Surf Skate and the City: ‘แค่มี’ พื้นที่สาธารณะก็บุญแค่ไหน ดิ้นรนกันไปในเมืองฟุตบาธพังๆ

เซิร์ฟสเก็ต กิจกรรมและกีฬายอดฮิตที่สุด ณ เวลานี้ ด้วยลักษณะการเล่นที่ชวนหลงใหลผ่าน movement แบบนักโต้คลื่น ที่ไม่ว่าจะเพศและวัยใดก็สามารถเล่นได้ 

ปรากฏการณ์บอร์ดขาดตลาดจึงเกิดขึ้น พอๆ กับการขาดแคลนพื้นที่หรือ skate park ให้พวกเขาได้ลองโต้คลื่นคอนกรีตอย่างอิสระเฉกเช่นการโต้เกลียวคลื่นบนผืนทะเล 

ประเด็นการไม่มีพื้นที่สาธารณะถูกนำมาพูดคุยอีกครั้งในจังหวะที่เซิร์ฟสเก็ตเบ่งบาน 

WAY เปิดบทสนทนาว่าด้วยความชอบและอุปสรรคกับผู้เล่นเซิร์ฟสเก็ต ก่อนจะพาไถลึกลงไปถึงปัญหาเชิงโครงสร้างผังเมืองกับ รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา หัวหน้าภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ชี้ว่า เพราะการตีความอย่างแคบ เราจึงขาดพื้นที่สาธารณะ

โครงสร้างผังเมืองของไทย เอื้อไหมต่อการเซิร์ฟทะเลบก

หลักการผังเมืองคือความต้องการในการจัดการเชิงพื้นที่ หากเปรียบผังเมืองกับเงิน หรือทรัพยากรพื้นฐานอื่นๆ ก็คงไม่ต่างจากการกระจายและจัดสรรสิ่งที่มีอยู่ในปริมาณจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด 

หากลงลึกเรื่องผังเมือง รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา อธิบายว่า หลักการการวางผังเมืองต้องใช้เครื่องมือตามกฎหมายผังเมือง 2 ชนิด คือ ผังเมืองรวมและผังเมืองเฉพาะ  

รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา

ผังเมืองรวมมีกลไกเพื่อ ‘ห้าม’ ไม่ให้ขัดแย้งกับคนอื่น และเป็นการรอนสิทธิ (การที่ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ถูกลดสิทธิเหนือที่ดินที่ตนครอบครอง) โดยไม่มีการจ่ายคืนจากรัฐ ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น หากคุณมีความชำนาญเรื่องวัตถุระเบิด คุณต้องการจะสร้างโรงงานทำวัตถุระเบิดที่บ้านตัวเอง แบบนี้ไม่สามารถทำได้ เพราะขัดกับ public safety, public welfare และ public health (ความปลอดภัยสาธารณะ ความเป็นอยู่ที่ดีสาธารณะ และสุขอนามัยสาธารณะ) 

เครื่องมืออีกอย่างคือ ผังเมืองเฉพาะ หมายถึงผังเมืองที่มหาชนมีความเห็นพ้องร่วมกัน ทั้งยังไม่ขัดกับ public safety, public welfare และ public health กรณีเช่นนี้ ต้องรอนสิทธิโดยมีการจ่ายคืน ตัวอย่างเช่น มหาชนเห็นว่าถนนเส้นนี้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ควรเก็บรักษาไว้ เจ้าของที่ (เอกชน) จึงสามารถแลกสิทธิเพื่อการพัฒนาให้เป็นที่สาธารณะ โดยที่รัฐต้องจ่ายคืน

“การวางผังเมืองต้องใช้กลไกทั้งผังเมืองรวมและผังเมืองเฉพาะ ซึ่งในโลกที่เขาทำกันก็ใช้ผังเมืองเฉพาะเพื่อเอาพื้นที่เอกชนมาใช้อย่างสาธารณะ แต่ไทยไม่มี พ.ร.บ.ผังเมืองเฉพาะสักฉบับเลย ซึ่งที่ดินส่วนใหญ่ในประเทศประชาธิปไตยเป็นของเอกชน เมื่อไม่มีผังเมืองเฉพาะในการแลกสิทธิพัฒนา เราจึงขาดแคลนพื้นที่สาธารณะ”

จากคลื่นทะเล สู่คลื่นคอนกรีต ข้อจำกัดทางพื้นที่ที่ต่างกัน

“รถติด เสียเวลา แต่ทำอะไรไม่ได้ก็ต้องทนไป ซึ่งบางทีก็เซ็งนะ ถ้าถามว่าอยากเล่นเซิร์ฟสเก็ตหรือไถสเก็ตไปตามฟุตบาธหรือทางเท้าได้เหมือนต่างประเทศไหม ก็อยากให้ดูฟุตบาธบ้านเรา คนยังเดินไม่สะดวกเลย จะมาหวังอะไรกับพวกสเก็ตบอร์ด”

เพชร โบราณินทร์ อายุ 23 ปี อาชีพนักแสดง หนึ่งในผู้เล่นเซิร์ฟสเก็ต ตอบคำถามนี้ด้วยสีหน้าที่เหนื่อยหน่ายแกมบ่น เมื่อถูกถามถึงอุปสรรคในการเดินทางไปเล่นเซิร์ฟสเก็ตแต่ละครั้ง แม้จะเลือกลานที่ใกล้บ้านที่สุด แต่ก็ยังใช้เวลาในการเดินทางราวครึ่งชั่วโมง (ในระยะทาง 11 กิโลเมตร)

ปัญหาสุดคลาสสิกคงหนีไม่พ้น รถติด ถนนเล็ก ฟุตบาธพัง หรือแม้แต่การมีสวนสาธารณะห่างไกล ทั้งยังถูกตีความไว้อย่างแคบ

“พื้นที่สาธารณะ หรือสวนสาธารณะของไทย ถูกตีความอย่างแคบมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ซึ่งไม่ค่อยมีปัญหาแบบบ้านเราว่าจะหาพื้นที่ให้กิจกรรมอย่างเซิร์ฟสเก็ตหรือสเก็ตบอร์ดที่ไหน เพราะว่าเขามีพื้นที่รองรับ แต่เรามีไม่พอ เลยเป็นปัญหาตามมาว่าแล้วเขาจะทำอย่างไร หาพื้นที่ที่ไหน” 

รศ.ดร.พนิต กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า การตีความอย่างแคบนี้ทำให้พื้นที่สาธารณะของไทยไม่ได้ถูกสร้างหรือถูกออกแบบมาอย่างหลากหลายตามความต้องการของคน ยกตัวอย่างสวนโยโยงิ โคเอน ประเทศญี่ปุ่น ที่มีการแบ่ง section ของพื้นที่โดยแบ่งตามลักษณะความต้องการการใช้พื้นที่ของประชาชน ที่ไม่ว่าจะต้องการจัดปาร์ตี้ หรือทำกิจกรรมที่อึกทึกครึกโครมอย่างการซ้อมดนตรีก็มีพื้นที่แบ่งเอาไว้ แยกส่วนชัดเจนกับโซนเงียบ โซนออกกำลังกาย สำหรับคนที่ต้องการผ่อนคลาย

ที่ว่างใต้สะพาน…สวรรค์ของเด็กสเก็ต

จากคำจำกัดความหรือการตีความอย่างแคบของคำว่าพื้นที่สาธารณะในไทย ส่งผลให้กิจกรรมอื่นๆ ที่ส่งเสียงดังหรือไม่ตรงตามคอนเซ็ปต์ ‘เงียบสงบ’ มักถูกแยกและถูกผลักออก

พวกเหล่านักเซิร์ฟสเก็ตหรือนักบอร์ดต่างๆ จึงต้องหาพื้นที่ให้ตัวเอง ลานที่กว้างอย่างใต้สะพานหรือเลียบทางด่วนจึงเป็นพื้นที่ทำเลทองของพวกเขา

“ปัญหาที่เซิร์ฟสเก็ตเจอคือ รัฐไม่ได้เตรียมพื้นที่ไว้ให้อย่างเหมาะสม ซึ่งรัฐต้องแบ่ง section เอาไว้เพื่อคนกลุ่มนี้ด้วย ถามว่าคนเหล่านี้ควรมีพื้นที่ไหม ต้องมี แต่เราละเลยเขามาตลอด การออกแบบจึงจำเป็น เพราะการออกแบบคือการสร้างความสมดุลบนความขัดแย้ง ในเมื่อขาดแคลนพื้นที่ก็ต้องออกแบบไม่ให้รบกวนพื้นที่ส่วนรวม” รศ.ดร.พนิต ให้ความเห็น

เราไม่อาจรู้ได้ว่ากระแสจะเป็นเหมือนกราฟที่พุ่งสูงแล้วดิ่งลงอย่างรวดเร็วหรือเปล่า แต่ข้อเท็จจริง ณ ตอนนี้คือ กระแสการเล่นเซิร์ฟสเก็ตช่วงการระบาดของโควิด-19 (อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยการบูมหรือแรงฮิต) ที่เกิดขึ้น ทำให้ไม่มีพื้นที่เพียงพอต่อการรองรับคนหมู่มาก อีกทั้งลานกิจกรรมที่รัฐจัดหาไว้ให้ก็ไม่อาจตอบโจทย์ความต้องการของเหล่านักเซิร์ฟ

ปฏิบัติการไม่ง้อรัฐ

วรัทภพ รักษ์ศิริ (บอล) อายุ 31 ปี อาชีพนักเขียนบท นักแสดง และผู้นำเข้าเซิร์ฟสเก็ตแบรนด์ Spiceskate ที่คลุกคลีอยู่กับกีฬานี้มาประมาณหนึ่งปีกว่า เล่าให้ฟังว่า ลานหรือพื้นที่ที่รัฐให้มามักเป็นลานโล่งๆ แต่ด้วยความที่คนต้องการให้มี ramp (แท่นทางลาด) พวกเขาจึงเลือกที่จะลงขันกันเองเพื่อซื้อ ramp มาเล่น 

คำตอบนี้สะท้อนให้เห็นถึงการทำงานของภาครัฐว่าเป็นอย่างไร จึงทำให้ประชาชนต้องมาถึงจุดที่ไม่ง้อ ไม่สนใจ และเลือกที่จะพึ่งตนเองเป็นสำคัญ

“สังคมไทยคือ รัฐห่วยจนต้องชักกระไดหนี หมายความว่าคนที่เคยขึ้นรถเมล์ บอกรถเมล์ห่วย ถามว่าเขาทำอะไรได้ เขาก็เก็บเงินซื้อรถสิ คนที่ได้รถก็บอกรอดแล้ว คนที่ใช้รถเมล์อยู่ก็ถือว่าเป็นกรรมไป เก็บเงินให้ได้แล้วกัน” รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา สะท้อนถึงปัญหาที่มี

หากบริหารดี พื้นที่สาธารณะจะเป็น ‘สาธารณะ’ 

“ณ วันนี้ชอบลานสเก็ตของเอกชน เพราะมีอุปกรณ์ มีสนาม มี ramp และ wave ramp พร้อม แต่ว่าพื้นที่ของ กทม. มันเป็นพื้นเรียบ แถมพอหมดเวลาเขาก็ดับไฟ ความมืดมา อุบัติเหตุมันก็เกิด ความปลอดภัยก็มีน้อย” บอล พูดในฐานะผู้เล่นเซิร์ฟสเก็ต

นี่เป็นหนึ่งในการแสดงความเห็นต่อการจัดการพื้นที่ของภาครัฐ และอาจเป็นคำตอบของคนส่วนหนึ่งที่เลือกใช้พื้นที่สาธารณะของภาคเอกชนมากกว่า 

เพราะภาครัฐไม่ได้เห็นถึงความต้องการของผู้ใช้พื้นที่อย่างแท้จริง จึงเกิดคำว่า ‘แค่มี’ ขึ้นตามคำพูดของ รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา 

“รัฐไทยมักคิดว่าการบริการของรัฐคือ แค่มี ทำให้ไม่คิดว่าต้องปรับตามคุณภาพชีวิตของประชาชน ตัวอย่างเช่น ‘ฟิตเนส’ กิจการฟิตเนสที่รุ่งเรืองทุกวันนี้เพราะพื้นที่สาธารณะของรัฐมันห่วย ถ้ามันดี ฟิตเนสจะไม่เกิดขึ้นมากขนาดนี้ ซึ่งถ้าของรัฐมีและดี ก็ไม่มีใครอยากไปใช้พื้นที่เอกชนเพื่อจ่ายแพงๆ อยู่แล้ว”

รศ.ดร.พนิต ขยายความต่อว่า การที่รัฐไม่คิดว่าควรทำอย่างไรให้ประชาชนสามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้ เพียงแต่บอกให้ทุกคนต้องทำเงินให้มากขึ้น เพื่อมาซื้อบริการต่างๆ ด้วยตัวเอง แน่นอนว่ามีคนที่ซื้อ หรือจ่ายไม่ไหวด้วยปัจจัยและโอกาสต่างๆ ที่ไม่เท่ากัน การที่รัฐเพิกเฉยละเลยเช่นนี้ยิ่งทำให้เกิดช่องว่างทางสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ 

“พื้นฐานโครงสร้างของที่สาธารณะคือ ไม่ว่าจะยากดีมีจน ทุกคนต้องได้ใช้เท่ากัน ถ้ามีพื้นที่สาธารณะที่ดี ที่ทุกคนถอดหมวกจากที่ทำงานออก คุณจะเห็นว่ามีคนจนกำลังเรียกร้องค่าแรงให้เพิ่มขึ้น หรือคนจนก็จะเจอคนรวยเดินหงอยๆ หรือคุยเรื่องงานตลอดเวลา พวกเขาจะเจอกันในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจคนคนหนึ่งในฐานะมนุษย์ปกติ มากกว่าที่เราจะจินตนาการว่าเขาเป็นอย่างไร ซึ่งเราไม่ค่อยมีพื้นที่แบบนี้ มันจึงเป็นสงครามระหว่างชนชั้นที่สร้างภาพขึ้นมาเองทั้งนั้น”

ถ้า ‘แค่มี’ แล้วภาษีที่จ่ายไปคุ้มค่าไหม

“ประเทศเราไม่เคยพัฒนาคุณภาพของพื้นที่สาธารณะ ถามว่าทำไมประเทศอื่นแทบไม่มีโรงพยาบาลเอกชน และมีสวัสดิการสังคมที่ดีมาก ผมเคยอยู่ประเทศเยอรมนีมาก่อน ภาษีทุกคนจ่ายตามฐานรายได้ จ่ายตามอัตราของรายได้และจ่ายทุกปี คนเลือกเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งถามว่าทำไมคนถึงยอม ก็เพราะโรงพยาบาลรัฐเขามีคุณภาพ” รศ.ดร.พนิต กล่าวก่อนจะพูดถึงเรื่องภาษีที่มีผลต่อการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ

ประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการอย่างยุโรป เมื่อประชาชนป่วยสามารถเข้าโรงพยาบาลรัฐได้โดยไม่ต้องลังเล รัฐสวัสดิการของประเทศเหล่านี้จึงมีสัดส่วนการเก็บภาษีไม่น้อยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ แต่ไทยมีเพียง 17 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น จึงแปลได้ว่าคนที่ถูกเก็บภาษีในไทยมีน้อย และเพื่อให้สามารถเป็นรัฐสวัสดิการได้ พวกเขาต้องเสียภาษีเพิ่มหรือไม่ รศ.ดร.พนิต ตั้งคำถาม 

“ไทยไม่ใช่ประเทศที่เสียภาษีน้อย หากแต่เป็นประเทศที่ฐานคนเสียภาษีมีน้อย”

หนึ่งในประโยคของ รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา ที่เป็นชนวนให้เกิดข้อสงสัยและอดถามกลับไม่ได้ว่าแล้ว VAT 7 เปอร์เซ็นต์ หรือภาษีมูลค่าเพิ่มที่คนทั้งประเทศมีส่วนในการจ่ายอยู่จุดไหนของการพัฒนาพื้นที่ 

รศ.ดร.พนิต ให้คำตอบว่า ภาษีแต่ละหมวดมีวัตถุประสงค์การใช้งานของมัน หลักการของภาษีคือ เป็นการลงโทษอันเกิดจากการใช้ทรัพยากร เพราะฉะนั้นภาษีมูลค่าเพิ่มถูกใช้ในหมวดที่เกี่ยวข้องกับมูลค่าเพิ่ม ภาษีที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาพื้นที่ หรือภาษีบำรุงท้องที่ เป็นภาษีที่มีคนจ่ายน้อยมาก ซึ่งมันมาจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 

ต้องยอมรับหรือมีทางแก้

คำถามคือในสภาพที่โครงสร้างผังเมืองไทยยังย่ำอยู่กับที่ จำนวนคนที่จ่ายภาษีเพื่อพัฒนาพื้นที่ก็มีน้อย พื้นที่สาธารณะที่ไม่มี หรือมีแต่ก็ ‘แค่มี’ แล้วเราจะมีทางแก้ไขปัญหาเหล่านี้หรือ

รศ.ดร.พนิต ภูจินดา ยืนยันว่า “มี” 

“ทางออกและการแก้ปัญหาพื้นฐานโครงสร้างนี้ การพัฒนาต่างๆ รัฐต้องเป็นตัวอย่าง ถ้าบอกว่าภาคเอกชนต้องเสียนู่นเสียนี่ โดยรัฐไม่เสียเลย มันเป็นไปไม่ได้ รัฐต้องเป็นตัวอย่างในการพัฒนา ตัวอย่างเช่น จังหวัดพัทลุง มีการนำพื้นที่ราชการมาตีเส้นที่ลานจอดรถ ให้เป็นสนามบาสฯ ตะกร้อ ประชาชนก็มาใช้งานได้ แต่โมเดลนี้กลับไม่ถูกใช้ในมหานคร ซึ่งเป็นเรื่องแปลกทั้งๆ ที่ กทม. ขาดแคลนพื้นที่เสียด้วยซ้ำ”

ดังนั้นหากรัฐไม่เริ่มแล้วบอกให้เอกชนทำ เอกชนก็มองเห็นแล้วว่า ขนาดพื้นที่ของรัฐเองยังล้อมรั้ว เป็นเช่นนี้ใครจะยอม 

ปัญหาเรื่องการจัดสรรให้มีพื้นที่สาธารณะหลักการแล้วจึงต้องเริ่มที่รัฐ

Author

ธัญชนก สินอนันต์จินดา
นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ WAY สนใจปรัชญา สิ่งแวดล้อม สังคมและการเมือง เชื่อมั่นในสมการที่ว่า ประสบการณ์เกิดจากการทดลองและเรียนรู้สิ่งใหม่

Photographer

ณัฐชานันท์ กล้าหาญ
ศิลปศาสตรบัณฑิต และมนุษย์ฟรีแลนซ์ที่สนุกและใส่ใจกับทุกงาน ไล่ตั้งแต่งานเขียน ถ่ายรูป สัมภาษณ์ แปลงาน ล่าม ไปจนถึงครูสอนพิเศษเด็กชั้นประถม ของสะสมที่ชอบมากๆ คือถุงเท้าและผ้าลายดอก เขียนเรื่องเหนือจริงด้วยความรู้สึกจริงๆ ออกเป็นหนังสือ 'Sad at first sight' ซึ่งขายหมดแล้ว ผลงานล่าสุดคือ I Eat You Up Inside My Head รับประทานสารตกค้างในกลีบดอกปอกเปิก

Photographer

รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา
รชนีกรถ่อมตัวว่ามีความอยากเพียงอย่างเดียว คืออยากเป็นนักสื่อสารที่ดี จึงเลือกเรียนวารสารศาสตร์ มาเริ่มงานที่กองบรรณาธิการ WAY ตั้งแต่เพิ่งจบใหม่หมาด - แบบยังไม่ทันรับปริญญา นอกจากทำงานหน้าจอและกดคีย์บอร์ด รชนีกรกล้าทำสิ่งที่ไม่มีใครในกองบรรณาธิการใคร่ทำนัก คือตัดเล็บแมว

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า