ธาดา วารีช กับ นมในอนาคต

Tada lead

เรื่อง : อภิรดา มีเดช
ภาพ : ธาดา วารีช

ช่างภาพของเราเรียกการออกไปถ่ายแบบบิกินีร้อนๆ ในช่วงซัมเมอร์ว่า “ไปถ่ายนม” หรือถ้าไปถ่ายที่ทะเล เขาก็เรียก “ทะเลนม”

ใช่แล้ว ในหน้าร้อนนิตยสารหลายๆ เล่มก็ต้องเลือกเอาสาวเซ็กซี่ขึ้นปก ไม่รู้ว่าหวังใช้เป็นจุดขายกันจริงจังหรือไม่ แต่นี่ก็ช่วยยืนยันว่า ‘นม’ อยู่รอบๆ ตัวเรา

เมื่อรูปเซ็กซี่และบิกินีตัวน้อยอยู่เกลื่อนแผง ไม่เพียงเท่านั้น นมหลากขนาด และความ ‘เปิดเผย’ หลายระดับยังถูกใช้เป็นสิ่งล่อตาบนโฆษณาตั้งแต่กรอบเล็กๆ ในนิตยสาร จนถึงขนาดมหึมาบนบิลบอร์ด

แต่ความเซ็กซี่ที่บางครั้งก็เปิดจนแทบเปลือยอยู่รอบตัวเราเต็มไปหมด แม้ไม่ถึงกับชาชิน แต่ก็ชวนสงสัยเหลือเกินว่า ทำไมความวาบหวิวเหล่านี้ดูน่าตื่นเต้นน้อยลง ราวกับว่ารูปแบบการถ่าย ‘นม’ มาสุดทางแล้ว หรืองานภาพถ่ายเซ็กซี่กำลังจะถึงจุดอิ่มตัว

เมื่อเวลาผ่านไป ช่างภาพคนนั้นของเราจะ ‘ไปถ่ายนม’ ให้เซ็กซี่แบบไหน

ต่อคำถามที่ว่า จอร์จ-ธาดา วารีช ช่างภาพอิสระที่ชื่อของเขาแทบจะผูกติดอยู่กับผลงานถ่ายภาพแนวเซ็กซี่มาตลอด บอกว่า ความเซ็กซี่ไม่ได้ถูกยึดโยงกับการเปลื้องผ้า และ ‘นม’ เสมอไป

นิ่ง…แต่วูบไหว

งานถ่ายภาพที่เสื้อผ้าไม่เกี่ยว เป็นความสามารถเฉพาะตัวของธาดาที่น่าทึ่ง ไม่ว่านางแบบจะมีอาภรณ์ติดกายหรือไม่ ไม่สำคัญ เพราะพ่อมดภาพนิ่งผู้นี้ สามารถดึงเอาอากัปกิริยา สีหน้า แววตา ในวินาทีนั้นของพวกเธอลงไปในภาพได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง และนี่เอง ทำให้คนที่ได้ดูภาพรู้สึกถึงชีวิตและเลือดเนื้อ ที่สบสายตากลับมาด้วยความรู้สึกบางอย่าง

“งานผมมันมีปัญหา เพราะต่อให้ใส่เสื้อผ้ามันก็ยังดูเซ็กซี่อยู่ดี”

แม้เราจะพยายามรีดเค้นเคล็ดลับจากเขาอย่างไร ดูเหมือนยิ่งทำให้เราห่างไกลจากมันเท่านั้น

ต้องมี ‘ท่าบังคับ’ สิน่ะ? เราเชื่อว่า บางคนเมื่อได้ท่าที่ใช่ ความเซ็กซี่ที่ระอุอยู่ข้างในก็จะเอ่อล้นออกมา

“ไม่มีหรอกท่าบังคับน่ะ ผมใช้การสังเกตมากกว่า คนเป็นช่างภาพมันต้องรู้จักสังเกตสิ่งที่เราต้องถ่าย เพราะแต่ละคนก็มีคาแรคเตอร์ไม่เหมือนกัน ผมว่ามันยาก แต่ก็น่าศึกษา และน่าสนใจในเคสแบบนี้ อย่างในงานแต่ละวัน ผมก็ได้เจอคนที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งมันก็ใช้สูตรตายตัวไม่ได้เลยว่าจะใช้วิธีไหนกับคนนี้

“เพราะมันไม่มีหลักสูตรตายตัว ก็เลยบอกไม่ได้ว่าทำยังไง บอกได้แค่ว่า ผมใช้วิธีสังเกต แล้วก็หามันให้เจอ”

เสียงชัตเตอร์ลั่นนับครั้งไม่ถ้วนจากประสบการณ์ตรงนับสิบปี ถึงจะให้ผลอย่างที่ธาดาสามารถเล่าให้เราฟังอย่างสบายๆ – ใช้ใจสังเกตความเซ็กซี่?

“ผมจะสังเกตรายละเอียดเล็กๆ อย่างท่าทาง เวลาเขาพูด เขามอง การกะพริบตา หรือแม้แต่น้ำเสียง ซึ่งทำให้เราเริ่มมองเห็นคาแรคเตอร์ของเขา”

โอ้…ไม่ใช่ละเอียดธรรมดา เรียกว่า ใส่ใจใน (โคตร) รายละเอียดจึงจะถูก

“มันไม่ใช่การทำหน้าตาหรือท่าทางยั่วยวนหรอก คือผมพยายามถ่ายภาพนิ่งให้มันไม่นิ่งมาก คือให้มันมีความรู้สึกในเนื้องาน ให้มันมีแววตา หรือมีท่าทางเกิดขึ้น แล้วมันจะเล่าเรื่องต่อ ทำให้คนดูสามารถจินตนาการตามได้”

อย่างบางภาพที่มือและท่าทางของนางแบบกำลังทำอะไรอยู่สักอย่าง คนที่ดูก็จะเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองขึ้นมา แต่นอกจากเขาจะไม่ยอมเฉลยแล้ว ยังเว้น ‘ช่องว่าง’ ไว้ให้คนดูตอบเองอีกต่างหาก

“ไม่อยากใช้คำว่าเซ็กซี่ด้วยซ้ำ เพราะว่ามันไม่ใช่เสมอไป” เขาย้ำ

ล้ำไปกว่านิยาม ‘เซ็กซี่’ นี่แหละลักษณะภาพที่เห็นแล้วรู้ได้ทันทีว่าเป็นฝีมือ ธาดา วารีช แน่ๆ ซึ่งเราก็จนใจ เพราะ ณ วันนี้ ยังไม่มีศัพท์ที่จะบัญญัติแทนคำว่า ‘เซ็กซี่’ ได้

โป๊คาบเส้น

เส้นแบ่งระหว่างรูป โป๊-ไม่โป๊ อยู่ตรงไหน ช่างภาพย่อมรู้ดีที่สุด แต่ความเข้าใจเดิมๆ ของเราคิดว่าเมื่อมีเส้นแบ่ง ช่างภาพก็ศิลปินนี่นา เขาน่าจะต้องต่อสู้และพยายามทำงานล้ำเส้นอยู่บ้าง

“ก็ไม่ได้ต่อสู้นะ ผมว่าผมอยู่ตรงนั้นเลยมากกว่า แต่อยู่อย่างระมัดระวัง และมีความรับผิดชอบกับงาน”

เหมือนนักกายกรรมไต่ลวด ไม่ร่วงหล่น เขาคือศิลปินผู้แสดงศิลปะบนเส้นบางๆ ที่น่าหวาดเสียว

10 กว่าปีมานี้ ธาดากลับมาจากนิวยอร์กเพื่อสร้างผลงานในเมืองไทย เส้นแบ่งความโป๊ของที่นั่นกับที่นี่ในความรับรู้ของเขาก็ต่างกัน

“อย่างเวลาเดียวกัน แต่คนละสถานที่ เช่น ตอนผมอยู่อเมริกา ระดับเส้นก็เป็นแบบหนึ่ง เพราะมันมีเรื่องวัฒนธรรมเข้ามาเกี่ยว แต่ตอนนี้อยู่เมืองไทย เส้นมันก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง จะมีเรื่องของความเชื่อหรือวิธีคิดของคนไทยอยู่ด้วย ซึ่งเราก็ต้องเคารพตรงนั้น”

นอกจากเส้นหลักที่สังคมขีดให้ เขาคิดว่าตัวเองถูกจำกัดอิสระในการสร้างงานจนต้องสร้างเส้นส่วนตัวขึ้นมาคู่ขนานหรือเปล่า

“ผมให้สถานที่ที่อยู่แบ่งให้ ผมเป็นแค่คนตัวเล็กๆ คนนึง คงไม่สามารถสร้างเส้นอะไรได้ เปรี้ยวมากก็เข้าคุกเท่านั้นเอง”

คำว่า ‘โป๊’ อาจจะปกติกับบางคน ทว่าฟังแล้วระคายหูสำหรับเขา เพราะอย่างน้อยขาข้างหนึ่งของผู้ผลิตต้องย่ำลงไปที่คำว่า ‘อนาจาร’ ไม่มากก็น้อย

“เวลาพูดว่า ‘ภาพโป๊’ มันจะรู้สึกไปในทางตลาดล่างนิดนึง คือภาพที่คนสร้างงาน สร้างขึ้นเพื่อกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ”

แต่ถึงอย่างไร ไม่ว่ามันจะเป็นรอยต่อของนรกหรือสวรรค์ แต่ถ้าที่นั่นมี ธาดา วารีช (และนางแบบสาวสุดเซ็กซี่) รับรองว่ามันคือที่ที่ชายไทยทุกคนปรารถนาจะตามไปอยู่ด้วย…แม้ต้องไต่ลวดไปด้วยก็ตาม

โป๊ฝังหัว

เป็นเหมือนกันไหม เวลาเห็นฝรั่งนุ่งบิกินี เรานิ่งๆ เฉยๆ แต่ถ้าเห็นคนไทยนุ่งชุดเดียวกันเลย กลับรู้สึกว่า “ว้าย” หรือ “เออ โป๊ว่ะ” ทั้งที่คนเหมือนกัน เวลาโป๊ ก็น่าจะดูโป๊ไม่ต่างกันนี่

ช่างภาพระดับโปรช่วยย้ำความคิดว่า ไม่ใช่แค่เราๆ ท่านๆ หรอกที่รู้สึกอย่างนั้น

“ผมว่าคนเอเชียมีความอีโรติกในทางรูปร่างหน้าตามากกว่าทางฝรั่งนะ เวลาผมจะทำงานที่มันอาร์ต ผมจะตัดโมเดลเอเชียไปก่อนเลย เพราะความเสี่ยงที่ภาพจะออกมาอนาจารมันง่ายกว่าเยอะ ไม่ได้ง่ายกว่าเยอะ แต่มันใช่เลย”

อาจเป็นเพราะวัฒนธรรมเอเชียมักเน้นการ ‘ปิด’ มากกว่า พอ ‘เปิด’ ออกมาปุ๊บ ก็เลยทำให้คนดูตุ๊มๆ ต่อมๆ เพราะจิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว

“มันไม่ได้เกิดแค่จากภาพ แต่เกิดจากความเชื่อที่มันซึมเข้ามาเรื่อยๆ ตั้งแต่เกิด เหมือนพอมีความเชื่ออย่างนั้น งานมันก็โดนผลิตซ้ำแล้วซ้ำเล่า แบบว่าถ่ายฝรั่งก็จะดูเป็นทางอาร์ต แต่พอถ่ายคนเอเชีย มันจะไปทางเซ็กชวลเสียเยอะ”

เพราะการผลิตและเสพซ้ำๆ นี่แหละ ทำให้การมองภาพของคนเรากลายเป็นแบบนั้นไป จนยากจะขุดรากถอนโคน หรือกดปุ่มรีสตาร์ทใหม่ได้ทัน

“แล้วไม่ใช่แค่เราดูนะ ฝรั่งเวลาดูรูปผู้หญิงเอเชียถอดเสื้อผ้า เทียบกับผู้หญิงฝรั่ง เขาก็ดูว่าเอเชียโป๊กว่า มันไม่ใช่แค่คนไทยดู แต่คนทั้งโลกดูแล้วรู้สึกแบบนี้จริงๆ” ธาดายกตัวอย่างรูปของบางสิ่งที่มีลักษณะฝังหัวจนเป็นภาพจำของคนทั่วๆ ไปให้ฟัง

“ดูอย่างการถ่ายรูปเลือด รูปปืน หรืออาวุธสงคราม ถึงเราจะถ่ายมันออกมาให้ดูสวยได้หลายแบบมาก แต่ถ้าลองให้คนมาดู ส่วนใหญ่เขาก็จะรู้สึกสยดสยอง เพราะมันมีความเชื่อบางอย่างติดอยู่ในหัวไปแล้ว

“หรืออย่างผมจะถ่ายนางแบบโป๊ดังๆ ของไทยสักคน คือยังไม่ทันถ่ายเลยนะ แต่คนดูมันต้องคิดไปแล้ว ต่อให้เขายังไม่เห็นภาพที่ผมถ่ายเลยด้วยซ้ำ ผมอาจจะถ่ายออกมาโคตรอาร์ตเลย แต่มันไม่ทันแล้วไง คนมันคิดนำไปแล้วว่าผมถ่ายดาวโป๊ คนก็ต้องมองว่ามันออกไปในทางนั้นอยู่แล้ว”

นั่นคือพลังของจินตนาการ ที่มักทำงานไปก่อนล่วงหน้าเสมอ

02

หรือโป๊ของเราไม่เท่ากัน?

ผลงานภาพถ่ายที่ออกมา ถ้าไม่ดูเซ็กซี่ คงไม่ใช่ ธาดา วารีช และนั่นทำให้ได้เขาร่วมงานกับนิตยสารชื่อดังหลายเล่ม ซึ่งมีดีกรีความเซ็กซี่แตกต่างกัน

แต่ก่อนเขาเล่าว่าเคยสับสนอยู่บ้างในการแยกความเซ็กซี่ แต่เดี๋ยวนี้ เขาปรับระดับความเซ็กซี่ทุกงานได้อย่างลงตัวด้วยการแยกคอนเซ็ปต์ของแต่ละเล่มให้ชัดเป็นอันดับแรก เมื่อชัดแล้วถึงค่อยลงมือทำอย่างอื่นต่อ

แล้วมืออาชีพอย่างเขา จำเป็นไหมที่จะต้อง ‘รู้สึก’ หรือมีอารมณ์ร่วมในการสร้างผลงานแต่ละชิ้น

“ผมว่าผมเลยจุดนั้นมาแล้ว” เขาตอบจริงจัง

“เวลาจะให้มันเกิดความเซ็กซี่จากภาพ จะเอาบรรทัดฐานของคนดูเป็นเกณฑ์ ไม่ใช่บรรทัดฐานของตัวเอง ฉะนั้น เราต้องทำความเข้าใจกับบรรทัดฐานของคนดูภาพโดยส่วนใหญ่ก่อน ว่าคนกลุ่มไหนที่ดูงานเรา เขามีมาตรฐานอยู่ประมาณไหน แล้วเราจะสร้างภาพให้มันดูประมาณไหน พอดีเส้นเขา สูงหรือต่ำกว่าเส้นเขา”

นอกจากภาพแนวเซ็กซี่ ธาดายังทำงานภาพอีกหลากหลายด้าน ซึ่งเขาไม่เคยป่าวประกาศผ่านสื่อ แต่พอทำงานเซ็กซี่ทีไร หนังสือพิมพ์หัวสีไม่เคยพลาดที่จะขึ้นหน้าหนึ่งให้ เลยกลายเป็นป้ายติดตัวเขาไปแล้วว่า เขาคือช่างภาพแนวเซ็กซี่

“ผมก็ถ่ายงานทุกประเภท หลายคนที่รู้จักกัน สนิทกันจะรู้ แต่สังคมโดยรวมจะจับจ้องแต่งานประเภทเดียวของผม ถ้าจะให้พูดตรงๆ ก็คือ ชายไทยบ้ากาม” ไม่รอให้เราถาม เขาทิ้งคำตอบในหัวออกมา

“จะให้บอกเหตุผล มันก็ยากนะ เพราะมันมีหลายเหตุผล อย่างเมืองไทยเป็นเมืองที่อ่างเยอะที่สุดในโลก แต่มันก็คงไม่ใช่แค่เรื่องนี้เรื่องเดียวหรอก ยังมีอีกหลายเรื่อง อาจจะเป็นเรื่องกฎหมายที่เข้มงวดเกินไป ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุหรือเปล่า อันนี้ก็ไม่แน่ใจ แต่มันคงมีเหตุผลของมันอยู่

“กลายเป็นว่า กฎหมายฝรั่งเขาเข้มงวดน้อยกว่า แต่เขาก็มีอ่างน้อยกว่าเรานะ”

นมล้นตลาด

ทุกวันนี้ สื่อหรือโฆษณาเกือบทุกอย่างต้องนำสายตาคนดูด้วย ‘นม’ หรือความเซ็กซี่เย้ายวนของพรีเซนเตอร์ แม้สินค้านั้นๆ จะไม่เกี่ยวข้องกับนมเลยก็ตาม อย่างการโฆษณาคอนโดมิเนียม ในฐานะช่างภาพ ธาดาบอกเราว่า เรื่องนี้เขาไม่สงสัยเลย เพราะรู้อยู่แล้วว่ามันเป็นเจตนารมณ์ของเจ้าของสินค้านั้นๆ ที่เข้าใจว่า สื่อเซ็กชวลสามารถดึงดูดความสนใจได้แน่เสียยิ่งกว่าแน่

“ดูนมก่อนแล้วค่อยดูคอนโด อย่างน้อยมันก็สำเร็จเรื่องการหยุดดูนะ” เขาพูดกลั้วหัวเราะ

แบบนี้มันเหมือนเราเข้าสู่ภาวะ ‘นมล้นตลาด’ แล้วหรือเปล่า?

“ผมเฉยๆ ไปแล้ว จริงๆ ใครทำไม่ดี มันก็เสียที่เขาเอง ใครทำดีก็ดีกับเขาเอง ถ้ามันออกมาดี เจ้าของคอนโดก็รับหน้าไป แต่ถ้าออกมาอุจาด เจ้าของก็ซวยไป” ธาดาตอบไปตามเนื้อผ้า แต่ไม่วายหยอดเล็กๆ

“แต่มันสะท้อนให้เห็นนะว่า สังคมคิดอะไรกันอยู่ และบางทีเห็นเยอะๆ ก็เสื่อมเหมือนกัน”

เมื่อใช้นมขายของ ก็ต้องมีคนหยุดดู แต่การหยุดสายตาไว้ที่ช่วงบนของพวกเธอขณะอยู่บนท้องถนน ทำให้สมรรถภาพในการขับขี่ยานพาหนะลดลง

เหลือบดูนมก็อาจเกิดอุบัติเหตุได้ ว่าง่ายๆ อย่างนี้เลย

การเลือกนางแบบมาพรีเซนต์สินค้าอย่างชุดชั้นใน ทำไมเราเห็นกันแต่นางแบบฝรั่งหรือไม่ก็ลูกครึ่ง ทำไมไม่เอาไซส์ไทยๆ มาใส่ให้สาวๆ ที่ซื้อไปมีแบบอย่างที่ใกล้เคียงพอจะจินตนาการว่าตัวเองใส่แล้วสวยดูบ้าง

“คุยกันแบบตรงๆ ประสาผู้ชาย เราจะเฉยๆ กับฝรั่งในงานโฆษณา แต่ถ้าเอาใครสักคนที่เป็นคนไทยมาถ่าย เรากลับรู้สึกว่ามันโป๊แล้ว” เขาท้าให้ลองเปลี่ยนมาใช้คนไทย เอาแบบเพิ่งจบมหาวิทยาลัย ไม่ต้องมีชื่อเสียงมาก่อนก็ได้

“ผมว่ามีรถชน”

สุดทางโป๊?

เมื่อการสวมเสื้อแนบเนื้อบางเบา ชุดนักศึกษารัดติ้ว หรือกางเกงในผ้ายีนส์ เป็นสิ่งที่ทุกคนเห็นกันจนชินตา หนทางใหม่ของความเซ็กซี่จะเป็นอย่างไร คนที่มีปัญหากับเรื่องนี้อันดับแรก น่าจะเป็นช่างภาพเซ็กซี่ ถ้าหมดวัตถุดิบหวิวๆ จะทำงานต่ออย่างไร

ไม่ใช่แค่เรื่องถ่ายภาพอย่างเดียวหรอกที่ไปจนสุดทาง ตอนนี้จริงๆ เกือบทุกวงการ ทั้งหนัง เพลง แฟชั่น ต่างเลยจุดสูงสุดไปแล้วทั้งนั้น

ที่ว่าสุดทาง เพราะธาดาบอกว่า “ก็มันเห็นมาจนหมดแล้ว” ซึ่งก็จริงของเขา

“ผมว่ามันสุดไปแล้วตั้งแต่ยุคมิลเลนเนียมนั่นแหละ 10 ปีให้หลังมานี้ เทคโนโลยีมันเร็วมาก แล้ว บุคลากรมันก็โตเร็วด้วย รูปโป๊ก็เหมือนกัน เพราะทุกอย่างมันไปจนสุดแล้ว มันก็เลยน่าจะกลับมาวนใช้ แต่จะวนใช้อย่างไรให้มันกลายเป็นของใหม่เท่านั้นเอง

“ดูอย่างเลดี้กาก้า โป๊พอมั้ย ถามว่าวิธีที่เขาพรีเซนต์ตัวเองใหม่ไหม มันก็คงไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เขาก็มีวิธีทำให้มันเป็นสิ่งใหม่”

งานถ่ายภาพแนวเซ็กซี่ก็คงหนีอะไรแบบนี้ไม่พ้น ซึ่งธาดามองว่าการหยิบฉวย และเลือกใช้ให้ถูกจังหวะไม่ใช่เรื่องผิด พูดง่ายๆ แนวทางใหม่ที่จะเกิดขึ้น ก็คือ การผสมผสานของใหม่และของเก่าที่มีอยู่เดิมให้เป็นสิ่งใหม่

“ผมก็บอกไม่ได้ว่า ต่อไปรูปแบบงานเซ็กซี่จะเป็นอย่างไร แต่เดี๋ยวก็ต้องมีคนค้นพบ และมันก็จะออกมาเอง

“แต่เดาว่า การเห็นน้อยลงน่าจะเป็นหนทางใหม่ด้วยซ้ำ”

‘มิดชิดก็เซ็กซี่ได้’ แทนคำตอบว่า พื้นที่ของความโป๊ในอนาคตอาจไม่ได้ถูกจำกัดแค่ในรูปถ่าย และ ‘นม’

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า