ความพยายามที่จะสืบสาวหาสาแหรกความเป็นมาของเจ้าพ่อเมืองไทย ปรากฏอยู่ในงานศึกษาวิจัยเรื่อง ‘เจ้าพ่อในทัศนะของข้าราชการฝ่ายปกครองและตำรวจ’ และ ‘เจ้าพ่ออุปถัมภ์กับรัฐอุปถัมภ์’ โดย รศ.เวียงรัฐ เนติโพธิ์ แห่งภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นงานศึกษาตั้งแต่ปี 2537 ต่อเนื่องถึงปี 2546 กระทั่ง พ.ศ. ปัจจุบันก็นับว่ายังไม่ล้าสมัย
ในยุคบ้านป่าเมืองเถื่อน เรามีเสือดำ เสือใบ ในยุคกึ่งศิวิไลซ์ เรามีผู้ทรงอิทธิพล ผู้กว้างขวาง แต่ยุคสมัยปัจจุบันโฉมหน้าของเจ้าพ่อเปลี่ยนแปลงไป พวกเขาไม่ได้สวมเสื้อแบะอก ใส่สร้อยเส้นโต แต่อาจแฝงตัวมาในคราบนักธุรกิจผูกขาด หรืออาจกระโดดเข้ามาร่วมวงไพบูลย์ในเวทีการเมืองระดับท้องถิ่นจนถึงระดับชาติ
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ไม่เคยมีเจ้าพ่อคนไหนพอใจที่จะถูกเรียกตัวเองว่า ‘เจ้าพ่อ’ พวกเขาต่างก็ภาคภูมิใจกับเกียรติประวัติการสร้างเนื้อสร้างตัว สั่งสมบารมี กระทั่งชุบตัวจากสีดำเป็นสีขาว เปลี่ยนสถานะตัวเองมาเป็น ‘ผู้ให้’
ในช่วงเวลาที่เราต่างเรียกร้องถามหาประชาธิปไตย หากการดำรงอยู่ของเจ้าพ่อยังถือเป็นเรื่องปกติที่สังคมยอมรับได้ สิ่งที่ผู้คนเพรียกหา ทั้งเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ ก็ย่อมไม่มีอยู่จริง ในเมื่อยังมีคนบางจำพวกสามารถยืนอยู่เหนือกฎหมายได้
บทสัมภาษณ์ต่อจากนี้จะกระชากหน้ากากเจ้าพ่อออกมาเป็นชิ้นๆ ชำแหละให้เห็นถึงเนื้อในของโครงสร้างสังคมไทยภายใต้ระบอบอุปถัมภ์ที่ฝังรากมายาวนาน บนสมมุติฐานที่ว่า หากสังคมใดไม่เป็นประชาธิปไตย สังคมนั้นยิ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เจ้าพ่อ
ถ้าจะสืบสาวไปถึงกำเนิดตำนานเจ้าพ่อเมืองไทยเท่าที่มีหลักฐานบันทึกไว้ เราควรจะตั้งหลักที่จุดไหน
ก่อนที่จะมีการปฏิรูปการปกครองหรือการจัดตั้งรัฐในรูปแบบรัฐสมัยใหม่ ก่อนสมัยรัชกาลที่ 5 จะพบว่าในระดับท้องถิ่น หมู่บ้าน ชุมชนต่างๆ มักมีคนสำคัญที่มีอำนาจปกครองอยู่หลายรูปแบบ แบบหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ‘เสือ’ หรือ ‘นักเลง’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในลุ่มแม่น้ำภาคกลาง
ทำไมจึงเกิดขึ้นที่ลุ่มแม่น้ำภาคกลาง ก็เพราะมันมีผลประโยชน์ มีทรัพยากร ไร่นา วัวควาย ลักษณะของเสือหรือนักเลงจึงมักจะเกิดขึ้นในชุมชนที่มีความมั่งคั่งพอสมควร หรือมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจในระดับหนึ่ง
หลักฐานหนึ่งที่พบก็คือ ในสมัยรัชกาลที่ 5 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้เสด็จไปตรวจท้องที่ดังที่เราอ่านได้จากพระนิพนธ์เรื่อง เทศาภิบาล และสิ่งที่ชาวบ้านพูดถึงกันมากก็คือ ‘เสือ’ เพราะมีการปล้นสะดม ปล้นวัวควาย จึงต้องการให้รัฐเข้าไปช่วยเหลือดูแล
ทีนี้เสือจะมีลักษณะที่แปลกอย่างหนึ่ง นอกจากจะเป็นผู้คุ้มครองถิ่นหรือเป็นนักเลงประจำถิ่น ยังเป็นผู้นำคนสำคัญในชุมชนท้องถิ่นนั้น คอยปกป้องคนของตัวเอง ดูแลสวัสดิการ ช่วยเหลืออุปถัมภ์ ค้ำจุน และเป็นคนที่น่านับถือ หรือกระทั่งเป็นคนที่มีศีลธรรมสูงด้วยซ้ำ บางคนอาจจะเคยบวชเรียนมา ขณะเดียวกันก็ตั้งตนเป็นหัวหน้าซ่องโจร พาพวกไปปล้นหมู่บ้านอื่น แล้วนำความมั่งคั่งมาสู่หมู่บ้านตัวเอง บางทีก็เอาเงินไปทำบุญที่วัด บริจาคเงินให้คนจน ซึ่งมักจะมีสองด้าน คือด้านดีและไม่ดี มันเป็นทั้งตำนานและเป็นเรื่องที่พบเจอสมัยที่กระทรวงมหาดไทยส่งคนเข้าไปตรวจราชการ ในช่วงที่เริ่มมีการรวมศูนย์อำนาจ ซึ่งเข้าใจว่าเจ้าพ่อคงมีมาก่อนหน้านั้นแล้ว เพียงแต่ไม่มีหลักฐานบันทึกไว้
จริงๆ แล้วรากของเจ้าพ่อมาจากอะไร
ตัวดิฉันเองศึกษาเรื่องนี้ก็เพื่อต้องการจะรู้ว่ารากฐานมันมาจากไหน ก็เลยไปค้นหาต้นตอของคำว่า ‘เจ้าพ่อ’ ในพจนานุกรมฉบับเก่าๆ ก่อนปี 2500 มีระบุชัดเจนเลยว่า วิญญาณผู้คุ้มครองถิ่น สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เจ้าแม่ก็มี จนมาถึงพจนานุกรมฉบับ มานิต มานิตเจริญ ปี 2504 มีการระบุเป็นครั้งแรกว่า เจ้าพ่อ ในวงเล็บสแลง หมายถึง ผู้คุ้มครองถิ่น ผู้เป็นใหญ่ในถิ่น ก็แสดงว่าเจ้าพ่อที่หมายถึงคน ไม่ใช่วิญญาณ ต้องมีมาก่อนแล้วระยะหนึ่ง จนมีการระบุไว้ในพจนานุกรม และในที่สุดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานหลังปี 2510 จึงบรรจุคำนี้ไว้และเอาวงเล็บสแลงออก จนเป็นที่รับรู้กันว่า เจ้าพ่อหมายถึงคน แสดงว่าต้องมีพัฒนาการมาอย่างน้อย 10 ปีก่อนหน้านั้น
เมื่อสืบย้อนกลับไปก็พบอีกว่า คำว่าเจ้าพ่อที่หมายถึงคน ถูกใช้ครั้งแรกๆ ในนวนิยายเรื่องเสือใบ ของ ป. อินทรปาลิต ประมาณปี 2490-2492 ก่อนจะถูกนำมาสร้างเป็นหนังเรื่อง ฟ้าทะลายโจร ซึ่งจริงๆ แล้วอาจได้รับอิทธิพลมาจากนิยายคาวบอย แต่ก็มีการบัญญัติคำนี้ขึ้นมาอย่างชัดเจน แสดงว่าต้องมีรากฐานในสังคมไทยมาระยะหนึ่ง
ในบันทึกของกรมพระยาดำรงฯ พูดไว้ชัดเจนว่า ถ้าจะตามหาควายที่หายไป จะต้องไปหานักเลง เพราะตำรวจ กำนัน หรือคนที่ไม่ใช่นักเลง ไม่มีทางตามหาได้ เพราะไม่มีเครือข่าย แล้วเขาก็จะไม่คืนให้โดยตรง เขาใช้วิธีเรียกค่าไถ่ แต่จะไม่บอกว่าใครเป็นคนปล้น ไม่งั้นเดี๋ยวโดนจับ ก็จะบอกว่าเดี๋ยวไปติดต่อให้ แค่มีค่าน้ำร้อนน้ำชา
อีกคนหนึ่งที่เขียนถึงเรื่องเจ้าพ่อคือ สนธิ ลิ้มทองกุล เคยเขียนบทความตีพิมพ์ใน ผู้จัดการ ฉบับพิเศษ ปี 2532 เรื่องความเป็นมาของเจ้าพ่อ ซึ่งเป็นความพยายามในการศึกษาเจ้าพ่อและเขียนออกมาเป็นเรื่องยาว จากเดิมก่อนหน้านั้นไม่มีใครทำ แต่ความผิดพลาดอย่างหนึ่งคือ แกบอกว่าเจ้าพ่อแปลมาจากคำว่า ‘Godfather’ แปลตรงตัวก็คือ เจ้า (god) กับ พ่อ (father) ซึ่งไม่จริง เพราะหนังเรื่อง The Godfather หรือแม้แต่นิยาย ก็เข้ามาเมืองไทยในช่วงหลังปี 2510 แล้ว แต่คำนี้ปรากฏในนวนิยาย เสือใบ ของ ป. อินทรปาลิต ตั้งแต่ปี 2490 เพราะฉะนั้นมันน่าจะเพี้ยนมาจากคำว่าเจ้าพ่อที่หมายถึงวิญญาณประจำถิ่น ตามบุคลิกลักษณะคือเป็นผู้คุ้มครองถิ่นและมีอิทธิฤทธิ์ที่ทำให้บรรดาศัตรูฉิบหายได้
ในต่างประเทศมีเจ้าพ่อที่เติบโตมาเหมือนกับสังคมไทยบ้างไหม
พอไปศึกษาว่ามันเริ่มมีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ดิฉันมีข้อสมมุติฐานว่า หลายๆ แห่งในโลกนี้มีเจ้าพ่อทั้งนั้น เพียงแต่ของเรามันไม่หมดไป มันไม่ได้ถูกปราบโดยรัฐ เพราะรัฐจำเป็นต้องพึ่งพิงเจ้าพ่อ และเจ้าพ่อเองก็ต้องพึ่งพิงรัฐ เพราะถ้ารัฐต้องการเข้าไปปกครองท้องถิ่นย่อยๆ อย่างเชียงใหม่ สุพรรณบุรี ชลบุรี กาญจนบุรี รัฐไม่สามารถที่จะปกครองได้โดยสมบูรณ์หรือมีการจัดการที่มีประสิทธิภาพได้ ต้องอาศัยข้อมูล อาศัยความช่วยเหลือของคนในชุมชน ซึ่งก็ต้องเป็นคนที่มีอิทธิพลพอสมควร จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะอาศัยเสือหรือนักเลงพวกนี้เป็นเครื่องมือ แทนที่รัฐจะทำลายกันก็พึ่งพากันทั้งสองฝ่าย บางแห่งก็มีการแต่งตั้งให้เป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน บางแห่งก็รับรู้กันในทางลับว่า คนนี้เป็นเสือ
ในต่างประเทศก็มีเสือหรือโจรที่สัมพันธ์กับสังคม หรือ social bandit แต่ในที่สุดเขาสามารถปราบได้หมด เพื่อสถาปนาอำนาจรัฐ และเปลี่ยนวัฒนธรรมของการพึ่งพาผู้มีอิทธิพลมาเป็นพึ่งพารัฐ หมายความว่าถ้าคุณจะทำลายระบบนี้ คุณต้องรวมศูนย์อำนาจให้ได้ก่อน
ในการรวมศูนย์อำนาจของรัฐ เคยมีลักษณะการต่อต้านจากเสือบ้างหรือไม่
ในแง่นี้ นักประวัติศาสตร์ในหลายประเทศก็เคยเขียนไว้ถึงการก่อกบฏ อย่างที่ เอริค ฮอบส์บอว์ม ได้เขียนไว้ว่า เวลาจะเปลี่ยนผ่านไปเป็นรัฐสมัยใหม่ย่อมจะต้องเกิดกบฏออกมาต่อต้าน ซึ่งก็น่าสนใจว่ากบฏของไทยเรามีน้อยมาก นับนิ้วได้เลย อย่างกบฏเงี้ยวเมืองแพร่ กบฏพญาผาบ กบฏผีบุญ แล้วก็มีอั้งยี่ที่ชลบุรี นอกนั้นเราแทบจะไม่เห็นถึงขบวนการกบฏเลย เพราะทั้งสองฝ่ายหันไปร่วมมือกัน รัฐเองก็ไม่ได้ปราบจริงจัง จึงไม่จำเป็นต้องกบฏ นอกจากรัฐจะไม่ปราบแล้วยังส่งเสริมอุ้มชูให้เกิดการยอมรับ ใครด่าก็ด่าไป แต่คนในพื้นยอมรับว่าเขามีบารมี ช่วยเหลือค้ำจุน ทำบุญช่วยงานสาธารณะ ฉะนั้นกบฏที่เกิดจากเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพลจึงแทบไม่มีให้เห็นเลย
ถึงแม้รัฐจะอุ้มชูเจ้าพ่อ แต่อีกด้านก็ต้องคอยปราบปรามด้วยใช่ไหม
ในหนังสือพิมพ์ปี 2502 ปรากฏคำว่าเจ้าพ่อคนแรก คือ นายกังวาน วีระนนท์ ผู้ยิ่งใหญ่ในคลองบางนกแขวก ใกล้กับคลองอัมพวา สมุทรสงคราม หนังสือพิมพ์เรียกว่าเจ้าพ่อบางนกแขวก และน่าจะเป็นเจ้าพ่อเพียงคนเดียวที่ถูกตัดสินจำคุกและตายในคุก
น่าสนใจตรงที่ว่า ทำไมนายกังวานถึงถูกจับ ก็เพราะว่านายกังวานเป็นเจ้าพ่อในแถบลุ่มน้ำแม่กลองและท่าจีน ขยายอิทธิพลไปถึงนครสวรรค์ กาญจนบุรี โดยมีบริษัทเดินเรือ เรือโยงบางนกแขวก เดินเรือรังสิต ที่เรียกกันว่าเรือปล่องเหลือง ผูกขาดเส้นทางเดินเรือในแม่น้ำลำคลองภาคกลางไว้เกือบหมด และได้ทำลายคู่แข่งราบคาบ ส่งลูกน้องไปยิง ไปปล้นผู้โดยสารเรือคู่แข่ง เรียกว่าเป็นผู้ผูกขาดการขนส่งทางน้ำเพียงเจ้าเดียว และยังทำธุรกิจซุง โรงฝิ่น และอีกหลายอย่าง
นอกจากนี้เขาก็เกาะเกี่ยวอยู่กับอำนาจเช่นกัน และอำนาจรัฐที่อุปถัมภ์ค้ำจุนเขามาตลอดก็คือ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ (อธิบดีกรมตำรวจสมัยนั้น) แต่พอ พล.ต.อ.เผ่า กับ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขัดแย้งกัน จอมพลสฤษดิ์ก็ปราบทุกคนที่มีส่วนพยุงขั้วอำนาจเก่าและคู่แข่งทางการเมือง ฉะนั้นไม่ว่ารัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารหรือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ตาม ถ้าต้องการสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเองจะต้องประกาศนโยบายปราบปรามผู้มีอิทธิพล ซึ่งทุกครั้งก็คือการปราบฝ่ายตรงข้าม แล้วถ้าดูจากประวัติศาสตร์ รากฐานทางวัฒนธรรม และการจัดตั้งชุมชน จะพบว่าเจ้าพ่อไม่ได้มีรากมาจากประชาธิปไตยเลย
ความเกาะเกี่ยวระหว่างอำนาจรัฐกับเจ้าพ่อ เป็นลักษณะที่มีมาก่อนที่จะเป็นประชาธิปไตยแล้ว และดำเนินต่อเนื่องยาวนาน อย่างสมัยจอมพลสฤษดิ์ ถึงแม้จะมีการกวาดล้างเจ้าพ่อ แต่สฤษดิ์ก็ปล่อยให้เจ้าพ่อบางคน เช่น หลงจู๊เกียง เป็นผู้มีอิทธิพลในชลบุรีต่อไป และต่อมาก็เป็นเสี่ยจิว พอเสี่ยจิวถูกยิงตายก็เป็นเสี่ยฮวด เสี่ยฮวดถูกยิงตายก็เป็นกำนันเป๊าะ ไล่เป็นสายต่อเนื่องมาเลย ไม่เคยมียุคไหนที่อ่อนแรงหรือหายไป ข้าราชการทุกคนที่ขึ้นมาก็ไม่เคยปราบปรามให้หมดได้ แสดงให้เห็นว่าข้าราชการจำเป็นต้องพึ่งเจ้าพ่อเพื่อประโยชน์ในการปกครอง
ถ้าทุกคนรวยหมด หรือจนกันหมด มันก็ไม่มีลักษณะที่ก่อให้เกิดผู้มีอิทธิพล เพราะความไม่เท่าเทียมเป็นบ่อเกิดของระบบอุปถัมภ์ นักเลงโตจะพยายามแจกจ่ายแบ่งปันให้ชาวบ้าน ชาวบ้านเองก็เชื่อว่านักเลงโตปกป้องคุ้มครองเขาได้ แต่จริงๆ นักเลงโตก็ต้องการให้ชาวบ้านปกป้องเขาด้วย
มีปัจจัยอะไรบ้างที่ประกอบสร้างความเป็นเจ้าพ่อขึ้นมาได้
เริ่มจากนักเลงโตในสมัยก่อนนั้น ถิ่นที่อยู่ส่วนใหญ่มักอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำภาคกลาง พื้นที่แถบนั้นต้องมีทรัพยากรและความมั่งคั่งพอสมควร แต่ในความมั่งคั่งนั้นต้องมีความไม่เท่าเทียม ถ้าทุกคนรวยหมด หรือจนกันหมด มันก็ไม่มีลักษณะที่ก่อให้เกิดคนที่มีอิทธิพลเหนือคนอื่น เพราะความไม่เท่าเทียมเป็นบ่อเกิดของระบบอุปถัมภ์ นักเลงโตจะพยายามแจกจ่ายแบ่งปันให้ชาวบ้าน ชาวบ้านเองก็เชื่อว่านักเลงโตปกป้องคุ้มครองเขาได้ แต่จริงๆ นักเลงโตก็ต้องการให้ชาวบ้านปกป้องเขาด้วย ลักษณะแบบนี้พอเทียบเคียงกับเจ้าพ่อปัจจุบัน
อย่างกรณีเกาะเต่า (คดีฆาตกรรมสองนักท่องเที่ยว) คนในพื้นที่จำนวนไม่น้อยก็อาจได้รับอานิสงส์จากเจ้าพ่ออยู่บ้าง จึงไม่มีใครกล้าพูดอะไร หรืออาจเป็นเพราะความกลัวด้วยส่วนหนึ่ง
ในเมืองไทย เจ้าพ่อมักเติบโตขึ้นมาพร้อมกับอำนาจรัฐ เวลารัฐเข้าไปในท้องที่ก็มักไม่ค่อยรู้เรื่องในแต่ละท้องที่ ฉะนั้นจึงต้องพึ่งพิงนักเลง เวลาส่งนายอำเภอเข้าไป ถ้าคุณไม่รู้ว่าใครเป็นใคร คุณไม่มีทางปกครองได้ ส่งตำรวจเข้าไป อาวุธก็ไม่พร้อม เครื่องมือสื่อสารก็ไม่มี งบประมาณก็จำกัด ถ้าไม่รู้จักนักเลง คุณจับผู้ร้ายไม่ได้แน่ ฉะนั้นพอมีอำนาจรัฐเข้าไปปุ๊บ ก็ต้องพึ่งพาคนเหล่านี้เพื่อจะขอข้อมูล และบางทีก็แบ่งผลประโยชน์กัน ซึ่งตอนหลังผลประโยชน์มันเปลี่ยนรูปแบบไปเยอะ อย่างเวลาที่รัฐต้องการจัดงานบุญ ต้องการระดมคนมาช่วยงานเพื่อสร้างผลงานของราชการ ก็ต้องไปขอให้นักเลงหรือเจ้าพ่อในท้องถิ่นนั้นไปช่วยระดมคนมา มันจึงผูกพันกันแบบนี้ และเป็นพัฒนาการที่ต่อเนื่องยาวนานพอสมควร
หมายความว่ารัฐไม่สามารถปกครองได้ ถ้าไม่พึ่งพานักเลงเจ้าถิ่น?
เวลาเรามองรัฐ เราต้องมองสองระดับ ตามทฤษฎีของการสร้างรัฐ คือ ต้องสามารถสร้างภาพลักษณ์ในการสถาปนาอำนาจรัฐได้สำเร็จและมีเสถียรภาพ เช่น การปกครองเชียงใหม่ ปัตตานี ดึงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯให้ได้
อีกระดับหนึ่งคือในแง่ของการปฏิบัติ เราต้องมองว่ารัฐใช้วิธีการใด เช่น สามารถปราบโจรได้หมด ทุกคนกลัวตำรวจหมด ไม่ต้องพึ่งนักเลง ถ้าตำรวจเข้าไปปุ๊บ สิ่งผิดกฎหมายไม่มี นายอำเภอเข้าไปปุ๊บ ทุกคนต้องปฏิบัติตามกฎหมาย
แต่พอเอาเข้าจริงแล้วก็ต้องร่วมมือกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง จากการสืบค้นในหนังสืองานศพของข้าราชการกระทรวงมหาดไทยสมัยก่อน ซึ่งหลักฐานนี้ถูกรวบรวมไว้ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต มีการบันทึกไว้ว่า ประมาณปี 2490 มีนายอำเภอคนหนึ่งถูกส่งไปที่อำเภอปากน้ำ ซึ่งถือเป็นพื้นที่ไกลปืนเที่ยง เป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน ตอนนั้น เสือเฟี้ยม มีอิทธิพลมาก ปล้นสะดมแบบไม่ปรานีปราศรัย นายอำเภอต้องจับเสือเฟี้ยมให้ได้ จนกระทั่งเมื่อทั้งสองเผชิญหน้ากัน เสือเฟี้ยมเอาปืนจ่อเขา แต่ไม่ยิง สักพักก็ลดปืนลงแล้วกระโดดออกหน้าต่างหนีไป
วันรุ่งขึ้นเสือเฟี้ยมก็ส่งจดหมายมาพร้อมนกกระทุมผูกไว้หน้าบ้าน ซึ่งน่าจะหมายถึงเครื่องบรรณาการ มีจดหมายลูกผู้ชายเขียนไว้ว่า เห็นนายอำเภอยังเด็ก ตาแจ๋วแหวว น่าสงสาร เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน เรามาทำสัญญาลูกผู้ชาย ระหว่างที่ท่านอยู่ในอำเภอนี้เราจะไม่ปล้นสะดมในเขตท่าน แต่ถ้าหากลูกน้องเราไปทำผิดที่อื่นและมากบดานที่นี่ ขอให้ท่านเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ แล้วเราสัญญาว่าจะไม่มีการปล้นสะดมในเขตท่าน ปรากฏว่าต่อมานายอำเภอคนนั้นได้รางวัลแหนบทองคำ เป็นนายอำเภอดีเด่น เพราะไม่มีเหตุการณ์ปล้นสะดมในพื้นที่นั้น แต่โดยข้อเท็จจริงก็คือ นายอำเภอปราบไม่ได้และยังเสียท่าให้เสือเฟี้ยม แต่เมื่อเสือเฟี้ยมเอานกกระทุมมาให้ก็ถือว่าเป็นสัญญาลูกผู้ชาย
ต่างจากยุคของ นายกังวาน วีระนนท์ เขาไม่ใช่แค่ปล้น แต่เป็นทั้งเจ้าของโรงสี เป็นเจ้าของเรือ ยึดครองพื้นที่ทั่วน่านน้ำ ทำธุรกิจผูกขาด มีการข่มขู่คู่แข่ง ซึ่งกรณีไม่ใช่เสือแล้ว เขาเรียกว่า illegitimate business (ธุรกิจที่ไม่ชอบธรรม) แต่ไม่ถึงกับ illegal (ผิดกฎหมาย) สุดท้ายจึงถูกตัดสินประหารชีวิต ต่อมาได้รับการอภัยโทษ เหลือจำคุกตลอดชีวิต และในที่สุดก็เสียชีวิตอย่างเงียบๆ ในคุก
เจ้าพ่อต่างกับมาเฟียอย่างไร
ข้อสังเกตอย่างหนึ่งคือ เจ้าพ่อมักจะไม่ยุ่งเรื่องยาเสพติด โดยเฉพาะเจ้าพ่อที่คนทั่วไปให้การยอมรับนับถือ เจ้าพ่อจึงมีลักษณะพิเศษคล้ายกับมีจริยธรรมบางอย่าง ซึ่งแตกต่างจากมาเฟียหรือแก๊งค้ายาเสพติดที่ทำธุรกิจแบบ illegal เต็มตัว เป็นองค์กรปิดลับ ทำธุรกิจใต้ดิน คนเหล่านี้จะไม่ค่อยมีบทบาทเป็นที่ยอมรับในสังคม แต่เจ้าพ่อต้องการมีบทบาท ต้องการเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สส. บางคนผันตัวมาเป็นรัฐมนตรีด้วยซ้ำ เพื่อจะได้รับการยอมรับ เพราะมันทำให้เขารู้สึกเหมือนได้ทำประโยชน์ให้กับสังคม
พอเปลี่ยนจากเสือก็ปรับตัวไปเป็นคหบดี เป็นนักธุรกิจ ถึงแม้จะเป็นธุรกิจที่ไม่ชอบธรรม แต่ก็ไม่ใช่เล่นสกปรกไปเสียทีเดียว อาจจะมีการผูกขาดอยู่บ้าง เช่น มีเส้นสายกับรัฐในการครองสัมปทานตัดไม้ เป็นธุรกิจธรรมดาที่คนอื่นอาจจะทำไม่ได้ หรือไม่ก็ต้องมีเส้น เช่น เปิดบาร์และมีการขายบริการด้วย ซึ่งก็ต้องจ่ายใต้โต๊ะให้กับตำรวจ ก็เป็นการพึ่งพากันในลักษณะนี้
คนที่จะก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าพ่อจำเป็นต้องมีความโหดเหี้ยมด้วยไหม
ส่วนใหญ่มักมีประวัติเป็นนักเลงมาก่อน แต่ลำดับพัฒนาการไม่จำเป็นต้องไต่เต้าจากนักเลงมาเป็นเสือแล้วถึงจะเป็นเจ้าพ่อ ความต่อเนื่องจะเห็นได้จากความสัมพันธ์กับอำนาจรัฐและอำนาจบางอย่างที่ค้ำยันอยู่ แต่ประเด็นสำคัญคือ ถ้าคุณคิดจะเป็นเจ้าพ่อ คุณต้องโค่นเจ้าพ่อคนเก่าให้ได้ก่อน ถ้ามีเจ้าพ่ออยู่ก่อนแล้ว อยู่ๆ จะตั้งตนเป็นเจ้าพ่อในพื้นที่เดียวกันสองคนนี่ยากมาก คุณต้องฆ่าเขา หรือทำให้เขาหายไป อย่างน้อยต้องมีประวัติโค่นคนอื่นมาก่อน อย่างนายกังวานเขาอาจไม่ได้ตั้งตนเป็นเจ้าพ่อ แต่ก็ฆ่าคู่แข่งทางการค้า จนสามารถผูกขาดคลองทั้งสายได้
กรณีกำนันเป๊าะ เขาไม่เคยบอกว่าตัวเองฆ่าใคร แต่เขาเป็นนักเลง อย่างตอนที่เขาจัดระเบียบพ่อค้าแม่ค้าริมหาดบางแสน ถ้าจำได้ในยุคหนึ่งที่หาดบางแสนเคยไฮโซเหมือนในนิยาย มาตอนหลังก็ค่อยๆ เสื่อมโทรมลง ประมาณปี 2520-2530 เละมาก ไม่มีใครเที่ยว จนกระทั่งปี 2530 กำนันเป๊าะเคลียร์หาดบางแสนได้สำเร็จ แกบอกแกไม่ได้ทำอะไรเลย ก็แค่ซื้อที่ให้เขา แล้วให้เขาย้ายไปขายของที่อื่น ซึ่งก็คือที่ของแกนั่นแหละ แล้วแกก็วิ่งจ๊อกกิ้งที่ชายหาดทุกเช้า แค่นั้นก็ไม่มีใครกล้าตั้งแผงค้าเกะกะแล้ว ถ้าเห็นเมื่อไหร่ รื้อเลย
อย่างตลาดหนองมน แกก็ไปเจรจากับกรมทางหลวงให้เขาขายของริมถนนได้ ซึ่งการขายของบนทางเท้ามันผิดกฎหมายอยู่แล้ว แต่แกเด็ดขาด คนในตลาดหนองมนก็รักแก ซึ่งคนไทยก็ชอบวัฒนธรรมแบบนั้น คือมีลักษณะเด็ดขาด และในที่สุดก็มีคนรักมากกว่าคนชัง โดยเฉพาะคนในพื้นที่
นอกเหนือจากบุคลิกพิเศษเฉพาะตัว ถ้าพูดถึงในเชิงโครงสร้างอำนาจการปกครองก็มีส่วนเอื้อให้เจ้าพ่อเป็นใหญ่ขึ้นด้วยใช่ไหม
ใจความสำคัญที่สุดที่ทำให้เจ้าพ่อเติบโตก็คือ การรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง เพราะถ้าหากมีการกระจายอำนาจมันจะไม่สามารถพัฒนามาเป็นเจ้าพ่อที่มีอิทธิพลบารมีกว้างขวางได้ เจ้าพ่อจึงเกิดขึ้นได้จากอำนาจรัฐที่รวมศูนย์ แต่ไม่มีประสิทธิภาพที่จะเข้าไปปกครองพื้นที่ได้ทั้งหมด ทำได้แค่ส่งคนจากส่วนกลางเข้าไป จึงจำเป็นต้องเอาเจ้าพ่อในท้องถิ่นมาเป็นพรรคพวก หรือหนุนให้เขาอยู่ต่อได้โดยรัฐเอาหูไปนา เอาตาไปไร่
สมมุติในพื้นที่ชายฝั่ง มีคนค้าของเถื่อนทางทะเล รัฐก็ต้องทำเป็นไม่เห็น เพราะเวลาที่รัฐต้องการจัดงานบุญประเพณี งานพาเหรดเทศกาลดอกไม้ เพื่อให้เป็นผลงานของจังหวัด ทั้งๆ ที่คุณเพิ่งย้ายมาได้แค่ปีสองปี คุณจะไปเกณฑ์ชาวบ้านมาได้ยังไง คุณก็ต้องไปอาศัยบารมีของคนที่เป็นเจ้าพ่อ ฉะนั้นความเปลี่ยนแปลงของเจ้าพ่อจึงมีน้อยมาก มันมีมาต่อเนื่องยาวนาน พูดง่ายๆ ตั้งแต่ก่อนสมัยรัชกาลที่ 5 มาจนถึงเร็วๆ นี้ก็ยังมีอยู่ แต่อาจจะมีชื่อเรียกไม่เหมือนกัน ทำธุรกิจไม่เหมือนกัน
ตอนที่ทักษิณประกาศนโยบายปราบเจ้าพ่อ ทักษิณบอกว่าขอร้องเถอะ ผู้ว่าฯอย่าไปสังสรรค์กับโจรได้ไหม แต่ในความเป็นจริงถ้ามีงานวันเกิดกำนันคนดัง ผู้ว่าฯต้องไปนะ แล้วถ้ามีงานวันเกิดผู้ว่าฯ กำนันคนดังก็ต้องไป งานแต่งงานลูกสาวผู้พิพากษา เจ้าพ่อก็ต้องมา มันมีความสัมพันธ์กันโดยที่คนอื่นอาจเรียกเขาว่าเจ้าพ่อ แต่ในท้องถิ่นนั้นเขาเป็นคหบดีคนสำคัญ แล้ววัฒนธรรมนี้ก็ไม่เคยเปลี่ยน
ความผิดพลาดของรัฐที่ไม่สามารถถอนรากถอนโคนเจ้าพ่อได้ เกิดขึ้นตั้งแต่การรวมศูนย์อำนาจ แต่สุดท้ายกลับไม่สามารถใช้อำนาจนั้นได้อย่างเบ็ดเสร็จใช่ไหม
ต้องเรียกว่ารัฐไม่สามารถใช้อำนาจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในภาพรวมอาจดูเหมือนเบ็ดเสร็จ สามารถสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันตั้งแต่เหนือจรดใต้ มีธงชาติไทย เรียนภาษาไทย มีสถาบันหลักๆ เหมือนกัน มีกบฏค่อนข้างน้อย แต่ก็ไม่สามารถเข้าไปมีอำนาจเหนือพื้นที่นั้นได้อย่างสมบูรณ์ นายอำเภอจะดึงคนในพื้นที่เข้ามาร่วมมือไม่ได้ ถ้าไม่อาศัยนักเลงหรือผู้มีอิทธิพลเป็นตัวกลาง ถามว่านี่คือความผิดพลาดไหม อาจจะเป็นความไม่ตั้งใจของรัฐ แต่การที่รัฐรวมศูนย์และไม่สามารถใช้อำนาจได้อย่างสมบูรณ์จึงทำให้อำนาจของผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ยังคงอยู่ ในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ห่างไกลเป็นการยากมากที่รัฐจะปกครองได้อย่างสมบูรณ์
การก่อกบฏต่ออำนาจรัฐในบางยุค อย่างกรณี ‘กบฏผีบุญ’ ถือเป็นสัญญาณของการเปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐสมัยใหม่ได้ไหม
รัฐสมัยใหม่ในโลกนี้มักเกิดขึ้นจากการรวมศูนย์ก่อน และมันต้องประกาศอาณาเขตให้ชัดเจน เพราะระบบโลกที่เราอยู่ในปัจจุบันนี้คือ ระบบ Modern State ซึ่งประกอบด้วย รัฐ เขตแดน ประชากร เหมือนกับสิ่งที่เกิดขึ้นในยุโรปจากลัทธิล่าอาณานิคม ฉะนั้นต้องเข้าใจว่าอำนาจอธิปัตย์สูงสุดที่รวมศูนย์อยู่ที่บางกอกจะไปสุดที่ตรงไหน การที่จะไปสู่ตรงนั้นได้จึงต้องมีระบบราชการขึ้นมาปกครอง แทนที่คุณจะเชื่อฟังหมอผี คุณก็ต้องฟังหมอที่รัฐบาลกลางหรือกระทรวงสาธารณสุขส่งมา แทนที่จะไปเรียนหนังสือตามวัดตามวาก็ต้องมาแต่งเครื่องแบบเข้าโรงเรียน
การที่รัฐสร้างกลไกสมัยใหม่ขึ้นมา ในช่วงนี้เองที่มักจะเกิดกบฏ ใครที่นับถือศาสนาแตกต่างจากส่วนกลาง รัฐก็จะทำให้กลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แล้วเข้าไปกำหนดระบอบการบริหารของสงฆ์ อย่าง ครูบาศรีวิชัย ก็ไม่ถึงกับเป็นกบฏ แต่เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่ามันมีนิกายในแบบท้องถิ่นที่ไม่เหมือนกับส่วนกลาง อย่างกบฏผีบุญก็แสดงให้เห็นว่า มันมีความเชื่อแบบท้องถิ่นที่ไม่เหมือนกับส่วนกลาง และไม่ต้องการเสียภาษีให้แก่รัฐซึ่งไม่เคยมาให้อะไรเลย มันจึงมักจะมีกบฏลักษณะนี้เกิดขึ้น ทำให้รัฐต้องปราบให้หมด ถ้าปราบได้หมดและสามารถสถาปนาอำนาจได้เต็มที่ก็จะเป็นรัฐสมัยใหม่ที่รวมศูนย์ มีระบบราชการ มีองค์อธิปัตย์คนเดียว อาจเป็นกษัตริย์หรือระบอบรัฐสภา แล้วหลังจากนั้นการกระจายอำนาจจึงจะมาทีหลัง
แต่การจะรวมศูนย์ไม่ใช่เรื่องง่าย ในการจะเข้าถึงระดับชุมชน หมู่บ้าน อาจเป็นเพราะตัวข้าราชการที่ส่งไปไม่มีประสิทธิภาพพอ หรืออาจเป็นไปได้ว่าอำนาจที่มีมาก่อนการรวมศูนย์มันค่อนข้างเข้มแข็ง แต่รัฐไทยก็มีวิธีที่จะรวมให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ โดยยอมให้อำนาจในท้องถิ่นยังคงอยู่ โดยที่ไม่ต้องไปปราบ แต่ดึงมาเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งก็เป็น Bureaucratic Polity (อำมาตยาธิปไตย) ที่ เฟร็ด ริกส์ นักวิชาการชาวสหรัฐได้ศึกษาไว้ว่า สังคมไทยมีลักษณะเป็นระบอบอำมาตยาธิปไตย คือมีอำนาจของข้าราชการเป็นอำนาจนำ แต่แท้ที่จริงแล้วไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะในระดับท้องถิ่น ที่ข้าราชการต้องยินยอมให้ความร่วมมือ หรือส่งเสริมลับๆ ให้เจ้าพ่อได้มีอิทธิพลในท้องที่ได้นั้น ถือว่าไม่ได้เป็นอำมาตยาธิปไตยที่สมบูรณ์
หมายความว่าภายใต้กรอบของระบบอุปถัมภ์ เป็นรากฐานทางวัฒนธรรมที่เราปฏิเสธไม่ได้?
ใช่ เป็นทั้งวัฒนธรรมและเป็นรากฐานโครงสร้างของสังคมด้วย หมายความว่ารัฐสมัยใหม่ไม่ว่าที่ใดในโลกมันจะต้องมีการรวมศูนย์ก่อน พัฒนาการประชาธิปไตยในแบบของตะวันตกก็ต้องรวมศูนย์ให้ได้ก่อน จากนั้นจึงค่อยขยายอำนาจทางการเมืองให้กับประชาชนธรรมดา นอกเหนือจากขุนนางและชนชั้นนำ โดยให้กับคนผิวขาวก่อนแล้วค่อยผิวดำ เริ่มจากผู้ชายแล้วค่อยผู้หญิง จนกระทั่งสมบูรณ์แบบ คนทุกคนเท่ากันหมดในทางการเมือง เมื่อทุกคนมีความเท่าเทียมกัน สามารถเข้าถึงอำนาจรัฐได้เท่ากันหมดก็จะไม่ต้องการระบบอุปถัมภ์อีกต่อไป
ถ้ามองในแง่วัฒนธรรม แน่นอนเรารับเอาวัฒนธรรมนักเลงมาใช้ แต่มองในแง่โครงสร้างทางการเมืองมันก็คือการ transform ให้คนเป็นพลเมืองที่ไม่เท่าเทียมกัน ทำให้คนจำนวนมากเข้าไม่ถึงอำนาจทางการเมือง
อย่างสหรัฐหรือหลายประเทศทั่วโลกซึ่งเดิมก็เคยมีเจ้าพ่อ เขาปราบอย่างไรจึงสูญพันธุ์ไปได้
สหรัฐอเมริกาสามารถสร้างเมืองใหญ่ๆ ขึ้นมาได้ อย่าง ชิคาโก นิวยอร์ค ฟิลาเดลเฟีย ต้องย้อนกลับไปดูในศตวรรษที่ 19 ที่เริ่มมีคนอพยพเข้ามา ทั้งจากอิตาลี ไอร์แลนด์ ยุโรปตะวันออก คนเหล่านี้ไม่สามารถเลือกตั้งหรือเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองได้ เพราะถูกปกครองโดยคนผิวขาวที่อยู่มาก่อน ฉะนั้นผู้อพยพเหล่านี้ก็เลยต้องอยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ ตัวอย่างเห็นได้ชัดจากหนังเรื่อง The Godfather โดยเฉพาะภาค 2 ที่ย้อนไปถึงอดีตก่อนจะกลายมาเป็นเจ้าพ่อ คือถูกเอารัดเอาเปรียบ จนต้องลุกขึ้นมาฆ่าแลนด์ลอร์ดคนเก่า แล้วผู้คนจึงยกย่องให้เขาเป็นเจ้าพ่อ คือมันเกิดระบบอุปถัมภ์ขึ้นมา เพราะว่าไม่มีใครปกป้องดูแล ไม่มีสวัสดิการ ไม่มีเงินให้ยืม เวลาเจ็บป่วยก็ลำบาก ก็เลยต้องพึ่ง Godfather พอคนเหล่านี้อยู่รวมกันเป็นชุมชน ก็เลยกลายเป็นชุมชนคนอิตาลี ชุมชนไอริช ชุมชนโปแลนด์
พอหลังยุคสงครามกลางเมือง มีการพัฒนาประชาธิปไตย เริ่มมีการเลือกตั้ง ให้สิทธิกับผู้ที่อพยพเข้ามาใหม่ ฉะนั้นพวกนี้ก็เลยกลายเป็นเจ้าพ่อทางการเมือง คล้ายกันมากกับเมืองไทยในช่วงทศวรรษ 2520 จะเห็นว่าเจ้าพ่อจะอยู่เบื้องหลังการสนับสนุน สส. เบื้องหลังนักการเมืองท้องถิ่น แล้วประชาชนเลือกตั้งเพราะเชื่อเจ้าพ่อ อาจมีการซื้อเสียงโดยที่ไม่ได้จ่ายเป็นเงินสด แต่เป็นระบบที่ช่วยเหลือดูแลกันมาตลอด สหรัฐใช้เวลาเกือบ 100 ปี เจ้าพ่อคนสุดท้ายจึงได้หายไป
ทำไมจึงหายไป ประการแรกคือ เริ่มมีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น พอกระจายปุ๊บ คนที่เคยเป็นลูกน้องเจ้าพ่อก็เข้าไปนั่งในสภาท้องถิ่น พอเรียนรู้การเมืองสักพักหนึ่งก็ลงเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรี หรือนายกเทศมนตรีเมืองที่ใหญ่ขึ้นไปอีก มันจึงทำให้อำนาจเกิดการกระจายตัวมากขึ้น
อีกประเด็นก็คือ นายกท้องถิ่นเหล่านี้อุปถัมภ์คนด้วยการให้งาน ไม่ใช่แจกเงิน และงานนั้นมันมาเป็นแพ็คเกจ สมมุติให้จ๊อบคุณไปเป็นพนักงานดับเพลิง ลูกคุณก็ได้เรียนฟรี รักษาพยาบาลฟรี สักพักหนึ่งคุณก็ไม่ต้องพึ่งเจ้าพ่อแล้ว เพราะคุณมีงานทำ มีโอกาสพัฒนาสถานภาพของตัวเองได้ พอคนจำนวนมากเริ่มได้รับสิทธิ ได้รับสวัสดิการจากรัฐบาล ก็พัฒนาตัวเองขึ้นมาเป็นชนชั้นกลาง เจ้าพ่อก็ค่อยๆ หมดความสำคัญลงไป
ใจความสำคัญเป็นเพราะความเหลื่อมล้ำใช่ไหมที่ทำให้เจ้าพ่อเป็นที่พึ่งของประชาชน
ลองนึกไปถึงสมัยก่อน 2520 สมัยนั้นกรุงเทพฯ มีห้าง มีความเจริญ มีคนแต่งตัวสวยงาม มีซาวด์อะเบาท์ วิทยุ ทีวี คนไปเที่ยวเมืองนอกเป็นว่าเล่น แต่คนชนบทยังไม่มีอะไรเลย หมู่บ้านจำนวนมากไม่มีไฟฟ้าใช้ ถนนก็ยังเป็นถนนลูกรัง มันก็อดตั้งคำถามไม่ได้ว่า คนจำนวนมหาศาลนับล้านที่อยู่ภายใต้ระบบเจ้าพ่อ ถือเป็นคนชั้นล่างใช่ไหม ทั้งที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ
ดิฉันเคยไปสัมภาษณ์ เสนาะ เทียนทอง ถามว่าทำไมคุณถึงได้รับการยอมรับ เขาบอกว่าลองไปนั่งที่บ้านเขาสิ ตั้งแต่ 7 โมงเช้า ทุกเสาร์อาทิตย์จะมีคนมาหาที่บ้านตลอด ฝากลูกเข้าโรงเรียน แม่ไม่สบาย ขอยืมเงิน ถนนพัง ขอรถแบ็คโฮ เขาก็ให้ทันที สั่งให้ลูกน้องสแตนด์บายไว้เลย ฉะนั้นเลือกตั้งกี่ครั้งๆ เขาก็ชนะ เขาบอกว่าพวกคุณมีเมรุเผาศพ มีโลงศพสีทองสวยหรู แล้วมาด่าพวกผมว่าซื้อโลงศพแจกชาวบ้าน แต่ลองคิดดูว่าชาวบ้านเขาเผาศพกลางแจ้งโดยไม่มีโลง แล้วศพมันเด้งขึ้นมานี่มันอนาถใจขนาดไหน
เพราะฉะนั้นการซื้อโลงให้ชาวบ้านจึงทำให้เขารู้สึกซาบซึ้งเป็นบุญคุณกันตลอดชีวิต มันเป็นเรื่องสำคัญต่อเขามาก และสิ่งนี้คนกรุงเทพฯ มองแล้วอาจจะไม่เข้าใจ งานศพของคนกรุงเทพฯนี่มีพวงหรีดจนแทบล้นศาลา เราจึงไม่เข้าใจว่าการซื้อโลงให้มันมีความหมายอยางไร แล้วเราก็จะบอกว่านักการเมืองพวกนี้ซื้อเสียงด้วยการซื้อโลง แต่สำหรับชาวบ้านเขาถือว่ามันมีความหมายมาก
ทีนี้สหรัฐมันเปลี่ยนได้เพราะผู้คนเปลี่ยนสถานภาพเป็นชนชั้นกลาง มีสวัสดิการของรัฐ มีการกระจายอำนาจ แต่ของเราอยู่แบบนี้มานาน เพราะการรวมศูนย์ รัฐผูกขาดหมด การบริการประชาชนก็ไม่ทั่วถึง อย่างเช่น แม่จะเข้าโรงพยาบาล ถ้าไม่มีเงินก็ต้องไปกู้ยืม แต่ถ้ามีสวัสดิการรักษาพยาบาลราคาถูก คุณไม่ต้องพึ่งเจ้าพ่ออีกแล้ว ถ้ามีเรียนฟรี โรงเรียนมีคุณภาพ เจ้าพ่อก็หมดอำนาจ เพราะมันไม่จำเป็น มันอาจยังอยู่ในธุรกิจผิดกฎหมาย แต่ก็จะน้อยลง นี่คือประโยชน์ของรัฐสวัสดิการ
ประการสำคัญ ถ้ามีการกระจายอำนาจที่แท้จริง สมมุติว่ามี 20 ตำบล ก็มี อบต. 20 แห่ง ถ้าใครอยากขึ้นมาเป็นผู้นำ ก็ไม่จำเป็นต้องไปฆ่าเจ้าพ่อคนเก่า เพราะ อบต. มีงบปีละ 10-20 ล้าน บางแห่งเป็น 100 ล้าน …ไปนั่งเป็น อบต. ไม่ดีกว่าหรือ แล้วยังสามารถเอาธุรกิจรับเหมาก่อสร้างของตัวเองเข้าไปในโครงการของ อบต. หาประโยชน์จาก อบต. ได้อีก ฉะนั้นการกระจายอำนาจในแง่หนึ่งมันก็ช่วยลดจำนวนเจ้าพ่อ เพราะแต่ละตำบลก็มีคนขึ้นมาเป็นใหญ่กันหมด อำนาจมันถูกกระจายออกไป เป็นนายก อบต. เป็นสมาชิกสภาตำบล แค่นี้คนบ้านนอกก็เรียกท่านแล้ว
การกระจายอำนาจนอกจากจะทำให้มีเจ้าพ่อหลายคนแล้ว เจ้าพ่อยังมีโอกาสเสียตำแหน่งได้ทุกๆ สี่ปี ถ้าคุณไม่บริการประชาชนให้ดี คุณตกเก้าอี้แน่ คุณคิดว่าประชาชนโง่ใช่ไหม เอาเงินซื้อเลย แล้วอีกแปดปีข้างหน้า ถ้าประชาชนไม่โง่ แล้วมีคู่แข่งคนใหม่ที่เก่งกว่าขึ้นมา ในที่สุดแล้วโดย logic ของการเลือกตั้งจะทำให้เจ้าพ่อตายไปเอง เพราะมันสู้ไม่ไหวกับการเปลี่ยนแปลงในทุกๆ สี่ปี
ปัญหาก็คือ แม้จะกระจายอำนาจออกไปแล้ว แต่อำนาจนั้นก็มักไปตกอยู่ในมือเจ้าพ่ออยู่ดี
อย่างที่บอก ในอเมริกาพอเริ่มมีการพัฒนาประชาธิปไตย ความเข้มแข็งของเจ้าพ่อก็เริ่มชัดเจน เพราะมันคุมคะแนนเสียงได้ มันอุปถัมภ์มาตลอด พอให้สิทธิ์เลือกตั้งก็เกณฑ์คนมา ฉะนั้นมีแต่เจ้าพ่อเท่านั้นที่ชนะการเลือกตั้ง คนอื่นสู้ไม่ได้ แต่พอลูกน้องตัวเองได้เป็นนายกเทศมนตรี ก็เริ่มไม่ขึ้นต่อตัวเองแล้ว ในแง่หนึ่งอำนาจมันจึงถูกลดทอนลงไปมาก
เดิมทีเราจะเห็นว่าเจ้าพ่อภาคตะวันออกคุมหลายจังหวัด เจ้าพ่ออีสานใต้คุมหลายจังหวัด เจ้าพ่อภาคใต้ตอนบนคุมทั้งจังหวัดและอำเภอใกล้เคียง เป็นตระกูลใหญ่เลย เจ้าพ่อภาคกลางตอนบนก็มี แต่สมัยนี้ไม่มีแล้ว ถ้าคุณบอกว่าการเลือกตั้ง อบต. อบจ. เป็นการเปิดช่องให้เจ้าพ่อเข้ามา นั่นก็เท่ากับมีเจ้าพ่อหลายคน และนั่นก็ไม่ใช่ในความหมายของเจ้าพ่ออีกแล้ว เพราะถ้าทุกคนเป็นเจ้าพ่อกันหมด มันก็ไม่เรียกว่าเจ้าพ่อ ไม่ศักดิ์สิทธิ์เหมือนเมื่อก่อนแล้ว
การกระจายอำนาจนอกจากจะทำให้มีเจ้าพ่อหลายคนแล้ว เจ้าพ่อยังมีโอกาสเสียตำแหน่งได้ทุกๆ สี่ปี ถ้าคุณไม่บริการประชาชนให้ดี คุณตกเก้าอี้แน่ คุณคิดว่าประชาชนโง่ใช่ไหม เอาเงินซื้อเลย แล้วอีกแปดปีข้างหน้า ถ้าประชาชนไม่โง่ แล้วมีคู่แข่งคนใหม่ที่เก่งกว่าขึ้นมา ในที่สุดแล้วโดยตรรกะของการเลือกตั้งจะทำให้เจ้าพ่อตายไปเอง เพราะมันสู้ไม่ไหวกับการเปลี่ยนแปลงในทุกๆ สี่ปี
แต่ถ้าคุณเป็นเจ้าพ่อภาคตะวันออก ถ้าไม่มีใครมายิงคุณเสียก่อน เขาไม่มีทางสถาปนาตัวเองเป็นเจ้าพ่อได้ ความกลัวของคุณก็คือทำอย่างไรไม่ให้คนมาทำร้ายคุณ คุณก็ต้องเลี้ยงลูกน้องเยอะๆ อุปถัมภ์เยอะๆ แต่ความกลัวของเจ้าพ่อในระบอบกระจายอำนาจก็คือ ทำอย่างไรให้ประชาชนเลือกอีก แล้วคุณจะสามารถจ่ายเงินได้สักกี่สมัย
สมมุติถ้าคุณเชื่อว่าทักษิณซื้อเสียง ยังไงมันก็ต้องมีสักสมัยที่แพ้การเลือกตั้ง ยิ่งถ้าคอร์รัปชันจริง จ่ายเงินจริง มันก็ต้องมีวันที่ทักษิณจ่ายเงินจนเจ๊ง ไม่มีทางที่จะอยู่ได้ อันนี้เป็นประการสำคัญของการกระจายอำนาจที่ทำให้ลดอำนาจเจ้าพ่อลงได้ เหมือนภาพประชาธิปไตยในทศวรรษที่ 2520 จะเห็นว่าในท้องถิ่นเต็มไปด้วยการฆ่ากันเพื่อจะได้เป็น สส. เพราะตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งที่มีอำนาจทางการเมือง
การเลือกตั้งท้องถิ่นที่เริ่มมาตั้งแต่หลังปี 2540 ในช่วงแรกๆ มันเกิดภาพแบบนี้ แต่ตรรกะของการเลือกตั้งมันต่างออกไป มันเริ่มมีความเปลี่ยนแปลง ฉะนั้นโดยส่วนตัวจึงไม่เห็นด้วยกับสมมุติฐานที่ว่าการกระจายอำนาจเป็นการเปิดช่องให้เจ้าพ่อขึ้นมาเป็นใหญ่ แต่เชื่อว่ามันจะช่วยลดอำนาจ ลดปริมาณ และลดความรุนแรงของเจ้าพ่อลง ซึ่งจะเห็นผลในระยะยาว
ถ้าเจ้าพ่อไต่เต้าตัวเองขึ้นมาเป็นนายกฯท้องถิ่น แล้วกระโดดเข้าสู่เวทีการเมืองระดับชาติ โฉมหน้าของเจ้าพ่อก็ต้องเปลี่ยนไป?
ใช่ อย่างน้อยที่สุดคุณต้องเปลี่ยนจากเสื้อแบะอก โชว์รอยสัก ใส่สร้อยเส้นใหญ่ๆ แล้วเปลี่ยนมาใส่สูท เพราะฉะนั้นบุคลิกความเป็นเจ้าพ่อก็เริ่มถูกลดทอน รวมถึงวัฒนธรรมความเป็นนักเลงก็ต้องลดลงไปด้วย แล้วถ้ามีคนปูดขึ้นมาว่าคุณจ่ายเงินใต้โต๊ะ…คุณซวยทันที เพราะอาจถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองได้ ฉะนั้นก็ต้องมีความระวังตัวมากขึ้น แทนที่คุณจะหาผลประโยชน์จากธุรกิจนอกกฎหมาย คุณก็ต้องหาทางไปลงทุนอย่างอื่น แล้วค่อยหาประโยชน์จากนโยบายหรือโครงการต่างๆ ไม่ดีกว่าหรือ ซึ่งมันจะเปลี่ยนโฉมความเป็นเจ้าพ่อลงไปเยอะ
ทีนี้มองในแง่ประชาชนจะได้อะไร ในระบอบรัฐรวมศูนย์มันจะมีประชากรท้องถิ่นจำนวนมากที่ไม่ใช่ชนชั้นนำ คือเข้าไม่ถึงทรัพยากร เข้าไม่ถึงแหล่งทุน เข้าไม่ถึงสวัสดิการรัฐ เพราะลักษณะการรวมศูนย์อำนาจของรัฐมันทำให้มีคนไม่กี่คนที่ได้ประโยชน์
จนกระทั่งมีรัฐธรรมนูญ 2540 สร้างการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ เหมือนเป็นการปฏิวัติครั้งที่ 2 หลังจากปี 2475 ด้วยซ้ำ เพราะมันมีการกระจายอำนาจ พอกระจายอำนาจปุ๊บ มันไม่ใช่แค่ทำให้เจ้าพ่อกระจายตัวและมีบทบาทน้อยลง แต่ยังทำให้การบริการของรัฐเริ่มเข้าถึงชาวบ้านมากขึ้น อย่างในระดับ อบต. ชาวบ้านก็เริ่มเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการปกครอง ในการเรียกร้องว่าความต้องการ สิทธิ สวัสดิการ ชาวบ้านตระหนักว่าตัวเองมีส่วนร่วมกับอำนาจรัฐ ถ้าถนนหน้าบ้านมันพัง คุณไม่ต้องไปหาเจ้าพ่อแล้ว คุณขี่มอเตอร์ไซค์ไปด่านายก อบต. เลย จนมันเห็นเลยว่ารัฐกับประชาชนมีปฏิสัมพันธ์กัน เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน
ฉะนั้น การกระจายอำนาจมันเลยทำให้ bypass เจ้าพ่อไปเลย ถ้าเจ้าพ่อไปนั่งเป็น อบต. ชาวบ้านเองก็ไม่ได้มองนายก อบต. แบบเจ้าพ่อ แต่เขามองว่าเป็นคนรับใช้เขาแล้ว เพราะนายก อบต. ใช้เงินจากภาษีของเขา มันถึงเวลาแล้วที่ประชาชนจะต้องได้รับบริการที่ดีจากรัฐ เพราะที่ผ่านมาคนไทยเหมือนเป็นผู้อพยพ ไม่ได้มีสิทธิ์มีเสียงอะไร แต่ตอนนี้มีทั้งสิทธิ์ทั้งเสียง ก็เท่ากับเลื่อนสถานภาพจากคนที่ต้องพึ่งพาอิทธิพลมาเป็นพลเมืองที่มีอำนาจทางการเมือง
ตามหลักรัฐศาสตร์ก็ควรจะเป็นอย่างนั้น แต่ในบริบทบ้านเรามันเป็นแบบนั้นหรือไม่ เพราะนักการเมืองท้องถิ่นก็ยังมีลักษณะความเป็นเจ้าพ่อ หรือกระทั่งนักการเมืองระดับชาติเองก็ยังมีธุรกิจมืดเป็นฉากหลัง
ส่วนตัวทำวิจัยเรื่องการเปลี่ยนแปลงของการกระจายอำนาจในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่มีการกระจายอำนาจก็ได้สังเกตการณ์เห็นความเปลี่ยนแปลงในหลายพื้นที่ที่แสดงให้เห็นว่าการกระจายอำนาจมันเกิดประโยชน์ต่อประชาชน แม้แต่กำนันเป๊าะหรือลูกหลานกำนันเป๊าะที่เข้าไปนั่งในเทศบาลตำบลบางแสน ก็ปรับเปลี่ยนตัวเองไปเยอะมาก ต้องล้างมือในอ่างทองคำ เพราะถ้าคู่แข่งขุดขึ้นมาก็จะลำบาก
อย่างเทศบาลนครนครศรีธรรมราชนี่เจ๋งมาก เขาทำถึงขั้นที่ว่ามีโรงพยาบาลเป็นของเทศบาล ให้บริการรักษาพยาบาลราคาถูก แล้วเก็บเงินชาวบ้านวันละบาท เป็นเหมือนกองทุนหลักประกันสุขภาพ ในด้านการศึกษาเขาก็มีการช่วยเหลือหลายระดับ บางแห่งเป็นโรงเรียนสร้างอัจฉริยะ มีเด็กได้เหรียญทองโอลิมปิกเยอะแยะ คล้ายๆ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ มีทุนให้เรียนฟรี มีเสื้อผ้า มีอาหารให้ทุกมื้อ บางแห่งตั้งเป็นโรงเรียนนานาชาติ บริหารโดยเทศบาล มีกองทุนอาหารกลางวันให้เด็กยากจน แล้วเทศบาลก็ทำงานคล้ายๆ กับ NGO คือ ดูแลตั้งแต่เด็กเร่ร่อนจนถึงเด็กนานาชาติ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จ
หรืออย่างเทศบาลยะลาก็มีวงออร์เคสตราเป็นของตัวเอง เทศบาลพิษณุโลกก็ไปกู้เงินมาทำตลาด เทศบาลหางดง เชียงใหม่ สุ่มตรวจสารปนเปื้อน ทำให้ตลาดเป็นที่นิยมมาก คือเขาจะมีนวัตกรรมใหม่ๆ และเห็นสัดส่วนของคนดีมีความสามารถขึ้นมาเรื่อยๆ เพราะมันเสี่ยงต่อการที่คุณจะอยู่สองสามสมัยแล้วคุณโกงกิน คุณก็จะอยู่ยากขึ้นเรื่อยๆ
ฉะนั้น ตรรกะในทางรัฐศาสตร์มันไปได้ คือการตอบแทนภายในเครือข่ายระบบอุปถัมภ์เดิมกับระบบอุปถัมภ์ใหม่ที่ผ่านการกระจายอำนาจมันต่างกัน เหมือนให้เบ็ดตกปลากับให้ปลา คุณจะเลือกแบบไหน ซึ่งการบริหารท้องถิ่นโดยคนในท้องถิ่นเองจะเป็นการสร้างประชาธิปไตยได้อย่างแท้จริง ยกเว้นว่าผู้มีอำนาจในบางยุคสมัยจะพยายามรวบอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางแบบเบ็ดเสร็จ หรือกระทั่งยุบองค์กรปกครองท้องถิ่น
ยิ่งเป็นประชาธิปไตยมากเท่าไหร่ก็ยิ่งสลายเจ้าพ่อได้ แล้วถ้าเป็นยุคเผด็จการที่มีความพยายามขัดขวางการกระจายอำนาจ มันจะไม่เป็นการสถาปนาเจ้าพ่อองค์ใหม่หรือ
เจ้าพ่อกลับมาแน่นอน ถ้าเป็นอย่างนี้มันก็จะกลับมาสู่ระบบเจ้าพ่อแบบเดิม เอาง่ายๆ จากเดิมเป็นการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจ ถ้าคุณจะไปแข่งขันประมูลโครงการสร้างถนน คุณจ่ายเงินให้อธิบดีแค่คนเดียวก็สามารถสั่งการไปถึงระดับจังหวัดของคุณได้ ถ้าคุณมีเส้นกับผู้นำประเทศเพียงคนเดียว คุณก็สามารถตั้งตัวเองเป็นผู้มีอิทธิพลได้ แต่หวังว่าระบอบนี้มันจะไปได้ไม่นานมาก แต่ถ้านานมันก็จะย้อนกลับมาเป็นอำมาตยาธิปไตย
ทุกรัฐบาลที่เข้ามาใหม่จะต้องมีนโยบายปราบปราบผู้มีอิทธิพล แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ปราบจริง เป็นแค่การจัดสรรอำนาจใหม่ให้พวกพ้องของตัวเองใช่ไหม
ใช่ เพราะอันนี้มันแสดงให้เห็นว่า รัฐหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพึ่งเจ้าพ่อ แต่ถ้าให้พึ่งแบบไว้ใจได้มันก็ต้องอาศัยเครือข่ายของตัวเอง เพราะฉะนั้นมันเลยต้องปราบอีกฝ่าย เพื่อที่จะดันเครือข่ายตัวเองขึ้นมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามันไม่สามารถปราบจริงๆ จังๆ ให้หมดไปได้
ตอนที่ทักษิณขึ้นมาปี 2544 สักพักหนึ่งเขาก็ประกาศปราบผู้มีอิทธิพล แต่ทักษิณฉลาดมาก ให้ผู้ว่าฯ กับหัวหน้าสารวัตรสถานีตำรวจทุกแห่งเป็นคนลิสต์รายชื่อมา คือตัวเองไม่ต้องลิสต์ เพราะถ้าคุณต้องการครองอำนาจ ต้องการปกครองเมืองไทย คุณต้องรู้จักเจ้าพ่อเพื่อที่จะพึ่งพิง หรือเพื่อจะปราบก็แล้วแต่
ตอนนั้นความตั้งใจของทักษิณ คิดว่าเขาต้องการจะสลายระบบเจ้าพ่อ เพื่อทำให้มันมาอยู่ในระบบพรรค แล้วในที่สุดมันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ คือพรรคไทยรักไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ก็เป็นร่มใหญ่ คือคุณต้องสลายตัวกลางที่เป็นนายหน้าทางการเมืองตรงนี้ก่อน เพราะถ้าเป็นเมื่อก่อนชาวบ้านต้องการอะไรก็ไปขอความช่วยเหลือจากผู้มีบารมี ผู้มีอิทธิพล มันก็ไม่สามารถเชื่อมโยงไปถึงภาพลักษณ์ของพรรค
ทักษิณต้องการสลายตรงนี้ เพื่อให้พรรคเป็นเหมือนแบรนด์ใหญ่ ซึ่งสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ออกแบบให้พรรคการเมืองเป็นพรรคใหญ่ มันเลยค่อนข้างทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในหมู่ผู้มีอิทธิพลพอสมควรในยุคทักษิณ ซึ่งไม่ใช่จากคำประกาศของทักษิณอย่างเดียว มันมีทั้งเรื่องการกระจายอำนาจ เรื่องนโยบาย 30 บาท ที่ช่วยสลายการรวมศูนย์อำนาจ แต่ทักษิณก็ต้องการสลายเพื่อที่ตัวเองจะได้เป็นผู้อุปถัมภ์ใหม่ แต่อย่างที่บอกว่าการเป็นผู้อุปถัมภ์โดยผ่านการเลือกตั้ง มันจะต้องถูกตรวจสอบ จะมีคู่แข่งคอยแซะข้อมูล แต่การอุปถัมภ์ของรัฐผ่านนโยบายแบบนี้มันนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลง และย่อมเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นนำกับชาวบ้าน คือมันเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนไปเยอะ
คนที่จะขึ้นมาเป็นใหญ่ในบ้านเมือง ถ้าสามารถกุมอำนาจรัฐ อำนาจทุน และอำนาจทางกฎหมาย จะกลายเป็นผู้ผูกขาดอำนาจแบบเบ็ดเสร็จไปเลยหรือไม่
จริงๆ แล้วการกุมอำนาจทางกฎหมาย ไม่จำเป็นต้องทำตามกฎหมายแบบที่เขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร หมายความว่าถ้าคุณประกาศเป็นคำสั่งของรัฐบาล ก็ถือว่าเป็นกฎหมายได้ พูดง่ายๆ ว่าเป็นอำนาจนอกกฎหมายนั่นแหละ คือสามารถฉีกรัฐธรรมนูญก็ได้ ฉะนั้น อำนาจในทางกฎหมายของบ้านเราไม่ค่อยศักดิ์สิทธิ์เท่าไหร่ แต่เป็นการใช้ความรุนแรงมากกว่า คือสามารถที่จะเปลี่ยนกฎหมายให้มาเข้าข้างตัวเองได้ ไม่ว่าจะจ่ายเงินใต้โต๊ะ หรือคำคลาสสิกอย่าง ‘เอาหูไปนา เอาตาไปไร่’ สมัยปี 2490 มันก็อธิบายอะไรได้หลายอย่าง
ถ้าคุณสามารถสร้างคอนเน็คชั่น มีเงิน แล้วก็เปลี่ยนอำนาจตามกฎหมายไปในทางที่สนับสนุนคุณได้ นั่นคือการมีอำนาจตามกฎหมายนั่นแหละ แต่กฎหมายไทยมันเปลี่ยนได้ ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ทางกฎหมายหรือไปซื้อผู้พิพากษาก็สามารถเปลี่ยนได้
ตัวแปรสำคัญในวงการผู้มีอิทธิพล เหตุใดจึงมักเกี่ยวข้องกับสายยุติธรรม เช่น ตำรวจ ศาล ผู้พิพากษา
ในระดับท้องถิ่นถือว่าตำรวจสำคัญ เพราะในศาลยุติธรรมระดับศาลจังหวัดหรือคดีอาญาระดับจังหวัด ผู้พิพากษาจะอ่านตามสำนวนของตำรวจหรืออัยการมากกว่า คดีพวกนี้จึงอยู่ในมือตำรวจ แต่ถ้าเป็นคดีใหญ่จริงๆ ก็ต้องวิ่งหาผู้พิพากษา
สำนวนและหลักฐานในทางกฎหมาย ตำรวจสามารถเปลี่ยนแปลงได้ เรื่องเจ้าพ่อ เรื่องการฆ่ากัน ถ้ามันมีนัยยะอำนาจมาเกี่ยวข้อง เราจะไม่มีทางรู้ความจริงได้เลย ตำรวจสามารถทำให้ศพสูญหายได้ เปลี่ยนหลักฐานได้ เพราะมันไม่มีหน่วยงานที่เป็นกลางจริงๆ
อำนาจของตำรวจเด่นชัดขึ้นในยุคที่ พล.ต.อ.เผ่า เป็นอธิบดีกรมตำรวจใช่ไหม
ใช่ ตำรวจเริ่มมีอำนาจในท้องถิ่นตั้งแต่ยุคนั้น ก่อนหน้านั้นก็เป็นข้าราชการมหาดไทย นายอำเภอมีอำนาจในการสอบสวนคดีเบื้องต้น แต่พอตำรวจเริ่มเข้าที่เข้าทาง ก็เลยโอนภารกิจนี้มาที่ตำรวจ
ระบบอุปถัมภ์เดิมกับระบบอุปถัมภ์ใหม่ที่ผ่านการกระจายอำนาจมันต่างกัน เหมือนให้เบ็ดตกปลากับให้ปลา คุณจะเลือกแบบไหน ซึ่งการบริหารท้องถิ่นโดยคนในท้องถิ่นเองจะเป็นการสร้างประชาธิปไตยได้อย่างแท้จริง ยกเว้นว่าผู้มีอำนาจในบางยุคสมัยจะพยายามรวบอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางแบบเบ็ดเสร็จ หรือกระทั่งยุบองค์กรปกครองท้องถิ่น
ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นก็เลยต้องพยายามเข้าถึงตำรวจ?
เอาง่ายๆ อย่างตัวอย่างใกล้ๆ ตัวเรา ตำรวจก็ต้องเลี้ยงวินมอเตอร์ไซค์ เพื่อที่จะหาข้อมูล เพราะจะไม่รู้เลยว่าขโมยที่ขึ้นบ้านเป็นใคร จะไม่มีทางจับผู้ร้ายได้เลย แต่ถ้าวินมอเตอร์ไซค์ทำผิดอะไรเล็กน้อย ตำรวจก็ต้องปกป้องเหมือนกัน คือบางทีมันมีลักษณะของการพึ่งพาอาศัยแบบนี้
แต่อย่างในชนบทหรือท้องถิ่นห่างไกล สมัยก่อนก็คงจะไม่ใช่แค่วินมอเตอร์ไซค์ มันต้องเป็นอำนาจที่มากกว่านั้น คนที่เข้าถึงแหล่งข้อมูลได้ก็ต้องเป็นคนที่มีอำนาจบารมี หลายครั้งก็เป็นกำนัน เป็นพ่อเลี้ยง เป็นเสี่ย หรือเป็นคนที่ประชาชนยอมรับ
ทำไมเจ้าพ่อยุคหลังๆ ถึงมักมีเชื้อสายจีน หรือเป็นเพราะกลุ่มคนจีนมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเก็บภาษี
เจ้าภาษีนายอากรน่าจะพัฒนาไปเป็นครอบครัวนายทุนจีนนะ แต่ที่มีบารมีจริงๆ คือ คนจีนมักจะรู้วิธีเข้าถึงทุน เป็นชนชั้นใหม่ที่เติบโตมาจากชนชั้นเดิม นอกจากพวกข้าราชการที่เป็นชนชั้นนำในท้องถิ่น ก็จะเป็นนายทุนที่รู้จักวิธีการกู้เงิน รู้จักวิธีสะสมทุน ลงทุน และหลายๆ ครั้งก็มักจะลงทุนในสัมปทานหรือการทำธุรกิจผูกขาด อย่างธุรกิจโรงน้ำแข็งหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ถ้ายึดสายส่งได้ ก็จะทำให้มีอำนาจมากขึ้น ซึ่งก็มีแต่คนจีนทั้งนั้น คนไทยอาจจะไม่ค่อยมีความสามารถในเรื่องการสะสมทุน เพราะมีความรู้เรื่องเกษตรกรรมมากกว่า ก็เลยยกฐานะทางสังคมด้วยการเข้าสู่ระบบราชการ
ลักษณะการเป็นเจ้าพ่อในเมืองไทย ค่อนข้างยึดโยงกับตัวบุคคลมากกว่าการเป็นเครือข่ายใช่ไหม
มันขึ้นอยู่กับตัวบุคคลมากกว่า มันต้องมีบุคลิกบางอย่างแบบนักเลง กล้าได้กล้าเสีย อันนี้เป็นลักษณะทางวัฒนธรรม แต่การเป็นเจ้าพ่อก็ต้องมีรายจ่ายเยอะ ทั้งทำบุญที่วัด สร้างโรงเรียน สร้างถนน จ่ายเยอะก็ต้องหาเยอะ มันก็ต้องหาธุรกิจผิดกฎหมายเพื่อที่จะสร้างบารมีต่อ ไม่เหมือนนักธุรกิจทั่วไปที่คิดแบบต้นทุนกำไร แล้วความเป็นเจ้าพ่อก็โอนถ่ายให้กันไม่ได้ เพราะมันเป็นเรื่องของการสั่งสมเส้นสายบารมี อาจจะโอนถ่ายให้ลูกน้องหรือรุ่นลูกได้ แต่ก็ยังไม่เห็นว่าใครจะตั้งตัวเป็นใหญ่แทนได้
ในขณะที่ยากูซ่าในญี่ปุ่นจะเป็นองค์กรปิดลับ เป็นสถาบัน ถ้าหัวหน้าตายไป เบอร์ 2 ก็จะขึ้นมาแทน หรือถ้าคนเก่าบริหารไม่ดี ก็จะมีการปฏิวัติองค์กร เอาคนอื่นขึ้นแทน เพื่อที่จะทำให้องค์กรเข้มแข็ง กลุ่มของยามากูจิก็เป็นกลุ่มเชิงสถาบัน หรือ ดอน คอเลโอเน ในเรื่อง The Godfather ก็กึ่งสถาบัน ลูกก็ขึ้นมาแทนได้ เพราะพ่อสร้างตระกูลไว้ อุปถัมภ์คนเอาไว้ แต่ของไทยค่อนข้างพิเศษ มันมีลักษณะเฉพาะตัว ความเป็นนักเลงที่ไม่ได้มีกันทุกคน
ถ้าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นจนสามารถกวาดล้างเจ้าพ่อได้ แต่อีกส่วนหนึ่งมันจะมุดลงไปอยู่ใต้ดินแบบยากูซ่าหรือเปล่า
มันจะค่อยๆ หมดไป แต่ถ้าธุรกิจผิดกฎหมายยังคงมีอยู่ ค้าอาวุธเถื่อน ยาเสพติด โสเภณี ค้ามนุษย์ยังมีอยู่ มันต้องมีองค์กรผิดกฎหมายอยู่ใต้ดิน ซึ่งอย่างน้อยที่สุดก็ไม่มายุ่งกับอำนาจรัฐหรืออำนาจการปกครอง จะไม่ยุ่งกับโลกบนดิน ยากูซ่าอยู่ได้เพราะมีตำรวจบางคนเท่านั้นที่คอร์รัปชัน แต่เมืองไทย ใต้ดินกับบนดินมันยังซ้อนกันอยู่ มันเลยสามารถสร้างสถาปนาอำนาจโดยชอบธรรม และอยู่บนดินคู่กับนักการเมืองข้าราชการมาตลอด แต่ถ้าเมื่อไหร่เป็นประชาธิปไตยเต็มที่แล้ว ทุกคนมีส่วนร่วมตรวจสอบ ระบบเจ้าพ่อมันก็จะค่อยๆ หมดความหมายไปเอง
ถ้าวิวัฒนาการของเจ้าพ่อคือการกระโดดเข้าสู่เวทีการเมืองท้องถิ่นและการเมืองระดับชาติ เพื่อจะฟอกตัวเองหรือต้องการล้างมือในอ่างทองคำ ข้อสงสัยก็คือ คนเหล่านี้ยังต้องการอะไรอีก
อันนี้น่าสนใจ ถ้าเราถามนักธุรกิจที่เข้ามาเล่นการเมือง เขาก็จะบอกว่าพอแล้ว ไม่ต้องการแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมือง เขาต้องการให้คืนสู่สังคม วิธีการมองของเขากับเราอาจไม่เหมือนกัน ความทะเยอทะยานของคนพวกนี้อาจไม่ได้อยู่ที่การสะสมทุนอย่างเดียว แต่อยู่ที่อำนาจ เขาต้องการเข้ามาเป็นนักการเมืองเพราะนักการเมืองมีอำนาจ สามารถที่จะทำให้สังคมเป็นแบบนั้นแบบนี้ได้ เขาต้องการอยู่เบื้องหลังนักการเมือง เพราะสามารถสั่ง ส.ส. ให้ทำอย่างโน้นอย่างนี้ได้ คนที่เป็นเจ้าพ่อจึงมีลักษณะกระหายอำนาจ
ถ้าเราสร้างระบบไว้ดี คุณมีอำนาจก็มีไปสิ แต่คุณต้องมาจากความชอบธรรม ถ้าประชาชนเลือกคุณมา คุณมีอำนาจก็ไม่เป็นไร ประชาชนตรวจสอบได้ไหม นี่สำคัญกว่า
ระบอบประชาธิปไตย นอกจากจะสลายเจ้าพ่อแล้วจะสลายระบอบอุปถัมภ์ด้วยหรือไม่
ประชาธิปไตยจะมีได้ก็ต่อเมื่ออยู่บนเงื่อนไขที่คนเท่าเทียมกัน ทั้งทางเศรษฐกิจ การศึกษาศักดิ์ศรี พอคนมันเท่ากันระบบอุปถัมภ์ก็จะอ่อนไปเองโดยปริยาย แล้วถ้าคนเท่ากัน แต่ไม่มีประชาธิปไตย มันก็เป็นระบอบเผด็จการ มันก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะมีคนเสนอตัวเป็นนายหน้า เป็นโบรกเกอร์ทางการเมือง ก็เหมือนเจ้าพ่ออีกแบบหนึ่ง
สิ่งที่น่ากลัวกว่านั้นก็คือ ถ้าผู้นำเผด็จการวิวัฒนาการตัวเองเป็นโคตรเจ้าพ่อ จะเป็นอย่างไร
กลัวว่าเผด็จการจะเอาระบบอำมาตยาธิปไตยกลับมามากกว่า แล้วเราก็จะมีเจ้าพ่อแบบเดิมที่สถาปนาตัวเองแล้วมีอำนาจครอบคลุมพื้นที่กว้างขวาง
ในหนัง The Godfather เจ้าพ่อมีอำนาจเหมือนอำนาจรัฐ ให้สวัสดิการคุ้มครองดูแลตั้งแต่เกิดจนตาย แต่เป็นอำนาจรัฐแบบโบราณ คือไม่พอใจก็ฆ่าทิ้งได้ โทษฐานไม่จงรักภักดี ถ้าขัดแย้งหรือตั้งตัวเป็นใหญ่คุณก็ต้องตาย คุณต้องอยู่กับความจงรักภักดีควบคู่ไปกับความกลัวด้วย ถ้ารัฐไทยเป็นแบบนั้นเราก็จะเป็นรัฐแบบเจ้าพ่อ
หมายเหตุ: บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร WAY ฉบับที่ 79 |