ในวาระฉลองครบรอบ 200 ปีของการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศนอร์เวย์ในปี 2014 สองศิลปินชาวนอร์เวย์ตัดสินใจสร้างผลงานเลียนแบบ ‘สวนสัตว์มนุษย์’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการที่เกิดขึ้นในงาน ‘1914 Jubilee Exhibition’ โอกาสเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญของนอร์เวย์เมื่อ 100 ปีก่อน เพื่อเป็นการรำลึกและสร้างความตระหนักถึงประเด็นการเหยียดสีผิว ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมของการนำนิทรรศการนี้กลับมาอีกครั้ง ถึงแม้จะเป็นรูปแบบจำลองก็ตาม
สวนสัตว์มนุษย์ที่สร้างขึ้นเมื่อหนึ่งร้อยปีก่อนเป็นการจำลองสภาพชีวิตของชนพื้นเมืองผิวดำในแอฟริกาภายใต้ชื่อนิทรรศการ ‘The Congo Village’ หรือ ‘Kongolandsbyen’ เป็นส่วนหนึ่งของมหกรรม Jubilee Exhibition ที่จัดขึ้นในสวนสาธารณะฟรอกเนอร์ กลางกรุงออสโล เมืองหลวงของนอร์เวย์
นิทรรศการดังกล่าวถูกสร้างขึ้นเพื่อให้ชาวนอร์เวย์ได้เห็นความสำคัญของการล่าอาณานิคมเพื่อปกครองคนผิวสีในแอฟริกา เนื่องจากในสวนสัตว์มนุษย์แห่งนี้เป็นการจำลองวิถีชีวิตของคนผิวสีทั้งวิถีชีวิตและสภาพความเป็นอยู่ที่ทำให้ชาวนอร์เวย์รู้สึกถึงความไร้อารยธรรมของคนผิวสี และสร้างความรู้สึกถึงความชอบธรรมในการเข้าไปปกครองผู้คนในภูมิภาคนี้
ตลอดระยะเวลากว่าสี่เดือนของการจัดแสดงนิทรรศการ ชาวนอร์เวย์กว่า 1.4 ล้านคน หรือประมาณครึ่งหนึ่งของประชากรในขณะนั้นได้เข้ามาซื้อบัตรเข้าชมหมู่บ้านคองโกแห่งนี้ สื่อในประเทศหลายสำนักให้ความเห็นว่านิทรรศการดังกล่าวสร้างความบันเทิงและความสนุกสนานให้แก่ผู้เข้าชม0ได้เป็นอย่างมาก ในขณะที่สื่อบางแห่งกล่าวว่า ‘น่ายินดีมากที่พวกเราเกิดเป็นคนผิวขาว!’
หนึ่งศตวรรษต่อมา โมฮัมเหม็ด อาลี ฟัดดาบี และ ลาร์ส คัซเนอร์ สองศิลปินชาวนอร์เวย์ตัดสินใจที่จะสร้างสวนสัตว์มนุษย์แห่งนี้ขึ้นมาอีกครั้งในสถานที่เดิมและเลียนแบบทุกอย่างจากครั้งที่แล้ว โดยได้รับความร่วมมือจากอาสาสมัครทั่วโลกในการใช้ชีวิตเป็นชนพื้นเมืองในหมู่บ้าน นิทรรศการในครั้งนี้ใช้ชื่อว่า ‘European Attraction Limited’ ซึ่งเปิดให้คนทั่วไปเข้าชมตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา และจะจัดแสดงไปจนถึงปลายเดือนสิงหาคมนี้
ทั้งสองบอกถึงสาเหตุของการนำนิทรรศการนี้กลับมาจัดแสดงใหม่อีกครั้งว่า ภาพของความมีมนุษยธรรมและส่งเสริมความเท่าเทียมกันของสังคมนอร์เวย์เป็นเพียงการสร้างภาพลักษณ์เพื่อให้ก้าวเข้าสู่เวทีโลกอย่างสง่าผ่าเผยในฐานะของชาติที่เป็นผู้นำในความก้าวหน้าทางความคิดและเปิดกว้างในความแตกต่าง ทว่ากลับหลงลืมประวัติศาสตร์ของประเทศตนเองที่เคยมีการกระทำที่ทั้งเหยียดชาติพันธุ์และสีผิวเช่นนี้มาก่อน ที่สำคัญเรื่องราวของสวนสัตว์มนุษย์แห่งนี้ถูกบอกเล่าในแบบเรียนอย่างผิวเผินและหายไปจากความทรงจำที่มีร่วมกันของชาวนอร์เวย์
ทั้งคู่หวังว่าการนำมันกลับมาให้ผู้คนได้เห็นอีกครั้งจะทำให้เกิดการพูดคุยและถกเถียงถึงปัญหาเรื่องความเท่าเทียมและการเหยียดสีผิว รวมไปถึงปัญหาจากการล่าอาณานิคมในอดีตให้เกิดขึ้นในสังคมนอร์เวย์มากยิ่งขึ้น และอาจทำให้ชาวนอร์เวย์ได้ตระหนักและเรียกความทรงจำในอดีตให้กลับคืนมา
อย่างไรก็ตาม แม้จะชัดเจนในเจตนาที่ดีของทั้งคู่ แต่เสียงคัดค้านและวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมของนิทรรศการชิ้นนี้ก็ยังเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง หลายฝ่ายกล่าวว่าการนำนิทรรศการนี้กลับมาอีกครั้งอาจไม่ช่วยให้เกิดการพูดคุยและถกเถียงกันได้ เนื่องจากสังคมปัจจุบันยังไม่ได้ก้าวพ้นไปจากการเหยียดสีผิวอย่างแท้จริง รวมถึงยังวิพากษ์การให้เงินทุนสนับสนุนจากภาครัฐในการจัดนิทรรศการนี้ว่าแทนที่รัฐจะแก้ปัญหาด้วยการให้ความรู้เรื่องการเหยียดชาติพันธุ์ในวิธีอื่นๆ ที่ดีกว่า กลับหันไปสนับสนุนการจัดงานศิลปะที่ตอกย้ำความเหนือกว่าของคนผิวขาวและตอกย้ำภาพความไร้อารยะของคนผิวสีให้ชัดเจนมากกว่าเดิม
*********************************************
(ที่มา: salon.com)