เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติกิจการอวกาศ ซึ่งกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับอวกาศทั่วโลกในขณะนี้กำลังเป็นที่น่าจับตามอง ประเทศไทยเองจึงต้องพัฒนากิจกรรมด้านอวกาศให้สอดคล้องกับธุรกิจอวกาศ (Space Economy) ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ เพื่อเตรียมพร้อมทางด้านเทคโนโลยีอวกาศที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว
เอนกระบุว่า กิจการอวกาศมีผลต่อเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงในประเทศ ดังนั้นภาครัฐจึงจำเป็นต้องร่าง พ.ร.บ.กิจการอวกาศ เพื่อขับเคลื่อนกิจการอวกาศไทยเสนอต่อนานาประเทศ รวมถึงบทบาทในการเข้าร่วมภาคีสนธิสัญญาที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการอวกาศต่อประชาคมโลก อีกทั้งภาครัฐและเอกชนจะสามารถร่วมมือกันพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศอย่างเต็มที่ในด้านอุตสาหกรรมอวกาศ (Space Industry) เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและความมั่นคงอย่างยั่งยืนในอนาคต
เนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.กิจการอวกาศ ประกอบด้วยสาระสำคัญหลายส่วนด้วยกัน อาทิ
- การกำหนดนโยบายและแผนกิจการอวกาศ ซึ่งใจความกล่าวถึงแนวทางในการดำเนินกิจการอวกาศ โดยมีแนวทางหลักทั้งหมด 4 ข้อด้วยกัน
- 1.1 กิจการอวกาศนั้นก่อให้เกิดประโยชน์อย่างหลากหลายด้าน ทั้งในด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านอื่นอันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ และการพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของชาติอย่างยั่งยืน
- 1.2 เกิดการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางด้านกิจการอวกาศขึ้น พร้อมทั้งวางโครงสร้างพื้นฐานทางด้านอวกาศภายในประเทศ ควบคู่ไปกับมอบหมายให้สถาบันวิจัย และสถาบันการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนสร้างเครือข่ายวิจัย เพื่อพัฒนานวัตกรรมกิจการอวกาศ
- 1.3 เป็นการพัฒนาความร่วมมือระหว่างไทยและต่างประเทศในการรับมือกับการเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศเกี่ยวกับกิจการอวกาศและวัตถุอวกาศของประเทศไทย ซึ่งเป็นทั้งประโยชน์จากการดำเนินกิจการอวกาศในประเทศ และปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติโดยการเรียกร้องค่าเสียหาย จากการดำเนินกิจการอวกาศจากต่างประเทศที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศได้
- 1.4 สร้างกลไกขับเคลื่อนนโยบายและแผนกิจการอวกาศ
- คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ มีหน้าที่ในการกำหนดนโยบายครอบคลุมกิจการอวกาศทั้งหมด ประกอบไปด้วย
คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ มีนายกรัฐมนตรี ดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการ รองนายกรัฐมนตรี ดำรงตำแหน่ง รองประธานกรรมการ และกรรมการโดยตําแหน่ง ประกอบด้วยรัฐมนตรีจากกระทรวงต่างๆ เช่น กระทรวงกลาโหม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ฯลฯ
- สำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ มีหน้าที่กำหนด ส่งเสริม ควบคุม พัฒนากิจการอวกาศต่างๆ ในส่วนรายได้ของสำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ ซึ่งจะได้รับเงินอุดหนุนทั่วไปจากรัฐบาล การบริจาคให้แก่องค์กร และรายได้ที่มาจากการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กร รายได้ที่กล่าวไปข้างต้น ให้ตกเป็นของสำนักกิจการอวกาศ โดยไม่ต้องส่งเข้าคลังเป็นรายได้แผ่นดิน เว้นแต่มีเงินเหลือเกินจำเป็นในการใช้จ่าย จึงส่งเข้าคลังเป็นรายได้แผ่นดิน
- การกำกับดูแลกิจการอวกาศทั่วไปในประเทศ เป็นความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรี มีอำนาจยับยั้งกิจกรรม สั่งการแก้ไขในส่วนที่อาจจะละเมิดต่อข้อกฎหมาย หรือขัดกับนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา รวมทั้งนโยบายและแผนกิจการอวกาศ
- การกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ละเมิด พ.ร.บ.กิจการอวกาศ เช่น ผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตในการดำเนินกิจการอวกาศ หรือการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการอวกาศ โดยจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของร่าง พ.ร.บ.กิจการอวกาศ ซึ่งยังต้องเข้าสู่ที่ประชุมวาระต่อไป เพื่อปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาบางส่วนก่อนจะผลักดันเป็น พ.ร.บ.กิจการอวกาศ ต่อไป