ปอกเปลือก Startup งานควาย รายได้ไม่ดี แต่มีอนาคต?

DSC_6712 copy
เรื่อง: ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ, อาทิตย์ เคนมี / ภาพ: เฉลิมพล ปัณณานวาสกุล

 

ชีวิตคนเมือง 2559:

6.30 น. ตื่นเช้าขึ้นมา อาจจะก่อนล้างหน้าแปรงฟันด้วยซ้ำ กิจกรรมแรกของวันที่ทำคือเปิด Facebook

7.30 น. เดินทางไปทำงานให้ทันเวลาด้วยการใช้บริการ Uber หรือ Grab Taxi …ถ้าเป็นสองสามเดือนก่อน งานด่วนก็เรียก Grab bike หรือ Uber Moto แต่ตอนนี้โดนยุบไป ต้องพี่วินหรือไม่ก็ Go Bike เท่านั้น

8.30 – 17.00 น. หาข้อมูลทำงานระหว่างวันด้วย search engine ยอดนิยมอย่าง google วันละหลายๆ ครั้ง จะอู้งานด้วยการฟังเพลง ดูหนังผ่าน youtube หรือแอบช็อปผ่าน Lazada ก็ยังได้

18.00 น. ส่งท้ายวันด้วยการหาร้านอร่อยๆ กินกับเพื่อนด้วยตัวช่วยอย่าง Wongnai

เครือข่ายสังคมออนไลน์และบริการผ่านสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตต่างๆ เหล่านี้ อาจมีเนื้อหาหลากหลายจัดอยู่กันคนละหมวด แต่ถ้าดูจากต้นกำเนิด การเติบโต รูปแบบการดำเนินงาน ทุกสิ่งอันที่กล่าวมา คือ ‘Startup’

Startup คืออะไร

‘กระทิง’ เรืองโรจน์ พูนผล เจ้าของสมญา เจ้าพ่อ Startup เมืองไทย ผู้ก่อตั้ง Disrupt University โรงเรียนบ่มเพาะผู้ประกอบการ Startup ไทย และผู้บริหารกองทุน 500 TukTuks สนับสนุน Startup ไทย อธิบายว่า Start up คือ SME ประเภทหนึ่งที่เน้นการเติบโตเป็นหลัก ซึ่งเติบโตเร็วประมาณ 10 เท่าต่อปี

โตเร็วได้เพราะอะไร?

หนึ่ง-business model ที่แตกต่าง สอง-การเอาเทคโนโลยีมาใช้ สาม-วิธีการบริหารธุรกิจ สี่-เป้าหมายของผู้ก่อตั้ง Startup

อดีต quantitative marketing manager ดูแลการตลาดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และ product marketing manager (Global Lead) ของ Google Earth/Moon/Mars กระทิงยกตัวอย่าง Warby Parker ธุรกิจขายแว่นตาที่ก่อตั้งปี 2553 และบริษัทที่ได้รับเลือกเป็น The Most Innovative Companies ปี 2556 มาอธิบายให้ฟัง

แว่นตาของ Warby Parker เกิดจากเพื่อนสมัยเรียนมหาวิทยาลัยสี่คน ที่สงสัยมานานว่า ทำไมแว่นตาถึงได้มีราคาแพง แต่ไม่เคยมีใครได้รับคำตอบ จึงทำการวิจัยและค้นคว้า ก่อนจะพบว่าต้นทุนแว่นนั้นน้อยมาก แค่ 100-200 บาท แต่เหตุผลที่ราคาขายถีบตัวสูงขึ้นมาหลายพันเพราะธุรกิจแว่นตาถูกผูกขาดโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ ซึ่งเป็นตัวแทนจัดจำหน่ายแว่นแทบจะทุกยี่ห้อ และครองส่วนแบ่งการตลาดถึง 80 เปอร์เซ็นต์

“พวกเขาเลยข้ามหัวตัวกลางไปติดต่อตรงผู้ผลิต เลือกผลิตและออกแบบแว่นทั้งหมดด้วยตัวเอง แล้วขายออนไลน์ในราคาที่ถูกกว่าราคาเดิมกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ด้วยวัตถุดิบและคุณภาพเทียบเท่ากัน ยอดขายจึงถล่มทลายมาก”

ทั้งสี่ปัจจัยรวมกันทำให้ Startup ไปได้ไกลแบบติดจรวด ชนิดว่าโตขึ้น 20 เปอร์เซ็นต์ ยังน้อยไป

“Startup เน้นการเติบโตเป็นหลัก โตเร็วประมาณ 10 เท่าต่อปี อย่าง Grab taxi โตประมาณ 1,000 เท่าในระยะเวลาสามปี หรือ Google มูลค่าปัจจุบันประมาณ 5 แสนล้านเหรียญ ปีที่แล้วยังโต 40 เปอร์เซ็นต์เลย หรือประมาณ 1.66 ล้านบาท” กระทิงยกตัวอย่าง

หรือ Uber ที่เข้ามาครองใจได้อย่างรวดเร็ว ตอบโจทย์คนเมืองที่มักโดนแท็กซี่เมิน เพราะอ้างว่าส่งรถบ้าง แก๊สหมดบ้าง

“ใครจะไปคิดว่าสุดท้ายแท็กซี่ถูกปฏิวัติด้วย Uber ทั้งๆ ที่ Uber ไม่ได้เป็นเจ้าของรถแท็กซี่สักคัน แต่มูลค่าบริษัทล่าสุดของ Uber คือ 75,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 2 ล้านล้านบาท นี่คือตัวอย่างการใช้เทคโนโลยีและวิธีการคิดใหม่ๆ เข้ามาเพื่อมาสร้าง platform คือการ เชื่อมผู้บริโภคและ service provider ให้เข้ามาหากัน”

ที่น่ากลัวและต้องปรับตัวกันขนานใหญ่คือ finance technology โดยเฉพาะองค์กรหรือหน่วยงานที่ให้บริการทางการเงิน (financial service) อย่างธนาคาร

ในแวดวง Startup มีการพยากรณ์กันว่า ใน 10 ปีข้างหน้า พนักงานธนาคารจะตกงานประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ กำไรจะหายไป 40 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 4 แสนล้านเหรียญ

“แอพพลิเคชั่นของธนาคารปัจจุบันก็ยังไม่ใช่  ธนาคารมีผลิตภัณฑ์เต็มไปหมดทั้งออมทรัพย์ ฝากประจำ ประกัน กองทุน ฯลฯ  แค่จะโอนเงินให้เพื่อนยังต้องคลิกตั้ง 15 ที แต่ Startup ทางการเงินอย่าง Unbundling ในสหรัฐอเมริกาทำจบแค่คลิกเดียว มันเท่ากับฉีกธนาคารเป็นชิ้นๆ แถมคิดค่าบริการถูกกว่าเป็น 10 เท่าด้วย”

DSC_6683 copy

ต้องไม่เป็นกบที่ตายในน้ำเดือด

ปรากฏการณ์นิตยสารทยอยปิดตัว สาเหตุหนึ่งคือธุรกิจ Startup

“นิตยสาร Image มีมาเกือบ 30 ปีก็ยังปิดตัว เพราะงบการตลาดไปลงที่ออนไลน์หมด เกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ ของงบโฆษณาไปอยู่ที่ Google และ Facebook ซึ่งมีพนักงานที่ละประมาณ 100 คน แต่นิตยสารทั้งหมดจ้างงานคนเท่าไหร่ – เกือบหมื่นคน นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นคือ winner takes all คือผู้ชนะ take ทั้งหมดแล้วเอาเงินกลับไปที่นู่น แล้วเหลือเศษๆ ให้ประเทศไทย ไม่ต้องพูดถึงแวดวงทีวีดิจิตอล ที่อยู่ในภาวะแย่งงบโฆษณา มีเท่าไหร่ก็แบ่งกันไม่พอ”

กระทิงกำลังอธิบายว่าทำไม Startup จึงสำคัญและต้องทำให้ทันเวลา

เหมือนกบ กว่าจะรู้ตัวว่าน้ำเดือดก็โดนต้มตายพอดี จุดเปลี่ยนตรงนี้มันน่ากลัว

ถ้าวาดเป็นไทม์ไลน์ กบจากประเทศไทยอยู่ในช่วงใกล้จะกระโดด กระทิงบอกว่า ถ้าอีกห้าปีข้างหน้าเราไม่ทำอะไร ธุรกิจหลายส่วนพากันโดนต้มตายหมด โดยเฉพาะ ณ เวลานี้ที่โครงสร้างประเทศก็ไม่แข็งแรง ไม่มีข้อได้เปรียบใดๆ ความสามารถในการแข่งขันก็มีน้อยมาก เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านอย่าง เวียดนาม พม่า ที่กำลังพัฒนาประชากรและเดินหน้า Startup อย่างแข็งขัน แถมค่าแรงถูกกว่าด้วย

DSC_6546 copy

Startup ไทยๆ

สำหรับ Startup สัญชาติไทย มีสัดส่วนการเติบโตเฉลี่ยสองเท่าทุกปี แต่ถ้าวัดจากเงินลงทุน สูงถึง แปดเท่า นับจากปี 2555 ที่เริ่มมี Startup เป็นต้นมา

“ถือว่ายังเล็ก แต่ก็โตเร็ว และมีความคืบหน้าที่ดี” แต่ข้อควรระวังของการโตเร็วคือ ฐานจะเริ่มสั่น ประกอบกับนโยบายสนับสนุนของรัฐบาลที่มีเข้ามา เรื่องทุกอย่างน่าจะไปได้ดี

“สิ่งที่ผมห่วงคือฟองสบู่เล็ก เพราะ Startup ได้เงินลงทุนไป ทั้งๆ ที่มูลค่าบริษัทไม่เยอะมาก ยังไม่มีรายได้ อีกสองสามเดือนข้างหน้าเราจะเห็นชัดว่ามันเป็นฟองสบู่จริงหรือเปล่า ถ้าเกิดฟองสบู่ขึ้นมาปุ๊บ มันเป็นฟองสบู่ที่เล็กมากๆ แต่ผมว่าต่อให้แตกไป ก็ยังมีหลายคนที่อยู่รอด และจะเติบโตไป”

อย่างไรก็ดี กระทิงชี้ให้เห็นข้อได้เปรียบของ Startup ไทย ที่อยู่ในตลาดค่อนข้างใหญ่ ถือเป็นอันดับ 2 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประชากรเกือบ 70 ล้านคนมีสัดส่วนการใช้สมาร์ทโฟนอยู่ที่ 73 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าสูง หากยอดขายสินค้าออนไลน์ยังไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ของยอดขายปลีกทั้งหมด

อย่างน้อยๆ ตลาด e-commerce ของประเทศไทย โตได้อีก 20 เท่า และที่สำคัญคู่แข่งน้อย อนาคตยังไปได้อีกไกล ยิ่งถ้าเอาจุดแข็งของ Startup ไทยมาใช้เยอะๆ จะยิ่งวิ่งฉิว

“คนไทยเก่งตรงมีความคิดสร้างสรรค์ มี local innovation หลายๆ ตัวที่ประเทศอื่นยังไม่มี เช่น wash box ตู้ซักผ้า ซึ่งมาตอบโจทย์ลูกค้ากลับดึก แต่ร้านซักรีดปิดเร็ว”

WashBox24 คือบริการซักรีดที่มีล็อคเกอร์เป็นจุดรับส่ง เปิดตลอด 24 ชั่วโมง บริการรับเสื้อ แจ้งเตือน รวมถึงจัดส่งผ้าถึงหน้าบ้าน ทั้งหมดในงานผ่านแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน

“ตอนนี้ WashBox24 ถล่มร้านซักรีดที่จ้างแรงงานพม่า 100 วันต่อคน เจ๊งไปแล้ว แค่ตู้เดียวก็ยึดครองพื้นที่ ซึ่งประเทศอื่นไม่มีตู้ซักผ้าแบบนี้นะ มันคือประเทศไทยมากๆ เลย มันตอบโจทย์คนไทย และขยายไปสิงคโปร์แล้วด้วย”

หรือแอพพลิเคชั่น Claim Di ที่ช่วยให้การดำเนินการเคลมเร็วขึ้น ทันทีเมื่อเกิดอุบัติเหตุชนกัน ก็หยิบโทรศัพท์มา ‘shake’ กันระหว่าง คนชนกับคนที่ถูกชน ระบบจะเช็คว่ามันเกิดเหตุรถชนจริง และมีกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองอยู่จริง จากนั้นทั้งคู่ก็กลับบ้านได้เลย

“เมืองไทยมีการเคลมประกัน 19 ล้านครั้งต่อปี บริษัทที่ทำแอพพลิเคชั่นนี้โตถึง 15 เท่าในหนึ่งปี มูลค่าบริษัท 350 ล้านบาท ตอนนี้ขยายไปมาเลเซียแล้ว” กระทิงให้ข้อมูล

DSC_6732 copy

Start up คือ งานควาย

ฟังดู Startup ดีเกือบทุกอย่าง แต่ความจริงก็คือ อัตราการเจ๊งอยู่ที่ 99 เปอร์เซ็นต์

“ผมลงทุนไป 12 บริษัทใน 12 เดือน ขนาดเลือกมาแล้วด้วยซ้ำ มันคือความเจ๊งระดับมหาศาลนะ”

เปรียบเทียบกับ SME แล้ว Startup เสี่ยงกว่ามาก เพราะต้องสร้าง business model ใหม่ๆ หรือเอา business model ใหม่ๆ มาลงในตลาดใหม่ ขณะที่ SME อย่างร้านกาแฟ หลายๆ อย่างถูกคำนวณมาหมดแล้ว แทบจะรู้ด้วยซ้ำว่าต้นทุน-กำไรต่อแก้วเท่าไหร่ และควรขายแก้วละเท่าไหร่

“แต่ Start up ไม่ใช่ ฉันไม่รู้ว่าลูกค้าฉันเป็นใคร ผลิตภัณฑ์คืออะไร ต้องทำเงินอย่างไร ต้องจ้างคนแบบไหน ไม่รู้อะไรเลย ไม่มีอะไรให้ลอกได้เลย” คนสร้าง Startup ทุกคนเป็น CEO หมด ซึ่งแปลว่า chief of everything คือทำทุกอย่างตั้งแต่งานเอกสารงานจัดการ วิ่งหาลูกค้า ออกแบบโปรแกรม ฯลฯ เพื่อแลกกับเงินเดือนขั้นต้นเพียง 9,000 บาท ขณะที่เพื่อนกินเงินเดือน 20,000 บาท

“งานควาย รายได้ไม่ดี แต่มีอนาคต และความเสี่ยงมหาศาล” คือคำจำกัดความของ Startup จากกระทิง

“ฟังจากชื่อเท่มาก upๆๆๆ ตลอด แต่จากที่ผมทำ Startup มา ช่วงเวลาที่ผม down คือ  90 เปอร์เซ็นต์นะ ไม่ใช่ 10 เปอร์เซ็นต์ คุณต้องมีความอึดทางใจมหาศาล ถ้าคุณเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท เป็น CEO ต้องมีความอึดในการดึงลูกทีมเข้ามาเพราะเงินเดือนก็น้อย ทุกคนอยู่ด้วยความฝัน อยู่ด้วยอนาคต คุณจะดึงทีมเข้ามาได้อย่างไร แล้วคุณจะจ้างคนที่มี passion มี vision เดียวกันได้อย่างไร ทั้งที่เงินเดือนก็น้อย ทำงานก็หนัก

“สมัยผมอยู่ที่อเมริกา ทำงานขั้นต่ำ 9 โมงถึง 5 ทุ่ม ทำงาน 6.5 วันต่ออาทิตย์ เป็นเวลาสองปีครึ่ง บางครั้งร้องไห้ บางครั้งผมอ้วกเป็นเลือด เป็นทั้งความดัน  ค่าตับเกินสี่เท่า บ้านหมุน ทั้งๆ ที่ผมว่าผมก็อึดแล้วนะ”

กระทิงเปรียบเทียบให้ฟังว่า Startup คือการเอาชีวิต 10 ปีมาอัดอยู่ในเวลาแค่สองปี แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ในสองปีนั้นคุณได้เรียนรู้สิ่งที่คนอื่นเรียนในเวลา 10 ปี

จริงๆ Startup โคตรจะไม่อิสระเลย งานโคตรควาย อย่าพูดเรื่องสโลว์ไลฟ์ ชีวิตแม่งโคตรฟาสต์ไลฟ์เลย สุดๆ ชีวิตเหยียบคันเร่งตลอด เหมือนวิ่ง 100 เมตร แต่วิ่งมาราธอนแบบนี้ไปตลอด 40 กิโลเมตรหยุดกลางทางได้สองวินาทีแล้วไปต่อ

ขนาดเจ้าพ่อ Startup อย่างกระทิง ที่เรียกว่าอยู่ตัวแล้ว และอยู่ในฐานะผู้ให้ทุน Startup หน้าใหม่ๆ ชีวิตส่วนตัวก็ยังไม่หนีกันเท่าไหร่นัก

“อย่างผมตี 2 ยังนั่งแชทกันอยู่เลย ผมนอนวันละประมาณ 4 ชั่วโมง ดูขอบตาก็รู้ พิมพ์มา ประมาณตี 3 ผมก็ยังตอบเลย 7 โมงก็ยังตอบ แม่งโคตรไม่อิสระ”

แถมระดับความเจ๊งในการทำ Startup ครั้งแรกยังอยู่ที่ 99 เปอร์เซ็นต์

“เจ๊ง 99 เปอร์เซ็นต์สำหรับครั้งแรก โดยส่วนใหญ่ Startup ต้องปรับตัวประมาณสองครั้งถึงจะสำเร็จ เฉลี่ยแล้ว 1.2 ครั้ง อย่างคนก่อตั้งอินสตาแกรม โปรเจคท์แรกก็เจ๊ง ตัวที่สองจึงสำเร็จ ทวิตเตอร์ก็เช่นกัน ที่ไม่ปรับตัวเลยก็ตาย”

แต่ในความดิ่งสุดนั้น เสน่ห์บ้าๆ บางอย่างมันก็มี และมีมากเสียด้วย

“อย่างอินสตาแกรม พนักงาน 13 คน ธุรกิจ 1,000 ล้านเหรียญ มีผู้ใช้ 180 ล้านคน วอทส์แอพ (WhatsApp) พนักงาน 55 คน มูลค่าบริษัท 7 แสนล้านบาท ถ้าคนใดคนหนึ่งออกไปกินกาแฟ บริษัทรวนเลยนะ แต่คือเสน่ห์ของมัน 55 คนแต่สร้างโปรดักท์ที่มีคนใช้ 400 ล้านคนทั่วโลก ฟังแล้วขนลุก”

 

Author

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
หญิงแกร่งที่ทำงานทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านให้กับ WAY ถ้าเป็นนักฟุตบอลนี่คือผู้เล่นผู้จัดการทีมที่มีประสบการณ์ในสายงานข่าว ทั้งคลุกคลี สัมภาษณ์ บันเทิง ไลฟ์สไตล์ นอกจากนี้การเป็นคุณแม่ซึ่งมีลูกสาวย่างเข้าวัยรุ่นยังช่วยส่งเสริมให้สามารถปั่นงานด้านเด็กและเยาวชนอย่างเชี่ยวชาญ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า