เมื่อเช้าวันที่ 7 มีนาคม ที่ผ่านมา สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร ปรากฎตัวต่อสาธารณะด้วยชุดฉลองพระองค์สีส้มสดใส ณ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ เพื่อทำการเปิดอาคาร Smith Centre ไม่ใช่เพียงฉลองพระองค์สีส้มแปร๊ดของพระองค์ที่ทรงเป็นที่ฮือฮาในหมู่ปวงประชาชาวเกาะบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือแล้ว แต่สมเด็จฯยังทรง ‘โพสต์ไอจี’ ด้วยพระองค์เองด้วยแอคเคาท์ทางการของราชวงศ์ ใจความว่า
“วันนี้ข้าพเจ้าได้เข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ซึ่งทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกสนใจอย่างยิ่งเมื่อได้พบจดหมายจากพระคลังหลวงของ สมเด็จเทียด เจ้าชายอัลเบิร์ต ที่เขียนขึ้นเมื่อปี 1843
ท่านชาร์ลส์ บับเบจ ผู้ที่ใครก็ขนานนามว่าท่านเป็นผู้บุกเบิกคอมพิวเตอร์เครื่องแรกของโลก ได้ออกแบบ ‘เครื่องหาผลต่าง’ สมเด็จเทียด เจ้าชายอัลเบิร์ตได้ทรงทอดพระเนตรแบบจำลองของท่านบับเบจในเดือนกรกฎาคม 1843 ในจดหมายของท่านบับเบจ ยังได้ทูลแจ้งแก่สมเด็จ พระราชินีวิคตอเรีย และ เจ้าชายอัลเบิร์ต เกี่ยวกับการประดิษฐ์ ‘เครื่องวิเคราะห์’ ของเขา ต่อมากลายมาเป็นโปรแกรมของคอมพิวเตอร์ที่ถูกสร้างโดย ท่านเอดา เลิฟเลซ ธิดาของ ท่านลอร์ดไบรอัน
วันนี้ ข้าพเจ้ารู้สึกปิติยินดีที่วันนี้ได้เห็นการเขียนโค้ดคอมพิวเตอร์ของเด็กๆ และต้องดีไม่น้อยที่ข้าพเจ้าได้โพสต์อินสตาแกรมนี้ด้วยตัวข้าพเจ้าเอง ณ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่ได้สร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นแล้วรุ่นเล่า
อลิซาเบ็ธ อาร์.
เจ้าชายอัลเบิร์ต พระสวามีของ พระราชินีวิคตอเรีย มีลำดับศักดิ์เป็นเทียดของควีนเอลิซาเบธที่ 2 เกร็ดทางประวัติศาสตร์ถึงการขึ้นครองราชย์ของสมเด็จฯนั้น มีความน่าสนใจไม่น้อย เพราะครั้งหนึ่งพระองค์ไม่ได้อยู่ในแผนการสืบสันตติวงศ์ของราชวงศ์วินเซอร์แม้แต่น้อย หากแต่สมเด็จลุงของพระองค์ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 ไม่ทรงสร้างเรื่องทำปฏิบัติการ “สละราชสมบัติเพื่อหญิงที่ข้าพเจ้ารัก” ด้วยการขอลาออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์เพื่อไปแต่งงานกับหญิงหม้ายชาวอเมริกัน ซึ่งยุคนั้นนับว่าเป็นเรื่องที่ไม่สามารถรับกันได้ในหมู่ทวยราษฎร์ชาวเกาะบริเตนใหญ่
ทันใดนั้น บัลลังก์สหราชอาณาจักรสมัยยังคงด้วยจักรวรรดิอินเดีย หรือบริติชราชและอาณานิคมน้อยใหญ่ ได้ตกสู่มือเสด็จพ่อของ สมเด็จฯ พระเจ้าจอร์จที่ 6 ซึ่งขึ้นชื่อลือชาด้วยการเป็นคนสูบจัด ก็ทำให้พระองค์ต้องจากไปก่อนวัยอันควร แน่นอนภาระอันหนักอึ้งของควีนเอลิซาเบธที่ 2 คือการรับช่วงต่อจากพระบิดา
รอยต่อที่คาบเกี่ยวระหว่างโลกเก่าและโลกใหม่ช่วงการขึ้นครองราชย์ของสมเด็จฯนั้นน่าสนใจเป็นอย่างมาก ทรงเป็นผู้นำราชวงศ์อังกฤษซึ่งมีที่มายาวนานนับพันปี ก้าวข้ามขีดจำกัดของยุคสมัยหลายต่อหลายครั้ง รวมทั้งวิกฤติการหย่าร้างภายในครอบครัวของพระองค์ ตั้งแต่เรื่องคาวๆ สุดฉาวของรัชทายาทอันดับ 1 อย่างกรณีการหย่าของ เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ และ ไดอาน่า อดีตเจ้าหญิงแห่งเวลส์ผู้ล่วงลับ และคบซ้อนกับ นางคามิลลา พาร์คเกอร์ โบวส์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งดัชเชสแห่งคอร์นวอล
สมเด็จฯเลือกวิธีแสดงออกและการแก้ปัญหาที่พร้อมจะประนีประนอมกับยุคสมัย ในอดีต การหย่าร้างทั้งในทางศาสนาและค่านิยมของราชวงศ์นั้นเป็นเรื่องรับไม่ได้โดยสิ้นเชิง เห็นได้จากเสด็จลุงของสมเด็จฯ ที่ต้องลงจากบัลลังก์เพื่อหนีไปอยู่กับ “หญิงที่ข้าพเจ้ารัก” แต่สมเด็จฯก็ทรงตัดสินใจชนิดที่ทำให้โลกเห็นว่าราชวงศ์อังกฤษปรับตัวและพร้อมเปลี่ยนแปลงตามโลกอยู่เสมอ โดยการพระราชทานอนุญาตให้เจ้าพระชายชาร์ลส์แต่งงานกับนางคามิลลาในที่สุด ทั้งๆ ที่เรื่องราวการคบซ้อน บวกกับโศกนาฏกรรมของเจ้าหญิงไดอาน่า ผู้เป็นที่รักของชาวเมืองผู้ดีและคนทั้งโลก มันบีบคั้นหัวใจผู้คน และรังแต่จะทำให้คะแนนนิยมของเจ้าชายลดลง – แต่ก็ทรงอนุญาต
ไม่เพียงเท่านี้ สมเด็จฯยังทรงพยายามเชื่อมราชวงศ์วินด์เซอร์เข้ากับโลกภายนอก พระองค์ทรงเป็นผู้เดินเข้าหาโลก แทนที่จะให้โลกเป็นฝ่ายวิ่งเข้าหาพระองค์
ในโอลิมปิกปี 2012 ณ กรุงลอนดอน ก็ได้ทำให้เห็นว่า สมเด็จฯเองพยายามที่จะเป็นสัญลักษณ์ของอังกฤษและความทันสมัยไปพร้อมๆ กัน เมื่อทรงมีพระแก๊ก (gag) โดยการรับบทเป็น Bond girl หรือผู้หญิงของ เจมส์ บอนด์ คู่กับ แดเนียล เครก เพื่อเป็น VTR ในการเปิดพิธีโอลิปิก
ในเรื่อง เจมส์ บอนด์ ต้องไปรับสาวบอนด์ของเขา และพาขึ้นเฮลิคอปเตอร์บินมายังพิธีเปิด มีฉากสมเด็จฯกระโดดลงจากเฮลิคอปเตอร์เพื่อเข้างาน ก่อนจะตัดภาพมาที่องค์จริงในฉลองพระองค์ชุดเดียวกับใน VTR แม้ว่าสมเด็จฯจะทรงหน้าบึ้งตึงไปหน่อยหลังจากกระโดดจากเฮลิคอปเตอร์ก็ตาม แต่นั่นเป็นทั้งสัญลักษณ์ เป็นทั้งสาส์นที่ราชวงศ์อังกฤษพยายามสื่อถึงความเปลี่ยนแปลง
และการเคลื่อนไหวสะเทือนโลกครั้งล่าสุดของสมเด็จฯคือการอนุญาตให้ เจ้าชายแฮร์รี แต่งงานกับดาราเคเบิ้ลทีวีชาวอเมริกันที่ผ่านการหย่าร้างมาแล้ว และมีเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกัน การแสดงออกและตัดสินใจของพระองค์กลายเป็นสัญลักษณ์ของการโอนอ่อนและประนีประนอมต่อความเป็นไปของโลก แต่ยังคงเต็มไปด้วยน่าเกรงขามและมีความศักดิ์สิทธิ์ด้วยสถานะของราชวงศ์อังกฤษที่มีประวัติศาสตร์นับพันปี โดยที่ไม่ต้องไปแตกหักกับประวัติศาสตร์หน้าใดทั้งสิ้น
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบ็ธที่ 2 ทรงใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คในการติดต่อกับผู้ติดตามในอินเตอร์เน็ต ก่อนหน้านี้เมื่อห้าปีที่แล้ว สมเด็จฯก็ทรงใช้ทวิตเตอร์ พร้อมกับลงชื่อ Elizabeth R. เพื่อแสดงว่าทรงพระทวิตด้วยองค์เอง (R มาจากภาษาละติน Regina แปลว่าราชินี) ครั้งนี้เป็นครั้งแรกในรอบห้าปีที่ ที่ ‘สมเด็จฯ’ ซึ่งมีพระชนมายุ 92 พรรษา ทรงปรากฎองค์บนโลกออนไลน์ หลังจากที่ได้เข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ณ กรุงลอนดอน ด้วยข้อความที่เรียบง่าย แต่มีสัญลักษณ์ที่ทรงพลังซ่อนอยู่
God Save the Queen!
ที่มา: instagram.com/theroyalfamily