปฏิวัติมาก็ยังอยู่ในสถานการณ์ไม่น่าไว้วางใจ ทั้งซีเรีย ลิเบีย และอียิปต์ ครึ่งทศวรรษที่ผ่านมา การปฏิวัติเกิดขึ้นตามทฤษฎีโดมิโนที่ล้มตามกัน ไม่แน่ว่าตอนนี้ โดมิโนอาจกำลังถูกจัดเรียงเข้าแถว รอเวลาที่ตัวแรกจะล้ม เมื่อนั้นอาจเกิด ‘อาหรับสปริง’ ครั้งใหม่ก็ได้
อ้างอิงข้อมูลจาก:
theguardian.com
bdlive.co.za
taipeitimes.com
jordantimes.com
alaraby.co.uk
en.qantara.de