มองอนาคตไต้หวัน ในวันที่ฮ่องกงสิ้นอิสรภาพ

ตั้งแต่มีคำขู่จากรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ว่า ทางจีนจะมีการนำร่างบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงฉบับใหม่มาประกาศใช้ภายในฮ่องกงเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ฝ่ายที่เป็นเดือดเป็นร้อนกับประเด็นดังกล่าวไม่น้อยไปกว่าชาวฮ่องกงผู้รักอิสระและเสรีภาพก็คือ ‘ไต้หวัน’

รัฐบาลพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ของประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน (Tsai Ing-wen) ถึงกับออกมาแถลงข่าวแสดงออกถึงการคัดค้าน และไม่เห็นด้วยต่อท่าทีอันลุแก่อำนาจของรัฐบาลจีนที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง นอกจากการออกแถลงการณ์คัดค้านจากทำเนียบรัฐบาลแล้ว ไช่ อิงเหวิน ยังออกมาเชิญชวนประชาชนชาวฮ่องกงที่รักในแนวคิดประชาธิปไตยให้พากันอพยพ ลี้ภัยมาอาศัยตั้งรกรากอยู่ในไต้หวันอย่างออกหน้าออกตาอยู่บ่อยครั้งอีกด้วย ซึ่งก็สร้างความไม่พอใจ และความรำคาญให้แก่ผู้บริหารระดับสูงภายในพรรคคอมมิวนิสต์ของจีนแผ่นดินใหญ่มากมาอย่างต่อเนื่อง

บวกกับที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง (Xi Jinping) ที่ไม่ถูกชะตากับ ไช่ อิงเหวิน เป็นทุนเดิมมาตั้งแต่ช่วงที่พรรค DPP สามารถเอาชนะการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2016 ได้อยู่แล้ว ตั้งแต่นั้นรัฐบาลจีนก็เลยหันมามีท่าทีที่รุนแรงต่อไต้หวันเป็นต้นมา มีทั้งการตัดช่องทางการสื่อสารหลักระหว่างรัฐบาลกับไต้หวัน และระดมกระพือกระแสข่าวให้ไต้หวันถูกมองว่าเป็น ‘ไอ้พวกกบฏแบ่งแยกดินแดน’ (separatists) อยู่เสมอๆ ผ่านหนังสือพิมพ์ Global Times และสำนักข่าว CGTN พร้อมกับพยายามกีดกันไม่ให้นักท่องเที่ยวของจีนเดินทางไปเที่ยวที่เกาะไต้หวัน อีกทั้งไม่นานมานี้จีนยังมักส่งเครื่องบินรบบินเฉียดเข้ามาในน่านฟ้าของไต้หวันเพื่อแสดงท่าทีข่มขู่ให้ไต้หวันลดพฤติกรรมที่แข็งกร้าวต่อรัฐบาลจีนลง

ความจริงของไต้หวันกับความฝันของจีน

ด้วยท่าทีอันแข็งกร้าวที่รัฐบาลไต้หวัน กับพรรค DPP มีต่อรัฐบาลจีนปัจจุบันนี้ จึงทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งในไต้หวันเริ่มสงสัยจนเกิดเป็นประเด็นบน Twitter ขึ้นมา ว่าถ้าหากรัฐบาลจีนกล้าที่จะเล่น กล้าที่จะกระทำการอันอุกอาจนำร่างบทบัญญัติที่รัฐบาลจีนเป็นฝ่ายเขียนขึ้นมาประกาศใช้ภายในฮ่องกง แล้วอนาคตของไต้หวันที่อยู่ไม่ห่างจากฮ่องกงจะเป็นอย่างไรต่อไป จะเป็นคิวต่อไปตามเกมยุทธศาสตร์ China Dream ของรัฐบาล สี จิ้นผิง ที่มักออกมาพูดถึงแผนการรวมชาติกับไต้หวันอยู่บ่อยๆ หรือไม่

เพราะสถานะทางด้านสิทธิ เสรีภาพ และความเป็นเอกเทศของฮ่องกง ที่ได้รับการประกันไว้โดยข้อตกลง Sino-British Joint Declaration ที่ จ้าว จื่อหยาง (Zhao Ziyang) และ มาร์กาเร็ต แธตเชอร์ (Margaret Thatcher) เคยเซ็นลงนามกันไว้ว่าจีนต้องให้การรับรองในหลักสิทธิและเสรีภาพภายในฮ่องกงจนกว่าจะถึงปี 2047 จีนยังไม่ทำตามข้อตกลงเลย นับประสาอะไรกับไต้หวัน

ประเด็นนี้จริงๆ แล้วต้องพิจารณาเปรียบเทียบกันภายในปัจจัยเฉพาะของทั้งฮ่องกงและไต้หวันก่อน ถึงแม้ว่าฮ่องกงและไต้หวันจะมีสัดส่วนประชากรที่นิยามตนเองว่าเป็นคนท้องถิ่น (ฮ่องกงและไต้หวัน) มากกว่าที่นิยามตนเองว่าเป็นคนประเภทเดียวกับจีนแผ่นดินใหญ่ในจำนวนมากขึ้นในช่วง 2-3 ปีมานี้ (หากวัดจากผลสำรวจ และแบบสอบถามที่สถาบันวิจัยแต่ละแห่งภายในไต้หวันได้เก็บรวบรวมข้อมูลมา) แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าสภาพเงื่อนไขตั้งต้นทางการเมืองของฮ่องกงและไต้หวันนั้นค่อนข้างแตกต่างกันพอสมควร ซึ่งสามารถอภิปรายออกมาให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นตามข้อความดังต่อไปนี้

ที่ฮ่องกงเวลาที่จะมีการเลือกตั้ง ผู้นำรัฐบาลอย่างตำแหน่งของ แคร์รี แลม (Carrie Lam) จะใช้วิธีและระบบการเลือกตั้งที่ไม่อนุญาตให้ประชาชนภายในฮ่องกงจำนวนมากกว่า 7,000,000 คน สามารถเข้ามาลงคะแนนเลือกผู้นำของตนเองได้โดยตรง แต่จะใช้ระบบตัวแทนเป็นกลไกหลักคือให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (election committee) จำนวน 1,200 คนเป็นผู้เลือกผู้นำรัฐบาลแทนประชาชนในทางอ้อม ซึ่งคนกลุ่มนั้นส่วนใหญ่ก็จะเป็นนักธุรกิจหรือคนที่ทำมาหากินอยู่ภายในอุตสาหกรรมที่มีสายสัมพันธ์ที่ดีต่อรัฐบาลจีนทั้งสิ้น กติกาลักษณะนี้ไม่ได้ถูกใช้แค่ในปริมณฑลของการเลือกผู้นำรัฐบาลเท่านั้น แต่ยังมีการนำกติกาที่คล้ายๆ กันนี้มาปรับใช้กับการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติที่จงใจจำกัดขอบเขตการใช้สิทธิของชาวฮ่องกงอีกด้วย การเลือกตั้งภายในฮ่องกงจึงถูกวิพากษ์วิจารณ์จากผู้สังเกตการณ์อยู่บ่อยครั้งว่าเป็นระบบการเลือกตั้งที่ขาดความยุติธรรม ขาดความเป็นกลาง ไม่ได้ให้เสรีภาพแก่ประชาชนในการเลือกผู้นำ/ผู้แทนของตนเองอย่างจริงจัง

ความต่างระหว่างไต้หวันและฮ่องกง

ผิดกับไต้หวันที่ประชาชนสามารถเข้าคูหาไปเลือกตั้งประธานาธิบดีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกลุ่มที่ตนเองต้องการได้โดยตรง โดยไม่ต้องรอการอนุมัติจากรัฐบาลจีน ไม่ต้องมีกลไกการเลือกตั้งที่ซับซ้อน และที่สำคัญคือไม่ต้องเกรงใจทางจีนแผ่นดินใหญ่ด้วยว่าใครจะขึ้นมาเป็นผู้นำรัฐบาล กลไกและระบบการเลือกตั้งของไต้หวันนั้นจึงถือว่าค่อนข้างเปิดกว้าง ไม่ว่าพรรคไหนอุดมการณ์แบบใดก็สามารถประกาศตัวเข้ามาในสนามการเลือกตั้งได้อย่างอิสระหากไม่ผิดกฎการเลือกตั้ง แม้แต่พรรคที่มีอุดมการณ์สุดโต่งอย่างพรรค New Power Party และ State-building Party ก็สามารถเข้าร่วมเล่นเกมการเมืองภายในไต้หวันได้ อาจเรียกได้ว่าอำนาจการเลือกผู้นำอยู่ในมือของประชาชนจริงๆ ดังจะเห็นได้จากประวัติศาสตร์การเลือกตั้งประธานาธิบดีของไต้หวันในช่วง 20 ปีที่ผ่านมานี้ว่ายังไม่มีพรรคการเมืองใดที่สามารถชนะเลือกตั้งติดต่อกันได้เกิน 2 ครั้งเลย แต่จะผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะอยู่ตลอด ทั้งพรรค DPP และพรรคก๊กมินตั๋ง (KMT) ทำนองเดียวกับพรรคคู่ปรับในสหรัฐอเมริการะหว่าง Democrat และ Republican

ในเรื่องการคานอำนาจระหว่างขั้วอำนาจต่างๆ ของการเมืองภายในประเทศก็เช่นเดียวกัน รัฐธรรมนูญของฮ่องกง (Basic Law) นั้นได้เปิดช่องทางให้รัฐสภา (National People’s Congress) ของจีนแผ่นดินใหญ่สามารถเข้ามาทำการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมของฮ่องกงได้อย่างอิสระผ่านการตีความตามเจตจำนงของรัฐบาลจีน หากคำวินิจฉัยของศาลสูงภายในฮ่องกงบังเอิญไปขัดหรือฝืนกับแนวทางที่รัฐบาลจีนตั้งเอาไว้ คำวินิจฉัยเหล่านั้นก็อาจจะถูกตีตกโดยรัฐสภาของจีนได้ เหมือนอย่างกรณีข้อพิพาทระหว่างศาลและรัฐบาลฮ่องกงในปี 2019 ที่รัฐบาลของ แคร์รี แลม พยายามจะออกกฎสั่งห้ามผู้ชุมนุมใส่หน้ากากเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ชุมนุมปิดบังตัวตนของตนเองระหว่างเคลื่อนไหวทางการเมือง ทำให้ศาลสูงของฮ่องกงได้เข้ามาขัดขวางโดยตีความออกมาว่ามาตรการดังกล่าวของรัฐบาลแคร์รี แลม นั้นขัดกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ไม่นานหลังจากนั้นรัฐบาลจีนก็ออกมาบอกปัดคำวินิจฉัยของศาลสูงฮ่องกงให้ตกไป

สิ่งเหล่านี้ถ้าย้อนกลับมาดูที่กรณีของไต้หวันนั้นจะพบว่าแม้ในหลายๆ ครั้ง รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรของไต้หวันจะถูกควบคุมโดยพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว อย่างในปัจจุบันนี้ทั้งรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรก็ถูกบริหารเป็นเสียงข้างมากโดยพรรค DPP เป็นหลัก แต่ในเรื่องการคานอำนาจกับรัฐบาลนั้น ฝั่งศาลสูง หรือศาลรัฐธรรมนูญภายในไต้หวันถือว่าปฏิบัติหน้าที่และคานอำนาจกับฝ่ายรัฐบาลได้เป็นอย่างดี

หนึ่งในตัวอย่างเหตุการณ์สำคัญครั้งล่าสุดที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ถูกดึงเข้ามาเพื่อคานอำนาจในกระบวนการการกำหนดนโยบายของประเทศก็คือ กรณีการเรียกร้องให้เกิดการแก้ไขกฎหมายการสมรสของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTiQ) ที่ถูกยื้อจนค้างอยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมาธิการรัฐสภาไต้หวันอยู่นานกว่า 3-4 ปีในช่วงรัฐบาลของ หม่า อิงจิ่ว (Ma Ying-jeou) พรรค KMT ทำให้ฝ่ายที่สนับสนุนการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวนั้นต้องทำเอกสารยื่นเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความประเด็นดังกล่าวว่าเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ตีความไปในทิศทางเดียวกับผู้ที่สนับสนุน แล้วประกาศคำสั่งศาลให้รัฐสภารีบทำการปรับแก้กฎหมายดังกล่าวอย่างด่วนที่สุดภายใน 2 ปี จนนำมาสู่ความสำเร็จในการปรับแก้กฎหมายเมื่อปี 2019

ความเป็นตัวของตัวเองทางการเมืองของไต้หวัน

อีกเรื่องหนึ่งที่ควรนำมาเป็นข้อสังเกตก็คือ กรณีที่รัฐบาลจีนนั้นเข้ามากระทำการปรับแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญของฮ่องกงโดยพลการในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ท่าทีของฝ่ายบริหารและรัฐบาลฮ่องกง โดยเฉพาะ แคร์รี แลม นั้นไม่เคยได้แสดงออกถึงความห่วงใยประชาชนชาวฮ่องกงเลยแม้แต่ครั้งเดียว ไม่เคยแม้แต่จะแสดงท่าทีคัดค้านข้อเสนอและการดำเนินการของรัฐบาลจีน ขนาดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมารัฐบาลจีนนำกองกำลังของหน่วยข่าวกรอง และหน่วยงานด้านความมั่นคงเข้ามาตั้งฐานที่มั่น (Office for Safeguarding National Security) ภายในฮ่องกง ณ บริเวณอ่าวคอสเวย์ มิหนำซ้ำภายในวันเปิดฐานที่มั่นใหม่ของรัฐบาลจีนภายในฮ่องกงแห่งนั้น แคร์รี แลม ยังเดินทางมาเป็นแขกรับเชิญร่วมงานเปิดตัวฐานได้หน้าตาเฉยอีกด้วย เรียกได้ว่าแลมนั้นมีท่าทีที่อยู่ฝั่งเดียวกับจีนแผ่นดินใหญ่มากกว่าจะเป็นฝั่งเดียวกับประชาชนชาวฮ่องกงก็คงจะไม่ผิดไปจากความเป็นจริงนัก

ในขณะที่ไต้หวันนั้น ทันทีที่มีการประกาศว่าจีนจะแทรกแซงเข้าไปปรับแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญของฮ่องกง สส. และนักการเมืองทั้งที่สังกัดพรรคฝ่ายรัฐบาลอย่าง DPP และพรรคฝ่ายค้านอย่าง KMT ต่างก็ตบเท้าพากันออกมาคัดค้านการเดินหมากดังกล่าวของรัฐบาลจีนอย่างตรงไปตรงมาทั้งสองพรรค แม้ว่าพรรค KMT จะขึ้นชื่อว่าเป็นพรรคที่มีความเป็นอนุรักษนิยม และเอนเอียงไปทางจีนแผ่นดินใหญ่ค่อนข้างสูง แต่พรรค KMT ก็แสดงออกมาอย่างชัดเจนพร้อมๆ กับพรรค DPP ว่าไม่เห็นด้วยหากจีนจะใช้อำนาจเข้าไปแทรกแซงการเมืองภายในของฮ่องกง แล้วลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนภายในฮ่องกงผ่านการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ และได้ออกปากเตือนรัฐบาลจีนว่าการกระทำของจีนในครั้งนี้อาจส่งผลกระทบมาถึงความสัมพันธ์ระหว่างจีนและไต้หวันภายในอนาคตได้ โดยสาเหตุสำคัญที่พรรค KMT แสดงท่าทีออกมาเช่นนั้นเป็นเพราะทางพรรคเองก็ไม่ได้เห็นด้วยกับแนวคิด 1 ประเทศ 2 ระบบที่จีนกำลังใช้กับฮ่องกงอยู่เหมือนกัน

ในทางตรงกันข้าม สิ่งที่พรรคที่มีนโยบายเอนเอียงไปทางจีนอย่าง KMT นั้นยึดถือและยืนยันคือ หลักการ ‘1992 Consensus’ ซึ่งนับว่าแตกต่างจาก 1 ประเทศ 2 ระบบเป็นอย่างมาก แนวคิด 1 ประเทศ 2 ระบบที่จีนใช้กับฮ่องกงอยู่ทุกวันนี้นั้นหมายถึง คนฮ่องกงยอมรับไปโดยนัยโดยทั่วกันมาตั้งแต่อังกฤษส่งคืนเกาะให้แก่จีนเมื่อ 20 กว่าปีก่อนแล้วว่าฮ่องกงเป็นส่วนหนึ่งของจีนแผ่นดินใหญ่ และมีรัฐธรรมนูญที่ถูกเขียนขึ้นมาโดยให้สิทธิขาดแก่จีนแผ่นดินใหญ่ในการเข้ามาแทรกแซงจัดการ

รวมชาติกับจีนหรือยืนยันอัตลักษณ์ความเป็นไต้หวัน

แต่แนวคิดเรื่อง 1992 Consensus ของไต้หวันนั้นหมายถึงการยืนยันเรื่องนโยบายจีนเดียว ยอมรับว่าประเทศที่ชื่อ ‘จีน’ นั้นมีเพียงประเทศเดียว ไม่มีการแบ่งแยกระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่และสาธารณรัฐจีน แต่ทางฝั่งไต้หวัน (เฉพาะพรรค KMT) จะไม่มีการยอมรับว่าไต้หวันเป็นของจีน และจะขอตีความในแบบฉบับของไต้หวันเองว่า ‘จีนเดียว’ ในที่นี้คือจีนที่มีไต้หวันเป็นจีนหลัก ไม่ใช่จีนคอมมิวนิสต์ ซึ่งก็เป็นวิธีเล่นกับภาษารูปแบบหนึ่งในเกมของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ระหว่างไต้หวันและจีนแผ่นดินใหญ่

จะเห็นได้ว่าในพื้นฐานของแนวคิดเกี่ยวกับสถานะความเป็นรัฐของไต้หวันนั้น แม้พรรค DPP และ KMT จะแตกต่างกัน KMT อาจจะมีความเชื่อในแนวคิดการรวมชาติกับจีน หรือ แนวคิดอื่นที่ใกล้เคียงกับนโยบาย 1992 Consensus ส่วนพรรค DPP นั้นเชื่อในเรื่องอัตลักษณ์ไต้หวัน และความเป็นรัฐของไต้หวัน แต่สิ่งหนึ่งที่ทั้งสองพรรคนั้นมีมุมมองที่คล้ายกันและตั้งอยู่บนฐานเดียวกันมาตลอด คือ ไต้หวันมีความชอบธรรมในฐานะที่เป็นรัฐรัฐหนึ่ง ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของจีนแบบฮ่องกง และไม่มีส่วนใดของไต้หวันที่จะใกล้เคียงกับคำว่า ‘1 ประเทศ 2 ระบบ’

และทั้งหมดที่กล่าวอภิปรายเปรียบเทียบมาไว้ข้างต้นนี้ คือ ปัจจัยภายในชุดสำคัญที่ทำให้ไต้หวันแตกต่างจากฮ่องกง และในขณะเดียวกันก็เป็นเงื่อนไขหลักที่ทำให้มุมมองของจีนที่มีต่อฮ่องกงจะใช้กับไต้หวันไม่ได้ เพราะสภาพเงื่อนไขพื้นฐานของฮ่องกงที่ถูกตั้งไว้แต่แรกคือ ฮ่องกงไม่ใช่รัฐ ไม่มีสถานะในระดับระหว่างประเทศ เป็นของจีนมาตลอด แต่ไต้หวันอย่างน้อยๆ ในปัจจุบันนี้ก็ยังมีสถานะเป็นรัฐ อันมีประเทศที่ให้การรับรองสถานะของไต้หวันทั้งหมด 15 ประเทศ ในทางปฏิบัติแล้วมันเลยสร้างความชอบธรรมให้แก่จีนในการเข้ามารวบอำนาจภายในฮ่องกงได้ง่ายกว่าไต้หวันมาก

อธิปไตยของไต้หวัน มือของสหรัฐ และการร้องเพลงรอของจีน

อีกอย่างหนึ่งคือ ไต้หวันนั้นมีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์กับสหรัฐอเมริกาสูงมากกว่าฮ่องกงเยอะ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณากับปัจจัยทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ไต้หวันนั้นมีสถานะเป็นเหมือนหมุดปักปันเขตอิทธิพลที่สหรัฐอเมริกาได้ขีดเอาไว้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ก็จะเห็นได้ว่าไต้หวัน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นนั้นเป็นประตูบานเดียวของจีนแผ่นดินใหญ่ ถ้าหากจีนต้องการจะแผ่ขยายอิทธิพลของตนเองออกมาทางทะเลจีนตะวันออก ไต้หวันจึงค่อนข้างมีบทบาทนำในยุทธศาสตร์การปิดล้อมจีนของสหรัฐอเมริการ่วมกับประเทศพันธมิตรแห่งอื่นๆ ในภูมิภาค จนนักยุทธศาสตร์ภายในทำเนียบขาวหลายๆ คนมักเรียกไต้หวันและญี่ปุ่นว่า ‘เรือบรรทุกเครื่องบินที่ไม่มีวันจม’ (unsinkable aircraft-carriers) ของสหรัฐอเมริกา และนั่นก็ทำให้ไต้หวันได้รับความสนใจ ความสนับสนุนจากทำเนียบขาวและสภาคองเกรสมากกว่าฮ่องกง กฎหมายที่สภาคองเกรสพยายามบัญญัติออกมาเพื่อยกระดับสถานะของความสัมพันธ์อเมริกา-ไต้หวันนั้นก็เป็นตัวชี้วัดที่ดีกับประเด็นนี้

ถ้าพิจารณาจากจุดที่ฮ่องกงถูกข่มขู่ ถูกแทรกแซงจากรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่นั้นจะเห็นว่าสิ่งที่สภาคองเกรสของสหรัฐอเมริกามักจะงัดมาใช้เป็นมาตรการตอบโต้ ส่วนใหญ่มักจะเป็นมาตรการแบบเล็กๆ น้อยๆ เช่น มาตรการการกดดันอายัดทรัพย์สินหรือยกเลิกวีซ่าของเจ้าหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์บางกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมลุแก่อำนาจของจีนต่อคนฮ่องกง (ที่เป้าหมายโดยมากก็มักจะไม่ใช่กลุ่มที่มีอำนาจนำในคณะกรรมาธิการโปลิตบูโร) การสั่งลงโทษธนาคารกลุ่มที่ทำธุรกรรมกับเจ้าหน้าที่กลุ่มดังกล่าวเท่านั้น ไปจนถึงการสั่งเลิกขายอาวุธปราบปรามจลาจล ดังจะเห็นได้จากกฎหมาย 3 ฉบับล่าสุดที่เพิ่งผ่านสภาคองเกรสในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา 1 ฉบับ คือ Hong Kong Autonomy Act และของปี 2019 อีก 2 ฉบับ คือ Hong Kong Human Rights and Democracy Act และ S.2710 ที่เมื่อมองจากมุมของรัฐบาลจีนแล้วก็ไม่ใช่มาตรการที่จีนจำเป็นจะต้องมีความกังวล หรือยำเกรงอะไรนัก เพราะเจ้าหน้าที่หลายๆ คนในพรรคคอมมิวนิสต์ของจีนก็ไม่ได้มีทรัพย์สิน หรือที่อยู่อาศัยภายในสหรัฐอเมริกาให้ต้องกลัวว่าจะโดนกระทรวงการคลังของอเมริกาสั่งอายัดอยู่ดี

แต่สำหรับไต้หวันนั้น สหรัฐอเมริกามีกลไกทางกฎหมายที่ขีดเส้นกั้นเตือนจีนเอาไว้ค่อนข้างชัดเจน ว่าไม่ควรเข้ามายุ่งกับความเป็นอิสระและอำนาจอธิปไตยของไต้หวัน ตามกฎหมาย Taiwan Relations Act และ Asia Reassurance Initiative Act นั้นถึงไต้หวันจะไม่ได้รับการยอมรับจากสหรัฐอเมริกาให้มีสถานะเป็นรัฐก็ตาม แต่กฎหมายฉบับดังกล่าวก็รับประกันเอาไว้ว่าสหรัฐอเมริกามีหน้าที่ที่จะต้องให้ความช่วยเหลือ และการสนับสนุนทางการทหารแก่ไต้หวันเท่าที่จำเป็น (โดยมากมักเป็นการช่วยเติมคลังแสงอาวุธสงครามให้แก่กองทัพไต้หวัน) เพื่อให้ไต้หวันมีขีดความสามารถในการป้องกันตัวเองอย่างเพียงพอ

นอกจากนี้สหรัฐอเมริกายังได้มีการออกกฎหมายฉบับล่าสุดอย่าง Taiwan Allies International Protection and Enhancement Initiative Act (TAIPEI Act) เพื่อนำมาใช้เป็นกลไกในการผลักดันให้ไต้หวันมีสถานะบนเวทีการทูตและการเมืองระหว่างประเทศร่วมเคียงข้างกับสหรัฐอเมริกามากขึ้น

กล่าวอย่างพื้นฐานที่สุด ในเชิงเปรียบเทียบนั้นไต้หวันมีสภาพเงื่อนไขที่บ่งบอกถึงความเป็นอธิปไตย และความเป็นรัฐที่เพียบพร้อมมากกว่าฮ่องกงสูง ไต้หวันได้รับการคุ้มครองจากทั้งรัฐบาล และทั้งสภาคองเกรสของสหรัฐอเมริกา การที่จีนจะใช้อำนาจทางการทหาร หรืออำนาจทางการเมืองแหย่เข้ามาภายในไต้หวันนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ในทัศนะทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา และจะเปิดโอกาสให้ฝั่งของรัฐบาลสหรัฐอเมริกานั้นตีความได้ว่าจีนกำลังพยายามคิดจะทำการเปลี่ยนแปลงสถานะของไต้หวัน สหรัฐอเมริกาก็ย่อมมีสิทธิที่จะอ้างเรื่องการเข้ามาแทรกแซงประเด็นข้อพิพาทระหว่างจีนกับไต้หวันได้ในทุกเมื่อ เนื่องจากสหรัฐอเมริกานั้นมีพันธสัญญาแบบหลวมๆ กับทางไต้หวันผ่านกฎหมายจำพวก Taiwan Relations Act และ Asia Reassurance Initiative Act ว่าจะต้องไม่ทอดทิ้งไต้หวัน หากไต้หวันตกอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกจีนแผ่นดินใหญ่คุกคาม

ฉะนั้นความเป็นไปได้ที่ไต้หวันจะโดนแบบฮ่องกง หรือถูกกระทำแบบฮ่องกงจึงออกจะดูเกินความเป็นจริงไปสักเล็กน้อยหากพิจารณาเอาจากประเด็นเรื่องสภาพเงื่อนไขและปัจจัยที่แตกต่างกันระหว่างไต้หวัน และฮ่องกง แค่ไต้หวันถูกจีนนำเครื่องบินรบ หรือเครื่องบินทิ้งระเบิดของจีนบินเฉียดมายังแถบๆ บริเวณน่านฟ้าของไต้หวันนิดเดียว เรือรบของกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาก็พร้อมที่จะแล่นมาขู่จีนที่ช่องแคบไต้หวันโดยการอ้างถึงหลักการ Freedom of Navigation Operation (FONOP) เพื่อยุแหย่ฝ่ายความมั่นคงและกองทัพของรัฐบาลจีนแล้ว อาจกล่าวได้ว่าระดับของความเข้มข้นในการกดดัน และการขีดเส้นแบ่งเขตอิทธิพลระหว่างกันเหนือบริเวณเกาะไต้หวันที่สหรัฐอเมริกาทำไว้นั้นค่อนข้างจัดว่ารัดกุมมากพอสมควร

มากพอที่จะคอยการันตีและเป็นเครื่องหมายเตือนรัฐบาลจีนว่าไม่ควรคิดกระทำการอันอุกอาจแล้วเปิดฉากรวบอำนาจภายในไต้หวันแบบที่ทำในฮ่องกง มิพักจะต้องกล่าวถึงปัจจัยด้านการเมืองภายในที่แต่ละสถาบันของอำนาจในไต้หวันนั้นสามารถทำหน้าที่คานกันได้อย่างอิสระจนแทบไม่เหลือช่องให้จีนสามารถแทรกตัวเข้าไปปั่นจากภายในได้เลย หากจีนยังมีเป้าหมายที่จะเข้ามารวบอำนาจบนเกาะไต้หวันนั้น คงจะต้องรอจนกว่าสหรัฐอเมริกาจะสิ้นสถานะของการเป็นมหาอำนาจโลก หรือไม่ก็ต้องเป็นวันที่ประชาชนชาวไต้หวันนึกเปลี่ยนใจอยากจะกลับไปเป็นประชาชนของจีนแผ่นดินใหญ่กระมัง

Author

ปรีชภักดิ์ ทีคาสุข
อดีตนักวิจัยฝึกหัดจากสถาบัน Richardson ประเทศอังกฤษ สนใจในประเด็นทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ กับยุทธศาสตร์ทางด้านการทูตของจีน และไต้หวัน รวมถึงประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายต่างประเทศ มีประสบการณ์ทางด้านมานุษยวิทยาเล็กน้อย ปัจจุบันกำลังศึกษาประเด็นเกี่ยวกับโรฮิงญา และความเป็นไปทางภูมิรัฐศาสตร์ของการเมืองโลก

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า