The Hunting Ground ชอบธรรมชำเรา

the Hunting Ground-1
เรื่อง: ณัฐกานต์ อมาตยกุล

 

ธงมหาวิทยาลัยชื่อดังหลายแห่งโบกสะบัด มันคือความภูมิใจของวัยอุดมศึกษา ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นสัญลักษณ์ของปัญญาชน นี่คือสิ่งที่ทำให้นักศึกษาและบรรดาศิษย์เก่าต้องยืดอก

แต่ในด้านหนึ่ง ที่นี่คือแหล่งอาหารอันโอชะ เหล่านักล่ามองเหยื่อการข่มขืนของพวกเขาด้วยสายตาหื่นกระหาย

…ก็จะมีสถานที่ใดที่มีหนุ่มสาววัยเจริญพันธุ์รวมตัวกันมากกว่าที่นี่ล่ะ!

The Hunting Ground เป็นภาพยนตร์สารคดีที่รุนหลังอดีตเหยื่อคดีข่มขืนให้ออกมายืนข้างหน้า ตบบ่าพวกเขา แล้วบอกว่า เล่าเลย เล่าอดีตอันขมขื่น อย่าอายกับความผิดที่เธอไม่ได้ก่อ เพราะเรื่องเล่าของพวกเธอจะช่วยป้องกันเหยื่อในอนาคตได้อีกมาก และอาจกู้คืนความยุติธรรมให้เหยื่ออีกหลายราย

แต่นั่นก็หมายความว่า …พวกเธอต้องทัดทานอำนาจที่ใหญ่กว่าเหล่านั้นได้

ภาพยนตร์ได้เลิกผ้าคลุมเตียงให้เราเห็นกันชัดๆ ว่า คดีข่มขืนในมหาวิทยาลัยไม่ได้เป็นเพียงแค่การขัดขืนของหญิงต่อพละกำลังของชาย แต่มันหมายถึงการทวงคืนสิทธิทางร่างกายขั้นพื้นฐานของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการข่มขืน (ไม่ว่าจะเพศไหน) จากระบบที่ไม่แยแสพวกเขาแม้แต่น้อย กระทั่งจากสถาบันใกล้ตัวที่สุดอย่างมหาวิทยาลัย

the Hunting Ground-4

คำถามหนึ่งผุดขึ้น

“หน้าที่หลักของอธิการบดีคืออะไร”

คงไม่น่าห่างไกลจากเรื่องวิชาการและสวัสดิภาพของนักศึกษา – ผู้ชมอาจคิด

แต่ไม่นาน เรากลับได้คำตอบที่น่าประหลาดใจตามมา

“การระดมทุนยังไงล่ะ!”

อีกครั้ง มันคือการต่อสู้ระหว่างคนที่โดนชำเราในที่ลับ แล้วยังโดนชำเราซ้ำจากสังคม สังคมที่มีอำนาจเงินทุนและเส้นสายมัดมือเท้าและปิดปากพวกเขาอยู่

หนึ่ง มหาวิทยาลัยต้องรักษาชื่อเสียงเพื่อให้คนอยากสมัครเข้าเรียน

สอง มหาวิทยาลัยต้องปกป้องสมาคมนักศึกษาต่างๆ ซึ่งแม้ว่าจะเป็นแหล่งชุมนุมของการข่มขืนชั้นดี แต่ก็เป็นแหล่งเงินทุนมหาศาลของมหาวิทยาลัย เช่น สมาคม ‘ซิกมาแอลฟาเอปซิลอน’ ที่นักศึกษาเรียกกันเล่นๆ ว่า Sexual Assault Expected (SAE)

สาม มหาวิทยาลัยต้องปกป้องนักกีฬาดาวเด่นทั้งฟุตบอลและบาสเกตบอล แม้ว่าพวกเขาจะไปเล่นอะไรพิเรนทร์นอกสนาม ก็ไม่มีใครอยากให้ใบแดงออกจากมหาวิทยาลัย เพราะกีฬานี่แหละคือธุรกิจทำเงินอีกอย่างหนึ่ง

ผลสุดท้าย แฟ้มรายงานการข่มขืนนั้นสะอาดสะอ้าน ไม่ใช่เพราะเรื่องเหล่านี้ไม่เคยเกิด แต่เพราะมหาวิทยาลัยไม่อนุญาตให้บันทึก!

the Hunting Ground-2re

เมื่อดูภาพยนตร์ ฟังเรื่องราวแต่ละราย เราได้แต่ตั้งคำถามว่า หากเป็นเรา เราจะทำอะไรได้บ้าง ทั้งในฐานะของเหยื่อ ในฐานะมหาวิทยาลัยที่ต้องรักษาชื่อเสียง ในฐานะอัยการที่ต้องตัดสินใจสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง ท่ามกลางแรงกดดันจากสังคม

หญิงสาวคนหนึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็น ‘กะหรี่’ จากเพื่อนนักศึกษาด้วยกัน เพราะพวกเธอเชื่อว่าคดีนี้เป็นแค่การใส่ความนักฟุตบอลดาวรุ่งเพื่อทำให้ตัวเองเด่นดัง

แน่นอนว่าคนข่มขืนนั้นผิด แต่เราอาจกระอักกระอ่วนเมื่อถามว่า ชื่อสถาบันดังอย่างฮาร์เวิร์ด เบิร์คลีย์ เยล ฯลฯ ต้องมาปะเปื้อนกลิ่นคาวนี้ไปด้วยหรือไม่ และพวกเขาควรรับผิดชอบแค่ไหน

เหล่านักศึกษาที่รณรงค์ประเด็นดังกล่าวในภาพยนตร์คงมีคำตอบและมีวิธีการต่อสู้ทางศาล โดยมีรัฐธรรมนูญเป็นคัมภีร์ของพวกเขา อย่างที่แอนเดรียบอกว่า “เด็กอายุ 20 จะสู้มหา’ลัย อายุ 200 ปีได้”

แต่กับเราที่เป็นผู้ชม เราไม่รู้เลยว่า หากการตัดสินของศาลไม่ออกมาอย่างหวัง ใครกันที่เราควรโกรธแค้น

อธิการบดี? มหาวิทยาลัย? อัยการ? ทีมฟุตบอล? เพศชายทั้งหมด?

แน่นอน เรายังสรุปไม่ได้จากภาพยนตร์

รับรู้เพียงว่า หลังจากผู้ข่มขืนลุกออกจากร่างกาย น้ำหนักที่พวกเขา-พวกเธอซึ่งเป็นเหยื่อต้องแบกรับต่อไปนั้นยังคงมหาศาล และทำให้ชีวิตของคนคนหนึ่งเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร้เหตุผล

“Why me?” เธอคนหนึ่งถามด้วยน้ำตา

เธออีกคนตอบคำถามนั้นด้วยการฆ่าตัวตาย

และนักศึกษากฎหมายอีกคนก็มองสถาบันทางกฎหมายชื่อดังที่เธอเรียนอยู่ด้วยสายตาที่ต่างออกไป

เพราะแม้แต่ความยุติธรรมใกล้ตัวเธอนั้น คณาจารย์ก็ยังไม่สามารถเป็นตัวอย่างที่ดีให้เธอได้เลย

 

 

Author

WAY

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า