ผมอ่านมาร์เกซตอนอายุ 25 ปี ก่อนจะพบว่าความโดดเดี่ยวและสิ้นหวังที่เกิดแก่ตระกูลบูเอนดิยาในนวนิยาย One Hundred Years of Solitude เป็นเพียงเรื่องสุขนาฏกรรมเมื่อเทียบกับชะตาชีวิตของชาวนาและข้าวไทย กว่า 159 ปีจากปีที่สยามลงนามในสนธิสัญญาเบาว์ริงจนถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ได้เผยให้เห็นเส้นทางที่ทั้งโลดโผนโจนทะยานและหลงวนซ้ำแล้วซ้ำเล่าของข้าวและชาวนาไทย
01: ‘ข้าว’ ในเวลาก่อนการอภิวัฒน์ 2475
2398
+ ก่อนลงนามสนธิสัญญาเบาวริง สยามส่งออกข้าวปริมาณร้อยละ 2 ของผลผลิตทั้งหมด รัฐบาลเป็นผู้ผูกขาดการดำเนินการ
+ หลังลงนามสนธิสัญญาเบาว์ริงในปี 2398 การส่งออกข้าวระหว่างปี 2400-2403 มีปริมาณถึง 1,169,000 หาบ และเพิ่มเป็น 6,167,000 หาบในช่วงปี 2429-2433
การปลูกข้าวได้เปลี่ยนจากการบริโภคเองเป็นการผลิตเพื่อการค้าโดยสมบูรณ์
2414
+ หนังสือพิมพ์ Bangkok Calendar ฉบับปี พ.ศ. 2414 รายงานว่า มีการขุดคลองขนาดใหญ่จำนวน 5 คลอง คลองแต่ละสายมีความยาว 17 ไมล์ สายคลองตัดผ่านที่นาอันอุดมสมบูรณ์หลายหมื่นไร่
2417
+ ประกาศกฎหมายเลิกทาส ผู้เป็นทาสได้รับการปลดปล่อยให้เป็นไท โดยมีฐานะเป็น ‘ไพร่’ กฎหมายเลิกทาสส่งผลให้คุณภาพชีวิตชาวนาดีขึ้นกว่าก่อน แต่ปัญหาของชาวนาคือการถือครองที่ดิน
*มีการศึกษาการถือครองที่ดินของชาวนาในช่วงต้นพุทธทศวรรษที่ 2470 พบว่า ชาวนาไม่มีที่ดินของตัวเองมีจำนวนร้อยละ 14 ในภาคใต้ของประเทศ ร้อยละ 27 ในภาคเหนือ และร้อยละ 36 ในภาคกลาง
2435-2449
+ ในช่วงที่ บริษัทคูคลองสยาม ทำการขุดคลองระหว่างปี พ.ศ. 2435-2444 บรรดาเชื้อพระวงศ์ ขุนนาง และข้าราชการ ต่างซื้อที่ดินเพื่อเก็งกำไร และปล่อยเช่าที่นา
ในจำนวนเจ้าของที่ดินจำนวน 694 ราย มีที่ดินรวมทั้งสิ้น 235,822 ไร่ ขณะที่ร้อยละ 5 ของเจ้าของที่ดินมีที่ดินถึง 113,539 ไร่ หรือประมาณร้อยละ 48.1 ของเนื้อที่ทั้งหมด
+ ค่าเช่านาในขณะนั้น มีอัตราไร่ละ 9-10 บาทในที่ดินอุดมสมบูรณ์ ลดหลั่นตามคุณภาพที่ดินไปจนถึงไร่ละ 1-2 บาท อัตราค่าเช่าที่นาสมัยนั้นคิดเป็นร้อยละ 12-24 ของผลผลิตต่อไร่
+ การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลระหว่างปี พ.ศ. 2437-2449 กระทรวงกลาโหมได้รับสัดส่วนงบประมาณที่ร้อยละ 17.3 กระทรวงมหาดไทย ร้อยละ 15 กระทรวงคมนาคม ร้อยละ 12.7 ขณะที่กระทรวงเกษตรได้รับงบประมาณร้อยละ 3.4
2443
+ มีการออกกฎหมายเกี่ยวกับการเช่าที่นา ชาวนาที่ไม่สามารถชำระค่าเช่าจะต้องถูกลงโทษในกรณีใดกรณีหนึ่ง ดังต่อไปนี้:
@ อาจถูกเพิกถอนสิทธิ์ในการทำนาจนกว่าจะมีการชำระค่าเช่า
@ ทรัพย์สินทั้งหมดจะต้องถูกยึดเพื่อขายเลหลัง เพื่อนำเงินมาชำระค่าเช่ารวมถึงค่าใช้จ่ายในการเลหลัง
@ อาจจะต้องทำงานเพื่อเป็นการหักเงินชำระหนี้โดยคิดค่าจ้างให้วันละ 25 สตางค์ จนกว่าหนี้ค่าเช่าจะได้รับการชำระ
2446
+ ฟาน เดอร์ ไฮเด (Van der heide) ผู้เชี่ยวชาญด้านการชลประทานชาวดัทช์ ที่ปรึกษาที่รัฐบาลจ้างมาในปีก่อนหน้า ได้เสนอให้สร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดชัยนาท เพื่อควบคุมปริมาณน้ำและส่งน้ำไปยังทุ่งนาต่างๆ โดยผ่านระบบคลองส่งน้ำเชื่อมต่อถึงกันทั้งหมด
แต่นาย ดับเบิลยู ดับเบิลยู เอฟ วิลแลมสัน (W.W.F. Willamson) ที่ปรึกษาการคลังต่อต้านโครงการนี้ เขาเป็นชาวอังกฤษ จึงมองว่าหากมีการสร้างเขื่อน อิทธิพลทางการเมืองของดัทช์ที่มีเหนือสยามจะมีเพิ่มขึ้น แต่ที่สำคัญกว่านั้น กลุ่มการเมืองสองกลุ่มคือฝ่ายกลาโหมและมหาดไทยไม่สนับสนุนโครงการนี้
2449
+ ชาวนาละแวกรังสิตละทิ้งการทำนาเป็นจำนวนมาก เพราะประสบปัญหาค่าครองชีพ ค่าเช่านา และภาษี ปัจจัยเหล่านี้เขยิบราคาขึ้นสูงกว่าราคาข้าว
2450
+ 10 ธันวาคม 2450 รัฐบาลตัดสินใจเรียกประชุมชาวนาเป็นครั้งแรก มีชาวนาเข้าร่วมประชุม 33 คน ส่วนใหญ่เป็นเจ้าที่ดินและคหบดีจากกรุงเทพฯ
+ ก่อนการประชุมวันที่ 10 ธันวาคม 2450 มีชาวนาบริเวณรังสิตจำนวน 36 คน เรียกร้องรัฐบาลปล่อยเงินกู้แก่ชาวนาครอบครัวละ 20-200 บาท คิดเป็นยอดรวมจำนวนทั้งสิ้น 2,150 บาท กระทั่งเกิดการประชุมในวันที่ 10 ธันวาคม ที่ประชุมเห็นพ้องกันว่า ชาวนามีหนี้สินเพราะใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ไม่มีการออมยามขัดสน และชอบเล่นการพนัน ดังนั้นจึงไม่ควรมีการตั้งสถาบันสินเชื่อให้ชาวนา
*ภายหลังลงนามในสนธิสัญญาเบาว์ริง รายได้ของรัฐบาลส่วนหนึ่งมาจากอากรฝิ่นและการอนุญาตให้เปิดบ่อนการพนัน คิดเป็นร้อยละ 44 ของรายได้ทั้งหมดของรัฐบาล
2462
+ รัฐบาลพบว่า ชาวนาแถบรังสิตต้องนำที่นาไปจำนองกับนายทุนเงินกู้ ดอกเบี้ยร้อยละ 30 ต่อปี ขณะที่อัตราดอกเบี้ยทางการในขณะนั้นอยู่ที่ร้อยละ 7.5 ต่อปีเท่านั้น
+ สงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ข้าวมีราคาสูงขึ้น การส่งออกเริ่มมีผลกระทบต่อปริมาณข้าวในประเทศ รัฐบาลห้ามส่งข้าวออกนอกประเทศ
2470
+ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก
2473
+ พรรคคอมมิวนิสต์ก่อตั้งในประเทศสยาม ร่างแถลงการณ์โน้มน้าวให้เห็นถึงอำนาจการปกครองของชนชั้นเจ้านาย แถลงการณ์ชี้ให้เห็นว่า บุคคลเหล่านี้เป็นเจ้าที่ดินรายใหญ่
2475
+ คณะราษฎรอ้างเหตุผลเรื่องความเดือดร้อนของชาวนารายย่อยเป็นเหตุผลหนึ่งในการอภิวัฒน์ประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ประชาธิปไตย
02: ข้าวหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
2476
+ ราคาข้าวตกลงเหลือหาบละ 2.75 บาท ในเดือนพฤศจิกายน
+ รัฐบาลจีนเพิ่มภาษีนำเข้าข้าวไทย 5 เท่า เพื่อตอบโต้รัฐบาลสยามที่เป็นปฏิปักษ์กับคนจีนในสยาม
+ ปรีดี พนมยงค์ เสนอเค้าโครงเศรษฐกิจเพื่อใช้เป็นหลักในการบริหารประเทศ ข้อเสนอที่ถูกมองว่าเป็นประโยชน์ต่อชาวนา เช่น การยกเลิกการเก็บภาษีอากรบางประเภท ลดภาษีที่ดินสำหรับปลูกข้าวลง 50 เปอร์เซ็นต์ และการเสริมสร้างระบบสหกรณ์ให้มีความมั่นคง แต่ข้อเสนอเหล่านี้ได้รับพระราชวิจารณ์จากสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระยามโนปกรณนิติธาดาในทางที่ไม่เห็นด้วย ก่อนที่นายปรีดี พนมยงค์ ถูกปัจจัยทางการเมืองบีบให้ออกนอกประเทศด้วยข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์
2480
ดับเบิลยู เอ เอ็ม ดอลล์ (W.A.M.Doll) ที่ปรึกษาด้านการคลังของรัฐบาล ประเมินว่า จากราคาข้าวส่งออก ผลประโยชน์เพียงครึ่งเดียวที่ตกถึงมือชาวนา ผลประโยชน์อีกครึ่งเป็นของโรงสี ผู้ส่งออก และพ่อค้าคนกลาง ซึ่งพ่อค้าคนกลางเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์มากที่สุด
2481
+ รัฐบาลตั้งบริษัทข้าวไทยโดยรวมโรงสีขนาดใหญ่ 10 แห่งที่เป็นของคนจีน โดยหวังลดอำนาจผูกขาดของโรงสีและผู้ส่งออก แต่ไม่ประสบผลเท่าใด
+ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ขึ้นรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
2482
+ ข้าวที่ผลิตได้ในประเทศมีจำนวน 4.5 ล้านตันข้าวเปลือก ขณะที่ปริมาณการส่งออก 1.2 ล้านตันข้าวสาร
2484-2487
+ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นำประเทศไทยเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 แต่หลังจากฝ่ายสัมพันธมิตรชนะสงคราม จอมพล ป. พิบูลสงคราม พ้นจากตำแหน่งในปี 2487
2489
+ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพกับฝ่ายสัมพันธมิตรในเดือนมกราคม ซึ่งบังคับให้ประเทศไทยส่งข้าวปริมาณ 1.5 ล้านตัน แก่สหราชอาณาจักรและอินเดีย เป็นค่าปฏิกรรมสงคราม
+ รัฐบาลออกกฎหมายควบคุมสองฉบับ 1.ห้ามกักตุนข้าว 2.ควบคุมการค้าข้าว เพื่อควบคุมการเคลื่อนย้ายข้าวภายในประเทศ และสร้างความมั่นใจว่า รัฐบาลจะมีข้าวเพียงพอในการชดใช้ค่าปฏิกรรมสงคราม
2490
+ ข้าวที่ผลิตได้ในประเทศมีจำนวน 5.5 ล้านตัน ขณะที่ปริมาณการส่งออกมีจำนวน 384,000 ตัน จำนวนประชากรในปี 2490 เพิ่มขึ้นเป็น 17,400,000 คน จาก 14,400,000 คนในปี 2480
+ มีการเจรจาต่อรองเกี่ยวกับการส่งข้าวเป็นค่าปฏิกรรมสงคราม เพราะรัฐบาลไทยไม่สามารถปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว กระทั่งเดือนสิงหาคม ประเทศไทยได้รับอนุญาตจากฝ่ายสัมพันธมิตรโดยจ่ายเงินแทนการส่งมอบข้าวในราคาที่ผู้ส่งออกข้าวรายอื่นๆ ขายให้สัมพันธมิตร
+ มีการปรับอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทกับเงินปอนด์ โดยกำหนดอัตรา 40 บาทต่อ 1 ปอนด์ ซึ่งทำให้ค่าเงินบาทในขณะนั้นสูงเกินความเป็นจริงถึงร้อยละ 50 ส่งผลให้มีการค้าขายเงินในตลาดมืด
+ รัฐบาลตัดสินใจใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรา สำหรับสินค้าส่งออกที่ไม่ใช่สินค้าหลัก ผู้ส่งออกจะได้รับอนุญาตให้ขายเงินตราต่างประเทศในตลาดทั่วไปในอัตราปอนด์ละ 60 บาท หากเป็นพ่อค้าส่งออกข้าว จะต้องนำเงินตราต่างประเทศทั้งหมดที่ได้จากการขาย ส่งมอบให้ธนาคารแห่งประเทศไทยในอัตราแลกเปลี่ยน 40 บาทต่อ 1 ปอนด์ ซึ่งเท่ากับเป็นการเก็บภาษีในอัตราร้อยละ 33.3 จากชาวนา สาเหตุที่รัฐบาลออกมาตรการเช่นนี้ เพราะประเทศต้องการเงินตราต่างประเทศมาก
+ รัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากพรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากปัญหาขาดแคลนข้าว ประชาชนต้องต่อแถวซื้อข้าวคุณภาพต่ำ
+ หนังสือพิมพ์รายงานในเดือนสิงหาคม มีคนงานประมาณ 2,000 คน เดินขบวนไปขอข้าวที่สำนักนายกรัฐมนตรี
+ ราคาข้าวในประเทศมีราคากระสอบละ 170-190 บาท เพิ่มขึ้นอย่างมากจากราคากระสอบละ 8-10 บาทในปี 2484
+ รัฐบาลตั้ง ‘ธนาคารเพื่อการสหกรณ์’
+ การรัฐประหารในเดือนพฤศจิกายน ทำให้รัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์หมดอำนาจ ในแถลงการณ์ฉบับที่ 1 ของคณะรัฐประหาร ให้เหตุผลว่า รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาข้าวขาดแคลนได้
2491
+ จอมพล ป. พิบูลสงคราม กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ภายใต้คณะรัฐประหารเมื่อปี 2490
+ ประเทศไทยได้รับอนุญาตให้ขายข้าวให้ทุกประเทศได้ในราคาตลาดโลก มีการวิเคราะห์กันว่า ช่วงเวลานี้ รัฐบาลควรจะยกเลิกมาตรการที่เคยประกาศใช้ก่อนหน้านี้สองมาตรการ ได้แก่ 1.สำนักงานข้าว 2.ระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรา เพราะจะทำให้คุณภาพชีวิตชาวนาดีขึ้นกว่าในช่วงเกิดสงคราม
+ มีโครงการสร้างระบบชลประทานในภาคกลาง 15 โครงการ โครงการเขื่อนที่จังหวัดชัยนาทได้รับการดำเนินการเป็นครั้งแรกหลังจากที่ ฟาน เดอร์ ไฮเด ผู้เชี่ยวชาญด้านการชลประทานชาวดัทช์ เคยเสนอไว้เมื่อปี 2446
+ มีการออกกฎหมายกำหนดการถือครองที่ดินเพื่อการเกษตรได้ไม่เกิน 50 ไร่ ป้องกันไม่ให้มีการรวบที่ดินของเจ้าที่ดินรายใหญ่
2493
+ เกิดการทุจริตติดสินบนในการออกใบอนุญาตให้ส่งออกข้าว เนื่องจากสำนักงานข้าวไม่สามารถส่งออกข้าวเองได้ทั้งหมด จึงมีการออกมาตรการ ‘พรีเมียมข้าว’ เพื่อเป็นเงื่อนไขในการได้รับอนุญาตให้ส่งออกข้าว มีการวิเคราะห์ว่า พรีเมียมข้าวส่งผลกระทบต่อชาวนาอย่างรุนแรง
2497-2499
+ มีการจัดระบบการจัดเก็บค่า ‘พรีเมียมข้าว’ โดยมีการประกาศอย่างเป็นทางการในเรื่องอัตราต่างๆ ในการเรียกเก็บ หากอัตราเปลี่ยนไปก็จะมีการประกาศจากทางการเสมอ
+ ระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตราซึ่งเป็นรูปแบบภาษีที่เรียกเก็บจากชาวนาอีกรูปแบบหนึ่งได้ถูกยกเลิก เนื่องจากรายได้จากภาครัฐได้รับการทดแทนด้วยการขึ้นค่าพรีเมียมข้าว
+ มีการควบคุมปริมาณการส่งออกข้าว มีการเก็บอากรขาออกในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 5 ของมูลค่าการส่งออก
2500
+ ช่วงก่อน 2500 กระทรวงกลาโหมของสหรัฐ มีหลักฐานว่า จอมพล ป. พิบูลสงคราม และ พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ วางแผนขอความสนับสนุนจากประเทศจีนและสหภาพโซเวียต เพื่อถ่วงอิทธิพลของสหรัฐ ทั้งความขัดแย้งภายในกลุ่มชนชั้นนำและการเมืองระหว่างประเทศ ท้ายที่สุด จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สามารถยึดอำนาจในเดือนกันยายน
03: ข้าวร้อนๆ ในยุคสงครามเย็น
2501-2510
+ ธนาคารโลกส่งเจ้าหน้าที่มาศึกษาภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทย และได้เสนอแนวทางในการพัฒนาประเทศในปี 2502 รัฐบาลไทยใช้เอกสารดังกล่าวเป็นแนวทางสำหรับการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ
+ ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 ซึ่งร่างขึ้นในปี 2504 ประกอบด้วยแผน 2 ช่วง คือ 2504-2506 และ 2507-2509 สำหรับแผนฉบับที่ 3 ครอบคลุมช่วงระหว่างปี 2510-2519
+ แผนทั้งสามฉบับเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้า แผนฉบับที่ 1 เน้นการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น เขื่อน และถนน อย่างแรกเพื่อผลิตไฟฟ้าจากน้ำ ส่วนการสร้างทางหลวงเป็นเหตุผลทางการทหาร
+ การสร้างถนนในช่วงแผนพัฒนาฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2 มีผลทำให้ชาวนารายย่อยต้องสูญเสียที่ดิน เป็นสถานการณ์คล้ายคลึงกับการขุดคลองบริเวณทุ่งรังสิตในช่วงปี 2431-2457
+ ที่ดินสองข้างทางที่ถนนตัดผ่านจะถูกจับจองหรือซื้อไว้ด้วยราคาถูกโดยราชการระดับสูง นักธุรกิจ หรือเจ้าที่ดินท้องถิ่น ชาวนารายย่อยถูกบังคับให้โยกย้ายไปบุกเบิกที่ดินที่ยังไม่มีคนครอบครอง
+ ช่วง พ.ศ. 2502-2506 มีการประมาณการว่า ชาวนาสูญเสียที่ดินจากการฝากขายและจำนองไม่ต่ำกว่า 172,869 ไร่ จากเอกสารสิทธิ์ 7,016 ชิ้น คิดเป็นมูลค่า 347.3 ล้านบาท
+ จอมพลสฤษดิ์ดำเนินนโยบายตามข้อเสนอของสหรัฐ นโยบายที่ชัดเจนของสหรัฐคือการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ ยุทธศาสตร์ที่สหรัฐนำมาใช้คือการเพิ่มกำลังทหาร และพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคด้วยอุตสาหกรรม
+ การจะพัฒนาอุตสาหกรรมให้สำเร็จนั้นขึ้นอยู่กับอุปทานแรงงานราคาถูกจำนวนมาก ค่าแรงจะต่ำได้ก็ต่อเมื่อสามารถกดราคาข้าวให้ต่ำ ในขณะเดียวกัน ชาวนาถูกเรียกเก็บภาษีหลายรูปแบบ เช่น ค่าธรรมเนียมการส่งออก อากรขาออก ระบบโควตา
*ในปี 2503 พบว่า ชาวนามีรายได้ประมาณ 16,000 บาท จะต้องเสียค่าธรรมเนียมส่งออก 3,600 บาท คิดเป็นร้อยละ 21 ของรายได้ ซึ่งมีการศึกษาว่า ภาษีอัตรานี้ควรนำไปใช้กับผู้มีรายได้ 10,000-150,000 บาท
+ กฎหมายกำหนดการถือครองที่ดินเพื่อการเกษตรได้ไม่เกิน 50 ไร่ที่ถูกประกาศในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ถูกยกเลิกโดยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ แต่หลังจากจอมพลสฤษดิ์เสียชีวิตในเดือนธันวาคม 2506 มีการเปิดเผยว่า เขาสะสมที่ดินไว้หลายพันไร่ระหว่าง 5 ปีที่อยู่ในอำนาจ
+ อัตราสำรองข้าวถูกนำมาใช้ปลายปี 2504 ช่วงต้นปี 2505 ปริมาณการส่งออกข้าวเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาข้าวในตลาดโลกสูงมาก ส่งผลให้ราคาข้าวในประเทศสูงตาม รัฐเข้าแทรกแซงตลาดข้าวโดยการควบคุมการส่งออก มีการขึ้นอัตราค่าธรรมเนียมการส่งออก กำหนดให้ผู้ส่งออกต้องสำรองข้าวให้รัฐบาลในอัตราร้อยละ 15 ของจำนวนข้าวที่จะส่งออกทั้งหมด
+ มาตรการอัตราสำรองข้าวถูกยกเลิกในเดือนธันวาคม 2505 ก่อนจะนำกลับมาใช้อีกในปี 2509 เมื่อผลผลิตในปีนั้นต่ำ และมีแนวโน้มว่าจะเกิดปัญหาขาดแคลนข้าวในประเทศ ซึ่งอาจกระทบค่าครองชีพได้
2510 – 2515
+ พุทธศตวรรษที่ 2510 การจำหน่ายข้าวสำรองได้ขยายวงกว้างออกไป ข้าวครึ่งหนึ่งจำหน่ายในกรุงเทพฯ ข้าวอีกครึ่งถูกส่งกลับไปยังเมืองในจังหวัดต่างๆ มาตรการการสำรองข้าวทำให้ผู้ส่งออกมีต้นทุนสูงขึ้น แต่ในที่สุดต้นทุนดังกล่าวก็ตกเป็นภาระของชาวนา
+ ต้นปี 2510 การส่งออกข้าวเพิ่มอย่างรวดเร็ว ราคาข้าวถีบตัวสูงขึ้น ผลผลิตส่วนเกินที่มีไว้สำหรับส่งออกลดปริมาณลง รัฐบาลเตรียมห้ามเอกชนส่งออก แต่กลับดำเนินนโยบายทำสัญญาแบบจีทูจี (G to G: Government to Government) กับรัฐบาลอินโดนีเซียในปริมาณข้าวจำนวนมาก เมื่อข่าวนี้แพร่ไปยังตลาดข้าว ราคาข้าวถีบตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว รัฐบาลแก้ปัญหาโดยการนำข้าวสำรองออกจำหน่ายในราคาต่ำกว่าตลาด
+ ปลายปี 2515 ในช่วงที่ข้าวเก่าเริ่มหมดจากตลาด ข้าวใหม่ก็ยังไม่เก็บเกี่ยว และบางส่วนอยู่ในโรงสี เริ่มเกิดวิกฤติข้าวรุนแรง ประชาชนต่อแถวซื้อข้าวในราคาถูก รัฐบาลประกาศห้ามส่งออกข้าว และปรับอัตราข้าวสำรองให้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 100 ในเดือนมิถุนายน ก่อนจะเพิ่มเป็นร้อยละ 200 ในเดือนถัดมา ทำให้อุปทานข้าวสำรองหยุดชะงักทันที และจำนวนข้าวสำรองก็ลดลงด้วยเช่นกัน
+ ผู้บริโภคตื่นตระหนกเมื่อข้าวสารหายไปจากตลาด เริ่มมีการกักตุนสินค้าข้าวสารโดยหันไปซื้อจากตลาดเสรีเพื่อกักตุนไว้บริโภค
+ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการตรวจสอบติดตามผลการปฏิบัติราชการ (ก.ต.ป.) ใช้อำนาจฉุกเฉินตามมาตรา 17 แห่งรัฐธรรมนูญ เข้าจับกุมและยึดข้าวจากผู้ทำการกักตุน
+ สถานการณ์ทางด้านอื่นๆ ไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาล เมื่อนิสิตนักศึกษาและประชาชน เคลื่อนไหวเรียกร้องรัฐธรรมนูญ กระทั่งเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 อันเป็นจุดจบของรัฐบาลในห้วงเวลานั้น
2516-2519
+ รัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ขึ้นบริหารประเทศ ในช่วงเวลานั้นโลกได้เกิดวิกฤตการณ์ราคาน้ำมัน
+ ราคาข้าวในตลาดโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ จากปลายปี 2515 ราคาข้าวอยู่ที่ 2,101 บาท/ตัน ก่อนจะปรับขึ้นเป็น 4,235 บาท/ตันในปี 2516 และ 9,500 บาท/ตันในปี 2517
+ ปี 2517 ชาวนาถูกเก็บภาษีในรูปแบบของค่าธรรมเนียมส่งออกและอากรขาออกสูงเป็นประวัติศาสตร์ อากรขาออกตันละ 5,727 บาท ธรรมเนียมค่าส่งออกอยู่ที่ 5,100 บาทต่อตัน อัตราการเก็บภาษีเหล่านี้อยู่ในช่วงที่ราคาข้าวสารในตลาดกรุงเทพฯมีราคา 3,773 บาท/ตันเท่านั้น
+ รายได้จากค่าธรรมเนียมส่งออกในปี 2517 คิดเป็นร้อยละ 8 ของรายได้รัฐบาลในปีนั้น นอกจากนี้ รัฐบาลยังประกาศใช้ระบบโควตาเพื่อควบคุมการส่งออก ซึ่งสร้างความไม่พอใจแก่ชาวนา ชาวนาเริ่มเคลื่อนไหวโดยความร่วมมือของนิสิตนักศึกษา
+ 1 มีนาคม 2517 ชาวนาจำนวนมากชุมนุมประท้วงที่ท้องสนามหลวง แต่แทนที่ชาวนาจะเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกค่าธรรมเนียมส่งออก ชาวนากลับเรียกร้องให้รัฐบาลประกันราคาข้าวเปลือกเกวียนละ 3,000 บาท
*ราคาที่ชาวนาเรียกร้องนั้นนับว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับราคาข้าวสารในตลาดโลก และค่าปุ๋ยที่ราคาสูงขึ้นผลจากราคาน้ำมันที่ถีบตัวสูงขึ้น การผลิตของชาวนายังขาดทุนอยู่ดีแม้รัฐบาลจะตั้งราคาประกันข้าวเปลือกที่ 3,000 บาท
+ เดือนพฤษภาคม 2517 ชาวนารวมตัวประท้วงอีกครั้ง ข้อเรียกร้องคราวนี้คือให้รัฐบาลช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สินและให้ช่วยจัดการปัญหาที่ดินที่ถูกนายทุนเงินกู้ยึดไปอย่างไม่เป็นธรรม
+ รัฐบาลตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อศึกษาปัญหาที่ชาวนาร้องเรียน คณะกรรมการได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวนา 12,800 คน เมื่อเข้าสู่เดือนกันยายนในปีเดียวกัน จำนวนเรื่องร้องเรียนเพิ่มเป็น 52,015 ราย
+ คณะกรรมการสามารถพิจารณาคำร้องของชาวนาได้เพียง 1,635 ราย และแถลงว่า ปัญหาที่ชาวนาร้องเรียนเข้ามามีมูลความจริง แต่คณะกรรมการสามารถช่วยเหลือชาวนาให้ได้รับที่ดินของตนคืนได้เพียงหนึ่งราย
+ ชาวนารวมตัวประท้วงครั้งใหญ่ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2517 และได้ก่อตั้ง ‘สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย’ ขึ้น
+ การรวมตัวกันของชาวนาชาวไร่ในนาม สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย สร้างปัญหาเสถียรภาพแก่รัฐบาล รัฐบาลพยายามดำเนินนโยบายเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจของชาวนาโดยตั้ง ‘กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร’
+ การออกมาตรการต่างๆ กลับไม่ได้มุ่งแก้ปัญหาให้ชาวนา มิหนำซ้ำกลไกเหล่านี้กลับสร้างผลประโยชน์ให้ข้าราชการและนักการเมืองมี ดังนี้:
*หน่วยงานที่มีอำนาจในการเก็บค่าธรรมเนียมส่งออกข้าวเป็นของ ‘กรมการค้าต่างประเทศ’ สังกัดกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งสามารถเรียกเก็บได้ตามอัตราที่กรมเห็นสมควร
ต่อมา กรมการค้าต่างประเทศได้ตั้งหน่วยงานแสวงผลกำไรขึ้นภายในกรมชื่อ ‘หน่วยบัญชีข้าว’ เพื่อดำเนินการทางการเงิน เนื่องจากได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมส่งออก หน่วยบัญชีข้าวจึงมีกำไรจากการค้า ดังนั้น นโยบายการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมส่งออกโดยกระทรวงพาณิชย์จึงสร้างแรงจูงใจให้เจ้าหน้าที่รัฐบาล และข้าราชการในกรมการค้าต่างประเทศ สนับสนุนมาตรการดังกล่าวอย่างแข็งขัน เพราะเครื่องมือในการดำเนินนโยบายดังกล่าวสอดคล้องกับผลประโยชน์ของหน่วยงาน
เงินที่มาจากการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการส่งออกข้าวภายใต้การดูแลของกรมการค้าต่างประเทศ ได้ถูกนำมาอุดหนุนกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร ภายหลังมีการผ่าน พ.ร.บ.กองทุนสงเคราะห์เกษตรกรเมื่อปี พ.ศ. 2517 เงินก้อนดังกล่าวถูกส่งเข้ากองทุนโดยไม่ผ่านการคลัง ผู้ทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการกองทุนคือ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เงินกองทุนดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นเงินนอกงบประมาณ กระทรวงเกษตรฯสามารถนำไปใช้ได้ตามดุลยพินิจและความเหมาะสม
มาถึงตรงนี้ เราพอจะเห็นภาพร่วมกันแล้วว่า เหตุใดตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงเป็นที่ต้องการของพรรคการเมือง
+ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรีต่อจากนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ในช่วงต้นปี 2518
+ รัฐบาลคึกฤทธิ์ออกนโยบาย ‘ผันเงินสู่ชนบท’ หรือโครงการพัฒนาชนบทและส่งเสริมการจ้างงานในฤดูแล้ง ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 2,500 ล้านบาท
+ เงินช่วยเหลือจากโครงการดังกล่าวตกอยู่ในมือของเจ้าหน้าที่รัฐท้องถิ่น ผู้รับเหมาท้องถิ่น กำนันและผู้ใหญ่บ้าน เงินจำนวนน้อยที่ถึงมือชาวนา
+ ชาวนาและเจ้าหน้าที่บางคนถูกสังหาร เพราะเข้าไปขัดขวางหรือเปิดโปงการทุจริตในโครงการดังกล่าว
+ มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า ผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้คือพรรคกิจสังคม พรรคกิจสังคมได้รับคะแนนนิยมจากโครงการดังกล่าวในการเลือกตั้งเดือนเมษายน 2519 พรรคกิจสังคมในเวลานั้นถูกมองว่า ใช้เงินสำรองคงคลังเพื่อหาเสียง เพราะการแก้ปัญหาที่ตรงกับความเดือดร้อนของชาวนา น่าจะเป็นการยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียมส่งออกข้าวมากกว่า
+ ขบวนการชาวนามีกรรมกรและนักศึกษาเป็นพันธมิตร หรือเรียกกันในนาม ‘สามประสาน’
+ ก่อนเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 กลุ่มการเมืองฝ่ายอนุรักษนิยม มองว่า รัฐบาลคึกฤทธิ์อ่อนแอในการจัดการปัญหาของชาวไร่ชาวนา กลุ่มขวาจัดเริ่มปฏิบัติการนอกกฎหมาย มีผู้นำชาวไร่ชาวนาถูกลอบสังหาร 17 คน
+ หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จนถึงวันที่ 21 กรกฎาคม 2522 มีชาวไร่ชาวนาถูกสังหารทั้งสิ้น 48 ราย
+ รัฐบาลชุดนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ประกาศห้ามส่งออกข้าวชั่วคราวระหว่างเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2519 เนื่องจากข้าวในประเทศมีราคาสูงขึ้น ผลจากการส่งออกข้าวในปริมาณมากในช่วงรัฐบาลก่อนหน้า นำโดย ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช
04: ข้าวเต็มเม็ดในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ
2521
+ ภัยแล้งส่งผลกระทบต่อผู้คนในชนบทโดยเฉพาะชาวไร่ชาวนา รัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ตั้งงบประมาณจำนวน 1,600 ล้านบาทจากเงินคลังสำรองเป็นงบประมาณพิเศษเพื่อใช้จ่ายในโครงการ ‘การบูรณะฟื้นฟูชนบทบริเวณที่ได้รับภัยพิบัติจากธรรมชาติ’
2522
+ การต่อสู้ด้วยอาวุธของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเป็นเงื่อนไขสำคัญในการดำเนินนโยบายด้านต่างๆ ของรัฐ จึงมีการวิเคราะห์กันว่าจุดมุ่งหมายของโครงการนี้ก็เพื่อป้องกันปัญหาทางการเมืองมากกว่าที่จะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่กดทับชีวิตชาวนา
2523
+ รัฐบาลประกาศห้ามส่งข้าวไปจำหน่ายแก่ประเทศอิหร่านและสหภาพโซเวียตในวันที่ 30 มกราคม 2523 เนื่องจากกรณีขัดแย้งทางการเมืองระหว่างอิหร่านกับสหรัฐ ประเทศสหรัฐร้องขอประเทศไทยร่วมประท้วงสหภาพโซเวียตที่รุกรานอัฟกานิสถาน
+ พลเอกเกรียงศักดิ์ถูกโจมตีว่าไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนกุมภาพันธ์ 2523
2525-26
+ กลไกที่รัฐบาลเปรมใช้สำหรับการรับซื้อและขายข้าวในช่วงแรก คือ องค์การคลังสินค้า (อคส.) ซึ่งอยู่ในความดูแลของ ‘กรมการค้าภายใน’ กระทรวงพาณิชย์ ในการเข้าไปรับซื้อข้าวจากโรงสี เพื่อจำหน่ายผู้บริโภคในราคาต่ำกว่าราคาตลาด ในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของรัฐบาลรับซื้อข้าวเปลือกเก็บไว้ตามแต่โอกาสเมื่อมีประกาศนโยบายพยุงราคา
อีกกลไกหนึ่ง รัฐบาลใช้ ‘องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร’ (อ.ต.ก.) ที่ก่อตั้งในปี 2517 สังกัด ‘กระทรวงเกษตรและสหกรณ์’ ทำหน้าที่เป็นตลาดกลางให้เกษตรกร อ.ต.ก. เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนสินค้า ทำหน้าที่ดำเนินการพยุงราคาผลิตผลเกษตรกรรม รวมทั้งการจัดหาปัจจัยการผลิตให้เกษตรกร
+ จากการศึกษาการปฏิบัติงานของ อ.ต.ก. ในฤดูเพาะปลูกปี 2525/26 โดย เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง พบว่า ผู้ส่งออกและโรงสีเป็นกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์สูงสุดประมาณร้อยละ 54 จากการค้าข้าว เจ้าหน้าที่รัฐบาลและผู้กำหนดนโยบายได้รับผลตอบแทนร้อยละ 27 ชาวนาได้รับผลตอบแทนที่เหลือร้อยละ 19
+ หลังปี 2524 เป็นต้นมา ราคาข้าวตกต่ำลงเรื่อยๆ รัฐบาลในขณะนั้นจึงหันมาผลักดันโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในปีการผลิต 2525/26 โดยให้เกษตรกรนำข้าวเปลือกมาจำนำกับ ธ.ก.ส. ข้าวเปลือกที่นำมาจำนำ เกษตรกรต้องนำไปฝากไว้ที่หน่วยงานขององค์การคลังสินค้าในพื้นที่ เกษตรกรจะได้รับเงินกู้ยืมร้อยละ 80 ของมูลค่าข้าว แต่มีการจำกัดวงเงินไม่เกิน 100,000 บาท โดยเกษตรกรสามารถไถ่ถอนข้าวก่อนกำหนดได้พร้อมจ่ายอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 13 แต่ถ้าเกษตรกรไม่มาไถ่ถอนตามกำหนด ข้าวเปลือกที่จำนำไว้จะตกเป็นขององค์การคลังสินค้าเพื่อการจำหน่ายออกต่อไป
2527
+ การนำมาตรการการกำหนดโควตาถูกนำกลับมาใช้อีกครั้งในปี 2527 โดย นายโกศล ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ในขณะนั้น ผลจากการนำระบบโควตากลับมาใช้ในปี 2527 สร้างความไม่พอใจให้กับโรงสี คนกลุ่มนี้มองว่าจะเป็นผลเสียต่อการค้าข้าวทั้งระบบของประเทศ ในช่วงเวลานั้นราคาข้าวลดต่ำลงมาเหลือตันละ 5,616 บาท นอกจากนั้นก็มีการเก็บรักษาข้าวไว้เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาให้โควตาส่งออก แต่มาตรการนี้กลับฉุดลากให้ราคาข้าวในประเทศตกต่ำลงไปอีก เพราะมาตรการดังกล่าวเป็นการเพิ่มอำนาจผูกขาดให้กับพ่อค้าส่งออกซึ่งได้กำไรจากส่วนเกินที่เรียกว่า ‘ค่าเช่าทางเศรษฐกิจ’ และทำให้เกิดการทุจริตในหมู่ข้าราชการ
2528
+ โครงการรับจำนำข้าวเปลือกได้หยุดชะงักไปในปี 2528 เพราะรัฐบาลกำลังเตรียมการเพื่อจะนำโครงการรับจำนำข้าวเปลือกเป็นมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาของภาครัฐในขณะนั้น
+ รัฐบาลพลเอกเปรมประสบกับปัญหาเรื่องข้าวและเสถียรภาพทางการเมือง หลังจากความล้มเหลวในการทำรัฐประหารของกลุ่มกบฏ 9 กันยา พลเอกเปรมเดินทางไปเยือนสหรัฐและยุโรปเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ระหว่างนี้ได้มอบหมายให้นายพิชัย รัตตกุล รองนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พรรคร่วมรัฐบาลในขณะนั้นเตรียมหาหนทางแก้ปัญหาราคาข้าวเปลือกและข้าวสาร
+ ในเวลาเดียวกัน กลุ่มผู้ส่งออกเรียกร้องให้รัฐบาลลดอากรขาออก และยกเลิกค่าธรรมเนียมส่งออกสำหรับข้าวสารบางประเภท รวมทั้งยกเลิกระบบโควตาและการเก็บรักษาข้าว พูดได้ว่าข้อเรียกร้องของผู้ส่งออกคือ การเปิดการค้าข้าวเสรี
+ คณะกรรมการข้าวของสภาหอการค้าไทยได้ประชุมกันในวันที่ 18 กันยายน 2528 มีมติเสนอต่อคณะกรรมการรักษาระดับราคาข้าวของรัฐบาล ให้ยกเลิกมาตรการกีดกันการค้าข้าวทั้งหมด แต่รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ ผู้เป็นประธานคณะกรรมการรักษาระดับราคาข้าว ไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของคณะกรรมการข้าวของสภาหอการค้าไทย
+ การประชุม ครม. ในวันที่ 23 กันยายน 2528 มีมติให้ยกเลิกเฉพาะอากรขาออกข้าว แต่ให้คงมาตรการค่าธรรมเนียมส่งออกข้าว และการเก็บรักษาข้าวไว้ดังเดิม
+ ที่จังหวัดสุพรรณบุรี ฐานเสียงของพรรคชาติไทย พรรคฝ่ายค้านในรัฐบาลชุดนั้นเคลื่อนไหวร่วมกับคณะกรรมการกลางกลุ่มเกษตรกร 8 จังหวัด พรรคฝ่ายค้านและกลุ่มชาวนาใน 8 จังหวัด แสดงความวิตกต่อราคาข้าวเปลือกนาปรังตกต่ำลงเหลือเพียงเกวียนละ 1,800-1,900 บาท ราคาข้าวนาปีตกลงมาจากเกวียนละ 3,300 บาท เหลือเพียงเกวียนละ 3,000 บาท
+ ความเคลื่อนไหวอีกฟากของฝ่ายการเมือง รัฐมนตรี 11 คน ของพรรคกิจสังคมมาพบปะหารือกันที่บ้านพักของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก่อนจะได้ข้อสรุปเรียกร้องให้รัฐบาลมีมาตรการประกันราคาข้าวเปลือกขั้นต่ำของปีการผลิต 2528/29 โดยที่การเก็บเกี่ยวข้าวเปลือกฤดูใหม่จะเริ่มในเดือนพฤศจิกายน 2528 พวกเขาทั้ง 11 คน ขู่ว่าจะถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลหากข้อเรียกร้องได้รับการเพิกเฉย
+ แอ็คชั่นของ 11 รัฐมนตรีพรรคกิจสังคม ถูกมองจากพรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคชาติไทย ว่ามีเจตนาหาเสียงกับชาวนา
+ ระหว่างพลเอกเปรมเดินทางไปสหรัฐและยุโรปเป็นเวลาสองสัปดาห์ สมาชิกผู้แทนราษฎรพรรคกิจสังคมประมาณ 30 คน เดินสายพบปะผู้แทนสมาคมโรงสี มีการพูดคุยกันว่าโรงสีจะรับซื้อข้าวเปลือกในราคาเกวียนละ 3,300 บาท แต่มีเงื่อนไขว่าโรงสีจะต้องได้รับเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำจากรัฐบาล
+ พลเอกเปรมเดินทางกลับประเทศวันที่ 10 ตุลาคม 2528 ก่อนจะมีการประชุม ครม. ฝ่ายเศรษฐกิจในวันที่ 14 ตุลาคม 2528 แต่ไม่มีข้อสรุปในดีลที่พรรคกิจสังคมคุยไว้กับโรงสี มีเพียงการตั้งคณะกรรมการศึกษาข้อเสนอของพรรคกิจสังคม
+ 17 ตุลาคม 2528 คณะกรรมการนโยบายข้าวปีการเพาะปลูก 2528/29 ได้ประชุมกันที่กระทรวงพาณิชย์ มีมติเสนอให้มีการประกันราคาข้าวเปลือก 3,000 บาท/เกวียน และพร้อมที่จะใช้มาตรการบังคับ 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.กำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด และ พ.ร.บ.การค้าข้าว โรงสีที่จะเข้าร่วมโครงการจะได้รับเงินกู้ดอกเบี้ยร้อยละ 9 ต่อปี แทนอัตราเดิมที่ร้อยละ 15.5 ต่อปีจากธนาคารพาณิชย์เพื่อนำไปซื้อข้าวเปลือก กติกาคือหากปฏิเสธรับซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาในราคาประกันขั้นต่ำ จะต้องถูกจำคุกและปรับ
+ 21 ตุลาคม 2528 ครม.ฝ่ายเศรษฐกิจมีมติให้ความเห็นชอบมาตรการยกระดับราคาข้าว ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในวันที่ 1 ธันวาคม 2528 โดยเงินทั้งหมดจะใช้ในการนี้ไม่ได้มาจากธนาคารพาณิชย์เหมือนดีลที่พรรคกิจสังคมคิดไว้ แต่นำมาจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร คาดการณ์กันในช่วงเวลานั้นว่า ชาวนาจะสามารถขายข้าวได้ประมาณ 3 ล้านตันข้าวเปลือกในราคาประกันที่ 3,000 บาทต่อเกวียนสำหรับข้าว 5 เปอร์เซ็นต์ แต่ราคาดังกล่าวยังไม่เป็นที่พอใจของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคกิจสังคม ที่ต้องการเห็นตัวเลขที่ 3,300 บาทต่อเกวียน
+ มาตรการประกันราคาข้าวเปลือกขั้นต่ำถูกประกาศใช้ในเดือนธันวาคม แต่ปัญหากลับไม่ถูกแก้ วันที่ 9 ธันวาคม 2528 ชาวนาจำนวนกว่า 1,500 คนจากจังหวัดสุพรรณบุรี ชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรี รวมตัวกันที่อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อประท้วงราคาข้าวเปลือกตกต่ำ
+ ปลายปี 2528 ต้นปี 2529 กลุ่มเกษตรกรได้ทำการเคลื่อนไหวประท้วงราคาข้าวเปลือกตกต่ำ ผู้แทนชาวนา 70 คน รวมตัวกันที่บ้านนายประภัตร โพธสุธน สมาชิกผู้แทนราษฎรพรรคชาติไทย วันที่ 6 มกราคม 2529 ชาวนาประมาณ 3,000 คน ชุมนุมประท้วงบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ท่ามกลางความอลหม่าน ชาวไร่สับปะรดบรรทุกสับปะรดเทเกลื่อนไปทั่วบริเวณ
*มีคำอธิบายว่า ชาวไร่สับปะรดถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อขัดขวางการประท้วงที่พรรคชาติไทยให้การสนับสนุน ซึ่งพยายามจะทำให้พลเอกเปรมเสียชื่อ ซึ่งผู้ที่อยู่เบื้องหลังการเทสับปะรดคือ พันเอกพล เริงประเสริฐวิทย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากอุทัยธานี ผู้เป็นเจ้าของโรงงานสับปะรดกระป๋องในเพชรบุรี ซึ่งสังกัดพรรคชาติไทยในเวลานั้น
+ ในบางพื้นที่ราคาข้าวเปลือกตกลงมาอยู่ที่เกวียนละ 2,300-2,400 บาท
+ ร.ต.อ.สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้รับหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์คนใหม่ เขาประกาศยกเลิกมาตรการทั้งหมดของรัฐมนตรีคนเก่าทันที
+ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์คนใหม่ ประกาศยกเลิกโครงการพยุงราคาข้าวเปลือก ยกเลิกการใช้กฎหมายทั้งสองฉบับที่ทำให้โรงสีข้าวลังเลที่จะเข้าร่วมโครงการ (พ.ร.บ.กำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด และ พ.ร.บ.การค้าข้าว) ยกเลิกระบบโควต้าส่งออก ยกเลิกเก็บค่าธรรมเนียมส่งออกข้าวสำหรับข้าวคุณภาพต่ำกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ ผ่อนปรนข้อกำหนดให้มีการเก็บรักษาข้าวที่กำหนดไว้ 2,000 ตัน ลดเหลือปริมาณต่ำกว่านั้น แต่กลุ่มผู้ส่งออกรายใหญ่ 4 กลุ่มที่ได้รับอภิสิทธิ์ที่จะขายข้าวในตลาดที่รัฐบาลกำหนด ยังต้องเก็บรักษาข้าวไว้ในจำนวนรวมทั้งสิ้น 80,000 ตัน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ผู้นี้บอกว่า มาตรการทั้งหมดเท่ากับการปล่อยให้มีการค้าข้าวโดยเสรี
05: วิวัฒนาการโครงการจำนำข้าว
2529/30
+ โครงการรับจำนำข้าวเปลือกในปีการผลิต 2529/30 เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงโครงการภายในของ ธ.ก.ส. มาเป็นโครงการของรัฐและเป็นโครงการหลัก เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการรักษาระดับราคาข้าวไม่ให้ตกต่ำด้วยการชะลอการขายของเกษตรกร
+ ธ.ก.ส. ให้ร้อยละ 80 ของมูลค่าข้าวเปลือก ในปีการผลิต 2529/30 มีเกษตรกรมาขอกู้จำนวน 360,269 ราย มียอดเงินสินเชื่อรวม 3,809.6 ล้านบาท และมีปริมาณข้าวเปลือกที่นำมาจำนำประมาณ 2.27 ล้านตัน
2530/31
+ คณะกรรมการนโยบายและมาตรการข้าว (กนข.) เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของอัตราดอกเบี้ยใหม่ โดยกำหนดให้เกษตรกรเสียดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปีตลอดระยะเวลาจำนำ โดยที่ ธ.ก.ส. จะได้รับเงินชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้จากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร
+ สำหรับงบประมาณที่ใช้ในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกจะอยู่ในวงเงินประมาณ 2-3 พันล้านบาทในช่วงระหว่างปีการผลิต 2531/32 ถึงปีการผลิต 2533/34
2534/35
+ รัฐบาลได้ปรับเปลี่ยนงานกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรที่ตั้งขึ้นในปี 2517 มาเป็นคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) และได้จัดตั้ง ‘กองทุนรวมเพื่อเกษตรกร’ ขึ้น เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรทั้งระบบครอบคลุมสินค้าเกษตรทุกชนิด ทำให้โครงการต่างๆ ที่เกี่ยวกับการแทรกแซงระดับราคาข้าวได้ขอใช้เงินจากกองทุนรวมฯนี้ รวมทั้งโครงการรับจำนำข้าวเปลือกภายใต้การดำเนินงานของ ธ.ก.ส. ด้วย
+ มีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์จำนวนเงินสินเชื่อจากร้อยละ 80 ของมูลค่าข้าวเปลือกที่นำมาจำนำเป็นร้อยละ 90 ทั้งนี้ เพื่อช่วยเหลือให้เกษตรกรได้รับสินเชื่อในจำนวนที่สูงขึ้น
2535/36
+ มีการผ่อนคลายหลักเกณฑ์ในการรับจำนำข้าวเปลือก เกษตรกรสามารถยืมยุ้งฉางของเกษตรกรรายอื่นเพื่อเก็บรักษาข้าวเปลือกได้ ทำให้จำนวนการมาใช้สินเชื่อภายใต้โครงการรับจำนำเพิ่มขึ้นเป็น 10,550 ล้านบาท และธนาคารได้รับจำนำข้าวเปลือกเป็นจำนวนถึง 3.34 ล้านตัน มีเกษตรกรที่มาใช้บริการสินเชื่อจำนวน 465,744 ราย
2536/37
+ มีการกำหนดวิธีการรับจำนำขึ้นเป็น 2 รูปแบบ คือการรับจำนำข้าวเปลือกที่ยุ้งฉาง และการรับจำนำใบประทวนสินค้า เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรที่ไม่มียุ้งฉางเป็นของตนเอง
2540
+ ราคาข้าวเปลือกมีแนวโน้มลดต่ำลงลงไปจากเดิม เนื่องจากการขยายการผลิตของเกษตรกร โดยใช้ข้าวพันธุ์ไม่ไวต่อช่วงแสงที่ตอบสนองต่อปุ๋ยเคมีและให้ผลผลิตสูงในพื้นที่ชลประทาน การแพร่กระจายของข้าวพันธุ์ไม่ไวต่อช่วงแสงทำให้สามารถปลูกข้าวได้มากกว่าหนึ่งครั้งในรอบปี ปริมาณผลผลิตข้าวของประเทศมีเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสร้างแรงกดดันต่อราคาข้าวเปลือกของเกษตรกรตามมา
2541-2543
+ เพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถกู้ยืมเงินจาก ธ.ก.ส. โดยใช้ข้าวเปลือกเป็นหลักประกันเงินกู้ รัฐบาลได้ปรับเพิ่มราคาจำนำให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรสามารถนำมาใช้เป็นหลักประกันในการกู้เงินได้สูงถึงร้อยละ 95 ของราคาเป้าหมายในปีการผลิต 2541/42 และ 2542/43
2543/44
+ สถานการณ์ราคาข้าวเปลือกตกต่ำ ทำให้รัฐบาลในขณะนั้นตัดสินใจดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปีไปพร้อมกับโครงการรับจำนำข้าวสารและมาตรการเสริมอื่นๆ ในปีนี้เองไม่ได้กำหนดราคาเป้าหมายแต่ใช้กำหนดราคารับจำนำแทน นั่นหมายความว่าเกษตรกรสามารถนำข้าวเปลือกมาจำนำและกู้เงินได้ร้อยละ 100 ของราคาที่ กนข. กำหนด สำหรับหลักเกณฑ์อื่นๆ ยังคงถือปฏิบัติเช่นเดียวกับโครงการในปีที่ผ่านมา
+ พรรคไทยรักไทยเข้ามาบริหารประเทศในเดือนกุมภาพันธ์ 2544
+ มีการออกแบบกลไกและมาตรการใหม่ โดยให้ ธ.ก.ส. เป็นผู้รับจำนำข้าวเปลือกในกลุ่มของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรที่มียุ้งฉางเป็นของตนเอง และให้ อคส. เป็นผู้รับจำนำข้าวเปลือกในกลุ่มของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรที่ไม่มียุ้งฉางของตนเอง ทั้งนี้ อคส. จะเป็นผู้ออกใบประทวนสินค้าให้กับเกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรที่นำข้าวเปลือกนาปรังปี 2544 ไปฝากไว้กับโรงสีที่เข้าร่วมโครงการแล้วนำใบประทวนไปจำนำกับ ธ.ก.ส.
+ โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 2544 ถือได้ว่าเป็นต้นแบบของโครงการรับจำนำใบประทวนสินค้าข้าวเปลือกนับแต่นั้นมา เพราะได้มีมาตรการให้โรงสีเอกชนเข้ามาเป็นกลไกที่สำคัญในกระบวนการรับจำนำข้าวเปลือก เพิ่มเติมจากการใช้กลไกของ ธ.ก.ส. และสถาบันสหกรณ์ที่ได้ดำเนินการรับจำนำข้าวเปลือกและฝากข้าวเปลือกไว้กับยุ้งฉางของเกษตรกรแต่ละรายหรือสถาบันเกษตรกรในแหล่งการผลิต
2546-2549
+ ในช่วงปีการผลิต 2546/47 และ 2547/48 นโยบายการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลในขณะนั้นนอกจากจะคงเป้าหมายของขนาดโครงการการรับจำนำข้าวเปลือกไว้ที่ 9 ล้านตันแล้ว ยังปรับเพิ่มระดับราคารับจำนำให้สูงกว่าระดับราคาตลาด
+ การปรับเพิ่มราคารับจำนำดังกล่าวได้ส่งผลให้เกษตรกรนำข้าวเปลือกที่ผลิตได้มาเข้าโครงการรับจำนำเพิ่มสูงมากขึ้นเรื่อยๆ จาก 2.7 ล้านตันในปีการผลิตปี 2546/47 เป็น 9.4 และ 9.5 ล้านตัน ในปีการผลิต 2547/48 และปีการผลิต 2548/49 ตามลำดับ
+ มูลค่าการรับจำนำได้เพิ่มจาก 12,429 ล้านบาทในปีการผลิต 2546/47 สูงขึ้นเป็น 71,773 ล้านบาท ในปีการผลิต 2548/49 อย่างไรก็ตาม การที่ราคารับจำนำได้ปรับเพิ่มสูงกว่าระดับราคาตลาดทำให้เกษตรกรไม่มาไถ่ถอนคืนและมีข้าวหลุดจำนำตกเป็นของรัฐในจำนวนที่มากตามมา
+ การศึกษาช่องทางการตลาดข้าวเปลือก โดย ศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ รายงานว่านับจากมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบโครงการรับจำนำข้าวเปลือกจากการที่รับจำนำในราคาต่ำกว่าตลาดหรือใกล้เคียงกับราคาตลาด ไปสู่การยกระดับราคาจำนำให้สูงกว่าระดับราคาตลาด ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในช่องทางตลาดข้าวเปลือกจากเดิมที่เกษตรกรเคยขายผ่านพ่อค้าในหมู่บ้านและตลาดกลาง ไปสู่การนำข้าวมาจำนำที่โรงสี ตลาดกลางข้าวเปลือกทั้งที่เป็นของเอกชนและของสหกรณ์การเกษตรที่ได้เคยมีนโยบายการพัฒนาไว้ในช่วงของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 6 (2530-34) และ 7 (2535-2539) ก็ไม่สามารถพัฒนาให้ดำเนินการได้ต่อไป และต้องปิดกิจกรรมของการเป็นตลาดกลางลงและหันไปทำหน้าที่อย่างอื่นแทนการเป็นตลาดกลางข้าวเปลือก
06: ข้าว พลังนกหวีด และอำนาจ คสช.
2549
+ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ภายหลังจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติหรือ คมช. นำโดยพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ทำรัฐประหารในเดือนกันยายน
+ รัฐบาลปรับลดเป้าหมายปริมาณการรับจำนำลงจาก 9 ล้านตัน มาเป็น 8 ล้านตัน พร้อมปรับราคารับจำนำเป้าหมายในฤดูนาปรังให้ใกล้เคียงกับราคาตลาด พร้อมกับมีการจัดทำแผนการระบายข้าวในสต็อกออกเป็นระยะและสามารถระบายข้าวสารคงเหลือในสต็อกได้ลดลงเหลือเพียงจำนวน 2.1 ล้านตัน
2551
+ พรรคพลังประชาชนได้รับการเลือกตั้งให้เข้ามาบริหารประเทศ
+ ช่วงเดือนเมษายนถึงสิงหาคมปี 2551 ระดับราคาข้าวในตลาดต่างประเทศได้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก เนื่องจากสถานการณ์วิกฤติอาหารและพลังงานโลก
+ เดือนมิถุนายน เกษตรกรเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศราคารับจำนำในฤดูนาปรัง 2551 ให้เท่ากับราคาตลาดซึ่งในขณะนั้นราคาข้าวเปลือกที่ระดับฟาร์มได้ขึ้นไปสูงถึงตันละ 15,000 บาท ทำให้มีการปรับราคารับจำนำข้าวเปลือกนาปรังความชื้นไม่เกิน 15 เปอร์เซ็นต์ ไปที่ตันละ 14,000 บาท จากเดิมที่เคยรับจำนำที่ราคา 7,100 บาทต่อตันหรือราคาเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมถึงร้อยละ 97.18
+ เมื่อเข้าสู่ฤดูการรับจำนำข้าวเปลือกในปีการผลิต 2551/52 สถานการณ์ราคาข้าวในตลาดโลกได้ผ่อนคลายจากภาวะวิกฤติและราคาได้อ่อนตัวลงอย่างมาก การกำหนดราคารับจำนำข้าวเปลือกในฤดูนาปีปีการผลิต 2551/52 ได้ปรับระดับราคาข้าวเปลือกเจ้าลงจากระดับราคารับจำนำในฤดูนาปรังปี 2551 ทั้งนี้ ราคาที่รับจำนำข้าวเปลือกเจ้า 15 เปอร์เซ็นต์ อยู่ที่ตันละ 12,000 บาท แต่หากจะเทียบระหว่างฤดูนาปีด้วยกันระหว่างปีการผลิต 2550/51 กับปีการผลิต 2551/52 ระดับราคาข้าวเปลือกเจ้า 15 เปอร์เซ็นต์ ที่รับจำนำจะมีราคาสูงกว่าราคาข้าวในปีการผลิต 2550/51 ถึงร้อยละ 80 และประมาณร้อยละ 60 และ 66 สำหรับข้าวหอมมะลิและข้าวหอมจังหวัด
+ การปรับราคาจำนำเพิ่มขึ้นแม้จะเป็นเหตุผลด้านนโยบายเพื่อการยกระดับรายได้ให้เกษตรกรมีระดับรายได้ที่สูงขึ้นก็ตาม แต่การยกระดับราคาที่สูงกว่าระดับราคาตลาดพร้อมกับปริมาณที่รับจำนำย่อมสร้างผลกระทบต่อกิจกรรมของตลาดกลางข้าวเปลือก ทั้งนี้เพราะรัฐได้กลายเป็นผู้รับซื้อข้าวเปลือกรายใหญ่ในท้องตลาด ในขณะเดียวกันการยกระดับราคารับซื้อข้าวเปลือกให้สูงกว่าราคาตลาดจึงเปรียบได้กับเป็นการประกันราคา
2552-53
+ ในช่วงปีการผลิต 2552/53 ภายใต้รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ได้มีการปรับเปลี่ยนนโยบายการแทรกแซงตลาดจากการรับจำนำข้าวเปลือกมาเป็นนโยบายประกันรายได้ขั้นต่ำเกษตรกรผู้ปลูกข้าว รัฐจะไม่เข้าไปแทรกแซงโดยการรับซื้อข้าวเปลือกในกลไกตลาดข้าวเปลือกทั้งนี้รัฐจะเป็นผู้กำหนดราคาเป้าหมายพร้อมประกาศให้เกษตรกรได้รับทราบล่วงหน้า
2554
+ นโยบายประกันรายได้ขั้นต่ำเกษตรกรผู้ปลูกข้าวได้ถูกยกเลิกไปเมื่อสิ้นสุดโครงการประกันรายได้ฤดูนาปรังปี 2554 เมื่อพรรคเพื่อไทยได้เข้ามาเป็นรัฐบาลบริหารประเทศจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม
+ เดือนสิงหาคม 2554 เปลี่ยนแปลงนโยบายประกันรายได้ขั้นต่ำเกษตรกรผู้ปลูกข้าวไปเป็นนโยบายรับจำนำข้าวเปลือกอีกครั้งหนึ่งในฤดูนาปี ปีการผลิต 2554/55 ทั้งนี้ รัฐบาลได้ยกระดับราคารับจำนำข้าวเปลือกที่ระดับความชื้น 15 เปอร์เซ็นต์ สำหรับข้าวเปลือกหอมมะลิขึ้นเป็นตันละ 20,000 บาท ข้าวหอมจังหวัดตันละ 18,000 บาท ข้าวเปลือกปทุมธานีตันละ 16,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้าตันละ 15,000 บาท และข้าวเปลือกเหนียวตันละ 16,000 บาท ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถนำข้าวมาจำนำได้ไม่จำกัดจำนวน และมีเป้าหมายของการรับจำนำข้าวเปลือกนาปีจำนวน 25 ล้านตันข้าวเปลือก
2556–2557
+ รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556
+ กปปส. เริ่มชุมนุมประท้วงขับไล่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้ลาออกจากรักษาการนายกฯ เพื่อเปิดทางให้มีการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ตั้งแต่วันที่ 13 มกราคม 2557 ก็ได้ยกระดับสู่การปิดใจกลางเมืองกรุงเทพมหานครในพื้นที่ 7 จุดด้วยกัน
+ หลังจากที่รัฐบาลได้ดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกติดต่อกันมาสามฤดูกาล (2554/55-2555/56 และ 2556/57) นักวิชาการ-อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง-อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย รวมไปถึงผู้คนในวงการค้าข้าว ต่างก็วิพากษ์วิจารณ์โครงการนี้ ต่อมาปรากฏผลการขาดทุนจากการรับจำนำข้าวไม่ต่ำกว่า 250,000-300,000 ล้านบาท
+ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ยังคงค้างจ่ายเงินในโครงการรับจำนำข้าวอยู่อีก 1.3 แสนล้านบาทในเดือนมกราคม 2557
+ นายกสมาคมชาวนาไทย เดินทางมายังสภาทนายความใน กทม. เพื่อหารือแนวทางยื่นฟ้องทางแพ่งและอาญา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) กรณีผิดนัดชำระเงินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปี 2555/2556 และ 2556/2557
+ ผู้ชุมนุม กปปส. ใช้ความผิดพลาดของโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล เป็นเหตุผลหนึ่งในการประท้วงขับไล่รัฐบาล
+ ข่าวชาวนาในจังหวัดต่างๆ ชุมนุมประท้วงเพื่อขอรับเงินจากโครงการฯ ปรากฏขึ้นตลอดช่วงต้นปี 2557 ชาวนาบางส่วนเข้าร่วมการชุมนุมกับ กปปส.
+ รัฐบาลพยายามหาเงินจำนวนนี้มาจ่ายหนี้ชาวนา แต่จากการยุบสภาทำให้รัฐบาลรักษาการมีอำนาจจำกัดตามที่กฎหมายบัญญัติ
+ รัฐบาลหาทางออกโดยการทำหนังสือเชิญชวนให้สถาบันการเงินเข้าร่วมปล่อยกู้ให้ ธ.ก.ส. เพื่อใช้ในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลวงเงิน 1.3 แสนล้าน โดยกระทรวงการคลังจะเป็นผู้ค้ำประกัน โดยให้เสนอวงเงินกู้ก้อนแรกจำนวน 20,000 ล้านบาทในวันที่ 30 มกราคม แต่ปรากฏว่าธนาคารพาณิชย์หลายราย เช่น ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารทหารไทย ธนาคารกรุงไทย ฯลฯ ยื่นข้อเสนอเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าอัตราตลาดมาก เนื่องจากเห็นว่าโครงการรับจำนำข้าวมีความเสี่ยงด้านความเชื่อมั่นสูง
+ กุมภาพันธ์ 2557 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. กล่าวบนเวทีปราศรัยเวทีแยกศาลาแดง ว่า การที่รัฐบาลติดหนี้ชาวนา 1.3 แสนล้านบาท คงไม่มีปัญญาหาเงินมาใช้หนี้ เพราะรัฐบาลรักษาการไม่มีอำนาจกู้หนี้ตามรัฐธรรมนูญกำหนด ทำให้ธนาคารไม่กล้าปล่อยกู้ แต่รัฐบาลกลับโยนความผิดให้ กปปส. ว่าขัดขวางไม่ให้ธนาคารปล่อยเงินกู้ กปปส. ขอประกาศว่าธนาคารพาณิชย์ใดอยากปล่อยเงินกู้ให้รัฐบาลเชิญได้เลย
+ นายสุเทพ ยังปราศรัยฝากให้รัฐบาลหยุดยุยงชาวนานาให้แตกแยกเป็น 2 ฝ่าย เพราะชาวนาเดือดร้อนมากพอแล้ว ไม่ควรสร้างความเดือดร้อนเพิ่มให้อีก
+ นายวิเชียร พวงลำเจียก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า ชาวนาที่มาร่วมชุมนุมเพื่อแสดงออกในการเรียกร้องให้ธนาคารปล่อยเงินกู้ ที่ผ่านมารัฐบาลไม่สามารถหาเงินมาจ่ายให้กับชาวนาได้ เนื่องจากส่วนหนึ่งมาจากปัญหาทางการเมือง เขาขอร้องให้ กปปส. และผู้ชุมนุมกลุ่มต่างๆ อย่ากดดันธนาคาร เพื่อให้รัฐบาลมีอำนาจในการบริหารประเทศอย่างเป็นเอกภาพและสามารถนำเงินมาจ่ายในโครงการรับจำนำข้าวต่อไป
+ รายงานข่าว ณ เดือนกุมภาพันธ์ รายงานว่า ชาวนาฆ่าตัวตายจำนวน 13 รายแล้ว
+ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดย นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษก ป.ป.ช. แถลงผลสรุปการไต่สวนคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าวของรัฐบาลว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเป็นเอกฉันท์แจ้งข้อกล่าวหา นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กับพวกข้าราชการ และบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องกับโครงการทุจริตจำนำข้าว รวม 15 ราย ข้อหามีพฤติกรรมเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 หรือ พ.ร.บ.ฮั้วประมูล
+ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยังมีมติให้คณะอนุกรรมการไต่สวนดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี จากกรณีมีเหตุอันควรสงสัยตามมาตรา 66 ของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ กรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ละเลยไม่ดำเนินการระงับหรือยับยั้งการทุจริตที่เกิดขึ้นในโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ทั้งๆ ที่ ป.ป.ช. เคยมีหนังสือท้วงติงและแสดงความกังวลเกี่ยวกับการทุจริตที่เกิดขึ้นแจ้งไปยังรัฐบาลให้ทราบมาก่อนหน้านี้แล้ว
+ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อันมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะ ประกาศการทำรัฐประหาร ยึดอำนาจจากพรรคเพื่อไทย ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557
อ้างอิงข้อมูลจาก:
การเมืองเรื่องข้าว: นโยบาย ประเด็นปัญหา และความขัดแย้ง โดย อภิชัย พันธเสน และมนตรี เจนวิทย์การ
วิวัฒนาการของโครงการรับจำนำข้าวเปลือก โดย รศ.สมพร อิศวิลานนท์ สถาบันคลังสมองของชาติ
prachachat.net
thaipublica.org