ตูนิเซีย: จุดเริ่มต้นสู่จุดจบของอาหรับสปริง

ไฟปฏิวัติที่กำลังจะมอดดับในตูนิเซีย ครั้งหนึ่งเคยเป็นไฟแห่งความหวังของประชาชนที่รวมตัวกันโค่นล้มเผด็จการทั่วตะวันออกกลางและแอฟริกาตอนเหนือช่วงปี 2010 หรือที่เรียกกันว่าการปฏิวัติครั้งใหญ่ ‘อาหรับสปริง’ จนหลายคนมองเห็นเป็นแบบอย่างแนวทาง ไปจนถึงถอดบทเรียน 

ทว่าปี 2022 นี้กำลังชี้ให้เห็นแล้วว่า ประวัติศาสตร์ของภูมิภาคอาจจะวนกลับสู่จุดเดิม โดยเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2022 สำนักข่าว The Economist รายงานว่า ตูนิเซียกำลังเข้าสู่การลงคะแนนเสียงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวจะทำให้กลไกทางรัฐสภาของตูนิเซียอ่อนแอลง ประชาชนแทบจะไม่มีอำนาจในการนำประธานาธิบดี คาอิส ไซเอด (Kais Saied) ลงจากตำแหน่งได้เลย และประธานาธิบดีไซเอดยังสามารถแต่งตั้งหรือถอดถอนคณะรัฐมนตรีได้ตามใจชอบอีกด้วย ปัญหาสำคัญคือร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ยังมอบอำนาจให้ประธานาธิบดีไซเอดขยายระยะเวลาของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปได้เรื่อยๆ อย่างไม่มีกำหนด 

การกลับมาทบทวนจุดจบของจุดเริ่มต้นไฟแห่งความหวังอย่างตูนิเซีย นับเป็นการถอดบทเรียนของชัยชนะและความพ่ายแพ้ในการปลดแอกประชาชนจากรัฐเผด็จการ เป็นการศึกษาดูการล้มลุกคลุกคลานของตูนิเซีย ในฐานะพลเมืองโลกที่มีโอกาสเผชิญหน้ากับอำนาจเผด็จการเหมือนกันทุกคน

ธันวาคม 2010 

จุดเริ่มต้นของ ‘การปฏิวัติดอกมะลิ’ (Jasmine Revolution) ที่ประเทศตูนิเซีย เกิดจากการเผาตัวตายของพ่อค้าผลไม้ริมทาง โมฮาเหม็ด บูอาซีซี (Mohamed Bouazizi) ที่ถูกกลั่นแกล้งจากเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้บูอาซีซีกลายเป็นสัญลักษณ์ของขบวนการต่อสู้ และส่งผลให้อดีตประธานาธิบดี เบน อาลี (Ben Ali) ต้องเผชิญกับการชุมนุมต่อต้าน

มกราคม 2011 

เกิดการชุมนุมทั่วประเทศและการปะทะกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐ มีผู้เสียชีวิตจากการชุมนุมตามมาจนทำให้ประธานาธิบดี เบน อาลี สั่งปลดนาย ราฟิก เบลฮาช คาเซ็ม (Rafiq Belhaj Kacem) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงภายในประเทศ (Ministry of the Interior) เพื่อตั้งคณะกรรมการสอบสวนเหตุประท้วงที่เกิดขึ้น

ตูนิเซียประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ยุบสภา และเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีก 6 เดือน ทว่าเมื่อแก้ไขสถานการณ์ไม่ได้ ประธานาธิบดี เบน อาลี จึงประกาศลาออก และลี้ภัยไปยังซาอุดิอาระเบีย การขับไล่ผู้นำเผด็จการครั้งนี้จุดประกายการปฏิวัติของมวลชนไปทั่วภูมิภาค

อียิปต์: ผู้ประท้วงรัฐบาลอียิปต์ จุดไฟเผาตัวเองหน้าอาคารรัฐสภา กรุงไคโร 

กุมภาพันธ์ 2011 

พรรค The Democratic Constitutional Rally (RCD) พยายามจัดตั้งรัฐบาลใหม่และเสนอแนวทางการปฏิรูปประเทศ แต่มวลชนยังคงจัดการชุมนุมอยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากไม่พอใจที่มีรัฐมนตรีคนเดิมๆ จากสมัยเผด็จการอำนาจนิยม

อียิปต์: ประธานาธิบดี ฮอสนี มูบารัค (Hosni Mubarak) แห่งอียิปต์ประกาศลงจากตำแหน่ง หลังมีการลุกฮือของประชาชน อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีชุดเดิมหลายคนยังคงอยู่ในตำแหน่ง

มีนาคม 2011

เยเมน: การประท้วงขับไล่ประธานาธิบดี อาลี อับดุลเลาะห์ ซาเลห์ (Ali Abdullah Saleh) ในกรุงซานา ประเทศเยเมน มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 45 ศพ ซึ่งถูกยิงโดยกลุ่มผู้ภักดีต่อประธานาธิบดีซาเลห์ 

เมษายน 2011

อียิปต์: อดีตประธานาธิบดีมูบารัคแห่งอียิปต์ ถูกดำเนินคดีข้อหาคอร์รัปชันและการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม รวมถึงการมีส่วนรู้เห็นในการฆาตกรรมผู้ชุมต่อต้านรัฐบาล 

สิงหาคม 2011

ลิเบีย: ผู้นำลิเบีย มูอัมมาร์ กัดดาฟี (Moammar Gadhafi) หลุดจากอำนาจเนื่องจากเกิดการชุมนุมทั่วประเทศ ก่อนจะถูกสังหารเสียชีวิตโดยกลุ่มต่อต้านในเดือนตุลาคม

ธันวาคม 2011 

มอนเคฟ มาโซกี (Moncef Marzouki) นักสิทธิมนุษยชนและอดีตผู้ต่อต้านประธานาธิบดี เบน อาลี ได้รับการโหวตให้ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี รื้อฟื้นขนบธรรมเนียมทางศาสนาที่เคยถูกสั่งห้าม นำมาซึ่งความขัดแย้งระหว่างกลุ่มศาสนากับกลุ่มผู้นิยมรัฐฆราวาส (Secularists)

2012

ซีเรีย: เกิดสงครามกลางเมืองซีเรีย และการลุกฮือโค่นล้มรัฐบาลของประธานาธิบดี บัชชาร์ อัล-อัสซาด (Bashar al-Assad)

กุมภาพันธ์ 2013

นักการเมืองฝ่ายซ้าย โชกรี เบลเลด (Chokri Belaid) ถูกลอบสังหาร ซ้ำรอยความบาดหมางระหว่างกลุ่มผู้นิยมรัฐศาสนากับกลุ่มผู้นิยมรัฐฆราวาสอีกครั้ง 

กรกฎาคม 2013

โมฮัมเหม็ด บราห์มี (Mohamed Brahimi) นักการเมืองฝ่ายค้านผู้นิยมรัฐฆราวาส ถูกลอบสังหาร

มกราคม 2014 

ตูนิเซียรับรองรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มุ่งประนีประนอมระหว่างฝ่ายรัฐฆราวาสและฝ่ายรัฐศาสนาเพื่อจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน โดยมีเป้าหมายฟื้นฟูสภาพสังคมที่เสียหายจากพิษเศรษฐกิจ

มีนาคม 2015

กลุ่มรัฐอิสลามอิรักและลิแวนต์ (ISIL) ก่อเหตุกราดยิงนักท่องเที่ยวในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ Bardo และที่ชายหาดบริเวณเมืองซูสส์ (Sousse) จนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ทำให้การท่องเที่ยวตกต่ำ อัตราการว่างงานสูง และเศรษฐกิจฝืดเคือง ประชาชนจึงเริ่มกลับมาประท้วงอีกครั้ง

กรกฎาคม 2016 

รัฐสภาลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล และทำให้นาย ยูเซฟ ชาด (Youssef Chahed) ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่มาตรการรัดเข็มขัดทางเศรษฐกิจก็ส่งผลให้สินค้าราคาแพงขึ้นและมีการเรียกเก็บภาษีมากขึ้น

มกราคม 2018 

พรรค Nida Tounes และผู้ชุมนุมทั่วประเทศเริ่มเรียกร้องให้ Chahed ลาออก 

มิถุนายน 2019 

ประธานาธิบดี เบจิ คาอิด เอสเซบซี (Beji Caid Essebsi) เสียชีวิตจากอาการป่วย ขณะที่ตัวเต็งในสนามเลือกตั้งอย่าง นาบิล คาโรนี (Nabil Karouni) ก็ถูกจับกุมข้อหาฟอกเงินและหลบเลี่ยงภาษี ขณะเดียวกันผู้เล่นหน้าเก่าอย่าง Chahed ก็ลงสมัครด้วย 

ท้ายสุดผู้ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี คือ ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายจากพรรคอนุรักษนิยม คาอิส ไซเอด (Kais Saied) ขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดี หลังได้รับความนิยมจากการวิพากษ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญปี 2014 และนโยบายที่จะสนับสนุนคนรุ่นใหม่และกระจายอำนาจ

กุมภาพันธ์ 2020

อียิปต์: อดีตประธานาธิบดี ฮอสนี มูบารัค แห่งอียิปต์ เสียชีวิตด้วยอายุ 91 ปี ณ โรงพยาบาลทหาร กรุงไคโร 

2021 

กลุ่มการเมืองเริ่มสวามิภักดิ์ต่อประธานาธิบดีไซเอด ขณะเดียวกันกลับไม่มีนโยบายด้านเศรษฐกิจเป็นชิ้นเป็นอัน ประชาชนจึงกลับมาชุมนุมอีกครั้งในวันครบรอบ 10 ปีการปฏิวัติดอกมะลิ

กรกฎาคม 2021 

จากการประท้วงเรื่องความผิดพลาดในการจัดการวัคซีนโควิด-19 ทำให้ประธานาธิบดีไซเอดปลดนายกรัฐมนตรีออก ระงับการทำงานของรัฐสภาด้วยการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และระงับใช้รัฐธรรมนูญหลายมาตรา การกระทำนี้ได้รับความนิยมอย่างมากจากผู้ได้รับผลกระทบจากการปฏิวัติดอกมะลิ เนื่องจากมองว่าเป็นการปฏิวัติที่ล้มเหลว 

กุมภาพันธ์ 2022

ประธานาธิบดีไซเอดยุบสภาตุลาการสูงสุด (Supreme Judicial Council) และแต่งตั้งคนของตนเองเข้าไปทำงานแทนที่ 

มีนาคม 2022

ประธานาธิบดีไซเอดยุบสภา 

มิถุนายน 2022

ประธานาธิบดีไซเอดเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งจะสร้างฐานอำนาจให้แก่ตนเองเป็นอย่างมาก และปิดกั้นการถอดถอนประธานาธิบดีจากรัฐสภา รวมไปถึงปิดกั้นการใช้อำนาจของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเหนือตำแหน่งประธานาธิบดีอีกด้วย 

ที่มา

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า