‘ธรรมนูญสุขภาพ’ กติกาจัดการขยะของคนอ่าวนาง

ขณะที่คนทั้งประเทศกำลังโศกเศร้ากับการจากไปของ ‘มาเรียม’ พะยูนน้อยวัย 9 เดือน ทีมสัตวแพทย์ก็ได้เผยผลการผ่าชันสูตรพบเศษพลาสติกอุดตันปลายลำไส้ใหญ่ และเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนจนถึงแก่ความตาย ข้อค้นพบจากหลักฐานนี้ทำให้ผู้คนตระหนักได้ทันทีว่า ‘ขยะพลาสติก’ คือตัวการสำคัญของโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับพะยูนมาเรียม และถือเป็นอีกหนึ่งบทเรียนที่ตอกย้ำว่า ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนต้องลุกขึ้นมาช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมให้กับท้องทะเลไทยอย่างจริงจังเสียที

รูปธรรมหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้วและทำได้จริง ปรากฏให้เห็นที่ตำบลอ่าวนาง อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ เมื่อคนทั้งตำบลพร้อมใจกันจัดการขยะมูลฝอยในพื้นที่ให้เป็นระบบระเบียบ ภายใต้ข้อตกลงหรือกติกาของคนในตำบลที่เรียกว่า ‘ธรรมนูญสุขภาพ’ ที่ชาวบ้านมีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตัดสินใจ และร่วมรับผิดชอบปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ของตนเอง

กิจกรรมสื่อมวลชนสัญจร ‘ธรรมนูญเขยื้อนขยะ สร้างสุขภาวะคนอ่าวนาง’ ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เมื่อวันที่ 13-14 สิงหาคมที่ผ่านมา พาไปติดตามดอกผลจากการใช้เครื่องมือธรรมนูญสุขภาพระดับตำบลในการจัดการปัญหาขยะมูลฝอยในพื้นที่ท่องเที่ยวชื่อดัง เพื่อพิสูจน์ว่าพวกเขาทำงานกันอย่างไรและเห็นผลสัมฤทธิ์มากแค่ไหน

ขยะเมื่อวันวาน

หลายคนอาจจินตนาการไม่ออกว่า ตำบลอ่าวนางที่สวยงามสะอาดตาอย่างที่เห็นอยู่นี้ จะเคยเผชิญวิกฤติขยะเกลื่อนเมืองหนักหนาเพียงไร โดยเฉพาะตำบลนี้เป็นพื้นที่พิเศษที่มีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆ หลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา หมู่เกาะพีพี หาดไร่เลย์ ทะเลแหวก ซึ่งต้องรับมือกับปริมาณนักท่องเที่ยวมหาศาลในแต่ละปี

ปรีชา ปานคง อดีตผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านและประธานกลุ่มชุมชนต้นแบบ หมู่ 5 เล่าให้ฟังว่า หากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้เมื่อสัก 5 ปีที่แล้ว สภาพของตำบลอ่าวนางในอดีตนั้นเต็มไปด้วยความสกปรกเลอะเทอะตลอดสองข้างทาง ชาวบ้านทิ้งขยะเรี่ยราดจนล้นออกมานอกถัง บ้างก็เผาขยะริมถนน บ้างปล่อยน้ำเสียลงคูคลองออกทะเล เกิดเป็นมลพิษทางสิ่งแวดล้อมและส่งผลเสียต่อสุขภาพตามมา

“อ่าวนางเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของประเทศ ถ้าชาวต่างชาติเขามาเที่ยวแล้วเห็นกองขยะเรี่ยราดแบบนี้ เราในฐานะที่เป็นเจ้าบ้านก็รู้สึกอายแทนชาวบ้าน เลยต้องหาวิธีชักชวนชาวบ้านให้ลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง”

เมื่อถามผู้นำชุมชนอย่างโต๊ะอิหม่าม สัมพันธ์ ช่างเรือ ก็ได้รับคำยืนยันเช่นเดียวกันว่า คนในชุมชนล้วนเห็นพ้องกันว่า ขยะเป็นสิ่งสกปรก นำมาซึ่งเชื้อโรคและคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่ ฉะนั้น การแก้ปัญหาขยะจึงเป็นหน้าที่ที่ทุกคนต้องช่วยกัน โดยวิธีที่ดีที่สุดคือนั่งลงพุดคุยแลกเปลี่ยนกันอย่างสันติ

หน่วยงานระดับท้องถิ่น คือหนึ่งในตัวแปรที่มีบทบาทสำคัญในการจัดการขยะ พันคำ กิตติธรกุล นายก อบต.อ่าวนาง ให้ข้อมูลว่า กว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของขยะทั้งหมดในจังหวัดกระบี่อยู่ที่ตำบลอ่าวนาง โดยมีปริมาณขยะมูลฝอยเฉลี่ยวันละ 65-70 ตัน ซึ่ง อบต.อ่าวนาง ต้องสูญเสียงบประมาณในการจัดการไม่ต่ำกว่าปีละ 28 ล้านบาท

ที่ผ่านมา อบต.อ่าวนาง ได้พยายามรณรงค์ทุกช่องทาง เริ่มจากให้ชาวบ้านทิ้งขยะเป็นเวลา ให้ความรู้เรื่องการคัดแยกขยะในครัวเรือน จัดทำโครงการขยะแลกไข่ โครงการชุมชนต้นแบบ และอื่นๆ อีกหลายโครงการ อีกทั้งนำมาตรการทางกฎหมายมาบังคับใช้ แต่ไม่ว่าจะใช้ไม้แข็งหรือไม้อ่อนก็ยากที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชาวบ้านได้ สุดท้าย อบต.อ่าวนาง จึงปรับแนวคิดด้วยการใช้กระบวนการมีส่วนร่วมในการจัดการขยะ แทนที่จะให้หน่วยงานรัฐหรือ อบต. คิดให้ทั้งหมด

พันคำอธิบายว่า การใช้หลักการมีส่วนร่วมมีผลให้ชาวบ้านรู้สึกรับผิดชอบมากขึ้น เกิดจิตสำนึก เกิดความตระหนัก เพราะเป็นมาตรการทางสังคมที่ชาวบ้านช่วยกันกำหนดและออกแบบขึ้นมาเอง ฉะนั้น คนในชุมชนจึงเคารพในกติกานี้

“เราจัดเวทีประชาคมพูดคุยกับทุกภาคส่วนในพื้นที่และได้นำเครื่องมือภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ซึ่งก็คือธรรมนูญสุขภาพตำบลเข้ามาสนับสนุนการทำงาน โดยทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าปัญหาขยะและน้ำเสียคือสิ่งที่ทุกคนอยากให้แก้ไข” นายก อบต.อ่าวนาง กล่าว

อีกด้านหนึ่งตำบลอ่าวนางยังได้รับการสนับสนุนจากสมัชชาสุขภาพจังหวัดกระบี่ที่มี นพ.วีรพงศ์ สกลกิติวัฒน์ เป็นประธาน ซึ่งมีส่วนช่วยในการผลักดันให้เกิดกระบวนการยกร่างธรรมนูญสุขภาพขึ้น แม้ในช่วงแรกชาวบ้านส่วนใหญ่อาจยังไม่เข้าใจนักว่าธรรมนูญสุขภาพคืออะไร แต่เมื่อมีการล้อมวงพูดคุยและเปิดโอกาสให้แสดงความเห็น ไม่ว่าจะเป็นแกนนำชุมชน หน่วยราชการ โรงเรียน ผู้นำศาสนา ผู้ประกอบการ ห้างร้านต่างๆ ทำให้ทุกฝ่ายเริ่มมองเห็นปัญหาร่วมกัน นำมาสู่การร่างกติกาและแนวทางปฏิบัติที่คนทั้งตำบลให้การยอมรับ

จนถึงวันนี้หากใครได้มีโอกาสไปเที่ยวชมตามแหล่งท่องเที่ยวและชุมชนในตำบลอ่าวนาง จะเห็นได้ว่าตลอดสองข้างทางแลดูสะอาดตา ปราศจากทัศนอุจาด เพราะคนทั้งตำบลล้วนเข้าใจปัญหาและได้ทำสัญญาใจไว้ต่อกันภายใต้ธรรมนูญสุขภาพ เมื่อทุกฝ่ายให้ความร่วมมือทำให้ตำบลอ่าวนางสามารถลดปริมาณขยะลงได้กว่า 70 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

ธรรมนูญสุขภาพตำบลอ่าวนาง

ธรรมนูญสุขภาพ หมู่ 5 บ้านทุ่ง ตำบลอ่าวนาง ประกาศใช้เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 แบ่งออกเป็น 7 หมวด รวมทั้งสิ้น 34 ข้อ โดยมีข้อบัญญัติที่เกี่ยวข้อง อาทิ

  • ข้อ 3 ประชาชน/สถานประกอบการต้องมีส่วนร่วมในการรักษาความสะอาดเรียบร้อย และห้ามทิ้งขยะลงบนถนน ไหล่ทาง ที่สาธารณะ หากไม่ปฏิบัติตามต้องยินยอมเสียค่าปรับ ครั้งละ 2,000 บาท และเทศกิจหรือผู้ที่สามารถชี้ตัวผู้กระทำผิดและสามารถเอาผิดกับผู้กระทำผิดได้ จะได้รับเงินรางวัลส่วนแบ่งจากค่าปรับ จำนวน 1,000 บาท
  • ข้อ 4 ครัวเรือนและสถานประกอบการทุกแห่งต้องนำขยะมูลฝอยบรรจุใส่ถุงดำและผูกปากถุงให้มิดชิด และนำมาวางหน้าบ้านตนเองริมเส้นทางจราจร หรือจุดที่กำหนด ระหว่างเวลา 19.00-24.00 น.
  • ข้อ 15 ครัวเรือนและสถานประกอบการมีส่วนร่วมในการลดปริมาณขยะมูลฝอย ณ แหล่งกำเนิด โดยลดปริมาณการใช้ มีการคัดแยกขยะในครัวเรือนของตนเอง และส่งเสริมให้มีการนำขยะไปเพิ่มมูลค่า

‘สายตรวจซาเล้ง’ นวัตกรรมแปลงขยะเป็นทุน

การแก้ปัญหาขยะของ อบต.อ่าวนาง ไม่เพียงจะสร้างความร่วมมือกับประชาชนและภาคธุรกิจเอกชนแล้ว ยังมีการสร้างนวัตกรรมในการจัดการขยะที่เรียกว่า ‘โครงการสายตรวจซาเล้ง’ เมื่อเดือนเมษายน 2562 โดยการจัดระเบียบผู้ประกอบอาชีพเก็บของเก่าให้มาช่วยคัดแยกขยะอย่างถูกวิธีตั้งแต่ต้นทาง

สุพจน์ ชดช้อย รักษาการผู้อำนวยการกองสาธารณสุข อบต.อ่าวนาง เล่าว่า ปริมาณขยะที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ นั้นส่วนหนึ่งมาจากนักท่องเที่ยวและอีกส่วนก็มาจากคนในพื้นที่เอง ทั้งขยะจากชุมชนและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว

ในอดีตชาวบ้านมักทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทาง ทิ้งขยะไม่ลงถัง หรือทิ้งกันจนล้นถัง เมื่อบรรดาคนเก็บของเก่าหรือ ‘ซาเล้ง’ มาคุ้ยเขี่ย ยิ่งทำให้เศษขยะกระจัดกระจายไม่น่ามองและยังส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วบริเวณ อีกทั้งคนกลุ่มนี้ยังทำให้ชาวบ้านรู้สึกหวาดระแวง เพราะมักออกตระเวนตามตรอกซอกซอยในยามวิกาล

ด้วยเหตุนี้ อบต.อ่าวนาง จึงแก้ปัญหาด้วยการเปิดโอกาสให้กลุ่มซาเล้งมาขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง ปัจจุบันมีผู้มาลงทะเบียนแล้วกว่า 50 ราย พวกเขาจะได้รับเสื้อกั๊กเรืองแสงพร้อมหมายเลขระบุตัวตนชัดเจน ซึ่งคนกลุ่มนี้ไม่เพียงจะช่วยกำจัดขยะตั้งแต่ต้นทางแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นหูเป็นตาคอยแจ้งเบาะแสให้กับเจ้าหน้าที่ เพื่อดูแลความปลอดภัยของชาวบ้านและนักท่องเที่ยวอีกทางหนึ่ง

“ความหมายอีกนัยหนึ่งของสายตรวจซาเล้งคือ พวกเขาทำหน้าที่เป็นจิตอาสา และยังเป็นเหมือนตัวแทนเจ้าหน้าที่ อบต. คอยดูแลความสะอาดคัดแยกขยะให้กับท้องถิ่นด้วย”

ปัจจุบันภาพลักษณ์ของซาเล้งเริ่มเป็นที่ยอมรับและคุ้นเคยของชาวบ้านมากขึ้น เพราะพวกเขามีส่วนสำคัญในการรักษาสิ่งแวดล้อมของชุมชน รวมถึงเข้ามามีส่วนร่วมจัดการขยะในกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่างานเทศกาลดนตรี เทศกาลท่องเที่ยว และกิจกรรม Big Cleaning Day เป็นประจำทุกเดือน

ชีวิตความเป็นอยู่ของซาเล้ง บอกเล่าผ่าน อดิศักดิ์ แซ่หลี หรือ อี๊ด หนุ่มวัย 36 ปี เขาเห็นด้วยว่าซาเล้งควรมาขึ้นทะเบียนกับ อบต. เพื่อเข้าสู่ระบบและง่ายต่อการจัดการ ที่สำคัญคือช่วยให้พวกเขาไม่ต้องตกเป็นจำเลยสังคมหากเกิดเหตุการณ์ลักขโมยในพื้นที่ เพราะกลุ่มคนเก็บของเก่าอย่างเขามักตกเป็นผู้ต้องสงสัยอันดับแรก

อดิศักดิ์เริ่มต้นอาชีพเก็บของเก่าตั้งแต่อายุ 15 ปี ปัจจุบันซาเล้งรายนี้สามารถสร้างรายได้จากการขายขยะในแต่ละวันตั้งแต่ 800 บาท ไปจนถึงกว่า 2,000 บาท ในบางเดือนเขาสามารถสร้างรายได้สูงถึง 60,000-70,000 บาทเลยทีเดียว โดยเริ่มต้นเก็บตั้งแต่ 9 โมงเช้า จนถึงตี 2

อาจไม่น่าแปลกใจนัก เมื่อได้รู้อีกว่าขยะที่เขาสามารถคัดแยกไปขายได้นั้น เฉลี่ยแล้วไม่ต่ำกว่า 100 กิโลกรัมต่อวัน หรืออาจมากถึง 1,000 กิโลกรัมต่อวัน ดังนั้นรายได้ที่มากจึงเป็นภาพสะท้อนของขยะปริมาณมหาศาล

“คนไม่รู้จักแยกขยะ ขยะก็เลยล้นแบบนี้ แต่ถ้าคนรู้จักคัดแยกขยะตั้งแต่ครัวเรือน ขยะก็จะไม่เยอะขนาดนี้ บางครั้งเจ้าหน้าที่มาเก็บช้าแค่วันสองวันขยะก็ล้นแล้ว” ซาเล้งเสื้อกั๊กหมายเลข 3 กล่าวทิ้งท้าย

สัญญาใจของคนในชุมชน

การจัดการขยะนับเป็นปัญหาสาธารณะ ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐเป็นผู้รับผิดชอบแต่เพียงฝ่ายเดียว จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่าย โดยเฉพาะชุมชนเจ้าของพื้นที่

ในความเห็นของ อรพรรณ ศรีสุขวัฒนา ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ปฏิบัติหน้าที่แทนเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ มองว่า หากหน่วยงานรัฐจะอาศัยเพียงอำนาจทางกฎหมายเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาขยะ ไม่ว่าจะเป็นการปราบปราม จับปรับ ย่อมเป็นเรื่องยากที่จะจัดการได้ทั่วถึงและยั่งยืน เพราะสิ่งสำคัญอยู่ที่การสร้างจิตสำนึกและความตระหนัก โดยสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อประชาชนรู้สึกถึงการเป็นเจ้าของปัญหาและมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของตนเองอย่างแท้จริง

“การสร้างพื้นที่กลางเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ของชุมชนได้ เพราะการบังคับใช้กฎหมายหรือใช้อำนาจแข็งเพียงอย่างเดียวอาจไม่ใช่คำตอบ เรายังมีอีกเครื่องมือหนึ่งที่เรียกว่าอำนาจอ่อน หรือ soft power ในที่นี้ก็คือ ‘ธรรมนูญสุขภาพ’ ซึ่งเป็นการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้มานั่งพูดคุยกัน สร้างกติการ่วมกัน และหาทางออกร่วมกันในที่สุด”

กล่าวให้ถึงที่สุด แม้ธรรมนูญสุขภาพจะไม่มีผลบังคับในทางกฎหมายและไม่มีบทลงโทษทางอาญาก็ตาม แต่ภายใต้บริบทสังคมของคนอ่าวนาง สิ่งที่ดูเหมือนจะมีพลังไม่น้อยไปกว่ามาตรการทางกฎหมายอาจเริ่มจากการพูดคุยทำความเข้าใจจนเกิดเป็นข้อตกลงง่ายๆ ที่เปรียบเสมือน ‘สัญญาใจ’ ของคนในชุมชนนั่นเอง

สนับสนุนโดย

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า