THE MONOPOLY OF VIOLENCE: การผูกขาดความรุนแรงของรัฐ ปกป้องภาพลักษณ์ประเทศด้วยการกดปราบประชาชน

กระสุนยาง แก๊สน้ำตา กระบอง ท้องถนน คนบาดเจ็บ ตำรวจ และผู้ชุมนุม

ข้างต้นคือภาพการประท้วงของขบวนการเสื้อกั๊กเหลือง (Yellow Vest Movement) ในฝรั่งเศส ซึ่งถูกบันทึกไว้ในภาพยนตร์สารคดี The Monopoly of Violence ราวเดือนพฤศจิกายน 2018 – กุมภาพันธ์ 2020 

สิ่งที่เกิดขึ้นไม่แตกต่างจากภาพสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน (คฝ.) และผู้ชุมนุมกลุ่ม ‘ราษฎรหยุดเอเปค 2022’ บริเวณถนนดินสอ เมื่อเช้าวันที่ 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

ใจความหลักของสารคดีพยายามชี้ให้เห็นว่า ตำรวจคือองค์กรความรุนแรงที่เลี้ยงโดยรัฐ สิทธิผูกขาดความรุนแรงของรัฐได้อาศัยความแยบยลขมขื่นของกฎหมายสถาปนาความชอบธรรมขึ้นมา แม้ผู้ชุมนุมและตำรวจจะก่อความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินในเชิงกายภาพ ทว่าตำรวจกลับเป็นฝ่ายเดียวที่สามารถลอยนวลพ้นผิด ขณะที่ฝั่งผู้ชุมนุมมักตกเป็นจำเลยในหน้าประวัติศาสตร์เสมอ สิ่งนี้เสมือนสัจจะสากลของคู่ขัดแย้งระหว่างรัฐและประชาชน

“สิ่งที่ตำรวจและผู้มีอำนาจต้องการมากที่สุด คือต้องการปกป้องภาพลักษณ์ของประเทศ ซึ่งผมนึกไม่ออกว่าการปกป้องภาพลักษณ์ของประเทศโดยการกระทืบประชาชน ตีหัวประชาชน มันจะช่วยภาพลักษณ์ประเทศดีขึ้นได้ยังไง นี่คือสิ่งที่ผมไม่สามารถเข้าใจได้จากปรากฏการณ์นี้ …อย่างน้อยช่วยแกล้งรับฟังประชาชนบ้างก็ยังดี” รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวบนเวทีเสวนา หลังกลับจาก สน.ทุ่งสองห้อง เพื่อติดตามสถานการณ์ผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุม 25 ราย

ในวันที่ความรุนแรงเกิดขึ้นเพื่อรักษาภาพลักษณ์ประเทศ การพยายามหรี่เสียงของผู้ชุมนุมด้วยยุทโธปกรณ์จากภาษีประชาชนคือการตอกย้ำว่า รัฐเป็นผู้มีความชอบธรรมในความรุนแรง

เย็นย่ำของวันที่ 18 พฤศจิกายน คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาหัวข้อ ‘ย้อนรอยการช่วงชิงความชอบธรรมในการผูกขาดอำนาจและการใช้ความรุนแรง’ ผ่านการรับชมภาพยนตร์สารคดี ‘The Monopoly of Violence’ โดยมี รศ.ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และรังสิมันต์ โรม ร่วมเสวนา

หลังกิจกรรมชมภาพยนตร์และเสวนาจบลง สิ่งที่เราค้นพบคือ หากแรงบันดาลใจเกี่ยวกับประชาธิปไตยสามารถส่งต่อและแพร่ขยายได้ดั่งที่เคยเป็นมา การใช้ความรุนแรงในประเทศโลกที่หนึ่งและประเทศโลกที่สามจึงมีโอกาสเกิดขึ้นได้ไม่ต่างกัน ดังประโยคหนึ่งที่ปิยบุตรเน้นย้ำว่า “หากขึ้นชื่อว่ารัฐ ย่อมมีความรุนแรง”

Un pays qui se tient sage: ประเทศนี้สงบเรียบร้อยดีจัง

ปิยบุตรเปิดฉากการเสวนาด้วยการบอกว่า The Monopoly of Violence มีชื่อในภาษาฝรั่งเศสที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากคลิปตำรวจบุกเข้าโรงเรียน และบังคับให้นักเรียนนั่งคุกเข่าราว 3 ชั่วโมง

“Voila une classe qui se tient sage” หรือ “นักเรียนห้องนี้เรียบร้อยดีจัง” คือถ้อยคำของตำรวจที่เป็นผู้ถ่ายคลิป ก่อนจะกล่าวต่อไปว่า “กูอยากให้ครูพวกมึงได้เห็น”

เดวิด ดรัฟเฟสเน (David Dufresne) ผู้กำกับ ใช้คำถ่อยของตำรวจผู้นี้ ดัดแปลงเป็นชื่อสารคดี โดยแทนที่คลาสเรียนด้วยคำว่าประเทศ Un pays qui se tient sage เพื่อเสียดสีความรุนแรงจากรัฐในนามความสงบเรียบร้อย

ปิยบุตรปูพื้นฐานว่า กลุ่มเสื้อกั๊กเหลืองไม่ใช่องค์กรจัดตั้ง หากแต่เกิดจากความอัดอั้นของคนหาเช้ากินค่ำ หลังจากเอมานูว์แอล มาครง (Emmanuel Macron) ประธานาธิบดีฝรั่งเศสประกาศนโยบายขึ้นภาษีน้ำมัน ทำให้ผู้ชุมนุมกลุ่มแรก คือคนทำงานสายโลจิสติกส์ เช่น คนขับรถบรรทุก เริ่มนัดชุมนุมทุกวันเสาร์บริเวณวงเวียนทางแยก ก่อนขยับขยายไปยังบุคคลหลากหลายอาชีพ และยกระดับการชุมนุมมาที่ถนนฌ็องเซลิเซ่ อันเป็นศูนย์ราชการ เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว

“ขึ้นชื่อว่ารัฐ มันก็เป็นแบบนี้หมด ถ้าคุณไปแตะกล่องดวงใจ มันเอาตาย เมื่อเสื้อกั๊กเหลืองเริ่มยกระดับการชุมนุมเข้ามายังถนนฌ็องเซลิเซ่ เข้าใกล้ทำเนียบประธานาธิบดี จากนั้นก็เริ่มเอาคำขวัญสมัยปฏิวัติฝรั่งเศสมาใช้ ‘ยังมีคุกบัสตีย์ให้เราเผาอีกโว้ย’ หมายความว่ายังมีการกดขี่อยู่” 

ปิยบุตรกล่าวต่อไปว่า “พอเข้าใกล้กล่องดวงใจรัฐ รัฐจะเข้าจัดการอย่างไม่มีหลักนิติรัฐ นิติธรรม ไม่มี Rule of law, Human right และไม่มีหลักสากลใดๆ ทั้งสิ้น

“หากย้อนกลับไปดูตั้งแต่ปี 2563-2564 ถ้าคุณไล่ประยุทธ์ รัฐยังเฉยๆ ไล่ไปเถอะ เรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ รัฐก็ยังเฉยๆ แต่พอพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์ รัฐจัดหนักทันที แสดงว่านี่เป็นกล่องดวงใจของรัฐไทย และพอมันกระทบกล่องดวงใจ ก็เหมือนสวิตช์ความรุนแรงของตำรวจถูกเปิด และยังไม่มีใครสั่งปิด”

ในช่วงหนึ่งของสารคดี ผู้ให้สัมภาษณ์คนหนึ่งได้หยิบยกแนวคิดเรื่องความรุนแรงของ เฮลเดอร์ คามารา (Hélder Câmara) บาทหลวงชาวบราซิล มาประกอบใช้อย่างน่าสนใจ คามาราแบ่งความรุนแรงเป็น 3 ประเภท คือ ความรุนแรงแบบสถาบัน ความรุนแรงแบบปฏิวัติ และความรุนแรงแบบปราบปราม

ปิยบุตรอธิบายว่า ‘ความรุนแรงแบบสถาบัน’ หมายถึงการออกแบบระบอบให้ผู้ปกครองกดขี่คนอื่นๆ ได้โดยถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อมีความรุนแรงเชิงสถาบันเกิดขึ้น ย่อมมีคนต่อต้านเพื่อล้มล้างความรุนแรงแบบแรก สิ่งนี้เรียกว่า ‘ความรุนแรงแบบปฏิวัติ’ เมื่อความรุนแรงแบบที่สองเกิดขึ้น สิ่งที่ตามมาคือ ‘ความรุนแรงแบบปราบปราม’ 

“ถ้าไม่มีความรุนแรงแบบสถาบัน แล้วความรุนแรงแบบปฏิวัติจะมีได้อย่างไร ถ้าไม่มีผู้กดขี่ จะมีผู้ต่อต้านได้อย่างไร ถ้าคุณไม่ออกแบบระบอบที่กดขี่ผู้อื่นโดยถูกต้องตามกฎหมายเสียตั้งแต่แรก จะมีคนลุกขึ้นมาต่อต้านได้อย่างไร”

ในเหตุการณ์เสื้อกั๊กเหลือง ตำรวจใช้ความรุนแรงแบบที่ 3 ปราบปรามผู้ชุมนุมก่อน แล้วจึงเปิดกฎหมายดูว่า ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ปิยบุตรชี้ว่า การกระทำเช่นนี้ไม่ต่างอะไรจากความรุนแรงที่ คฝ. กระทำต่อผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎรหยุด APEC 2022

“ตัวอย่างม็อบ APEC ผมพบว่ามันไม่มีกฎหมายข้อไหนรองรับได้เลย ไม่มีทั้ง ม.44 และสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตชุมนุม มีเพียง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะเท่านั้น ซึ่งก็บอกเพียงว่า จุดนี้ชุมนุมได้ จุดนี้ห้ามชุมนุม ไม่มีการบอกให้ใช้กำลังแบบเต็มพิกัดได้ แต่วันนี้ตำรวจบอกว่า เพราะผู้ชุมนุมทำเกินกว่าเหตุ จึงต้องจัดการ แต่คุณไม่ได้เปิดกฎหมายดูสักมาตรา ธงคำตอบมันมีอยู่ในใจแล้วว่า ต้องหยุดการชุมนุมให้ได้ แล้วค่อยมาเปิดกฎหมายดูทีหลัง

“ต่อให้ผู้ชุมนุมทำผิดกฎหมายจริงๆ แต่ถ้ากฎหมายและระบอบการปกครองไม่ยุติธรรมล่ะ คนจะไม่มีสิทธิลุกขึ้นมาต่อต้านเลยหรือ ดังนั้น เวลานักปรัชญาการเมืองหรือรุสโซบอกว่า มนุษย์มีสิทธิขั้นพื้นฐานติดตัวตั้งแต่กำเนิด มีสิทธิที่จะลุกขึ้นสู้ล้มระบอบที่ไม่เป็นธรรม แต่พอถึงเวลาตำรวจก็จะบอกว่าพวกคุณทำผิดกฎหมายหมด”

ปิยบุตรสรุปว่า ความรุนแรงคือบ่อเกิดของรัฐ และรัฐก็คือผู้ผูกขาดความรุนแรง ทำให้สิ่งที่ผิดเป็นสิ่งที่ถูกในนามของรัฐ และต่อให้ประเทศฝรั่งเศสหรือประเทศอื่นๆ จะดูเป็นประชาธิปไตยอย่างไร หากขึ้นชื่อว่ารัฐ ย่อมมีความรุนแรงอยู่เบื้องหลัง 

ขณะที่การชุมนุมในฝรั่งเศสชะลอลงด้วยเหตุผล 2 ข้อ หนึ่ง – มีการใช้มาตรการความรุนแรงและดำเนินคดีมากขึ้น สอง – ฝรั่งเศสจะมีการเลือกตั้งในปี 2022 ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่จึงหันหน้าเข้าคูหาแทนที่การลงถนน

ข้อสังเกตหนึ่งที่ปิยบุตรทิ้งไว้คือ บุคลิกภาพตำรวจฝรั่งเศสจะคล้ายกันหมด คือไม่คำนึงว่าใครจะเป็นคนขาวหรือผู้อพยพ หากผู้บังคับบัญชาเปิดไฟเขียวให้ใช้ความรุนแรง พวกเขาก็ใช้มันอย่างเกิดสัดส่วนในลักษณะ ‘ตีก่อน คิดทีหลัง’ แม้จะมี Rule of law หลักสลายการชุมนุมสากล หรือมีศาลสถิตยุติธรรมคอยถ่วงดุล หากแต่เมื่อถึงการปฏิบัติจริง ผู้ชุมนุมกลับถูกปฏิบัติปางตายและต้องอาศัยการฟ้องศาลภายหลัง และต่อให้ศาลตัดสินว่าตำรวจมีความผิด ก็ใช้เวลาถึง 4-5 ปี กล่าวคือ หากปัจจุบันตำรวจได้รับไฟเขียว ความรุนแรงไม่มีทางเป็นสัดส่วน และความยุติธรรมภายหลังเกิดขึ้นได้น้อยกรณี

สภาวะยกเว้นที่ถูกทำให้เป็นกฎถาวร

ถัดมา อนุสรณ์ให้ข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า อำนาจหรือการเมืองไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่ในส่วนของรัฐ ขณะเดียวกัน คนที่เกี่ยวข้องกับอำนาจก็ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับรัฐ

“ในแง่หนึ่ง รัฐมีความชอบธรรมและผูกขาดการใช้ความรุนแรง แต่ในสถานการณ์พิเศษ รัฐมักจะหยิบกฎหมายขึ้นมาเพื่อให้ตัวเองสามารถใช้ความรุนแรงได้อย่างชอบธรรม หรือที่เราเรียกว่า ‘ลอยนวลพ้นผิด’” 

อนุสรณ์หยิบยกแนวคิด ‘Symbolic Violence’ ของ ปิแอร์ บูร์ดิเยอ (Pierre Bourdieu) ขึ้นมาอธิบายถึงความรุนแรงว่า หากเรายินยอมปฏิบัติตามบางสิ่งบางอย่างที่เราไม่อยากทำมัน สิ่งนั้นก็นับเป็นความรุนแรง เช่น การทำบุญบริจาคเงินให้การกุศล ทั้งที่คนนั้นอาจไม่ได้มีฐานะดีมากนัก 

นอกจากนี้ อนุสรณ์ยังหยิบยกแนวคิดว่าด้วย ‘องค์อธิปัตย์’ จากหนังสือ Homo Sacer ของ จิออร์จิโอ อกัมเบน (Giorgio Agamben) เพื่อชี้ให้เห็นว่า อำนาจอธิปัตย์ไม่ได้อยู่ในโครงสร้างอำนาจที่แบ่งสัดส่วนชัดเจน เช่น นายกรัฐมนตรี หากแต่ยังอยู่ในช่องว่างหรือรอยต่อระหว่างอำนาจ ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นที่มาของอำนาจอธิปัตย์ และคนที่มีอำนาจอธิปัตย์ ก็คือคนที่ประกาศสภาวะยกเว้นได้ 

ขณะที่ คาร์ล ชมิตต์ (Carl Schmitt) บอกว่าค่ายเชลยศึกของนาซีเป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ที่ทุกคนอยากเบือนหน้าหนี แต่อกัมเบนชี้ว่าสิ่งนี้ไม่ใช่ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ แต่เป็นระเบียบการเมืองร่วมสมัย หรือเป็นที่ที่สภาวะยกเว้นถูกทำให้เป็นระเบียบกฎเกณฑ์อันถาวรในการจัดการกับชีวิตที่อยู่ในนั้น และเป็นระเบียบการเมืองตะวันตกสมัยใหม่ที่เราสามารถพบเห็นได้ทั่วไป เช่น คอนเสิร์ต สนามกีฬา หรือกระทั่งการปราบจลาจล ซึ่งตำรวจได้เปลี่ยนสถานะตัวเองจากผู้บังคับใช้กฎหมาย เป็นคนคนหนึ่งที่ใช้จริยธรรมและการตัดสินใจของตัวเองในการใช้กฎหมาย อกัมเบนจึงชี้ว่า สิ่งนี้คือการไร้ความสามารถของการเมืองตะวันตกที่ไม่สามารถทำอะไรได้ หากไม่แปลงร่างเป็นจักรกลสังหาร

“เดิมทีในไทยก็มีกฎหมายพิเศษอยู่ เช่น พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ กฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตรา 17 ซึ่งก็พูดว่าคนที่หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้าขึ้นไป ไม่ต้องถูกดำเนินคดี ไม่ว่าจะเป็นทางแพ่ง อาญา หรือวินัย บวกกับความเป็นกลไกรัฐที่คุณสามารถใช้ความรุนแรงกับผู้คนได้ทุกเมื่อเชื่อวัน พอเกิดสถานการณ์เฉพาะขึ้นมา คุณก็ใช้กฎหมายตรงนี้ยกเว้นสิทธิเสรีภาพบางประการออกไป และอนุญาตให้เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติหน้าที่โดยที่ไม่ต้องรับผิด”

อนุสรณ์ยกตัวอย่างความรุนแรงโดยรัฐกรณีตากใบที่คำพิพากษาระบุชัดเจนว่า ผู้ชุมนุมเสียชีวิตจากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ แต่กลับไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดมีความผิด เพราะปฏิบัติหน้าที่ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สิ่งนี้คืออาชญากรรมในนามของรัฐ

“เรารู้กันอยู่ว่าไม่ได้มีแค่รัฐ” อนุสรณ์เล่าต่อไปว่า “หลังจากที่เราพูดถึงองค์อธิปัตย์ในฐานะผู้ประกาศสภาวะยกเว้น หรือผู้ที่อยู่ในและนอกฎหมายในเวลาเดียวกัน และองค์อธิปัตย์ใหญ่สุดในประเทศนี้คือใคร เราก็รู้อยู่ เพราะเหตุที่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะยกเว้นการบังคับใช้กฎหมาย ตัวองค์อธิปัตย์จึงวางตัวเองไว้นอกกฎหมายอย่างถูกกฎหมาย ซึ่งคุณสมบัติผกผันนี้คือองค์อธิปัตย์ และพอคุณไปดูรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 องค์อธิปัตย์วางตัวไว้ทั้งนอกและในกฎหมาย เพราะคุณไม่สามารถฟ้องร้องหรือดำเนินคดีได้ ตามความหมายของอกัมเบน มันจึงชัดว่าองค์อธิปัตย์ของเราคือใคร”

องค์อธิปัตย์อาจไม่ใช่รัฐหรือโครงสร้างส่วนบนเสมอไป แต่ยังมีคนอื่นๆ ที่เป็นเจ้าเหนือชีวิต เช่น เจ้าพ่อ กลุ่มต่างศาสนา คนค้าของเถื่อน รวมไปถึงกลุ่ม กปปส. ที่เรียกร้องให้รัฐใช้อำนาจกับคนอีกกลุ่ม แม้การชุมนุมของ กปปส. จะชัตดาวน์กรุงเทพฯ ก็ตาม

“มันแปลว่าอะไร ตำรวจอยู่ตรงไหนในสังคมไทย จะเทียบเคียงกับตำรวจฝรั่งเศสได้ไหม หรือเอาเข้าจริงตำรวจมันก็ไม่ได้มีอะไร หรือขึ้นอยู่กับว่าอำนาจแท้จริงของรัฐมันอยู่ตรงไหน ตอนนั้น (ช่วงการชุมนุมของ กปปส.) ตำรวจค่อนข้างไม่มีความหมายอะไร”

สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนในสารคดี The Monopoly of Violence คือผู้ใช้ความรุนแรงเป็นตำรวจ ขณะที่ในไทยกลับเป็นทหาร อนุสรณ์ย้อนไปถึงพฤษภาคม 2553 ที่ไม่มีผู้เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ แต่เสียชีวิตจากทหารที่ประกาศกระชับพื้นที่ ตั้งกำลังล้อม ตั้งป้ายเขตกระสุนจริง ผู้ชุมนุมเสียชีวิตกว่า 90 ศพ และเอาผิดใครไม่ได้ ความยอกย้อนคือ ผู้อำนวยการของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) คือ สุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่งต่อมาในปี 2557 กลายเป็นเลขาธิการของ กปปส. พร้อมประกาศว่าตนคือรัฐาธิปัตย์ 

“ถึงที่สุดแล้ว ความรุนแรงไม่เพียงมีแค่รัฐ แต่รวมไปถึงเจ้าพ่อหรือผู้ทรงอิทธิพลในท้องถิ่น ซึ่งล้วนแต่อ้างเรื่องศีลธรรมจรรยา”

ความเปลี่ยนแปลงไม่จำเป็นต้องแลกมาด้วยความรุนแรง

“สิ่งที่รัฐบาลนี้ทำ คือสิ่งที่ยืนยันว่า การที่เรากล่าวหาว่าพวกเขาเป็นเผด็จการ เป็นทรราช ใช้อำนาจเกินเลย ทำร้ายประชาชน ปิดปากประชาชน สรุปว่าจริงหมดเลย สิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้ คือความชัดเจนว่าเราอยู่ในประเทศที่มันไม่เป็นประชาธิปไตยจริงๆ”

รังสิมันต์แสดงความเห็นต่อเหตุการณ์ 18 พฤศจิกายน และก่อนเข้าร่วมเสวนา รังสิมันต์เผยว่าได้ไปที่ สน.ทุ่งสองห้อง เพื่อร่วมสังเกตการณ์การควบคุมตัวผู้ชุมนุม เขาพบว่าหลายคนบาดเจ็บ และบางคนอาจตาบอด

เขายอมรับว่า เมื่อแรกดูภาพยนตร์เรื่องนี้ยังไม่คิดอะไร แต่เมื่อเกิดเหตุสลายการชุมนุมในช่วงเช้าวันเดียวกัน ภาพเหตุการณ์ทั้งอดีตและปัจจุบันก็สลับไปมา คล้ายจะเป็นประเทศเดียวกัน และดูเหมือนหนังฉายซ้ำ

“ซีนแรกที่ผมจดจำได้ คือเด็กนั่งคุกเข่า 3 ชั่วโมง หลังจากผมดูซีนนี้ ผมนึกถึงเหตุการณ์ตากใบ โอเคตากใบมันโหดกว่า เพราะเอาคนทับๆ กัน แต่มันแทบไม่ต่างกัน”

รังสิมันต์ตั้งข้อสังเกตแรกว่าการที่ตำรวจรู้สึกโกรธผู้ชุมนุม เพราะไม่ได้มองว่าผู้ชุมนุมเป็นพลเมืองร่วมชาติ ไม่ได้มองเยาวชนเป็นต้นไม้ที่จะเติบโตไปเป็นกำลังสำคัญของประเทศ หากแต่เป็นเป็นต้นไม้ที่กำลังจะเป็นศัตรูและต้องรีบตัด

ข้อสังเกตที่ 2 รังสิมันต์ชี้ว่าในบางบทบางตอน เราจะเห็นตำรวจฝรั่งเศสไม่ใส่ยูนิฟอร์ม บ้างใส่กางเกงยีนส์ บ้างใส่แจ็คเก็ตสีดำ สิ่งที่ต่างออกไปจากผู้ชุมนุมคือหมวกกันน็อคเท่านั้น การซ่อนตัวตนหรือซ่อนสถานะตำรวจ แสดงว่าสิ่งที่ตำรวจจะทำเพื่อปราบปรามการชุมนุมไม่ได้แตกต่างจากโจรผู้ร้าย สิ่งนี้คือ ‘ความไม่โปร่งใส’ ที่ปรากฏในหลายๆ ฉาก

“จึงไม่แปลกที่เรตความเป็นประชาธิปไตยของเราเท่ากับฝรั่งเศสแล้ว คือเป็นกลุ่มประเทศที่ประชาธิปไตยมีความบกพร่อง และไม่น่าเชื่อว่าประเทศที่เป็นต้นธารของสิทธิมนุษยชนและระบอบประชาธิปไตยประเทศหนึ่ง จะมาอยู่ในกลุ่มเดียวกับประเทศไทยที่มีนายกรัฐมนตรีชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”

จากข้อสังเกตข้างต้น รังสิมันต์ชวนคุยถึงข้อสังเกตที่ 3 เขากล่าวว่า ฝรั่งเศสซึ่งเป็นแม่แบบในเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่กลับมีเหตุการณ์สลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง สิ่งนี้สะท้อนว่าระบอบประชาธิปไตยไม่สามารถสร้างได้โดยความเป็นเอกเทศ ทุกอย่างล้วนเป็นแรงบันดาลใจและส่งต่อ แต่เมื่อประเทศหนึ่งส่งต่อความรุนแรง อีกประเทศหนึ่งก็อาจโน้มรับความรุนแรงเข้ามา เฉกเช่นที่ฝรั่งเศสเคยเป็นแรงบันดาลใจในการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองให้ประเทศอื่นๆ

“ผมคิดว่ามันเหมือนกับม็อบ คือม็อบในบ้านเราได้รับ inspire มาจากม็อบฮ่องกง หรือ Sunflower movement ในไต้หวัน

“ดังนั้น ถ้าเราไม่ยุ่งเรื่องของชาวบ้าน วันข้างหน้าก็จะมีคนบางกลุ่มอ้างว่า ถ้าประเทศนั้นทำได้ และทำไมเราทำไม่ได้ ผมจึงคิดว่า ระบอบเผด็จการก็ดี ระบอบประชาธิปไตยก็ดี มันมีสายธารของการยึดโยงเชื่อมโยงกัน ซึ่งเรา (แต่ละประเทศ) ไม่สามารถแยกออกจากกัน”

นอกจากนี้ รังสิมันต์ยังเล่าถึงฉากที่อินฟลูเอนเซอร์ในฝรั่งเศสพยายามบอกว่า ผู้ชุมนุมผิด ตำรวจถูก ทำราวกับว่าผู้ชุมนุมไม่สามารถคิดอะไรเองได้ ในฐานะคนที่เคยร่วมชุมนุมและสัมผัสการถูกแปะป้ายตราหน้าแล้ว เขาคือคนที่ถูกความรุนแรงโดยรัฐกระทำอย่างถึงที่สุดคนหนึ่ง

“ผมคิดว่าเราทุกคนต่างเป็นเหยื่อความรุนแรงของรัฐ รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐด้วยนะ ผมเชื่อจริงๆ ว่าเจ้าหน้าที่รัฐคงได้รับบรีฟหรือข้อมูลว่าประชาชนเป็นศัตรู นั่นจึงเป็นเหตุผลให้เขาคิดว่าสิ่งที่เขาทำไม่ใช่ความรุนแรง แต่เป็นสิ่งที่เขาเชื่อจริงๆ ว่ามีคนอยู่เบื้องหลังการชุมนุม”

เมื่อมีผู้ถามว่า ท้ายสุดแล้วความเปลี่ยนแปลงต้องแลกมากับความรุนแรงอย่างเดียวหรือไม่ รังสิมันต์ตอบว่า ตนไม่ใช่คนที่เชื่อในความรุนแรง และไม่ควรจะมีความรุนแรงใดที่มีความชอบธรรม

“ถ้าเรามองภาพรวมที่ผ่านมา ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการใช้ความรุนแรงกับเจ้าหน้าที่รัฐตั้งแต่ต้น เช่น วันนี้ผู้ชุมนุมต้องการไปยังที่ประชุม APEC ถ้าไม่มีการสกัดกั้น การปะทะก็จะไม่เกิดขึ้น เฉกเช่นเดียวกับการชุมนุมก่อนหน้านี้ ทุกครั้งจะประกาศว่าจะไปที่ไหน เขาจะชุมนุมอย่างไร เขาจะยื่นหนังสือหรือมีข้อเรียกร้องอะไร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลาก็คือ ฝ่ายรัฐพยายามทำให้ผู้ชุมนุมไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้ เพียงเพราะว่า ถ้าผู้ชุมนุมบรรลุวัตถุประสงค์ รัฐบาลหรือตำรวจจะเสียหน้า

“ผมไม่เชื่อว่าความรุนแรงจะสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้ เพราะเราในฐานะประชาชนไม่สามารถจับอาวุธแล้วสู้กับทหารตำรวจที่ผ่านการฝึกมาได้ ยังไม่นับเทคโนโลยีข่าวกรองหรือเพกาซัส (สปายแวร์)

“ผมเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนที่สุด มันคือการเริ่มต้นด้วยการเปลี่ยนแปลงทางความคิด จากนั้นก็เปลี่ยนแปลงที่โครงสร้างอำนาจ ซึ่งยอมรับว่าต้องใช้เวลา” 

รังสิมันต์เล่าว่า สาเหตุที่เขาเชื่อเช่นนั้น เพราะความคิดคนเปลี่ยนชนิดหน้ามือเป็นหลังมือในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา แรกสุดคือไม่มีคนยืนในโรงหนัง และเขายังยกตัวอย่างข้อมูลเรื่อง ‘ตั๋วช้าง’ กับขบวนการ ‘ค้ามนุษย์’ ที่ใช้อภิปรายในสภา การได้มาซึ่งข้อมูลล้วนต้องอาศัยข้าราชการน้ำดีที่ยังไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ รวมถึงข้อเรียกร้องปฏิรูปทหารและตำรวจที่สังคมไม่เคยมีฉันทามติเรื่องนี้มาก่อน สิ่งเหล่านี้ล้วนสะท้อนการเปลี่ยนความคิดของสังคมที่ค่อยๆ เดินและอยู่บนเส้นทางที่ถูกต้อง

“อาจโดนดำเนินคดีบ้าง แต่ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่าง ผมจึงรู้สึกมีความหวังที่สังคมนี้จะเปลี่ยนอย่างยั่งยืนโดยที่ไม่ต้องนองเลือดเหมือนที่หลายประเทศทำ

“หลังการเลือกตั้งครั้งหน้า ผมเชื่อว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง อย่างน้อยที่สุดเราคงจะไม่ได้เจอหน้า พล.อ.ประยุทธ์ อีกแล้ว ใครคิดถึงก็รีบๆ ดูหน้าเขาไว้”

Author

ยสินทร กลิ่นจำปา
ผู้ปกครองของแมวน้อยวัยกเฬวราก จิบเบียร์บ้างตามโอกาส จิบกาแฟดำเป็นครั้งคราว จิบน้ำเปล่าเป็นกิจวัตร เชื่อว่าสิ่งร้อยรัดผู้คนคือเรื่องราวและความหวัง พยายามเขย่าอัตตาตนเองด้วยบทสนทนากับคนรอบข้าง

Illustrator

พิชชาพร อรินทร์
เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีลูกพี่ลูกน้องเป็นน้องหมา 4 ตัว ชอบสังเกต เก็บรายละเอียดเรื่องราวของผู้คน ตัดขาดจากโลกภายนอกด้วย playlist เพลงญี่ปุ่น อยู่ตรงกลางระหว่างหวานและเปรี้ยว นั่นคือ ส้ม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า