[Systembolaget การบริหารความเมาแบบสวีเดน] ตอนที่ 1: ความเมาแบบรัฐสวัสดิการในสวีเดน เมื่อรัฐผูกขาดการจัดจำหน่ายเอง

ซัมเมอร์ปี 2016 ผู้เขียนเดินทางไปยังประเทศในฝันของคนไทยหลายคน ในแถบประเทศกลุ่มนอร์ดิก (Nordic countries) ประเทศนี้คนไทยรู้จักกันดี เพราะโด่งดังเรื่องเฟอร์นิเจอร์ พลังงานสะอาด การพัฒนาที่ยั่งยืน รัฐสวัสดิการ และความเท่าเทียมทางเพศ นั่นคือ ‘สวีเดน’

ภายหลังจากใช้เวลาเดินทางกว่าครึ่งคืน เครื่องบินลงจอดยังสนามบินโคเปนเฮเกน กรุงโคเปนเฮเกน (เคอเปินเฮาน์: København) ประเทศเดนมาร์ก ก่อนเดินทางต่อด้วยรถไฟข้ามสะพานเอิสเตอร์ชุนด์ (Östersund) ไปยังมณฑลสกัวเนอ (Skåne) หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อ สแกนเนีย (Scania) ตามชื่อยี่ห้อของรถบัสที่เป็นการถอดศัพท์ในภาษาอังกฤษ ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของสวีเดน เพื่อไปศึกษาต่อและใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น 1 ปีครึ่ง เมื่อถึงที่พักสิ่งแรกที่ผู้เขียนมักทำเมื่อเดินทางไปที่ใหม่ๆ นอกจากการจัดแจงข้าวของแล้วคือ การสำรวจอาณาบริเวณโดยรอบที่อยู่อาศัย หาซูเปอร์มาร์เก็ต สำรวจอาคารและสถานที่ต่างๆ และหาสายรถประจำทาง

ความเหนื่อยล้าจากการจัดแจงข้าวของ และความโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงาในวันแรกในสวีเดน การหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็คงจะช่วยฮีลใจได้บ้าง เพื่อความผ่อนคลายกระษัยเส้น กับบรรยากาศพระอาทิตย์ยามหัวคํ่าที่ยังส่องสว่างไม่ลาลับไปกับขอบฟ้า จึงเป็นเวลาอันดีที่จะถือโอกาสไปเดินหาอาหารและเครื่องดื่มเย็นๆ มารับประทานสักหน่อย ด้วยวิธีคิดแบบคนไทยที่มองว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สามารถหาซื้อที่ไหนก็ได้ อย่างซูเปอร์มาเก็ต ร้านชำ หรือร้านสะดวกซื้อ

ซูเปอร์มาร์เก็ตอยู่ห่างจากหอพักนักศึกษาไม่ไกล เมื่อเดินเข้าไปก็พบว่ามีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเฉพาะ ‘เบียร์’ ตั้งวางให้เลือกสรรหลากหลายยี่ห้อ ที่สำคัญราคานั้นถูกกว่าประเทศไทยอยู่มาก หลังจากครุ่นคิดอยู่นาน เพราะเป็นการดื่มครั้งแรกในสวีเดน ไม่รู้ว่าจะดื่มยี่ห้อไหน แต่อาจจะรู้จักบางยี่ห้อที่มีฉลากเขียวๆ จากประเทศบนกล่องคุกกี้ใกล้สวีเดน จึงได้ทำการสุ่มออกมา 2 ยี่ห้อ ยี่ห้อละ 1 กระป๋อง

ในระหว่างที่เดินเลือกซื้อสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ต ก็พลางคิดในใจว่าทำไมไม่มีสุราหรือไวน์ขายแม้แต่ขวดเดียว เหมือนกับที่เราหาได้ตามซูเปอร์มาร์เก็ตในประเทศไทย เพราะโดยส่วนตัวแล้วผู้เขียนเองถนัดเหล้ามากกว่าเบียร์ ยังไงก็ต้องหาเหล้ามาลิ้มลองสักครั้ง 

เมื่อกลับมาถึงหอพักนักศึกษา ผู้เขียนได้ลองชิมเบียร์ที่ซื้อมาว่ามีรสชาติอย่างไร แน่นอนว่ารสชาติแตกต่างไปจากในประเทศไทย แต่ที่น่าสังเกตคือ เบียร์เหล่านี้มีแอลกอฮอล์ประมาณ 2.8-3.5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น น้อยกว่าในประเทศไทย 2-3 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว แม้จะไม่ได้แช่เย็น แต่พอได้จิบแล้วมันก็ช่วยพาให้หายเหนื่อยไปได้บ้าง ท่ามกลางบรรยากาศช่วงซัมเมอร์ที่พระอาทิตย์ยังคงสว่างไสวอยู่แม้จะเป็นช่วงเวลาหัวคํ่าแล้วก็ตาม

ชิลๆ กับเบียร์กระป๋องแรกในสวีเดน ยี่ห้ออะไรนั้นเปิดเผยไม่ได้ เพราะเข้าข่ายผิดกฎหมายไทย เป็นการดื่มด่ำพร้อมบรรยากาศช่วงหัวคํ่าของหน้าร้อนที่ยังสว่างจ้า กับความเบาบางระดับ 3.5 ดีกรี ซึ่งเป็นปริมาณแอลกอฮอล์สูงสุดที่สามารถหาซื้อได้ทั่วไปตามซูเปอร์มาร์เก็ต

ด้วยความอยากลองดื่มเบียร์ที่เข้มข้นกว่านี้ ผู้เขียนจึงพยายาม Google ค้นหา Liquor Store ว่าร้านขายเหล้าอยู่ที่ไหนบ้าง จนในที่สุดก็พบว่าในเมืองมีร้านขายเหล้าตั้งอยู่เพียง 2 ร้านเท่านั้น ทำให้ตอนแรกมองว่า อาจจะเป็นเพราะเมืองที่อยู่เป็นเมืองมหาวิทยาลัย เป็นเมืองขนาดเล็ก จึงไม่มีร้านรวงประเภทนี้มากมายนัก จึงคิดว่าจะเดินทางไปซื้อเครื่องดื่มเพิ่มที่ Systembolaget (ซิสเต็มโบลาเกต) ในย่านธุรกิจการค้าของเมืองที่ห่างไปราว 1 กิโลเมตร แต่เมื่อถึงช่วงเวลา 2 ทุ่มครึ่ง ก็พบว่า ร้านปิดบริการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จนตอนหลังพบว่า Systembolaget มีการจำกัดเวลาจำหน่ายตามกฎหมายที่ค่อนข้างเคร่งครัดทีเดียว

การจะซื้อเหล้าหรือไวน์ในสวีเดนต้องไปซื้อที่ Systembolaget เพียงเท่านั้น แม้ที่นั่นจะเป็น ‘สวรรค์ของนักดื่ม’ ที่แท้จริง เพราะมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เลือกซื้อหลากหลาย แม้กระทั่งเครื่องดื่มจากประเทศไทยก็มีด้วยเช่นกัน แต่ในเชิง ‘สถาบันทางสังคม’ Systembolaget ไม่ได้มีไว้เเค่ ‘ขาย’ แต่ยังรวมไปถึงการ ‘ควบคุม’ ความเมาไปพร้อมกันด้วย

Systembolaget ผู้จัดจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียว 

Systembolaget คือ ร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของรัฐบาลสวีเดน เป็นรัฐวิสาหกิจที่ได้รับอนุญาตให้มีสิทธิจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์มากกว่า 3.5 เปอร์เซ็นต์ แต่เพียงผู้เดียวภายในประเทศสวีเดน

Systembolaget มาจากการสมาสคำของคำว่า ‘systemet’ ที่แปลว่า system หรือ ระบบ กับคำว่า ‘bolaget’ ที่แปลว่า company หรือ บริษัท หรือ ‘The System Company’ ซึ่งเมื่อแปลออกมาแล้วดูเหมือนจะไม่มีความเกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากนัก แต่อาจให้ความหมายในเชิงบริษัทที่เข้ามาจัดการอย่างเป็นระบบในสินค้าประเภทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็เป็นได้ 

Systembolaget ถือเป็นหนึ่งในรูปแบบของความพยามยามของรัฐในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศกลุ่มนอร์ดิก หรือที่เรียกว่า ‘alcohol monopoly’ แปลง่ายๆ คือ ‘การผูกขาดแอลกอฮอล์’ ตามด้วยวงเล็บว่า ‘โดยรัฐ’ หาใช่ทุนใหญ่หรือเจ้าสัว ในการจัดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภท โดยในประเทศกลุ่มนอร์ดิกแทบทุกประเทศล้วนมีระบบนี้ทั้งสิ้น ยกเว้นเดนมาร์ก เช่น Vinmonopolet ของนอร์เวย์ Vínbúðin ของไอซ์แลนด์ และ Alko ของฟินแลนด์ เป็นต้น 

จุดมุ่งหมายของการสร้างรัฐวิสาหกิจประเภทนี้ เป็นความพยายามของรัฐในการเข้าควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อลดจำนวนการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศลง เพราะประเทศเหล่านี้ล้วนมีภูมิหลังทางประวัติศาสตร์การดื่มที่หนักหน่วงจนก่อให้เกิดอันตรายมาก่อน

สวีเดนเป็นประเทศแรกที่ได้สร้างระบบนี้ขึ้นมา เริ่มต้นที่เมืองฟาลุน (Falun) ในปี 1850 เพื่อป้องการดื่มหนักและการหากำไรจากการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก่อนแพร่หลายออกไปยังหลายประเทศในแถบนอร์ดิก ส่วนนอร์เวย์เป็นประเทศแรกที่ออกกฎหมายการจัดตั้ง Vinmonopolet ในปี 1922 และสวีเดนจัดตั้ง Systembolaget อย่างเป็นทางการในปี 1955 แนวคิดเช่นนี้ยังแพร่หลายไปยังประเทศอื่นๆ ทั่วโลก เช่น แคนาดา สหรัฐอเมริกา (บางมลรัฐ) อินเดีย (บางรัฐ) ไต้หวัน (ระหว่างปี 1947-2002) เป็นต้น 

Systembolaget ของสวีเดน มีพันธกิจในการลดจำนวนการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประชากรลง เพื่อป้องกันอันตรายที่เกิดจากการดื่มหนัก (harmful drink) การผูกขาดการจัดจำหน่ายโดยรัฐเช่นนี้ ไม่ใช่การผูกขาดเพื่อแสวงหากำไร แต่ต้องการลดปัญหาสุขภาพและปัญหาสังคมที่เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลง นอกจากนี้ทางร้านยังมีนโยบายภายใต้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่วางอยู่บนหลักปฏิบัติขององค์การอนามัยโลก (WHO) ด้วยการไม่สนับสนุนการโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้าซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่ม ไม่มีโปรโมชันหรือโบนัสให้กับลูกค้าแต่อย่างใด กล่าวง่ายๆ คือ การถือคติ ‘จำหน่ายอย่างรับผิดชอบ’ (responsibly selling) ในราคาที่เป็นธรรม ตามอัตราภาษีก้าวหน้าที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน 

ตัวอย่างอัตราภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสวีเดน (ข้อมูล ณ วันที่ 1 มกราคม 2024)
 ตัวอย่างการคิดอัตราภาษีเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์มากกว่า 2.8 เปอร์เซ็นต์

ทั้งนี้ Systembolaget มีสาขาทั่วประเทศ 450 แห่งเท่านั้น รวมแพลตฟอร์มออนไลน์ ทำให้ประชาชนเข้าถึงอย่างจำกัด (limited access) มากไปกว่านั้นยังมีการจำกัดเวลาให้บริการของร้านอีกด้วย คือ 

  • วันจันทร์-ศุกร์ 10.00-19.00 น. (บางแห่งปิดทำการ 18.00 น. หรือ 20.00 น. แล้วแต่สาขา)
  • วันเสาร์ 10.00-15.00 น.
  • วันอาทิตย์ งดให้บริการ 
  • ร้านอาหาร บาร์ หรือสถานบันเทิงที่ได้รับอนุญาตให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สามารถขายได้ทุกวันตั้งแต่ 11.00-01.00 น.

จากเวลาทำการดังกล่าว ผู้เขียนซึ่งเดินทางไปอาศัยใหม่ๆ ไปซื้อเก้อตลอด เพราะคิดว่าซื้อได้จนถึง 3-4 ทุ่ม ซึ่งโดยปกติแล้วเมืองจะเงียบหลัง 2 ทุ่ม 

อย่างไรก็ตาม การผูกขาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยรัฐของสวีเดนผ่านร้าน Systembolaget ไม่ได้นำมาสู่การผูกขาดการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากทั้งรัฐและเอกชนแต่อย่างใด ตัวเลือกจำนวนมากที่เป็นผลผลิตจากเอกชนสวีเดน จำพวกเบียร์คราฟต์หรือคราฟต์ไซเดอร์ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นำเข้าจากต่างประเทศ อย่างเช่นเบียร์ไทยก็มีด้วยเช่นกัน ส่วนเรื่องราคานั้นก็เป็นไปตามอัตราภาษี ยิ่งแอลกอฮอล์ตํ่าเท่าไร ราคาก็ยิ่งถูกลงมากเท่านั้น ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเงิน 30 บาทนิดๆ ก็สามารถหาเบียร์ดีๆ แถมเป็นออแกนิกได้ 1 กระป๋องแล้ว แต่สำหรับสายสุราก็คงต้องทำใจ เพราะราคานั้นแพงกว่ามาก ทำให้นักดื่มสุราอาจต้องยอมหันมาดื่มเบียร์แทน

อ้างอิง
สนับสนุนโดย

Author

ณัฏฐชัย ตันติราพันธ์
อดีตผู้สื่อข่าวต่างประเทศ อดีต น.ศ. ป.โท ในประเทศอีเกียที่เรียนไม่จบ ผู้มีความหมกมุ่นหลายอย่าง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า