5 มีนาคม #วันนักข่าว หรือวันสื่อสารมวลชนแห่งชาติ คือวันที่แวดวงสื่อสารมวลชนจะได้แสดงพลังให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิเสรีภาพสื่อ อันเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดความเป็นประชาธิปไตยในการทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงให้กับประชาชน
แต่เมื่อบรรยากาศประชาธิปไตยไทยยังคงง่อนแง่น แม้กระทั่งหลักการและจุดยืนของคนในวิชาชีพสื่อก็เป็นที่ถกเถียง ยังไม่นับกระแสความเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์สื่อที่ถูกโถมซัดด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและโซเชียลมีเดีย ทำให้สถานการณ์สื่อไทยอยู่ในภาวะที่ต้องดิ้นรนกระเสือกกระสน และต้องปรับตัวไปตามกระแสลมของความเปลี่ยนแปลง
ท่ามกลางข้อถกเถียงเรื่องสื่อเก่า สื่อใหม่ สื่อแท้ สื่อเทียม สื่อฐานันดร สื่อพลเมือง ฯลฯ ทั้งหลายเหล่านี้กำลังถูกเขย่าในโลกใบใหม่ พร้อมๆ กับการมาเยือนของสื่อ AI ที่กำลังคืบคลานมาอย่างที่หลายคนอาจไม่คาดคิด
อาชีวปฏิญาณ = คาถาคุ้มครองสื่อแท้?
จากกรณีนักข่าวประชาไทและช่างภาพจากสื่อออนไลน์ Space Bar ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ในข้อหาสนับสนุนให้เกิดการทำลายโบราณสถาน จากการทำข่าวนักกิจกรรมพ่นสีสเปรย์บนกำแพงวัดพระแก้วเป็นรูปเครื่องหมายอนาธิปไตยและตัวเลข 112 เมื่อปีก่อน ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองปฏิเสธข้อกล่าวหาว่าไม่ได้สนับสนุนการกระทำแต่อย่างใด เป็นเพียงการปฏิบัติหน้าที่สื่อ ทำให้สังคมเกิดการตั้งคำถามว่า สื่อมวลชนกำลังถูกกดเพดานการทำงานลงและเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพสื่อหรือไม่
ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์การละเมิดสิทธิเสรีภาพสื่อของรัฐไทย สมาคมนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยได้ออกแถลงการณ์ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 หลังการจับกุมนักข่าวและช่างภาพล่วงมาเป็นเวลา 2 วัน โดยแสดงความกังวลต่อสิทธิเสรีภาพสื่อและเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาควรได้รับสิทธิประกันตัว
อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา สมาคมนักข่าวฯ ได้โพสต์แสดงจุดยืนทางวิชาชีพโดยระบุข้อความว่า ‘สื่อสังคม’ ไม่ใช่ ‘สื่อมวลชน’ แม้มีอาชีพสื่อมวลชน ก็ไม่ใช่ ‘สื่อมืออาชีพ’ หากไม่ยึดมั่นใน ‘อาชีวปฏิญาณ’ พร้อมลงลายเซ็นต์ นายบรรยงค์ สุวรรณผ่อง กรรมการจริยธรรมวิชาชีพ สมาคมนักข่าวฯ ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 ก่อนโพสต์ดังกล่าวจะถูกลบในเวลาต่อมา โดยให้เหตุผลในการลบโพสต์ว่าผิดพลาดทางเทคนิค
จากข้อความดังกล่าวทำให้เกิดการตั้งคำถามตามมาว่า ‘อาชีวปฏิญาณ’ หมายถึงอะไร ซึ่งจากการสืบค้นพบว่า กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ให้คำอธิบายไว้ว่า “อาชีวปฏิญาณ คือ การปฏิญาณตนต่อสรรพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ว่า จะประกอบอาชีพตามธรรมเนียมซึ่งมีวางไว้เป็นบรรทัดฐาน” และทรงระบุอีกว่า “จะต้องถือวิชาชีพของตนเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างหนึ่ง”
กระนั้นกระแสสังคมยังคงพุ่งความสนใจไปยังสมาคมนักข่าวฯ ว่าทำไมจึงตอบสนองต่อการจับกุมนักข่าวและช่างภาพด้วยความล่าช้า ไม่กระตือรือร้นที่จะยืนยันหลักการว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของสื่อที่กำลังถูกรัฐคุกคาม แต่กลับพยายามขีดเส้นแบ่งนิยามว่า ‘สื่อแท้’ ต้องมีความเป็นมืออาชีพผ่านวาทกรรมดังกล่าว โดยไม่ได้แสดงจุดยืนเคียงข้างหลักการสากลว่าสื่อต้องมีเสรีภาพแต่อย่างใด
การมาเยือนของ ‘สื่ออิสระ’ ในยุคอัสดงของ ‘สื่อเก่า’
การแสดงออกของสมาคมนักข่าวฯ ต่อกรณีการจับกุมนักข่าวประชาไทและช่างภาพสื่อออนไลน์ ด้วยโพสต์ ‘อาชีวปฏิญาณ’ ลงชื่อนายบรรยงค์ สุวรรณผ่อง สะท้อนถึงท่าทีของสมาคมนักข่าวฯ ในอีกทางหนึ่งคือ การต่อสู้และช่วงชิงนิยามคำ ‘สื่อ’ ผ่านวาทกรรมในการตีตราว่าสื่อแบบใด ประเภทไหน คือสื่อแท้ สื่อเทียม สื่อหลัก สื่อมืออาชีพ ฯลฯ
ท่ามกลางกระแสการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็วรุนแรงมากขึ้น อันเป็นอิทธิพลของการใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นเครื่องมือในการสื่อสาร ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนจำนวนมากสามารถผลิตและเผยแพร่เนื้อหาของตนเองออกมาได้อย่างอิสระ โดยไม่จำเป็นต้องมีสังกัดหรือตราประทับจากองค์กรใด ทำให้เกิดนิยามใหม่ของคำว่า ‘สื่ออิสระ’ ‘นักข่าวพลเมือง’ ‘สื่อภาคประชาชน’ เป็นจำนวนมากในแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ และด้วยอำนาจของผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียในการเข้าถึงเครื่องมือและช่องทางการสื่อสารด้วยตนเอง ทำให้สื่ออิสระเหล่านี้สั่นคลอนรากฐานทางวิชาชีพของ ‘สื่อหลัก’ ที่ขีดเส้นวัดมาตรฐานด้วยหลักอาชีวปฏิญาณ
ในรอบทศวรรษที่ประเทศไทยตกอยู่ใต้อำนาจปกครองของรัฐบาลคณะรัฐประหาร สื่อเก่าหลายสำนักมีข้อจำกัดในการรายงานข่าวที่ล่อแหลมต่อการวิจารณ์รัฐบาล ทำให้สื่ออิสระ นักข่าวพลเมือง ต้องออกมาทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงแทนประชาชนในการรายงานข่าวการชุมนุมของกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตย เปิดพื้นที่การสื่อสารใหม่ๆ และแง่มุมที่แตกต่างไปจากสื่อหลักที่มีข้อจำกัดในการรายงาน ทำให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารที่ครบถ้วนหลากหลาย ทั้งยังมีความน่าเชื่อถือ ตรงไปตรงมา ด้วยภาพและเสียงจากสถานที่จริง
อย่างไรก็ตาม สื่ออิสระเหล่านี้ล้วนทำหน้าที่รายงานข่าวท่ามกลางความไม่ปลอดภัยและมักถูกเพ่งเล็งจากเจ้าหน้าที่รัฐ อีกทั้งไม่มีสิทธิได้รับปลอกแขน ป้ายแขวนคอ หรือการปกป้องคุ้มครองใดๆ จากองค์กรวิชาชีพสื่อ จนเป็นเหตุให้ถูกคุกคามสิทธิเสรีภาพ และถูกกระทำด้วยความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐอยู่บ่อยครั้ง
‘1 วัน 1,000 ดรามา’ จากรายการเล่าข่าว สู่สื่อสำเร็จรูปใน 1 นาที
ก่อกำเนิดศักราชใหม่ของการเสพสื่อ หลายครั้งที่ใครต่อใครต่างคาดเดาพฤติกรรมการเสพสื่อในปัจจุบันว่ามีผลอย่างมากจากช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่แพลตฟอร์ม TikTok กลายเป็นพื้นที่ที่ผู้คนใช้เสพความบันเทิงและความรู้ในหลายเรื่องที่เจ้าของแอ็กเคานต์ต่างๆ เอามาย่อยให้เข้าใจง่าย ซึ่งสำนักข่าวหลายสำนักต่างต้องปรับตัวตามๆ กันไป โดยให้ความสำคัญกับการย่อยข่าว สรุปให้สั้น กระชับ เข้าใจง่ายภายใน 1 นาที เพื่อให้ผู้รับสารสามารถเข้าใจข่าวนั้นได้ภายในระยะเวลาอันสั้น แตกต่างไปจากสื่อในยุคเล่าข่าวเดียวเป็นชั่วโมง กับการเล่าเรื่องซํ้าๆ ซึ่งได้รับความนิยมในช่วงหลายปีก่อน
ภายใต้สภาวะการแข่งขันของสื่อบนพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ ยอดเอนเกจเมนต์จึงเป็นสิ่งสำคัญ ทำให้ข่าวจำนวนมากเป็นที่มาของอภิมหาดรามาเพียงชั่วข้ามคืน ยิ่งดรามาเท่าไร ยอดเอนเกจเมนต์ยิ่งเพิ่มสูง โดยมีเทคนิควิธีการเรียกยอดเอนเกจเมนต์ง่ายๆ เช่น โพสต์ข่าวเพียงประโยคเดียว พาดหัวที่ยั่วให้อยากอ่านต่อ หรืออาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด เป็นต้น
ความท้าทายใหม่ได้เริ่มต้นอย่างชัดเจนมากขึ้น เห็นได้จากรายงานทิศทางการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อเสพข่าวสารทั่วโลกของ Reuters Institute ที่พบว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ใช้ช่องทางออนไลน์ในการติดตามข่าวสารมากที่สุดในโลก และแม้ว่า Facebook ยังคงครองอันดับหนึ่งที่มีผู้คนติดตามและแชร์ข่าวสารมากที่สุด แต่ในขณะเดียวกันแพลตฟอร์มคลิปสั้นอย่าง TikTok ก็เริ่มเติบโตมากขึ้นเป็นลำดับ จากการเก็บรวบรวมสถิติทั้งปี 2566 ที่ผ่านมา พบว่า 30 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้งาน TikTok ใช้สำหรับติดตามข่าวสาร ซึ่งเพิ่มขึ้น 8 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับผลสำรวจในปีก่อนหน้า
สิ่งที่เรียกกันว่า ‘ยุค TikTok’ ได้เปลี่ยนพฤติกรรมการเสพสื่อของคนไทยไปโดยสิ้นเชิง แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเจ้าใหญ่ต่างพัฒนาฟีเจอร์ที่รองรับการผลิตวิดีโอสั้น ทั้ง Instragram, YouTube ไม่เว้นแม้กระทั่งแพลตฟอร์มที่คนไทยใช้แชร์ข่าวสารมากที่สุดอย่าง Facebook ก็ตาม และแน่นอนว่าทั้งหมดทั้งมวลมีผลอย่างมากให้สื่อหลายสำนักต้องปรับตัวทำคอนเทนต์ออนไลน์ เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมการเสพสื่อของคนยุคปัจจุบัน ทั้งหมดทั้งมวลส่งผลให้เกิดการแข่งขันของสื่ออิสระเอง หรือกระทั่งเอื้ออำนวยให้นักสืบโซเชียลในการทำหน้าที่ย่อยเนื้อหา 1,000 ดรามาที่เกิดขึ้นใน 1 วัน เป็นคลิปสรุปสำเร็จรูปใน 1 นาที
AI รันวงการ ยุคของการถกเถียงว่าเทคโนโลยีกำลังดิสรัปต์สื่อ
พัฒนาการสุดล้ำของสิ่งที่เรียกว่าปัญญาประดิษฐ์ (AI) กลายมาเป็นประเด็นร้อนฉ่าให้ผู้คนถกเถียงกันอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทั้งการใช้ AI ทำภาพประกอบ แปลงาน เขียนบทความ หรือกระทั่งการมีแนวคิดการใช้ AI มาทำงานในสำนักข่าว
บนสมรภูมิหน้าจอถ่ายทอดหน้าผู้ประกาศข่าวที่กำลังรายงานข่าวเหตุการณ์ต่างๆ อาจไม่ใช่เรื่องใหม่นัก เนื่องจากการใช้ผู้ประกาศข่าว AI ได้เกิดขึ้นจริงตั้งแต่ปี 2018 โดยสำนักข่าว ‘ซินหัว’ ของประเทศจีน และเป็นครั้งแรกที่ทำให้โลกได้รับรู้การซุ่มพัฒนาเทคโนโลยีของจีนที่ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว และในปีที่แล้วเป็นปีที่เรียกได้ว่ามีผู้ประกาศข่าว AI ถูกเปิดตัวและนำมาใช้งานจริงมากที่สุด เช่น อินเดีย ไต้หวัน อินโดนีเซีย มาเลเซีย คูเวต อิสราเอล เป็นต้น กลายมาเป็นสิ่งที่ทำให้ทั่วโลกกังวลว่าวงการสื่อกำลังจะถูกดิสรัปต์ครั้งใหญ่
ล่าสุดในประเทศไทยเองก็มีประเด็นการปลดพนักงานช่อง MONO และตั้งใจหันมาใช้ AI สำหรับอ่านข่าวสั้น ซึ่งเป็นแผนการปรับโครงสร้างองค์กรจากการปรับลดจำนวนพนักงานทุกส่วนงานให้เหมาะสม ลดขนาดธุรกิจในส่วนที่ไม่ทำกำไร ลดหน่วยงานที่ซ้ำซ้อน และจ้างบริษัทภายนอกที่มีความชำนาญเข้ามาทดแทน ซึ่งคาดว่าผลจากการปรับลดพนักงานจะช่วยลดค่าใช้จ่ายลงองค์กรได้ประมาณ 11 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 33 เปอร์เซ็นต์ก่อนปรับโครงสร้างองค์กร นอกจากนี้ยังมีความตั้งใจพัฒนากระบวนการทำงานต่างๆ ด้วยการใช้ Generative AI เช่น งานกราฟิก งานตรวจสอบคุณภาพภาพยนตร์ งานวิเคราะห์พฤติกรรมการรับชม เป็นต้น
การเข้ามาของ Generative AI ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่หลายคนกังวลกันว่าจะเข้ามาแย่งงานสายผลิต ทำให้ความจำเป็นในการจ้างงานมนุษย์ลดน้อยถอยลงตามไปด้วย บีบคั้นให้มนุษย์ต้องเร่งปรับเปลี่ยนลักษณะการทำงานของตัวเองให้เท่าทันเทคโนโลยี
อย่างไรก็ตาม อีกนัยหนึ่ง AI เป็นเหมือนเทคโนโลยีที่สุดท้ายแล้วต้องถูกใช้งานด้วยมนุษย์ เนื่องจากยังคงมีข้อจำกัดในเรื่องของคลังข้อมูลมหาศาลที่ต้องใช้สำหรับ Generative หรือการสร้างชิ้นงาน ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว Generative AI อาจเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่จะมาช่วยทุ่นแรงสายผลิต เพื่อช่วยให้มนุษย์ทำงานได้สะดวกง่ายดายขึ้น หรือกระทั่งการใช้ผู้ประกาศข่าว AI ปัจจุบันยังก็ยังไม่สามารถพัฒนาให้ AI มีความเป็นธรรมชาติใกล้เคียงกับมนุษย์ รวมถึงยังมีข้อจำกัดเรื่องการประมวลผลข้อมูลได้อย่างชาญฉลาดเหมือนแชทบอท ส่งผลให้ผู้ประกาศข่าว AI ทำได้เพียงอ่านเนื้อหาที่มนุษย์ป้อนให้เท่านั้น
ที่มา:
- Thailand | Reuters Institute for the Study of Journalism
- จากศึกหลังบ้านสู่สมรภูมิหน้าจอ เมื่อเอเชียเต็มไปด้วย “ผู้ประกาศข่าว AI” – สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
- อนาคตคนข่าวและความท้าทาย ในยุค AI ปฏิวัติวงการ – สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
- MONO ปลดพนักงาน ลดค่าใช้จ่าย 11 ล้าน/เดือน เตรียมใช้ AI อ่านข่าวสั้น