เรื่อง/ภาพ : ชมพูนิกข์ ณ นคร
+ จากลาดพร้าวถึงอโศก
ศุภกร อรุณศรี หรือ นัส อายุ 44 ปี ขับแท็กซี่ครั้งแรกปี 2535 ก่อนหน้านั้นนัสทำอาชีพขับรถให้กับนักหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง
จุดเริ่มต้นของอาชีพคนขับแท็กซี่ของเขาเกิดจากการนั่งแท็กซี่กลับบ้านและมีโอกาสได้สนทนากับคนขับแท็กซี่ถึงหลักการเช่าแท็กซี่ขับ โดยคิดว่าทำเพื่อฆ่าเวลาไม่ได้คิดจะยึดเป็นอาชีพ จากตอนนั้นถึงวันนี้นับเป็นเวลา 23 ปี ที่มือเขาต้องจับพวงมาลัย ขาเตะคันเร่งสลับเหยียบเบรก ทำแบบนี้ทั้งวัน สายตาก็ต้องสอดส่องมองหาผู้โดยสารตลอดเวลา
“ต้องตระเวนไปโดยที่ไม่มีเป้าหมาย ขับไปเรื่อยๆ ส่งผู้โดยสารสุขุมวิทต้องคิดแล้วต้องไปทางไหนที่จะมีผู้โดยสาร ไปทางไหนที่รถไม่ติดหรือติดน้อยที่สุด คือต้องจอดนิ่งแล้วคิด…จะไปทางไหนดี ต้องคิดตลอดเวลา”
นัสขับรถ ‘ข้ามวันข้ามคืน’ อย่างที่เขาบอกเราว่าภาษาแท็กซี่เรียกแบบนี้ คือขับตี 5-2 ทุ่ม ปัจจุบันนัสขับแท็กซี่ 2 แบบคือขับแท็กซี่มิเตอร์ที่เปิดไฟว่างและขับ ‘Grab Taxi’ ที่ผู้ใช้บริการต้องเรียกผ่านแอพพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือ อย่างที่ทราบว่า Grab Taxi เมื่อกดรับงานแล้วจะไม่มีโอกาสปฏิเสธลูกค้า แล้วก่อนหน้าที่จะมาเป็นส่วนหนึ่งของ Grab Taxi เขามีวิธีการเลือกผู้โดยสารยังไง
“สมัยนั้นผมขับรถเป็นกะ ตามอู่จะมี 2 กะรถ คือรับรถตี 4 คืนรถ 4 โมงเย็น กับรับรถ 4 โมงเย็น คืนรถตี 4 ตอนนั้นผมรับตี 4 คืน 4 โมงเย็น (ขับกลางวัน) การรับผู้โดยสารระยะเวลาตั้งแต่ตี 4 ไปจนถึงก่อนบ่ายโมง…ไม่เลือก แต่หลังจากนี้ไปก่อนถึง 4 โมง…ต้องเลือก เพราะว่าต้องเลือกไปที่ใกล้ๆ อู่เผื่อที่เราจะเปลี่ยนกะ ที่เขาบอกว่ามีกรณีปฏิเสธผู้โดยสารมันมีกรณีนี้เหมือนกัน ต้องเปลี่ยนกะ คือถ้าผมจะส่งอู่ที่จรัญฯ 13 ขณะที่ผมขับอยู่ตรงนี้ (อโศก) ผู้โดยสารเรียกไปลาดกระบัง ไม่มีใครไปหรอกครับ”
มักจะได้ยินหรือได้อ่านกันบ่อยๆ ตามคลิปหรือกระทู้รีวิวเว็บดังอย่างพันทิปที่ มีผู้โดยสารบ่นว่าเจอแท็กซี่บริการไม่ดี เจอแท็กซี่แปลกๆ อย่างที่ทราบ รถแท็กซี่ในประเทศไทยมีจำนวนมาก การสื่อสารดังกล่าวมักมาจากฝั่งของผู้ใช้บริการ แต่ด้านเสียงจากผู้ให้บริการ เราถามนัสว่าเขาเจอผู้โดยสารแปลกๆ บ้างไหม เขาเล่าว่าเจอผู้โดยสารหลายๆ ประเภท เมา…อ้วกในรถ สามี-ภรรยาตีกัน ทะเลาะกัน ไม่พอใจในขณะที่ขับๆ ไป บางทีจะเลี้ยวซ้ายข้างหน้า แต่มาบอกตอนถึงขับเลยไปแล้วก็มี แล้วก็โดนด่าว่าสารพัด
“แต่ด้วยอาชีพของเรามันก็ต้องทนนะ อ้อ…ไม่เป็นไรครับ เดี๋ยวผมกลับรถมาใหม่”
“เคยเจอผู้โดยสารท่าทางไม่ปลอดภัยบ้างไหม” เราถาม
“เคยมีครั้งหนึ่ง ผมเคยรับผู้โดยสารเป็นผู้หญิงวัยรุ่น 2 คนเรียกผมไปส่ง ผู้หญิงที่นั่งหลังรถโทรศัพท์คุยกับปลายสายทำนองว่ากำลังจะถึงแล้วนะ แท็กซี่ทะเบียนนี้ สีฟ้า เขาจะให้ผมเลี้ยวเข้าไปในซอย แต่ผมเคยได้ยินว่ามีการจี้แท็กซี่ในซอยนั้น เวลา 3 ทุ่มกว่า ผมก็…น้อง ไม่เข้าไม่ได้เหรอ พี่ไม่อยากเข้าเลย พี่ปวดท้องจะรีบไปปั๊ม ข้างหน้ามีปั๊มด้วย เขาบอกไม่มีตังค์จ่ายต้องไปเก็บปลายทาง ผมคิดเลย เสร็จล่ะ! มิเตอร์ขึ้นประมาณ 240 บาท ผมก็คิดจะเข้าดีมั้ย เข้าก็เสี่ยงแต่ไม่เข้าก็ทิ้งเงินไปเลยนะ แต่ก็ไม่เข้า ผมก็คิดในใจถ้าไม่มีอะไรก็ดีก็ได้ตังค์ แต่ถ้ามีขึ้นมาคุ้มมั้ย…”
ความไม่แน่นอนจากการเดินทางเกิดขึ้นได้เสมอ นัสบอกเราว่าเขาใช้ชีวิตอยู่บนความไม่แน่นอน เพราะปัจจุบันอาชีพแท็กซี่มีการแข่งขันสูง “อย่างคุณ คุณก็ไม่นั่งแท็กซี่ทุกวันหรอก ทุกอาทิตย์คุณก็ไม่นั่ง มันก็เกิดความไม่แน่นอนของการเดินทาง คุณยังต้องเปลี่ยนเป็นรถตู้ รถเมล์” อีกทั้งยังมีความไม่แน่นอนของสภาพร่างกายเพราะร่างกายวันๆ หนึ่งต้องนั่งอยู่บนรถอย่างน้อย 10 ชั่วโมง สุขภาพก็ต้องไม่ดีเป็นธรรมดา ท้องผูกคืออาการที่แท็กซี่ต้องเจอทุกคน ปวดหลัง อดนอน “ความเครียดเกิดขึ้นกับคนขับแท็กซี่ทุกคน แล้วแต่ใครจะมีภาระหน้าที่เยอะ มันเครียดด้วยตัวของมันเอง”
“เจอรถติดก็ยิ่งเครียด”
“ผมไม่เครียดกับรถติดนะ ผมว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าวันไหนเป็นชั่วโมงเร่งด่วนแล้วรถไม่ติดนี่แหละ เรื่องผิดปกติ บางทีที่รถควรจะติด ถ้าคุณไปแล้วรถไม่ติดเลย เฮ้ย! มันเป็นอะไร คุณก็ต้องถามล่ะ ทำไมไม่ติด แต่ถ้ามันติดคุณจะรู้สึกเฉยๆ ปกติ”
นัสบอกเราว่า สิ่งสำคัญของคนขับแท็กซี่อยู่ที่ใจ ใจของคำว่าบริการต้อง ‘ไม่เป็นไร’ “จะเจอ จะเกิดอะไรขึ้น เราก็นึกในใจว่าไม่เป็นไร คำนี้ผมจะใช้มาตลอด มีท้อเหมือนกัน เราคิดว่าเราทำดีที่สุดแล้ว มาถูกตำหนิมันก็มีท้อ สักพักผมก็บอกว่าไม่เป็นไร แล้วก็จะเจอผู้โดยสารรายใหม่ก็ทำให้ลืมตรงนั้นไป คือนี่มันอาชีพผม มันหล่อเลี้ยงครอบครัวและร่างกายเรา”
+ ท่องเที่ยวทั่วไทย
เช่นเดียวกับ รัช – วิรัช เต็มพร้อม อายุ 39 ปี รัชขับแท็กซี่เหมามาเป็นเวลา 3 ปี ก่อนหน้ามาขับแท็กซี่เขาทำงานเป็นที่ปรึกษาของบริษัทย่านลาดพร้าว แต่ตอนนี้บริษัทปิดตัวลงไปแล้ว
“ทำอยู่ 7-8 ปี ก็ไม่รวย ไม่มีอะไรดีขึ้น ตอนแรกมาขับรถเช่า ขับอยู่สัก 4 เดือนก็เก็บเงินได้ก้อนหนึ่ง ก็ไปดาวน์รถคันนี้มาเป็นรถส่วนบุคคล เราสามารถแอคทีฟตัวเองขึ้นมา จากเช่าเขาก็มาเป็นของส่วนตัว ไม่ต้องกังวลเรื่องส่งรถ”
ถามเขาว่าขับแท็กซี่แตกต่างยังไงกับทำงานประจำ
“แท็กซี่รับเงินทุกวัน วันหนึ่งหักค่าแก๊สค่าอะไรแล้วก็เหลือ 1,000-2,000 บาท เกือบทุกวัน แต่ถ้าทำงานออฟฟิศคือเรารับรายได้เป็นเดือน มันไม่พอใช้พูดง่ายๆ ‘หลังชนฝา’ ไม่พอกินเพราะผมมีลูก มีแฟน มีญาติๆ ต้องเลี้ยงดู”
รัชเล่าว่าอาชีพนี้เหนื่อย “ไม่ชอบหรอก ขับรถมันเหนื่อยนะพูดตรงๆ” เขาอยากเป็นเถ้าแก่มากกว่า รัชมีแผนในอนาคตว่าอยากสร้างเป็นเครือข่ายแท็กซี่ ขณะที่เขาขับแท็กซี่อยู่ก็ได้มีโอกาสรู้จักคนเยอะ อยากจะชวนคนที่ขับรถดี บริการดี มาสร้างเป็นเครือข่ายของตัวเอง 3 ปีที่ผ่านมาเขาไปมาเกือบทั่วประเทศ เจอลูกค้าหลากหลายแบบ เขาเล่าให้ฟังว่า
“เมื่อคืน ผมขับรถจากกรุงเทพฯไปอำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี ระยะการเดินทางประมาณ 300 กิโลผู้โดยสารคุยโทรศัพท์เสียงดัง คุยตั้งแต่ดอนเมืองถึงฉะเชิงเทรา เสียงดังมาก เป็นชาวจีน ผมบอก พี่…ผมขอจอดปั๊มก่อนนะ ถ้าคุยโทรศัพท์แบบนี้ผมไม่ไปเพราะมันอันตราย ผมก็เตือนเขา เขาก็บอกว่าได้ แล้วก็ไปส่งเขาถึงปลายทางเหมือนเดิม เขามีสีหน้าไม่พอใจนะ แต่เราทำงานของเรา เราต้องดูแลความปลอดภัยของเราและลูกค้า”
รัชไม่มีวิธีเลือกรับผู้โดยสาร เพราะงานของรัชส่วนใหญ่ไม่ใช่การนำรถออกไปวิ่งเปิดไฟว่าง เขารับงานเหมาที่วิ่งระยะทางไกลๆ ส่วนใหญ่จะไปต่างจังหวัด ผู้โดยสารที่ใช้บริการก็จะโทรมาจอง ซึ่งไม่รู้หรอกว่าเป็นผู้โดยสารแบบไหน
“มันเลือกไม่ได้หรอก ยังไงก็ต้องไปส่ง คนดีหรือไม่ดียังไงก็ต้องไปส่งถึงที่ เพราะว่าเราต้องบริการลูกค้าให้ดีที่สุดอยู่แล้ว ผู้โดยสารขึ้นรถมาผมจะทิ้งเขากลางทางไม่ได้”
“มีเคยเจอโดนจี้ ปล้นบ้างไหม” เราถามด้วยเหตุผลว่า การขับรถทางไกล อาจทำให้จุดเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น
“โดนจี้ไม่เคยหรอก โดนเบี้ยวมากกว่า ไม่จ่ายเงิน”
สังคมส่วนใหญ่มีทัศนคติต่ออาชีพแท็กซี่ในแง่ลบ เขาคิดเห็นเช่นไร
“มันอยู่ที่เราว่าเราวางตัวยังไง บางคนผมไปดูที่ปั๊ม ใส่กางเกงขาสั้นแบบนี้ไม่ไหว บางคันรถไม่สะอาดกลิ่นนี่สุดๆ แบบนี้ก็ไม่ไหวเหมือนกัน มาตรฐานแท็กซี่เลยนะ หนึ่ง-แอร์ต้องเย็น ไม่มีกลิ่นอับในรถ รถต้องสะอาดทั้งภายนอก ภายใน เครื่องยนต์นี้ต้องดูแลให้ดีตลอด ช่วงล่างนี้ต้องหมั่นให้ช่างตรวจเช็ค เพราะเราวิ่งไกล”
ขับแท็กซี่ต้องขยันจริง คนที่ขยันจริงๆ ถึงจะได้เงิน ต้องรับผิดชอบหลายอย่าง…”เหนื่อย” – เขาว่า เมื่อถามว่าเหนื่อยแล้วทำไมยังทำอยู่
“มันต้องกินต้องใช้ครับ ถ้าไปทำงานออฟฟิศ ทำงานประจำมันก็วนลูปเดิม หาเช้ากินค่ำใช้เงินเดินที่อย่างมากก็ไม่เกิน 15,000 ระดับหัวหน้าผู้จัดการก็ไม่เกิน 30,000 มันก็ไม่มีอะไรดีขึ้น ขับแท็กซี่เราเหนื่อยจริง แต่เงินที่มันได้มันก็เยอะกว่าที่เราทำงานประจำแบบนั้น มันก็โอเค มันได้ทุกวันด้วย”
+ จากหมอชิตถึงดอนเมือง
อิศ ฉัตรทอง–แป๊ะ อายุ 47 ปี เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ทำงานประจำเป็นผู้จัดการโรงงาน บริษัทปุ๋ยอยู่แถวปทุมธานี น้ำท่วมเมื่อปี 54 จึงต้องย้ายจากปทุมธานีไปอยู่ราชบุรี มาจับแท็กซี่ขับเป็นอาชีพจริงๆ ก็ประมาณ 3 ปี
ขณะทำงานประจำอยู่ แป๊ะบอกว่าเป็นการขับเล่นๆ เรียกว่าขับเป็น ‘อะไหล่’ อยู่ 4-5 ปี ขับเฉพาะเสาร์-อาทิตย์ แต่ตอนนี้ขับเป็นอาชีพเต็มตัว เมื่อถามว่าทำไมเลือกมาขับแท็กซี่ “อายุเราเยอะแล้ว จะหางานก็ลำบาก” แป๊ะเล่าว่าก่อนหน้านี้เคยมีแท็กซี่เป็นของตัวเอง แต่ด้วยภาระครอบครัวที่ในขณะนั้นลูกยังอายุน้อยอยู่ เมื่อมีรถเป็นของตัวเองก็ขับตั้งแต่เช้าจนดึกดื่น “แฟนเขาไม่ชอบ เขาเลยให้ขายรถ แฟนเขาบอกว่าไม่มีเวลาอยู่กับบ้าน ไม่มีเวลาช่วยเขาดูแลลูก”
ปัจจุบันนี้แป๊ะขับแท็กซี่กะกลางคืนเพราะขับสบาย รถไม่ติด–เขาว่า
“คิดยังไงกับกรณีแท็กซี่ปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร”
“ไม่รู้นะ แต่ผมไปหมด ผมไม่เคยงี่เง่ากับผู้โดยสาร ไม่เคยไปเรียกราคาผู้โดยสาร เราวิ่งตามมิเตอร์ อย่างถนนข้าวสารผมวิ่งเข้าไป ระบบแท็กซี่จอดรอผู้โดยสารแล้วไปกดเรียกราคาทำให้ระบบแท็กซี่เสีย เรียกราคาลูกค้าที่ศัพท์แท็กซี่เรียกว่าพาลูกค้าไป ‘ฟัน’ อย่างราคามิเตอร์แค่ 300 แต่ฟันไป 700-800 บาท ไปโก่งราคาลูกค้า”
แป๊ะเล่าว่า แท็กซี่บางคนเขาขยันทำมาหากิน มีข่าวแบบนี้ออกมาก็ส่งผลให้คนส่วนใหญ่มองไม่ดี ซึ่งกระทบต่ออาชีพคนขับแท็กซี่เป็นวงกว้าง
“กระทบไหม…มันก็กระทบนะ เขาก็มองพวกเราไม่ดี ตัวผู้โดยสารเขาก็มองว่าแท็กซี่มันก็เหมือนกันหมดนั่นแหละ เขาก็จะเหมาเข่งรวมกันไป
แป๊ะคิดว่าอาชีพขับแท็กซี่สามารถที่จะเลี้ยงครอบครัวได้ แต่ต้องขึ้นอยู่ที่ความขยัน ไม่เล่นการพนัน กินเหล้ากินได้ แต่ต้องพอประมาณ “รายได้แท็กซี่ที่ผมลองเก็บๆ ดู ผมได้เดือนละ 30,000”
ปัจจุบันแป๊ะขับแท็กซี่เช่าของอู่ที่รู้จักกัน เมื่อถามว่าอยากซื้อรถเป็นของตัวเองไหม เขารีบตอบปฏิเสธทันทีพร้อมหัวเราะเสียงดัง เราอยากทราบเหตุผล-ทำไม
“มันต้องมารับภาระเรื่องซ่อม ถ้ารถอู่ อู่ก็ซ่อมให้ ถ้ารถเราเองซ่อมครั้งหนึ่งแพงมาก ชนครั้งหนึ่งไม่คุ้ม ตายแน่ๆ ไม่รอดหรอก อีกอย่างขับรถอู่ อู่ก็มีสวัสดิการให้”
ในมุมมองของคนขับ เขาคิดว่าแท็กซี่ในบ้านเรามีมาตรฐานเรื่องการบริการและเรื่องความปลอดภัยระดับไหน ซึ่งคำตอบของเขาตรงไปตรงมา
“ความปลอดภัยถือว่าไม่ได้เรื่อง การบริการไม่รู้นะ เอาตัวเราเป็นมาตรฐานก็ไม่ได้ เราจะไปว่าคนอื่นก็ไม่ได้ เราคิดว่าเราบริการดีแล้วบางที่ลูกค้าก็ไม่พอใจ บางทีก็ขับรถเร็วไป ขับช้าไป พาลูกค้าอ้อมไป มันก็แล้วแต่จิตแล้วแต่ใจ เราคิดว่าเราบริการดีสุดแล้วในอาชีพของเรา”
แป๊ะบอกว่าอาชีพขับแท็กซี่มันอยู่ที่ความขยันเป็นหลัก รายได้แต่ละวันก็ไม่เหมือนกัน แต่ไม่ได้เลยยังไม่มี เขาบอกว่าถ้าขี้เกียจก็อาจจะเป็นไปได้ “ถ้าเรายังเปิดมิเตอร์วิ่งอยู่ ยังไงเราก็ได้”
เขาว่าขับแท็กซี่เป็นอาชีพอิสระ รายได้ดี แต่ต้องมีใจรักงานบริการ ซื่อสัตย์ อย่าขี้โกง และก็อย่าคิดไม่ดีกับผู้โดยสาร “อย่างผู้โดยสารลืมของไว้ในรถ รถผมคืนหมด ไม่เคยเอา คือลืมโทรศัพท์ไว้ เราไม่อยากได้หรอก ของเราก็มีอยู่แล้ว”
“ท้อบ้างไหม” เราถาม
“ไม่มีนะ สำหรับผมไม่มี สนุกดี ผมว่าผมทำแล้วผมสนุก อาจจะเพราะทำวันนี้แล้วมันเห็นเงินเลย เงินมันจำนวนไม่เยอะหรอก แต่เราเอาไปใส่กระปุกไว้เดือนหนึ่ง เอาออกมานับ โอ้…มันเยอะว่ะเฮ้ย!! (หัวเราะ)” เขายังเชิญชวนให้เราไปเป็นเพื่อนร่วมอาชีพ “ว่างๆ มาช่วยขับรถ ที่อู่รับสมัคร”
+ จากรังสิตถึงสุขุมวิท
ณดา สงเคราะห์ชาติ–แต อายุ 36 ปี แตเป็นผู้หญิงตัวเล็ก แต่งตัวทันสมัย เธอเลือกขับรถคันใหญ่อย่าง Camry น้อยครั้งนักที่เราเลือกใช้บริการรถเพื่อเดินทางกลับบ้านแล้วจะโคตรมาพบกับคนขับที่เป็นผู้หญิง แตจบปริญญาตรี Food Science มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เธอบอกกับเราว่า เริ่มมาขับรถกับ Uber บริษัทรถรับจ้างเอกชนได้ เดือนกว่าๆ ณดาตอบด้วยใบหน้าร่าเริงว่า “สนุก สนุกมาก” เรามักไม่ค่อยพบผู้หญิงขับรถบริการ แอบสงสัยว่าทำไมเธอถึงมาขับรถ Uber เราถามเรื่องความปลอดภัย
“คือตอนแรกไม่ได้รู้สึกอย่างนั้นนะ ว่าจะปลอดภัยหรือไม่ปลอดภัย เราขับแล้วรู้สึกเลยว่าลูกค้าของ Uber ค่อนข้างอยู่ในระดับที่เราเชื่อใจได้ มันก็เลยไม่รู้สึกกลัว และการที่จะเข้ามาเป็นสมาชิก Uber ได้ก็ต้องมีบัตรเครดิต ในเมื่อมีบัตรเครดิตก็สามารถจะเช็คประวัติเขาได้ว่าเขาเป็นใคร ถือเป็นบุคคลที่มีตัวตน”
โดยปกติแตจะขับอยู่แถวสุขุมวิท สาทร สีลม จะมีบางเวลาที่ผู้โดยสารเรียกเราไปข้างนอก “อย่างช่วงนี้จะฮอตมากก็คือย่านแถบเจริญนคร ฝากกรุงธนบุรี พระราม 3” แตขับรถแบบฟูลไทม์ เธอบอกว่าเธอจะใช้เวลาขับรถในแต่ละวันมากกว่าคนอื่น อาจจะเพราะเธอไม่ได้ทำอย่างอื่นนอกจากขับ Uber ก่อนหน้านี้เธอทำงานประจำอยู่ 7 ปี และลาออกมาสร้างโปรเจ็คท์ของตัวเอง เลยมีเวลาว่างมาขับ Uber แต่พอขับ Uber โปรเจ็คท์ที่เคยทำอยู่ก็ดร็อปไป “เราสนุกกับการทำ เราก็เลยทำทุกวัน แต่บางคนอาจจะทำแบบพาร์ทไทม์ ทำเฉพาะหลังเลิกงาน”
แตบอกว่ารถที่ต้องเรียกผ่านแอพพลิเคชั่นบนมือถืออย่าง Uber มีกฎ-ห้ามปฏิเสธลูกค้า เธอบอกว่ามีแต่ลูกค้าเป็นฝ่ายปฏิเสธเธอ อาจจะเพราะรถติด รอนานแล้วรอไม่ไหว เมื่อต้องรีบไป ลูกค้าก็จะเรียกแท็กซี่แทน “เราก็บอก อ่อไม่เป็นไรค่ะ ซึ่งมันเป็นเรื่องเข้าใจได้ในสถานการณ์ของการจราจรตอนนั้น”
หากถามถึงอาชีพในฝันเชื่อว่าหลายๆ คนต้องการความมั่งคงในหน้าที่การงาน แต่เธอนิยามความมั่นคงในแบบของเธอแตกต่างไปจากคนอื่นๆ
“มั่นคงรึเปล่า…ความมั่นคงอยู่ที่ตัวเราเองเป็นหลัก ถ้าเราสามารถที่จะจัดการตัวเองได้ก็เป็นความมั่นคงอย่างหนึ่งเพราะว่ารายได้ที่ได้ ไลฟ์สไตล์ที่ได้มันเทียบไม่ได้กับคำว่ามั่นคง ถ้าเปรียบเทียบกับการเป็นพนักงานบริษัทหรือเป็นพนักงานประจำ มันค่อนข้างเป็นไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ ของการทำงาน ที่จะเลิกเวลางานเมื่อไหร่ก็ได้ มันอิสระ แล้วมันก็เป็นงานท้าทาย เป็นงานบริการง่ายๆ ที่ดูเหมือนง่ายๆ แต่มันท้าทายมาก ที่เราต้องเซอร์วิสลูกค้า คนแปลกหน้าที่ไม่รู้จักเลย และเราสามารถที่จะคุยกับเขาได้ บริการเขาได้ แค่ช่วงระยะเวลาสั้นๆ ความท้าทายของงานที่มันทำให้เราสนุก”
เธอขับรถมาเป็นเวลานานตั้งแต่เริ่มทำใบขับขี่ เราขอเดาว่าเธอชอบขับรถ ซึ่งคำตอบที่ได้ก็ดังที่เราคาดไว้ ใช่! เธอชอบขับรถ และขับมาเป็นเวลา 10 กว่าปีแล้ว ถ้าคุยถึงการขับในมุมมองที่เธอเป็นผู้หญิง ต้องเคยได้ยินบ้างมีคนชอบพูดกันว่า ‘ผู้หญิงขับรถไม่ดี’
“การขับรถมันเป็นเรื่องของทักษะ เพราะฉะนั้นแล้วถ้าคุณมีทักษะที่ดี มันไม่สำคัญว่าผู้ชายหรือผู้หญิงขับ อย่างเราเองรักการขับรถ แล้วการทำงานของเราก็คือขับรถด้วยอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นมันเป็นเรื่องของทักษะส่วนบุคคลมากกว่า ถ้ามีคนมาพูดกับเราแบบนั้น ก็ไม่จำเป็นจะต้องตอบ เขานั่งกับเราเขาจะรู้เอง ให้เขาเห็นกับงานของเราดีกว่า
“การบริการของแต่ละคนก็จะเป็นคนละสไตล์ แต่ท้ายที่สุด คือการบริการที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า ไปส่งจากจุด A ไปจุด B ปลอดภัยที่สุดทั้งเราและลูกค้า ให้ทันเวลา ก็โอเคแล้ว”
เธอบอกว่าการขับ Uber เปิดโลกใหม่ๆ ให้เธอ พาไปพบปะผู้คน เปิดมุมมองของโลกใหม่ๆ ที่ปกติต้องทำแบบซ้ำๆ การเจอผู้คนให้อะไรมากมาย เรียนรู้เส้นทาง เห็นความเป็นไปของกรุงเทพฯ รู้ความคิดของผู้คน ได้ช่วยเหลือเขา ในขณะที่เขาต้องการความช่วยเหลือ-เขาอยากกลับบ้าน
เธอบอกว่าหัวใจสำคัญคนขับรถ “ต้องเป็นคนที่ nice ไว้ก่อน แค่นี้เขาก็ละลายแล้ว” มันช่วยให้เธอควบคุมสถานการณ์ได้ ไม่มีอะไรน่ากลัว “อาจจะแบบนอยด์ๆ นิดนึง ตรงที่แบบคู่รักกันมาจุ๊กจิ๊กกันในรถ อาจจะเป็นเพราะเราไม่มีแฟนด้วยมั้ง (หัวเราะ)”
ตอนนี้จะบอกว่าอาชีพขับรถอย่าง Uber เป็นงานประจำของเธอได้ไหม เธอยิ้มๆ แล้วพยักหน้า
“ตอนนี้ใช่ ถ้าวันไหนไม่ขับมันจะมีความรู้สึกว่ามันขาดอะไรไป เราก็ต้องทำ เราอยากเจอผู้คนไง ถ้าเราไม่เจอแล้วอยู่บ้านเฉยๆ มันเหมือนกับไม่ได้ทำอะไรให้เป็นประโยชน์ ถ้าไปทำอย่างอื่น อย่างอื่นที่ว่ามันก็จำกัดเราไว้ในกรอบงานประจำเดิมๆ แตไม่ได้บอกว่าร้อยทั้งร้อยมันจะเพอร์เฟ็คท์ แต่ 90 เปอร์เซ็นมันเพอร์เฟ็คท์สำหรับเธอ”
“ทุกวันนี้มีความสุขไหม”
“แฮปปี้ค่ะ :)”
…………………………………………………..
(หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารWAY ฉบับ 83)