ที่สุดแล้วบาดแผลทางประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ตากใบก็ยังไม่ถูกชำระ ท่ามกลางความเจ็บปวดของญาติผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต พร้อมกับความสิ้นศรัทธาต่อกระบวนการยุติธรรมไทย
เหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาส เกิดขึ้นวันที่ 25 ตุลาคม 2547 เมื่อเจ้าหน้าที่ความมั่นคงใช้ความรุนแรงเข้าปราบปราม ทั้งแก๊สน้ำตา อาวุธสงคราม และกระสุนจริง นำไปสู่การเสียชีวิตของผู้ชุมนุมถึง 85 ราย บาดเจ็บทุพพลภาพอีกจำนวนมาก และด้วยกระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้า จนกระทั่งล่วงเลยมาถึง 20 ปีเต็ม คดีจึงหมดอายุความ โดยไม่สามารถเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้
นับเป็นอีกหนึ่งโศกนาฏกรรมที่ต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ความขัดแย้ง และเป็นอีกหนึ่งสัญญาณบ่งชี้ว่าสันติภาพในจังหวัดชายแดนใต้คงไม่อาจเกิดขึ้นได้โดยง่าย
ปูมเหตุ
ชนวนเหตุของความสูญเสียครั้งใหญ่เริ่มต้นขึ้นหลังจากชาวบ้านซึ่งเป็นอาสาสมัครชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) จำนวน 6 คน เข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าถูกกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบปล้นปืนลูกซองจำนวน 6 กระบอก แต่ ชรบ. ทั้ง 6 คน กลับถูกควบคุมตัวโดยตำรวจตั้งข้อสงสัยว่ามีส่วนรู้เห็นกับคนร้าย
เมื่อประชาชนทราบข่าวจึงทยอยรวมตัวกันชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับ ชรบ. ทั้ง 6 คนที่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมตัว ประกอบกับมีชาวบ้านทั้งในและนอกพื้นที่อีกจำนวนมากมามุงดูสถานการณ์ที่หน้า สภ.ตากใบ จำนวนนับพันคน
เมื่อสถานการณ์เริ่มบานปลายเกินกว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะควบคุมได้ พลโทพิศาล วัฒนวงษ์คีรี แม่ทัพภาคที่ 4 จึงเข้าควบคุมสถานการณ์ อาศัยอำนาจตามกฎอัยการศึก ก่อนจะนำไปสู่ปฏิบัติการสลายการชุมนุม เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตระหว่างสลายการชุมนุม 7 คน จากนั้นได้ควบคุมตัวผู้ชุมนุมราว 1,370 คน บังคับให้ถอดเสื้อ มัดมือไพล่หลัง นอนคว่ำหน้า ลำเลียงขึ้นรถบรรทุกทหารจำนวน 25 คัน ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี
ผู้ชุมนุมทั้งหมดถูกเคลื่อนย้ายในสภาพนอนซ้อนทับกันหลายชั้น ใช้เวลาราว 5-6 ชั่วโมง บนระยะทางกว่า 150 กิโลเมตร ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 78 คน ผลชันสูตรระบุสาเหตุการตายว่า เกิดจากขาดอาหารและน้ำ ขาดอากาศหายใจ ถูกกดทับที่หน้าอก ไตวายเฉียบพลัน
85 ศพ 20 ปีที่เงียบงัน
- 7 คน เสียชีวิตจากปฏิบัติการสลายการชุมนุม
- 78 คน เสียชีวิตระหว่างถูกขนย้าย ในสภาพถูกมัดมือไพล่หลัง นอนซ้อนทับกันหลายชั้นรวม 85 คน
- ผลชันสูตร: ขาดอาหารและน้ำ ขาดอากาศหายใจ ถูกกดทับที่หน้าอก ไตวายเฉียบพลัน
คดีไม่กระจ่าง ความยุติธรรมไม่ปรากฏ
ปี 2549
การฟ้องคดีตากใบประกอบด้วยหลายคดีความ โดยคดีหลักๆ คือ คดีไต่สวนชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิต 7 ราย ที่หน้า สภ.ตากใบ แต่ไม่ปรากฏคำสั่งศาลในคดีนี้ พบเพียงเลขคดี ช. ของ สภ.ตากใบ ส่วนคดีอาญา พนักงานอัยการมีคำสั่งงดการสอบสวนในปี 2549 เนื่องจากไม่พบผู้กระทำความผิด
ปี 2552
อีกคดีคือการไต่สวนชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิต 78 ราย โดยศาลจังหวัดสงขลามีคำสั่งในปี 2552 ว่า “เหตุและพฤติการณ์ที่ตายคือ ผู้ตายทั้ง 78 คน ขาดอากาศหายใจในระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติตามหน้าที่” ส่วนคดีทางอาญา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำความเห็นในปี 2552 ว่า เหตุแห่งการเสียชีวิตนั้น “ไม่ได้เป็นผลแห่งการกระทำความผิดอาญา”
เมื่อคำสั่งศาลไม่สามารถระบุสาระสำคัญที่จะเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐได้ ผู้เสียหายจึงยื่นอุทธรณ์ แต่ศาลยกคำร้อง
ปี 2555
ในคดีแพ่ง ญาติผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บยื่นฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายจากรัฐ ต่อมาในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงมีการจ่ายเงินเยียวยา 641 ล้านบาท ให้แก่ครอบครัวผู้เสียหาย 987 ราย ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553
อย่างไรก็ตาม แม้รัฐจะแสดงความรับผิดชอบด้วยการจ่ายเงินชดเชยเยียวยา แต่คดีความทางอาญานั้นยังคงไม่ได้รับความกระจ่าง และจำเป็นต้องแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อหาผู้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น
ทว่า เมื่อวันเวลาผ่านไป คดียังคงเงียบงัน
25 ตุลาคม 2566
ในวันรำลึกครบรอบ 19 ปี เหตุการณ์ตากใบ ญาติผู้เสียชีวิตได้ทวงถามความคืบหน้าก่อนคดีใกล้สิ้นอายุความ มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมจึงทำหนังสือร้องเรียนไปยังคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ช่วยติดตามความคืบหน้าของคดีอาญา
13 ธันวาคม 2566
ที่ประชุม กมธ.การกฎหมายฯ พบว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจและอัยการต่างไม่ทราบว่าสำนวนคดีและความคืบหน้าล่าสุดเป็นอย่างไร กระทั่งในอีก 1 เดือนถัดมา จึงมีการชี้แจงว่ามีคำสั่งงดการสอบสวนและยุติการดำเนินคดีไปตั้งแต่ปี 2552
25 มกราคม 2567
ตำรวจภูธรภาค 9 มีคำสั่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อฟื้นคดีและทำสำนวนขึ้นมาใหม่ พร้อมให้ความเห็นสั่งไม่ฟ้องจำเลย 8 คน ได้แก่ พลเอกเฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร อดีตผู้บัญชาการ พล.ร.5 เป็นจำเลยที่ 1 และอีก 7 คน เป็นพลขับ ก่อนส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2567
25 เมษายน 2567
วันเดียวกันกับที่ตำรวจส่งสำนวนให้อัยการ ครอบครัวและญาติผู้เสียหาย 48 ราย ร่วมกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม และศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์จังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาทนายความ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีอาญาเพื่อเอาผิดต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเป็นอดีตราชการระดับสูงจำนวน 9 คน เนื่องจากไม่มั่นใจว่าการฟื้นคดีของตำรวจและอัยการจะเสร็จสิ้นก่อนหมดอายุความหรือไม่
23 สิงหาคม 2567
ศาลจังหวัดนราธิวาสมีคำสั่งประทับรับฟ้องคดีอาญาที่ญาติผู้เสียชีวิตเป็นโจทย์ยื่นฟ้อง ในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่น ร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น และร่วมกันกักขังหน่วงเหนี่ยว โดยศาลรับฟ้องจำเลย 7 คน จากทั้งหมด 9 คน เนื่องจากเห็นว่า จำเลยที่ 2 (พลโทสินชัย นุตสถิตย์ อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4) และจำเลยที่ 7 (พันตำรวจเอกภักดี ปรีชาชน อดีตรองผู้กำกับ สภ.ตากใบ) คำฟ้องไม่ครบองค์ ทำให้ทั้ง 2 คน หลุดจากคดี
12 กันยายน 2567
หลังจากสำนักงานอัยการสูงสุดได้รับสำนวนคดีจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2567 อัยการสูงสุดจึงมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหา 8 คนที่เป็นผู้ควบคุมรถและพลขับ ในสำนวนคดีวิสามัญฆาตกรรม ข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ซึ่งคดีนี้จำเลยส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ระดับล่าง และไม่มีจำเลยคนใดมาปรากฏตัวต่อศาล
“จากการไต่สวน แม้ผู้ต้องหาทั้ง 8 จะไม่ประสงค์ต่อผลที่จะให้ผู้ตายถึงแก่ความตายก็ตาม แต่การจัดหารถเพียงจำนวน 25 คัน ในการบรรทุกผู้ชุมนุมประมาณพันกว่าคน อันเป็นการบรรทุกที่แออัดเกินกว่าจะเป็นวิธีการบรรทุกคนที่เหมาะสม …เป็นเหตุให้ผู้ตายทั้ง 78 คน ขาดอากาศหายใจในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่” คำสั่งฟ้องของอัยการสูงสุด
15 ตุลาคม 2567
ศาลจังหวัดนราธิวาสนัดสอบคำให้การจำเลยทั้ง 7 คน ตามคำร้องของญาติผู้เสียหาย โดยศาลเห็นว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะดำเนินคดี และได้ออกหมายจับตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน 2567 แต่จำเลยทั้ง 7 ไม่มาปรากฏตัวต่อศาล
15 ตุลาคม 2567
10 วันก่อนคดีหมดอายุความ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยหนังสือลาออกของ พลเอกพิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 สส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2567 ระบุถึงการขอลาออกจากสมาชิกพรรคเพื่อไทย และขณะนี้อยู่ระหว่างการรักษาอาการป่วย โดยได้ยื่นใบลาต่อสภาผู้แทนราษฎรและได้รับอนุมัติตามระเบียบแล้ว
“สำหรับคดีความที่เกิดขึ้น ผมจะขอมาดำเนินการชี้แจงด้วยตัวเองเมื่ออาการป่วยทุเลาลง”
พล.อ.พิศาล ระบุในหนังสือลาออก
25 ตุลาคม 2567
ครบรอบ 20 ปี เหตุการณ์ตากใบ …คดีสิ้นสุดอายุความ
14 ผู้ต้องหา ไม่ปรากฏตัวต่อศาล
ก่อนที่คดีตากใบจะหมดอายุความในช่วงเวลา 1 เดือนสุดท้าย เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ระดมกำลังล่าตัวผู้ต้องหาตามหมายจับ บุกค้นบ้านพักทั้งอดีตข้าราชการระดับสูงไปจนถึงเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อย แต่ไม่สามารถติดตามจับกุมตัวได้แม้แต่รายเดียว ขณะที่มีรายงานว่าผู้ต้องหาบางรายได้หลบหนีออกนอกประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งหากไม่สามารถนำตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดีได้ภายในวันที่ 25 ตุลาคม 2567 ย่อมหมายถึงกระบวนการยุติธรรมต้องเป็นอันสิ้นสุดลง
7 ผู้ต้องหา คดีที่ญาติผู้เสียชีวิตยื่นฟ้อง
- จำเลยที่ 1 พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 สส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย
- จำเลยที่ 3 พล.อ.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร อดีตผู้บัญชาการ พล.ร.5
- จำเลยที่ 4 พล.ต.อ.วงกต มณีรินทร์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า
- จำเลยที่ 5 พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9
- จำเลยที่ 6 พล.ต.ต.ศักดิ์สมหมาย พุทธกูล อดีตผู้กำกับการ สภ.ตากใบ
- จำเลยที่ 8 นายศิวะ แสงมณี อดีตรองผู้อำนวยการกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ และอดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย
- จำเลยที่ 9 นายวิชม ทองสงค์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส
*(ศาลยกฟ้อง) จำเลยที่ 2 พล.ท.สินชัย นุตสถิตย์ อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 และจำเลยที่ 7 พ.ต.อ.ภักดี ปรีชาชน อดีตรองผู้กำกับ สภ.ตากใบ
8 ผู้ต้องหา คดีที่อัยการสูงสุดสั่งฟ้อง
- จำเลยที่ 1 พล.อ.เฉลิมชัย วิรุฬห์เพชร อดีต ผบ.พล.ร.5
- จำเลยที่ 2 ร.ต.ณัฐวุฒิ เลื่อมใส พลขับ
- จำเลยที่ 3 นายวิษณุ เลิศสงคราม พลขับ
- จำเลยที่ 4 ร.ท.วิสนุกรณ์ ชัยสาร พลขับ
- จำเลยที่ 5 นายปิติ ญาณแก้ว พลขับ
- จำเลยที่ 6 พ.จ.ต.รัชเดช หรือ พิทักษ์ ศรีสุวรรณ พลขับ
- จำเลยที่ 7 พ.ท.ประเสริฐ มัทมิฬ ผู้ควบคุมขบวนรถ
- จำเลยที่ 8 ร.ท.ฤทธิรงค์ พรหมฤทธิ์ พลขับ
สิ้นอายุความ สิ้นศรัทธาระบบยุติธรรม
รัษฎา มนูรัษฎา ทนายความสิทธิมนุษยชน ในฐานะทนายฝ่ายโจทก์ กล่าวว่า การที่ศาลจังหวัดนราธิวาสนัดสอบคำให้การจำเลยทั้ง 7 คน เมื่อวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา นับเป็นโอกาสสุดท้ายแล้วที่จำเลยจะได้มาต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม เพื่อจะพิสูจน์ว่าเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุนั้นเจ้าหน้าที่ได้ทำตามหน้าที่ถูกต้องครบถ้วนแล้วหรือไม่ แต่สุดท้ายแล้วจำเลยทั้งหมดที่ถูกออกหมายจับกลับไม่ปรากฏตัวต่อศาล
“แม้อายุความทางกฎหมายจะหมดลง แต่อายุความแห่งความทรงจำของประชาชนไม่มีวันขาด ญาติผู้เสียชีวิตยังคงสงสัยเคลือบแคลง สิ่งเหล่านี้จะค้างคาอยู่ในใจของประชาชนไปอีกนาน”
มูฮัมหมัด ซอฮารี อูเซ็ง ญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ตากใบ กล่าวเปิดใจระหว่างรอฟังคำให้การของจำเลยว่า “ประชาชนไม่ได้รับความกระจ่างในข้อสงสัยต่างๆ ทั้งที่ศาลออกหมายเรียกแล้ว ออกหมายจับแล้ว แต่จนถึงวันนี้ก็ยังจับไม่ได้สักคน จนรู้สึกหมดศรัทธาแล้วกับกระบวนการยุติธรรม”
ผลจากการสิ้นสุดอายุความคดีตากใบ อาจกลายเป็นอีกปมเหตุหนึ่งที่ทำให้ประชาชนในพื้นที่หมดความไว้วางใจต่อรัฐไทย ซึ่งจะส่งผลต่อกระบวนการสร้างสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ในอนาคต
อ้างอิง
- นับแต่เกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมหน้าสภ.ตากใบ เมื่อปี 2547 เกิดอะไรขึ้นบ้าง?
- เอกสารเกี่ยวกับ เหตุการณ์ ตากใบ สำหรับประชาชนทั่วไปที่สนใจ
- 17 ปีตากใบ…เหตุการณ์เดียวเยียวยา 641 ล้าน กระทบ 987 ชีวิต!