14 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา นักศึกษาปริญญาโทหลักสูตรสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดเสวนาพูดคุยถึงสิทธิมนุษยชนไทยในปัจจุบัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในรายวิชาที่นักศึกษากำลังเรียนอยู่ ผู้จัดงานบอกกับเราว่า ชื่องานได้ถูกเจ้าหน้าที่ขอร้องให้เปลี่ยนอยู่หลายครั้งตลอดทั้งวัน จนมาลงเอยในวินาทีสุดท้ายว่า ‘Love is…เสวนาสาธารณะว่าด้วย ความยุติธรรม ความรัก และความเป็นมนุษย์’
แม้มีผู้ร่วมเสวนาจากหลากหลายสาขาอาชีพ บทสนทนาของหนึ่งในวิทยากรร่วมเสวนา สะท้อนถึงคำสำคัญสามคำอันเป็นชื่องานเสวนาได้เป็นอย่างดี
เธอเป็นทั้งนักปกป้องสิทธิ์ เป็นภรรยาของทนายความที่ทำงานเพื่อปกป้องสิทธิ์ชาวบ้าน และยังกลายเป็นแม่ของผู้ต้องหาในคดีที่แม้แต่เธอก็ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นกับครอบครัวตัวเอง
พริ้ม บุญภัทรรักษา มารดาของ ไผ่-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักศึกษาและนักกิจกรรม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จากการแชร์ข้อความข่าวจากเว็บไซต์บีบีซีไทย และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เธอสละเวลามาพูดคุยกับเรา ก่อนที่เดินทางกลับไปที่ขอนแก่นอีกครั้งเพื่อเตรียมการเยี่ยมลูกที่เรือนจำกลางจังหวัดขอนแก่นในวันรุ่งขึ้น
เมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว พริ้ม บุญภัทรรักษา เริ่มทำงานในร้านขายของชำและช่วยชาวบ้านร่วมกับพ่อของไผ่ (ทนายอู๊ด-วิบูลย์ บุญภัทรรักษา) ก่อนจะสร้างครอบครัว และมีลูกชายคนแรกคือ ไผ่-จตุภัทร์ และน้องสาวของไผ่ในเวลาไม่กี่ปีถัดมา
จุดเริ่มต้นของครอบครัวนักสิทธิมนุษยชนกับการช่วยเหลือชาวบ้าน
เธอบอกเอาเข้าจริงชีวิตไม่ได้มีความสะดวกสบายอะไร แต่ก็อยู่ได้อย่างมีความสุข แม้บางครั้งอาจจะลำบากอยู่บ้าง
“เพราะว่าความทุกข์ยากเรื่องสถานภาพ ปัจจัยที่อยู่อาศัย หรือทรัพย์สินเงินทอง แต่ถ้าเราลงพื้นที่ไปอย่างนั้น มันไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจแล้ว มันเป็นการช่วยเหลือด้วยจิตใจ สิ่งตอบแทนคือน้ำใจของชาวบ้าน เป็นข้าวสาร กล้วย มาตอบแทน ความภาคภูมิใจก็คือ เรามีความสุข ได้ช่วยเหลือชาวบ้าน แต่ในด้านเศรษฐกิจเราก็ทุกข์ยากอยู่แล้ว อันนี้เป็นเรื่องธรรมดา”
ความทรงจำของ พริ้ม บุญภัทรรักษา เธอเล่าว่า การรับรู้ของไผ่ต่อการทำงานในเรื่องสิทธิ์ชาวบ้าน ของพ่อกับแม่นั้นน่าจะเริ่มขึ้นเมื่ออยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3
“ไผ่น่าจะเริ่มเห็นกิจกรรมที่เราทำ ตอนเรียนประถมศึกษาปีที่ 3 แม่กับพ่อทำงานกับมูลนิธิฯ เพื่อออกไปให้ความรู้กับชาวบ้าน ให้รู้สิทธิในชุมชน ว่าชาวบ้านมีสิทธิ์อะไรตามกฎหมายบ้าง เวลาเกิดปัญหา ชาวบ้านถูกเจ้าหน้าที่จับกุมไป สิทธิ์ของชาวบ้านควรทำอะไรได้บ้าง สิทธิขั้นพื้นฐานมีอะไรได้บ้าง เรามักจะไปกันทั้งครอบครัว ก็คือมูลนิธิฯเดินทางออกไป เราก็ไปช่วย ซึ่งบ้านเราก็ออกไปทั้งสามคน มีไผ่ มีแม่ มีพ่อ ตอนนั้นยังไม่มีน้องสาวของไผ่ แม่ก็ยังไม่ได้เป็นทนาย (ปัจจุบันพริ้มเรียนจบนิติศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และยังคงใช้ความรู้ทางด้านการกฎหมายต่อยอดในการช่วยเหลือชาวบ้าน)
“ตอนนั้นก็ไปด้วยกัน จะไปอบรมกฎหมายแบบนี้แหละ ว่าชาวบ้านมีสิทธิพื้นฐานอะไรบ้างหรือถูกจับกุมดำเนินคดี หรือมีปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับอะไร หรือว่าจะเป็น พ.ร.บ.เรื่องรถ หากเกิดอุบัติเหตุทำอะไรได้บ้าง ซึ่งเมื่อก่อนคนไม่ค่อยรู้เรื่องนี้ เช่น พ.ร.บ.คุ้มครอบผู้ประสบภัย
“เราก็ไปแนะนำเรื่องสิทธิพื้นฐานในคดีอาญา ว่าขั้นตอนเป็นอย่างไร เมื่อชาวบ้านมีปัญหาอะไรเราก็จะให้คำปรึกษาฟรี พอเสร็จจากประชุมปรึกษาหารือ ตอนเย็นก็จะสังสรรค์ ก็จะเล่นดนตรี ช่วงเวลาแบบนี้เอง ไผ่เขาก็เริ่มเล่นดนตรี ไผ่เขาเรียกร้องเองที่จะเล่น คือที่บ้านลูกสาวจะไม่ชอบเล่นดนตรีเหมือนพี่ไผ่ แต่ชอบฟังชอบร้องเพลง
“ที่บ้านจะไม่บังคับให้เล่นดนตรี ใครอยากทำอะไรก็ทำ ของไผ่เขาทำเองหัดเล่นเอง เห็นพ่อเป่าแคนก็อยากเป่า แล้วก็มีบางคนตั้งคำถามว่า ทำไมเวลาไผ่เป่าแคน ถึงต้องกลับหัวเป่า (ภาษาอีสานเรียกว่า ‘ปิ้นลาย’) บางคนถามว่าทำไมต้องทำนอกกรอบ ไผ่คงเห็นว่าถ้าทำแบบนี้มันซ้ำจำเจ เด็กสมัยใหม่ก็ไม่คิดอยากจะลอง ไผ่เคยเห็นมา เขาเห็นว่ามันก็ธรรมดา แต่ถ้ากลับลายก็ยังสามารถที่จะเป่าได้ หรือเป่าแคนไปเป่าเพลงเพื่อชีวิต เขาจะใส่เนื้อเพลงอะไรก็ได้ พอเล่นดนตรีก็เลยโยงมาเพลงที่มีเนื้อหาในการต่อสู้ เช่น เพลงเดือนเพ็ญ ไผ่ก็ทำได้ เมื่อไผ่รู้โน้ตดนตรี ไผ่ก็สามารถเล่นขิม โหวต โปงลาง แคน ได้ด้วย ส่วนดนตรีไทยไผ่สามารถเล่น ขิม ซอ ไวโอลิน”
ดูเหมือนว่าไผ่จะเป็นศิลปิน แต่ทำไมไผ่หันมาเดินทางนักกิจกรรมเพื่อชาวบ้าน โดยการเลือกเรียนกฎหมาย ในสายตาของแม่ที่เฝ้ามองดูลูก แม่ไผ่เล่า นั่นคือเริ่มเห็นจุดเปลี่ยนเล็กๆ ของไผ่ จากเด็กวัยรุ่นทั่วไปสู่นักศึกษา ที่ตระหนักถึงปัญหาที่มีอยู่รายรอบตัวเขา
“ไผ่เขาตัดสินใจเลือกเรียนกฎหมายเอง” พริ้มเริ่มอธิบายว่าที่บ้านไม่ได้กำหนดว่าลูกจะดำเนินชีวิตอย่างไร แต่ลูกจะต้องตัดสินใจเอง แต่การเรียนเริ่มที่คณะนิติศาสตร์ก่อนไม่ได้ทำให้ไผ่หันมาสนใจเรื่องสิทธิ์ชาวบ้านในทันที
ตอนปีแรกๆ ที่เริ่มเรียน ดูเหมือนว่าเพื่อนของไผ่จะมีแต่คนมีฐานะดี เป็นคนรวย เช่น เวลาแม่โทรไปถามลูกอยู่ไหน ไผ่ก็จะตอบว่ากำลังเดินห้าง แม่คิดว่าฐานะทางเศรษฐกิจของของเราไม่ได้ให้ไผ่ขาดแคลนมาก แต่ไม่ได้ให้เขาฟุ่มเฟือยถึงขนาดที่จะต้องได้ทุกอย่าง คือถ้าไผ่หรือน้องอยากจะได้อะไรก็ต้องรอ คุณมีเงินแค่นั้นแหละ แต่เวลาถามปุ๊บ ไผ่ก็มักจะบอกว่าอยู่เซ็นทรัล เพราะเรารู้ว่าฐานะแบบเราเป็นแบบนี้ ถ้าไปอยู่แบบนั้นค่าครองชีพมันต้องสูง มันอาจจะทำให้ลูกเราอยากได้นู่นนี่ ความกดดันก็จะมาอยู่ที่พ่อแม่
จุดเปลี่ยนที่ดึงไผ่ให้หันมาสนใจเรื่องสิทธิชาวบ้านเหมือนอย่างที่แม่พริ้มและพ่ออู๊ดทำมา น่าจะเกิดขึ้นเมื่อเขาอยู่ชั้นปีที่ 2
“เขาเริ่มเปลี่ยนไป ปีแรกที่เขาเรียนมหาวิทยาลัยจะเรียนวิชาพื้นฐาน ก็จะมักโทรมาถามกฎหมาย แต่จู่ๆ เมื่อขึ้นสู่ปีที่ 2 เขาไปพักกับกลุ่มเพื่อนดาวดิน ที่ชอบทำกิจกรรมร่วมกับชาวบ้าน พอมาอยู่กับดาวดิน ก็พาไปดูวิถีชาวบ้าน ไปดูปัญหาของชาวบ้าน ครั้งหนึ่งจะเห็นว่ามีรูปไผ่ร้องไห้ ซึ่งเคยมีคนเอามาล้อ อันนั้นเป็นเคสแรก แต่ตำรวจไม่สั่งฟ้อง
“ไผ่ทำใจไม่ได้ เพราะตำรวจกระชากเสื้อ กระเป๋าเขาขาด จะจับกุม แล้วเด็กมันขัดขืน ไปนอนตรงที่เขาจะเอาแบ็คโฮมาขุด” (กรณีมีการวางเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงพาดผ่านที่ดินของชาวบ้านในอำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี เมื่อปี 2554)
“เมื่อเขาอยู่ในคุก เขาก็โทรมาหาแม่ และโทรมาหาพ่อ เรารู้ก็เลยไปอุดรฯ เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ครอบครัวเราซึ่งช่วยเหลือชาวบ้านอยู่แล้ว ก็เลยไม่ได้ตกใจมาก เพราะทั่วไปเมื่อนโยบายรัฐเข้าไปในชุมชน รัฐมักจะได้ประโยชน์ แต่ชาวบ้านเสียประโยชน์ มันก็ต้องขัดแย้งกันอยู่แล้ว เป็นเรื่องปกติ
“ถามว่าไผ่เข้าไปช่วยชาวบ้านเพราะอะไร เราตอบไม่ได้หรอก แต่คงเป็นสำนึกคนเวลาเห็นคนเดือดร้อน ให้อยู่เฉยๆ เหรอ ไผ่ไปเจอสถานการณ์แบบนั้นกับตัวจริงๆ แล้วไผ่จะอยู่เฉยๆ เหรอ แม่ก็ตั้งข้อสังเกตเหมือนกัน แล้วทำไมไผ่จะต้องไปนอนขวางแบ็คโฮ อันนี้ต้องเป็นจิตสำนึกของเขาแล้ว ที่มองเห็นความทุกข์ของชาวบ้าน คุณเข้าใจไหมว่าชาวบ้านที่มีที่ดินเป็นของตนเอง จากแรงงานของตัวเอง แล้วอยู่ๆ เสาส่งพาดผ่าน มันไปเฉือนเอาเนื้อที่ของชาวบ้านนะ”
เมื่อถามว่า ตอนนั้นคิดไหมว่าครอบครัวต้องเผชิญกับปัญหาแบบนี้ พริ้มนิ่งไปสักพัก
“อืม ตอนนั้น ถ้าเป็นการบังคับใช้กฎหมาย โดยทั่วไปจะต้องดูที่เจตนา แล้วสิ่งที่ไผ่และเพื่อนทำ แม่ไม่คิดว่ามันไม่ควรจะเลวร้าย เหตุเพราะว่าเจตนาไผ่เพื่ออะไรล่ะ อย่างเช่น เสาส่งไฟฟ้าแรงสูง ไผ่เห็นแล้วว่ามันต้องเกิดอะไรขึ้นแน่นอน ผลที่ตามมาหลังจากการลงเสาส่ง มันจะมีผลกระทบอะไรตามมา
ไผ่ก็ย่อมรู้แหละ ว่าถ้าเขาต่อต้านแบบนี้ รัฐจะบังคับใช้กฎหมายแบบไหน เออ เราไปค้าน ถือว่าต่อต้านเจ้าพนักงาน ถ้าตามกฎหมายมันผิดแหละนะ ที่นี้กฎหมายก็ต้องมาดูที่เจตนาว่า ที่เด็กไปขัดขวางนั้นเพราะอะไร เพราะคุณไปกระทำแบบนี้กับชาวบ้าน แล้วคุณไปเวนคืนมันเหมาะกับที่ดินของเขาที่หยาดเหงื่อแรงงานที่เขาหามาไหม
ภาพสำคัญในปี 2556 ไผ่คุกเข่าต่อเจ้าหน้าที่
เธอเห็นว่า การทำกิจกรรมของไผ่ เป็นสิ่งที่ไผ่พัฒนาตัวเองและตัดสินใจด้วยตัวเอง ซึ่งที่บ้านเคารพการตัดสินใจของไผ่
“ที่บ้านไม่ได้แนะนำวิธีการอะไร แต่มาจากประสบการณ์ของพวกเขาเองมากกว่า ถ้าจะมีอยู่บ้าง น่าจะเป็นว่าที่บ้านจะทำแบบนี้มาโดยตลอด ก็เลยคิดว่าเขาคงเก็บเกี่ยวเอามาเอง
“หลังจากเจ้าหน้าที่จับเขาไป เจ้าหน้าที่ก็ทราบว่า นักศึกษาที่ทำแบบนั้นทำไปด้วยใจบริสุทธิ์ ไม่ได้เอาเรื่องเอาราว มันมาจากจิตใจของเขาที่เห็นพ่อไปช่วยเหลือ แล้วบังเอิญเขาได้มาเจอปัญหาจริงๆ ชาวบ้านเป็นเสียงเล็กเสียงน้อย ที่ไม่สามารถป่าวประกาศหรือมีหนังสือพิมพ์มาโฆษณามาสืบหาความทุกข์ยากของชาวบ้านเขาได้”
ขณะอยู่ในวงเสวนา ผู้ดำเนินรายการส่งคำถามต่อแม่ไผ่ว่า ช่วงที่ทำกิจกรรมด้วยกันไปช่วยชาวบ้าน ไผ่มักจะบอกกับเพื่อนๆ ว่า ถึงเราจะอยู่เคียงข้างชาวบ้านและอาจจะโดนเจ้าหน้าที่รัฐจับกุมหรือทำร้าย แต่ก็ต้องพร้อมให้ความรักกับคนที่กระทำกับเรา ซึ่งแม่ไผ่ได้ตอบคำถามและขยายความแก่เราไว้อย่างน่าสนใจว่า ความคิดของแม่กับไผ่ดูจะมีความแตกต่างกัน
“เขาไม่ได้เอาเปรียบสังคมเลย เขาไม่ยอมเอาเปรียบ เช่น บางครั้งไผ่โดนแซงคิว เขาก็มักจะเสียสละให้คนอื่นก่อน หรือเจ้าพนักงานจับกุมตัวเขาไป หรือถอนประกันเขาไป เขาไม่ได้โกรธตำรวจเลย ไผ่มักจะบอกว่าเขาทำตามหน้าที่ ส่วนแม่นี่โกรธมากมายเลย เพราะเหตุผลการถอนประกันตัวมันไม่ใช่ ไผ่เขาบอกว่าทำตามหน้าที่”
หลายคนบอกว่า เวลาไผ่ถูกจับทุกครั้งแล้วไผ่ยิ้มแย้มทุกครั้ง คือมันเป็นบุคลิกของเขาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว มิใช่การเยาะเย้ยถากถาง มิใช่ว่าการถูกจับแล้วจะทำให้เขาภาคภูมิใจ มันไม่ใช่ แต่บุคลิกของคนแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน เขามีอายุมา 25-26 ปีแล้ว เขาทำแบบนี้ตั้งแต่เด็ก แล้วจะมาให้เขาเปลี่ยนแปลง มันทำไม่ได้
การต่อสู้เรื่องสิทธิ์หลังรัฐประหาร
“หลังรัฐประหารมันเลวร้ายยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกรณีชาวบ้านบุกรุกป่า รัฐก็จะบอกว่าคนบุกรุกป่า รัฐก็จัดการเวนคืนที่ ซึ่งที่เราเห็นในข่าวจำนวนมาก ส่วนใหญ่ก็เป็นชาวบ้านที่เผชิญปัญหา เช่น ที่โคกยาว ที่สกลนคร มันกระทบกับชาวบ้านมากขึ้น อย่างเหมืองแร่ สัมปทานก็จะหมดแล้ว ในเมื่อรู้ว่าผลกระทบมันไม่ดี ก็ควรจะหยุด แต่กลับทำต่อ เวลาประชุมอะไร วางแผนออกมา โครงการจะสวยหรู แต่เวลาปฏิบัติออกมา มันไม่ใช่
“หรือโรงไฟฟ้าถ่านหิน รัฐบอกว่าคนสนับสนุน 90 เปอร์เซ็นต์ แต่เราดูคนคัดค้าน เมื่อมีการคัดค้านรัฐต้องเข้าไปสนใจ ต้องเข้าไปดูพวกไผ่ทำ อยากให้เขารู้ว่า มันมีผลกระทบจริงๆ ไม่ใช่เลื่อนลอย ให้เขาไปสัมผัส อย่างเรา ไปนอนที่วัด ที่ศาลา ไปบรรยายกฎหมาย เราจะเห็นสภาพ แต่รัฐไม่ใช่ไง รัฐดูแต่รายงานในกระดาษ และสภาพความยากลำบากเขาไม่เคยเจอ เขาไม่รู้ซึ้ง”
กล่าวในแง่นี้ ครอบครัวบุญภัทรรักษา จึงต้องออกไปทำงานที่มีจำนวนมากขึ้น และเงื่อนไขมากขึ้น โดยเฉพาะวันที่ไผ่ขึ้นศาลจังหวัดขอนแก่น สามีของเธอ-พ่อของไผ่ ยังคงต้องไปว่าความที่จึงหวัดสกลนคร
“ตอนนั้นแม่อยู่ศาล ความหมายก็คือว่า หน้าที่เราก็ต้องเป็นหน้าที่ เรื่องครอบครัวเราก็จะแบ่งกันทำ ถ้าหน้าที่เราไม่ตรงกัน พ่ออู๊ดก็จะต้องไปทำหน้าที่ของตนเอง ต้องมีสมาธิว่าความให้ลูกความ ทั้งๆ ที่ลูกตัวเองก็โดนคดี แต่เขาก็ต้องรับผิดชอบในหน้าที่ของเขา เพื่อให้ศาลเขาเห็น และให้ความยุติธรรม
“สมัยก่อน พ่อไผ่จะไม่ค่อยได้ทำเรื่องสิทธิชุมชนหรือสิ่งแวดล้อม สมัยก่อนจะเป็น ไม่เป็นธรรม เช่น โดนจับ ผิดคน ไม่ใช่คนกระทำความผิด บางคนไม่มีสิทธิ์ต่อสู้ บางทีเจ้าหน้าที่ก็จะแนะนำให้รับสารภาพไปเถอะ จะได้ลดโทษ ก็จะมีการกล่อมกันอย่างนี้แหละ ปัญหาก็จะเป็นการเข้าไปถึงสิทธิ์ที่เขาควรจะได้รับการปกป้อง ยุคนั้นถ้ามีเรื่องที่ดิน ก็จะเป็นกรณี คจก. หรือเรื่องเหล้าพื้นบ้าน พ่อก็จะไปช่วยเรื่องพวกนี้”
การดูแลความรู้สึกของครอบครัว
“เราเจอมาหลายสถานการณ์ คดีเหล่านั้นเราไม่ห่วง เพราะมันมีการต่อสู้กันได้ ถูกไหม แต่ว่ามันหนักตรงที่คดี 112 การจับกุม การฝากขัง การประกันตัว เราเห็นมาตลอดว่ากระบวนการมันเป็นอย่างไร ทีนี้จิตใจครอบครัวเราก็คือ สูญเสียความเป็นอิสระ สูญเสียสภาพจิตใจ เพราะว่าลูกเราไปอยู่ในที่คุมขัง แล้วเราก็ต้องรู้ว่าสภาพในนั้น ข้อจำกัดเยอะ
“เราพยายามแก้ไข แต่ก็มีปัญหาอย่างที่ทนายศูนย์สิทธิ์บอกว่า ถ้าไผ่พูดออกมาเยอะ แต่ไผ่ก็ยังต้องอยู่ในนั้น บางสิ่งบางอย่างไผ่อาจจะไม่พูด เราก็ไม่รู้ แต่ถ้าเขาพูดออกมา เราก็ช่วยเขา
“เราพยายามจะไม่ซ้ำเติมกัน เข้าใจไหม เราพยายามช่วยกันแก้ไขมากกว่า อย่างน้องสาวก็จะเข้าใจว่าช่วงนี้แม่จะไปดูแลพี่มากกว่า ก็ต้องช่วยเหลือตัวเองมากขึ้น”
เมื่อถามถึงสาเหตุที่เธอถึงกับต้องถึงขั้นเอาศีรษะโขกผนังศาลจังหวัด เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ทั้งๆ ที่เป็นนักกฎหมาย คำตอบในฐานะแม่คือ
มันห้าผัดมาแล้วที่เราโดนกระทำ ที่เรารู้สึกว่ามันไม่ถูกต้อง คือเราเห็นมาตลอดว่า บางกรณีมันไม่ใช่แบบนี้ มันมีข้อแตกต่าง ตามหลักเรามีปฏิญญาสากลระหว่างประเทศบอกว่า ไผ่ก็ยังบริสุทธิ์อยู่ ตอนนั้นคุณแค่กล่าวหา สิทธิ์ในการประกันตัวของไผ่มันควรได้รับ
กับการพิจารณาคดีแบบปิดลับ พริ้มบอกว่า
“ถ้าเขาอ้างว่าคนเยอะ จึงต้องพิจารณาปิดลับ มันไม่ใช่หรอก ตอนนั้นเพื่อนไผ่ไปอยู่ แต่ไม่ได้เยอะ เขาบอกเลยว่าเป็นลับตั้งแต่แรก พอการพิจารณาลับ ความยุติธรรมมันถูกลดทอนไป เพราะว่าเราจะเห็นแค่ข้างใน แค่ตำรวจ ผู้พิพากษากับทนาย แล้วก็เรา ถ้ามีสังคมคอยมอง เวลาทำอะไรเขาจะระมัดระวัง แล้วการที่พนักงานสอบสวนจะเอาคนคนหนึ่งเข้าไปอยู่ในห้องขัง น้ำหนักมันควรจะรับฟังได้มากกว่านี้ ถึงจะเอาคนที่ยังบริสุทธิ์ไปกักขัง 40-50 วัน
“ทนายก็พยายามบอกว่า กรุณาพิจารณาอย่างเปิดเผย ศาลก็ไม่ยอม พอไม่ให้เสร็จ เราก็รู้แล้วว่าลูกเราจะต้องโดนอะไร และเกิดอะไรขึ้น เพราะที่ผ่านมาห้าหกครั้ง ขอประกันตัวไม่ได้เลย แม้ว่าจะเพิ่มวงเงิน หรือจะพยายามเขียนเงื่อนไขเพิ่มเติม”
เธอเล่าเหตุการณ์อย่างละเอียดว่า สาเหตุสำคัญคือ เธออ้างหลักการสากลเพื่อขอความเป็นธรรมที่ควรได้รับให้แก่ลูก
“ตอนนั้นเป็นคำสั่งการพิจารณาลับ ขนาดครั้งแรกๆ สำนวนตำรวจยังแค่รวบรวมพยานหลักฐาน ศาลก็ไม่ให้แล้ว อันนี้มาพิจารณาลับอีก เรามองว่าคงจะขังลูกเราอีก แม่ก็เลยยกมือขออนุญาตพูดเรื่องปฏิญญาสากลระหว่างประเทศที่ประเทศเรามีข้อตกลงอยู่ แล้วก็หลักสิทธิมนุษยชนอีกหนึ่งอย่าง ที่ยังถือหลักอยู่ว่าหากคดีไม่สิ้นสุด ผู้ต้องหายังเป็นผู้บริสุทธิ์ คุณให้มองลูกเราหน่อยว่า เขากระทำความผิดแล้วหรือยัง เขาสมควรถูกกักขังไหม ในใจแม่คิดว่า แม่ขอชีวิตแม่นี้แลก ขอศาลมอบความยุติธรรมให้แก่ลูก แม่คิดแค่นั้น
แม่ไม่มีอะไรแล้ว สู้ตามกฎหมายก็สู้แล้ว แค่ขอให้ศาลท่านมอบความยุติธรรมให้แก่ลูกเราแค่นั้น เอาชีวิตเรา ตายก็ได้ แต่ให้ดูหน่อยว่ามันยุติธรรมกับไผ่ไหม