ในทุกๆ ครั้งที่มีการกล่าวถึงประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ความบ้าบิ่นมักเป็นจุดเริ่มต้นของหัวข้อสนทนาอยู่เสมอ ดังจะเห็นได้จากการสอดแทรกคำขู่เข้าซื้อกรีนแลนด์ ยึดคลองปานามา และผนวกแคนาดาเป็นรัฐที่ 51 ลงไปในคำกล่าวปราศรัยให้นานาชาติได้ตื่นตระหนกกันมาตลอดเกือบ 3 เดือน โดยมีน้อยคนนักที่จะกล้ำกลืนฝืนทนมองให้ทะลุเข้าไปถึงเจตจำนงที่แท้จริงเบื้องหลังกำแพงที่ฉาบด้วยความบ้าบิ่นเหล่านั้น
จริงอยู่ที่ว่าการนำหลักวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาเป็นกรอบพินิจแนวนโยบายของทรัมป์ คำอธิบายที่ออกมาคงมีเพียงไม่กี่ชุดคำตอบ เป็นต้นว่าทรัมป์มีแนวคิดแบบจักรวรรดินิยมขยายดินแดน (expansionism) ไปจนถึงความพยายามในการโดดเดี่ยวตนเอง (isolationism) จากเวทีระหว่างประเทศ คล้ายการพาดหัวด้วยคำศัพท์ใหญ่โตของหนังสือพิมพ์แทบลอยด์ในต่างประเทศ
แต่ในทางปฏิบัติ โลกของการเมืองระหว่างประเทศซับซ้อนยิ่งกว่านั้นมาก เช่นเดียวกับน้ำคำและคำสั่งที่ออกมาจากปลายปากกาของชายผู้มีอำนาจมากที่สุดในโลกเสรีประชาธิปไตยอย่างประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา สิ่งที่ทรัมป์กล่าวออกมาต่อหน้าสาธารณะอาจไม่ใช่สิ่งที่ทรัมป์ต้องการให้เกิดผลลัพธ์ตามนั้นก็ได้ เช่นเดียวกับกรณีการประกาศซื้อกรีนแลนด์ ที่เป้าหมายแท้จริงอยู่ที่การบีบคั้นให้รัฐบาลเดนมาร์กแสดงบทบาทในการไล่ลบล้างอิทธิพลของรัฐบาลจีนออกจากกรีนแลนด์ มากกว่าที่สหรัฐอเมริกาจะเข้าครอบครองดินแดนของกรีนแลนด์ เนื่องจากช่วงที่ผ่านมา จีนแสดงความสนใจจะเข้าไปสร้างฐานทัพเรือ และเริ่มส่งบริษัทในเครือข่ายเข้าไปวางแผนไปสร้างเหมืองแร่ Rare-Earth (REMs) ในกรีนแลนด์อย่างออกนอกหน้า
การประกาศยุบองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (United States Agency for International Development: USAID) ก็เช่นเดียวกัน ข้อผิดพลาดที่ทรัมป์เรียนรู้มาจากการเป็นประธานาธิบดีสมัยแรก คือการใช้งานและจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของบุคลากรที่เป็นแขนขาของประธานาธิบดี ต้องเป็นกลุ่มบุคคลที่มีความจงรักภักดีหรือพร้อมจะปฏิบัติตามคำสั่งของทรัมป์เท่านั้น เพราะทรัมป์ไม่ต้องการให้มีผู้พยายามก่อรัฐประหารเงียบ คอยบ่อนทำลายฐานอำนาจของตนแบบที่เกิดขึ้นในสมัยแรก ซึ่ง USAID เองก็เป็นหนึ่งในองค์กรที่ขึ้นชื่อเรื่องบุคลากรส่วนใหญ่มีอุดมการณ์เอนเอียงไปทางพรรคเดโมแครต (Democrat) มากกว่ารีพับลิกัน (Republican) จึงไม่ใช่เรื่องพิสดารพันลึกอันใด หากทรัมป์จะพยายามใช้เกมยุบ USAID นี้เพื่อถ่ายเลือดเก่าส่วนที่ถูกมองว่าเป็นพิษออกจากองค์กร ต้องไม่ลืมว่าการประกาศปิด/ยุบ USAID ในครั้งนี้ ยังไม่มีผลถึงระดับที่ความเป็นองค์กรของ USAID จะอันตรธานหายไปเสียทีเดียว
ทรัมป์ยังใจกว้างมากพอที่จะเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ระดับสูง และคนใกล้ชิดของตนตบเท้าเข้าไปเสนอแผนปฏิรูป USAID ที่รีสอร์ตส่วนตัว ‘มาร์อาลาโก’ (Mar-a-Lago) เช่นเคย ประเด็นสำคัญที่คนจำนวนมากละเลยไปคือ มาร์โค รูบิโอ (Marco Rubio) ผู้คร่ำหวอดในแวดวงนโยบายต่างประเทศและงานข่าวกรองของสภาคองเกรสมาหลายปี ผ่านประสบการณ์ทำงานร่วมกันกับทั้งวุฒิสมาชิกพรรคเดโมแครตและรีพับลิกัน จนมีฉายาว่า ‘ลูกรักของชนชั้นนำ’ (The favourite son/Darling of the Establishment) นั้น ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลทรัมป์ 2.0 ซึ่งรูบิโอเองก็ไม่ได้เห็นด้วยกับการทำให้ USAID หายไปจากสารบบแต่อย่างใด เพราะรูบิโอทราบดีว่าภารกิจของ USAID เป็นขาที่ขาดไม่ได้ขาหนึ่งของนโยบายต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ย้อนไปประมาณ 20 กว่าปีที่ผ่านมา เมื่อครั้งที่รัฐบาล จอร์จ ดับเบิลยู บุช (George W. Bush) จะเข้าไปตั้งฐานทัพในประเทศจิบูตี (Republic of Djibouti) ก็ได้จ่ายค่าเช่าพื้นที่ให้แก่รัฐบาลของประธานาธิบดี อิสมาอิล โอมาร์ เกลลี (Ismail Omar Guelleh) ด้วยการนำโครงการของ USAID ไปช่วยพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่น
เหนือสิ่งอื่นใดเลย คือการมีอยู่ของ USAID เป็นเรื่องของการเมืองแบบสัจนิยม (Realpolitik) ล้วนๆ ตลอดหลายปีมานี้สหรัฐอเมริกาใช้ USAID เป็นข้อต่อรองคอยส่งเงินส่งท่อน้ำเลี้ยงช่วยเหลือด้านการพัฒนาให้แก่หลายประเทศที่มีบทบาทรอบๆ คลองสุเอซ คลองปานามา ช่องแคบยิบรอลตาร์ ช่องแคบฮอร์มุส ฯลฯ เพื่อแลกกับประเทศเหล่านั้นช่วยดูแลเส้นทางลำเลียงสินค้าของสหรัฐอเมริกามูลค่ากว่าปีละ 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ไหนจะการแจกเงินทุนการศึกษาให้นักศึกษา/นักวิชาการศักยภาพสูงจากประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาปีละกว่า 20,000 คนทั่วโลก เพื่อให้หน่วยข่าวกรองอย่าง Central Intelligence Agency (CIA) คัดตัวเยาวชนเหล่านั้นไปเป็นเครือข่ายผลักดันวาระทางด้านนโยบายและเติบโตไปล็อบบี้ประเทศแม่ของตัวเองให้มีจุดยืนเอนเอียงยังทิศทางที่เป็นประโยชน์ต่อสหรัฐอเมริกาได้อีก ไม่มีกลไกของรัฐพันลึก (Deep state) ใดจะแยบยลและสมประโยชน์กับทุกฝ่ายได้เท่ากับ USAID อีกแล้ว
การปิดหรือยุบ USAID มันจึงแทบเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ ปลายทางของเกมยุบ USAID ครั้งนี้ อย่างมากผลก็ออกมาด้วยการลบ USAID แค่ในนาม กล่าวคือ มีคำสั่งยุบ USAID พอเป็นพิธีเพื่อล้างคณะผู้บริหารของ USAID ชุดเก่าที่มีจุดยืนค่อนไปทางสาย บารัค โอบามา (Barack Obama) และ โจ ไบเดน (Joe Biden) เท่านั้น ตามด้วยการก่อตั้งองค์กรชื่อใหม่ขึ้นมาตามธีมของแพลตฟอร์ม Make America Great Again (MAGA movement) แล้วก็โอนย้ายทุกอย่างทั้งบุคลากรและงบประมาณทั้งหมดไปกองไว้ที่องค์กรแห่งใหม่ พร้อมตั้งผู้บริหารชุดใหม่ที่คัดเลือกโดยบุคคลใกล้ชิดของทรัมป์ ฉากทัศน์นี้ดูจะเป็นทางลงให้แก่ทั้งทรัมป์และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ USAID มากที่สุด โดยที่ไม่ต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องยอมถอยหลังจนเสียหน้ามากเกินไป
ช่วงเวลาที่เหลือ 1-2 เดือนนี้ คงต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรูบิโอ และกลุ่มผู้ที่ยังเห็นความสำคัญในตัว USAID ว่าจะโน้มน้าวทรัมป์อย่างไรให้ผลออกมาในรูปแบบที่สหรัฐอเมริกาได้รับความเสียหายหรือเสียโอกาสในนโยบายต่างประเทศน้อยที่สุด เพราะโลกนี้ไม่ได้มี USAID แค่เพียงรายเดียวที่สามารถตั้งตัวเป็นแหล่งทุน/ท่อน้ำเลี้ยงรายใหญ่ให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนา หากแต่ยังมีประเทศมหาอำนาจรายอื่นที่จ่อคิวพร้อมจะก้าวขึ้นมาแทนที่ USAID ถ้าไม่นับจีนที่มีช่องทางของโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) ก็ยังมีรัสเซียที่แม้ปัจจุบันจะไม่ได้มีขีดความสามารถด้านเศรษฐกิจมากนัก แต่ก็มีศักยภาพเพียงพอที่จะเข้ามาเป็นรัฐผู้อุปถัมภ์ให้แก่บางภูมิภาคได้ อาทิ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจากท่าทีของหลายๆ ประเทศช่วง 3-4 ปีมานี้ ก็ดูเปิดกว้างพร้อมจะรับความช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจจากประเทศในขั้วอำนาจนิยม (authoritarianism) อยู่ไม่น้อย
คำถามสำคัญน่าจะอยู่ที่ว่า ทรัมป์คิดด้วยตรรกะเดียวกันนี้หรือไม่ เพราะหากว่ากันในฐานคิดที่ใกล้เคียงกับทรัมป์นั้น ก็มีข้อเสนอบางสายอบอวลในแวดวงทำเนียบขาวอยู่เช่นกันว่า ต่อให้สหรัฐอเมริกาไม่ส่งเงินผ่าน USAID ไปช่วยพัฒนาประเทศพันธมิตรของตน ก็ยังมีประเทศมหาอำนาจระดับ ‘ตัวสำรอง’ เช่น เยอรมนี และญี่ปุ่น ที่ยังสามารถขึ้นมาเป็นตัวแทนในการช่วยส่งเงินสนับสนุนไปยังประเทศกำลังพัฒนา/ด้อยพัฒนาเหล่านั้นได้ ซึ่งหากทรัมป์ตกลงปลงใจในแนวคิดดังว่านี้ขึ้นมาจริง ก็อาจสร้างข้อผิดพลาดขนาดมหึมาขึ้นได้ เพราะเงินทุนเพื่อการพัฒนาในต่างประเทศที่เยอรมนีใช้ช่องทางของแต่ละพรรคการเมืองเป็นประตูนั้น ไม่ได้มากมายเมื่อเทียบกับของสหรัฐอเมริกา เช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่รัฐบาลในปัจจุบันก็ไม่ได้อยู่ในสถานะพร้อมจะมีบทบาทเชิงรุกด้านการช่วยเหลือในต่างประเทศนัก