เส้นผมและน้ำตาของผู้เป็นแม่
วันสุดท้ายของเดือนเมษายนที่ผ่านมา ปิดท้ายด้วยข่าวและภาพข่าวที่น่าสะเทือนใจ เมื่อ คุณสุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ มารดาของ พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ ‘เพนกวิน’ ผู้เริ่มอดอาหารมาตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2564 เพื่อเป็นการประท้วงและเรียกร้องสิทธิในการประกันตัว ล่าสุดมีรายงานว่าเพนกวิน “ถ่ายเป็นก้อนเนื้อ คาดว่าเกิดจากการที่ร่างกายย่อยกระเพาะอาหารตัวเองแล้ว” ผู้เป็นแม่จึงตัดสินใจ ‘โกนผม’ เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับลูกชาย ที่หน้าศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก โดยมีลูกสาวช่วยโกนผมให้ หลังจากนั้นเธอให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนด้วยน้ำตา ยืนยันว่า “ลูกดิฉันไม่ได้ทำอะไรผิด ลูกดิฉันแค่มีความเห็นต่าง ลูกดิฉันไม่มีอิสรภาพในการพูด ลูกดิฉันถูกจองจำอยู่ในเรือนจำโดยที่ยังไม่ถูกตัดสินว่าผิด ลูกดิฉันกำลังเจ็บป่วย วันนี้อาจจะอยู่ไม่ได้แล้ว เพราะน้ำเกลือไม่สามารถเข้าถึงตัวเพนกวินได้แล้ว”
แต่เมื่อเธอพาดพิงถึงการโกนผม และความคิด/ความรู้สึกเกี่ยวกับเส้นผมของตนเอง ก็ทำให้ผมรู้สึกสนเท่ห์ ครุ่นคิดในใจว่าเธอกำลังบอกอะไร…
ผมคืออีกสิ่งที่สวยที่สุดของผู้หญิง แม่โกนผมในวันนี้เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าลูกชายยังไม่ได้รับความยุติธรรม การตัดผมต้องการให้ทุกคนเห็นว่าประเทศยังไม่มีความยุติธรรม คนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย ยังไม่มีการตัดสินแต่ถูกจับกุมคุมขัง สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ตนเองสิ้นหวังต่อกระบวนการยุติธรรม การโกนผมครั้งนี้เป็นเพียงการแสดงออกที่เล็กน้อยเมื่อเทียบกับการเรียกร้องประชาธิปไตยของลูก เพื่อนๆ และคนหนุ่มสาว[1] – สุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ กล่าวทั้งน้ำตาขณะโกนผม
แล้วเธอก็ยื่นขอประกันตัวลูกชายอีกครั้ง ทว่า การโกนผมประท้วงของคุณสุรีย์รัตน์ได้กลายเป็น ‘การต่อสู้เชิงสัญลักษณ์’ ที่ส่งผลให้ผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่งร่วมโกนผมเพื่อเป็นการประท้วงเช่นกัน[2]
ไม่ใช่แค่ ‘ผม’ แต่เป็น ‘หัว’!
เท่าที่ทราบ การโกนผมของคุณแม่ของเพนกวิน อันเป็นการกระทำเชิงสัญลักษณ์ ไม่ได้มีแต่ในบ้านเราเท่านั้น แต่ปรากฏขึ้นในหลายสังคม และถ้อยคำของเธอที่ว่า “ผมคืออีกสิ่งที่สวยที่สุดของผู้หญิง” ทำให้ผมกลับไปคิดทบทวนถึงบทความที่เคยเขียนไว้เมื่อหลายปีก่อนเกี่ยวกับ ‘เส้นผม’ และ ‘หัว’ (หรือ ‘ศีรษะ’ หากต้องการใช้คำสุภาพ)
งานเขียนชิ้นนั้นกล่าวถึงประวัติศาสตร์ของคนไต (หรือที่คนไทยเรียกว่า ‘ไทใหญ่’) ที่เกี่ยวข้องกับการไว้ผมยาวของคนไต ซึ่งในอดีตเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของเพศหญิงและชาย ที่มีนัยเชิงความเชื่อบางประการแฝงอยู่ แน่นอน คนไตไว้ผมยาวเพราะความสวยงาม เช่น “มีบันทึกว่าคนไตในรัฐฉานของพม่าในศตวรรษที่ 19 ไว้ผมยาวและดูแลเส้นผมอย่างดี หมั่นสระผมบำรุงเส้นผมด้วยน้ำมันอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง บางคนก็หลายครั้ง ทั้งชายหญิงจะหวีสางผมด้วยความระมัดระวังแล้วหมุนเป็นม้วนจับไว้บนศีรษะ และเนื่องจากคนไตมักจะไม่ใช้ปิ่นปักผมแต่หมุนเป็นมวยไว้เฉยๆ มวยผมจึงมักจะหลุด คนไตส่วนใหญ่ต้องหวีผมและจับเป็นมวยวันละหลายหน”[3] ทว่า เส้นผมที่ยาวสลวย มันและดำเพราะน้ำมัน มิได้เพื่อความงดงามเท่านั้น
แต่ “ศีรษะ เส้นผม หรือแม้แต่หวีถูกถือว่าเป็น “ของสูง” ที่ต้องให้ความเคารพ”[4] ด้วยเหตุนี้ คนไตในรัฐฉานจึง “มักจะเสียบหวีไว้กับหลังคาบ้านหรือที่สูง จะไม่วางหวีเกะกะ เพราะเชื่อว่าหากใครเหยียบหวีเข้าจะมีโชคร้ายกับเจ้าของหวี ส่วนเส้นผมถือเป็นส่วนสำคัญของชีวิตที่เพิ่งเริ่มต้น ผมของทารกแรกเกิดจะถูกตัดและเก็บรักษาไว้อย่างดีในถุงผ้าเล็กๆ ซึ่งผูกห้อยคอทารกคนนั้นใว้ ถือเป็นการดูแลขวัญ ป้องกันไม่ให้เด็กตกใจร้องไห้เวลากลางคืน หากเด็กเกิดเจ็บป่วยขึ้นพ่อแม่จะเอาถุงใส่ผมไปแช่น้ำแล้วนำน้ำนั้นมาอาบให้เด็ก หรือบางครั้งก็ให้เด็กดื่มเป็นการรักษาอาการป่วยไข้”[5]
สำหรับคนไต ศีรษะและเส้นผมเกี่ยวข้องโดยตรงกับ ‘ขวัญ’ ของปัจเจกบุคคลแต่ละคนโดยเฉพาะ (จึงต้องแขวนเส้นผมเมื่อแรกเกิดของแต่ละคนไว้ที่คอผู้นั้น) ส่วนหวีก็เป็นเครื่องใช้ประจำตัวที่ต้องเก็บรักษาไว้อย่างดี เพราะอาจมีเหตุที่นำมาซึ่งเคราะห์ร้ายอันมิพึงประสงค์สู่บุคคลผู้นั้นได้
(อาจจะไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า คนไทยในอดีตคงเชื่อเรื่องเหล่านี้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องขวัญและศีรษะ)
หญิงสาวชาวไทในรัฐฉาน Rewi Maniapoto หัวหน้าเผ่า Ngāti Maniapoto
แต่ความเชื่อเรื่องศีรษะ ขวัญ และของสูง ไม่ได้มีเพียงในหมู่คนไตเท่านั้น หากพบในสังคมอื่นด้วย เช่น ชาวโพลิเนเชียนที่อาศัยอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก และกลุ่มชนที่ผมมีความรู้บ้างคือ ชาวเมารี (Maori) ชนพื้นเมืองของประเทศนิวซีแลนด์ คนกลุ่มนี้ “ให้ความสำคัญต่ออวัยวะส่วนต่างๆ ในร่างกายในลักษณะเดียวกับสถานภาพทางสังคม ในแง่ที่ว่าร่างกาย (และสังคม) มีความสำคัญตามลำดับชั้น ศีรษะ ส่วนที่อยู่เหนือร่างกาย เป็นที่ตั้งของ “มะนะ” (mana)[6] ของทั้งหญิงและชาย แม้แต่คนธรรมดาทั่วไป ศีรษะย่อมเป็นส่วนที่มีความสำคัญเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสังคมเมารีมีระบบลำดับชั้น ศีรษะของหัวหน้าเผ่า ซึ่งเป็นนักรบ คือที่รวมที่สำคัญที่สุดของมะนะ ดังนั้นจึงเป็นบริเวณที่มี “ตะปุ” (tapu – ซึ่งอาจให้คำนิยามสั้นๆ ว่า “ข้อห้าม”] น่ากลัวที่สุดด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีบางสิ่งบางอย่างเข้าไปในศีรษะ หรือเมื่อศีรษะทำให้ถูกเล็กลง ตัวอย่างเช่นเวลาที่หัวหน้าเผ่ากินอาหารหรือตัดผม”[7]
“การตัดผมถือเป็นพฤติกรรมที่เหมือนกับการฆ่าฟัน เพราะเกี่ยวข้องกับศีรษะและการตัด หลังจากตัดผมแล้ว มือทั้งสองข้างของผู้ที่ตัดผมให้หัวหน้าเผ่าไม่อาจใช้แตะต้อง จับ หรือทำกิจกรรมสำคัญๆ เช่น การกินอาหาร อย่างน้อยในช่วงเวลาหนึ่ง เพราะถือว่าเป็น “ตะปุ” จึงต้องมีผู้อื่นคอยป้อนอาหารให้ คนที่ตัดผมหัวหน้าเผ่ามักจะเป็นภรรยาของหัวหน้า หรือคนในกลุ่มหัวหน้าเผ่าด้วยกันเอง ว่าไปแล้วนัยของการป้อนอาหาร ก็เพื่อแสดงให้เห็นฐานะที่สูงกว่าของเหล่าหัวหน้าและครอบครัว ยิ่งกว่านั้น มือของหัวหน้าเผ่าผู้ยิ่งใหญ่ มีชื่อเสียง ก็เชื่อกันว่ามีความสำคัญและอันตรายด้วย มีอันตรายมากเสียจนไม่อาจยกมือขึ้นไปชิดศีรษะได้ เชื่อกันว่าหากทำเช่นนั้นอาจเกิดเหตุร้ายกับหัวหน้าเผ่าคนนั้นเอง”[8]
มีคนตั้งข้อสังเกตว่าการตัดผมเป็นกิจกรรมที่ชาวเมารีให้ความสำคัญมาก เพราะ “ยังพบว่าเวลาตัดผมมีคนเมารีขอให้ช่างตัดเก็บผมของตนที่ตัดออกใส่ลงในถุง เพื่อนำกลับบ้านไปฝังในที่ลับมิดชิด”[9]
สำหรับชาวเมารี เส้นผมจึงมีความหมายมากกว่าความสวยงาม และศีรษะก็เป็นหนึ่งในอวัยวะที่สำคัญที่สุดของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นด้านกายภาพ สังคม หรือความเชื่อทางศาสนา
ตัวอย่างที่เอ่ยถึงข้างบนนี้เพราะต้องการชี้ให้เห็นถึงนัยอันสำคัญยิ่งของเส้นผมและศีรษะ และการโกนผมก็มีความหมายที่ซับซ้อนทางสังคม รวมถึงเรื่องอารมณ์ทางสังคมและของปัจเจกบุคคลอีกด้วย
โกนหัวประจาน
เนื่องจากศีรษะและเส้นผมมีความหมายอันสำคัญยิ่ง ดังเหตุผลที่กล่าวถึงข้างต้น การใช้กำลังบังคับปัจเจกบุคคลให้ถูกโกนผม/โกนหัวในที่สาธารณะ จึงเป็นการลงโทษวิธีหนึ่งที่นิยมใช้ในหลายสังคม รวมถึงสังคมไทยในอดีต เพราะนอกจากการลงโทษเช่นนี้จะมีจุดมุ่งหมายที่เห็นได้อย่างชัดเจน (ต่อสาธารณชนจำนวนมาก) คือการประจานผู้ที่ถูกโกนผม/โกนหัว ยังมีนัยของการลดทอนคุณค่าความเป็นคน หรือความเป็นมนุษย์ ของผู้ที่ถูกประจานอีกด้วย
ผมขอเริ่มด้วยตัวอย่างในต่างประเทศ เช่น ในประเทศจีน “การขึ้นศาลของสื่อมวลชน … ต้องสวมชุดนักโทษและต้องโกนผม เหตุการณ์นี้ส่งผลให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อมวลชน” จนทำให้ประธานศาลประชาชนผู้หนึ่งต้องออกมาแสดงความคิดเห็นว่า “ผู้ต้องหาคดีอาชญากรรมในมณฑลเหอหนาน จะต้องไม่ถูกบังคับให้โกนผม สวมชุดนักโทษ และถูกขังไว้ในคอกของห้องพิจารณาคดี เพราะนั่นเป็นสัญลักษณ์ว่าเขามีความผิดทั้งๆ ที่เขายังไม่ได้ถูกตัดสินหรือถูกจำคุก ซึ่งก่อนหน้านี้การบังคับให้โกนหัวและอื่นๆ มาจากการที่ระบบกฎหมายเดิมของจีนไม่มีหลักสมมุติฐานว่าผู้ต้องหาบริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ความว่าไม่ผิด” และในประเทศอิหร่าน ก็มีประมวลกฎหมายที่กำหนดบทลงโทษว่า ผู้ชายที่แต่งงานแล้วกระทำการผิดประเวณีจะต้องถูกลงโทษโดยการเฆี่ยน ถูกโกนผม และถูกขับออกจากประเทศเป็นเวลาหนึ่งปี กฎหมายฉบับนี้ยังถูกบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน[10]
ในประเทศฝรั่งเศส หลังจากที่กองทัพเยอรมนีพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้หญิงฝรั่งเศสจำนวนไม่น้อยต้องอยู่กินกับทหารเยอรมนีในช่วงสงครามเพราะความจำเป็นบังคับ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพราะอาหารเป็นของหายาก แต่ทหารเยอรมนีสามารถหามาแบ่งปันให้ได้) ซึ่งมีผู้หญิงจำนวนมากถูกจับโกนหัว แล้วนำตัวขึ้นบนท้ายรถบรรทุก แห่ประจานไปทั่วเมือง บางคนถูกทาหน้าด้วยน้ำมันดินสีดำ หรือถูกกากบาทบนใบหน้าด้วยสีหรือลิปสติก บางคนก็ถูกจับแก้ผ้าจนเกือบหมด พวกเธอได้แต่ร้องไห้ คอตกด้วยความรู้สึกละอาย จนผู้ที่ร่วมสังเกตการณ์บางคนแสดงความเห็นว่าพวกเธอเหมือนสัตว์ที่ถูกไล่ล่า ในกรุงปารีสก็มีหญิงโสเภณีที่เคยร่วมหลับนอนกับทหารเยอรมนีถูกรุมเตะจนตาย ผู้ชายฝรั่งเศสที่เคยทำงานในโรงงานของพวกเยอรมนีก็ถูกจับโกนหัวประจานเช่นกัน แต่ผู้ที่ถูกโกนหัวประจานส่วนใหญ่คือผู้หญิง[11]
การลงโทษด้วยการโกนผม/โกนหัว (และการลงโทษที่รุนแรงกว่า) ในสังคมไทยมีมานานแล้ว ดังปรากฏในการลงโทษ ‘หญิงชั่วมีชู้’ ที่ระบุอยู่ใน ‘กฎหมายตราสามดวง’ ว่า “โทษขั้นพื้นฐานของหญิงมีชู้คือ การประจานและโทษทางร่างกาย เป็นที่น่าสังเกตว่าในกรณีของสามัญชน โทษของการมีชู้นั้นเน้นไปที่เรื่องของการประจานหญิงและปรับไหมชายชู้ มากกว่าที่จะลงโทษทางร่างกายอย่างร้ายแรง … การประจานเป็นวิธีลงโทษหญิงมีชู้มาตั้งแต่รัฐอยุธยา บันทึกของแชรแวสเล่าถึงการที่ภรรยามีชู้ซึ่งมักเป็นภรรยารองหรือเมียน้อยที่คบชู้ว่า “ถ้าถูกจับได้ว่าเล่นชู้สู่ชายแล้ว เมียหลวงก็จะนำความไปแจ้งแก่สามีให้ลงโทษจับโกนหัวเสีย ทำนองเดียวกับในประเทศฝรั่งเศสที่ถือว่าเป็นเครื่องหมายแห่งความอัปยศและเป็นการประจานกันอย่างรุนแรงที่สุดสำหรับสตรีเพศ” ”[12] และ “ถ้าหากหญิงนั้นทำชู้กับชาย 2 คนขึ้นไป จะถูกประจานโดยโกนผม นำตัวขึ้นขาหยั่งประจานรอบตลาด ทวนด้วยลวดหนัง 20 ที”[13]
แม้จนกระทั่งสมัยรัตนโกสินทร์ การลงโทษด้วยการโกนผม/โกนหัวก็ยังปฏิบัติอยู่ แต่มิได้กระทำต่อ ‘หญิงชั่วมีชู้’ เท่านั้น หากแต่นักโทษประหารก็ถูกกระทำด้วย ดังเช่นการประหารชีวิตผู้หญิงที่ปรากฏใน “บันทึกของคาร์ล บ็อค นักธรรมชาติวิทยาที่เข้ามาสำรวจสยามในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กล่าวถึงการประหารชีวิตนักโทษหญิงที่มีมูลเหตุจากเรื่องชู้สาวว่า ในวันที่ 15 ตุลาคม มีผู้มาแจ้งแก่เขาว่าวันนี้จะมีการประหารนักโทษ ซึ่งเขาได้ไปดูการประหารนี้และนำเรื่องราวหญิงคนนี้มาบอกเล่าในบันทึกของเขาว่า “เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อราว 2 สัปดาห์ที่แล้วมา ในกรุงเทพฯ ตื่นเต้นตกใจกันมาก เพราะเกิดฆาตกรรมอันน่าสยดสยองขึ้นรายหนึ่ง ผู้ต้องหาเป็นภรรยาของชายผู้มีตระกูลคนหนึ่ง ได้กระทำฆาตกรรมคนใช้ของตนเอง … มีหลักฐานอยู่พร้อมมูลว่าความหึงหวงเป็นสาเหตุ และผลที่เกิดขึ้นก็คือการฆาตกรรมอันโหดร้ายไร้มนุษยธรรมที่สุดครั้งนี้ ในที่สุดได้มีการพิจารณาคดีกันจนเรียบร้อยและพิพากษาให้ประหารชีวิตจำเลย” ”[14]
“ตามธรรมเนียมการประหารชีวิต จะต้องนำหญิงนักโทษจำโซ่ตรวนไปเดินร้องประจานความชั่วร้ายและโทษทัณฑ์ของตนเสียก่อนที่จะถึงวันประหาร 3 วัน … สภาพของนักโทษหญิงที่ถูกจำขื่อคาที่คอ ตีตรวนทั้งข้อมือและข้อเท้าว่า … ดูคล้ายกับจะมีการให้ยาระงับประสาทอย่างแรงแก่นักโทษด้วยเพราะดูนักโทษซบเซาแทบจะไม่รู้สึกตัวเอาเลย มีเพื่อนหญิง 3 คนนั่งอยู่รอบข้าง คอยพูดปลอบโยนไม่ให้ตกใจกลัว และบอกว่าอีกไม่ช้าก็จะได้เป็นสุขแล้ว นอกจากนั้นมีพระองค์หนึ่งเทศน์อยู่ตรงหน้า แต่นักโทษไม่สนใจฟังแม้แต่น้อย ส่วนที่น่าสงสารที่สุดของนักโทษก็คือหลัง เพราะหล่อนถูกเฆี่ยนอย่างแรงที่สุดด้วยเชือก 3 ยกมาแล้วเป็นจำนวน 90 ที ซึ่งนับว่าเป็นการลงโทษอย่างหนักที่สุดที่เคยมีมา และเป็นการลงโทษขนาดหนักที่หลายคนถึงกับไม่รอด” เมื่อถึง “ขั้นตอนในการประหารนักโทษ ซึ่งในขณะเตรียมการประหารโดยตัดผมนักโทษออก เอาดินเหนียวมาอุดหู และจมูกของนักโทษ และนำดินแปะไว้ตรงคอ ตำแหน่งที่จะลงดาบ … หลังการตัดศีรษะนักโทษ ศีรษะจะถูกนำไปเสียบไม้ไผ่ลำยาวประจานไว้ มีเสียงพูดพึมพำจากคนที่มาดูว่า มันได้รับผลกรรมของมันแล้ว ไม่มีคำพูดแสดงความสงสารหญิงคนนั้นสักคำเดียว แม้แต่ในหมู่ญาติพี่น้องของหล่อนเองก็ไม่มี”[15]
ในเว็บไซต์ของ iLaw มีการสรุปความคิดเห็นว่า “การโกนผมดูเหมือนจะเป็นรูปแบบหนึ่งในการลงโทษของกฎหมายโบราณ ดังจะเห็นชัดในกรณีกฎหมายตราสามดวงของประเทศไทย นอกจากนี้การโกนผมในกระบวนการยุติธรรมสมัยใหม่ยังผูกติดกับรัฐแบบอำนาจนิยม ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จในการปกครอง ให้ความสำคัญกับอำนาจรัฐมากกว่าเสรีภาพของประชาชน เห็นชัดเจนคือปัจจุบันประเทศที่ยังใช้วิธีการนี้อยู่ คือ ประเทศอิหร่าน และประเทศจีน … สำหรับเหตุผลของการโกนผมก็คงจะมีเหตุผลสองข้อหลัก คือ หนึ่ง รัฐได้แสดงถึงอำนาจในการควบคุมประชาชนโดยทำให้ผู้ต้องหาถูกตราหน้าจากสังคมว่าเป็นผู้กระทำผิด และสอง เป็นการประจานทำให้ผู้ต้องหาอับอายและเสียชื่อเสียง ทั้งๆ ที่ในบางกรณีตัวผู้ต้องหาเองยังไม่ได้ถูกจำคุกหรือถูกศาลตัดสินว่ามีความผิด”[16]
ทว่า ผมคิดว่าการลงโทษเช่นนี้มีนัยของความรุนแรงที่หนักหนากว่าเพียงการทำให้ผู้ต้องหาอับอายและเสียชื่อเสียงเท่านั้น ในกรณีของผู้หญิงที่ถูกประหารชีวิตในสมัย ร.5 การลงโทษเธอด้วยการโกนผม/โกนหัวและวิธีการอื่นๆ ตั้งแต่ถูก ‘จำโซ่ตรวนไปเดินร้องประจานความชั่วร้ายและโทษทัณฑ์’ สะท้อนให้เห็นว่าเธอมิได้มี ‘ความเป็นมนุษย์’ หลงเหลืออยู่เลย ไม่มีแม้แต่ในสายตา/ความคิด/ความรู้สึกของ ‘ญาติพี่น้อง’ ของเธอเอง เธอไม่เพียงแต่ถูกตัดสิน (โดยอำนาจรัฐ) ว่าโทษทัณฑ์/ความผิดของเธอต้องชดใช้ด้วยชีวิตของตนเท่านั้น หากเธอยังถูกลดทอนให้ ‘มิใช่มนุษย์’ เพื่อให้การฆ่าฟัน/คร่าชีวิตของเธอ (โดยอำนาจรัฐ) เป็นสิ่งที่ถูกครรลอง ถูกต้องตามกฎหมายและศีลธรรม
มนุษย์ผู้เย็นชากว่าจักรกล!!
ความตอนหนึ่งในบทวิจารณ์นิยายเรื่อง Klara and the Sun ของนักเขียนเชื้อสายญี่ปุ่นนาม Kazuo Ishiguro ซึ่งใช้เนื้อหาในนิยายเรื่องนี้เป็นหลัก ผู้วิจารณ์ตั้งคำถามที่สำคัญมากเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ ด้วยการเปรียบเทียบ ‘คลาร่า’ หุ่นยนต์ในเรื่อง ที่แม้ว่าจะเหมือนมนุษย์อย่างมากก็ตาม แต่ก็ขาดคุณสมบัติบางประการที่มนุษย์มี เช่น เธอไม่สามารถดมกลิ่นได้ ไม่ต้องกินหรือนอน ไม่มีความต้องการทางเพศ ฯลฯ หรืออาจสรุปว่าหุ่นยนต์อย่างคลาร่าไม่สามารถก็อปปี้ทุกอย่างให้เหมือนของจริง (replicable) ซึ่งก็คือมนุษย์
ทว่า ผู้วิจารณ์ตั้งคำถามที่มืดมนกว่า ซึ่งไม่ใช่ประเด็นเรื่องหุ่นยนต์จะสามารถเป็นมนุษย์ได้หรือไม่ แต่เป็นคำถามที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์และความเป็นมนุษย์ นั่นคือการที่มนุษย์ไม่แยแส ไม่ไยดี ไม่ยินดียินร้ายในเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง หรือที่แย่กว่านั้น เมื่อมนุษย์กระทำต่อเพื่อนมนุษย์เหมือนไม่ใช่มนุษย์ แต่เป็นการ ‘ลดทอนความเป็นมนุษย์’ (dehumanise) ของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง มีแต่มนุษย์เท่านั้นที่กระทำต่อเพื่อนมนุษย์เช่นนี้ เพราะหุ่นยนต์ไม่มีการกระทำเช่นนี้[17]
การลดทอนความเป็นมนุษย์
หากใครนึกไม่ออกว่า ‘การลดทอนความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น’ คืออะไร? หรือกระทำกันอย่างไร? ต้องเป็นการกระทำเท่านั้น หรือด้วยวิธีการอื่น? ผมคิดว่าเราไม่ต้องไปค้นหาตัวอย่างหรือกรณีไกลตัวเลย แค่ลองพิจารณาเรื่องการโกนผมของแม่ของเพนกวินหน้าศาลในวันที่ 30 เมษายน 2564 ก็จะเห็นมีตัวอย่างของมนุษย์ ‘ผู้ไม่แยแส ไม่ไยดี ไม่ยินดียินร้ายในเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน’ และการกระทำของพวกเขา ไม่ว่าจะด้วยวาจาหรือข้อเขียน ก็สะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น
เช่น ข้าราชการฝ่ายตุลาการผู้หนึ่งเขียนโพสต์ในหน้า Facebook ของตน แสดงความคิดเห็นกรณีที่แม่ของเพนกวินโกนผมตนเองว่า “เก็บกวาดเส้นผมที่ตกให้เรียบร้อยด้วยน่ะอย่าให้สกปรกเลอะเทอะบริเวณศาล” แล้วมีคนจำนวนไม่น้อยเข้าไปกดไลค์/ถูกใจ แสดงความชอบใจ เห็นด้วย
หรืออีกกรณีหนึ่ง เป็นข้อความที่เขียนโพสต์ในหน้า Facebook ของตัวเองเช่นกัน ในวันที่ 29 เมษายน ความว่า “ข่าวที่นายเพนกวิ้นและแม่โพสต์เรื่อง 1.ถ่ายเป็นชิ้นเนื้อ 2.มีโรคระบาดติดเชื้อมากมายกันในเรือนจำ อาจเข้าข่ายเอาข้อมูลเท็จเข้าสู่อินเตอร์เน็ต ครับ ปล.แม่เพนกวิ้นโหดร้ายมากที่เอาศพลูกชายมาแห่เพื่อหวังผลทางการเมืองครับ” เช่นเดียวกับกรณีข้างบน มีคนอื่นเข้าไปกดไลค์/ถูกใจ แสดงความคิดเห็น และมีการแชร์ด้วย
ผมอยากสันนิษฐานว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่มีทัศนคติแบบนี้ แต่ยังไม่มีเวลาที่จะค้นหาให้ได้มากกว่านี้ แต่ตัวอย่างทั้งสองนี้ก็เพียงพอที่จะชี้ให้เห็นการไม่แยแส/ไยดีต่อผู้อื่นเป็นเช่นไร และมนุษย์ผู้ลดทอนความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นมีลักษณะอย่างไร
สังคมที่มนุษย์ ‘ลดทอนความเป็นมนุษย์’ ของผู้อื่น
ผมคิดว่าเราไม่อาจปฏิเสธว่า ความขัดแย้งทางการเมืองที่ยาวนานกว่าหนึ่งทศวรรษในเมืองไทยได้นำเรามาถึง ณ จุดนี้ จุดที่เราได้กลายเป็นสังคมที่มีผู้คนจำนวนไม่น้อยมีความคิด ทัศนะ และความรู้สึกที่ ‘ลดทอนความเป็นมนุษย์’ ของผู้อื่น เป็นจุดที่ ‘คำถามที่มืดมนเกี่ยวกับมนุษย์’ เกิดขึ้น และทำให้เราต้องพิจารณาทบทวนว่าเราคือใคร? หรือคืออะไร? (และด้วยความหวังว่าเรายังไปไม่ถึงจุดที่มืดมนที่สุดของความเป็นมนุษย์!)
ในปัจจุบัน ผู้คนในสังคมไทยมิได้ดำรงชีวิตตามสังคมจารีตแบบเดิม ที่การจัดลำดับชั้น สถานะ และคุณค่าของคน ถูกกำหนดด้วยความคิด/ความเชื่อเรื่องบุญกรรม วาสนา ความดีความชั่ว ดังเช่นในอดีตอีกแล้ว ตรงกันข้าม ชีวิตในโลกสมัยใหม่ได้สร้างความคิด ความเชื่อ และคุณค่าชุดใหม่ขึ้น โดยวางอยู่บนหลักการและอุดมการณ์ของความเป็นมนุษย์ที่เสมอภาคกัน และของการเป็นปัจเจกบุคคลที่มีศักดิ์ศรีของการเป็นมนุษย์ เรามีความเชื่อในอุดมคติชุดใหม่ที่มนุษย์ต้องเคารพในความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น (เพราะในทางปฏิบัติ เมื่อเราเคารพผู้อื่น เราก็เป็นที่เคารพของผู้อื่นเช่นกัน)
แต่ในความเป็นจริง หาเป็นเช่นนั้นไม่ กรณีตัวอย่างทั้งสองที่กล่าวถึงข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยไม่คิดและเชื่อในเรื่องศักดิ์ศรีของการเป็นมนุษย์ มิได้เคารพในความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น แต่กลับมีความคิดและการกระทำที่ลดทอนศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
ที่น่าตกใจ และน่ากลัว คือคนเหล่านี้อาจทำให้เราต้องถามตัวเองว่า คนไทยได้มาถึงจุดที่มืดมนที่สุดของความเป็นมนุษย์หรือยัง? และผมหวั่นใจว่าคุณสุรีย์รัตน์ แม่ของเพนกวิน อาจตอบคำถามนี้ไปแล้ว!
แม้ว่าเธอจะกล่าวว่า การโกนผมครั้งนี้เป็นการเสียสละเส้นผม “อีกสิ่งที่สวยที่สุดของผู้หญิง” เป็นเพียง “สัญลักษณ์ว่าลูกชายยังไม่ได้รับความยุติธรรม … ต้องการให้ทุกคนเห็นว่าประเทศยังไม่มีความยุติธรรม” และ “เป็นเพียงการแสดงออกที่เล็กน้อยเมื่อเทียบกับการเรียกร้องประชาธิปไตยของลูก เพื่อนๆ และคนหนุ่มสาว” แต่ผมกลับคิดว่า ‘การโกนหัว’ ของเธอมีนัยเชิงสัญลักษณ์ในการ ‘ลดทอนความเป็นมนุษย์’ ของตัวเธอเอง เพื่อเป็นการประท้วงความอยุติธรรมของสังคมไทย สังคมที่มีผู้คน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีอำนาจที่ไม่แยแส หรือสนใจไยดีในความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น อีกทั้งมีการกระทำที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ของคนที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากตน ด้วยทัศนคติ ความคิด และความเชื่อที่ว่า ผู้ที่เห็นต่างมิใช่มนุษย์!
เชิงอรรถ
[1] สำนักข่าวราษฎร – Ratsadon News, “แม่เพนกวิน โกนผมประท้วง เรียกร้องคืนสิทธิการประกันตัวให้ลูกชาย”, 30 เมษายน 2564, <https://www.facebook.com/RatsadonNews/posts/142409674519424>
[2] สำนักข่าวราษฎร – Ratsadon News, “ผู้ชุมนุมโกนหัวประท้วง ทวงความยุติธรรม”, 30 เมษายน 2564, <https://www.facebook.com/RatsadonNews/posts/142528517840873>
[3] นิติ ภวัครพันธุ์, “แปลงความทรงจำ “ไต” สร้างความเป็น “ไทย””, ใน ความเป็นไทย/ความเป็นไท (หนังสือรวมบทความจากการประชุมประจำปีทางมานุษยวิทยา ครั้งที่ 2 เรื่อง ชาติและชาติพันธุ์ วิถีชีวิตและความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในโลกปัจจุบัน, เอกสารวิชาการลำดับที่ 38) (กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2547), น. 29-30
[4] อ้างแล้ว
[5] อ้างแล้ว, เชิงอรรถที่ 40, หน้าเดียวกัน
[6] ‘mana’ อาจมีความหมายหลายประการ ขึ้นกับบริบทที่ใช้ ความหมายในปัจจุบัน หลายครั้งหมายถึงเกียรติยศและสถานภาพ เพราะไม่มีผู้ใดที่จะมีความสำคัญในสังคมได้โดยปราศจาก ‘mana’ ซึ่งทำให้บุคคลผู้นั้นได้รับการยอมรับจากชุมชนว่ามีลักษณะเป็นผู้นำและมีความสามารถ ในแง่นี้ ‘mana’ อาจหมายถึงบารมี (charisma) ด้วย ที่น่าสังเกตคือ ‘mana’ สามารถถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง เช่น จากพ่อสู่ลูก จากครูสู่ศิษย์ หรือจากบุคคลไปสู่วัตถุ จึงอาจกล่าวได้ว่า ‘mana’ คืออำนาจนอกเหนือธรรมชาติ (supernatural force) ที่อาจมีอยู่ในมนุษย์ ตามสถานที่ต่างๆ หรือในวัตถุ หรือของภูตผีก็ได้ เนื่องจาก ‘mana’ สามารถเคลื่อนย้ายถ่ายทอดได้ จึงต้องมีวิธีการป้องกันไม่ให้หาย หรือสูญเสียไป ยิ่งกว่านั้น ‘mana’ ยังเป็นพลังที่มีความอันตรายต่อผู้ที่ครอบครองและคนอื่นที่มาสัมผัสแตะต้อง จึงต้องมีพิธีกรรมที่จะป้องกันไม่ให้พลังของมันทำอันตรายต่อผู้ที่ครอบครองและคนอื่นที่มาสัมผัสแตะต้อง และป้องกันไม่ให้พลังของมันทำอันตรายชุมชน หรือทำให้ผู้คนทั้งมวล หรือปัจเจกชนเกิดเจ็บปวดล้มป่วยหรือกระทั่งเสียชีวิต (ดู นิติ ภวัครพันธุ์, “รอยสัก กับการสร้าง “ตัวตน””, ใน เผยร่าง-พรางกาย ทดลองมองร่างกายในศาสนา ปรัชญาการเมือง ประวัติศาสตร์ ศิลปะ และมานุษยวิทยา, ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล บรรณาธิการ (กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2541), น. 202)
[7] อ้างแล้ว, น. 207
[8] อ้างแล้ว
[9] อ้างแล้ว, เชิงอรรถที่ 58, หน้าเดียวกัน
[10] iLaw, “อีกมุมของการ ‘โกนผม’ การทำผิด การประจาน ความอับอาย”, 6 พฤศจิกายน 2558, <https://www.ilaw.or.th/node/3915>
[11] Antony Beevor, “An ugly carnival”, The Guardian, Fri 5 Jun 2009, <https://www.theguardian.com/lifeandstyle/2009/jun/05/women-victims-d-day-landings-second-world-war> และสำหรับผู้ที่สนใจ สามารถเปิดชมวิดีโอเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ใน “Ugly Carnival (France after ww2)”, <https://www.youtube.com/watch?v=lGvLJLvzhqI>
[12] วรธิภา สัตยานุศักดิ์กุล, ““หญิงชั่ว” ในประวัติศาสตร์ไทย: การสร้างความเป็นหญิงโดยชนชั้นนำสยาม ช่วงต้นรัตนโกสินทร์ – พ.ศ. 2477” (วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต, ประวัติศาสตร์, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2559), น. 44
[13] อ้างแล้ว, น. 46
[14] อ้างแล้ว, น. 155
[15] อ้างแล้ว, น. 155-156
[16] iLaw, “อีกมุมของการ ‘โกนผม’ การทำผิด การประจาน ความอับอาย”
[17] Thomas Jones, “Oh you daring robots!”, London Review of Books, Book review “Klara and the Sun” by Kazuo Ishiguro, Vol. 43, No. 6, 18 March 2021, <https://www.lrb.co.uk/the-paper/v43/n06/thomas-jones/oh-you-darling-robot>