*คำเตือน: บทความนี้ฉันเป็นสาวน้อยในเทพนิยายโรแมนติกมาก ฉันจะทำให้คุณรู้ว่าความโรแมนติกในยุค 2018 เป็นอย่างไร แนะนำให้เปิดเพลง ‘Stan By Me’ วนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะอ่านบทความนี้จบหรือจะฟัง เวอร์ชั่นออริจินอล เพราะตอนฉันเขียนอยู่เปิดเพลงฟังแล้วก็โยกเบาๆ ระหว่างเขียน
When the night has come
And the land is dark
And the moon is the only light we’ll see
No I won’t be afraid, No I won’t be afraid
Just as long as you stand, stand by meเมื่อยามค่ำคืนมาถึง
และโลกกลับมืดมน
และดวงจันทร์เป็นเพียงสิ่งเดียวที่เรามองเห็น
ไม่ ฉันจะไม่หวาดกลัว ฉันจะไม่เกรงกลัวเลย
ตราบที่เธอยืนเคียงข้างฉัน ยืนเคียงข้างกัน
นี่คือเนื้อบทแรกจากเพลง ‘Stand by Me’ โดย เบน อี. คิง ที่วงประสานเสียงขับร้องในพิธีเสกสมรสของ เจ้าชายแฮร์รี และ เมแกน มาร์เคิล
ฟังเผินๆ เพลงนี้คงเป็นเพลงรักทั่วไป แต่เดี๋ยว เพลงนี้มีความหมายลึกซึ้งกว่านั้น เพราะมันเกี่ยวโยงกับการแต่งงานที่สุดแสนจะแหวกขนบของดยุคและดัชเชสหน้าใหม่คู่นี้มาก ไม่ใช่เพลงแต่งงานที่เลือกๆ มาเหมือนที่ชาวบ้านเขาเลือกกันแบบในไทยที่การแต่งงานจะต้องมีเพลง ‘ลูกอม’ ของ วัชราวลี หรือ “แต่เราก็ห๊า กันนนน จนเจ่ออออ” หรือแม้แต่เพลงของ เอ็ด ชีแรน แบบ “เหว่นยัวเล้กส์ด๊อนเวิร์คไลค์เดย์ยูสทูบี่ฟอ” แม้ว่าชาวเน็ตจะบอกว่าเจ้าชายแฮร์รีจะเหมือนเอ็ดขนาดไหน
กาลครั้งหนึ่งไม่นานมาแล้ว
ไม่นานหรอก แค่สองปีก่อนเอง หญิงสาวธรรมดาคนหนึ่ง ได้รู้จักชายคนหนึ่งผ่านเพื่อนของฝ่ายชาย เธอถามเพื่อนแค่ว่า “แล้วเขาเป็นคนดีมั้ยอะ?” เมื่อเจอกัน ก็ปรากฏว่าผู้ชายคนนั้นคือเจ้าชายแฮร์รีแห่งราชวงศ์วินด์เซอร์ของอังกฤษ ถึงกระนั้นทั้งคู่ก็ค่อยๆ ใช้เวลาทำความรู้จักกัน รักกัน และเจ้าชายก็ขอเธอแต่งงาน
ฟังดูเหมือนเรื่องราวในเทพนิยายดิสนีย์สมัยใหม่ (จะขาดก็แต่เจ้าหญิงออกมาหมุนๆ ร้องเพลง แล้วก็สัตว์ตัวเล็กตัวน้อย) แต่เทพนิยายนี้ไม่ธรรมดาเลย เพราะ เมแกน ดัชเชสแห่งซัสเซกส์ ไม่ใช่ ‘เจ้าหญิง’ แบบที่คุณเห็นทั่วไป และกฎต่างๆ ในราชวงศ์อังกฤษก็ยุ่บยั่บไม่ธรรมดาพอกัน
เมแกนไม่ธรรมดาตรงที่
1. เธอเป็นชาวอเมริกัน และไม่ใช่อเมริกันอย่างเดียว เธอเป็นลูกสาวของแม่ที่เป็นคนดำ และพ่อที่เป็นคนขาว ทั้งคู่หย่ากัน เมแกนจึงผ่านวัยเด็กที่ถูกเลี้ยงโดยแม่ผิวสี ซึ่งราชวงศ์อังกฤษมีกฎที่เคร่งครัด (มาก) ในการห้ามแต่งงานกับคนผิวสีและคนที่ไม่ใช่ชาวอังกฤษ
2. เธอเป็นดาราฮอลลีวูดที่ไม่ได้ผ่านหนังกุ๊งกิ๊งแบบภาพจำเจ้าหญิงทั่วไป แต่เป็นหนังหรือซีรีส์ห่ามๆ อย่างเรื่อง Suit หนังเรื่อง Horrible Boss หรือแม้แต่ CSI เลยนะจ๊ะ
3. เธอเคยแต่งงานมาก่อน แล้วก็หย่ากับสามีเก่า ทำให้เธอเป็นหม้าย เป็นสิ่งที่ราชวงศ์อังกฤษเคยห้ามอย่างเด็ดขาดที่จะให้เชื้อพระวงศ์แต่งงานกับหญิงหรือชายที่เป็นหม้าย
4. เมื่ออายุ 11 ปี เมแกนเคยส่งจดหมายไปถึงสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐขณะนั้น ซึ่งก็คือ ฮิลลารี คลินตัน เกี่ยวกับโฆษณาน้ำยาล้างจาน ที่สื่อว่าผู้หญิงเป็นเพศเดียวที่ต้องคอยล้างเช็ดสิ่งสกปรก ผลคือบริษัทน้ำยาล้างจานต้องออกโฆษณาใหม่ ทำให้ทั้งสองเพศเท่าเทียมกันมากขึ้น
5. หลังจากนั้นเธอก็เป็นที่ปรึกษาให้กับมูลนิธิ One Young World ในด้านสิทธิสตรีและทาสสมัยใหม่ ไปจนถึงทำงานให้ UN ในด้านความเท่าเทียมทางเพศด้วย
ถ้าเจ้าชายแฮร์รีเป็นคนธรรมดา ท่านคงพูดกับสมเด็จพระราชินีอลิซาเบธที่ 2 ว่า
แหม คุณย่าครับ นี่ยุค 2018 แล้วนะครับ ดูสิ เธออเมซิ่งแค่ไหน
แต่เจ้าชายไม่ใช่คนสามัญชนธรรมดา คงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ผู้คลั่งไคล้ราชวงศ์อังกฤษยอมรับในตัวว่าที่ดัชเชสคนใหม่ ที่เป็นชาวอเมริกัน เป็นชาวผิวสี เป็นดารา เป็นหญิงหม้าย เคยหย่าร้างมาก่อน ซึ่งขัดกับจารีตอย่างสุดโต่ง ถึงขนาดมีชาวอังกฤษหลายคนออกมาประท้วงไม่พอใจที่ใช้เงินภาษีของเขาจัดงานให้เจ้าสาวชาวอเมริกัน (แต่รัฐบาลเขาก็มีการใช้ประชามติโหวตว่าประชาชนยอมมั้ยนะเออ)
หลายสำนักข่าวให้คำนิยามงานเสกสมรสครั้งนี้ว่าเป็นงานเสกสมรสที่โมเดิร์น และผนวกความเป็นจารีตแบบอังกฤษเข้ากับวัฒนธรรมแอฟริกัน-อเมริกันไว้ได้ดีมาก ที่เห็นชัดๆ เลย ก็คือการให้บาทหลวง, นักดนตรี, วงประสานเสียง เป็นชาวผิวสี หรือแม้แต่เพลง ‘Stand by Me’ ก็ขับร้องโดยชาวผิวสี
ทำไมต้อง ‘Stand by Me’
ทำนองเบส ดึ๊ม-ดึ๊ม-ดึ่มดึมดึ๊ม-ดึ๊ม-ดึ่มดึมดึ๊ม น่าจะเป็นทำนองคุ้นหูสำหรับคนที่รักเพลงรุ่นคลาสสิกจากยุค 50’s – 60’s เรารู้จักเพลงนี้กันในฐานะเพลงรักโรแมนติก ที่พูดถึงความรักที่จะยืนหยัดอยู่ด้วยกันในวันที่ปัญหารุมเร้า เป็นเพลงฮิตที่ได้รับการนำกลับมาคัฟเวอร์กว่า 400 รอบ โดยศิลปินใหญ่ๆ อย่าง จอห์น เลนนอน แม้แต่ มูฮัมหมัด อาลี แต่ ‘Stand by Me’ ไม่ได้มีความสำคัญในเชิงเพลงป๊อปสุดฮิตอย่างเดียว
‘Stand by Me’ ขับร้องโดยนักร้องผิวดำ เบน อี.คิง ออกอากาศครั้งแรกในปี 1961 ยุคที่สังคมมีความไม่เท่าเทียมทางชนชั้นของคนขาวกับคนดำสูงมาก อเมริกาเต็มไปด้วยปัญหาการเหยียดสีผิว ตั้งแต่กฎหมายแบ่งแยกสีผิว, การเดินขบวนของกลุ่มคนผิวดำ ประท้วงเรียกร้องความเท่าเทียม ถามว่าเหยียดกันแค่ไหน ให้นึกภาพว่า คนผิวดำห้ามนั่งรถบัสคันเดียวกับคนผิวขาว ห้ามเข้าโรงเรียนเดียวกัน แม้แต่ห้ามเข้าห้องน้ำห้องเดียวกัน
ถ้าอยากเห็นบรรยากาศ ลองไปหาหนังอย่างเรื่อง The Help หรือหนังคลาสสิกอย่าง To Kill a Mocking Bird มาดู
ยุคที่ความขัดแย้งเรื่องสีผิวกำลังคุกรุ่น ขบวนการเรียกร้องสิทธิที่เท่าเทียม นำขบวนโดย มาร์ธิน ลูเธอร์ คิงส์ จูเนียร์ ห้าปีหลังจากที่เพลงนี้ออกมา มาร์ติน ลูเธอร์ คิงส์ จูเนียร์ ถูกลอบสังหารระหว่างกล่าวสุนทรพจน์ ทำให้การประท้วงยิ่งเร่าร้อนกว่าเดิม ‘Stand by Me’ กลายเป็นเพลงสดุดีการยืนหยัดต่อสู้ไปด้วยกัน การเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน (ฟังดูเวอร์วังมาก แต่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า ‘solidarity’ ซึ่งก็ต้องตีความหมายแบบนี้) ของชาวอเมริกันผิวดำ
และในงานเสกสมรสของเมแกนและเจ้าชายแฮร์รีครั้งนี้ ‘Stand by Me’ ได้ถูกขับร้องในแบบ Gospel
เข้าสู่ช่วง The More You Know
Gospel อ่านว่า กอสเปล อ้างอิงจากวิกิพีเดีย (เพราะผู้เขียนขี้เกียจเรียบเรียงใหม่) คือแนวเพลงที่เน้นเสียงร้องเป็นหลัก กอสเปลจะมีลักษณะการร้องประสานเสียง การร้องเฉลิมฉลอง และใส่ความเชื่อทางศาสนาในเนื้อร้อง
กอสเปลนี้ถือกำเนิดในศตวรรษที่ 17 แต่กอสเปลไม่ได้มีความสำคัญแค่นั้น เพราะกอสเปลที่เราได้ยินกันทุกวันนี้ ชาวอเมริกันผิวดำรับการขับร้องแนวศาสนาแบบดั้งเดิมมาปรับให้เข้ากับวัฒนธรรมของตนเอง จึงออกมาในสไตล์ที่เรียกว่า ‘Negro Spiritual’ เพราะนอกจากจะเป็นเพลงแนวศาสนาแล้ว ชาวแอฟริกัน-อเมริกันยังใช้เพลงเหล่านี้เล่าถึงการโดนกดขี่ การเป็นทาส คล้ายๆ แนวเพลง Blues ที่ถือกำเนิดในหมู่ทาสชาวแอฟริกัน-อเมริกัน
เพลง Negro Spiritual จะเป็นแนวศาสนา เกิดเป็นแนว Traditional Black Gospel ขึ้นมา ซึ่งเพลงจะไม่ได้ศาสนาเหมือนอยู่ในโบสถ์จ๋าๆ แต่จะผสานจังหวะโจ๊ะๆ ของทำนองแอฟริกันเข้าไปด้วย ทำให้แทนที่เวลาเราฟังเพลงแบบนี้ เราจะไม่ได้อยากยืนเฉยๆ แต่จะอยากขยับตัวเบาๆ
ตัวอย่างความต่างของเพลงสองแนวนี้คือเพลง ‘I Will Follow Him’ จากหนังเรื่อง Sister Act แนวเพลงจะเปลี่ยนช่วงนาทีที่ 1:40 เราจะเห็นเหล่าแม่ชีเริ่มโยกตัว เต้นไปตามจังหวะ เหมือนกับที่วง Kingdom Choir ร้องในงานเสกสมรส
อ่านมาถึงตรงนี้ ใครยังไม่โยกตัวฉันจะเสียใจมาก นี่คุณไม่มีดนตรีในหัวใจเลยรึไง อย่าบอกนะว่าไม่ได้ฟังเพลงไปด้วย…
ส่วนเพลง ‘Stand by Me’ ไม่ได้เป็นเพลงกอสเปลดั้งเดิม แต่ถูกใช้ขับร้องในโบสถ์ชาวแอฟริกัน-อเมริกันหลายแห่ง เพราะแม้แต่เนื้อเพลง ก็ถูกเขียนออกมาในเชิงศาสนาอย่างเช่นท่อนนี้
If the sky that we look upon
Should tumble and fall
Or the mountains should crumble to the sea
I won’t cry, I won’t cry
No I won’t shed a tear
Just as long as you stand, stand by meถ้าหากท้องฟ้าที่เรามองขึ้นไป
จะแตกดับและคว่ำลงมา
หรือภูเขาจะสูญสลาย มลายไปในทะเล
ฉันจะไม่ครวญ ฉันจะไม่ครวญเลย
ฉันจะไม่หลั่งน้ำตา
ตราบที่เธอยืนเคียงข้างฉัน ยืนเคียงข้างกัน
มีการวิเคราะห์ว่าอาจเอามาจากบทหนึ่งในพระคัมภีร์ไบเบิล ที่ว่า “Therefore will not we fear, though the earth be removed, and though the mountains be carried into the midst of the sea;” หรือแปลเป็นไทยว่า “ดังนั้นเราจะไม่หวาดกลัว แม้โลกจะดับสูญ และแม้ภูเขาจะถูกยกละลายไปกับมหาสมุทร” หรือแม้แต่ชื่อเพลง ‘Stand By Me’ ก็ตรงกับเพลงกอสเปลเพลงหนึ่งโดย ชาร์ลส์ เอ. ทินด์ลีย์ บาทหลวงผิวสีที่แต่งเพลงในชื่อเดียวกันที่มีท่อนคล้ายๆ กันว่า
When the storms of life are raging, stand by me;
When the world is tossing me, like a ship upon the sea,
Thou who rules wind and water, stand by me.
จะเห็นว่าเพลง ‘Stand By Me’ ของ เบน อี. คิง เป็นเพลงที่ออกจะเน้นเรื่องศาสนามากกว่าความรัก แต่พอมาดูดีๆ แล้ว การ ‘ยืนหยัดเคียงข้างกัน’ ไม่ได้พูดถึงแค่ให้พระเจ้ายืนเคียงข้างฉัน แต่คือการบอกว่า
พวกคุณ ในฐานะมนุษย์ด้วยกัน จะยืนเคียงข้างกัน เพื่อผ่านพ้นช่วงเวลาอันมืดมนไปด้วยกันไหม
ความรักคือเรื่องของคนสองคนก็จริง แต่การแต่งงานและความสัมพันธ์ มีเรื่องครอบครัว สังคม การเมืองเข้ามาเกี่ยวเนื่องตลอดเวลา ถ้าหากทั้งโลกไม่ยอมรับในตัวของเจ้าชายและเจ้าหญิงหน้าใหม่ ในวันที่ราชวงศ์อังกฤษจะต้องเปลี่ยนแปลง ในวันที่สังคมเปลี่ยนไป พวกเขาจะยังยืนเคียงข้างกันอยู่ไหม
Whenever you’re in trouble, won’t you stand by me
Oh stand by me,
Oh won’t you stand now?
Stand by meถ้าเธอตกอยู่ในปัญหา เธอจะยืนเคียงข้างฉันไหม?
โอ้ ยืนเคียงข้างฉัน
เธอจะยืนข้างกันไหม
ยืนเคียงข้างฉันเถอะ
เมื่อเผชิญหน้ากับปัญหาต่างๆ เราได้ยืนหยัดสู้มาด้วยกันแล้ว เราทั้งสองได้ทลายกำแพงที่เต็มไปด้วยอคตินั้นแล้ว พวกคุณล่ะ พร้อมจะยืนหยัดเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับเราไหม
นี่คงเป็นความหมายที่คู่บ่าวสาวต้องการจะสื่อ ด้วยการใช้เพลง ‘Stand by Me’ ในการแต่งงานครั้งนี้
เกร็ดเล็กน้อย: การเสกสมรสครั้งนี้ บาทหลวงเอาคำว่า ‘obey’ ที่แปลว่า เชื่อฟัง ออกจากคำสาบาน อย่างที่เจ้าหญิงไดอานา แม่ของเจ้าชายแฮร์รีเคยทำ เพื่อให้เห็นว่าการเป็นสามีภรรยากันครั้งนี้ ภรรยาจะไม่อยู่ภายใต้สามี แต่อยู่ในสถานะเสมอกัน เป็นการนำเอาความเท่าเทียมทางเพศมาไว้ในการแต่งงานครั้งนี้