ศูนย์วิจัยความเหลื่อมลํ้าและนโยบายสังคม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดสัมมนาทางวิชาการในซีรีส์ ‘ภูมิทัศน์ใหม่ การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมไทย’ ตอนที่ 2: ‘เศรษฐกิจไทย ปัญหาเก่าในวิกฤตใหม่?’ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 ณ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีนักวิชาการ 3 ท่านคือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชญานี ชวะโนทย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร.แบ๊งค์ งามอรุณโชติ ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (STIPI) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด เพื่อร่วมหาคำตอบลงลึกถึงภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจของไทยตลอดทศวรรษที่ผ่านมา
ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เผชิญกับสภาวะทางเศรษฐกิจที่มีอัตราการเจริญเติบโตตํ่า เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกัน ปัญหาความเหลื่อมลํ้าที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นอาจกล่าวได้ว่า ‘เติบโตตํ่า แต่เหลื่อมลํ้าสูง’ อันจะส่งผลต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยในระยะยาวที่จะนำมาสู่วิกฤตการณ์ที่ไม่อาจแก้ไขหรือเยียวยาได้ โดยวิทยากรทั้ง 3 คน ได้ร่วมพูดคุยเพื่อหาคำตอบถึงที่มาของปัญหา และนำเสนอแนวทางในการหลุดพ้นปัญหาเหล่านี้ เพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในอนาคต
ผู้มีรายได้น้อย ทรัพย์สินเพิ่ม แต่หนี้สินพุ่ง
การสัมมนาเริ่มต้นด้วยประเด็นอันสำคัญในเศรษฐกิจไทย นั่นคือ ‘ความเหลื่อมลํ้า’ โดย ผศ.ดร.ชญานี ชวะโนทย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุถึงภาพรวมสถานการณ์ความเหลื่อมลํ้าในประเทศไทย โดยใช้ตัวชี้วัดจาก Top 10% income and net wealth ทำให้พบว่า ผู้มีทรัพย์สินสูงในประเทศไทย มีทรัพย์สินคิดเป็น 50 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทั้งประเทศรวมกัน และถือครองทรัพย์สินทั้งประเทศคิดเป็น 72 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งในรอบ 10 ปีที่ผ่านมานี้ สถานการณ์ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก ทั้งยังมีความคงที่อีกด้วย
จากตัวเลขข้างต้นนี้ แม้ว่าสถานการณ์ความเหลื่อมลํ้าในประเทศไทยจะมีแนวโน้มลดลง แต่ในด้านการถือครองทรัพย์ยังคงเหลื่อมลํ้าในระดับสูง โดยเฉลี่ยแล้วผู้มีสินทรัพย์สูงถือครองทรัพย์สินมากกว่าผู้มีทรัพย์สินน้อย กว่า 2 เท่าตัวเลยทีเดียว ซึ่งก่อให้เกิด ‘ช่องว่างความมั่งคั่ง’ (wealth gap) ขนาดใหญ่ แม้ว่า ธนาคารโลก (World Bank) จะสำรวจตัวเลขพบว่า ช่องว่างความมั่งคั่งลดลง ผู้มีรายได้น้อยมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่น่ากังวลใจคือ ‘หนี้สิน’ ก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน ดังตัวเลขการเพิ่มขึ้นของหนี้สินครัวเรือนในปัจจุบัน
“ความเหลื่อมล้ำที่ลดลงโดยเฉพาะทางด้านทรัพย์สิน ส่วนหนึ่งมาจากกลุ่มคนยากจนมีแนวโน้มที่จะมีทรัพย์สินเพิ่มสูงขึ้น แต่ในรายละเอียดสิ่งที่เพิ่มสูงขึ้นไปด้วยก็คือสถานการณ์หนี้ครัวเรือน”
นอกจากนี้ ภูมิทัศน์ความเหลื่อมลํ้ายังเกิดขึ้นระหว่าง ‘เมือง’ กับ ‘ชนบท’ ซึ่งสะท้อนภาพความเหลื่อมลํ้าทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน เนื่องจากผู้มีรายได้น้อยยังคงอยู่ในภาคการเกษตรในชนบทที่มีผลิตผลตํ่า ขาดการเข้าถึงเทคโนโลยี เงินทุน การศึกษาตํ่า ทำให้ไม่สามารถก้าวข้ามสถานทางเศรษฐกิจเช่นนี้ได้ อีกทั้งยังจะส่งผ่านความยากจนข้ามรุ่นไปยังรุ่นลูกรุ่นหลานอีกด้วย
ผศ.ดร.ชญานี เสนอว่า การศึกษาคือหัวใจสำคัญของการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมลํ้าในสังคมไทย การมีทักษะสูงจะนำมาสู่รายได้ที่สูงตามมา เพราะจากการศึกษาพบว่า ค่าแรงของผู้ที่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีกับตํ่ากว่าปริญญาตรีมีช่องว่างมากพอสมควร อย่างไรก็ตาม ผู้ที่จบการศึกษาในระดับมัธยมปลายมีรายได้เพิ่มมากขึ้นต่อเนื่องตลอด 20 ปีที่ผ่าน ส่วนรายได้ของผู้จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีถือว่าเพิ่มขึ้นไม่มาก แม้จะมากกว่าผู้ที่มีระดับการศึกษาตํ่ากว่าก็ตาม สุดท้ายนี้พบว่าผลตอบแทนทางการศึกษาของคนรุ่นใหม่ยังน้อยกว่าคนรุ่นพ่อแม่อยู่มากเลยทีเดียว
ไทย: ประเทศที่ไม่เคยขาดแผนยุทธศาสตร์ แต่ไม่มีการปฏิบัติ
ดร.แบ๊งค์ งามอรุณโชติ มองว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะเติบโตตํ่าลง (growth slowdown) และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ตํ่าลงนี้ สร้างความตระหนักรู้และความกระตือรือร้นให้แก่นักนโยบาย นักการเมือง เป็นจำนวนมากในการกำหนดยุทธศาสตร์หรือแผนเพื่อรับมือต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ตํ่าลงเช่นนี้ อาจกล่าวได้ว่า “ประเทศไทยไม่เคยขาดการทำยุทธศาสตร์หรือแผนเลย” ดร.แบงค์ กล่าว ดังนั้น อะไรกันแน่คือสิ่งเราขาด เพื่อจัดการกับการเจริญเติบโตที่ตํ่าลง
ดร.แบ๊งค์ ชี้ว่าไทยขาดอยู่ 3 สิ่ง ที่จะนำไปสู่การจัดการปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นคือ
- มีแผน แต่ไม่มีผล คือ มีแผนและนโยบาย แต่การขาดกลไกในการปฏิบัติงาน การติดตาม กำกับดูแล การประเมิน หรือทำจริงแค่บางส่วนของแผนงาน ถึงแม้ว่าแผนจะมีความครอบคลุมในทุกด้านก็ตาม ตัวอย่างเช่น ยุทธศาสตร์สร้างความสามารถในการแข่งขันปี 2566 งบประมาณ 213,000 ล้านบาท แต่ในการดำเนินนโยบายนั้น 75 เปอร์เซ็นต์ของยุทธศาสตร์ดังกล่าวคือ การก่อสร้างถนน
- ขาดการเชื่อมโยงต่อเติมให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีต่อคนไทย เช่น การดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ (FDI) ไทยสามารถทำได้ดีมาก แต่ก่อให้เกิดการลงทุนขนาดใหญ่ในบางภาคธุรกิจเท่านั้น การเชื่อมผู้ลงทุนเข้ากับซัพพลายเออร์ท้องถิ่น (local supplier) ยังคงทำได้ไม่มาก คิดเป็นเพียง 25 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นในห่วงโซ่อุปทาน ขณะที่ความต้องการแรงงานยังคงต้องการแรงงานที่มีระดับการศึกษาตํ่า ทักษะน้อย ค่าตอบแทนตํ่า
- ขาดกลไกเปลี่ยนผ่านโครงสร้างทางเศรษฐกิจ (transformation) นักการเมือง นักนโยบาย พูดถึงเรื่องนี้น้อยมาก เพราะการเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจต้องใช้เวลามากกว่า 3-5 ปี เช่น ภาคการเกษตรไทยมีขนาดใหญ่กว่าอินโดนีเซีย แต่มีผลิตภาพตํ่า เพราะไม่มีการปรับโครงสร้างหรือใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเพิ่มผลผลิตที่จะส่งผลต่อรายได้ที่สูงขึ้น หรือการสร้างทักษะแรงงานอย่างเหมาะสม เป็นต้น
นอกจากนี้ ดร.แบ๊งค์ ได้เสนอว่า การออกแบบนโยบายเศรษฐกิจในปัจจุบันต้องไม่หมกมุ่นอยู่กับการเน้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่ต้องสร้าง good job economy ที่ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีไปพร้อมกัน และที่สำคัญคือ การออกแผนหรือยุทธศาสตร์ต้องเอา ‘ความท้าทาย’ (challenge) เป็นตัวกำหนด ‘พันธกิจ’ (mission) เพราะในทุกความท้าทายล้วนเกี่ยวพันกับทุกภาคส่วน เช่น ความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก เป็นต้น ที่จะสามารถนำพาทุกภาคส่วนไปพร้อมกัน และต้องเข้าถึงทรัพยากรให้ได้สัดส่วนเหมาะสม
“ในเชิงคอนเซปต์เราควรมุ่งสู่ good job economy เทคโนโลยีและการเติบโตทางเศรษฐกิจต้องคำนึงถึงงานที่ดี งานที่ให้คุณภาพชีวิตแบบชนชั้นกลางได้ เพราะจะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจไม่สร้างความเหลื่อมล้ำ และสุดท้ายต้องมีการเปลี่ยนผ่านโครงสร้างทางเศรษฐกิจ” ดร.แบ๊งค์ กล่าว
ค่าเช่าเลว-ทุนผูกขาด ซํ้าเติมความเหลื่อมลํ้าทางเศรษฐกิจ
สฤณี อาชวานันทกุล ได้มองผ่านภาคธุรกิจในประเทศไทยเพื่อหาคำตอบภูมิทัศน์เศรษฐกิจไทยในรอบทศวรรษที่ผ่านมา โดยระบุพฤติกรรมของธุรกิจไทยตามคำของ ศาสตราจารย์อัมมาร สยามวาลา นักเศรษฐศาสตร์ ที่มองว่า หากนักธุรกิจไทยเข้าสู่วงการเมืองและครอบงำให้รัฐออกนโยบายเอื้อประโยชน์ให้ตัวเอง จะนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า ‘ค่าเช่าเลว’ คือ ค่าเช่าทางเศรษฐกิจที่สังคมไม่ได้ประโยชน์ ไม่ได้สร้างความเจริญทางเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดผลิตภาพที่ตํ่า มีอำนาจเหนือและผูกขาดตลาด ซึ่งเป็นการตอกยํ้าความเหลื่อมลํ้าทางเศรษฐกิจเข้าไปอีก
“นักเศรษฐศาสตร์อย่างท่านอาจารย์อัมมารพูดไว้นานมากแล้วว่า ถ้านักธุรกิจสามารถเข้าสู่วงการการเมือง และครอบงำให้รัฐออกนโยบายเอื้อประโยชน์ให้ตัวเอง จะนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า ‘ค่าเช่าเลว’ คือค่าเช่าทางเศรษฐกิจที่สังคมไม่ได้ประโยชน์ ไม่ได้สร้างความเจริญทางเศรษฐกิจ แล้วค่าเช่าเลวเหล่านั้นก็วนกลับมาย้ำเตือนความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ”
จากค่าเช่าเลวนี้ เราสามารถเห็นภาพอย่างชัดเจนในปัจจุบันว่า บริษัทที่มีมูลค่าสูงสุด 10 อันดับแรกในไทยตลอดระยะเวลา 2539-2565 ยังคงเป็นบริษัทหน้าเดิม เพิ่มเติมคือ ในปี 2565 ที่ผ่านมา บริษัทที่มีมูลค่าสูงสุด 10 อันดับนี้ 6 บริษัทถูกควบรวมกิจการเป็นส่วนหนึ่งของทุนใหญ่เพียง 3 เจ้าเท่านั้น
นอกจากนี้ กลุ่ม ‘เจ้าตลาด’ ยังมีส่วนแบ่งสูงและทำธุรกิจที่สำคัญต่อชีวิตประจำวันของคนไทย เช่น อาหารแปรรูป เนื้อสัตว์ ค้าปลีก สุขภาพ และอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งการผูกขาดที่มีอำนาจเหนือตลาดเช่นนี้ ทำให้เศรษฐกิจไทยมีอัตราการเติบโตและผลิตภาพที่ตํ่า การส่งออกตํ่า อัตราการอยู่รอดตํ่า การวิจัยและพัฒนาตํ่า การลงทุนตํ่า และส่งออกน้อย โดยสถานการณ์เช่นนี้ คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ซึ่งถูกตั้งขึ้นมาเพื่อการควบคุมการแข่งขันที่เป็นธรรมกลับไม่มีอำนาจเชิงรุกในการเข้าไปจัดการปัญหาการผูกขาดอันเกิดจากการควบรวมกิจการเช่นนี้
ซํ้าร้ายเอกชนหรือทุนใหญ่ยังเข้าไปยึดกุมกลไกกำกับดูแล (regulatory capture) เสียเอง เช่น การเข้าไปเป็นบอร์ดของคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย หรือผู้กำกับกฎระเบียบ (regulator) ถูกยึดกุมในแง่ของความรู้สึกนึกคิดเสียเองคือ คิดแบบเอกชน การมีเส้นสายคอนเนคชั่นกับเอกชนที่ส่อไปในทางทุจริต เป็นต้น แม้กระทั่งการยึดกุมกลไกผ่านการออกแบบตั้งแต่ต้น
ข้อสรุปจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนของวิทยากรทั้งสาม ทำให้เห็นแนวโน้มได้ว่า ภูมิทัศน์เศรษฐกิจไทยในอีกทศวรรษข้างหน้าอาจยังต้องว่ายวนอยู่ในสภาพเดิมและเติบโตอย่างเชื่องช้า ตราบใดที่โครงสร้างกติกาการแข่งขันยังอยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์และถูกครอบงำด้วยทุนผูกขาด