‘มีอะไรอยู่บนฟ้า’ เมื่อมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 แหงนหน้าสู่อวกาศอีกครั้ง

การแหงนหน้ามองท้องฟ้าอาจจะทำให้มนุษย์นึกถึงอะไรหลายอย่าง ตั้งแต่เทพเจ้า ดวงดาว อวกาศ ไปจนถึงความฝันในชีวิตแบบหลายเพลงของวง Bodyslam และหากย้อนกลับไปช่วงสงครามเย็นมันคือสนามประกาศศักดาความยิ่งใหญ่ระหว่างสหภาพโซเวียตและสหรัฐ หากแต่ในปัจจุบันท้องฟ้าและอวกาศกำลังบอกอะไรเราเพิ่มเติมบ้าง? 

‘ยุคอวกาศ’ (Space Age) หากยึดตามความหมายของ วัฐพล เมฆดี และ อาทิตย์ เจนจบสกลกิจ (2562) เริ่มต้นเมื่อสหภาพโซเวียตสามารถส่งดาวเทียมสปุตนิก 1 ขึ้นไปยังวงโคจรรอบโลกได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2500 และจุดชนวนการแข่งขันขึ้นสู่อวกาศระหว่างมหาอำนาจต่างอุดมการณ์ยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตเพื่อชิงความได้เปรียบทางเทคโนโลยีอวกาศ เนื่องจากในขณะนั้นอวกาศเป็นพื้นที่ใหม่ และทุกประเทศต่างเกรงกลัวว่าการครอบครองอวกาศของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะทำให้เกิดความได้เปรียบทางยุทธศาสตร์การทหาร จนต้องนำไปสู่สนธิสัญญว่าด้วย หลักการที่ใช้บังคับต่อกิจกรรมในเรื่องการสำรวจและใช้อวกาศ พ.ศ. 2510 (Treaty on Principles Governing the Activities of States in the Exploration and Use of Outer Space, Including the Moon and Other Celestial Bodies) เพื่อป้องกันไม่ให้อวกาศถูกรัฐอธิปไตยใดยึดไว้ครอบครองแต่เพียงผู้เดียว จุดนี้เราจึงเห็นได้ว่าในโลกสมัยใหม่เป็นต้นมา อวกาศถูกปฏิบัติในฐานะ ‘สนามรบ’ เสียมากกว่าสนามความรู้ หรือความเชื่อดังเช่นในอดีต

แน่นอนว่าการแหงนมองท้องฟ้าของมนุษย์ในยุคสงครามเย็นไม่ใช่สิ่งใหม่ และประวัติศาสตร์มนุษยชาติก็อยู่คู่กับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และผืนฟ้าเบื้องบนมานับตั้งแต่เราเดินออกจากถ้ำ การทบทวนพัฒนาการความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และท้องฟ้าจากอดีตถึงปัจจุบันจึงสามารถช่วยให้เราเห็นภาพความก้าวหน้า (หรือถดถอย) ของเผ่าพันธุ์ลิงไม่มีหางแบบเราๆ ท่านๆ ได้บ้าง โดยเฉพาะเมื่อการให้ความหมายท้องฟ้าในแต่ละสังคมเริ่มแตกต่างกันไปตามความเจริญทางปัญญาและศรัทธา

ยืนมองท้องฟ้าไม่เป็นเช่นเคย กรีกโรมันยันสงครามเย็น

“ผืนฟ้ากว้างใหญ่ จินตนาท่องไปดั่งใจนึก” คงเป็นคำกล่าวที่ไม่เกินจริงสำหรับมนุษย์ชาวกรีกโบราณจนส่งต่อมายังชาวโรมันที่ถอดแบบอารยธรรมกรีกมาปรับแต่งอีกที โดยในช่วงยุคสมัยนั้น (ซึ่งก็คล้ายกับยุคสมัยก่อนหน้าไม่นาน) พวกเราต่างแหงนมองท้องฟ้าด้วยความศรัทธาและเฟ้นหา ‘เทพเจ้า’ ผู้นั่งอยู่บนบัลลังก์สูงสุด นามของเทพ ‘ซุส’ หรือ ‘จูปิเตอร์’ ผู้เป็นราชาของเทพเจ้าทั้งมวลนั่งอยู่บนเทือกเขาโอลิมปัสและมองมายังโลกเบื้องล่างที่ตนเองปกครอง 

ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว มนุษย์มีความผูกพันกับท้องฟ้าเป็นอย่างมาก เนื่องจากความศรัทธาของศาสนาที่นอกจากจะกล่าวว่าเหล่าเทพพำนักอยู่บน ‘สวรรค์เบื้องบน’ แล้ว ประวัติศาสตร์และเทวตำนานต่างๆ ยังถูกจารึกเอาไว้ในรูปแบบของหมู่ดาวให้เราได้ศึกษาอีกด้วย เช่น กลุ่มดาวแอนโดรเมดา (Andromeda) ที่ยึดโยงอยู่กับตำนานการกักขังเจ้าหญิงผู้ที่บิดาทำให้เทพโพไซดอนขุ่นเคือง จนเป็นเหตุให้วีรบุรุษเพอร์ซิอัสต้องเข้ามาช่วยเหลือและรับไปเป็นภรรยา กลุ่มดาวหมีใหญ่ที่มีที่มาจากตำนานชู้รักของเทพซุส ไปจนถึงกลุ่มดาวม้าบินเพกาซัสที่นำมาจากตำนานสัตว์วิเศษของกรีกโดยไม่ต้องสงสัย 

แน่นอนว่าการมองท้องฟ้าผ่านเลนส์ของความศรัทธานั้นเป็นกรอบการมองโลกยุคแรกของมนุษย์ พวกเราเพิ่งก้าวขาเข้าสู่การทำความรู้จักกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ โดยยกให้บางสิ่งที่สูงส่งกว่าเราพักอาศัยอยู่บนท้องฟ้าและหมู่ดาว เนื่องจากวิทยาศาสตร์และหลักการใช้เหตุผลแบบโลกยุคสมัยใหม่ยังเกิดไม่ทันที่จะเอาไปงัดกรอบความศรัทธานี้ออกจากแผนที่ทางความคิดของเรา 

กาลสมัยต่อมา หลังจากกรีกล่มสลายและโรมันกลายเป็นจักรวรรดิ ศาสนาคริสต์เองก็ได้สืบทอดการมองท้องฟ้าเพื่อมองหาสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่ามนุษย์เอาไว้อย่างเต็มสูบ ด้วยตำนานของสวรรค์และบ้านของพระผู้เป็นเจ้า (เพียงองค์เดียว ไม่เหมือนกรีกโรมันที่อยู่กันเป็นหมู่คณะ) ดังที่หนังสือเพลงสดุดีพระผู้เป็นเจ้า (The Psalms) ในพันธสัญญาเดิม (The Old Testament) กล่าวเอาไว้ในบทที่ 4 โดยเฉพาะข้อที่ 3 และ 4 ว่า “and lays the beams of his upper chambers on their waters. He makes the clouds his chariot and rides on the wings of the wind. He makes winds his messengers, flames of fire his servants” ที่บรรยายถึงพระผู้เป็นเจ้าว่า มีก้อนเมฆเป็นดั่งรถม้าและบินได้ด้วยสายลม ภาพของพระผู้เป็นเจ้าและสวรรค์ในศรัทธาของชาวคริสต์จึงอยู่บนท้องฟ้าและความชั่วร้าย หากไม่อยู่บนผืนดินก็ร่วงลงสู่นรกภูมิเบื้องล่าง ดังที่ภาพเขียนคลาสสิก ‘The Fall of the Rebel Angels’ ของ กุสตาฟ ดอเร (Gustave Doré) ที่ชัดเจนว่าบรรดาความชั่วร้ายและถือดีทั้งหลายของการกบฏรอบแรกนั้น ถูกอัปเปหิลงจากสวรรค์ชั้นฟ้าให้ต้องร่อนเร่อยู่บนโลกเบื้องล่าง ความไม่ถูกต้องและไม่คู่ควรจึงถูกกำจัดออกไปจากสวรรค์สู่ที่อื่น ในแง่นี้ทำให้มนุษย์มองท้องฟ้าด้วยความศรัทธาว่าเป็นที่เฉพาะของ ‘คนดี’ และ ‘คนที่รักพระเจ้า’ เท่านั้น ความไม่ดีงามทั้งหมดในโลกของศาสนาคริสต์จึงถูกกีดกันออกไปจากนิยามของท้องฟ้าเบื้องบน

‘The Fall of The Rebel Angels’ by Gustave Doré

จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้มนุษย์เลิกมองท้องฟ้าด้วยความศรัทธา มาสู่การมองท้องฟ้าด้วยปัญญาและเหตุผลนั้นมาพร้อมกับความเป็นสมัยใหม่ (Modernity) ที่เต็มไปด้วยการค้นหาคำตอบของสังคมหลังการปิดกั้นทางศาสนาถูกโยนทิ้งไป พัฒนามาตั้งแต่การประดิษฐ์กล้อง telescope และความสงสัยใคร่รู้ของกาลิเลโอ ช่วง ค.ศ. 1610 มาจนถึงการสามารถอธิบายรูปร่างคร่าวๆ ของกาแล็คซีทางช้างเผือกของเราได้โดย โธมัส ไรท์ (Thomas Wright) ในปี ค.ศ. 1750 ที่เป็นฐานให้วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ได้ค้นพบอย่างจริงจังผ่านการทบทวนงานศึกษาของเหล่านักดาราศาสตร์รุ่นก่อนหน้า อย่างงานค้นพบของ เอ็ดวิน ฮับเบิล (Edwin Hubble) ที่พบว่าจักรวาลที่จริงนั้นยิ่งใหญ่กว่าทางช้างเผือก และยังคงมีหลายสิ่งให้ได้ศึกษาต่อเพียงใดในปี ค.ศ. 1923

แน่นอนว่าจากพัฒนาการดังกล่าว ทำให้มนุษย์เลิกมองว่าท้องฟ้าและจักรวาลในมิติเดียวอย่างความศรัทธาต่อศาสนาที่สูงส่ง แต่ท้องฟ้ากลายเป็นเพียงพรมแดนใหม่ (new frontiers) ที่รอให้เกิดการค้นพบ สำรวจ และศึกษาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ เส้นพรมแดนใหม่เหล่านี้จึงกลายเป็นสนามของการแข่งขันทางวิทยาการและเทคโนโลยีทางการทหารในช่วงสงครามเย็น ดังงานศึกษาของ วัฐพล เมฆดี และ อาทิตย์ เจนจบสกลกิจ ที่ได้กล่าวถึงไปแล้วข้างต้น ความดีงามจึงไม่ได้ใช้เป็นตัวอธิบายท้องฟ้า เมื่อเราค้นพบว่าเบื้องหลังของมันคืออวกาศ แต่กลายเป็น ‘ความรู้’ ที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังก้อนเมฆสีคราม การขึ้นสู่ท้องฟ้าจึงไม่ใช่การทำความดีเพื่อไปเกิดใหม่บนสรวงสวรรค์อีกต่อไป แต่คือการค้นคว้า วิจัย และสังเกตการณ์ เพื่อรวบรวมความรู้เท่านั้น ที่กลายเป็นหัวใจหลักของการได้ขึ้นไปบนท้องฟ้าของมนุษย์

หลังกำแพงเบอร์ลินล่มสลาย และสหภาพโซเวียตกลายเป็นฝันค้างของผู้นิยมคอมมิวนิสต์ ความสนใจด้านอวกาศกลับไม่ได้ถูกพังทลายให้หายไปพร้อมกับม่านเหล็กเหมือนฉากจบสงครามเย็นในปี 1991 หากแต่มันได้เปลี่ยนรูปแบบจินตนาการและความทะยานอยากของมนุษย์ต่อท้องฟ้าไปในรูปแบบอื่นที่มากไปกว่าความทะเยอทะยานทางการทหารและศรัทธา แต่กลายเป็นความใฝ่ฝันของชีวิตที่ดีกว่า ใหม่กว่า ไปจนถึงความเป็นไปได้ที่มากกว่าสายตาคนยุคปัจจุบันจะจินตนาการถึง

อวกาศในจอแก้วและจอเงิน สู่อวกาศเพื่อพลเมืองโลก

“A long time ago in a galaxy far, far away​…” ประโยคเปิดเรื่องสุดอมตะของภาพยนตร์ไตรภาค Star Wars เข้าฉายครั้งแรกเมื่อปี 1977 ได้สร้างมิติใหม่แห่งวงการภาพยนตร์ เมื่อหนังฉายภาพของยานอวกาศสุดล้ำบินโฉบเฉี่ยวหลบกระสุนเลเซอร์ กระบี่แสงหลากสี และชีวิตนอกโลกของเหล่ามนุษย์ที่อยู่อาศัยร่วมกันกับบรรดาเอเลี่ยนหลากเผ่าพันธุ์

จินตนาการเหล่านี้เกี่ยวกับอวกาศสั่นสะเทือนวัฒนธรรมของมนุษย์เพิ่มไปอีกขั้น เมื่อเราคิดถึงชีวิตที่อาจจะดีกว่าหากได้ไปอาศัยอยู่ ณ ที่อื่นที่ไม่ใช่เพียงแค่โลก ดังตัวอย่างเช่น ระบบการสื่อสารทางไกลแบบเห็นหน้า (ก่อนการมาถึงของยุคสมาร์ทโฟน) อย่างเทคโนโลยี Hologram แบบที่เจ้าหญิงเลมาในเรื่อง Star Wars ใช้ ไปจนถึงการต่อแขนหรือขาเทียมด้วยอวัยวะจักรกลสำหรับผู้พิการ แน่นอนว่า Star Wars ไม่ใช่หนังเพียงเรื่องเดียวที่เปิดจินตนาการของเราสู่อวกาศด้วยความตื่นเต้นในสิ่งที่ใกล้จะมาถึง ภาพยนตร์ชุดทางโทรทัศน์อย่าง Star Trek ที่ฉายครั้งแรกในปี 1966 บนช่อง NBC ที่นำเสนอการเดินทางข้ามจักรวาลไปสู่ ‘Infinity & Beyond’ ด้วยเทคโนโลยี Warp Drive ที่เร็วกว่าแสง โดยภารกิจของลูกเรือบนยาน USS Enterprise มีหน้าที่ “สำรวจโลกใบใหม่ มองหาชีวิตใหม่ และอารยธรรมใหม่ ไปในที่ที่ไม่เคยมีมนุษย์คนไหนเคยไปถึง” ซึ่งสะท้อนความทะยานอยากในห้วงลึกของมนุษยชาติในช่วงเวลานั้นได้เป็นอย่างดี 

ความกระหายใคร่รู้เกี่ยวกับท้องฟ้าและอวกาศของมนุษย์นั้นมีไม่จำกัดในเกือบทุกแง่มุม ดังที่หน้าเว็บไซต์ขององค์การ NASA กล่าวเอาไว้ในหัวข้อชื่อ ‘Why We Explore’ ว่า ความทะยานอยากรู้ในสิ่งที่ยังไม่รู้ (the Unknown) ของมนุษย์มีไม่จำกัด มนุษย์จะพยายามผลักดันข้อจำกัดของความรู้และวิทยาการทุกรูปแบบไปข้างหน้าเรื่อยๆ แบบไม่มีวันจบ ถึงแม้ในระยะแรกของการค้นคว้าเกี่ยวกับอวกาศนั้น NASA จะระบุว่าเป็นไปเพื่อตอบคำถามว่ามนุษย์มีตำแหน่งแห่งหนใดอยู่ในจักรวาล หรือแม้แต่ช่วงเวลาแห่งความขัดแย้งระหว่างมนุษย์กันเองก็ตาม การสำรวจอวกาศกลายเป็นหนึ่งในสะพานเชื่อมความร่วมมือของหลายเชื้อชาติที่สำคัญและเชื่อมโยงเราเอาไว้ด้วยกันในฐานะพลเมืองโลก 

แน่นอนว่าจุดเปลี่ยนสำคัญของการขึ้นไปยังอวกาศ นอกจากเป็นไปเพื่อเติมเต็มความกระหายใคร่รู้ที่ไม่รู้จบของมนุษยชาติ หรือการสร้างภารกิจเพื่อให้เกิดความสามัคคีกันแล้ว การขึ้นสู่อวกาศยังไม่ได้หมายถึงแค่การมองออกไปยังโลกภายนอกเสมอไป แต่ยังรวมไปถึงการมองกลับลงมายังโลกของเราเองอีกด้วย เนื่องจากในปัจจุบันการใช้เทคโนโลยีอวกาศมีบทบาทอย่างมากเพื่อทำให้เราเข้าใจโลกที่เราอยู่ได้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน อย่างเช่นการศึกษาเรื่องความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การศึกษากระแสน้ำในมหาสมุทรหรือทิศทางของพายุ ไปจนถึงการใช้งานเพื่อสำรวจความเปลี่ยนแปลงของโลกในพื้นที่เฉพาะต่างๆ และทำนายหรือค้นหาวิธีรับมือกับภัยธรรมชาติที่อาจจะเกิดขึ้น ในลักษณะนี้เองเมื่อมนุษย์ได้ขึ้นไปบนท้องฟ้าแล้ว ถึงแม้พวกเขาจะไม่เจอพระเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อำนาจล้นเหลือที่น่ากราบไหว้ พวกเขากลับค้นพบวิธีการใหม่ๆ ที่จะสามารถนำกลับลงมาใช้เพื่อช่วยเหลือโลกของมนุษย์ได้ ประหนึ่งพวกเราเองคือพระผู้เป็นเจ้าที่มีศาสนาใหม่คือ ความรู้แบบวิทยาศาสตร์และเหตุผล

ดังนั้นการมองท้องฟ้าและขึ้นไปสู่โลกเบื้องบนของมนุษย์จึงเปลี่ยนแปลงมาจากความศรัทธา ความกระหายใคร่รู้ ไปสู่สงครามและการสำรวจ ทว่าในโลกยุคปัจจุบันที่มนุษย์รู้เรื่องราวบนอวกาศเสียมากกว่าในผืนสมุทรแล้วนั้น อะไรคือสิ่งผลักดันให้เรายังต้องการออกไปจากดาวเคราะห์สีฟ้าดวงนี้เพิ่มเติมอีก ความสัมพันธ์ของมนุษยชาติกับท้องฟ้านั้นกลับกลายเป็นสิ่งอื่นไปได้อย่างไร นอกจากความศรัทธา สงคราม และความกระหายใคร่รู้ สิ่งเหล่านี้นับได้ว่าเป็นสิ่งใหม่ที่ค่อยๆ ถือกำเนิดขึ้นภายหลังสงครามเย็นสลายลง

ทรัพยากร แผนสำรอง และเศรษฐกิจอวกาศ

เพียงแค่ความกระหายสงครามหรือกระหายความรู้อย่างใดอย่างหนึ่ง คงไม่เพียงพอที่จะดันมนุษย์ออกจากหน้าจอไปไกลถึงอวกาศในปัจจุบัน ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกเมื่อเหตุผลหลักสองอย่างแรกค่อยๆ ถูกแทนที่ด้วยเหตุผลใหม่ๆ ที่ยั่วยวนใจมากกว่าสำหรับมนุษย์ที่เกิดไม่ทันยุคสงครามเย็น

ไรอัน วิทแวม (Ryan Whitwam, 2018) นักเขียนเกี่ยวกับเรื่องราวทางเทคโนโลยีและอวกาศ กล่าวเอาไว้ในหัวข้อ ‘5 Reasons Space Exploration is More Important Than Ever’ ว่า หนึ่งในแนวคิดในการไปยังอวกาศของมนุษย์ในปัจจุบัน คือการออกไปเพื่อค้นหา ‘ทรัพยากร’ ซึ่งแน่นอนว่าตามหลักการเศรษฐศาสตร์แล้ว ทรัพยากรหมายถึงสิ่งมีค่าที่มีจำนวนจำกัด ใช้แล้วสามารถหมดไปได้ แต่ในยุคที่ อดัม สมิธ เขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องราวทางเศรษฐกิจนั้น เขาคงยังไม่รู้ว่าเหนือท้องฟ้าของมนุษย์ขึ้นไปแล้ว เรายังจะสามารถหยิบจับอะไรอีกหลายอย่างมาเป็นทรัพยากรการผลิตได้อีกเป็นจำนวนมาก และเนื่องจากการขุดหาทรัพยากรบนโลกทั้งหลายนั้นเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า นำไปสู่ปัญหาของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปัญหาโลกร้อนเรื้อรัง การเบนเข็มอุตสาหกรรมเหมืองแร่ออกไปยังอวกาศ จึงนับได้ว่าเป็นภาคอุตสาหกรรมใหม่ที่ประเทศที่เจริญแล้วพยายามไปให้ถึง แร่หายากจำนวนมากอาจจะมีราคาถูกลงเมื่อเทียบกับการพยายามดื้อดึงที่จะขุดหาต่อบนโลกที่ค่อยๆ ไร้ทรัพยากร 

อย่างไรก็ตาม การจะขึ้นไปทำเหมืองแร่อวกาศ ประหนึ่งแนวคิดที่หลุดออกมาจากจากการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่องกันดั้มนั้น ปัจจุบันยังมีปัญหาด้วยตัวมันเองหลายประการ ประการสำคัญอย่างแรกนอกจากระดับของเทคโนโลยีที่จะสามารถทำให้เป็นจริงได้แล้ว คือ สนธิสัญญาอวกาศ ค.ศ. 1967 ที่ได้กล่าวถึงไปแล้วในตอนต้น ป้องกันไม่ให้ใครมีอธิปไตยเหนืออวกาศเพียงฝ่ายเดียว แต่สนธิสัญญาดังกล่าวไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าใครมีสิทธิเหนือทรัพยากรอวกาศ และกำลังจะกลายเป็นปัญหาเร่งด่วนในเร็ววันหากไม่เกิดข้อยุติที่ทุกฝ่ายพึงพอใจ

ทรัพยากรเป็นปัจจัยด้านความมั่นคงทางพลังงาน แต่ในอีกแง่มุมก็ยังมีปัจจัยด้านความมั่นคงทางจิตใจผลักดันความโหยหาอวกาศในยุคปัจจุบันอยู่ด้วยเช่นกัน โดยมีหลายคนเชื่อว่าหากมนุษย์ไม่เริ่มสร้างถิ่นฐานใหม่ขยายออกไปในอวกาศก็อาจจะนำมาซึ่งการสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ได้ 

แนวคิดนี้ไรอันกล่าวเอาไว้ว่า เนื่องจากภัยอันตรายจากอุกกาบาตที่เคลื่อนตัวเข้าใกล้โลกยังคงมีอยู่ ในอดีตนั้นการพุ่งชนของอุกกาบาตเกือบทุกครั้งจะนำมาซึ่งการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่เสมอ การที่มนุษยชาติทั้งหมดกระจุกตัวอยู่บนโลกจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการถูกกำจัดออกไปจากดาวจนหมดในคราวเดียว การสร้างอาณานิคมอวกาศและโครงการอวกาศต่างๆ จึงดูจะเป็นทางออกเดียวของมนุษย์ที่สามารถทำได้ เพื่อหลีกเลี่ยงภัยคุกคามจากก้อนหินอวกาศขนาดยักษ์ จากความต้องการในการมี ‘แผนสำรองสำหรับมนุษยชาติ’ เช่นนี้ ทำให้คำถามสำคัญหลายครั้งเวลาเราค้นพบดาวเคราะห์ดวงใหม่ๆ มักจะถามด้วยคำถามเดิมๆ อย่าง “มีน้ำอยู่บนดาวไหม” “มีอากาศหรือเปล่า” ไปจนถึง “มนุษย์จะไปใช้ชีวิตที่นั่นได้เร็วสุดเมื่อไหร่” และแน่นอนว่าคงมีแค่เวลาที่จะตอบเราได้ การนั่งเรือโนอาห์ฉบับอวกาศไปสร้างสวรรค์ของตนเองเพื่อหาทางรอดให้แก่เผ่าพันธุ์ ดูจะไม่ใช่เรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ในอนาคตที่จะถึงนัก 

แน่นอนว่านอกเหนือไปจากเรื่องชวนเครียดจนผมร่วงอย่างทรัพยากรและการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่แล้ว เรื่องเบาๆ อย่างการพักผ่อนหย่อนใจก็ไม่ใช่เรื่องที่น้อยหน้าไปกว่าเรื่องอื่นในการส่งมนุษย์ (ที่มีเงิน) ขึ้นสู่อวกาศ และเราเริ่มพูดคุยเรื่องการซื้อตั๋วขึ้นไปเที่ยวชั้นบรรยากาศไปจนถึงอวกาศรอบวงโคจรโลกกันตั้งแต่ปี 2014 แล้ว

บริษัท Xcor เป็นบริษัทด้านการท่องเที่ยวอวกาศรายแรกๆ ที่เสนอขายประสบการณ์ของสภาพไร้แรงโน้มถ่วงเป็นเวลาหนึ่งเที่ยวบินต่อ 95,000 เหรียญสหรัฐ หรือตีเป็นเงินไทยได้มากกว่า 2.9 ล้านบาท ขณะที่บริษัท Virgin Galactic เสนอขายทัวร์เดียวกันอยู่ที่ 250,000 เหรียญสหรัฐ ต่อประสบการณ์ไร้แรงโน้มถ่วงเป็นระยะเวลา 5 นาที ถึงแม้ว่าธุรกิจเอกชนรูปแบบใหม่นี้จะยังขาดงบสนับสนุนเป็นจำนวนมาก เมื่อเทียบกับงานอวกาศสายวิทยาศาสตร์และการเมืองอย่างองค์การ NASA แต่ความสนใจของผู้คนที่มีต่อบริษัทเอกชนเหล่านี้ไม่ได้น้อยลงเลย 

หลักฐานที่บ่งบอกถึงความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นสำหรับการท่องเที่ยวอวกาศนั้น สามารถพบได้จากรายงานของสำนักข่าว CNN เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2021 ที่ระบุว่าบริษัทสัญชาติอเมริกันชื่อ Gateway Foundation มีแผนที่จะเปิดให้บริการ ‘โรงแรมอวกาศ’ ขนาดใหญ่ ลอยตัวอยู่เหนือวงโคจรของโลก โดยโรมแรมดังกล่าวจะประกอบไปด้วยพื้นที่ 24 ส่วนขนาดใหญ่ที่เชื่อมต่อกันเอาไว้ด้วยลิฟต์เป็นแกนกลาง ก่อนที่จะหมุนตัวเองไปรอบๆ พร้อมๆ กับการโคจรของโลก โรงแรมนี้มีชื่อว่า ‘Voyager Station’ ก่อสร้างโดยบริษัทรับเหมาก่อสร้างบนอวกาศบริษัทแรกอย่าง Orbital Assembly Corporation ที่คาดว่าจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบได้ภายในปี 2027 และจะพยายามคงค่าเข้าใช้บริการให้พอๆ กับค่าล่องเรือสำราญหรือค่าตั๋วเข้าดิสนีย์แลนด์

แน่นอนว่า หากคุณเป็นคนที่มีเงินมากพอ คุณก็อาจจะแหงนมองท้องฟ้าและจินตนาการถึงการพักผ่อนหย่อนใจในโรงแรมอวกาศสุดหรูที่ดีไซน์มาจากหนังเรื่อง 2001: A Space Odyssey ของ สแตนลีย์ คูบริค (Stanley Kubrick) แต่หากคุณไม่มีเงินมากในระดับมหาเศรษฐีของโลก ก็อาจจำเป็นที่จะมองท้องฟ้าในแง่ความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์มนุษย์ บนความหวังว่าจะค้นพบวิธีนำทรัพยากรราคาแพงนอกโลกกลับลงมาจากท้องฟ้าในราคาที่ถูกลงได้ หรือการหนีออกไปจากดาวเคราะห์สีฟ้านี้ที่บางคนอาจจะเชื่อว่าเกินเยียวยา 

การแหงนหน้ากลับขึ้นไปมองท้องฟ้าเพื่อหาคำตอบจึงกลับมาสู่โจทย์สำคัญของมนุษย์อีกครั้ง หลังจากมันได้หายไปหลายปีในช่วงสงครามเย็น และเราต่างหวังว่าครั้งนี้เราจะเห็นอะไรมากขึ้นกว่าศรัทธา ความงมงาย เทพเจ้าหรือคุณความดี และเริ่มคิดอย่างจริงจังถึงความอยู่รอดและการพักผ่อนหย่อนใจบนห้วงอวกาศ

ที่มา:

วัฐพล เมฆดี, อาทิตย์ เจนจบสกลกิจ. (2562). กิจการอวกาศเพื่อความมั่นคง: ความท้าทายแห่งอนาคต. วารสารสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ. 10(2). 1-11.

The Cosmology of Thomas Wright of Durham

How ‘Star Wars’ Changed the World

NASA – Why We Explore

Space mining is not science fiction, and Canada could figure prominently

World’s first space hotel scheduled to open in 2027

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า