Slow Food Back to School

slow food 33

เรื่อง : ดาริกา บำรุงโชค

ภาพประกอบ : k-9

ฤดูกาลแห่งการเปิดเทอมของเด็กนักเรียนเริ่มต้นอีกครา

หลายโรงเรียนต่างพากันมุ่งมั่นพัฒนาหลักสูตร เพื่อให้นักเรียนตนเป็นเลิศทางวิชาการ แต่กลับหลงลืมอะไรไปว่า การเรียนรู้นั้นต้องพึ่งพิงกับอาหารการกินของเด็กในแต่ละวัน

ลองนับๆ ดู…เด็กนักเรียนต้องใช้ชีวิตในรั้วโรงเรียนอย่างน้อย 200 วันต่อปี นับเพียงแค่ช่วงตั้งแต่ชั้นประถมไปจนถึงแค่ระดับมัธยม จะต้องรับประทานอาหารโรงเรียนกี่มื้อ

หนังสารคดีที่มีชื่อแปลเป็นไทยว่า ‘อาหารกลางวัน’ (Lunch) ตีแผ่ชีวิตนักเรียนอเมริกันที่เติบโตมาพร้อมการครอบงำของวัฒนธรรมแฮมเบอร์เกอร์ อาหารคอเลสเตอรอลสูงและคุณค่าโภชนาการต่ำ กลายเป็นภัยร้ายแฝงอยู่ในเมนูอาหารกลางวันของเด็กนักเรียน

สิ่งเดียวที่ต้องการส่งข้อความบอก คือ ‘ช่วยพา สโลว์ฟู้ด กลับมาสู่รั้วโรงเรียนกันเถอะ…’

มีอะไรแฝงอยู่ในอาหารของพวกเด็กๆ   

หลังเสียงสัญญาณพักเที่ยงดังขึ้น เด็กๆ วิ่งกรูกันเข้าไปในโรงอาหาร พร้อมด้วยความหวังจะเจออาหารกลางวันจานเด็ด เราเคยนั่งพิจารณาจริงจังไหมว่า อาหารในถาดหลุมที่วางอยู่ตรงหน้านั้น มีอะไรซ่อนอยู่

ลองมาฟัง ดร.ซูซาน รูบิน นักเคลื่อนไหวเพื่อคุณภาพอาหารในโรงเรียน ระบุถึง 3 สิ่งอันตรายที่มักจะปนเปื้อนมากับอาหารจานด่วนในโรงเรียน

ไฮฟรุกโตสคอร์นไซรัป หรือสารแทนความหวานทำจากข้าวโพด กำลังเป็นที่นิยมเพราะราคาถูก หลายคนอาจจะสงสัยว่าเจ้านี่คือสิ่งใดกัน

คำตอบคือ มันผสมอยู่ในน้ำอัดลม น้ำสลัด ซอสมะเขือเทศ หรือผลิตภัณฑ์อาหารตามชั้นในซูเปอร์มาร์เก็ตอีกหลายชนิด

แล้วถ้ามันไปอยู่ในอาหารของเด็ก มันจะสำแดงฤทธิ์ให้เกิดโรคต่างๆ เช่น ไขมันในเลือดสูง อีกทั้งยังมีผลทำลายตับของเด็กๆ

สีผสมอาหารสังเคราะห์ อาหารสีสันสดสวย ทว่าเบื้องหลังกลับร้ายกาจ โดยเฉพาะต่อเด็กๆ ผลวิจัยชี้ว่า สารเคมีในสีผสมอาหารส่งผลให้เด็กมีพฤติกรรมผิดปกติ เช่น เป็นเด็กไฮเปอร์แอคทีฟ หรืออาจทำให้เด็กสมาธิสั้น

น้ำมันที่ผ่านการเติมไฮโดรเจน ส่วนมากในกระบวนการผลิตน้ำมันพืชในโรงงานมักจะเติมไฮโดรเจน แม้ว่าเด็กจะไม่ได้แสดงอาการเจ็บป่วยทันตาเห็น แต่จะส่งผลให้มีแนวโน้มเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน มะเร็ง และโรคอ้วน

นักปฏิวัติอาหารในโรงเรียน

“อาหารกลางวันในโรงเรียน เป็นประเด็นเรื่องความเป็นธรรมในสังคม” แอน คูเปอร์ กล่าวด้วยน้ำเสียงที่หนักแน่น

หญิงสาวหัวปฏิวัติมองเห็นปัญหาเรื่องโภชนาการในโรงเรียนเป็นเรื่องสำคัญต่อการเรียนรู้ของเด็กนักเรียน ในขณะที่หลายฝ่ายกลับมองประเด็นนี้ด้วยสายตาที่พร่ามัว

สถิติการสำรวจในเด็กอเมริกันพบว่า 1 ใน 5 มีน้ำหนักตัวเกินปกติ และในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา จำนวนเด็กอ้วนในสหรัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 ส่วนเด็กที่เกิดในปี 2000 มีแนวโน้มเสียชีวิตก่อนวัยอันควร สาเหตุหนึ่งมาจากอาหารที่พวกเขารับประทานเข้าไปนั่นเอง

‘เรากำลังฆ่าเด็กด้วย…อาหาร’ กลายเป็นประเด็นที่ฉุดให้แอน คูเปอร์ ลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องและสร้างโครงการอาหารกลางวันในหลายมลรัฐของสหรัฐ ทั้งนิวยอร์ก แคลิฟอร์เนีย และโคโลราโด รวมทั้งยังคงวิ่งต่อไปอีกในหลายรัฐ

เธอได้โยงใยเครือข่ายชุมชน โรงเรียน ห้องครัว และนักเรียนเข้าด้วยกัน เชื้อเชิญบรรดาวัตถุดิบจากไร่ของชาวบ้านในพื้นที่และจากสวนผักออร์แกนิกของโรงเรียน นักเรียนจะได้เรียนรู้ว่าอาหารมีที่มาอย่างไร ก่อนที่จะมาอยู่ในจานของพวกเขา

อาหารเที่ยงสไตล์บุฟเฟต์ ที่มีทั้งสลัดบาร์สดจากไร่ ขนมปัง ซีเรียล และนมออร์แกนิก ถูกเสิร์ฟให้เด็กๆ เลือกตามใจชอบ เมนูต่างๆ จะหมุนเวียนเปลี่ยนไปทุกวัน

สิ่งที่เธอต้องการคือ เด็กต้องได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ และบ่มเพาะนิสัยการรับประทานอาหารที่ดี เพื่อหวังให้ติดตัวพวกเขาไปเช่นเดียวกับความรู้ในวิชาอื่นๆ

‘การเรียนรู้ของเด็กๆ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ท่ามกลางการบริโภคอาหารแย่ๆ’ เธอเชื่อเช่นนี้

ไม้เรียว กับ โรงอาหาร

ถัดจากฝั่งลุงแซมมายังเกาะผู้ดีอังกฤษที่มีความเคลื่อนไหวในเรื่องมาตรฐานอาหารในโรงเรียนเข้มแข็งไม่แพ้กัน

องค์กร สกูล ฟู้ด ทรัสท์ เป็นหน่วยงานที่ต่อสู้ในเรื่องการเปลี่ยนอาหารโรงเรียนแบบเดิมๆ ให้กลายเป็นอาหารเพื่อสุขภาพสำหรับเด็กๆ

รัฐบาลอังกฤษหันมาใส่ใจในประเด็นนี้ จึงออกมาตรการคุมเข้มการจัดการอาหารในโรงเรียน โดยตั้งคณะกรรมการคอยจับตามองอาหารทั้งหมดในโรงเรียน ทั้งอาหารเช้า อาหารกลางวัน อาหารว่าง หรือแม้แต่อาหารตามตู้อัตโนมัติ

ห้ามขนมขบเคี้ยวที่ผ่านกรรมวิธีปรุงแต่ง ไม่อนุญาตให้มีอาหารที่ทอดด้วยน้ำมันเก่า หรือแม้แต่อาหารจำพวกนักเก็ต เบอร์เกอร์ สามารถบริโภคได้บางมื้อเท่านั้น

ทั่วโลกกำลังตื่นตัวกับเสียงสัญญาณอันตรายที่ดังมาจากโรงอาหารของเด็กๆ

แล้วในเมืองไทยมีใครบ้างที่ได้ยินเสียงสัญญาณนี้…

………………………………………………

ข้อมูลอ้างอิง
www.lunchthefilm.com
www.schoolfoodtrust.org.uk

****************************

(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ในคอลัมน์ slowfood พฤษภาคม 2553)

Author

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
หญิงแกร่งที่ทำงานทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านให้กับ WAY ถ้าเป็นนักฟุตบอลนี่คือผู้เล่นผู้จัดการทีมที่มีประสบการณ์ในสายงานข่าว ทั้งคลุกคลี สัมภาษณ์ บันเทิง ไลฟ์สไตล์ นอกจากนี้การเป็นคุณแม่ซึ่งมีลูกสาวย่างเข้าวัยรุ่นยังช่วยส่งเสริมให้สามารถปั่นงานด้านเด็กและเยาวชนอย่างเชี่ยวชาญ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า