Splashing Theatre: เมื่อวัยรุ่นรวมหัวกันสาดละครเวทีใส่คนดู

 เรื่อง: ชลิตา สุนันทาภรณ์ / ณิชากร ศรีเพชรดี
ภาพ: อนุชิต นิ่มตลุง

พูดถึงละครเวทีโรงเล็ก อาจเทียบได้กับบุตรของภรรยารองในจินตนาการของคนทั่วไป (แปลว่า-ลูกเมียน้อย)

ด้วยความเชื่อว่าข่าวคราวของละครเวทีโรงเล็กมักจะถูกหมกเม็ด ซุกซ่อนไว้ในเพจเฟซบุ๊คหรือฝีดข่าวของกลุ่มคนใดกลุ่มหนึ่ง ไม่ใช่วงกว้าง

Splashing Theatre คือกลุ่ม ‘วัยรุ่น’ (เถอะนะ แม้เขาจะบอกตัวเองว่าใกล้เส้น 30 อยู่ไม่มาก) ที่เอาจริงเอาจังกับการทำละครเวทีโรงเล็กมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ครั้งมีสถานะเป็นนักศึกษาในนามชุมนุมศิลปะและการแสดง แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไล่เรื่อยมาจนปัจจุบันในนาม Splashing Theatre

5 เรื่องภายใน 3 ปี แม้ไม่ดังเป็นพลุแตก แต่พวกเขายังคงซื่อสัตย์ผลิตงานอย่างต่อเนื่อง และหลายๆ เรื่องถูกเสนอเข้าชิงรางวัล

Zone (2014)
Whaam! (A Brief History of Unknown Astronaut) (2015) ประวัติศาสตร์ฉบับย่อของนักบินอวกาศผู้ไม่มีใครรู้จัก
The Art of Being Right (2015)
The Disappearance of the Boy on a Sunday Afternoon (2016) การหายตัวไปของเด็กชายในบ่ายวันอาทิตย์
Thou Shalt Sing: A Secondary Killer’s Guide to Pull the Trigger (2017) จงขับขาน: มือสังหารชั้นรองโปรดร้องก่อนลั่นไก

เหล่านี้คือผลงานของ Splashing Theatre กลับมาครั้งนี้พวกเขาทำละครเวทีที่ชื่อว่า Teenage Wasteland: Summer, Star and the (Lost) Chrysanthemum ว่าด้วยเรื่องของวัยรุ่น อ้างอิงจากวัยรุ่นชื่อ จิตร ภูมิศักดิ์ ในทีเซอร์ของเรื่องบอกว่าละครเวทีเรื่องนี้อยู่ในขนบไซไฟ เล่าถึงเหตุการณ์หนึ่ง ผ่านสามวิธีที่แตกต่างกัน – อินดี้ชัวร์ เราคิดแบบนั้น

ได้ยินชื่อของ Splashing Theatre ผ่านเพื่อนฝูง กับคำบอกเล่าของผู้ที่ได้เคยไปชมละครของพวกเขามาระยะหนึ่ง และไม่มีอะไรมากไปกว่าความสงสัยในพลังบางอย่างของ ‘วัยรุ่น’ กลุ่มนี้ เราจึงติดต่อขอเข้าไปสัมผัสพลังที่ว่าด้วยตัวเอง

อยากจะพูดคุยกับทีมงานและนักแสดงหลายๆ คนให้มากกว่านี้ แต่ติดข้อจำกัดเรื่องเวลา พวกเขาแต่ละคนมีเวลาว่างไม่พร้อมกัน เพราะทุกคนมีงานประจำ เราจึงนัดคุยกับสองผู้กำกับและผู้เขียนบท เฟิร์ส – ธนพนธ์ อัคควทัญญู, แมค – ธงชัย พิมาพันธุ์ศรี  และหนึ่งนักแสดง ก้อย – อรัชพร โภคินภากร


แมค – ธงชัย พิมาพันธุ์ศรี และ เฟิร์ส – ธนพนธ์ อัคควทัญญู

1. ‘Splashing Theatre’ คือใคร?

‘Splashing Theatre’ มารวมตัวกันได้อย่างไร

แมค: เริ่มจากเฟิร์สกับเราทำชุมนุมศิลปะและการแสดง ‘TU Drama’ ด้วยกันตั้งแต่อยู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว พอเราถึงช่วงปี 4 …

เฟิร์ส: ปี 3

แมค: ใช่เหรอ

เฟิร์ส: เออๆ ตอนปี 3 ก่อน เริ่มจากที่เรามีจิตอยากที่จะทำละครเวที พอถึงปี 4 ก็ร่วมมือกัน โดยมีชื่อเรื่องว่า ‘Splash’ เราชอบชื่อนี้ ก็เลยเอามาตั้งเป็นชื่อกลุ่มคือ มันมีอิทธิพลต่อจิตใจระดับหนึ่งน่ะ

แมค: คือช่วงที่ทำละครชุมนุมมหาวิทยาลัย ได้มีโอกาสไปเล่นละครงานศิลปะนานาพันธุ์ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ ก็เลยเริ่มคิดกันว่า ถ้าเรียนจบไปแล้วก็ยังอยากทำอะไรแบบนี้ต่อ จะกลับไปทำละครในมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้ เพราะไม่มีสถานะเป็นนักศึกษาแล้ว พวกเราจึงจัดตั้งกลุ่มขึ้นมาเอง เป้าหมายของกลุ่ม ก็คือการได้ทำในสิ่งที่เราชอบ และมันก็เข้ากับชื่อกลุ่มพอดี

เฟิร์ส: ชื่อ ‘Splashing’ ชื่อเดียวกับละครเวทีเรื่องแรก แต่เติม ‘ing’ เข้าไปข้างหลัง คืออาการว่ามัน ‘กำลัง’ คือกลุ่มคนที่กำลังทำอะไรสักอย่าง และมันก็เท่ากับคำว่า ‘การสาดกระจาย’ การระเบิดออกไปด้วย

ทำไมก้อยถึงสนใจเล่นละครเวทีและทำงานร่วมกับ Splashing Theatre

ก้อย: เราว่าวิธีการเล่าเรื่อง วิธีกำกับของพี่เฟิร์สและทีมนี้มันแปลกดี น่าสนใจ อยากลองเล่น แค่นั้นเลย ก่อนหน้านี้ที่เราเคยเล่นมาก็จะเป็นละครเวทีของคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ สไตล์การเล่าเรื่องก็จะเล่าด้วยขนบธรรมดา คือ ต้น กลาง จบ แต่กับพี่เฟิร์ส เขาจะเล่าเรื่องหรือกำกับอย่างว่า “อะไรนะ…ขออีกทีหนึ่ง” เหมือนการเล่าเรื่องแบบภาพยนตร์ตัดไปตัดมา สำหรับเรา จึงอยากรู้ว่าพี่เฟิร์สเขาจะทำงานกำกับแบบไหน เท่านั้นเอง

ถ้าให้อธิบายคาแรคเตอร์บทละครของเฟิร์สกับแมค มีกลิ่นอายแบบไหน

ก้อย: ญี่ปุ่น! เราว่าสองคนนี้มีความคลั่งในการ์ตูนหรือวัฒนธรรมญี่ปุ่นบางอย่าง ตอนที่เราเข้าไปดูละครเวทีของ Splashing เรื่องที่แล้วเรื่อง Thou Shalt Sing: A Secondary Killer’s Guide to Pull the Trigger ก็รู้สึกได้ถึงกลิ่นอายแบบนี้ สีสันมันจัดจ้านมาก คาแรคเตอร์ตัวละครแต่ละคนมันสุดเหวี่ยงสุดทาง แต่การเล่นของเขามันไม่สุด ไม่โยน เล่นไม่ใหญ่ ทุกคนเก็บร่างกาย แสดงออกให้น้อยที่สุด แล้วเล่นออกมาจากข้างใน

เรารู้สึกว่าพี่เฟิร์สไม่ชอบความโฉ่งฉ่าง กลิ่นอายของเขาจะเป็น “คุณรู้สึกให้เยอะเข้าไว้ แต่แสดงออกมาให้นิดเดียว” ตัดกับสีสันข้างนอกซึ่งจัดจ้านมาก เราเลยรู้สึกว่ามันคือความแตกต่าง คือ คอนทราสต์ที่ดี แต่สำหรับเรื่องนี้ (Teenage Wasteland: Summer, Star and the (Lost) Chrysanthemum) mood & tone อาจจะไม่ได้เหมือนเรื่องนั้น แต่สไตล์การเล่นแบบการเก็บเนื้อเก็บตัว แสดงออกมาจากข้างใน จะคล้ายๆ กันอยู่

แมคกับเฟิร์ส คุณเคยร่วมงานกับกลุ่มละครเวทีโรงเล็กอื่นๆ บ้างไหม

แมค: อย่างเรา ครั้งแรกที่ออกมาเล่นกับกลุ่มอื่นก็คือ ละครร้องของ พี่ตั้ว-ประดิษฐ์ ประสาททอง หลังจากนั้นเราก็ไปร่วมกับ ‘B-Floor Theatre’ เป็นละครที่เน้นการเคลื่อนไหวร่างกายแต่ไม่พูดเลย

เฟิร์ส: ส่วนเราเคยร่วมงานกับโรงละครพระจันทร์เสี้ยว ตอนนั้นเป็นช่วงปิดเทอม ก็เดินเข้าไปหาที่ห้องเขาแล้วถามว่า พี่มีอะไรให้ช่วยไหมครับ จากนั้นเลยได้ลองมาจับๆ เล่นๆ ดูบ้าง และเมื่อต้นปีก็ได้เล่นร่วมกับกลุ่มเขาอีกครั้งหนึ่ง

ชอบอะไรในศาสตร์ของละครเวที

ก้อย: เอาจริงๆ ที่มาเป็นนักแสดงตอนนี้ ก็เพราะเล่นละครเวทีตอนปี 2 ที่คณะนิเทศศาสตร์ ตอนนั้นมีผู้กำกับของ GTH มาดูเราเล่น จากนั้นเขาจึงเรียกเราไปแคสต์ ฮอร์โมน เดอะซีรีส์ มันก็เลยเป็นสายโยงใยเกี่ยวพันมา เรารู้สึกว่าการเล่นละครเวที เราต้องอยู่กับมันจริงๆ มากกว่าซีรีส์หรือภาพยนตร์ มันไม่ได้มีอันไหนดีกว่า แต่การทุ่มเทเพื่อใช้เวลากับการแสดงของละครหรือภาพยนตร์ ณ จุดที่ทำการแสดง มันต้องการอะไรที่มากกว่าการเป็นคาแรคเตอร์ของตัวละครจริงๆ

แมค: เราชอบการแสดงแอ็คติ้งบนละครเวที มันสนุก ต้องอยู่กับโมเมนต์นั้นจริงๆ ไม่ใช่เหมือนการเล่นหนัง ที่ถ้าเราเล่นผิดก็หยุดแล้วถ่ายทำใหม่แทนได้ แต่บนละครเวที ถ้าพูดผิดนิดหนึ่ง คนที่ร่วมแสดงด้วยกันก็ต้องช่วยๆ กันไปจนจบให้ได้ ละครเวทีเรียกร้องสติและสมาธิมากๆ

ก้อย: คือละครเวทีมันต้องการความรู้สึกหรือความเข้าใจลึกซึ้งที่มากกว่า ในการจะเข้าไปเป็นตัวละครตัวหนึ่ง เพราะอยู่บนเวที เราหลุดคนก็เห็นเลยไม่มีให้คัท

เจออะไรที่มันผิดแผกก็ต้องด้นไปในความรู้สึกของละครตัวนั้น แต่สมมุติว่าคุณเล่นซีรีส์หรือภาพยนตร์ ถ้ามันยังไม่ได้ภาพอย่างที่ผู้กำกับต้องการก็คัท แต่บนเวทีมันมีเซนส์การเอาตัวรอดของนักแสดงอยู่ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ผู้กำกับเขาคุมเราอยู่ได้แค่ประมาณหนึ่งเท่านั้น

เฟิร์ส: ไม่รู้เหมือนกันว่าชอบอะไรในศาสตร์นี้ แต่รู้แค่ว่า เราเริ่มทำละครตั้งแต่ปี 1-2 แล้วก็ทำมาเรื่อยๆ แค่รู้สึกว่าทำอันนี้แล้วเวิร์คที่สุดมั้ง

แมค: ดูเป็นการตอบคำถามที่ไม่เหมือนการตอบสักเท่าไหร่เลยนะ (หัวเราะ)

ก้อย – อรัชพร โภคินภากร

สำหรับก้อยแล้ว ความแตกต่างระหว่างละครเวทีกับการแสดงประเภทอื่นๆ คืออะไร

ก้อย: ทุกอย่างเลย แค่วิธีการเล่นก็ไม่เหมือนกันแล้ว และการแสดงอื่นๆ ด้วยธรรมชาติของมัน มันมีสิ่งที่ต้องคำนึงอื่นๆ ซึ่งเราไม่สามารถต่อรองกับมันได้มาก เช่น มีเรื่องเวลา มีเรื่องของเงิน เข้ามาเกี่ยว สมมุติเรากำลังเล่นซีนที่ต้องดราม่ามาก ต้องร้องไห้ และเรามีเวลาแค่ 15 นาที ซึ่งต้องทำให้ได้ ถ้าเกินกว่านี้เสียเวลากองถ่ายเขาแล้วนะ แปลว่า ถ้าคุณเล่นไม่ถึงก็คือไม่ถึง หรือคุณเล่นถึง 20 เปอร์เซ็นต์ แต่มันไม่ได้ภาพที่เขาต้องการ คุณก็ต้องจินตนาการความเจ็บปวดที่คล้ายกันเข้ามาในสมอง เพื่อจะทำอารมณ์ให้ได้ระดับนั้น มันก็จะไม่ได้เป็นตัวละครทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ ขนาดนั้น (เน้นเสียง)

ชอบอะไรมากกว่ากัน

ก้อย: อืม… (คิด) เราว่าตอนนี้เราชอบละครเวทีมากกว่านะ เราว่ามันมีเสน่ห์ รองมาคือภาพยนตร์ เราอยากเป็นนักแสดง แต่ว่าเราต้องรู้ว่าเรากำลังอยู่ในแนวทางไหน เราไม่อยากเลือกว่าถ้าเราเล่นละครเวที จะไม่เล่นภาพยนตร์อีกแล้ว แต่ละอันมีความสนุกที่แตกต่าง

ได้ยินมาว่า นักแสดงและทีมงานที่ทำละครโรงเล็กบางคนก็มีงานประจำ ไม่ได้ยึดอาชีพนี้เป็นอาชีพหลัก

เฟิร์ส: ปกติเป็นฟรีแลนซ์รับเขียนบทอยู่แล้ว แต่ใช่ การทำละครนี้ไม่ใช่งานหลัก ไม่ใช่สิ่งที่อยู่แล้วจะได้เงิน

แมค: อย่างเราเรียกว่าตกงาน ดีกว่า (หัวเราะ) คือ เราเพิ่งลาออกจากงานเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินแล้วมาทำละครเต็มตัว ตอนนี้ก็ไม่ได้เงิน ส่วนนักแสดงคนอื่นก็แตกต่างกันไป บางคนก็ทำงานประจำกัน

แล้วคุณนิยามกิจกรรมแบบนี้ การรวมกลุ่มกันทำแบบนี้ว่าอะไร งานอดิเรก?

เฟิร์ส: ไม่ใช่งานอดิเรก ไม่ใช่งานประจำ ไม่ใช่อุดมการณ์… (เงียบคิด)

แมค: เราจริงจังกับตรงนี้มากกว่างานประจำอีก

เฟิร์ส: ไม่ใช่งานอดิเรกแน่ๆ เราไม่ได้ทำเล่นๆ หรือทำยามว่าง อันนี้ไม่ว่างเราก็ทำ มันเป็นอะไรสักอย่างที่ทำแล้วมีความสุข ไม่ได้เงินด้วย เสียเงินด้วย เสียพลังงานด้วย แล้วเรียกว่าอะไร! (เสียงดัง)

ก้อย: ถามว่าเล่นเรื่องนี้ได้ตังค์เท่าไหร่ เอาจริงๆ ไม่มีใครรู้ เผลอๆ ก็ไม่ได้ ไม่มีใครเคยถาม แต่ทุกคนดิ่งตรงจากที่ทำงานมาที่นี่ และซ้อมทุกวัน มาก็เพราะว่าชอบ เท่านั้นเอง

อาจเป็นเพราะวัฒนธรรมแบบนี้ไม่ค่อยมีในสังคมไทยมากนัก แบบที่มารวมตัวกันแสดงละครเวที หรือ “วันนี้ว่างจัง ไปดูละครเวทีกันไหม?” พอไม่ค่อยเห็นในสังคม ก็เลยนิยามให้มันเป็นอาชีพจริงๆ ได้ลำบากหรือเปล่า หรือคุณคิดว่าจะยึดเส้นทางนี้เป็นอาชีพหลักได้ไหม

แมค: โห

ก้อย: ในเมืองไทยตอนนี้เหรอ? ไม่ได้

เฟิร์ส: เราว่ามันเป็นไปได้ถ้ามีการสนับสนุน (หัวเราะ)

แมค: ปัจจุบันนะ มันน้อยมากที่จะมีเม็ดเงินไหลเข้ามา เพราะวงการของละครโรงเล็กที่ทำกันอยู่ ไม่ได้เป็นสเกลแบบเมืองไทยรัชดาลัยเธียเตอร์ เป็นโปรดักชั่นที่ครบครันพร้อมขาย มีคนคอยซื้อบัตรตลอด เราไม่ได้วงกว้างขนาดนั้น ก็ยากที่ศิลปินจะทำแล้วได้ทุน

เฟิร์ส: สิ่งที่เราเป็นอยู่มันไม่ใช่อุตสาหกรรม ไม่ได้มีนายทุนลงมา เราลงทุนกันเอง หาคนดูเอง

แมค: ตั้งแต่เราทำครั้งแรก เราก็ไม่ได้ตั้งต้นว่าจะต้องทำละครออกมาให้ได้กำไร ไม่ใช่สิ่งที่เป็นอันดับแรก

เฟิร์ส: แต่คำถามของเขาคือ เป็นไปได้ไหมไง

ก้อย: สำหรับเรานะ อาจมีคนที่ทำได้ แต่ข้อจำกัดในชีวิตเรามันมากกว่านั้น ยังมีเรื่องอื่นที่อยากทำและต้องเอามาคิดคำนึงด้วย แต่ถ้าพูดถึงพื้นที่ของศิลปะละครเวทีโรงเล็ก มันยังไม่ถูกเปิดกว้างพอ

คุณบอกว่าละครแบบนี้ไม่ใช่อุตสาหกรรม แสดงว่าคุณไม่เชื่อเรื่องการทำให้เป็นธุรกิจ?

เฟิร์ส/แมค: เชื่อสิ (พยักหน้า) ไม่รู้สิ เราก็อยากยืนอยู่ในจุดนี้และมีเงินใช้ได้ แบบได้ทำสิ่งที่เรารักและได้เงินด้วย

ถ้าจะทำการทำละครโรงเล็กเป็นอาชีพให้ได้ มันต้องการอะไรบ้าง

เฟิร์ส: ต้องทำให้ละครโรงเล็กเป็นที่จดจำให้ได้ก่อน ถ้าละครไม่มีคนดู เราก็ไม่รู้ว่าจะทำไปทำไม ต้องมีคนสนใจมากขึ้น มีคนดูมากขึ้น ไม่ว่าละครนั้นจะดีหรือไม่ดี อันนั้นยังไม่ต้องพูดถึง แต่ต้องทำให้มีคนดูให้ได้ก่อน เพื่อที่เขาเหล่านั้นจะได้บอกว่าดีหรือไม่ดีจริงๆ

แล้วทำไมคนดูต้องอยากมาดูละครโรงเล็ก

แมค: (หัวเราะ)

เฟิร์ส: เราว่าละครโรงเล็กมีอิสระมากกว่าการเป็นอุตสาหกรรม

แมค: เพราะว่าการเป็นอุตสาหกรรมจะต้องมีเงื่อนไข มีข้อบังคับสักอย่างที่ทำให้ละครต้องเป็นไปตามทิศทางนั้น เพื่อให้ละครมันขายได้จริงๆ มีบทดึงคนดู ถ้าไม่เป็นเรื่องที่คนรู้จักอยู่แล้ว ก็ต้องเป็นนักแสดงที่คนรู้จักอยู่ละครโรงเล็กไม่ใช่แบบนั้น ก็เลยมีเส้นทางในตัวมันเองที่หลากหลายกว่า

เฟิร์ส: หลายคนอาจคิดว่าละครโรงเล็ก ดูยาก เข้าใจยาก ก็ใช่ อาจมีบางส่วนที่ดูยาก บางส่วนดูง่าย เราว่า ตัวเลือกเยอะมาก

แมค: ทั้งละครร้อง ในกลุ่มละครโรงเล็กมีเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็น ละครร้องเพลงไทยดั้งเดิม ละครร้องเพลงใหม่หรือละครพูด ละครที่ไม่พูดเลยเน้นการเคลื่อนไหวอย่างเดียว

เฟิร์ส: กลุ่มคนดูจึงหลากหลาย ละครกลุ่มนี้เจาะกลุ่มคนแบบนี้ได้

คนชอบพูดว่าละครโรงเล็กดูยาก ยากจริงหรือเปล่า

เฟิร์ส: อย่างละครของเราตอนแรกไม่ได้ตั้งใจทำให้ดูยาก อาจเป็นที่ wave length ต่างกันมั้ง

แมค: ด้วยความที่คนดูบางคน ไม่ได้รับสารแบบเดียว วิธีการแบบเดียวกัน ก็ต้องใช้เวลาปรับตัว สมมุติว่า คนไม่เคยดูละครโรงเล็ก เพิ่งมาดูครั้งแรกก็อาจยากหน่อย เพราะวิธีการเล่าเรื่องแตกต่างกัน แต่พอได้ดูเยอะขึ้น ก็เปิดโลกมากขึ้นเรื่อยๆ

เลยทำให้กลายเป็นเรื่องของคนเฉพาะกลุ่ม?

เฟิร์ส: ไม่นะ ต้องลองมาดูก่อน ก็เหมือนกับวงการอื่น พวกหนังอินดี้ หนังอาร์ต หนังนอกกระแส ก็คล้ายๆ กัน ซึ่งเราก็ไม่ชอบคำว่า ดูยากหรือไม่เข้าใจเหมือนกัน (ยิ้ม)

ละครเรื่องนี้พูดถึงการเป็นวัยรุ่น พวกคุณเป็นกลุ่มวัยรุ่นที่…

เฟิร์ส: นี่ก็จะ 30 แล้วนะ

แมค: ยังไม่ 25 เลยไม่ใช่เหรอ!

(หัวเราะ) ถามต่อนะคะ พวกคุณเป็นวัยรุ่นทำเพื่ออุดมการณ์ ความฝัน ความชอบของตัวเอง ไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่กับงานประจำ อย่างที่วัยรุ่นส่วนใหญ่ตั้งคำถามต่อวิชาชีพตัวเองในขณะนี้หรือ

ก้อย: นักแสดงคนอื่น หรือหลายๆ คนก็มีงานประจำ ฉะนั้นเวลาที่เขานัดกันก็จะเป็นตอนดึก หรือเวลาที่ทุกคนทำงานของตัวเองเสร็จแล้ว มันเลยทำให้เราชอบบรรยากาศ หรือกลุ่มคนที่นี่มากในเซนส์ที่ว่า แต่ละคนไม่ได้ต้องการอะไร แค่อยากมาเล่นละคร มันไม่ได้มีผลพลอยได้จากการทำสิ่งนี้นอกจาก ‘แค่อยากเล่น’

แมค: ตอนเราทำงานประจำ เราก็โอเคกับการทำงานแล้วมีเงิน แต่พอทำสักพักก็เริ่มรู้สึกว่า เราไม่ได้ทำสิ่งที่เราอยากทำจริงๆ จุดนั้นเราเลยตัดสินใจออกมาทำสิ่งที่เราอยากทำดีกว่า

ที่ถามคำถามนี้ เพราะวัยรุ่นชอบตั้งคำถามกันว่า เราต้องทำเพื่ออุดมการณ์ก่อนหรือปากท้องก่อน แต่ถ้าทำได้สองอย่างก็เจ๋งไปเลยนะ

แมค: ใช่ มันก็จะเจ๋งไปเลยล่ะ

แต่ก็เป็นความสนุกที่แอบได้ยินเสียงบ่น ความซัฟเฟอร์เล็กๆ ตามหลังมา?

เฟิร์ส: ก็ซัฟเฟอร์เหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้อยากรู้สึกแบบนี้

แมค: แต่เป็นความซัฟเฟอร์ที่เรายอมรับได้

2. Teenage Wasteland: Summer, Star and the (Lost) Chrysanthemum

ทำไมจึงเล่าเรื่อง จิตร ภูมิศักดิ์

เฟิร์ส: เขาเป็นแรงบันดาลใจให้เราบางอย่างในเชิง… ตอบยากจัง เราประทับใจเขาในด้านความคิด เวลาเราอ่านหนังสือ อ่านงานเขา เรามีแรงบันดาลใจสูงมาก ประมาณว่า โห… คนคนนี้เป็นนักวิชาการแบบที่เราไม่เคยเจอมาก่อนในประวัติศาสตร์ไทย ยึดมั่นในความเชื่อของตัวเองโดยไม่หันหลังกลับ และเขาเป็นคนไทย (หัวเราะ)

แมค: เพราะเราไม่ค่อยเห็นบุคคลแบบนี้ในประวัติศาสตร์ไทย

เฟิร์ส: แล้วตอนเขียนบทจริงๆ เราคงทำเป็นชีวประวัติเขา แต่พอเขียนไปเขียนมา ก็รู้สึกว่า เออๆ เราไม่ได้อยากเล่าเรื่องเขาทุกเรื่องขนาดนั้น อินเนอร์เรามีแค่ความประทับใจต่อบางส่วนในชีวิตของเขา ซึ่งถ้าอยากรู้ชีวิตเขาหาหนังสืออ่านจะง่ายกว่า บทละครที่ออกมาจึงไม่ได้เป็นการเล่าชีวิตเขา แต่เล่าเพียงบางส่วนที่เราประทับใจ

แสดงว่า จิตร ภูมิศักดิ์ ที่หยิบมาเล่า คือจิตรในจิตนาการของคุณ?

เฟิร์ส: แน่นอนครับ เพราะว่าเราไม่เชื่อในความจริงแท้ร้อยเปอร์เซ็นต์

แมค: ในส่วนประวัติศาสตร์เองก็ไม่ใช่ความจริงอยู่แล้ว

คุณตีความ จิตร ภูมิศักดิ์ ไว้ว่าเป็นวัยรุ่นแบบไหน

แมค: อย่างที่เฟิร์สเล่าเมือกี๊ เขาเป็นวัยรุ่นที่ทำสิ่งที่ตัวเองต้องการจริงๆ สิ่งนี้เลยเป็นคำนิยามของวัยรุ่นในมุมมองของเรา อย่างตอนเราทำงานประจำ ก็มีเพื่อนที่ทำอยู่ด้วยกัน ทุกคนก็มีสิ่งที่อยากทำ แต่ก็ยังไม่ได้ทำออกมา ช่วงที่เราทำงานประจำเราเลยถามตัวเองอยู่ตลอดว่า เราจะพูดว่าเดี๋ยวค่อยทำทีหลังไปเรื่อยๆ จนไม่ได้ทำหรือเปล่า จึงตัดสินใจออกมา พอเฟิร์สมาเล่าเรื่อง จิตร ภูมิศักดิ์ ให้ฟังก็คิดว่า เฮ้ย ตรงกับเรามาก รู้สึกว่าอยากจะทำไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น อยากจะสู้กับมันให้ได้

เฟิร์ส: เขามีความกบฏอยู่ภายในตัวเองสูง พร้อมที่จะสู้ในสิ่งที่ตัวเองคิดว่ามันถูกต้อง ในขณะที่สังคมรอบข้างต่อต้าน แต่เขาก็ยังสู้ต่อไป สำหรับเรา วัยรุ่นคือวัยที่ยังมีแรงแบบนั้นอยู่ วัยที่มีพลังต่อสู้กับสิ่งที่กดทับ สิ่งที่ไม่ถูกต้อง แต่เราก็ไม่ได้อยากมองเขาแค่ด้านนั้นด้านเดียว เพราะเราก็ไม่ได้รู้จักเขาขนาดนั้น แต่เราเห็นส่วนตรงนั้นก็เลยหยิบมาขยายต่อ

ตอนที่ตัดสินใจนำเรื่องของ จิตร ภูมิศักดิ์ มาเล่า กังวลไหมว่าอาจจะถูกสังคมกดดัน

เฟิร์ส: จริงๆ แล้ว สังคมก็ไม่ได้สนใจเราอยู่แล้ว (หัวเราะ)

หรือถามแบบยอกย้อน คุณเอา จิตร ภูมิศักดิ์ มาขายหรือเปล่า

เฟิร์ส: อีกแหละ ก็ไม่รู้ว่าจะขายได้ไหมนะ (หัวเราะ)

แมค: ด้วย (หัวเราะ) แต่เรามองว่า ไม่ เพราะในละครของเรา ก็ไม่ได้เล่าว่าจิตร ต้องเป็นจิตรเท่านั้น มีอย่างอื่นที่มากกว่านั้น มีเรื่องเล่าอื่นมากกว่านั้น

ถ้า จิตร ภูมิศักดิ์ ข้ามเวลามาอยู่ในยุค 2017 เขาจะเป็นวัยรุ่นแบบไหน

แมค: ก็น่าจะเป็นเขาเหมือนเดิม แต่เขาไม่ได้ทำตามอุดมการณ์แล้วทำให้คนอื่นเดือดร้อน

ตีความวัยรุ่นว่าอะไร

เฟิร์ส: เป็นวัยที่ต้องทำอะไรสักอย่าง พยายามทำอะไรสักอย่าง และพยายามเป็นอะไรสักอย่าง

แมค: สำหรับเราวัยรุ่นคือ สิ่งที่เราต้องทำตอนนี้ เราชอบตีความว่าเราเป็นวัยรุ่นมานานมาก แต่เราไม่รู้หรอกว่า สักวันหนึ่งเราอาจไม่ได้เป็นวัยรุ่นแล้ว และวันนั้นจะมาถึงเมื่อไหร่ หรือมาถึงแล้วเราก็ไม่มีทางรู้

ก้อย: วัยรุ่นเป็นวัย ‘มันส์’ เป็นวัยของการลองผิดลองถูก สำหรับเราเป็นช่วงวัยหนึ่งที่อะดรีนาลีนหลั่งสุดๆ แล้ว เรามีพลังที่จะทำนั่นทำนี่ แล้วทำอะไรก็ไม่ต้องคิด ไม่กลัวผิดพลาด เราเชื่อว่า เราจะใช้ชีวิตตอนแก่อย่างสงบลง คิดว่าช่วงนี้เราจะเต็มที่ที่สุด (หัวเราะ)

ทำไมคนต้องมาดูเรื่อง Teenage Wasteland: Summer, Star and the (Lost) Chrysanthemum

ก้อย: ดูยากนิดหนึ่งนะ แต่เรารู้สึกว่ามันจะมีกลุ่มวัยรุ่นสักกี่คนที่ยกเรื่องของ จิตร ภูมิศักดิ์ ยังให้ความสำคัญกับเรื่องพฤษภาทมิฬอยู่ และยังเป็นวิธีการเล่า ที่น่าจะได้ใจใครหลายๆ คนอยู่ อยากชวนมาดูวิธีการเล่า การนำเสนอแบบนี้ ในรูปแบบของละครเวทีน่ะค่ะ


Teenage Wasteland: Summer, Star and the (Lost) Chrysanthemum
ทำการแสดงวันที่ 30 สิงหาคม-3 กันยายน และ 6-10 กันยายน 2560 เวลา 19.30 น.
สถานที่: Creative Industries ชั้น 2 โรงละคร M Theatre
– บัตรราคา 550 บาท*
– นักเรียน นักศึกษา 350 บาท
– นักเรียน นักศึกษาที่มาเป็นหมู่คณะ จำนวน 10 คนขึ้นไป 300 บาท / ใบ

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า