สมาคมกุมารแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา (the American Academy of Pediatrics : APP) ประกาศเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมาว่า กำลังเริ่มทบทวน “ข้อพึงปฏิบัติ” ในการใช้อุปกรณ์สื่อสารที่มีหน้าจอต่างๆ สำหรับเด็ก
เป็นเวลากว่า 15 ปีแล้วที่สมาคมกุมารแพทย์ฯ แนะนำพ่อแม่ให้เด็กๆ อายุต่ำกว่า 2 ปี หลีกเลี่ยงการใช้หน้าจอผ่านอุปกรณ์สื่อสารต่างๆ และสำหรับเด็กอายุมากกว่า 2 ปี ควรกำหนดเวลาใช้ในสัดส่วนไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน
“แต่ในโลกที่ ‘เวลาหน้าจอ’ กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตประจำวัน แนวทางหรือนโยบายต่างๆ เรื่องนี้ต้องปรับปรุงและบางข้ออาจต้องเลิกใช้” เนื้อหาตอนหนึ่งจากบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารของสมาคมกุมารแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา ระบุไว้เช่นนี้
อารี บราวน์ (Ari Brown) ผู้เขียนบทความดังกล่าวและเป็นประฐานสมาคมกุมารแพทย์ฯ เผยว่า จากการสำรวจพฤติกรรมการใช้สื่อ/อุปกรณ์ต่างๆ ของเด็ก พบว่า ในปี 2011 ที่สมาคมฯ กำหนดข้อพึงปฏิบัติการใช้ไอแพดในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ออกมานั้น ค่อนข้างล้าสมัย เนื่องจากเทคโนโลยีไปเร็วเกินกว่าวิทยาศาสตร์จะศึกษาค้นคว้าทัน
ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายจึงจัดประชุมกัน เพื่อกำหนด ‘ข้อพึงปฏิบัติการใช้สื่อมีจอ’ ใหม่ ซึ่งน่าจะเสร็จสิ้นภายในปลายปี 2016
“เทคโนโลยีไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป สื่อเองก็เช่นกัน ทุกวันนี้มีการบริโภคและการสื่อสารเต็มไปหมด ดังนั้นถ้าคุณกำลังเฝ้าดูเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ จะเห็นความแตกต่างระหว่าง ชั่วโมงการนั่งดูการ์ตูนที่ไม่จบสิ้นผ่านยูทูบและการแชทผ่านวิดีโอกับคุณย่าได้อย่างชัดเจน”
จากการสำรวจของ Common Sense Media ในซานฟรานซิสโก ปี 2013 พบว่าเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ 38 เปอร์เซ็นต์ เคยใช้โทรศัพ์มือถือ
“คำแนะนำดั้งเดิมบางอย่างเช่น ไม่ควรให้เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบใกล้ชิดอุปกรณ์เหล่านี้ กลับพบว่าไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตในปี 2015-2016” เจมส์ สเตเยอร์ (James Stayer) ซีอีโอของ Common Sense Media เผย
เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สมาคมกุมารแพทย์ฯ จัดประชุมร่วมกับนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อสำหรับเด็ก มีการนำเสนองานวิจัยหลายชุด ชิ้นหนึ่งเน้น ให้ความสำคัญการสื่อสารที่โต้ตอบกันไปมา(Interactive)
“เด็กอายุ 24-30 เดือน เรียนรู้คำศัพท์หลายคำจากคุณครูที่สอนสดผ่านวิดีโอแชต ยิ่งสื่อที่มีหน้าจอเข้ามีส่วนในการสื่อสารมากเท่าไหร่ คุณค่าจากการเรียนรู้ก็เพิ่มขึ้นเท่านั้น” สเตเยอร์อธิบาย
ดิมิทรี คริสทาคิส ผู้อำนวยการ ศูนย์สุุขภาพ พฤติกรรมและพัฒนาการเด็ก สถาบันการวิจัยเกี่ยวกับเด็กแห่งซีแอตเติล ก็ร่วมสนับสนุนให้ทบทวนนโยบายการใช้สื่อที่มีหน้าจอกับเด็กเช่นกัน
ดร.คริสทาคิส เป็นหนึ่งในผู้ร่างนโยบายดังกล่าว แนะนำว่า สื่อประเภทอินเตอร์แอคทีฟสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ นั้น ช่วงเวลาใช้ที่เหมาะสมน่าจะอยู่ที่ 30-60 นาทีต่อวัน
“ข้อเท็จจริงคือ เราต้องสำรวจว่าการใช้สื่ออินเตอร์แอคทีฟอย่างเหมาะสมและรอบคอบควรเป็นอย่างไร ซึ่งต้องต่างจากการใช้สื่อเก่าๆ ที่ผ่านมาหนังสือเป็นเพียงแค่แพล็ตฟอร์มหนึ่งให้พ่อแม่และเด็กๆ ได้มีการโต้ตอบสื่อสารกัน คำถามจริงๆ ก็คือ เครื่องมือนี้สนับสนุนให้เกิดการสื่อสารแบบบโต้ตอบกันไปมาหรือไม่ มันอาจจะทำได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับวิธีใช้และให้มันทำงานอย่างไร”
เมื่อเด็กโตพอที่จะเรียนรู้และเล่นด้วยตัวเอง ดร.คริสทาคิส ถามว่า “ไอแพดเลวร้ายกว่าของเล่นอื่นอย่างไร” แต่การศึกษาเรื่องนี้ยังไม่มีข้อสรุป
ราเชล บาร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ศึกษาการเล่มเกมพัซเซิล (ต่อภาพ) ของเด็กอายุ 2.5-3 ขวบ โดยเปรียบเทียบระหว่างพัซเซิลแม่เหล็กกับพัซเซิลในจอคอมพิวเตอร์ทัชสกรีน
เธอพบว่า เด็กๆ สามารถเรียนรู้ทั้ง 2 แบบ แต่มีการ “ส่งต่อที่ขาดช่วง” หมายความว่า พวกเขาอาจจะทำได้ดีกว่าในอุปกรณ์แบบหนึ่ง แต่เมื่อถูกขอให้เปลี่ยนไปเล่มเกมส์เดียวกันในอุปกรณ์อีกแบบหนึ่ง ประสิทธิภาพจะด้อยลง
“การประยุกต์สิ่งหนึ่งเพื่อไปใช้อีกกับสิ่งหนึ่ง คือเนื้อหาเดียวกันแต่ต่างอุปกรณ์ มันเป็นสิ่งที่ยาก” ดร.บาร์ ยังเรียนรู้อีกด้วยว่า ถ้าผู้ใหญ่ไม่แสดงให้ดูว่าเกมพัซเซิลเล่นอย่างไร เช่น วิธีการลากชิ้นส่วนมาต่อกัน เด็กๆ ก็จะไม่สามารถทำได้
ดร.บาร์เสริมว่า พ่อแม่จำเป็นต้องได้รับคำแนะนำว่าควรทำอย่างไร ไม่ใช่แค่คำแนะนำว่าไม่ควรทำอะไรบ้าง
แคลร์ เลิร์นเนอร์ ที่ปรึกษาอาวุโสด้านพ่อแม่แห่ง Zero to Three (องค์การไม่แสวงหาผลกำไรที่ทำงานด้านเด็กเล็ก) แนะนำว่า ถ้าสื่อชนิดมีหน้าจอ พัฒนาให้เป็นอินเตอร์แอคทีฟได้ และมีพ่อแม่คอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด อธิบายควบคู่ด้วยการยกตัวอย่างของใกล้ตัวประกอบก็จะเป็นเรื่องที่ดี
“แต่ไม่ว่าเรื่องราวในจอจะมีคุณภาพแค่ไหน ก็ควรจำกัดเวลาไว้ที่วันละ 60-90 นาทีเท่านั้น” เลิร์นเนอร์แนะนำอีกว่าพ่อแม่ไม่ควรทำให้ลูกสงบลงด้วยการยืนอุปกรณ์มีจอต่างๆ ให้ เพราะนั่นจะทำให้เด็กยิ่งต้องการเล่นแบบส่วนตัวมากกว่าเรียนรู้ร่วมกับคนอื่นๆ
ระหว่างรอ คำแนะนำการใช้สื่อมีจอที่จะมีข้อสรุปชัดเจนในปีหน้า สมาคมกุมารแพทย์แนะนำว่า ทุกบ้านควรมีพื้นที่ปลอดเทคโนโลยี เช่น เวลาอาหารหรือก่อนนอน
“เราต้องแสดงให้เด็กเล็กไปจนถึงวัยรุ่นเห็นว่า เราไม่จำเป็นต้องผูกพันกับหน้าจอตลอดเวลา” เลิร์นเนอร์ ทิ้งท้าย
ที่มา : wsj.com