[vc_row][vc_column][vc_column_text]
ขยะที่เราเห็นลอยอยู่บนผิวน้ำไม่ว่าจะในคลอง แม่น้ำ ทะเล และมหาสมุทร ถือเป็น 5 เปอร์เซ็นต์ของขยะในแหล่งน้ำเท่านั้น ยังมีที่เรามองไม่เห็นอีกถึง 95 เปอร์เซ็นต์เพราะมันจมอยู่ใต้น้ำ
จากการเผยข้อมูลของ Ocean Conservancy องค์กรอนุรักษ์ทรัพยากรทางน้ำและทะเลที่ไม่แสวงหาผลกำไรในสหรัฐอเมริกา เผยว่าขยะจำนวน 95 เปอร์เซ็นต์นี้เข้าไปทำลายระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อม
และตัวการใหญ่ของขยะ 95 เปอร์เซ็นต์นี้มีอยู่ห้าประเทศ ซึ่งอยู่ในทวีปเอเชียทั้งหมด
จากการสำรวจพบว่า จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม ร่วมกันทิ้งขยะพลาสติกเกือบ 60 เปอร์เซ็นต์ลงทะเลและมหาสมุทร
“จากค่าเฉลี่ยนี้ เราคาดว่าในปี 2025 เมื่อยกปลาขึ้นจากทะเลทุกๆ สามตัน ในนั้นเราจะพบพลาสติกหนึ่งตัน ซึ่งตัวเลขเหล่านี้จะสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมรุนแรงจนคาดไม่ถึง” นิโคลาส มัลลอส ผู้อำนวยการ Ocean Conservancy อธิบายถึงปริมาณขยะนี้
ไม่จัดการและเลือกเก็บขยะ
ขณะที่เศรษฐกิจของเอเชียเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับกำลังซื้อของผู้บริโภค ในบรรดาห้าประเทศนักผลิตขยะของเอเชีย มีเพียงแค่ 40 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มีการจัดเก็บขยะ ส่วนใหญ่จะถูกนำไปรวมไว้ที่กองขยะชุมชน บ่อยครั้งถูกแรงลมพัดพาไปอย่างไม่รู้ทิศทางและสุดท้ายก็ไปจบลงที่แหล่งน้ำโดยเฉพาะทะเลและมหาสมุทร
ทั้งนี้อาชีพคนเก็บขยะไม่ได้ถูกมองว่าเป็นอาชีพน่ายกย่องในแถบเอเชีย ทั้งๆ ที่พวกเขากล้าสัมผัสขยะอันเต็มไปด้วยสิ่งสกปรก เชื้อโรคและสารพิษ พวกเขาตามเก็บขยะพลาสติกที่รีไซเคิลได้เพื่อนำไปขาย แลกกับเงินจำนวนเล็กน้อย
แต่คนเก็บขยะก็มักจะสนใจแต่สิ่งของที่มีมูลค่ามาก อย่างเช่นขวดพลาสติก ผิดกับถุงพลาสติกที่คนเก็บขยะแทบจะไม่สนใจเลย องค์กร Ocean Conservancy เผยว่า คนเก็บขยะต้องใช้เวลา 10 ชั่วโมงในการเก็บถุงพลาสติกเพื่อแลกกับเงินเพียง 50 เซ็นต์ (ประมาณ 15 บาท) แต่ถ้าเขาสละเวลาทั้งวันเพื่อเก็บเพียงแค่ขวดพลาสติก จะได้เงินถึง 3.7 ดอลลาร์ (หรือประมาณ 132 บาท)
นั่นหมายความว่าคนเก็บขยะเลือกไม่เก็บขยะ (ไม่ทำเงิน) อีกจำนวนมหาศาล ซึ่งขยะเหล่านั้น ปลายทางคือทะเลและมหาสมุทร
ของยิ่งเล็กยิ่งเป็นขยะ
ขณะที่ผู้บริโภคในแคลิฟอร์เนียและเท็กซัสต่างซื้อแชมพูที่บรรจุในขวด แต่ของเหล่านี้กลับเป็นสินค้าราคาเกินเอื้อมสำหรับคนยากจนในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ที่มีกำลังซื้อแค่เครื่องสำอางไม่ได้มาตรฐานซึ่งแบ่งขายมาในถุงเล็กๆ
ชุมชนแออัดหลายแห่งในเอเชีย มักจะมีร้านค้าท้องถิ่นที่ขายของตั้งแต่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไปจนถึงเครื่องสำอาง ทั้งหมดเน้นราคาถูกและแบ่งขายในปริมาณน้อยตามขวดขนาดเล็กหรือซองต่างๆ สิ่งที่ตามมาคือ แพ็คเกจจิ้งต่างๆ ทั้งหีบห่อและขวดเล็กๆ ที่ต่อมากลายเป็นขยะจำนวนมหาศาลในแหล่งน้ำ
“ถึงแม้ว่าบริษัทต่างๆ จะไม่ได้ตั้งใจทิ้งขยะพลาสติกลงสู่มหาสมุทร แต่พวกเขาก็สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ด้วยโลจิสติกส์ (การขนส่ง) การตลาดหรือโครงการต่างๆ เพื่่อการกำจัดขยะได้” ข้อเสนอจาก นิโคลาส มัลลอส ผู้อำนวยการ Ocean Conservancy
ยิ่งไปกว่านั้น ในประเทศที่ไม่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง คนขับรถขยะมักจะทิ้งขยะอย่างมักง่ายตามข้างถนน เพื่อประหยัดเวลาและน้ำมัน ทั้งๆ ที่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และเป็นต้นตอหนึ่งของขยะในทะเล
ประเทศหมู่เกาะอย่างฟิลิปปินส์ นักวิจัยค้นพบว่า ขยะพลาสติกที่ทิ้งอย่างผิดกฎหมายถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ไปจบลงที่ทะเลและมหาสมุทร องค์กร Ocean Conservancy ได้ประมาณไว้ว่า ทั้ง 5 ประเทศคือ จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม ร่วมกันทิ้งขยะพลาสติกลงสู่แหล่งน้ำถึง 1 ล้านตันต่อปี
งานวิจัยชิ้นนี้ที่เผยแพร่ในนิตยสาร Science ยังเปิดเผยอีกว่า ในแต่ละปีมนุษย์ทั่วโลกทิ้งพลาสติกลงในแหล่งน้ำถึง 8 ล้านตัน
องค์กร Ocean Conservancy คาดการณ์ว่าถ้าพฤติกรรมของมนุษย์ยังไม่เปลี่ยน ภายใน 10 ปี ปริมาณขยะต่อปีจะเพิ่มเป็นสองเท่า
ผลกระทบจากการทิ้งขยะจำนวนมากลงในทะเล ทำให้สิ่งมีชีวิตต่างๆ ในทะเลตายลงไปเรื่อยๆ ส่งผลต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ทยอยส่งวิกฤติออกมาเป็นระยะๆ
อ้างอิงข้อมูลจาก: globalpost.com
[/vc_column_text][/vc_column][/vc_row]