อังคณา นีละไพจิตร: ปาฐกถา 18 ปีตากใบ

18 ปีที่แล้ว เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ที่จังหวัดนราธิวาส ในปีนั้นตรงกับเดือนรอมฎอน หรือเดือนถือศีลอดของชาวมุสลิม ในวันนั้นผู้ชายหลายคนออกจากบ้านเพื่อหาซื้ออาหารเตรียมละศีลอด เด็กหนุ่มหลายคนออกไปหาซื้อเสื้อผ้าชุดใหม่ให้แม่ หรือคนรัก เพื่อใส่ในวันรายอที่จะมาถึงในอีกไม่กี่วัน แต่วันนั้นหลายคนไม่กลับบ้าน หลายคนกลับถึงบ้านในเย็นวันรุ่งขึ้น ในสภาพที่ปราศจากลมหายใจ หลายคนบาดเจ็บ พิการ นอกจากนั้นยังมีอีกหลายคนที่ผ่านมา 18 ปีแล้ว ยังไม่มีใครทราบที่อยู่และชะตากรรมของพวกเขา และพวกเขากลายเป็นบุคคลสาบสูญ และไม่มีโอกาสได้กลับบ้านอีกเลย

ตุลาคม เป็นเดือนประวัติศาสตร์ที่มีเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง (atrocity crime) เกิดขึ้น หลายต่อหลายครั้งต่างวัน เวลา สถานที่ และต่างความทรงจำ แต่มีความรู้สึกร่วมหนึ่งที่เหยื่อ ครอบครัว รวมถึงสังคมเรียกร้องมาตลอด คือความต้องการทราบความจริง การทวงคืนความยุติธรรมให้ผู้เสียหาย และการรักษาความทรงจำของเหยื่อและสังคม แม้จะเป็นความทรงจำของบาดแผลที่เจ็บปวด (traumatic memory) แต่การรักษาความทรงจำถือเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาประวัติศาสตร์ของประชาชน เพื่อไม่ให้ลืม และเพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นอีก

18 ปีผ่านไป แต่ภาพของการสลายการชุมนุมของประชาชนบริเวณหน้าสถานีตำรวจภูธร อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ยังคงติดตาของผู้คนจำนวนมาก ไม่เฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภาพของชายชาวมลายูมุสลิมที่ถูกมัดมือไพล่หลัง ถูกบังคับให้ต้องคลานไปกับพื้นดินที่ร้อนระอุ ขณะที่พวกเขากำลังอยู่ในช่วงถือศีลอด ภาพการขนย้ายประชาชนโดยให้นอนทับซ้อนกัน 4-5 ชั้น บนรถบรรทุกของทหารที่มีผ้าใบคลุมปิดทับ และมีเจ้าหน้าที่พร้อมอาวุธควบคุมอยู่ท้ายรถโดยไม่ฟังเสียงร้องคร่ำครวญของคนที่ถูกกดทับอยู่ชั้นล่างของรถ จนเสียงคร่ำครวญนั้นเงียบหายไป พร้อมกับชีวิตของคน 78 คน

ตามกระบวนการทางกฎหมาย รัฐมีหน้าที่ต้องตอบคำถามครอบครัวและสังคม ถึงสาเหตุการเสียชีวิตภายใต้การควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยกฎหมายจะกำหนดให้ศาลเข้ามามีบทบาทในการไต่สวนเพื่อค้นหาความจริงและตอบคำถามว่า ผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด เหตุและพฤติการณ์ที่ตาย และถ้าตายโดยถูกทำร้าย ให้ศาลกล่าวว่าใครเป็นผู้กระทำเท่าที่จะทราบได้ (มาตรา 150 วรรค 5 ประมวลวิธีพิจารณาความอาญา)

ซึ่งต่อมา เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2552 ศาลจังหวัดสงขลาได้อ่านคำสั่ง ในคดีหมายเลขดำที่ ช.16/2548 คดีหมายเลขแดงที่ ช.8/2552 ต่อหน้าญาติผู้เสียชีวิต โดยมีสาระสำคัญว่า “…ผู้ตายทั้งเจ็ดสิบแปดตายที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 เหตุและพฤติการณ์ที่ตายคือ ผู้ตายทั้งเจ็ดสิบแปดขาดอากาศหายใจ ในระหว่างอยู่ในควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่” ทำให้ต่อมา พนักงานสอบสวนได้ทำสำนวนส่งอัยการ โดยอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าผู้ใดทำให้เสียชีวิต และผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสในขณะนั้น มีความเห็นพ้องกับอัยการ แม้ผู้เสียหายจะอุทธรณ์และฎีกา แต่ศาลสูงได้ยกคำร้องทำให้การอำนวยความยุติธรรมจากรัฐเป็นอันถึงที่สุด

ในความรู้สึกของครอบครัวซึ่งทั้งหมดคือภรรยา หรือลูกสาวของผู้เสียชีวิต พวกเธอยังคงจดจำภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และคาดหวังว่ากระบวนการยุติธรรมจะตอบคำถามว่าใครเป็นคนที่ทำให้คนที่พวกเขารักทั้ง 78 คนเสียชีวิต ใครต้องรับผิดและรับผิดชอบ แต่กระบวนการยุติธรรมกลับไม่ได้ให้คำตอบใดๆ แก่พวกเธอ

หลายปีต่อมา ญาติผู้เสียชีวิตกลุ่มหนึ่งพยายามจะนำคดีขึ้นสู่ศาลด้วยตนเอง เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมแทนผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ แต่ด้วยความกลัวและการถูกคุกคามทำให้ชาวบ้านยุติการดำเนินการเพื่อเรียกร้องการเยียวยาด้วยความยุติธรรม ญาติผู้เสียชีวิตบางคนพูดว่า

“ถึงฟ้องไปเราก็ไม่มีทางชนะรัฐได้หรอก แต่เราอยากบอกว่า ถึงแม้เราไม่ฟ้องคดีในศาล เราก็รู้อยู่ว่าใครเป็นคนผิด ใครเป็นคนที่ต้องรับผิดชอบ เราเชื่อในพระเจ้าของเรา เราเชื่อว่าพระเจ้าเท่านั้นที่จะให้ความยุติธรรมแก่เราได้” 

“จนทุกวันนี้รัฐก็ยังมองว่าพวกเราเป็นโจร รัฐไม่เคยไว้ใจเรา ทุกปีในช่วงท้ายของเดือนรอมฎอน และในวันที่ 25 ตุลาคม เราก็ยังคงคิดถึงเหตุการณ์ตากใบ คิดถึงลูกหลานที่เสียชีวิต บาดเจ็บและสูญหาย หลายครอบครัว ยังร้องไห้ เราไม่เคยลืม เรายังจำได้ดีถึงความไม่เป็นธรรม แม้รัฐจะให้เงินเยียวยา แต่เงินไม่ได้ทำให้เราลืมเรื่องที่เกิดขึ้น”

“เหตุการณ์ตากใบ”  จึงถือเป็นโศกนาฏกรรมที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งของสังคมไทย โดยจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์คือ การที่รัฐมองว่าประชาชนที่มาชุมนุมเป็นผู้เกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย ทำให้การปฏิบัติต่อผู้ชุมนุม เป็นไปด้วยความเกลียดชัง ไม่ไว้วางใจ หวาดระแวง และไม่เคารพในสิทธิมนุษยชน และความสูญเสียของชาวตากใบก็คงไม่ต่างจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เคยเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกในประเทศนี้ที่รัฐไม่เคยสำนึกผิด ไม่เคยเสียใจ ไม่ร่วมทุกข์ ไม่เคยสร้างหลักประกันว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะไม่เกิดซ้ำอีกในอนาคต และอภิสิทธิ์การลอยนวลพ้นผิดจะไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป

ความสูญเสียที่เกิดขึ้นกรณีตากใบ จึงไม่ใช่เพียงการเสียชีวิต บาดเจ็บ พิการ และการสูญหายของประชาชนผู้บริสุทธิ์ หากถือเป็นการสูญเสียความสัมพันธ์และความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างรัฐและประชาชน แม้ต่อมารัฐบาลยิ่งลักษณ์จะให้การชดใช้เยียวยาด้วยตัวเงินแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ ผู้พิการ และผู้สูญหาย ด้วยเหตุผลที่เชื่อว่าโศกนาฏกรรมตากใบ “เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ” 

อย่างไรก็ดี การเยียวยาด้วยตัวเงินไม่ได้นำมาสู่การเยียวยาทางกฎหมาย เพื่อคืนความเป็นธรรม และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้ผู้เสียชีวิต ผู้สูญหายและครอบครัว ทำให้ผู้กระทำผิดยังคงลอยนวล ที่สำคัญ ความรู้สึกที่ไม่เคยจางหายไปจากจิตใจของประชาชน คือ “ความรู้สึกไม่เป็นธรรม” และ “ความตายที่ไร้ค่าของชาวมลายูมุสลิม” ในจังหวัดชายแดนภาคใต้

การจัดงานเพื่อรำลึกเหตุการณ์ จึงเป็นส่วนหนึ่งการรักษาความทรงจำของเหยื่อ และเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาประวัติศาสตร์ของประชาชน แม้จะเป็นประวัติศาสตร์บาดแผล แต่เราทุกคนควรร่วมกันจดจำ และแม้จะไม่สามารถแก้ไขอดีตได้ แต่การเรียนรู้อดีตจะทำให้ประชาชนสามารถป้องกันความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และไม่ยอมให้รัฐลุแก่อำนาจในการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนดังในอดีต

ปีนี้ เป็นปีที่ 18 ของโศกนาฏกรรมตากใบ และเพียงอีกสองปี การละเมิดสิทธิมนุษยชนกรณีตากใบ ก็จะสิ้นสุดในการควานหาความยุติธรรม แต่แม้อายุความตามกฎหมายอาญาของไทยกรณีตากใบจะเหลือเวลาเพียงสองปีในการต่อสู้ทางกฎหมายเพื่อนำคนผิดมาลงโทษ แต่กฎหมายระหว่างประเทศถือว่าอาชญากรรมร้ายแรง (Mass Atrocities Crime) เป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ (Crime Against Humanity) ตามปฏิญาณกรุงโรม ว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ซึ่งจะทำให้คดีไม่มีอายุความ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้อีก รัฐบาลจึงควรแสดงความจริงใจในการคุ้มครองสิทธิในชีวิตของประชาชน โดยการให้สัตยาบันปฏิญาณกรุงโรม ว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกในอนาคต

ในโอกาสครบ 18 ปีเหตุการณ์ตากใบ ดิฉันเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายต้องทบทวนระบบยุติธรรม กรณีเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง (atrocity crime) เพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะเช่นนี้อีกในอนาคต ไม่ปล่อยให้คนผิดลอยนวล และคืนความเป็นธรรมให้เหยื่อและครอบครัว

ในโอกาส 18 ปีตากใบ ดิฉันเขียนปาฐกถานี้ด้วยหัวใจที่ปวดร้าว ดิฉันยังคงมีความหวังว่าสักวัน จะเห็นครอบครัวผู้เสียชีวิตลุกขึ้นมาทวงถามความยุติธรรมจากรัฐ อยากเห็นความกล้าหาญทางจริยธรรมในการทำหน้าที่อำนวยความยุติธรรมของระบบยุติธรรมไทย อยากเห็นความกล้าหาญในการพร้อมรับผิดของผู้กระทำผิด ทั้งนี้ มิใช่เพื่อการแก้แค้น แต่เพื่อการเข้าถึงความจริงของเหยื่อ เพื่อปลดพันธนาการจากความคลุมเครือ และเพื่อยุติวัฒนธรรมการงดเว้นโทษ

ท้ายนี้ ดิฉันขอขอบคุณองค์การบริหารสโมสรนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการจัดงานรำลึกเหตุการณ์ตากใบในปีที่ 18 การจัดการรำลึกมีความหมายอย่างยิ่ง ทั้งต่อเหยื่อ ครอบครัว และสังคม เพราะจะเป็นการส่งสาส์นไปถึงบรรดาผู้มีอำนาจว่า ชาวตากใบและประชาชนทั่วไปยังคงเก็บรักษาความทรงจำที่ขมขื่น และรอคอยความยุติธรรม โดยย้ำเตือนผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายให้ตระหนักถึงคุณค่าในการเคารพศักดิ์ศรีของมนุษย์ทุกคน ซึ่งความยุติธรรมก็เป็นหนึ่งในคุณค่าและศักดิ์ศรีนั้น

อังคณา นีละไพจิตร 
25 ตุลาคม 2565

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า