still alice: ความทรงจำที่ไร้ตัวตน

julianne-moore2

เรื่อง : กาสะลอง

 

“อยากกลับไปเป็นเด็ก เจ็บสุดก็แค่พ่อเลิกกับแม่…”

ข้อความบนนิวฟีดตอนเวลาตีสามกว่าๆ ท่ามกลางความเงียบและแสงที่ส่องสว่างเล็กน้อยจากหน้าจอโน๊ตบุ๊ค เขานั่นแหละ…ใช่ เขาจริงๆ คุณคงไม่รู้จักเขา ฉันก็แทบไม่รู้จักเขา เราเจอกันบ่อยตามคลาสเรียนคอมพิวเตอร์ตอนปี 1 เจอกันตามทางเดินของอาคารเรียน ตามท้องถนนแถวรั้วมหาวิทยาลัย ร้านอาหารตามสั่งใกล้ๆ ย่านหอพักนักศึกษา ฉันจำครั้งแรกที่เจอปั๊คไม่ได้ แต่เด็ก ’ถาปัตผมยาว ใส่กางเกงยีนส์ขาม้าที่พ้นสมัยไปแล้ว รองเท้าผ้าใบขาดๆ ขับรถมอเตอร์ไซค์ธรรมดาๆ

อย่างที่บอกว่าฉันจำครั้งแรกที่เราเจอกันไม่ได้ แต่เชื่อว่าการเจอกันในชั้นเรียนวิชาคอมพิวเตอร์บ่อยๆ ย้ำให้ฉันจำเขาได้ในขณะที่จำเพื่อนร่วมคลาสคนอื่นไม่ได้สักคน พวกเราเรียนกันสิบกว่าคน อาจารย์ประหลาดๆ ที่พูดจาวกวนฟังไม่ค่อยรู้เรื่อง ฉันนั่งหลังเขาเสมอ ไม่ใช่ว่าแอบชอบอะไรทำนองนั้น ไหล่เขากว้างบังฉันได้มิด เวลาแอบหลับก็สบายหน่อย (ขอขอบคุณปั๊คมา ณ ที่นี้ด้วย)

ฉันรู้สึกว่าเขาไม่เหมือนคนอื่น ปั๊คค่อนข้างแปลก เขาให้บรรยากาศอึมครึม ตัดขาดจากโลก ฉันรู้สึกถึงเส้นแบ่งชัดเจนระหว่างโลกของเขาและโลกของคนอื่น ปั๊คดูไม่น่าคบหาเอาเสียเลย นอกจากสายตาตัดสินโทษแบบนั้นเราก็ไม่เคยคุยกันซักครั้ง ฉันเป็นเพื่อนกับปั๊คในเฟซบุ๊ค

เราเป็นอย่างนี้เสมอ หมายถึงฉันชอบเห็นเขาเสมอ ยอมรับว่าชอบอ่านข้อความที่เขาโพสต์ในเฟซบุ๊ค แอบชอบเพลงที่เขาแชร์ แอบปลื้มไปกับมุมมองที่เขาใช้มองโลกทั้งใบ มันไม่ได้แย่เหมือนบุคลิกที่ฉันเห็นเขาตามคลาสเรียน โรงอาหาร หรือท้องถนน ปั๊คในโลกโซเชียลดูเป็นคนที่น่าคบหาไม่น้อย ทะเล้น ตลกโปกฮา หรือมันจะเป็นอีก ‘ตัวตน’ หนึ่งของปั๊ค ตัวตนที่เขาเลือกที่จะแสดงในโลกเสมือนจริง

still-alice mom-girl

01
ความเจ็บป่วยทำให้อลิซลืม ‘ตัวตน’ ของเธอเอง ความบกพร่องทางร่างกายนำไปสู่ความป่วยไข้ทางจิตใจ แรกเริ่มจากการลืมคำเล็กๆ น้อยๆ ไปสู่การลืมนัด จำเส้นทางไม่ได้พัฒนาไปเรื่อยๆ ตามที่ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ควรจะเป็น สุดท้ายเธอสูญเสียความสามารถของสมองไปทั้งหมดและไม่สามารถอยู่กับปัจจุบันได้

ความทรงจำมีผลโดยตรงกับ ‘ตัวตน’ ของคนแต่ละคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อาจจะหมายถึงการมีอยู่ของตัวเราที่สามารถรับรู้ได้ ก่อนถึงวันหนึ่งที่อลิซแทบไม่รู้จักตัวเอง จำคนรอบข้างไม่ได้ ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยลง เธอต้องต่อสู้เพื่อที่จะรักษาความทรงจำของเธอไว้ให้นานที่สุด ถึงมันจะเป็นไปได้ยากก็ตามที บางวันดีหน่อยเธอก็ใช้ชีวิตได้อย่างปกติแต่บางวันเธอกลับรู้สึกว่าเธอลืมตัวตนของเธอเอง ไม่รับรู้ในสิ่งที่เราเคยประสบพบมาในอดีต จึงเป็นที่มาของคำตัดพ้อของผู้ป่วยอัลไซเมอร์อย่างอลิซว่า “เป็นมะเร็งยังดีเสียกว่า” เพราะอย่างน้อยก็ยังดูมีชีวิตมากกว่าเป็นอัลไซเมอร์ที่ไม่ต่างอะไรกับการตายทั้งเป็น เพราะการเก็บรักษาความทรงจำ เอาไว้ได้ อาจหมายถึงชีวิตทั้งชีวิตของเรา

 

02
อลิซทำให้ฉันนึกถึงครอบครัว ย่าที่ชอบหลงๆ ลืมๆ เล่าเรื่องซ้ำไปซ้ำมาทั้งวัน ปู่ที่เป็นโรคเส้นเลือดในสมองตีบตัน อาการดีหน่อยปู่ก็จะจำฉันได้ แต่บ่อยครั้งที่ปู่จำฉันไม่ได้ นั่นไม่เจ็บปวดสักเท่าไหร่

อลิซทำให้ฉันนึกถึงเพื่อน ที่คอยเตือนฉันตลอดเวลา ว่าฉันต้องทำอะไรบ้างในแต่ละวัน แต่ละเดือนหรือในแต่ละปีเพราะฉันค่อนข้างลืมนู่นลืมนี่ บางทีก็ทำเป็นไม่ใส่ใจ ชอบตอบคำถามให้ง่ายด้วยคำว่า “ไม่รู้” แล้วทุกคนก็จะเลิกคะยั้นคะยอคำตอบจากฉัน เพราะมันจะไม่ได้คำตอบอื่นใดนอกจากคำว่าไม่รู้และท่าทีไม่สนใจโลกกลับไป

“เราชอบลืมว่าเราชอบอะไร”

“ชอบลืมไง!!” เพื่อนฉันตอบแบบนี้เป็นประจำ

ลิเดียทำให้ฉันนึกถึงแม่ ฉันไม่ใช่ลูกหัวขบถอย่างลิเดีย เราตกลงกันว่า ถ้าฉันสอบไม่ติดคณะที่ฉันอยากเรียน ฉันจะเรียนคณะที่แม่อยากให้ฉันเรียน จุดเริ่มต้นของชีวิตในมหา’ลัยคือคณะที่ฉันไม่ชอบ ก็อย่างที่เข้าใจ ฉันสอบไม่ติดคณะที่ฉันอยากเรียนและไม่มีแรงบันดาลใจมากพอจะไปเถียงกับแม่ว่าไม่ได้อยากเรียนคณะที่แม่อยากให้เรียน แม่เป็นมนุษย์ที่เวลาโกรธ จะแผ่รังสีอำมหิตไปรอบบริเวณบ้าน แม่เลือกที่จะไม่พูด เราจึงไม่ค่อยเข้าใจกันซักเท่าไหร่
julianne-moore

03

ฉันกับแม่ไม่ค่อยได้พูดคุยกันเท่าไหร่ เมื่อไม่นานมานี้แม่โทรศัพท์มาหาฉัน ถามไถ่ทั่วไปว่าเป็นยังไง ชีวิตมีความสุขมั้ย

“ก็ดีแหละ แม่ล่ะเป็นไงบ้าง”

“พ่อกับแม่จะเลิกกันแล้วนะ”

“ค่ะ”

ฉันไม่แน่ใจว่าอลิซโดดเดี่ยวแค่ไหนที่มีชีวิตอยู่ร่วมกับโรคอัลไซเมอร์ มันค่อยๆ พรากทุกอย่างจากชีวิตเธอไป ไม่รู้ว่าปั๊คเพื่อนร่วมคลาสคอมพิวเตอร์รู้สึกยังไงกับข้อความที่เขาโพสต์ในค่ำคืนนั้น ไม่รู้แม้กระทั่งว่าช่วงเวลาแบบนี้ฉันต้องรู้สึกยังไง

การไม่มีตัวตนอาจทำให้อลิซเจ็บปวด แต่เมื่อคิดอีกทีอลิชมีตัวตน แต่เธอจดจำมันไม่ได้ต่างหาก เมื่อจดจำไม่ได้ เธอจะออกแบบการรับรู้ต่อสิ่งที่เกิดกับเธออย่างไร นี่คือหลุมดำหลุ่มหนึ่งที่เราไม่อาจรู้

ฉันไม่แน่ใจว่ายามที่เราลืมอดีตของตัวเอง เราจะมีสำนึกเกี่ยวกับปัจจุบันของตัวเองอย่างไร เรามองตัวเองอย่างไร-เปลี่ยนไปไหม แม้บางครั้งการลืมเป็นการเยียวยา แต่การลืมเลือนที่เกิดขึ้นกับอลิซ ฉันไม่แน่ใจว่าเธอพึงพอใจหรือไม่กับการได้ลืมแบบนี้ เพราะมันเป็นการลืมที่ไม่สามารถหวนกลับไปหาการระลึกถึง เป็นการลืมอย่างหมดจด หายไปตลอดกาล

 

(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์เรื่องเล็กในหนังใหญ่ นิตยสาร Way ฉบับที่ 84, เมษายน 2558)

Author

WAY

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า