อ่านนโยบายระหว่างประเทศของ โดนัลด์ ทรัมป์ ผ่านรอยร้าวของครอบครัว

ช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา หนังสือที่ชื่อว่า Too Much and Never Enough: How My Family Created the World’s Most Dangerous Man ของ แมรี แอล ทรัมป์ (Mary L. Trump) ถือได้ว่าเป็นหนังสือขายดี สร้างแรงสั่นสะเทือนให้แก่สังคมสหรัฐอเมริกาได้ไม่น้อยไปกว่าหนังสือ The Room Where It Happened ของ จอห์น อาร์ โบลตัน (John R. Bolton)

นอกจากจะเป็นหนังสือแนวชีวประวัติของครอบครัวทรัมป์แล้ว ความน่าสนใจประการหนึ่งของหนังสือเล่มนี้คือความพยายามนำข้อมูล Unseen เกี่ยวกับชีวิตวัยเด็ก วัยรุ่น และวัยทำงานตอนต้นของโดนัลด์ ทรัมป์  เช่น ประเด็นเรื่องการโกงข้อสอบ SAT (Scholastic Assessment Test) เมื่อช่วงทศวรรษที่ 1960s เพื่อใช้ในการยื่นเข้าทำการศึกษาต่อ ณ Wharton Business School แห่งมหาวิทยาลัย Pennsylvania ที่แมรีได้เขียนบรรยายถึงเอาไว้ว่า ชายผู้มีศักดิ์เป็นอาของเธอได้ทำการว่าจ้างให้เพื่อนคนที่มีผลการเรียนดีมากของเขาที่ชื่อ โจ ชาปิโร (Joe Shapiro) แอบสวมรอยเข้าไปทำข้อสอบแทนตัวเขา เพื่อสอบให้ได้คะแนนอยู่ในระดับสูงมากพอจะผ่านเกณฑ์ของมหาวิทยาลัยระดับ Ivy League ได้ เป็นต้น

หนังสือชีวประวัติครอบครัวเล่มนี้ของแมรี อาจโยงไปถึงมิติทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของสหรัฐ หนังสือเล่มนี้อาจช่วยอธิบายขยายให้เห็นภาพของความเป็นมาเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศ และพฤติกรรมระหว่างประเทศในรัฐบาลทรัมป์ ได้อย่างเกินคาด

เด็กชายโดนัลด์ ทรัทป์ ขาดความอบอุ่น

แมรีได้ให้อรรถาธิบายถึงความเลวร้ายทั้งปวงที่เกิดขึ้นในช่วง 4 ปีในตำแหน่งของโดนัลด์ ทรัมป์ ว่ามีเหตุตั้งต้นมาจากสภาวะขาดความอบอุ่นในวัยเด็กของโดนัลด์ พ่อ คือ เฟรด ทรัมป์ (Fred Trump) และแม่ คือ แมรี ทรัมป์ (Mary Trump) (ด้วยความที่แม่และหลานสาวของบ้านนี้มีชื่อเหมือนกันในบทความนี้จะขอเรียกแม่ของโดนัลด์ ว่า Gam เป็นหลักตามหนังสือของแมรี เพื่อไม่ให้เกิดการสับสนระหว่างการอ่าน) ตั้งแต่เกิดมาโดนัลด์แทบไม่ได้สัมผัสไออุ่นแห่งความรักจากทั้งพ่อและแม่ของตนเลย เฟรดผู้พ่อทำงานหามรุ่งหามค่ำ วันๆ สนใจแต่ธุรกิจของตนเอง (ทำงานวันละ 12 ชั่วโมง) ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ที่ทำงาน จึงไม่ค่อยมีเวลาเล่นหรือทำกิจกรรมร่วมกับลูกๆ เท่าใดนัก ส่วน Gam นั้นตั้งแต่คลอดโดนัลด์ออกมา ก็เจ็บป่วยต้องเข้าๆ ออกๆ โรงพยาบาลอยู่เป็นประจำ (post partum sickness) โดนัลด์จึงถูกเลี้ยงดูโดยคนอื่นที่ไม่ใช่พ่อแม่เสียเป็นส่วนใหญ่

เมื่อกลับบ้าน เฟรดใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการพักผ่อน และจะอารมณ์เสียทุกครั้งที่โดนัลด์และลูกๆ คนอื่นเรียกร้องความสนใจ ทำให้เด็กๆ ในบ้านขาดที่พึ่งทางใจไปโดยปริยาย จะมีก็แต่เพียงแค่คนเดียวเท่านั้นที่เฟรดให้ความสนใจ คือ เฟรดดี้ (Freddy) ลูกชายคนโตของบ้าน ซึ่งเฟรดหมายมั่นเอาไว้ว่าจะปั้นให้มาสืบทอดกิจการและอาณาจักรทั้งหมดของเขา

ทว่าจุดหักเหของพี่น้องตระกูลทรัมป์ ณ ขณะนั้นคือ เฟรดดี้ ลูกชายคนโตแสดงออกถึงความเป็นแกะดำภายในครอบครัว นึกอยากเอาดีทางด้านการเป็นนักบิน เขาพยายามตีตัวออกห่างจากธุรกิจของครอบครัว หันไปทำตามความฝันของการเป็นนักบิน ความทะเยอทะยานของลูกชายคนโตสร้างความไม่สบายใจให้แก่สมาชิกภายในบ้านเป็นอย่างสูง โดยเฉพาะกับเฟรดผู้เป็นพ่อ และผู้มีอำนาจการตัดสินใจสูงสุดภายในบ้าน ตั้งแต่นั้นมา เฟรดก็มองเฟรดดี้ ด้วยความสมเพชเวทนาที่มีความฝันอันต่ำต้อยอยากเป็นแค่นักบิน (ในสายตาของเฟรดนั้น อาชีพนักบิน หรือแอร์โฮสเตสมีสถานะไม่ต่างอะไรกับคนขับรถเมล์และกระเป๋ารถเมล์ลอยฟ้าเท่านั้น) เฟรดจึงต่อต้าน และพยายามขัดขวางเฟรดดี้อย่างหนัก ไม่ให้เลือกเดินไปในเส้นทางนั้น

เฟรดมักสอนลูกๆ โดยเฉพาะลูกชายอยู่เสมอ ว่าการจะเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีและประสบความสำเร็จได้นั้นต้องมีจิตวิญญาณของความเป็นผู้ชนะ ความเชื่อมั่นในตัวตนของตนเอง รวมไปถึงจิตวิญญาณของความแข็งแกร่ง ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่ลูกชายของเขาไม่สามารถทำได้ตามที่คาดหวัง สิ่งที่เขาจะทำก็คือ การล้อเลียน ทับถม ตำหนิติเตียน

วิธีการพ่อสอนลูกแบบเฟรดนี้ ทำให้เฟรดดี้เติบโตมาแบบเด็กมีปมด้อย ไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง ไม่มีความกล้าหาญ ขนาดแค่จะออกไปวิ่งเล่นกับเพื่อนก็ต้องแอบหาเรื่องโกหกมาหลอกเฟรดอยู่ตลอดเวลาเพื่อที่จะได้ออกไปนอกบ้าน ความมีปมด้อย และความกดดันภายในครอบครัวนี้ทำให้เฟรดดี้มีภาวะเครียดสูง และกลายเป็นคนขี้เหล้าขี้ยาไปในที่สุด

โดนัลด์ – เด็กชายผู้ขาดความอบอุ่นมาตั้งแต่เด็ก ได้มองเฟรดดี้อยู่ห่างๆ มาตลอด ได้ค้นพบความจริงประการหนึ่งว่า ถึงแม้พี่ชายคนนี้ของเขาจะทำตัวเหลวแหลกแค่ไหนหรือดูอ่อนแออย่างไร แต่ก็เป็นตัวละครหลักในสายตาของพ่อ ไม่ว่าเฟรดดี้จะอยากเป็นนักบิน หรือพยายามปฏิเสธที่จะเดินตามรอยเท้าของเฟรดมากแค่ไหน จะล้อเลียนด่าทอเฟรดดี้มากเพียงใด แต่เฟรดก็ยังคาดหวังในตัวเฟรดดี้ ให้มาสานต่ออาณาจักรทรัมป์เสมอ

โดนัลด์เรียนรู้ว่า วิธีเดียวที่จะได้รับความสนใจและความรักจากพ่อ เขาจะต้องทำตัวให้โดดเด่น หาทางดิ้นรนเข้าไปแทนที่ในตำแหน่งของเฟรดดี้ให้ได้ โดนัลด์จึงเริ่มพัฒนาพฤติกรรมของความเป็นเด็กมีปัญหา อันธพาล ซุกซน ดื้อ ดันทุรัง ชอบกลั่นแกล้งผู้อื่นขึ้นมา คนที่โดนัลด์ชอบแกล้งมากที่สุดก็คือ โรเบิร์ต น้องชายคนสุดท้องของบ้าน เขามักซ่อนของเล่นของน้องชาย แมรี เขียนไว้ว่าพฤติกรรมประหลาดของโดนัลด์รุนแรงถึงขั้นที่แม้แต่ Gam ก็ไม่สามารถควบคุม หรือตักเตือนได้ เพราะเมื่อใดก็ตามที่ Gam ดุหรือสั่งสอน โดนัลด์จะเถียงกลับทันทีโดยไม่สนว่าตนเองคือฝ่ายผิด

โรงเรียนทหารกับการบ่มเพาะยีนของผู้ชนะ

โดนัลด์เชื่อว่าพฤติกรรมดังกล่าวจะช่วยแสดงให้โลกได้ประจักษ์ว่า เขาแข็งแกร่ง มีความเป็นผู้ชนะ โลกในตอนนั้นของโดนัลด์ก็คือ พ่อ

เฟรดเริ่มเห็นโดนัลด์อยู่ในสายตา และมองว่าโดนัลด์มีความแข็งแกร่ง มีความกล้าหาญ และเชื่อมั่นในตัวเองสูง ตรงตามกับที่เฟรดเคยหวังไว้ในตัวเฟรดดี้ โดนัลด์จึงเป็นเหมือนตัวแทนของเฟรดดี้ การที่เฟรดหันมาให้ความสนใจโดนัลด์ เริ่มหยิบยื่นโอกาสต่างๆ ให้ ก็ยิ่งทำให้โดนัลด์เข้าใจว่าพฤติกรรมเหล่านั้นของตนเองเป็นสิ่งที่ถูกต้อง จากนั้นเขาก็ยืนหยัดเชื่อมั่นในหลักการ และพฤติกรรมเหล่านั้นมาตลอด จนทัศนคติของโดนัลด์ถูกพัฒนาขึ้นมาในจุดที่มองว่า การโกหกและการบอกปัดความรับผิดชอบคือคุณธรรมที่สำคัญประการหนึ่งของ ‘ผู้ชนะ’ ส่วนการยอมรับผิด การขอโทษ ขอความเมตตา หรือการให้อภัยจากผู้อื่นนั้นเป็นสัญญาณที่แสดงออกถึงความอ่อนแอ และเขารู้ตัวดีว่าการยอมรับผิดต่อหน้าเฟรดนั้นเป็นสิ่งที่จะยอมให้เกิดขึ้นไม่ได้

พฤติกรรมการกลั่นแกล้งผู้อื่นของโดนัลด์รุนแรงถึงขั้นโรงเรียนที่ Kew-Forest รับไม่ได้ เฟรดส่งโดนัลด์ไปเรียนต่อที่โรงเรียนประจำ New York Military Academy (NYMA) เพื่อทำการดัดสันดานแทน และปรับพฤติกรรมของโดนัลด์ให้มีความเป็นปกติพร้อมอยู่ร่วมกับสังคมมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้มีผลเป็นรูปธรรมอะไร

ตลอดระยะเวลากว่า 3-4 ปีที่โดนัลด์ฝึกอยู่ในโรงเรียนการทหารแห่งนั้น เฟรดผู้ที่ชีวิตมีแต่งานก็ยังอุตส่าห์เจียดเวลามาเยี่ยมเยียนลูกชายที่โรงเรียนเกือบทุกสัปดาห์ ทำให้โดนัลด์แทบไม่ได้รับความรู้สึกใดๆ เลยว่าตนเองนั้นกำลังถูกลงโทษอยู่ และในทางกลับกันเขายังรู้สึกใกล้ชิดกับพ่อมากขึ้นในแบบที่เฟรดดี้ไม่มีโอกาสอีกด้วย การถูกส่งไปอยู่โรงเรียนประจำครั้งนี้ จึงแทบไม่ได้ให้บทเรียนใดๆ ในลักษณะการลงโทษแก่เขาเลยแม้แต่น้อย

ภายหลังได้รับประสบการณ์ของระบบโซตัสจากการปกครองแบบโรงเรียนทหาร NYMA ที่ไม่มีความแน่นอนว่าวันไหนจะถูกลงโทษ หรือถูกกลั่นแกล้งจากรุ่นพี่ โดนัลด์ก็เข้าถึงสัจธรรมชุดหนึ่งของโลกที่ว่า ผู้อ่อนแอหรือผู้แพ้เป็นสิ่งมีชีวิตที่ไร้ค่า และมีความสามารถในการเอาตัวรอดในสังคมได้ต่ำ การเอาตัวรอดในสังคมได้จึงจำเป็นจะต้องมีความแข็งแกร่ง มียีนของผู้ชนะอยู่ตลอดเวลา และกุญแจดอกสำคัญที่จะทำให้คนคนหนึ่งเอาตัวรอดได้นั้นก็คือ การมีอำนาจ

อำนาจที่ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวว่าจะได้มาอย่างไร ชอบธรรมหรือไม่ ขอแค่มีอำนาจก็สามารถตัดสินชี้ถูกชี้ผิดตามที่ใจต้องการได้ มีอำนาจจึงเป็นเหมือนผู้ที่สามารถจะตัดสินชี้ขาดให้แก่สิ่งใดก็ได้ในสายตาของเขา

พรสวรรค์ที่เพิ่งสร้าง

ช่วงเริ่มต้นทำงานของโดนัลด์ ทำให้เขาสนิทกับพ่อมากขึ้น โดนัลด์เข้ามาทำงานกับเฟรดที่อาคาร Trump Management ในตำแหน่งที่เหมือนกับเป็น ‘มือขวา’ เขาได้รับความไว้วางใจจากเฟรด ทั้งด้านการเงิน การบริหารจัดการ ไปจนถึงการวางแผน เฟรดพยายามหยิบยื่นโอกาสทุกอย่างที่เคยเป็นของเฟรดดี้ให้กับโดนัลด์ ไม่ว่าโดนัลด์จะขออะไร เฟรดจะจัดหามาให้ทุกอย่าง ในเวลาที่โดนัลด์อยากลองเปิดโครงการอสังหาริมทรัพย์ของตนเอง เฟรดก็ไม่เคยห้าม แม้จะรู้ดีว่า โดนัลด์เป็นแค่เด็กวัยรุ่นที่ยังไม่มีประสบการณ์และเขี้ยวเล็บในงานเชิงบริหารธุรกิจแต่อย่างใด

สาเหตุหลักที่เฟรดยอมให้เด็กไร้ประสบการณ์อย่างโดนัลด์ เข้ามาร่วมบริหารโครงการอสังหาริมทรัพย์อย่างเต็มตัวก็เพราะเล็งเห็นความสามารถพิเศษที่โดนัลด์ฉายแววออกมา นั่นคือจิตวิญญาณของการประชาสัมพันธ์ (Builder of Brands) เฟรดรู้ดีว่า โดนัลด์นั้นเป็นเด็กที่ไม่มีหัวในเชิงธุรกิจ สิ่งที่โดนัลด์ทำได้เก่งและดีที่สุดก็ไม่ใช่การบริหารจัดการ แต่เป็นการ ‘โฆษณา’

ในทัศนะของเฟรดโดนัลด์มีทักษะพิเศษ 4 ทักษะหลัก

  • การโกหกแบบหน้าไม่อาย
  • ความหลงใหลเชิดชูในตัวเอง
  • นักการตลาด/นักโฆษณา
  • การสร้างแบรนด์

โดนัลด์เป็นคนชอบเข้าสังคมและออกสื่อ เฟรดจึงคิดว่าโดนัลด์น่าจะทำหน้าที่เหล่านี้ได้ดี ซึ่งโดนัลด์ก็ทำได้ดีจริงๆ ในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมานั้น ใบหน้าของเขาถูกตีพิมพ์ลงบนหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ที่นิวยอร์คเกือบทุกฉบับอย่างถี่ถ้วนแทบทุกวัน ทั้งหมดนี้คือตัวแปรที่สำคัญที่ทำให้เฟรดดึงเอาโดนัลด์มาช่วยงาน เพื่อที่จะให้โดนัลด์ใช้ทักษะเหล่านั้นสร้างกระแสความสนใจโครงการอสังหาริมทรัพย์ของตระกูลทรัมป์

จากทัศนะของแมรี ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ ความสำเร็จทุกอย่างที่ดูเหมือนจะเกิดขึ้นในมือของโดนัลด์ในช่วงที่เฟรดยังมีชีวิตอยู่ จึงเป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นมาจากมือของเฟรด แต่โดนัลด์ไม่รู้ว่าตนกำลังถูกเฟรดชักใยอยู่เบื้องหลัง ตัวละครหลักในอาณาจักรธุรกิจ ทรัมป์ก็ยังคงเป็นเฟรด ที่คอยจัดแจงทุกอย่าง คอยวางแผน คอยแก้เกมทางการเงิน การบริหารให้แก่โดนัลด์อยู่ดี เฟรดถึงขั้นจ้างทีมงานเฉพาะกิจเอาไว้คอยสร้างข้อมูลเท็จเพื่อหลอกโดนัลด์ ว่าสิ่งที่โดนัลด์คิดนั้น เป็นสิ่งที่ถูก และยิ่งใหญ่มาตลอด

แต่โดนัลด์ขณะนั้นก็ไม่ได้รู้สึกตัวอะไร และยังคงหลงไปกับคำสรรเสริญ คำเยินยอที่สื่อทั้งหนังสือพิมพ์ และโทรทัศน์นั้นยกย่องแก่เขา ขนาดธนาคารที่เป็นสถาบันทางการเงินเองก็ยังลงมาร่วมเล่นในเกมสร้างภาพเหล่านี้เพื่อที่จะเกาะกระแสของโดนัลด์ ด้วยการอนุมัติเงินกู้ก้อนใหญ่ให้โดนัลด์นำไปลงทุนในโครงการที่มีความเสี่ยงจะเจ๊งได้สูง เพราะทราบกันดีว่า ถึงโดนัลด์จะไม่มีเงินมาทยอยจ่ายหนี้ให้แก่ธนาคาร แต่เดี๋ยวทางเฟรดก็จะกระโดดเข้ามาคอยแก้ไขสถานการณ์นี้เอง (สมัยนั้นทุกคนที่รายล้อมอยู่รอบตัว Trump จึงมีเหตุผลหลักๆ ไม่กี่อย่าง คือ ถ้าไม่หวังผลประโยชน์จากเฟรดที่คอยตามล้างตามเช็ดให้แก่โดนัลด์ ก็หวังที่จะเกาะกระแสการตลาดแห่งภาพลักษณ์ของโดนัลด์)

และด้วยความเข้าใจผิดๆ ที่เฟรดก่อไว้ให้ภายในจิตใจของโดนัลด์ ก็นำมาสู่จิตสำนึก และหลักเหตุผล ทัศนคติแบบผิดรูปผิดร่างภายในความคิดของโดนัลด์ ก็ได้ทำให้เขาคิดว่าตนเองนั้นมีพรสวรรค์ด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ จึงตัดสินใจที่จะแยกตัวออกจากเฟรดที่นิวยอร์ค แล้วออกไปสร้างอาณาจักร และความมั่งคั่งของตนเองที่แอตแลนติคซิตี้ (นิวเจอร์ซีย์) โดนัลด์ตัดสินใจที่จะลงทุนสร้างธุรกิจคาสิโน เพราะมองว่าที่แอตแลนติคซิตี้นั้นเป็นดินแดนแห่งโอกาสทางธุรกิจ ใครมาทำธุรกิจก็ต้องพบกับความรุ่งเรือง หลังจากที่เขาได้เปิดโครงการสร้างคาสิโนของตนเองขึ้นมาไม่นานนัก เขาก็เกิดความคิดที่แจ่มจรัสขึ้นมาว่า ในเมื่อคาสิโนนั้นเป็นธุรกิจที่ทำเงิน สร้างรายได้อันมหาศาล แทนที่จะมาสร้างแค่แห่งเดียว ทำไมจึงไม่เร่งสร้างไปพร้อมๆ กันหลายๆ แห่งไปเลย? และนี่ก็เป็นที่มาของการก่อสร้างคาสิโน 3 แห่ง ทั้ง Trump Plaza, Trump Castle และ The Taj Mahal

โดนัลด์เชื่อว่ายิ่งมีตัวทำเงิน (cash cow) เยอะมากขึ้น ก็มีโอกาสที่จะทำให้เขาได้รับกำไรจากธุรกิจคาสิโนมากขึ้น ซึ่งสุดท้ายทั้ง 3 แห่งก็กลายเป็นคู่แข่งที่แย่งผลกำไรกันเอง เพราะการบริหารธุรกิจคาสิโนนั้นไม่ง่ายเหมือนกับบริหารธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รูปแบบที่เฟรดเคยทำ ที่สำคัญคือ เฟรดไม่มีสายสัมพันธ์กับนักการเมืองในแถบนิวเจอร์ซีย์เลยไม่สามารถข้ามมาให้ความช่วยเหลือทางธุรกิจของโดนัลด์ได้

มองนโยบายระหว่างประเทศของทรัมป์ผ่านชีวิตวัยเด็ก?

สิ่งหนึ่งที่แมรีย้ำเสมอในหนังสือเล่มนี้ ก็คือ โดนัลด์เป็นคนที่เห็นผลประโยชน์ของตนก่อนสิ่งใด เขาไม่เคยสนใจว่าพี่ชายของเขา (เฟรดดี้) จะป่วยใกล้เสียชีวิต หรือถูกหามส่งห้องฉุกเฉินภายในโรงพยาบาลด้วยโรคและอาการที่ร้ายแรงเพียงใด ถ้าเขาเห็นว่าสถานการณ์ดังกล่าวไม่ได้ให้คุณหรือโทษ หรือถึงที่สุดคือ ‘ให้กำไร’ แก่เขานั้น เขาก็จะไม่สนใจไยดีแต่อย่างใด แมรีเล่าถึงช่วงที่เฟรดดี้จะเสียชีวิตว่า สิ่งที่โดนัลด์ทำคือออกไปดูภาพยนตร์ในเมือง พอกลับบ้านก็เดินเข้าไปหาเฟรด แล้วชวนคุยเรื่องธุรกิจ การเมือง และนินทาสรีระของผู้หญิง ไม่มีอะไรเกิดขึ้น

แมรีเล่าอีกว่า ช่วงที่เฟรดป่วยหนักจากโรคสมองเสื่อม โดนัลด์ใช้โอกาสนี้ปรับแก้พินัยกรรมของเฟรด ให้ยกมรดกและทรัพย์สินทั้งหมดภายในอาณาจักรของตระกูลให้แก่โดนัลด์โดยอัตโนมัติ แมรีอธิบายพฤติกรรมและทัศนคติลักษณะนี้ของโดนัลด์เอาไว้ว่า โดนัลด์นั้นเป็นผู้ที่มองความตายของคนคนหนึ่งผ่านกรอบของผลประโยชน์ ถ้าคนคนนั้นกำลังจะสิ้นชีวิต โดนัลด์จะไม่มองว่าคนคนนั้นกำลังจะสิ้นชีวิต แต่จะมองแค่ว่าการเสียชีวิตของคนคนนั้นจะให้ประโยชน์อะไรแก่เขาได้บ้าง

แมรี แอล ทรัมป์ (Mary L. Trump) ผู้เขียน Too Much and Never Enough: How My Family Created the World’s Most Dangerous Man

ภาพลักษณ์ของโดนัลด์ผ่านสายตาของแมรีนี้ ช่วยทำให้เรามองเห็นทัศนคติ แนวคิด และกระบวนการมองโลกของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มีต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมานั้นได้อย่างไรบ้าง เขามักถูกวิจารณ์ว่าไม่ได้มีหลักความคิด หรือทฤษฎีที่ซับซ้อนใดๆ อยู่เบื้องหลัง

งานเขียนของแมรีชิ้นนี้ ช่วยสะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติ วิธีคิดและพื้นเพเบื้องลึก/เบื้องหลังที่เป็นตัวแปรในการก่อกำเนิดพฤติกรรมและแนวคิดด้านนโยบายระหว่างประเทศของ โดนัลด์ ทรัมป์ ในปัจจุบัน ได้ไม่มากก็น้อย แต่อาจจะมีปัจจัยอีกมากมายที่มีผลต่อบุคลิกและการตัดสินใจของคนคนหนึ่ง

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ควรเป็นข้อกังวลต่อประเด็นความน่าเชื่อถือในหนังสือเล่มนี้ คือ ข้อเท็จจริงที่ว่าแมรีก็เป็นหนึ่งในผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย และเคยมีสถานะเป็นผู้สูญเสียประโยชน์โดยตรงภายในคดีฟ้องร้องที่เกิดขึ้นภายในตระกูลทรัมป์ในการแย่งมรดกของ เฟรด ทรัมป์ เมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมา ซึ่งเธอเองก็ได้เขียนเอาไว้ตรงๆ ภายในเล่มว่า เธอเป็นฝ่ายแพ้ในคดีดังกล่าว และไม่ได้ส่วนแบ่งจากมรดกตระกูลทรัมป์มากเท่าที่ควร เมื่อเทียบกับลูกหลานคนอื่นๆ ภายในตระกูล

ความเป็นไปได้ที่ว่าแมรีอาจจะเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาเพื่อปั่นกระแส และจงใจทำลายชื่อเสียงของ โดนัลด์ ทรัมป์ และรัฐบาลของทรัมป์เองก็มีไม่น้อย ซึ่งในส่วนนี้ก็คงต้องแล้วแต่วิจารณญาณของสาธารณะ และการศึกษาที่เกี่ยวข้องในขั้นตอนถัดไปภายในอนาคต ว่าจะมีงานเขียนชิ้นใดถูกผลิตออกมาโต้ข้อสังเกต และทฤษฎีของ แมรี แอล ทรัมป์ หรือไม่

Author

ปรีชภักดิ์ ทีคาสุข
อดีตนักวิจัยฝึกหัดจากสถาบัน Richardson ประเทศอังกฤษ สนใจในประเด็นทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ กับยุทธศาสตร์ทางด้านการทูตของจีน และไต้หวัน รวมถึงประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายต่างประเทศ มีประสบการณ์ทางด้านมานุษยวิทยาเล็กน้อย ปัจจุบันกำลังศึกษาประเด็นเกี่ยวกับโรฮิงญา และความเป็นไปทางภูมิรัฐศาสตร์ของการเมืองโลก

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า