อนาคตสถาบันกษัตริย์ญี่ปุ่นและข้อถกเถียงในการสืบราชสันตติวงศ์ของผู้หญิง

แม้ว่าราชวงศ์ญี่ปุ่นจะมีความมั่นคงสถาพร เคียงคู่ไปกับระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง แต่ก็ยังคงมีการถกเถียงในสังคมญี่ปุ่นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ว่าด้วยประเด็นปัญหาของจำนวนสมาชิกราชวงศ์ที่เหลือน้อยลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพราะอาจนำไปสู่วิกฤตการสืบราชย์สมบัติในอนาคตได้ 

ภายหลังจากการสละราชสมบัติของจักรพรรดิอากิฮิโตะ (Akihito, Emperor of Japan) และการสละฐานันดรของเจ้าหญิงมาโกะ (Mako, Princess Akishino) เพื่อแต่งงานกับสามัญชน ทำให้เกิดความพยายามในการแก้ไขกฎมณเฑียลบาลเพื่อเปิดทางให้สมาชิกราชวงศ์ผู้หญิงสามารถขึ้นครองราชย์ได้ ท่ามกลางการถกเถียงทางการเมืองระหว่างฝ่ายก้าวหน้าและฝ่ายอนุรักษนิยมที่ใช้กลไกระบบประชาธิปไตยในการพยายามแก้ไขปัญหา

จักรพรรดิอากิฮิโตะและจักรพรรดินีมิชิโกะประทับในสภาสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2553

ความเคลื่อนไหวที่อาจก่อให้เกิดวิกฤตสถาบันกษัตริย์ญี่ปุ่น

การสละฐานันดรของเจ้าหญิงมาโกะแห่งอะกิชิโนะ เพื่อสมรสกับโคมุระ เคอิ (Komura Kei) ชายสามัญชน ก่อนทั้งคู่จะตัดสินใจเดินทางไปใช้ชีวิตเยี่ยงสามัญชนในสหรัฐอเมริกาเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ก่อให้เกิดการจุดประเด็นคำถามของสาธารณชนอีกครั้งว่า ราชวงศ์ญี่ปุ่นนั้นอยู่ในสภาวะวิกฤตของการสืบราชสันตติวงศ์หรือไม่ เนื่องจากสมาชิกราชวงศ์ญี่ปุ่นส่วนมากเป็น ‘ผู้หญิง’ และตามกฎมณเฑียรบาลกำหนดให้ ‘ผู้ชาย’ เท่านั้นที่จะสืบราชสันตติวงศ์ต่อจากสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะ ทว่าสมาชิกราชวงศ์ชายในลำดับโปเจียมเหลืออยู่เพียงแค่ 3 องค์เท่านั้น คือ มกุฎราชกุมารอากิชิโนะ (Fumihito, Crown Prince Akishino) (พระอนุชา, พระชนมายุ 57 พรรษา) เจ้าชายฮิซาฮิโตะแห่งอากิชิโนะ (Prince Hisahito of Akishino) (พระโอรสในมกุฎราชกุมารอะกิชิโนะ, พระชนมายุ 16 พรรษา) และเจ้าชายมาซาฮิโตะ (Masahito, Prince Hitachi) (พระอนุชาในสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ และพระปิตุลาในสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะ, พระชนมายุ 87 พรรษา) นอกจากนี้ สมาชิกราชวงศ์ญี่ปุ่นส่วนใหญ่คือ ผู้หญิง ซึ่งล้วนสละฐานันดรเพื่อสมรสกับสามัญชน และในอนาคตอันใกล้คงหนีไม่พ้น เจ้าหญิงไอโกะ (Aiko, Princess Toshi) พระราชธิดาพระองค์เดียวในสมเด็จพระจักรพรรดินะรูฮิโตะ (Naruhito, Emperor of Japan) และสมเด็จพระจักรพรรดินีมาซาโกะ (Empress Masako) ซึ่งจะส่งผลให้สมาชิกราชวงศ์ญี่ปุ่นเหลือน้อยลงและอาจก่อให้เกิดการขาดแคลนผู้สืบสันตติวงศ์หากสมาชิกราชวงศ์ชายไม่สามารถให้กำเนิดพระโอรสได้

เจ้าหญิงไอโกะ (Aiko, Princess Toshi) พระราชธิดาพระองค์เดียวในสมเด็จพระจักรพรรดินะรูฮิโตะ (Naruhito, Emperor of Japan) และสมเด็จพระจักรพรรดินีมาซาโกะ (Empress Masako)

ด้วยปัญหาที่จะก่อให้เกิดวิกฤตการขาดแคลนผู้สืบราชสันตติวงศ์ในอนาคต ทางรัฐบาลญี่ปุ่นจึงมีความพยายามเปลี่ยนแปลงกฎมณเฑียรบาล เพื่อให้สมาชิกราชวงศ์ผู้หญิงสามารถขึ้นครองราชย์ได้ โดยการถกเถียงนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใดและเคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อเจ้าหญิงซายาโกะสละฐานันดรเพื่อสมรสกับชายสามัญชนเมื่อปี 2005 และภายหลังจากสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะทรงสละราชย์สมบัติ สำนักข่าวเกียวโดได้มีการทำโพลในญี่ปุ่นเกี่ยวกับการสืบราชสันตติวงศ์ โดย 81.9 เปอร์เซ็นต์ เห็นด้วยในการให้สมาชิกราชวงศ์ผู้หญิงสามารถสืบราชสันตติวงศ์ได้ และมีเพียง 13.5 เปอร์เซ็นต์ ไม่เห็นด้วย 

ข้อถกเถียงเรื่องการแก้กฎมณเฑียรบาลให้ผู้หญิงขึ้นครองราชย์ 

ตามกฎมณเฑียรบาลปี 1947 ระบุว่า มีเพียงผู้ชายเท่านั้นที่จะได้สืบราชสันตติวงศ์เป็นสมเด็จพระจักรพรรดิต่อไป ส่วนผู้หญิงหากสมรสกับสามัญชนจะต้องสละฐานันดรเท่านั้น ซึ่งแนวคิดนี้ได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายอนุรักษนิยมญี่ปุ่น และพรรคอนุรักษนิยมญี่ปุ่นที่ก่อนหน้านี้เคยพยายามคัดค้านความคิดการแก้ไขกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการขึ้นครองราชย์ของผู้หญิงมาตลอด เพราะต้องการสงวนธรรมเนียมการขึ้นครองราชย์โดยสมาชิกราชวงศ์ชายเพียงอย่างเดียว โดยขั้วตรงข้ามกับฝ่ายอนุรักษนิยมได้หยิบยกประวัติศาสตร์ 2,600 ปีขึ้นมาว่า เคยมีผู้หญิงขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดินีแล้วถึง 8 พระองค์ และองค์สุดท้ายคือ สมเด็จพระจักรพรรดินีโกะซากุระมาจิ (Empress Go-Sakuramachi) เมื่อ 250 ปีที่แล้ว

การสละฐานันดรของเจ้าหญิงอายาโกะ (Ayako, Princess Takamado) เพื่อสมรสกับสามัญชนในปี 2005 รัฐบาลพรรคเสรีนิยมประชาธิปไตย (Liberal Democratic Party: LDP) ได้ส่งรายงานไปยังนายจุนอิชิโระ โคอิซุมิ (Junichiro Koizumi) นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ถึงความกังวลใจในจำนวนของสมาชิกราชวงศ์ที่ลดลง ขณะเดียวกัน จำนวนสมาชิกราชวงศ์รุ่นใหม่ล้วนแต่เป็นผู้หญิง (เจ้าชายฮิสะฮิโตะประสูติในปี 2006) โดยได้มีการหยิบยกประเด็นการสืบราชสมบัติโดยผู้หญิงขึ้นมาด้วย อย่างไรก็ตาม ความคิดดังกล่าวได้ถูกปัดตกลงไปภายหลังการประสูติของเจ้าชายฮิสะฮิโตะแห่งอะกิชิโนะในปีต่อมา 

การถกเถียงในประเด็นที่ว่าสมาชิกราชวงศ์ผู้หญิงสามารถขึ้นครองราชย์ได้หรือไม่ กลับมาระอุอีกครั้งในปี 2016 เมื่อสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะมีพระราชประสงค์สละราชสมบัติ อันเนื่องมาจากพระพลานามัยไม่ดี กระแสความขาดแคลนสมาชิกพระราชวงศ์ก็เกิดขึ้นตามลำดับ ทำให้รัฐบาลของนายอาเบะ ชินโซ (Shinzo Abe) และสภาไดเอทแห่งชาติญี่ปุ่นต้องนำเรื่องการสละราชสมบัติเข้าสู่สภาเพื่อหาข้อสรุป 

ขณะเดียวกัน การสืบราชสันตติวงศ์โดยผู้หญิงก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ได้รับการพูดถึงจากการพิจารณาของสภาไดเอทด้วยเช่นกัน รัฐบาลของนายอาเบะระบุเพียงว่า จะทำการศึกษาอย่างละเอียดรอบคอบก่อน ในสมัยของนายซูงะ โยชิฮิเดะ (Suga Yoshihide) อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ทางโฆษกรัฐบาลก็ได้ออกมาระบุว่า จะทำการศึกษาเช่นเดียวกัน แต่ก็ไร้ความชัดเจนถึงประเด็นนี้อยู่

เมื่อนายคิชิดะ ฟูมิโอะ (Kishida Fumio) ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้มีการเปิดเผยรายงานของรัฐบาลต่อสภาไดเอท โดยชี้ว่ามีความเป็นไปได้ใน 2 กรณีสำหรับประเด็นการสืบราชสันตติวงศ์เพื่อรักษาจำนวนของสมาชิกราชวงศ์ญี่ปุ่นเอาไว้ นั่นคือ 1) อนุญาตให้สมาชิกราชวงศ์หญิงสามารถรักษาฐานันดรได้หลังจากการสมรสกับสามัญชน หรือ 2) รื้อฟื้นฐานันดรเดิมของฝ่ายชายสายต่างๆ ที่ได้ถูกยุบไปภายหลังสงครามโลกครั้ง 2 

จากความเป็นไปได้ในข้อที่ 1 นั้น ฝ่ายอนุรักษนิยมให้ความเห็นว่า ถ้าหากเป็นไปได้ให้เจ้าหญิงสามารถดำรงสถานะไว้ได้ เว้นแต่สามีและลูกที่ยังคงสถานะและหน้าที่เยี่ยงสามัญชนแทน

อนาคตการสืบราชสันตติวงศ์ของญี่ปุ่น

จากข้อเสนอความเป็นไปได้ของรัฐบาลคิชิดะที่มีต่อสภาไดเอท ความเป็นไปได้ที่ 1 อาจนำมาบังคับใช้ได้ในอนาคต หากเจ้าหญิงไอโกะทรงเสกสมรสกับสามัญชน และสามารถดำรงพระอิสริยยศในราชวงศ์ต่อไป เว้นแต่สามีและลูกของพระองค์ยังคงสถานะและหน้าที่เยี่ยงสามัญชน 

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการญี่ปุ่นหลายคนออกมาให้ความเห็นว่า ความเป็นไปได้นี้จะก่อให้เกิด ‘ครอบครัวผสม’ แทน เป็นเหมือนครอบครัวทั่วไปที่ไม่ใช่ ‘พระราชวงศ์’ หรือเท่ากับเป็นการเปิดทางให้เจ้าหญิงสามารถตั้งสายราชตระกูลขึ้นมา ซึ่งอาจเป็นวิธีการที่สุดโต่งกว่า (ในมุมมองแบบญี่ปุ่น) แต่อาจสร้างความมั่นคงให้แก่ระบบการสืบราชสันตติวงศ์ได้ และในไม่ช้าก็มีความเป็นไปได้สูงมากว่า เจ้าหญิงคาโกะแห่งอะกิชิโนะและเจ้าหญิงไอโกะจะสมรสกับสามัญชนในอนาคตอันใกล้ ซึ่งท้ายที่สุดอาจจะต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสภาไดเอทอย่างน้อยที่สุดคือ กรณีให้สมาชิกราชวงศ์ผู้หญิงดำรงสถานะในราชวงศ์ต่อไป หรือการแก้ไขกฎมณเฑียรบาลเพื่อเปิดทางให้ผู้หญิงขึ้นครองราชย์ในอนาคตก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม ระบบการสืบราชสันตติวงศ์และกฎมณเฑียรบาลของญี่ปุ่นมีความชัดเจน มีการเรียงลำดับโปเจียมที่ชัดเจน หากแต่ปัญหาหลักคือ การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ 

การเปิดทางให้สมาชิกราชวงศ์ผู้หญิงสามารถขึ้นครองราชย์ได้ หรืออย่างน้อยที่สุดให้ดำรงฐานันดรภายหลังการแต่งงานกับสามัญชน ล้วนขึ้นอยู่กับการต่อสู้ทางความคิดระหว่างฝ่ายก้าวหน้าและฝ่ายอนุรักษนิยมในการเมืองญี่ปุ่น แม้ว่าความคิดเห็นสาธารณะจะไปในทางตรงข้ามกับฝ่ายอนุรักษนิยม แต่สุดท้ายปลายทางย่อมสามารถนำไปสู่ผลลัพธ์แบบใดแบบหนึ่งได้ โดยอาศัยกลไกในระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็งของญี่ปุ่นเอง

Author

ณัฏฐชัย ตันติราพันธ์
อดีตผู้สื่อข่าวต่างประเทศ อดีต น.ศ. ป.โท ในประเทศอีเกียที่เรียนไม่จบ ผู้มีความหมกมุ่นหลายอย่าง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า