อากาศร้อนทำให้เรียนไม่รู้เรื่อง

สวัสดีเดือนพฤษภาคม เดือนแห่งการเปิดเทอมของนักเรียนทั่วประเทศ แม้จะเริ่มเข้าหน้าฝนแล้ว แต่ความร้อนของเดือนเมษายนยังไม่จางหายไป

เราคงเคยได้ยินว่า ประเทศไทยนั้นมีสามฤดู คือ ร้อน ร้อนมาก และร้อนมากๆ ฟังแล้วก็ดูจะเป็นความจริง เพราะทุกวันนี้อากาศร้อนจนไม่เป็นอันทำอะไร

มนุษย์ออฟฟิศนั่งอยู่หน้าคอมทุกวัน อาจไม่ค่อยเดือดร้อนเท่าเด็กน้อยตาดำๆ ที่แม้อากาศจะทะลุเกิน 40 องศาฯไปแล้ว แต่ก็ต้องก้มหน้าเรียนไป ปาดเหงื่อไป พัดลมที่เป่าลมร้อนมาใส่ตัวยิ่งมีแต่จะทำให้เรียนไม่รู้เรื่อง

ไม่ใช่แค่บ้านเราเท่านั้นที่เด็กๆ ได้รับผลกระทบจากอากาศร้อนจนเรียนไม่รู้เรื่อง ฝั่งออสเตรเลียก็เช่นกัน

สำนักข่าว The Conversation ได้หยิบยกงานวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในหัวข้อ การเฝ้าระวังความป่วยไข้จากอากาศร้อนของนักเรียนที่เรียนวิชาพลศึกษาในสภาพภูมิอากาศเขตร้อน (Heat Illness Surveillance in Schoolboys Participating in Physical Education Class in Tropical Climate) ซึ่งเปิดเผยว่า อากาศร้อนนั้นส่งผลกระทบต่อร่างกาย การรับรู้ และอารมณ์ของเด็ก จนทำให้พวกเขาเสียสมาธิในการเรียน และสำคัญที่สุดคือ อากาศร้อนยังส่งผลให้เกิดความเจ็บป่วยได้ง่ายอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจหรือโรคยอดฮิตอย่างท้องเสียและอาหารเป็นพิษ

อากาศร้อนฆ่าเด็กได้

ในสหรัฐ มีรายงานเปิดเผยว่า เด็กที่อายุต่ำกว่า 19 ปี ถือเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดที่เข้าโรงพยาบาลด้วยสาเหตุจากโรคที่มากับอากาศร้อน ได้แก่ ตะคริวแดด ลมแดด และเพลียแดด

ส่วนญี่ปุ่นมีรายงานออกมาเช่นกันว่า จำนวนเด็กเสียชีวิตจากโรคลมแดดมีทั้งหมด 133 คน ในระหว่างปี 1975 จนถึง 2009 เนื่องจากการทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานาน

เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องราวแบบนั้น โรงเรียนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรักษาสภาพแวดล้อมให้น่าเรียน ไม่ให้เด็กเรียนวิชาพลศึกษาหรือทำกิจกรรมกลางแจ้งนานเกินกว่า 100 นาที และหากเป็นไปได้ควรเป็นโรงยิมในร่ม

นักเรียนควรได้ดื่มน้ำอย่างเพียงพอต่อร่างกาย เพื่อช่วยให้เด็กไม่สูญเสียเหงื่อมากเกินไป จนอาจเเกิดภาวะขาดน้ำตามมา และยังช่วยป้องกันความเสี่ยงในการเกิดโรคที่มาจากความร้อนอีกด้วย

ลงมือด้วยตนเอง: เสนอแนวทางแก่โรงเรียน

ดูเหมือนจะเป็นที่แน่นอนแล้วว่า อากาศร้อนส่งผลกระทบต่อการเรียน แต่ทั้งออสเตรเลียและไทยเองก็ยังไม่มีนโยบายจากกระทรวงศึกษาธิการอย่างชัดเจนเพื่อสร้างบรรยากาศน่าเรียนให้กับนักเรียน หรือแนวทางในการป้องกันโรคจากอากาศร้อนเบื้องต้น

The Conversation ได้นำเสนอแนวทางเพื่อเป็นไกด์ไลน์เล็กๆ น้อยๆ ให้แก่โรงเรียนในออสเตรเลียเพื่อเตรียมรับมือกับหน้าร้อน ซึ่งบางหัวข้อนั้นก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับประเทศไทย ที่มีความเป็นไปได้สูงว่า อีกไม่กี่ปีข้างหน้าคงมีอุณหภูมิพุ่งทะลุไปถึง 50 องศาเซลเซียสได้เช่นกัน

  • ปรับตารางวิชาที่ต้องทำกิจกรรมกลางแจ้งให้มีความยืดหยุ่น โดยดูตามสภาพอากาศ เช่น ปรับให้เรียนวิชาพลศึกษาเป็นช่วงเช้าหรือเย็น เพื่อหลีกเลี่ยงช่วงเวลาที่มีอากาศร้อนที่สุดของวัน
  • ปรับเปลี่ยนชุดยูนิฟอร์มของนักเรียนให้เหมาะสมกับหน้าร้อน หรืออาจใช้ผ้าที่มีส่วนผสมของ UV protection หรือเนื้อผ้าที่มีลักษณะระบายเหงื่อได้ดี เป็นชุดสำหรับช่วงฤดูร้อนแทน
  • เพิ่มพื้นที่ใช้สอยให้เหมาะสมกับหน้าร้อน เช่น สร้างหลังคากันแดดเพิ่ม หรือปลูกต้นไม้ขนาดใหญ่เพื่อสร้างบรรยากาศสีเขียวและร่มเงาภายในโรงเรียน
  • โรงเรียนควรเตรียมตู้กดน้ำเย็นหรือสถานที่หลบแดดหลังจากกิจกรรมกลางแจ้งให้เพียงพอกับจำนวนนักเรียน
  • จัดเตรียมแผนรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นจากอากาศร้อน
  • จัดทำชาร์ตให้ข้อมูลนักเรียนเกี่ยวกับโรคภัยจากอากาศร้อนและแนวทางในการป้องกัน ในบริเวณที่ทุกคนสามารถเห็นได้ชัดเจน
  • ให้ความรู้แก่เด็กๆ เกี่ยวกับอาหารที่เสี่ยงต่อโรคอาหารเป็นพิษที่มักเกิดในช่วงฤดูร้อน และวิธีการถนอมอาหารอย่างถูกสุขลักษณะ
  • ครูผู้รับผิดชอบกิจกรรมกลางแจ้งของเด็ก เช่น วิชาพลศึกษา ควรรู้ข้อมูลเกี่ยวกับนักเรียนของตน เช่น อายุหรือปัญหาสุขภาพเบื้องต้น เพื่อให้คาดการณ์ได้ว่า เด็กคนไหนมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคจากอากาศร้อนได้
  • สร้างความตระหนักรู้แก่ผู้ปกครองถึงโรคภัยที่มาจากอากาศร้อน ปัญหาที่เกิดจากอากาศร้อนจนเด็กสูญเสียสมาธิในการเรียน รวมถึงขั้นตอนการปฏิบัติของโรงเรียนที่ต้องการจะสร้างบรรยากาศน่าเรียนให้เกิดขึ้น

อ้างอิงข้อมูลจาก: theconversation.com

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า