แอนนี เลนนาร์ด: หลุมขยะปฏิวัติ

annie02

ภาพ : สุทธิเกียรติ สิงห์คา

 

แอนิเมชั่น ‘เรื่องราวข้าวของ’ (The Story of Stuff) โดย แอนนี เลนนาร์ด มีคนคลิกเข้าไปดูหลายล้านครั้ง นับตั้งแต่ปี 2007 จากนั้นมีแอนิเมชั่นสั้นๆ คลอดตามออกมาอีก 4 เรื่องคือ ‘เรื่องราวของน้ำขวด’ (The Story of Bottled Water), ‘เรื่องราวของการจำกัดเพดานและการซื้อขายสิทธิการปล่อยคาร์บอน’ (The Story of Cap and Trade) และ ‘เรื่องราวของเครื่องสำอาง’ (The Story of Cosmetics)

‘เรื่องราวของเครื่องใช้ไฟฟ้า’ (The Story of Electronics) ที่ออกมาในปลายปี 2010 ตีแผ่ให้เห็นการเดินทางของอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าจากโรงงาน ก่อนมาถึงมือเรา

ในบรรดาบริษัทแห่งโลกบริโภคนิยมทั้งหลายต่างรู้จักชื่อแอนนีเป็นอย่างดี เพราะผู้หญิงคนนี้คือนักกิจกรรมรณรงค์ ผู้เลือกยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับกลุ่มทุน และเดินหน้าทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อนำเสนออีกแง่มุมหนึ่ง ให้เราได้เข้าใจว่า ในวิถีบริโภคนิยม เรากำลังถูกยัดเยียดบางอย่างให้-โดยไม่รู้ตัว

แอนนีแสดงให้เห็นในแอนิเมชั่นทุกเรื่องว่า ‘ต้นทุน’ ไม่ได้หมายถึงเงินเสมอไป และราคาที่เราจ่ายก็ไม่ได้เป็นแค่มูลค่าที่ประเมินเป็นราคาได้ บางครั้ง แค่ซื้อโทรศัพท์มือถือ เราอาจต้องจ่ายด้วย ‘ชีวิต’ ใครบางคน

ใช่, ชีวิต และวิธีช่วยโลกด้วยการปิดไฟ เดินขึ้นบันได ถือถุงผ้านั้นเป็นแค่วิธีเยียวยาจิตใจของคนตัวเล็กๆ เท่านั้น

นักกิจกรรมทวนกระแสบริโภคนิยมผู้นี้ยืนยันว่า สถานที่ที่ทุกคนควรหาโอกาสไปเยือนครั้งหนึ่งในชีวิต คือ ‘หลุมขยะ’ ก่อนจะควักกระเป๋าซื้ออะไรสักอย่าง

 

คุณทำงานตีแผ่การบริโภคของคน แต่ใครๆ ชอบพูดกันว่า การช็อปปิ้งเป็นเรื่องของผู้หญิงไม่ใช่หรือ

การช็อปปิ้งเป็นเรื่องของทุกคน ผู้ชายซื้อข้าวของมากมาย แต่ฉันคิดว่าผู้หญิงมีโอกาสเชื่อการโฆษณามากกว่า เพราะสังคมมักบอกว่า ผู้หญิงอยากสวย ผู้หญิงต้องดูดียังไง แต่งตัวยังไง นี่เป็นโอกาสดีที่ได้กลับมาประเทศไทยอีก ในช่วง 10 ปี ประเทศคุณเปลี่ยนไปเยอะมาก มีร้านค้า ป้ายโฆษณามากมาย ไม่น่าเชื่อเลย นางแบบในป้ายโฆษณาก็ตัวสูง ผิวขาว แถมยังผมทอง เราอยู่ในประเทศไทยนะ ดูเพี้ยนมากๆ

ฉันมีลูกสาวอายุ 11 ขวบ เป็นชาวพม่า เราไปเดินด้วยกันที่สยามเซ็นเตอร์ เธอถามฉันว่า “คุณแม่ ทำไมผู้หญิงในป้ายขาวกันทุกคน” เห็นได้เลยว่า ป้ายพวกนั้นกำลังทำอะไรกับเด็กสาววัยรุ่นไทย มันน่ารังเกียจ และก็เป็นผลงานของบริษัทในประเทศฉันนั่นแหละ

 

มีวิธีการสอนลูกสาวอย่างไร ให้สามารถกลั่นกรองสารจากโฆษณา

ต้องตั้งใจมากๆ เราต้องเล่นเกมวิเคราะห์โฆษณากัน เช่น “ลองสังเกตดูสิ โฆษณาชิ้นนี้พยายามจะหลอกล่อเรายังไง” เธอบอกว่า “ถ้าหนูเชื่อโฆษณาแย่ๆ นั่น หนูก็ต้องสูบบุหรี่ หนูถึงจะมีแฟนหล่อ” ฉันบอกเธอว่า สิ่งสำคัญคือ การมองเข้าไปในตัวเอง ตัดสินว่าเรารู้สึกดีหรือเปล่า คนมักจะมองออกไปรอบข้างเพื่อตัดสินตัวเอง ฉันรู้สึกดีเพราะฉันมีเสื้อสวย ฉันรู้สึกดีเพราะรถฉันสวย

ที่บ้านของเราไม่ดูทีวีกัน ในทีวีทุกๆ 8 นาทีต้องมีโฆษณาโผล่มา เป็นการโฆษณาที่จริงจังมากๆ ตลอดเวลา และเมื่อคุณดูมัน คุณก็รู้สึกแย่กับสิ่งที่มีอยู่ เราแค่ต้องกำจัดทีวีออกไป ฉันแนะนำเลย ถ้าไม่มีทีวี คุณสามารถทำอะไรได้อีกเยอะแยะ

 

ไม่ดูโทรทัศน์ แล้วลูกสาวคุณคุยกับเพื่อนรู้เรื่องไหม

บางครั้งที่เธอไปนั่งดูทีวีกับเพื่อน เธอบ่นตลอดเวลา อาจเป็นเพราะเรียนรู้จากฉันมามาก  (หัวเราะ) เธอสอนเพื่อนน่ะ ให้หัดวิเคราะห์วิจารณ์บ้าง

 

ถามย้อนกลับไปสักหน่อย แรงบันดาลใจสำคัญให้คุณคิดแบบนี้คืออะไร

ฉันโตมาในอเมริกา อยู่ในส่วนที่ยังเป็นธรรมชาติอยู่ ตอนเด็กๆ เราไปแคมปิ้ง ไปเที่ยวป่าฉันชอบอยู่ในป่า แล้ววันหนึ่ง ป่าก็ถูกตัด ฉันสงสัยว่าใครนะตัดต้นไม้ไป พอโตขึ้น ฉันเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในนิวยอร์ก ที่นั่นขยะเยอะมากๆ บนถนนมีกองถุงดำสูงเกือบท่วมหัว ฉันมาจากเมืองเล็กๆ ไม่เคยเห็นอะไรแบบนั้นมาก่อน สงสัยว่าอะไรอยู่ในถุงขยะ ลองเปิดดู มีแต่กระดาษทั้งนั้น เลยเข้าใจว่าพวกเขาตัดต้นไม้กันไปทำไม

ยังสงสัยอีกนะว่า ขยะพวกนี้มันไปไหนต่อ เลยไปที่หลุมทิ้งขยะ

มันสำคัญมากๆ นะที่ทุกคนควรไปเห็นหลุมขยะด้วยตาตัวเอง ทุกทิศทางเต็มไปด้วยขยะ สุดลูกหูลูกตา ทั้งอาหาร เสื้อผ้า รองเท้า หนังสือ ครั้งนั้นมันเปลี่ยนชีวิตฉันไปเลย

ฉันพยายามทำความเข้าใจ ว่ามันเกิดขึ้นได้ยังไง ฉันเริ่มศึกษาว่า สิ่งเหล่านี้มาจากไหน ไปไหนต่อ และเริ่มเดินทางรอบโลก ประมาณ 40 ประเทศ ไปดูโรงงานที่ผลิตสิ่งของเหล่านั้น ไปดูที่ทิ้งขยะมาด้วย พยายามดูว่ามันส่งผลกระทบอะไรบ้าง

จากนั้นเลยกลายเป็นสงสัยไปเรื่อย ว่าสิ่งนี้มาจากไหน ทำจากอะไรบ้าง ใครทำ มันไปไหนเมื่อฉันใช้เสร็จแล้ว และทุกครั้งก็พบกับความน่าประหลาดใจเสมอเลย ฉันมาเอเชียบ่อยขึ้น เพราะอเมริกาส่งขยะจำนวนมากมาที่นี่ เลยต้องตามมาดู คุณจำคลองเตยได้ไหม นานมาแล้วนะ ตอนไฟไหม้ ใครบางคนเอาของเสียเข้ามาจากหลายประเทศ แล้วก็เอามากองไว้ที่ท่าเรือ พอไฟไหม้ก็หายนะเลย สารเคมีรั่วออกมาเยอะมาก

 

annie03

 

พูดถึงการเดินทาง ในฐานะที่ไปหลายประเทศ มีเหตุการณ์อะไรที่โดนใจบ้าง ทั้งดีและไม่ดี

ที่ทำร้ายจิตใจฉันมากเลยคือที่ เมืองโภปาล (Bhopal) ในอินเดียตอนกลาง มีบริษัทอเมริกันตั้งอยู่  พวกเขาผลิตยาฆ่าแมลง มีสารเคมีเยอะมาก แถมมันอยู่กลางเมืองที่มีคนอาศัยมากด้วย เขาจัดการด้านความปลอดภัยได้แย่มากๆ ไม่มีความระมัดระวัง และเขาก็รู้นะว่าไม่ได้มีการป้องกันอะไรเลย มีหลักฐานแสดงไว้มากมาย

แล้วกลางดึกคืนหนึ่ง สารพิษพวกนั้นก็รั่วออกมาจากโรงงาน เข้าไปสู่เมืองที่มีคนจนๆ อาศัยอยู่ คนที่นั่นบอกว่า มีควันลอยมา รู้สึกแสบตาเหมือนถูกเผา ทีแรกนึกว่ามีคนกำลังเผาพริก มันมาเรื่อยๆ จนคนเริ่มวิ่งหนีกัน แต่ก็ไม่รู้ว่าสารพวกนี้มาจากไหน พวกเขาวิ่งหนีไปเป็นชั่วโมงๆ กลุ่มควันเหล่านั้นก็ยังคงไล่ตามมา สุดท้ายคนตายไปเกือบ 20,000 คน มันแย่มากๆ เลย

ฉันเห็นรูปถ่ายของเช้าวันรุ่งขึ้นหลังจากเกิดเหตุ มีเด็กนอนตายอยู่บนถนน พ่อแม่กำลังมองดูศพ มันแย่มาก หมอก็พยายามช่วยคน แต่ไม่มีใครบอกว่าอะไรอยู่ในแก๊ส โรงงานนั้นก็ยังอยู่ที่เดิมนานกว่า 20 ปีแล้ว ยังไม่ยอมเปิดเผยว่าอะไรอยู่ในแก๊สที่รั่วไหลในวันนั้น

ศาลอินเดียเรียกตัวประธานบริษัท แต่เขาไม่มา และยังมีชีวิตอยู่อย่างสบายในอเมริกา นี่แค่ตัวอย่างหนึ่ง ว่าบริษัทใหญ่มองคนจนๆ ไร้ค่า น่าเสียใจมาก ถ้าเป็นในอเมริกา หากโรงงานทำอันตรายคนขาวรวยๆ สัก 20,000 คนนะ ต้องติดคุกแน่นอน แต่นี่เขาสามารถมาฆ่าคนอินเดีย 20,000 คนได้

 

แล้วเรื่องดีๆ?

เรื่องดีๆ ก็มี เพราะในยุคนี้สารเคมีเขียว (Green Chemical) มีมาก ทุกวันนี้ นักเคมีคุยกันว่า เราสามารถพัฒนาเคมีภัณฑ์แบบใหม่ที่ไม่ทำร้ายสุขภาพได้หรือเปล่า เป็นสารชีวภาพ เคมีสีเขียว มันน่าทึ่งมาก เรามีทางที่จะลดอันตรายจากพวกมันลงได้ แน่นอนเรื่องนี้พวกเขาต้องทึ่งมาก สารใหม่ๆ ที่ทำให้ การทาสี ทากาว ไม่เป็นพิษ อีกต่อไป

ในชีวิตประจำวัน เราใช้ผลิตภัณฑ์ที่ประกอบขึ้นมาจากสารเคมีอันตรายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นแชมพูหรือคอมพิวเตอร์ สิ่งเหล่านี้เริ่มถูกพัฒนาขึ้นตั้งแต่ปี 1950 นักเคมีทำให้สิ่งของมีสีสัน แข็งแรง มีรูปร่างเฉพาะ แต่ไม่ได้คิดเรื่องผลกระทบด้านสุขภาพสักเท่าไหร่ ตัวนักเคมีเอง เป็นพวกแรกที่จะได้รับผลกระทบหากเกิดการรั่วไหลของสารพิษ

อีกอย่างหนึ่งที่น่าตื่นเต้นมากคือ ชีวลอกเลียน (Biomimicry หรือ เทคโนโลยีเลียนแบบธรรมชาติ) คือ การศึกษากระบวนการในธรรมชาติ ว่าธรรมชาติมีวิธีการแก้ปัญหาอย่างไร นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากกำลังศึกษาวิธีนี้ เช่น รังมดในทะเลทรายแอฟริกา มันสามารถอยู่ได้ทั้งตอนกลางวันที่ร้อนระอุ และกลางคืนที่หนาวเหน็บ ไม่ต้องใช้เครื่องปรับอากาศด้วย ไม่แน่เราอาจจะสร้างอาคารโดยลอกแบบจากมันก็ได้

หรืออีกตัวอย่างหนึ่งคือ สีดำที่เราใช้ในอุตสาหกรรม เมื่อเราต้องการทำให้ของสิ่งหนึ่งมีสีดังกล่าว มันต้องมีสารพิษแน่นอน แต่การทำชีวลอกเลียนนั้น ต้องศึกษาดูว่าธรรมชาติสร้างสีดำยังไง เช่น ไปดูที่ขนนกยูง ถ้าทำได้ เราก็ไม่ต้องใช้สารเคมี

 

การเดินทางไปทำเรื่องพวกนี้ ในบทบาทนักรณรงค์ คงต้องมีอุปสรรคบ้าง?

มากเลยล่ะ บางบริษัทก็เข้ามาร่วมมือนะ เขาพยายามจะทำให้มันดีขึ้นจริงๆ พยายามจะหาสิ่งมาทดแทนสารเคมีที่เป็นพิษในผลิตภัณฑ์ของเขา แต่กับบางบริษัทก็สนใจแต่ผลกำไรเท่านั้น เขาไม่ได้สนใจที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรเป็นจริงเป็นจังหรอก สมัยที่ จอร์จ ดับเบิลยู. บุช เป็นประธานาธิบดี รัฐบาลก็เป็นอุปสรรคอีกอย่าง เขาไม่ค่อยสนใจสิ่งแวดล้อมเลย ไม่ค่อยสนใจคนด้วย เราก็ทำได้แค่หวังว่า โอบามา จะเป็นมิตรกับเราบ้าง

ฉันคิดว่ารัฐน่าจะทำหน้าที่เป็นผู้ปกป้อง ดูแลสุขภาพของประชาชน และสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่คอยปกป้องผลกำไรของพวกโรงงานบริษัทเหล่านั้น สิ่งนี้แหละคือปัญหาใหญ่ ว่าอะไรคือบทบาทของรัฐบาล

 

แล้ววิธีการใช้ชีวิตแบบคุณ เช่นที่คุณพูด อย่างการทำให้มีของน้อยๆ แต่สนุกเยอะ (less stuff, more fun) ทำได้อย่างไร

เป็นเรื่องน่าสนใจมาก เพราะทุกวันนี้เราถูกยัดเยียดด้วยข้อความที่ว่า “มีของเยอะๆ สิ ถึงจะสนุก” สิ่งหนึ่งที่เราจะสามารถทำเพื่อหยุดข้อความนั้นได้คือ ต้องไม่ให้มีการโฆษณามากขนาดนั้น ลองคิดดูสิว่า ถ้าป้ายโฆษณาพวกนั้นบอกให้เรารักโลก เคารพโลกบ้าง ทำดีต่อกัน และคุณก็สวยอย่างที่คุณเป็น แต่มันไม่ใช่อย่างนั้นเลยสักนิด

ที่เมืองไทย ฉันขับรถมาจากสนามบิน มีป้ายขนาดยักษ์เต็มไปหมด หลายประเทศในโลกไม่อนุญาตให้ทำอย่างนี้แล้ว พวกนักโฆษณาเก่งๆ จะมุ่งเป้าไปที่เด็กๆ คอยสอนพวกเขาให้เข้าสู่วิถีแห่งการบริโภค ฉันช็อกมากนะ กับป้ายโฆษณาในประเทศของคุณ มีแม้กระทั่งข้างตึก ในประเทศอังกฤษ มีมูลนิธิหนึ่งทำรายงานเรื่องดัชนีความสุขออกมาทุกๆ ปี ดูว่าประเทศต่างๆ มีความสุขกันอย่างไร โดยเทียบกับปริมาณทรัพยากรที่ใช้ไป มีการจัดอันดับ ปีที่แล้วมีทั้งหมด 178 ประเทศ อเมริกาอยู่ที่ 158 เข้าใจว่าประเทศที่อยู่เหนือกว่าประเทศของฉันต้องมีความสุขกว่าและใช้ทรัพยากรน้อยกว่าแน่ๆ

อันดับหนึ่งเลยคือ คอสตาริกา เขามีความสุขมากกว่าอเมริกา ใช้ทรัพยากรแค่ร้อยละ 25 ของอเมริกา ประเทศไทยของคุณอยู่อันดับที่ 32 ดั้งนั้นไทยดีกว่าอเมริกามากๆ แสดงว่าคุณมีความสุขมากกว่าทรัพยากรที่คุณใช้ไป มีการจัดการทรัพยากรให้กลายเป็นความสุขของคนได้ดีมากๆ แต่ฉันสงสัยเหลือเกิน ว่าทำไมคุณถึงต้องพัฒนาไปตามแบบที่เราทำ บริโภคนิยม อย่าทำตามอย่างเราเลย มันจะทำให้คุณมีความสุขน้อยลงนะ

 

annie5

 

เมื่อคุณรู้มากขึ้น มันทำให้การใช้ชีวิตยากขึ้นไปด้วยหรือเปล่า

ไม่หรอก แต่บางทีก็เหนื่อยนะ เหมือนจะเป็นไมเกรน เพราะทุกครั้ง ฉันชอบคิดว่า ไอ้ของสิ่งนี้มันมาจากจีน มาจากมาเลเชีย แล้วพอใช้เสร็จแล้วก็จะต้องไปสู่หลุมขยะ ไปถมที่ หยุดคิดไม่ได้เลย ว่ามันมาจากไหนแล้วไปไหนต่อ บางทีฉันก็อยากให้สมองหุบปากบ้าง (หัวเราะ)

ทั้งนี้ มันเป็นวิธีการใช้ชีวิตที่น่าสนใจนะ เพราะฉันเดินทางไปเรื่อยๆ ไม่ได้ไปเที่ยวดูวัด ดูทะเล หาดทราย แต่ฉันไปดูหลุมขยะ โรงงาน คนเราจำเป็นต้องมองให้เห็นมากกว่าสังคมรอบๆ ตัว

 

แล้วบอกตัวเองอย่างไร ทำอย่างไรให้ชีวิตสมดุล

สิ่งสำคัญเลยคือ อย่าโทษตัวเองเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม สิ่งหนึ่งที่พวกบริษัทมักจะทำกันคือ บอกว่าเรื่องพวกนี้เป็นปัญหาของพวกคุณ ขยะเกิดขึ้นเพราะพวกคุณเลือกใช้ถุงพลาสติกเอง เพราะคุณใช้แท็กซี่แทนที่จะขี่จักรยาน เรามีส่วนตัดสินใจหรือว่าจะใส่อะไรในครีมนวดผม จะผลิตคอมพิวเตอร์อย่างไรให้ตกรุ่นภายในสองปี เปล่าเลย บริษัทเหล่านั้นต่างหาก

บางทีฉันก็ทนไม่ได้นะ ที่เห็นนักสิ่งแวดล้อมบางคนคิดว่า เราสามารถแก้ปัญหาได้ด้วยการปิดไฟในห้อง การเปลี่ยนหลอดไฟเป็นแบบประหยัด การขี่จักรยานแทนขับรถ แม้เราทำทุกอย่างที่ว่านี่แล้วมันก็ยังไม่พอหรอก เหมือนการว่ายทวนน้ำ กระแสของเศรษฐกิจมันถาโถมมาที่เรา

โครงสร้างเศรษฐกิจต่างหาก ที่ควรจะเปลี่ยน ไม่ใช่เรา

ฉันไม่ชอบเลย รายการของพวกนักสิ่งแวดล้อมทั้งหลาย อย่าง 10 วิธีช่วยโลก พกขวดน้ำไปดื่มเอง ขี่จักรยาน ปิดน้ำตอนแปรงฟัน อาบน้ำน้อยๆ แน่นอน เราควรทำเรื่องพวกนี้ แต่นั่นไม่ได้ช่วยให้ระบบที่ใหญ่กว่าดีขึ้นเลย ถ้าจะช่วย ต้องไม่สร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม ไม่เอาสารเคมี ต้องทำเรื่องใหญ่ถึงจะเปลี่ยนได้ ไม่ใช่ปิดก๊อกน้ำ ใช่…เราควรทำ แต่มันช่วยเราไม่ได้มากหรอก

 

ทั้งที่รู้ว่าสารเคมีในเครื่องใช้หลายอย่างเป็นพิษ แต่ดูเราจะเลี่ยงยาก

อย่าง PVC ก็เลี่ยงยาก มันเป็นพลาสติกที่เป็นพิษ หลายคนรู้ว่าอันตราย ขวดน้ำก็มีพลาสติกหลายแบบ คุณจะรู้ได้จากกลิ่น มันเหมือนม่านห้องน้ำใหม่ๆ กลิ่นนั่นแหละคือสารเคมีที่ลอยออกมา ในอเมริกา ขวดพลาสติกจะมีหมายเลขกำกับอยู่ใต้ขวด เพราะตอนเราเอามันไปรีไซเคิล เราต้องแยกมันออกจากกัน เบอร์ 1 เป็น PET, เบอร์ 2 เป็น HDPE และเบอร์ 3 เป็น PVC  ซึ่งเป็นพิษ เราต้องเลิกใช้มันในวันข้างหน้า

ฉันไปทดสอบสารพิษในตัวมา ตรวจจากเลือด จากเส้นผม ฉันไม่ได้อยากให้ใครต้องมาเคร่งแบบฉันนะ ผลปรากฏว่ามีสารพิษในตัวมากทีเดียว ทั้งที่รู้นะ ฉันไม่ใช้ PVC ไม่ใช้กระทะเทฟลอน ไม่ใช้สเปรย์ฉีดผม ฉันเข้มงวดมากไม่ให้ของพวกนี้เข้ามาในบ้าน แต่ร่างกายฉันก็ยังมีสารพิษมากมายอยู่ดี

เรื่องพวกนี้สำคัญมาก เพราะคนส่วนใหญ่คิดว่า สามารถหลีกเลี่ยงอันตรายได้ ถ้าเขาเรียนรู้มามากพอ ถ้ามีทางเลือกที่ดีในร้านขายของ และถ้ารวย เขาอาจจะซื้อผลิตภัณฑ์ธรรมชาติใช้ แต่มันเป็นไปไม่ได้ที่คุณจะป้องกันตัวเอง เมื่อคุณอาศัยอยู่ในระบบเศรษฐกิจยุคใหม่ คนทั้งโลกมีสารพิษอยู่ในตัวกันทั้งนั้น

ในเด็กแรกเกิดนี่แย่ทีเดียว มีการตรวจเลือดเด็กเกิดใหม่ในอเมริกา พบว่ามีสารพิษทั้งทางเกษตรและอุตสาหกรรมอยู่ในเด็กแรกเกิด 287 ชนิด หมายความว่าเด็กที่เพิ่งเกิดมาก็มีมลทินเรียบร้อยแล้ว นั่นคือเหตุผลว่า ทำไมถึงเป็นไปไม่ได้ โดยแค่ให้มีทางเลือกที่ดีกว่าในร้านค้า  เราต้องกำจัดสารพิษเหล่านี้ออกไป

 

เด็กแรกเกิดมีสารพิษ หมายความว่า มันมาจากน้ำนมแม่หรือ

น้ำนมแม่นี่ล่ะคือพาหะสารพิษเลย เพราะน้ำนมแม่จะรวมพิษทุกอย่างที่คุณรับมา คุณรับมาจากควันรถ จากผลิตภัณฑ์ต่างๆ แล้วก็มารวมในน้ำนม ฉันคิดว่าทุกประเทศควรต้องมีการตรวจน้ำนมแม่ทุกๆ ปี ถ้ามันมีปริมาณมากขึ้น รัฐบาลควรเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมมากขึ้น หรือเลิกใช้สารพิษไปเลย

 

มาที่เรื่องแอนิเมชั่นของคุณ งานชิ้นไหนถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด

ทั้งหมดนั่นแหละ (หัวเราะ) สำหรับคนที่ไม่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือเรื่องสุขภาพ แต่คนส่วนใหญ่ก็ชอบนะ ทุกวันนี้ ‘เรื่องราวข้าวของ’ มีคนดูมากกว่า 12 ล้านคนแล้ว มหัศจรรย์มาก

 

แล้วอะไรเป็นตัวจุดประกายให้ทำ ‘เรื่องราวของเครื่องสำอาง’

เพราะตอนที่ทำ ‘เรื่องราวข้าวของ’ ยังมีคนดูวันละเป็นหมื่น ตั้งเกือบสามปีมาแล้ว เลยคิดว่าถ้ามีคนเข้ามา ก็ควรให้เขาได้อะไรใหม่ๆ บ้าง เราหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะเป็นปัญหาที่ใหญ่ขึ้นไปอีก เรื่องเครื่องสำอางจะสะท้อนมุมมองเกี่ยวกับเรื่องสารเคมีที่เป็นพิษ

แล้วก็มี ‘เรื่องราวของขวดน้ำ’ พวกคุณคงเคยดูกัน รู้สึกจะมีเป็นภาษาไทยแล้ว นั่นเป็นเรื่องเกี่ยวกับกระบวนการการผลิต บริษัท-โรงงาน ล่อลวงคุณยังไง ให้ซื้ออะไรสักอย่าง ทั้งที่จริงๆ แล้วเราได้มันมาเกือบฟรี อย่างในอเมริกา เกือบทุกคนมีน้ำก๊อกที่สะอาดมากๆ ดื่ม แต่คนก็ต้องขับรถไปที่ร้าน เพื่อไปซื้อน้ำขวด ฉันรู้สึกว่า โอ้…พระเจ้า มีโฆษณาชิ้นหนึ่งบอกว่า ‘น้ำก๊อกในบ้านคุณ มาจากที่เดียวกับน้ำในส้วม คุณอยากดื่มมันหรือเปล่า’ มันเป็นการชี้นำผิดๆ

เรื่องล่าสุดที่ทำคือ ‘เรื่องราวของเครื่องใช้ไฟฟ้า’ เกี่ยวกับว่า ทำไมมันพังเร็ว ตอนคุณซื้อโน้ตบุ๊คเครื่องหนึ่ง คุณใช้มันได้นานเท่าไหร่กัน บางทีอาจจะสองปี มันแย่มาก ใช้วัสดุตั้งมากมายผลิตขึ้นมา ควรจะใช้ได้สัก 10 ปีด้วยซ้ำ ลองคิดดูสิ แค่ชิ้นส่วนเดียวพัฒนาไป น่าจะเอาชิ้นนั้นออกแล้วเปลี่ยนใหม่ได้ แต่กลายเป็นเรื่องของการล้าสมัย ฉันเคยพูดไว้แล้วใน ‘เรื่องราวข้าวของ’ ล้าสมัยแปลว่า คุณไม่ต้องการมันแล้ว

อย่าง Apple พอทำโทรศัพท์อย่าง iPhone ออกมา คนใช้กันเป็นพันล้าน ตอนออก iPhone3 มา คนก็ว่าดีกันแล้ว แต่เมื่อเขาปล่อย iPhone4 ออกมา คนเป็นล้านแห่กันออกมาซื้อตั้งแต่สัปดาห์แรกที่ออกมาเลย ทั้งๆ ที่ตอนนั้นใครๆ ก็มี iPhone3 กันอยู่ ยังซื้อของใหม่ไปอีก การออกแบบเครื่องใช้ไฟฟ้าสมัยนี้ต้องคิดถึงเรื่องการทำให้มันล้าสมัย ทั้งๆ ที่เราต้องการให้ของเหล่านั้นปลอดภัย ใช้ได้นานๆ เพราะเดี๋ยวนี่เครื่องใช้ไฟฟ้ามีสารพิษอยู่มากมาย และคุณโยนมันทิ้งไปหลังจากใช้มาสองปี

 

คุณคิดว่านักออกแบบผลิตภัณฑ์ควรต้องรับผิดชอบกับเรื่องนี้?

ใช่เลย มันเป็นความรับผิดชอบที่ใหญ่มากๆ นั่นคือจุดสำคัญที่จะเปลี่ยนผลิตภัณฑ์นั้นไปเลยทีเดียว ถ้าคุณคำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่มาจากผลงานของคุณ ร้อยละ 80 ของปัญหาสิ่งแวดล้อมถูกตัดสินมาตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบแล้ว เพราะนักออกแบบไม่ได้คิดว่าวัสดุอะไรที่นำมาใช้ แล้วมันง่ายต่อการนำไปรีไซเคิลหรือเปล่า

ยกตัวอย่างโทรศัพท์มือถือนี่ ถ้าเป็นการใช้พลาสติกชนิดเดียวกันทั้งหมด มันจะง่ายมากหากนำไปรีไซเคิล แต่นี่เป็นหลายวัสดุ นำไปรีไซเคิลก็ไม่ได้ เราต้องเรียกร้องให้พวกเขาทำให้มันออกมาดีกว่านี้ในสองทาง คือในฐานะผู้บริโภค เราต้องเลือกว่าเราจะซื้ออะไร เราต้องการการเอาใจใส่สิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น และในฐานะที่สำคัญมากคือ ฐานะพลเมือง เราต้องบอกให้รัฐบาลควบคุมให้พวกเขา ‘เขียว’ กันให้มากขึ้น เพราะเราเห็นมาซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า พวกเขาไม่ชอบทำตัวเขียวด้วยตัวเองหรอก ถ้าไม่มีมาตรการจากรัฐมาบังคับ มีกฎหมายมาควบคุม

ในยุโรป มีการผ่านกฎหมายห้ามใช้สารพิษในเครื่องใช้ไฟฟ้า บริษัทผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ก็เลยไม่ใช้สารพิษกับสินค้าที่ขายในยุโรป แต่เขายังใช้กับเรา เราบอกเขาให้เอาสารพิษออกไป เขาตอบกลับมาว่า เป็นไปไม่ได้หรอก แต่กับยุโรป เขายอมทำตามโดยดี เราจะทำอะไรได้ เช่นเดียวกันกับเครื่องสำอาง มีสารเคมีกว่า 1,000 ชนิดถูกห้ามใช้ในยุโรป แต่ในอเมริกาห้ามแค่ 12 ชนิดเอง เราก็ไปบอกเขาว่า เอาสารพิษออกไปเถอะ เขาก็ตอบกลับเหมือนเดิมว่า ไม่มีทาง เขาคิดว่าเราโง่มากนะนี่

annie01

 

คุณเชื่อว่าชีวิตมีทางเลือกหรือเปล่า

ใช่ ชีวิตควรมีทางเลือก และสำคัญเลยว่ามันควรเป็นทางเลือกที่ดีขึ้นด้วย แต่ต้องจำไว้ว่าทางเลือกนั้นมีผลกระทบกลับมาหรือไม่ พวกนักออกแบบ หรือรัฐบาลก็มีทางเลือก และทางเลือกของพวกเขาก็ส่งผลกระทบมากๆ ด้วย ในขณะที่เราทำได้แค่บอกเพื่อนให้เลือกทางที่ถูก เราต้องไปบอกบริษัทให้เลือกทางที่ถูกต่างหาก เพราะเราทำแล้วมันเปลี่ยนได้แค่นิดเดียว แต่หากพวกเขาทำ การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นใหญ่โตมาก

สตีฟ จอบส์ ฉันเกลียดหมอนี่มาก Apple ผลิตขยะเยอะมาก พวกนี้ชอบทำให้คิดว่าใช้ของเขาแล้วเจ๋ง บ้านคุณนี่มีโฆษณา Apple ทุกที่เลยนะ นี่มันไม่ใช่เรื่องของการใช้งานแล้ว มันเป็นเรื่องของแฟชั่น เขาต้องรับผิดชอบกับวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไป สมัยก่อนเรามีโทรศัพท์ไว้คุยกัน แต่ตอนนี้เรามีโทรศัพท์มือถือเพื่อความเจ๋ง

 

เคยได้ยินเรื่องโรงงาน iPhone ในประเทศจีนไหม

เพิ่งมีคนส่งรูปถ่ายของที่นั่นให้ฉันเมื่อวานนี้เอง เรื่องฆ่าตัวตาย ได้ข่าวว่าต้องมีการเซ็นสัญญาแล้วว่า ถ้าคุณทำงานที่นี่ จะต้องไม่ฆ่าตัวตาย มันบ้ามาก

ฉันมีเพื่อนหลายคนที่รู้เรื่องอีเล็กทรอนิกส์ เขาบอกว่าเหตุผลที่คนฆ่าตัวตาย ก็เพราะแรงกดดันที่ต้องทำงานด่วนมากๆ ถ้าอยากให้ธุรกิจดี ต้องดูเรื่องเรื่องสุขภาพในการทำงานด้วย ไม่ใช่ทำงานมากๆ จนต้องโดดตึกตาย แล้วการแก้ปัญหาของ Apple คือเอาตาข่ายมากันคนโดด

ฉันอยู่ในแคลิฟอร์เนีย ใกล้ สตีฟ จอบส์ นั่นแหละ มีป้ายโฆษณา iPad อยู่ทุกที่เลย ฉันลองนับดู วันนึงเห็นตั้ง 18 ป้าย ฉันก็เลยคิดว่า ถ้าป้ายทั้ง 18 อันนั้นบอกว่า ‘อย่าโยนโทรศัพท์ของคุณทิ้ง จนกว่ามันจะพังนะ’ คงจะดี

 

ถ้าคุณกลับมาประเทศไทยอีกครั้งใน 10 ปีข้างหน้า คุณจินตนาการถึงเรายังไงบ้าง

ฉันหวังว่าคุณคงมีป้ายโฆษณาน้อยลงนะ (หัวเราะ) ทุกที่เลย แล้ว สยามเซ็นเตอร์ จะกลายเป็นสวนชุมชน ห้องสมุดให้นั่งอ่านหนังสือกัน แต่เรื่องดีๆ ก็รถไฟฟ้าบีทีเอสนี่ล่ะ วิเศษมาก ดีกว่าที่ฉันมาคราวก่อนเยอะเลย คุณล่ะอยากเปลี่ยนอะไรในเมืองไทยบ้าง?

 

แหม…คำถามยากมาก (หัวเราะ)

รู้ไหม ที่อเมริกาผู้หญิงอยากจะผิวสีแทนกัน เขามองว่าผู้หญิงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สวยกว่าเขามาก เหมือนลูกสาวฉันที่เป็นพม่า ใครๆ ก็บอกว่าเธอสวยมาก คือที่นั่น ใครๆ ก็อยากสวยเหมือนคนไทย แต่นี่คนไทยอยากขาว จนต้องใช้ครีมทาผิวขาว

 

ในความเห็นคุณ นิยามความสวยคืออะไร

คนสวยคือ สุขภาพดี เข้มแข็ง ยิ้มง่าย แต่กับบางคน ต้องมีของแพงๆ มันหลากหลายมากๆ ยิ่งถ้าคุณมีลูกสาวนะ จะมีข้อความโฆษณากรอกใส่หูพวกเธอเยอะแยะเลย คุณต้องเข้มแข็งแต่ไม่ใช่เข้มงวดเกินไป ข้อความพวกนั้นพยายามจะเปลี่ยนเธอให้กลายเป็นสาวสังคม

 

พอรู้ราคาที่แท้จริงของเหล่าข้าวของไหม

ตอนทำ ‘เรื่องราวข้าวของ’ ฉันให้นักเศรษฐศาสตร์มาช่วยวิเคราะห์มูลค่าที่แท้จริงของโน้ตบุ๊คเครื่องหนึ่ง พอเริ่มทำกันไปก็พบว่า มันเป็นไปไม่ได้ เพราะเราต้องรวมมูลค่าไปถึงเด็กในคองโก ที่ต้องเลิกเรียนไปทำงานในเหมือง รวมถึงคนงานเหมืองในแอฟริกาที่ต้องเสียแขนไป ต้องรวมคนงานที่โดดตึกในจีนด้วย และเพราะเขาหายใจเอาสารพิษเข้าไป และโรงงานเหล่านั้นก็ปล่อยสารพิษลงในแม่น้ำ ทั้งในจีน และอินเดีย

เขาดูมูลค่าของโน้ตบุ๊คโดยศึกษาวัสดุเจ็ดชิ้น ที่ก่อให้เกิดมลพิษเจ็ดอย่าง แล้วพบว่า โน้ตบุ๊คเครื่องหนึ่งมีมูลค่ามากกว่าราคาของมัน ถึง 10 เท่าเลยทีเดียว นั่นดูแค่ปัจจัยเจ็ดอย่างเท่านั้นนะ

เมื่อเราซื้อโน้ตบุ๊คเครื่องหนึ่งราคา 1,000 – 2,000 ดอลลาร์ เราไม่ได้จ่ายค่าตัวเครื่อง แต่คนงานเหมืองในคองโก ในแอฟริกา คนงานในจีนต่างหากที่จ่าย แม้เราจะมองไม่เห็นพวกเขา แต่เราทิ้งพวกเขาไม่ได้

 

คุณมีเครดิตการ์ดไหม

มี แต่ฉันก็คิดจะทำหนังเกี่ยวกับเครดิตการ์ดเหมือนกัน เพราะฉันคิดว่ามันอันตรายมาก จริงๆ แล้วฉันคิดว่าคุณควรไปดูที่ทิ้งขยะก่อนจะมีเครดิตการ์ดใบแรก ฉันมีเครดิตการ์ดเพราะเดินทางบ่อย แต่ไม่เคยเป็นหนี้นะ สิ้นเดือนจ่าย ก็จบ แต่ในอเมริกาผู้คนเสพติดการบริโภคมาก มันล่อให้ติดกับของการบริโภคเลยทีเดียว ฉันคิดว่ามันเป็นปีศาจนะ มันทำให้เราเหมือนจะได้มันมาฟรีๆ

 

ในโลกสมัยใหม่ เราจะสามารถจบวงจรอุบาทว์ อย่างการทำงาน ดูทีวี ช็อปปิ้ง ได้ไหม

ฉันคิดว่าเราทำได้หลายอย่างเลยทีเดียว ทางหนึ่งเลยก็เลิกดูทีวี เพราะในทีวีมีข้อความมากมาย ทำให้คุณต้องซื้อมากขึ้น นักวิทยาศาสตร์ในอเมริการทำวิจัยเรื่องการดูทีวี ถ้าดูทีวีมาก คุณจะรู้สึกว่า ผู้คนนี่ช่างรวยกว่าที่เป็นนะ คุณจะรู้สึกว่าคุณจน รู้สึกแย่ ฉันล่ะงงว่าทำไมคนชอบนั่งอยู่หน้ากล่องที่ทำให้คุณรู้สึกแย่ การดูทีวีน้อยๆ น่าจะเป็นทางออกที่ดี

อีกทางคือ การสร้างสังคมใหม่ มันเกิดขึ้นแล้วในอเมริกา ฉันหวังว่ามันจะได้ผลที่นี่ คือเราดูทีวีวันละห้าชั่วโมง ช็อปปิ้งอีก เราใช้เวลากับครอบครัว กับสังคมน้อยลง พ่อแม่บางคนใช้เวลากับลูกแค่ 20 นาทีต่อวัน เราไม่รู้จักเพื่อนบ้านอีกต่อไป คือ เราอาจจะรู้จักแต่เราจะไม่ใกล้ชิดขนาดหยิบยืมของกันได้ ทานมื้อเย็นด้วยกันได้ เรามีเพื่อนน้อยลง

เรามีของมาก เรามีเครื่องใช้ไฟฟ้ามาก แต่เรามีเพื่อนน้อยลง เรามีบ้านใหญ่ มีรถคันใหญ่ แต่เราก็มีเพื่อนน้อยลง สิ่งสำคัญที่เราสามารถทำได้คือ ใช้เวลากับเพื่อน เพราะมันสนุกกว่าโดยไม่ต้องซื้อของมากๆ

 

แต่เรามีเพื่อนในเฟซบุ๊คเยอะ (หัวเราะ)

เฟซบุ๊คเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์มาก มันช่วยคุณการจัดการอะไรได้หลายอย่าง แบ่งปันข่าวสารได้ แต่ฉันคิดว่ามันไม่สามารถมาแทนเพื่อนจริงๆ ได้หรอก มันสำคัญมากที่คุณจะต้องใช้เวลากับเพื่อน

นักวิทยาศาสตร์เคยวิจัยเรื่องความสุข สรุปว่าคนไม่ได้มีความสุขกับ iPad หรือรถคันใหญ่ๆ แต่สิ่งที่ทำให้คนมีความสุขคือ คุณภาพของความสัมพันธ์ในสังคม เพื่อนและครอบครัว คืออันดับหนึ่ง

annie4

 

(หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกในนิตยสาร WAY ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2553)

Author

รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์
จากผู้อ่าน WAY อดีตภูมิสถาปนิก ตัดสินใจเปลี่ยนชีวิตมาทำงานหนังสือ ต้นทุนด้านการอ่าน ความสนใจที่หลากหลายและลงลึก เขาจึงเป็นตัวจักรสำคัญที่ทุกคนในองค์กรยอมรับ ยกเว้นรสนิยมทางดนตรี เพราะทุกวันนี้ยังต้องใส่หูฟังคนเดียวเงียบๆ

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า