กูอยากทำนา: เสียงของชาวนาแห่งทุ่งบางบาล

  • ตำบลบางชะนี อำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำที่อยู่ในพื้นที่แก้มลิงธรรมชาติทุ่งบางบาล
  • ในอดีตชาวนาบางบาลทำนาปีก่อนจะปรับเปลี่ยนระบบผลิตมาทำนาปรังตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมาหลังจากที่เริ่มมีการศึกษาถึงศักยภาพของทุ่งบางบาลในการเป็นพื้นที่รับน้ำในช่วงที่ปริมาณน้ำหลาก เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำท่วมเขตอุตสาหกรรมและเขตเมือง
  • ชาวนาแห่งทุ่งบางบาลทำนาปรังครั้งที่ 1 ในเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม ครั้งที่ 2 ในเดือนธันวาคม-มีนาคม ส่วนในช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายน ชาวนาจะเว้นช่วงปล่อยให้น้ำที่กรมชลประทานปล่อยเข้าท่วมทุ่ง
  • ช่วงฤดูแล้งปี 2562/63 ปริมาณน้ำใช้การได้ใน 4 เขื่อนหลักของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา มีประมาณ 5,300 ล้าน ลบ.ม. หรือเพียงร้อยละ 29 ของความจุอ่างรวมกัน
  • กรมชลประทานชี้แจงว่า ปริมาณน้ำดังกล่าวไม่เพียงพอที่จะจัดสรรน้ำให้ชาวนาทุ่งบางบาลในการทำนาปรังในปีนี้ได้
  • เกษตรกรชาวบางบาลถูกทำให้จำยอมโดยนโยบายในการรับสภาพเป็นพื้นที่รับน้ำ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาอื่นซ้ำเติม เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง เนื่องจากแรงกดดันจากภาวะขาดทุน และการพัฒนาการใช้สอยประโยชน์ที่ดินในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
  • เรื่องราวต่อจากนี้คือชีวิตของชาวนาแห่งทุ่งบางบาล

บังอร คล้ายสีโพธิ์

ฉันมีที่นาเป็นของตัวเอง 7 ไร่ มีแค่นี้แหละ เพราะไม่ได้เกิดเดือนมีนา (หัวเราะ) ฉันเกิดเดือนมกรา ก็เลยมีนาน้อย ส่วนหนึ่งฉันเช่าที่นาของชาวบ้านด้วยกันที่เขาทำไม่ไหว อีกส่วนก็เช่านาบริษัท สรุปทำนาทั้งหมด 50 กว่าไร่

รุ่นพ่อรุ่นแม่จะปลูกข้าวพวง เป็นพันธุ์พื้นเมือง เขาเรียกข้าวหนัก ปลูกปีละครั้ง หลังจากหว่าน ไถดินกลบ รอน้ำฝน พอน้ำฝนลงข้าวก็เริ่มงอก แม่น้ำเจ้าพระยาช่วงนั้นก็จะเต็มปริ่ม เขาก็จะปล่อยน้ำเข้าคลอง คลองก็ส่งน้ำเข้านา ทีนี้พอน้ำมาข้าวมันก็จะยืดตัวหนีน้ำ ไร่หนึ่งก็ได้ 50 ถัง

ว่างจากฤดูทำนาเราก็ทำอิฐขาย ตั้งแต่เกิดมาชีวิตก็เจอนากับเจออิฐ พอว่างจากนาเราก็ทำอิฐ เป็นวิถีชีวิตตราบปัจจุบัน สมัยก่อนทำกันแบบนี้ แต่พอทุ่งบางบาลกลายเป็นพื้นที่แก้มลิง เขาก็ให้เราทำนา 2 ครั้งต่อ 1 ปี

ช่วงปี 2555 เป็นต้นมา ทุ่งบางบาลกลายเป็นพื้นที่รับน้ำ เราจึงเริ่มทำนาปลายเดือนพฤศจิกายน จะไปเกี่ยวปลายๆ เดือนมีนาคมหรือเมษายน แล้วแต่ว่าเราจะทำช้าทำไว พอถึงปลายเดือนพฤษภาคมเราก็เริ่มทำนาอีกรอบ แต่ต้องเกี่ยวข้าวให้ทันภายในวันที่ 15 กันยายน หลังจากวันที่ 15 กันยายน ชลประทานจะปล่อยน้ำลงทุ่ง

พอเปลี่ยนมาทำนาปรัง เราต้องปรับเปลี่ยนวิธีการปลูกกันใหม่หมด พันธุ์ข้าวก็ต้องเปลี่ยน เราเปลี่ยนมาปลูกพันธุ์ กข.41 กข.47 เพราะเรามีเวลาแค่ 115 วันจากวันหว่านไปถึงเกี่ยว เพื่อหนีน้ำที่จะปล่อยมาในวันที่ 15 กันยายน เพราะหลังจากนี้ชลประทานจะไม่รับผิดชอบหากว่าชาวนาเกี่ยวข้าวไม่ทัน เราต้องเกี่ยวให้ทันก่อนที่เขาจะปล่อยน้ำ

บางครั้งเราทำล่าช้า ข้าวไม่สุก โรงสีตัดราคา เราก็ต้องยอม ดีกว่าปล่อยน้ำท่วมให้ข้าวเน่า ได้น้อยดีกว่าไม่ได้เลย เราก็ต้องเร่งเกี่ยว เกี่ยวไม่ทันน้ำก็ต้องเกี่ยว แล้วก็ไปโดนโรงสีตัดราคา โดนหักความชื้นบ้าง ข้าวสุกไม่ทันบ้าง เราก็โดนแบบนี้มาตลอด

พอมาปีนี้ ชลประทานไม่ปล่อยน้ำเข้าทุ่ง เราเลยไม่ได้ทำนา ทั้งที่ทุ่งบางบาลเป็นพื้นที่รับน้ำ แต่ไม่มีน้ำทำนา เราไปถามเขา ทำไมไม่ปล่อยน้ำเข้าทุ่ง เขากลัวน้ำในแม่น้ำแห้ง เพราะตอนนี้น้ำทะเลหนุนมา เขากลัวจะไม่มีน้ำจืดไปหนุนดันน้ำเค็ม กรุงเทพฯ จะเดือดร้อน อะไรของเขาไม่รู้ เราไม่เข้าใจ เขาห่วงกรุงเทพฯ ก็เมืองหลวงน่ะนะ

รสสุคนธ์ งามจันตร

เราจ่ายเงินค่าเช่านา 2 ครั้งต่อปี เราจ่ายค่าเช่านาล่วงหน้า เพราะเขาจะเก็บล่วงหน้า แต่ปีนี้เราได้ทำนาเพียงรอบเดียว แต่เขาเก็บค่าเช่าไปแล้ว จะให้เราทำยังไง ลูกก็ต้องเรียน หนี้ก็ต้องจ่าย อยู่ดีๆ ก็มาบอกว่าปีนี้ไม่ต้องทำนา ไม่มีน้ำให้ทำ ชลประทานบอกไม่สูบน้ำให้ปีนี้

ฉันทำนา 60 ไร่ เช่าเขาทั้งนั้น ไม่มีนาเป็นของตัวเอง หลังจากเรียนจบ ฉันไปเป็นทหารพราน 7 ปี ส่วนน้องๆ รับราชการกัน ถึงวันหนึ่งเราต้องกลับมาอยู่กับพ่อแม่ กลับมาใช้ชีวิตดั้งเดิมคือเกษตรกร พ่อแม่ทำนามาตลอด ช่วงที่เราเป็นทหาร พ่อแม่ยังแข็งแรงก็ทำนากันเองมาตลอด แต่พอเรากลับมาบ้าน แกก็เริ่มขายนา เราก็ไปเช่านา เหมือนไปเช่านาที่เคยเป็นของตัวเองนี่แหละมาทำนา

ในอดีตช่วงพัฒนาอุตสาหกรรมยุคพลเอกชาติชาย ที่ดินแถวนี้บูมมาก แล้วก็เริ่มมีธุรกิจบ่อทราย ใต้ดินในทุ่งบางบาลมีทราย เขาก็ขุดเอาทรายไปขาย มากว้านซื้อที่ดินของชาวบ้าน ชาวนาก็กลัว เพราะตอนนั้นมีการล้อมซื้อที่ดินของชาวนา ก็กลัวว่าดินมันจะสไลด์ใช่ไหม ประกอบกับชาวนาที่ทำนาแล้วขาดทุน เขาเจอแรงกดดันรอบตัว ชาวนาในตอนนั้นก็เริ่มขายที่ดินกัน ต่อมามีบริษัทเข้ามาซื้อที่ดิน ปัจจุบันที่ดินในทุ่งบางบาลส่วนใหญ่เป็นของบริษัท ชาวนาก็กลับไปเช่าที่ดินตัวเองเพื่อทำนา

ชาวนาบางบาลใจดีไม่เหมือนที่อื่น เขาบอกให้ทำอะไรก็ทำ ในช่วงการทำนารอบเดือนพฤศจิกายนของทุกปี เราต้องจ่ายค่ากระแสไฟฟ้าเพื่อให้ชลประทานสูบน้ำไร่ละ 100 บาท สมัยก่อนเขาเก็บ 150 บาท แต่การเพาะปลูกรอบเดือนพฤษภาคมเขาจะสูบน้ำให้เราฟรี เพราะเขาใช้ไฟน้อยเนื่องจากเป็นฤดูฝน แต่พอรอบนี้มันต้องใช้เครื่องสูบน้ำตลอด ชาวนาบางบาลกี่พันไร่ล่ะ รวมเงินไร่ละ 100 บาท พอถึงเวลาสิ้นเดือนก็ไปจ่ายค่ากระแสไฟฟ้า เรายอมเสียเพื่อให้ได้ทำนา 2 รอบ แล้วจู่ๆ มาปีนี้เขาบอกไม่มีน้ำให้ทำนา

ชลประทานบอกว่าไม่มีน้ำ ซึ่งเราเป็นพื้นที่รับน้ำนะ เราขับรถไปดูพื้นที่ใกล้เคียง คลองระพีพัฒน์ คลองมะขามเฒ่า ทางนั้นทำนารอบที่ 3 กันแล้วนะ แล้วเขาไม่ใช่พื้นที่รับน้ำแบบเรา เรานี่ยอมเสียค่ากระแสไฟฟ้า อะไรเราก็ยอมทุกอย่าง ชาวนาที่นี่เป็นคนใจดีนะ ไม่เคยประท้วงไม่เคยอะไร เขาบอกให้ทำอะไรก็ทำ เสียค่าอะไรก็ยอมเสียหมด แต่จู่ๆ มาบอกไม่มีน้ำให้เราทำนา

ราคาข้าว – เราไม่สามารถตั้งได้อยู่แล้ว การจัดการน้ำก็เป็นอำนาจของชลประทาน เวลาเกิดปัญหาก็ไม่มีข้อกระจ่าง เหมือนเราต้องเป็นฝ่ายรออย่างเดียว

บางคนบอกว่าชาวนารอแต่เงินแจกของรัฐบาล เราไม่ได้อยากได้แบบนั้นนะ เราอยากทำนา ครั้งนี้เขาจะให้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยว เราไม่ได้อยากได้ตรงนั้น เราอยากทำนามากกว่า เพราะอาชีพของเราคือการทำนา บางคนบอกให้เปลี่ยนจากทำนาไปทำอย่างอื่น ถามหน่อยว่าคนพูดเคยมาดูพื้นที่เราไหม ว่ามันสามารถทำอะไรได้บ้าง เราเป็นผู้ปฏิบัติจึงรู้ว่าอะไรเหมาะหรือไม่เหมาะ แล้วปัญหาคือมันไม่ใช่ที่ดินของเรา เราปรับตัวไม่รู้เท่าไหร่แล้ว ล้มลุกคลุกคลานมาตลอด

หน่วยงานก็ช่างขยันหาอาชีพมาให้เรา เอาเห็ดมาแจก เอาพืชตัวนั้นตัวนี้มาให้ปลูก แต่ไม่เคยหาตลาดให้ เราเอาเห็ดไปขายกันที่ไหน ก็เจอแต่รถขายเห็ด เจอแต่คนขายเห็ด มีแต่คนขายไม่มีคนซื้อ ขับไปทางไหนก็เจอแต่พวกเดียวกัน จะให้เราทำอาชีพอะไรเราลองทำกันหมด เอาข้าวโพดมาปลูก ก็ไม่รู้จะไปขายที่ไหน ได้แต่เอามาแจก แต่ไม่ได้หาตลาดให้เรา

งบประมาณที่สนับสนุนโครงการนั้นโครงการนี้ เดี๋ยวก็เอาไอ้นี่มาให้ปลูกเดี๋ยวก็เอาไอ้นั่นมาให้ปลูก มันเหมือนเอาสตางค์มาละลายเปล่าๆ เสียดายเงินภาษี เรามีอาชีพทำนาโปรดให้เราทำนาเถอะ โปรดหาตลาดให้เราเถอะ ไม่ใช่ว่าทำแล้วแต่ไม่รู้จะไปขายใคร ปิดประเทศแบบนี้จะไปขายให้ใคร ข้าวก็ราคาแบบนี้ เดี๋ยวก็เอาเงินมาหยอดให้ชาวนาที ไม่ใช่หรอก เราไม่ได้อ้าปากรอป้อนนะ เรามีอาชีพทำนา เราอยากทำนา ไม่ใช่ว่าจะรอเมื่อไหร่เงินประกันการเก็บเกี่ยวจะออก เราไม่ได้รอ ชาวนาส่วนใหญ่จะรอว่าเมื่อไหร่จะสูบน้ำให้ กูอยากทำนา ไม่ได้รอว่าเมื่อไหร่รัฐบาลจะให้เงินกู

รำพึง ไลภาพ

ชาวนาบางบาลไม่ได้อยากให้ใครมาช่วยเหลือนะ เราอยากดำเนินชีวิตปกติ จริงๆ แล้วเรายอมรับนะว่าเป็นพื้นที่รับน้ำ น้ำจะเข้าทุ่งเดือนกันยายน น้ำจะลดเดือนพฤศจิกาหรือไม่ก็ธันวา ซึ่งไม่แน่นอน หลังจากน้ำในทุ่งลดเราก็ขอทำนา ไม่ใช่ว่าไม่มีความหวังเลย ปีนี้เขาบอกไม่ให้ทำนา แล้วเราก็ทำอะไรไม่ได้ จะให้เราเอาอะไรกิน ตั้งแต่เก็บเกี่ยวรอบล่าสุดในเดือนกันยายนที่ผ่านมา อีกกี่เดือนล่ะกว่าจะถึงพฤษภาคม ถ้าไม่ให้เราทำนา เงินที่มีอยู่หมื่นสองหมื่นก็กินหมด จะให้ไปทำอะไร

เขาบอกเราเป็นพื้นที่แก้มลิง ให้บางบาลเป็นแก้มลิง แต่ยังสงสัยอยู่ว่าเป็นแก้มลิงแบบไหน ถึงเวลาทำนากลับไม่มีน้ำ

ฉันทำนา 60 ไร่ แบ่งพื้นที่ปลูกข้าวแบบปลอดสารประมาณ 20 ไร่ ส่วนหนึ่งเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกในรอบถัดไป จะได้ไม่ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ใหม่อีก เพราะถ้าซื้อทุกรอบมันก็ไม่ไหว เมล็ดพันธุ์แพง แต่ข้าวราคาถูก ที่เหลืออีก 40 ไร่ ฉันทำเคมีกึ่งชีวภาพ ถ้าทำเคมีทั้งหมดก็ไม่ไหว เพราะต้องซื้อยาซื้อปุ๋ย

เราต้องการทดลองว่ามันจะคุ้มไหมกับการปลูกข้าวปลอดสาร เขาบอกว่า ถ้าเราเคยใช้เคมีมาก่อน แล้วปรับเปลี่ยนมาใช้ชีวภาพทันที มันจะได้ข้าวน้อย แต่ปีต่อไปเมื่อดินฟื้นตัวก็จะได้ผลผลิตมากขึ้น เราก็ทดลอง ทำยังไงก็ได้ให้ต้นทุนลดลง ทดลองเมื่อปีที่แล้ว มันยังได้น้อยอยู่ เพราะน้ำไม่ค่อยมี ปกติเราจะเอาน้ำมาคลุมหญ้า แต่ช่วงนี้น้ำไม่ค่อยมี วัชพืชก็ขึ้นเยอะ ผลผลิตก็ได้น้อย เราอยู่ในช่วงทดลอง จะลองจนกว่าดินจะฟื้นคืนกลับมา เพราะข้าวราคาไม่ดี ถ้าเราใส่ยาใส่ปุ๋ย เมื่อหักต้นทุน ได้กำไรน้อยมาก

คนชอบพูดกันว่า ชาวนาไม่รู้จักปรับเปลี่ยน ก็อยากให้มาดูว่าที่ทุ่งบางบาลจะเปลี่ยนเป็นอะไร ลงมาแนะนำสิให้เกษตรกรมีรายได้อยู่ได้ หน่วยงานต่างๆ ก็เข้ามาสอนเข้ามาแนะนำให้ปลูกนั่นปลูกนี่ แต่ไม่รู้จะไปขายที่ไหน ให้เราฉาบกล้วยขาย แล้วมีที่ขายให้เราไหม ขนาดทำข้าวปลอดสารยังไม่มีที่ขายเลย แล้วใครเขาอยากจะทำ ขายข้าวปลอดสารได้ราคาเดียวกับข้าวเคมี ใครเขาอยากจะทำล่ะ ชาวนาอยากจะปรับตัวอยู่แล้ว แต่อะไรที่เข้ามาส่งเสริมจริงจังแล้วรับซื้อ มันมีบ้างไหม ข้าวปลอดสารเป็นข้าวที่ต้องดูแลมากกว่าข้าวเคมี แต่พอไปขายโรงสีก็ได้ราคาเท่ากัน หน่วยงานหรือสังคมก็ชวนเกษตรกรทำข้าวอินทรีย์ทำข้าวปลอดสาร แต่ใครเขาจะมาทำ เพราะมันไม่มีใครรับซื้อ

ถ้าข้าวราคาดี ไม่ต้องมาช่วยเหลือหรอก ชาวนาคิดแบบนี้ ชาวนาช่วยเหลือตัวเองได้ ไม่รู้คิดอะไรกันอยู่ ช่วยให้ขายข้าวได้ราคาดีๆ เถอะ ชาวนาจะอยู่ได้

น้อยใจจริงๆ เวลาน้ำเยอะ ก็ให้ทุ่งบางบาลเป็นทุ่งเก็บน้ำ พอน้ำแล้ง ก็ไม่ปล่อยน้ำเข้าทุ่ง ชาวนาถ้าไม่ได้ทำนาแล้วจะเอาเงินที่ไหน หนี้สินก็จะพอก ชาวนาน่ะ เวลาราคาข้าวดี ชาวนาเงยหน้าพูดคุยกับผู้คน แต่พอราคาตก ชาวนาจะก้มมองแต่ดิน เงยหน้าสู้ใครไม่ได้ เพราะไม่มีความสุข มันจะเข้าตำรา เกี่ยวเสร็จเหลือแต่ซังกับหนี้

สันติ จิยะพันธ์

หลังจากที่อยุธยามีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์พื้นที่เพื่อการเกษตร ทศวรรษที่ 2530 เป็นต้นมาเริ่มมีโรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้น ขณะที่อุทกภัยใหญ่ๆ ไม่เคยเกิดขึ้นเหมือนที่เคยเกิดในอดีตเลย ผู้คนก็ไม่คิดว่าจะมีน้ำท่วมเหมือนในอดีต อุตสาหกรรมก็ได้รับการส่งเสริมพัฒนา พอปี 2538 เกิดน้ำท่วมเกาะเมืองอยุธยา หลังจากนั้นก็หายไปยาวเลย กลับมาท่วมใหญ่อีกทีปี 2549

ต่อมา ปี 2553 ก็เกิดน้ำท่วมใหญ่ก่อนจะมาเจอมหาอุทกภัยในปี 2554 ย้อนกลับไปในปี 2549 เหตุการณ์น้ำท่วมในปีนั้นน่าจะเป็นจุดที่หน่วยงานราชการมีความกังวลว่าจะส่งผลกระทบพื้นที่เมืองและอุตสาหกรรม เขาจึงเริ่มศึกษาการบริหารจัดการน้ำในอยุธยา เริ่มวิจัยเรื่องชลประทาน มีแนวคิดเรื่องพื้นที่รับน้ำขึ้นมา ทำอย่างไรจึงจะมีระบบบริหารจัดการน้ำ เพื่อไม่ให้น้ำไปท่วมทั้งกรุงเทพฯ และพื้นที่อุตสาหกรรมที่อยู่ด้านตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา

หน่วยงานราชการก็เริ่มหาแนวทางว่า ทำยังไงไม่ให้น้ำไปท่วมพื้นที่ทางตะวันออก เพราะเป็นพื้นที่โซนอุตสาหกรรม ส่วนพื้นที่ตะวันตกเป็นพื้นที่เกษตร เขาก็หาแนวทางป้องกันพื้นที่ฝั่งตะวันออกรวมถึงเกาะเมืองที่มีโบราณสถาน

ก็มีแนวคิดว่าน่าจะมีพื้นที่รับน้ำทางฝั่งตะวันตก เพื่อรับน้ำไม่ให้น้ำไหลบ่าลงไปท่วมสู่กรุงเทพฯ ระหว่างนี้เริ่มศึกษาพัฒนาพื้นที่แก้มลิง ศึกษาถึงศักยภาพของพื้นที่ต่างๆ อยุธยาก็มีการศึกษาและเห็นว่าพื้นที่ทางตะวันตกเหมาะกับการเป็นพื้นที่รับน้ำ ทางตะวันออกก็เป็นพื้นที่ป้องกัน เป็นพื้นที่อุตสาหกรรม

ทางตะวันตกก็มีบางบาล เสนา ผักไห่ พื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่เกษตร เป็นพื้นที่ราบลุ่ม ควรใช้ศักยภาพตรงนี้เป็นพื้นที่รับน้ำ เพื่อป้องกันภาวะน้ำท่วมในเขตเมืองและอุตสาหกรรม และพักน้ำไม่ให้น้ำท่วมพื้นที่กรุงเทพฯ ก็มีการเริ่มศึกษาพื้นที่บางบาล

ปี 2554 กรุงเทพฯ ประสบกับมหาอุทกภัย จึงเกิดการนำนโยบายไปดำเนินการระดับพื้นที่จริง ชลประทานชี้แจงทำความเข้าใจกับชาวบ้านว่า จากนี้บางบาลจะเป็นพื้นที่รับน้ำ ชลประทานจะกำหนดการบริหารจัดการน้ำใหม่ ในช่วงหน้าน้ำก็จะปล่อยให้น้ำเข้ามาในทุ่ง แล้วก็ให้ชาวบ้านเปลี่ยนระบบการผลิตใหม่ จากนาปีเปลี่ยนเป็นนาปรัง

ถ้าในแง่ของการจัดการทรัพยากร เรามองได้ว่ามันเป็นเรื่องของการไม่สามารถมีส่วนร่วมในการต่อรองหรือกำหนดนโยบายในการจัดการทรัพยากรในพื้นที่ตัวเอง เช่น การใช้ประโยชน์ที่ดิน หมายความว่าช่วงเวลานี้ (กันยายน-พฤศจิกายน) เขาต้องกลายเป็นพื้นที่รับน้ำโดยจำยอม รับสภาพไปโดยปริยายว่าต้องทำนาไม่ได้ หลังจากนี้ต้องปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตไปทำนาปรัง ในมุมนี้ก็เป็นการที่ชาวบ้านโดนกระทำโดยนโยบาย ไม่มีการต่อรองหรือหาแนวทางเลือกหรือทางออกอื่นร่วมกัน ในมุมนี้มันก็เป็นสภาพที่ถูกกระทำโดยนโยบาย ทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบ

พอมาทำนาปรังก็ต้องเปลี่ยนพันธุ์ข้าว เปลี่ยนวิธีการทำนาใหม่ มันต้องใช้ปัจจัยการผลิตจากภายนอก เพราะมันไม่ใช่ฐานการผลิตที่ชาวบ้านทำอยู่เดิม พันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับการทำนาปรัง เป็นพันธุ์ลูกผสม ต้องซื้ออย่างเดียว เก็บไม่ได้ พอใช้พันธุ์ข้าวใหม่ต้องใช้ปุ๋ยใช้ยา น้ำก็ต้องใช้ระบบชลประทานแบบใหม่ ซึ่งพอใช้ระบบนาปรัง ชลประทานจะคิดค่าไฟในการสูบน้ำ เพราะต้องสูบน้ำมากกว่าระบบปกติที่ใช้ในช่วงนาปี ชาวบ้านก็จ่ายค่าไฟเป็นไร่ ไร่ละ 150 บาท มันก็เป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไป สถานการณ์ราคาข้าวในช่วงที่ผ่านมา ถ้าไม่นับช่วงบจำนำข้าว ราคาข้าวมันก็ไม่ได้ดีอะไร แต่ต้นทุนการผลิตที่สูง ผลตอบแทนก็ไม่คุ้มค่า บางรายก็ขาดทุนเพราะความไม่ชำนาญในการทำนาปรังของชาวบ้าน

เมื่อต้องเป็นพื้นที่รับน้ำ ชาวบ้านต้องปรับเข้าระบบการผลิตที่ราชการกำหนดแบบนี้ แต่เมื่อเกิดปัญหาเรามีทางเลือกที่จะลดผลกระทบให้ชาวบ้านอย่างไร ไม่ใช่ว่าถ้าไม่มีน้ำก็ไม่ต้องทำเลย มันไม่น่าจะเป็นทางเลือกง่ายๆ แบบนี้ ขณะที่พื้นที่อื่นยังมีทางเลือก ช่วงนาปรังแล้วเขาก็อาจจะไปทำช่วงนาปีได้ ถึงแม้ว่าจะทำในรูปแบบนาปรังก็ตาม เช่น ทุ่งเสนา หรือสุพรรณ ชาวบ้านเลื่อนเวลาไปทำช่วงอื่นได้ ก็แสดงว่าในภาวะที่เกิดภัยพิบัติ เกษตรกร 2 พื้นที่มีความสามารถในการปรับตัวต่างกัน พื้นที่หนึ่งมีทางเลือกในการปรับตัว อีกพื้นที่กลับถูกเงื่อนไขการเป็นพื้นที่รับน้ำกำหนดไว้ ผมว่ามันมีความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมอยู่ ผมว่าเกษตรกรน่าจะมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่

ถ้าเราพูดถึงภาพรวมก็ดูเหมือนว่าชาวนาเป็นกลุ่มที่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐมาโดยตลอด เช่น นโยบายประกันราคา จำนำข้าว ก็จะเห็นว่ากลุ่มชาวนาได้รับการดูแลจากรัฐบาลมาต่อเนื่อง ในทางปฏบัติการดูแลช่วยเหลือชาวนาเป็นลักษณะช่วยปลายน้ำ เช่น การจำนำหรือประกันราคา ภาพรวมส่วนใหญ่ของนโยบายหรือมาตรการต่างๆ ไม่ได้ทำให้เกษตรกรมีความเข้มแข็งหรือความสามารถในการจัดการตัวเอง เราอาจจะพูดถึงการเข้าถึงสินเชื่อ แต่มันไม่ได้นำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถของเกษตรกรในการบริหารจัดการที่ตอบโจทย์เรื่องการเป็นผู้ประกอบการ การบริหารจัดการฟาร์มที่จะสร้างมูลค่าเพิ่ม การเข้าไปดูแลชาวนาของภาครัฐไม่ได้ทำให้ชาวนาเข้มแข็งขึ้นจริง

การส่งเสริมเกษตรกรเป็นลักษณะต่างคนต่างทำ เกษตรกรก็ไปดูเรื่องการผลิต ส่งเสริมเรื่องการผลิต แต่ไม่รู้ว่าตลาดอยู่ตรงไหน ส่งเสริมการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ แต่ไม่ได้ส่งเสริมเรื่องการตลาด ไม่ได้ส่งเสริมเรื่องความรู้ในการบริหารจัดการกลุ่ม บางหน่วยงานเข้าไปส่งเสริมเรื่องการแปรรูปผลิตภัณฑ์ แต่ไม่ได้ดูต้นน้ำทั้งระบบว่ามีความเชื่อมโยงและตอบโจทย์ตัวเกษตรกรอย่างไร หน่วยงานก็พยายามเข้าไปส่งเสริมกลุ่มแปรรูป กล้วยตากกล้วยกวน แต่มันไม่ได้ยึดโยงกับพื้นฐานทางทรัพยากรหรือวัตถุดิบที่เกษตรกรมีจริงๆ แล้วไม่ได้ทำทั้งระบบไปถึงการบริหารจัดการการตลาด มาตรการการช่วยเหลือที่ผ่านมาเป็นเชิงสงเคราะห์ ซึ่งไม่ได้ตอบโจทย์ความเข้มแข็งหรือความยั่งยืนของเกษตรกร

นอกจากการถูกนโยบายทำให้จำยอมในการรับสภาพเป็นพื้นที่รับน้ำ เกษตรกรบางบาลส่วนใหญ่ไม่มีที่ดิน พวกเขาใช้ระบบเช่า ส่วนใหญ่เกิดจากแรงกดดันเรื่องหนี้สิน ซึ่งมีพัฒนาการมาเรื่อยๆ และการเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินในยุคพัฒนาอุตสาหกรรม อยุธยาก็เป็นภาพสะท้อนของเกษตรกรที่ต้องเช่าที่ดินทำกิน เมื่อไม่มีที่ดินทำกิน การพัฒนาระบบการผลิตให้มีมูลค่าเพิ่มหรือการใช้ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ ก็ทำได้แบบจำกัด เพราะหากชาวนาเช่าที่ดินเขา เวลาจะขุดบ่อทำแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อรับมือกับภัยแล้ง หรือทำแหล่งน้ำสำรอง ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะเจ้าของที่ดินไม่ได้อยากให้มาปรับสภาพที่ดินที่ผิดไปจากเดิม

คนมักพูดกันว่า ทำไมเกษตรกรไม่ปลูกพืชให้หลากหลาย น้ำท่วมก็ทำคันล้อมสิ หรือทำไร่นาสวนผสม ทำเกษตรแบบในหลวง ทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ปัจจัยเรื่องที่ดินทำกินเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกษตรกรมีข้อจำกัดในการปรับตัว มันมีผลต่อศักยภาพในการใช้ที่ดินเพื่อเพิ่มมูลค่าในทางเศรษฐกิจ

สนับสนุนโดย

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า