คนส่วนใหญ่รู้จัก เชีย บัตเตอร์ (Shea butter) ในบทบาทของมอยเจอไรเซอร์บำรุงผิวและผม นอกจากนี้ เชีย บัตเตอร์ยังเป็นส่วนผสมสำคัญของยา น้ำมันประกอบอาหาร แม้กระทั่งชอกโกแลตแท่ง
แต่อีกบทบาทหนึ่งของเชีย บัตเตอร์ที่น้อยคนจะรู้จักและมีบทบาทสำคัญมากๆ คือ การช่วยเหลือและเป็นแหล่งรายได้สำคัญ นำมาซึ่งการจ้างงานอย่างยั่งยืนของผู้หญิงในแอฟริกาตะวันตก
แม้เชีย บัตเตอร์จะเป็นผลิตภัณฑ์ยอดนิยม แต่การเก็บเกี่ยวผลต้นทางอย่าง เชีย นัท (Shea Nut) ไม่ได้ทำกันง่ายๆ
โดยทั่วไป ต้นเชีย พบได้มากในแอฟริกาตะวันตก แต่กว่าจะโตเต็มที่และออกผลมาเป็นเชีย นัท ต้องใช้เวลาหลายสิบปี ประมาณ 15-40 ปี
“เชียเป็นพืชตระกูลถั่วชนิดหนึ่ง ซึ่งมีผิวที่เรียบและมันวาวมาก” โรซานาห์ ฟัง ผู้จัดการทั่วไปของ SeKaf Ghana Limited ธุรกิจเพื่อสังคมที่ผลิตเชียบัตเตอร์ในรูปแบบอุตสาหกรรม เมล็ดของลูกเชียหรือเชียนัทจะคล้ายอัลมอนด์ และเนื้อในซึ่งมีลักษณะคล้ายเรซิ่นก็ถูกนำมาผลิตเป็นเชียร์บัตเตอร์หรือเชียออยล์
ในแอฟริกาตะวันตก หน้าที่ของการปลูกและเก็บเกี่ยวลูกเชียจะตกเป็นของผู้หญิงในหมู่บ้าน แต่ละคนจะนำมาทำเป็นเชียบัตเตอร์ ใช้สำหรับบ้านตัวเอง ด้วยสูตรเฉพาะตัวบ้านใครบ้านมัน
แต่เมื่อความต้องการเชียบัตเตอร์จากทั่วโลกเพิ่มมากขึ้น ครีมพื้นบ้านจึงเผชิญปัญหาสำคัญอย่างน้อย 2 อย่าง คือ 1.แต่ละครอบครัวจะมีกรรมวิธีการผลิตและสูตรเฉพาะตัว จะทำอย่างไรถึงจะได้สูตรที่ดีและทำได้เหมือนกันทุกบ้าน และ 2. จะจัดการอย่างไรให้รองรับกำลังซื้อทั่วโลกได้
เรื่องนี้คงต้องอ้างอิงถึง เซ็นโย เคเพลลี (Senyo Kpelly) นักธุรกิจจากกานาตอนใต้ ที่ทำให้เชียบัตเตอร์แพร่หลายจนได้รับความนิยมไปทั่วโลก
ย้อนกลับไปในปี 2003 เคเพลลีก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนชื่อ SeKaf Ghana Limited ร่วมกับเพื่อนสมัยมัธยมปลาย ในเวลานั้น บริษัทส่วนใหญ่เป็นบริษัทนำเข้าและส่งออก ปัญหาที่ทั้งคู่ต้องเผชิญคือ จะแยกตัวเองออกจากการแข่งขันทางธุรกิจเหล่านี้อย่างไรดี
ทั้งคู่รู้ดีว่า คือ เชียบัตเตอร์กำลังได้รับความนิยมไปทั่วโลก จึงตัดสินใจทุ่มพลังงานทั้งหมดให้ผลิตภัณฑ์ชุมชนชนิดนี้
ทั้งคู่เรียนรู้กระบวนการผลิตเชียบัตเตอร์ทุกอย่าง เคเพลลีเดินทางไปยังภาคเหนือของกานา และฝังตัวอยู่ที่ ทาเมล (Tamale) ดินแดนตรงกลางของแอฟริกาใต้สะฮารา ภูมิภาคที่มีพื้นที่ตั้งแต่แอฟริกาตะวันตกไปจนถึงอูกันดา ซึ่งเป็นพื้นที่แร้นแค้น เข้าถึงทรัพยากรได้จำกัด แต่เต็มไปด้วยต้นเชีย
สิ่งที่เคเพลลีเห็นในทาเมล คือ โอกาสในการนำผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นของแอฟริกาไปให้โลกได้รู้จัก และ ยกระดับคุณภาพชีวิตของกลุ่มผู้หญิงและชุมชน
ปี 2008 เคเพลลี สร้างหมู่บ้าน SeKaf Shea Butter เพื่อเริ่มกระบวนการผลิตเชียบัตเตอร์ในรูปแบบอุตสาหกรรม ทุนสำคัญคือพรสวรรค์และความเชี่ยวชาญของคนท้องถิ่น
หมู่บ้าน SeKaf Shea Butter ออกแบบการผลิตให้ผู้หญิงมารวมตัวกันที่ คาซัลกู (Kasalgu) หมู่บ้านเล็กๆ ที่ห่างจากทาเมลราว 3.75 ไมล์ เพื่อปลูกและแปรรูปเมล็ดเชียให้เป็นเชียบัตเตอร์
ครีมดี ชีวิตดี
ผู้หญิงทุกคนที่ทำงานให้ Sekaf สามารถนำลูกไม่ว่าจะเป็นทารกหรือเด็กโตมาทำงานด้วยได้ สิ่งนี้ก่อตัวเป็นสังคมใหม่สำหรับพวกเธออยู่ให้อยู่ร่วมกันภายใต้วิถีชีวิตที่ยั่งยืน
ไม่ใช่แค่ผลิตเชียบัตเตอร์แต่ SeKaf ยังพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ จนปัจจุบันหมู่บ้านคาซัลกูได้กลายเป็นต้นแบบของชุมชนหลายแห่งในกานาและไนจีเรียให้ได้ดำเนินรอยตาม รูปแบบการจ้างงานสตรีที่ยั่งยืน และเป็นต้นแบบของ 22 ชุมชนในแอฟริกาตะวันตก ที่ผลิตเชียบัตเตอร์ตลอดทั้งกระบวนการตั้งแต่เริ่มปลูกจนออกมาเป็นผลิตภัณฑ์
มีผู้หญิง 3,215 คนลงทะเบียนเป็นเกษตรกรผู้เก็บเกี่ยวลูกเชีย ควบหน้าที่สกัดเนื้อจากลูกเชียให้ออกมาเป็นเรซิ่น จากนั้นเป็นหน้าที่ของสตรีเกือบ 200 คนที่จะผลิตให้เป็นเชียบัตเตอร์
โดย SeKaf จะรับซื้อทั้งเมล็ดและครีมที่ผลิตเสร็จแล้วจากผู้หญิงกลุ่มนี้ ซึ่งทุกคนจะได้รับการฝึกให้เป็นผู้ผลิต/ปลูกพืชพันธุ์ออร์แกนิกจนได้ใบรับรองว่าเป็น ผู้ปลูกและผลิตแบบออร์แกนิก
“ถ้าคุณมีเชียบัตเตอร์ที่ผ่านการปลูกและผลิตแบบออร์แกนิกที่ได้คุณภาพ ก็จะได้ค่าตอบแทนที่เพิ่มสูงขึ้น” ฟัง อธิบายต่อว่า “ผลตอบแทนที่เพิ่มสูงขึ้นจะกลับไปสู่ผู้หญิงกลุ่มนี้ โดยการปลูกแบบเชียออร์แกนิก เมล็ดพรีเมียม เราจะจ่ายค่าเมล็ดเชียให้สูงกว่า 15 เปอร์เซ็นต์ของราคาตลาด”
SeKaf ยังนำร่อง โครงการฝึกสอนการจัดการทางการเงิน เพื่อช่วยเหลือผู้หญิงเหล่านี้ให้สามารถจัดการรายได้ เพื่ออนาคตและอิสรภาพของตนเอง
ฤดูออกผลของต้นเชียจะมีประมาณ 4 เดือน ดังนั้นการผลิตเชียบัตเตอร์จึงเป็นงานเพื่อหารายได้พิเศษ แต่ทีมของ SeKaf ต้องการหาวิธีที่ช่วยให้ผู้หญิงกลุ่มนี้มีรายได้หมุนเวียนตลอดทั้งปีอย่างยั่งยืน
“พวกเธอมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายอย่างเร่งด่วน บริษัทจึงจัดตั้งกลุ่มหมู่บ้านในรูปแบบสหกรณ์ออมทรัพย์และกู้ยืม หรือ Village Savings and Loan Association : VSLA ขึ้นมา” เคเพลลีอธิบาย
เพราะในหลายๆ ชุมชนไม่มีธนาคารหรือสหกรณ์ออมทรัพย์ แต่ VSLA จะช่วยให้สามารถเก็บเงินได้เป็นก้อนพร้อมดอกเบี้ยที่งอกเงย การพบปะกันทุกสัปดาห์ของผู้หญิงกลุ่มนี้จะมีอบรมและให้ความรู้เรื่องความสำคัญของการออม และตัวแทนกลุ่มที่ได้รับหน้าที่ดูแลรักษาเงินฝาก จะคอยติดตามและดูแลสมาชิกทุกคน รวมถึงดูแลกองทุน รวมถึงการให้กู้ยืมซึ่งกันและกันเพื่อริเริ่มธุรกิจเสริมหรือเป็นทุนการศึกษาของลูกๆ
“พวกเธอขาดโอกาสในการเรียนหนังสือ แต่เงินกู้ยืมจะสร้างเรียนรู้หลายอย่างโดยเฉพาะการจัดการเงิน เราอยากจะบอกว่า แค่พวกเธอไม่ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไม่ได้หมายความว่าพวกเธอจะไม่ฉลาด จริงๆ แล้วพวกเธอฉลาดน่าทึ่งมาก” เคเพลลีเผย
กลุ่มสตรีมีโอกาสออมเงินจำนวนมาก โดยปีแรกของโปรแกรม สมาชิกราว 60 คน สามารถออมเงินได้ถึง 8,500 ซีดี (Cedi – สกุลเงินประเทศกานา) หรือประมาณ 2,200 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเปรียบเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำในกานาซึ่งอยู่ที่วันละ 7 ซีดี หรือ 1.80 ดอลลาร์
แม้ว่า เคเพลลีจะทำในสิ่งที่เรียกได้ว่าปฏิวัติวงการอุตสาหกรรมเชียบัตเตอร์ในแอฟริกา แต่งานของเคเพลลีย์ก็ไม่มีวันจบ ปัจจุบันเขายังทำงานเน้นหนักเรื่องธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน พร้อมๆ กับการขยายพื้นที่ปลูกต้นเชียตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา
“เราทำงานร่วมกับสถาบันวิจัยค้นคว้าหลายแห่งในแอฟริกาตะวันตก และทำงานร่วมกับ ศูนย์วนเกษตรโลก และจากการทำงานร่วมกับหลายฝ่าย เราหวังจะเพาะพันธุ์ประเด็นนี้ให้งอกงามไปทั่วโลก”
เมื่อเร็วๆ นี้ เคเพลลี ได้เปิดตัวเครื่องสำอางแบรนด์ Tama ผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกายระดับไฮเอนด์ ตั้งแต่สบู่ โลชั่น น้ำมันบำรุงผิว ฯลฯ ซึ่งวางขายในบางประเทศของแอฟริกาตะวันตก เช่นเดียวกับ ซาอุดิอาระเบีย อังกฤษ เวียนาม และลองขายในตลาดเฉพาะกลุ่ม สหรัฐอเมริกา
แม้บริษัทจะประสบความสำเร็จแล้ว แต่สิ่งที่เคเพลลีภูมิใจมากที่สุดคือ การได้สนับสนุนและยกระดับชีวิตของผู้หญิงแอฟริกัน ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขาเอง
“ช่วงที่ผมมีความสุขมากที่สุดคือ เดือนที่แล้ว ตอนที่พวกเธอบอกว่า ฉันไม่จนอีกต่อไปแล้ว”
ที่มา : upworthy.com
|