นาทีนี้ชื่อของสองพี่น้อง เริงฤทธิ์-เริงชัย คงเมือง ถูกนับเป็นช่างภาพสารคดีอิสระผู้ซึ่งเกาะติดสถานการณ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติเป็นอันดับต้นๆ ทั้งประเด็นความขัดแย้งจากโครงการเหมืองแร่ โรงไฟฟ้าถ่านหิน และการต่อสู้ของประชาชนในพื้นที่ต่างๆ เป็นช่างภาพเพียงไม่กี่คนที่เฝ้าติดตามปัญหาและสะท้อนภาพเหล่านั้นออกมาให้สาธารณชนได้รับรู้
บทสนทนากับ เริงชัย คงเมือง ในบ่ายวันหนึ่ง ย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นที่ว่า ตัวเขาเองไม่ได้คิดฝันจะเป็นช่างภาพอาชีพมาก่อน หากแต่เส้นทางชีวิตวัยเรียนพาให้พบเจอทางสายนี้โดยไม่รู้ตัว
เริงชัยเลือกเรียนคณะนิเทศศาสตร์ที่ราชภัฏโคราช ขณะที่เป้าหมายชีวิตยังไม่ชัดเจนนัก “ตอนนั้นคิดแค่ว่าเรียนอะไรก็ได้ ขอแค่ให้จบปริญญาตรี แต่จับพลัดจับผลูยังไงไม่ทราบถึงได้สอบติดคณะนิเทศศาสตร์ ตอนเรียนก็ถูๆ ไถๆ ไม่ได้สนใจการเรียนมากนัก บังเอิญคณะนี้มีวิชาถ่ายภาพ แล้วเราก็รู้สึกว่า นี่แหละคือวิชาเดียวที่ชอบที่สุดแล้ว”
ในวันที่เริงชัยได้มีโอกาสจับกล้องเป็นครั้งแรก กับกล้องฟิล์มรุ่นยอดนิยมอย่าง Nikon FM2n เขายังจดจำความรู้ในวันนั้นได้ดี
“มันเป็นความสุขเหมือนเด็กได้ของเล่นใหม่ ตื่นเต้นกับของเล่นชิ้นใหม่ คือรู้สึกสนุกที่ได้จับ ได้ลอง ได้ศึกษามัน” เริงชัยบอก
การมองโลกผ่านเลนส์กับมองด้วยตาเปล่า ต่างกันอย่างไร?
“จริงๆ แล้วคงไม่ต่างกันนัก สิ่งที่ต่างคือการมองภาพผ่านกล้องจะมีกรอบมาครอบไว้ อยู่ที่ว่าเราจะเอากรอบนั้นไปวางไว้ตรงไหน แล้วเราก็โฟกัสไปยังจุดนั้น สำคัญที่ว่าเราต้องการจะสื่ออะไร และจะถ่ายทอดออกมาอย่างไร”
ระหว่างเรียนมหาวิทยาลัย เริงชัยหมกมุ่นอยู่กับการศึกษาเรื่องการถ่ายภาพ พร้อมๆ ไปกับการทำกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมตามประสานักศึกษาหนุ่ม บวกกับความชอบในการเดินทางเที่ยวทางธรรมชาติเป็นทุนเดิม ทำให้แผนที่ชีวิตเริ่มแจ่มชัดขึ้นเรื่อยๆ
ผมคงถูกจริตกับงานแบบนี้ เพราะเป็นคนชอบเที่ยว ชอบเข้าป่า ชอบอยู่กับธรรมชาติ โดยเฉพาะช่วงสมัยที่ทำกิจกรรมมหาวิทยาลัย พอถึงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ก็จะหาโอกาสเดินทางท่องเที่ยว ชีวิตก็จะอยู่แบบนั้น เลยทำให้ซึมซับกับเรื่องราวของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมค่อนข้างมากกว่าอย่างอื่น บางคนอาจจะชอบเล่นกีฬา บางคนชอบเล่นดนตรี บางคนอาจชอบเที่ยวกลางคืน แต่เราชอบเข้าป่า
เมื่อออกเดินทาง เขาจึงเห็นโลกที่กว้างขึ้น นอกเหนือไปจากความงามของธรรมชาติ เขายังเห็นประเด็นที่ซ่อนอยู่ทั้งเบื้องหน้าเบื้องหลัง เห็นความไม่ชอบมาพากล ความผิดปกติ และความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในสังคม ด้วยความใคร่รู้เขาจึงออกติดตามค้นหาความจริง เข้าถึงพื้นที่ใจกลางปัญหา ตีแผ่ออกมาเป็นภาพถ่าย
หลังเรียนจบ เริงชัยตัดสินใจไปทำงานถ่ายภาพในป่าอยู่ราว 1 ปี จากนั้นย้ายไปทำงานร่วมกับองค์กรอนุรักษ์อีก 4 ปี จนกระทั่งผันตัวออกมาเป็นช่างภาพสารคดีอิสระ ถ่ายภาพสิ่งแวดล้อมให้กับหลายๆ องค์กรทั้งไทยและต่างประเทศ รวมถึงจับงานถ่ายภาพเคลื่อนไหวในช่วงระยะ 4-5 ปีให้หลัง
หลายคนอาจสงสัย สายตาของช่างภาพต่างจากสายตาของคนธรรมดาเช่นไร?
“อันนี้ไม่รู้จริงๆ (หัวเราะ) อาจจะไม่ต่างก็ได้ แต่ประสบการณ์จะบอกให้เรารู้ว่า เราจะสื่อสารเรื่องราวนั้นออกมาอย่างไรกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ณ ตอนนั้น”
ในความคิดของเริงชัย งานถ่ายภาพแม้จะไม่ใช่งานศิลปะที่ยิ่งใหญ่ แต่ก็นับเป็นศิลปะในการสื่อสารอย่างหนึ่ง เพื่อจะบอกเล่าเรื่องราวสักเรื่องหนึ่งให้ใครสักคนได้รับรู้ผ่านสายตาของช่างภาพ หรือบางทีอาจเรียกว่าเป็น ‘ศิลปะฉับพลัน’ ก็ว่าได้ เพราะโอกาสในการลั่นชัตเตอร์เพื่อจะได้ภาพที่ดีที่สุดอาจมีเวลาเพียงแค่เสี้ยววินาทีเท่านั้นในการตัดสินใจของช่างภาพ
นอกเหนือไปจากความงามของแสงและเงาในศิลปะภาพถ่ายแล้ว สิ่งหนึ่งที่สร้างแรงสั่นสะเทือนทางอารมณ์ให้กับผู้ชมอาจขึ้นอยู่กับประเด็นที่ซ่อนอยู่ในภาพถ่าย
นิทรรศการภาพถ่าย ชุด ‘Dark Side of the City: ด้านมืดของเมือง’ ที่จัดแสดงไปเมื่อเดือนกรกฎาคม 2558 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร คือผลงานของสองพี่น้องที่สะท้านความรู้สึกของผู้คนอย่างชะงัด นัยหนึ่งยังเป็นการตอบโต้วาทกรรม ‘ถ่านหินสะอาด’ ผ่านเรื่องราวที่สะท้อนอยู่ในแววตาและชะตากรรมของชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ต้องยอมเสียสละ เพื่อแลกกับความสว่างไสวโชติช่วงของเมืองใหญ่
ผลงานชุดนี้แสดงให้เห็นว่า พลังของภาพถ่ายมีอยู่จริง
ผมเองก็ไม่ทราบว่า ภาพถ่ายเหล่านั้นจะมีพลังขนาดนั้นจริงหรือเปล่า หรือบางทีมันอาจจะเป็นหนามเล็กๆ ที่ตำเท้าเขาอยู่” เริงชัยบอก
แม้ว่าภาพถ่ายชุดนั้นจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ใดๆ แต่ก็สร้างความรำคาญใจให้กับฝ่ายผู้เกี่ยวข้องอยู่ไม่น้อย และส่งผลสะท้อนกลับมาเป็นแรงกดดันและการข่มขู่คุกคาม เริงชัยจึงไม่เพียงเป็นช่างภาพสิ่งแวดล้อมที่มีผลงานต่อเนื่องยาวนาน หากยังเป็นหนึ่งในช่างภาพที่ถูกหมายหัวเป็นอันดับต้นๆ
สำหรับเขาแล้ว ภารกิจสำคัญของการเป็นช่างภาพสิ่งแวดล้อมก็คือ การถ่ายทอดความจริงเพื่อสู้กับความอยุติธรรม และกระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่าง
“บางครั้งมันอาจไม่ใช่งานศิลปะที่สมบูรณ์อะไรนัก แต่อย่างน้อยที่สุดภาพถ่ายก็เป็นเครื่องมือที่ดีที่ใช้ในการปลุกจิตสำนึกชาวบ้านให้ลุกขึ้นมาต่อสู้และปกป้องสิ่งแวดล้อมในบ้านเกิดตัวเองจากอำนาจที่เข้ามาฉกฉวยผลประโยชน์ชั่วคราว
“ถ้าช่างภาพได้เข้าไปเห็น ได้เข้าไปอยู่ในจุดที่เป็นปัญหา ต้องบันทึกไว้และถ่ายทอดออกมา มันเป็นหน้าที่ของพลเมืองทุกคนที่ต้องทำ หรืออย่างน้อยก็ตัวเราเองที่มีหน้าที่ในการดูแลสิ่งแวดล้อมเหมือนกัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากเกินกว่าที่เราจะทำได้”
ทุกวันนี้เริงชัยรวมตัวกับเพื่อนสมาชิกช่างภาพสารคดีในนาม ‘10FOTOS’ ด้วยภารกิจที่เชื่อว่า การเกาะกลุ่มรวมตัวกันจะก่อให้เกิดพลังในการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมให้มีความหวังขึ้นได้บ้าง