This Page is Intentionally Left Blank: แค่เราสนใจเท่านั้น ของสามัญก็สำคัญขึ้นมา

ภาพ: Bangkok Citycity Gallery

 

“ประตูตรงนั้นเพิ่งเคยเห็นเขาเปิดเนอะ เปิดไว้ทำไมกันนะ”

ฉันพูดกับพี่อีกคนระหว่างเดินจากลานจอดรถ 123 สาทรซอย 1 ไปที่ห้องแสดงหลักของ Bangkok Citycity Gallery ประตูที่ว่าคือประตูที่เชื่อมห้องนิทรรศการหลักกับลานจอดรถ เข้าใจว่าคงใช้ขนงานจากลานจอดรถมั้ง บริเวณประตูที่ปกติไม่เคยเปิดเลย มีกลุ่มคนนั่งเล่นคุยกัน บางคนห้อยขา บางคนแค่มองออกไปข้างนอก เนื่องจากเป็นวันเปิดนิทรรศการ ‘This page is intentionally left Blank’ ของ พี่โต๊ะ-ปรัชญา พิณทอง ก็เลยไม่แปลกที่จะมีคนมากันคับคั่ง เหมือนเป็นวันรวมญาติศิลปินและคนในวงการศิลปะ

ระหว่างฝ่าฝูงชนเข้าไปในห้องแสดงหลัก ฉันพูดกับพี่คนเดิมว่า

“ไม่ยักรู้เลยเนอะ ว่าปกติมีประตูอยู่ตรงนั้น”

‘ไม่ยักรู้เลย ว่าประตูตรงนั้น’ ก็เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ

ใช่ค่ะ ส่วนหนึ่งของนิทรรศการ ‘This page is intentionally left blank’ ชื่องานที่เป็นประโยคคุ้นตาสำหรับคนที่อ่านหนังสือหรือเห็นตามเอกสารราชการบ่อยๆ แปลเป็นไทยก็คือ ‘หน้านี้จงใจให้ว่าง’ เพื่อบอกผู้อ่านว่า หน้านี้ไม่ได้ลืมเขียนอะไรนะ แต่มัน ‘ต้องว่าง’ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางการจัดหน้ากระดาษหรืออะไรก็ตาม

ความตลกคือ พอใส่ประโยคที่บอกว่า “หน้านี้ว่างนะ” ลงไป หน้านั้นก็ไม่ว่างแล้ว

แต่เดี๋ยวค่ะ ก่อนจะเลยเถิดไป ขอเล่าบรรยากาศตอนก่อนเข้านิทรรศการก่อน เพราะพอเดินมาถึง คุณจะยิ่งงงกว่าเดิม เพราะต้องปะทะกับแท่งสีๆ แปดแท่งบนพื้นกลางห้อง แต่นอกจากเจ้าแท่งแปดแท่งกับกล่องกระดาษที่วางไว้มุมห้องแล้ว ก็ไม่มีอะไรที่บอกว่า “นี่คือนิทรรศการศิลปะนะ” อีกเลย ยกเว้นว่าคุณจะสังเกตดีๆ ว่าที่มุมห้อง มีสมุดคำที่บอกชื่อนิทรรศการ และคำศัพท์เกี่ยวกับศิลปะเช่น ready made, deconstruction, archive ซึ่งคำเหล่านั้นฉันขอไม่แปลในบทความนี้ มันจะยาวเกินไป

ฉันมองเจ้าแท่งๆ งงๆ แต่ก็ไม่ได้สนใจอะไรมาก เพราะวันรวมญาติทั้งที ก็มีคนรู้จักมากันเยอะแยะ เลยวิ่งไปคุยกับคนนั้นคนนี้ จนมีคนบอกว่า “แท่งๆ นั้นเขาเอามาจากลานจอดรถนั่นแหละ ไม่เชื่อลองไปดูที่ป้ายงานสิ” ฉันเลยรีบจ้ำกลับไปทางเข้าห้องนิทรรศการ บนป้ายเขียนว่า

เอกสารบันทึกเหตุการณ์ประจำวันจำนวน 67 ชุด ซึ่งยืมมาจัดแสดงจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป

กล่องเก็บเอกสารจดหมายเหตุจำนวน 7 ใบ ซึ่งยืมมาจัดแสดงจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป

ตัวกั้นที่จอดรถหล่อจากคอนกรีต (จากลานจอดรถ 123 ปาร์คกิ้ง ซึ่งเป็นที่ตั้งของบางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี) จำนวน 8 แท่ง แต่ละแท่งขนาด 245 x 7 x 7 ซม. น้ำหนัก 29 กก.

สีขาว 4SEASONS A1000

ผนังห้องนิทรรศการของอาคาร 6 (อาคารตึกใต้) พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป

ผนังห้องแสดงงานหลักของบางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี

ดูเสร็จแล้วก็อยากจะวิ่งกลับไปเขย่าตัวคนที่บอกว่า “แก๊ มันเป็นที่กั้นรถจริงๆ ด้วย เอามาจากลานจอดที่ฉันเพิ่งเดินผ่านม้าาา” แต่ก็ตกใจยิ่งขึ้นเมื่อค้นพบว่า “แก๊ ผนังห้องก็เป็นผลงานด้วยเว้ยแก๊” แต่ก่อนจะตกใจและตกหลุมความงงเข้าไปใหญ่ ฉันขอดึงทุกคนกลับมาด้วยความรู้ศิลปะร่วมสมัยขั้นพื้นฐาน

ผลงาน ‘โถฉี่’ ในชื่อ Fountain ของดูชองป์ ในปี 1917

เอาล่ะค่ะ เราจะเท้าความยาวกลับไปถึงกาลครั้งหนึ่ง ปี 1917 นายมาร์แซล ดูชองป์ (Marcel Duchamp) ส่ง ‘โถฉี่’ เข้าร่วมนิทรรศการศิลปะหนึ่งในนิวยอร์ค ที่มีกติกาว่า “งานศิลปะชิ้นไหนก็ตามที่ส่งเข้ามาในที่นี้ จะได้รับการแสดงทั้งหมด” ภายใต้ชื่อปลอมว่า R. Mutt โลกศิลปะตื่นตระหนกกันมากตรงที่ ไอ้บ้า อาร์. มุทท์ คือใคร ทำไมถึงกล้าเอาของสกปรกมาไว้ในพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งศิลปะได้ โถส้วมถูกใช้หรือยัง ไม่ว่าโถส้วมนั้นจะสกปรกหรือไม่ นายมาร์แซลก็ได้สร้างสิ่งที่เห็นในชีวิตประจำวันให้กลายเป็นสิ่งของไม่ธรรมดา เป็นผลงานศิลปะไปแล้ว เกิดเป็นข้อถกเถียงกันมากมายว่า ตกลงอะไรคือศิลปะกันแน่ (วะ)

หลังจากนั้นนายมาร์แซลก็สนุกกับการเอาของที่มีอยู่แล้วในชีวิตประจำวันมาวางในนิทรรศการ ไม่ว่าจะเป็นล้อจักรยานตั้งกลับหัว ชั้นวางขวด พลั่วตักหิมะ หรือแม้กระทั่งหน้าต่างทั้งบาน แล้วก็เลยเกิดการบัญญัติศัพท์คำว่า ‘Ready Made’ ขึ้นมา และศิลปะแบบโมเดิร์นก็ได้รับการแผ้วถางจากการเอาส้วมมาไว้ในแกลเลอรีของเขา

อภิธานศัพท์วันนี้: ready-made แปลว่า งานศิลปะอะไรก็ตาม ซึ่งเอาของที่มีอยู่แล้วในชีวิตประจำวันมาเป็นงานศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นโถส้วมและสรรพสิ่งต่างๆ ของดูชองป์, เตียงรกๆ ของ เทรซีย์ เอมิน (Tracey Emin), หรือผลงานชื่อ ‘Pharmacy’ ของ นายเดเมียน เฮิร์สต์ (Damien Hirst) ที่พี่ยกร้านขายยามาตั้งไว้ในแกลเลอรีทั้งร้านเลยค่ะ

หมุนไทม์แมชชีนกลับมาที่ปี 2018 นายปรัชญา พิณทอง เอาตัวกั้นรถแปดแท่งจากที่จอดรถข้างๆ Bangkok Citycity Gallery มาวางไว้ในห้องนิทรรศการ ทาสีห้องใหม่ด้วยสีชนิดเดียวกับที่ทาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘หอศิลป์เจ้าฟ้า’ พร้อมกับกล่องเอกสารและเอกสารด้านใน ซึ่งเป็นบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นในห้องนิทรรศการ ที่คนปกติคงไม่ค่อยสนใจ หรือถ้ามาอ่านแล้ว ก็คงอ่านแค่ผ่านๆ พอให้รู้เนื้อความในนั้น

วันเปิดนิทรรศการ ไม่มีข้อถกเถียงใดๆ ว่านี่คือนิทรรศการศิลปะหรือไม่ มีเพียงคนจับกลุ่มคุยกัน เกี่ยวกับแง่มุมของนิทรรศการ บางคนเมาท์มอยกันอย่างสนุกสนาน และฉันที่กินอาหารฟรีงานวันเปิดอย่างมีความสุข

ไม่มีคนถามว่า “ไอ้เจ้าตัวกั้นรถมาอยู่ในแกลเลอรีได้ยังไง” ราวกับทุกคนรู้อยู่แล้วว่า ทำไมสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้ากลายเป็นงานศิลปะไปได้ แต่เดี๋ยวสิ จะเก็บกันไว้แค่นั้นได้ไง เอ้า แล้วอะไรล่ะ ที่ทำให้มันเป็นงานศิลปะ? เราเลยนัด พี่โป่ง-ธนาวิ โชติประดิษฐ ภัณฑารักษ์ที่ร่วมกันพัฒนาผลงานนี้กับพี่โต๊ะ-ปรัชญา เพื่อคุยเรื่องนิทรรศการครั้งนี้ เย็นวันหนึ่ง ก่อนแกลเลอรีปิด

พี่โป่งเล่าให้ฟังว่า นิทรรศการนี้เริ่มผุดในหัวของพี่โต๊ะมาตั้งแต่ตอนปี 2009 พี่โต๊ะไปหอศิลปวัฒนธรรมแห่งชาติ และไปเจอเจ้าสมุดนี้โดยบังเอิญ พี่โต๊ะแอบอ่านสมุดบันทึกที่วางทิ้งอยู่ในห้องนิทรรศการระหว่างที่เจ้าหน้าที่ตรงนั้นลุกไปที่อื่น แล้วเกิดติดใจ เลยอยากเอามาแสดง แต่มันต้องยากแน่ๆ เลย พอมาปีนี้ ก็มาคุยกันว่า จะเริ่มจากเจ้าสมุดนี้นี่แหละ

แต่พอจะไปขอยืมสมุดพวกนี้ขึ้นมาจริงๆ ของที่ปกติไม่ได้มีความสำคัญอะไร เป็นแค่กิจวัตรที่เจ้าหน้าที่จะต้องทำ พอมีคนนอกองค์กรอยากได้ ก็กลับกลายเป็นเรื่องยากขึ้นมาทันที แล้วของที่ไม่ได้มีค่าในสายตาคนใน ก็กลายเป็นของสำคัญขึ้นมา (เหมือนเวลาที่ตอนโสดไม่ค่อยมีคนมาจีบ แต่พอมีแฟนแล้วจะฮอตขึ้นมาทันทีอะค่ะ อันนี้ประสบการณ์ส่วนตัวผู้เขียนเฉยๆ ค่ะ จะได้เห็นภาพ-เอ้า อ่านต่อได้ค่ะ) ยิ่งยากเข้าไปใหญ่ เมื่อพี่โต๊ะกับพี่โป่งบอกว่า “จะเอาไปทำงานศิลปะ”

หลังจากผ่านกระบวนการต่างๆ นานา พี่โป่งกับพี่โต๊ะก็ได้มันมาไว้ในมือ ภาพที่คิดไว้ในหัวว่าจะได้กองภูเขาสมุดบันทึก แสดงเลเยอร์แห่งกาลเวลาตั้งแต่สมัยที่หอศิลปเจ้าฟ้าเพิ่งเปิดใน พ.ศ. 2521 ผ่านมาหลายสิบปี จะต้องมีสมุดเยอะมากมายแน่ๆ แต่สิ่งที่ได้มากลับมีจำนวนประมาณห้ากล่อง ค่ะ ห้ากล่องถ้วน ตอนไปขอ เราเห็นกล่องที่มีตราของหอศิลปเจ้าฟ้าสวยดี ก็เลยขอยืมมาด้วย พี่โป่งอธิบายว่า ก็อธิบายสถานะของสมุดในตัวมันอยู่แล้ว ว่ามันไม่ใช่เอกสารสำคัญอะไร มันก็ต้องมีหล่นหายกระจัดกระจายบ้าง

พอมาดูในสมุดแต่ละรูปแบบ ก็สามารถแบ่งประเภทของมันได้ อย่างยุคแรกๆ เขาจะทำสมุดเป็นฟอร์แมต แจกไปตามพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติทั้งหลาย หอศิลป์เจ้าฟ้าก็เป็นส่วนหนึ่ง แล้วก็บันทึก พร้อมเซ็น ฉันสังเกตว่า ลายมือสวยมาก ก่อนพี่โป่งจะคอมเมนต์ว่า “นี่คือบ่งบอกว่ามนุษย์สมัยที่ไม่ได้ใช้คอมพิวเตอร์เยอะๆ แบบเรา เขาจะมีลายมือที่ดี ฮ่าๆๆ” ตอนหลังเขาเลิกผลิตสมุดนี่ไปด้วยเหตุผลอะไรไม่รู้ เจ้าหน้าที่ก็เลยต้องทำเอง ปรินท์เสร็จแล้วก็เย็บเล่ม ซึ่งมันจะมีการแยกเป็นห้องต่างๆ ด้วย แต่ละเล่มเขาจะแยกเป็นห้องๆ เขาจะบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นในห้องนั้นเท่านั้น ไม่ไปส่วนอื่น

ในระหว่างการแสดงนิทรรศการ เจ้าสมุดและกล่องพวกนี้มีสถานะเป็นผลงานศิลปะ แต่เมื่อจบนิทรรศการแล้ว ทางศิลปินก็ส่งคืนสมุดและกล่องเหล่านี้ ก่อนที่พวกมันจะกลับไปดำรงสถานะอันไม่สำคัญของมันเหมือนเดิม

ขอโทษนะเจ้าสมุด เธอสำคัญแค่ปุ๊บปั๊บเท่านั้นแหละ

พอได้เอกสารมาเท่านี้ ก็เลยต้องมาแก้ปัญหาว่า เอาไงต่อดีนะ ก็เลยได้เจ้าที่กั้นมา เพราะเป็นของ Ready-Made เหมือนกัน และปฏิกิริยาของทุกคนต่อมันแบบ “เอ้า มันมีสิ่งนี้อยู่ที่นี่ด้วยเหรอ” ที่บอกว่ามันก็อยู่ตรงนี้ของมันแหละ มันไม่ได้สำคัญอะไร แต่พอมันมาอยู่ในแกลเลอรี มันกลับมีความสำคัญ มีราคาขึ้นมา (ซึ่งก็มีราคาจริงๆ เพราะหลังจากจบงาน ก็จะขายสิ่งนี้ในฐานะงานศิลปะ ต่างจากสมุดที่ยืมมา)

เรื่องมีอยู่ว่า พี่โต๊ะมีความทรงจำกับพื้นที่ตรงนี้ตรงที่ก่อนที่จะมี Bangkok Citycity Gallery มันเคยเป็นลานจอดรถ เวลาที่มาเรียนภาษาเยอรมันที่เกอเธ่ หรือมาติดต่อสถานทูตบริเวณนี้ ก็ต้องมาจอดตรงนี้ เขาก็เลยเอาสิ่งที่อยู่ข้างนอก ที่เล่าประวัติของสถานที่ มาตั้งไว้ข้างใน ซึ่งถ้ามองออกไปตรงประตูที่ปกติจะไม่เปิด ก็จะเห็นที่อยู่อาศัยเดิมของมัน ก่อนที่มันจะถูกอุปโลกน์เป็นอย่างอื่น และสถานภาพมันก็ไม่เหมือนเพื่อนๆ ของมันที่ลานจอดรถแล้ว พี่โป่งเล่าว่า เจ้าตัวกั้นทั้งแปดนี้ จะเปลี่ยนรูปแบบทุกวัน รูปแบบเก้าแบบนั้น สามารถเอารถมาจอดได้หมดเลย เพราะคำนวณไว้แล้ว

สิ่งที่ทำให้ทั้งมวลนี้กลายเป็นงานศิลปะขึ้นมาได้ไม่ใช่แค่เพราะศิลปินเอามันมาไว้ในนี้ ศิลปินเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ทั้งโลกศิลปะก็จะต้องยอมรับสิ่งนี้ด้วย แล้วอะไรล่ะ ที่จะเป็นตัวบ่งชี้ว่าโลกศิลปะยอมรับได้ นั่นก็คือสถาบันทางศิลปะ อย่างแกลเลอรี หอศิลป์ พิพิธภัณฑ์ หรืออาคารที่จัดแสดงผลงานนี่ล่ะ แล้วอะไรล่ะที่สถาบันเหล่านี้มีเหมือนๆ กัน เวลาไปดูงานศิลปะ เราจะนึกถึงว่ามันอยู่ในห้องหน้าตาประมาณไหนคะ ติ๊กต่อกๆๆ ห้องสีขาวไงล่ะ! ในโลกศิลปะถึงกับบัญญัติศัพท์ขึ้นมาว่า ‘White Cube’ หรือห้องสีขาวที่เป็นมาตรฐานในการแสดงผลงานนี่ล่ะค่ะ

พี่โป่งเล่าว่า สีขาวบนกำแพง คือสิ่งที่คนมองข้ามเวลามาดูงานศิลปะ กำแพงมีอยู่เพื่อเป็นฉากให้ผลงานได้ปรากฏตัว เป็นสิ่งที่ตัดขาดคนดูจากโลกภายนอก เหมือนเป็นการบอกว่า คุณเข้ามาอยู่ในพื้นที่ทางศิลปะแล้วนะ ดังนั้น ห้อง White Cube ถึงจะไม่มีอะไรแสดง ก็มีอำนาจของมันอยู่ ดังนั้น ห้องที่ว่างๆ ก็ไม่ว่างแล้ว เพราะในห้องว่างๆ นั้น มีสีขาว และมีอำนาจของสถาบันทางศิลปะอยู่ เหมือนกับชื่องาน ‘This page is intentionally left blank’ ที่บอกว่า หน้านี้ว่าง แต่หน้านี้ก็ไม่ได้ว่างจริงๆ ห้องสีขาวโล่งๆ ก็มีอะไรบางอย่างที่มองไม่เห็นอยู่ มันโล่งในความรู้สึก แต่ไม่ได้โล่งในเชิงความหมายเลย

ดังนั้นพี่โต๊ะและพี่โป่งก็เลยโยงมาที่สีขาว A-1000 เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการครั้งนี้ เพราะเป็นสิ่งที่เชื่อมโยง Bangkok Citycity Gallery และหอศิลป์เจ้าฟ้าเข้าด้วยกัน “คือปกติที่นี่เขาไม่ใช้สี A-1000 ค่ะเขาใช้สีอื่น ประจวบเหมาะกับที่หอศิลป์เจ้าฟ้าเขากำลังรีโนเวทห้องแสดงงานพอดี เราเลยอยากตอบแทนเขาด้วยการไปทาสีให้เขา แล้วก็ให้ทางหอศิลป์เจ้าฟ้ากำหนดมาเลย ว่าจะใช้สีอะไร แล้วก็เอาสีนั้นมาทาที่นี่เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ” พี่โป่งกล่าว พลอยให้นึกถึงคำซุบซิบตอนวันเปิดนิทรรศการจากพี่คนหนึ่งว่า “สีขาวที่ Citycity ใช้จะแพงกว่า เหมือนเป็นสีขาวไฮโซมีคุณสมบัติอะไรสักอย่างที่ไม่รีเฟลคแสงหรืออะไรก็ไม่รู้ จำไม่ได้แล้ว”

อาห์ แม้แต่สีขาวก็มีชนชั้นของมัน

ทั้งสมุดบันทึก ตัวกั้น และสีขาว มีความเหมือนกันตรงที่เป็นวัตถุที่คนไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญ เป็นสิ่งที่เรามองข้าม แต่มันต้องมีอยู่ตรงนั้น ถ้าเทียบพวกเขาเป็นคน ก็คงเป็นเหมือนบุคลากรที่ต้องจดสมุดนี้ คือลุงๆ ป้าๆ ที่เรามองข้าม คือเขาก็นั่งถักโครเชต์ อ่านขวัญเรือนของเขาอยู่ คนดูก็เดินดูไป เหมือนพี่ๆ ช่างซึ่งมาทาสีแกลเลอรีในวันที่ไม่มีใครมา เหมือนพี่ยาม พี่แม่บ้าน ที่คอยดูแลความสะอาด ความปลอดภัยของอาคารเหล่านี้ พวกเขาเป็นแรงงานที่มองไม่เห็นที่สุดในโลกศิลปะ แต่ก็ต้องมีพวกเขา (ในฐานะคนที่ทำงานแกลเลอรีอยู่แล้ว ค่ะ พี่แม่บ้าน พี่ยาม พี่ทีมติดตั้ง คือแรงงานที่สำคัญมากๆ และถ้าไม่มีพวกเขา ฉันก็ตายจริงๆ ค่ะ) ไม่ค่อยมีใครเห็นความสำคัญ แต่ไม่มีไม่ได้

วันนั้นฉันอยู่จนแกลเลอรีปิดตอนทุ่มหนึ่ง ก่อนกลับ ฉันเจอผู้ช่วยพี่โต๊ะ เด็กหนุ่มฝรั่งผมบลอนด์ที่เพิ่งมาถึงพอดี เราทักทายกันก่อนที่เขาจะเดินเข้าห้องแสดงงาน หยิบกระดาษขึ้นมาดูว่าต้องจัดแท่งแปดแท่งอย่างไร และเดินไปเลื่อนมันเงียบๆ ไม่มีผู้ชมคนอื่น ไม่มีใครมองเขาอย่างตั้งใจ แต่วันรุ่งขึ้น ห้องนิทรรศการนี้จะเกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่มีใครรู้ว่าคนที่มาดูจะรู้หรือไม่ว่าก่อนหน้านี้หนึ่งวัน มันไม่ได้หน้าตาแบบนี้ แต่ก็คงไม่มีใครสนใจอะไร

นิทรรศการจะเปิดถึงวันที่  27 มกราคม 2019 ที่ Bangkok Citycity Gallery ซอยสาทร 1 แวะไปสวัสดีเจ้าแท่งทั้งแปดกันได้ค่ะ

Author

พีรมณฑ์ ตุลวรรธนะ
NPC ประจำโลกศิลปะ วิจารณ์วงการศิลปะหาตังค์ไปเติมเกม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า