ในเขตพื้นที่ห่างไกลติดขอบชายแดนไทย-พม่า คือที่ตั้งของโรงเรียนบ้านตะโกล่าง ตำบลสวนผึ้ง อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี นอกจากระยะทาง สิ่งอำนวยความสะดวกและความเจริญจะเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงการศึกษาของเด็กและเยาวชนที่นี่แล้ว ผลพวงจากวิกฤติโรคระบาด COVID-19 ยังซ้ำเติมให้การจัดการเรียนการสอนยากลำบากยิ่งขึ้นเป็นทวีคูณ
ด้วยอุปสรรคที่ต้องเผชิญอย่างชนิดที่ไม่มีใครได้ทันตั้งตัว ทำให้ผู้บริหาร คณะครู ผู้ปกครอง และชุมชนท้องถิ่น ได้มีการปรับตัวและหันมาร่วมมือกันฝ่าฟันหาทางออกจากสถานการณ์วิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน
หลังจากเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ปีการศึกษาใหม่นี้คงไม่อาจเปิดภาคเรียนได้ตามปกติ อีกทั้งมีนโยบายจากเบื้องบนสั่งการลงมาให้ทุกโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดให้มีการเรียนการสอนแบบออนไลน์หรือทีวีดาวเทียม แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าทุกโรงเรียนจะมีความพร้อมรองรับนโยบายนี้ได้เสมอไป ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าสังคมไทยยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่แทบทุกมิติ
“โรงเรียนของเราอยู่ติดชายแดนพม่า มีเด็กนักเรียนไทยสัก 20 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเป็นเด็กชาติพันธุ์ หลายคนไม่มีสถานะทางทะเบียน หลายคนขาดแคลนทุนทรัพย์ เราก็พยายามจัดให้มีการศึกษานอกระบบผสมผสานกับในระบบ อาศัยครูที่มีอยู่ไปช่วยสอนวันเสาร์อาทิตย์บ้างหรือในช่วงเย็นบ้าง ภายหลังเราจึงเปิดเป็นโรงเรียนขยายโอกาสจนถึง ม.3 ทำให้ตอนนี้มีเด็กเข้าถึงการศึกษาเพิ่มขึ้นจาก 400 คน เป็น 760 คน” เฉลียว เถื่อนเภา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านตะโกล่าง เล่าถึงสภาพภูมิหลังของโรงเรียนให้ฟัง
เมื่อเกิดสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 ทางโรงเรียนจึงต้องปฏิบัติตามแนวทางของกระทรวงศึกษาธิการ เริ่มจากส่งครูประจำชั้นไปเยี่ยมบ้านนักเรียนและสำรวจความพร้อมทั้งในเรื่องถนน ไฟฟ้า ทีวี จานรับสัญญาณดาวเทียม รวมถึงเครื่องมือสื่อสารต่างๆ
แผนปฏิบัติการขั้นถัดมา หลังแบ่งกลุ่มนักเรียนเป็นหย่อมบ้านแล้ว ทำอย่างไรจึงจะจัดหาครูไปประจำการ ณ จุดต่างๆ ได้อย่างทั่วถึง จุดนี้เองทำให้เกิดแนวคิดที่เรียกว่า ‘อสม.การศึกษา’
อสม. ในที่นี้คือ อาสาสมัครด้านการศึกษาหรือครูพี่เลี้ยง ไม่ว่าจะเป็นผู้นำชุมชน ผู้ปกครอง ไปจนถึงอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านที่จะช่วยดูแลด้านสุขอนามัยให้แก่เด็กๆ ที่สำคัญคือมีการเปิดรับบัณฑิตจบใหม่และศิษย์เก่าของโรงเรียนที่ต้องการทำงานช่วยเหลือชุมชนท้องถิ่น โดยมีค่าตอบแทนให้ตามความเหมาะสมภายใต้การสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) วิทยาเขตราชบุรี
ผอ.เฉลียว เล่าต่อว่า อาสาสมัครเหล่านี้เป็นกำลังสำคัญที่จะเข้ามาเป็นผู้ช่วยครูในการจัดการเรียนการสอนให้กับเด็ก แม้จะไม่มีพื้นฐานความรู้ในด้านครุศาสตร์โดยตรง แต่ก็สามารถเติมเต็มในจุดที่ครูไม่สามารถเข้าไปดูแลได้ทั่วถึง อย่างน้อยที่สุดต้องมีสัดส่วนครูหรืออาสาสมัคร 1 คน ต่อเด็ก 20 คน โดย มจธ.ราชบุรี จะมีการจัดฝึกอบรมเบื้องต้นให้กับเหล่าอาสาสมัครเพื่อให้พร้อมออกปฏิบัติหน้าที่
“แน่นอนว่ามาตรการที่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดคือ การล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ส่วนกิจกรรมการเรียนการสอนจะเน้นให้มีการแจกใบงานให้เด็กๆ โดยมีอาสาสมัครหรือครูพี่เลี้ยงช่วยสอน ช่วยตรวจการบ้าน และอาจจะมีกิจกรรมสันทนาการเสริมหลักสูตรบ้าง ซึ่งโมเดลนี้เป็นการแก้ไขปัญหาวิกฤติเฉพาะหน้า และยังอยู่ในขั้นทดลองว่าแนวทางนี้จะตอบโจทย์การศึกษาได้มากน้อยแค่ไหน ส่วนระยะต่อไปอาจต้องมีการเสริมในจุดที่ยังขาด ถ้าภายในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ยังไม่สามารถเปิดเรียนได้”
ผอ.เฉลียว มองว่าภารกิจครั้งนี้ดำเนินไปได้ด้วยดีเนื่องจากการร่วมแรงร่วมใจกันระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สถานีอนามัย มหาวิทยาลัย สำนักสงฆ์ โบสถ์คริสต์ ไปจนถึงคนในชุมชนเอง
จากนวัตกรรมที่เรียกว่า อสม.การศึกษา ได้มีการพัฒนาไปสู่ ‘ราชบุรีโมเดล’ ที่มีการนำร่องใน 4 โรงเรียนต้นแบบ และพร้อมจะขยายเครือข่ายการทำงานไปสู่พื้นที่ใกล้เคียง โดย ผอ.เฉลียว วางเป้าหมายไว้ว่าจะเป็นโมเดลการทำงานด้านการศึกษาเชิงรุกที่มีอาสาสมัครเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนต่อไป
“เราหวังว่าวิกฤติครั้งนี้จะนำไปสู่การถอดบทเรียนเพื่อนำมาปรับใช้ในภายภาคหน้าหากเกิดสถานการณ์ที่ไม่ปกติขึ้นอีก และหวังว่าแนวทางที่เราได้ทดลองทำกันมานี้จะเป็น New Normal ที่สามารถเป็นต้นแบบของการจัดการศึกษาในภาวะวิกฤติต่างๆ ได้”