ความพ่ายแพ้ของ เบอร์นี แซนเดอร์ส

เมื่อคืนวันพุธที่ 8 เมษายน ที่ผ่านมา เบอร์นี แซนเดอร์ส (Bernie Sanders) ได้ออกมาประกาศอย่างเป็นทางการแล้ว ว่าจะถอนตัวออกจากศึกชิงเป็นตัวแทนผู้สมัครประธานาธิบดีของพรรคเดโมแครต เขายินดีเปิดทางให้กับ โจ ไบเดน (Joe Biden) เป็นผู้รับตำแหน่งนั้นไป หลังจากใช้เวลาเกือบ 3 สัปดาห์ในการประเมินสถานการณ์ความเป็นไปได้ในการเลือกตั้งเล็กครั้งนี้ พร้อมกับปรึกษาบุคคลที่เกี่ยวข้องในแคมเปญรวมถึงภรรยาของตัวเขาเอง จนได้ข้อสรุปที่แน่นอนว่าแคมเปญของเขานั้นแทบไม่มีโอกาสในการจะพลิกกลับมาเอาชนะไบเดนได้เลย โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ Super Tuesday ที่ทำให้เขาเห็นภาพภูมิทัศน์ความแตกต่างระหว่างแคมเปญของเขาและของไบเดนได้ชัดเจนขึ้น ซึ่งไบเดนนั้นมีแต้มต่อนำอยู่ถึงกว่า 1,200:900 และยิ่งบวกกับสถานการณ์ของไวรัส COVID-19 ระบาดช่วงนี้แล้ว การดำเนินแคมเปญหาเสียงต่อไปจึงเป็นเรื่องที่ยาก

สิ่งที่น่าสนใจคือ ในช่วงสถานการณ์โรคระบาดที่รัฐบาลกลางของสหรัฐอเมริกาแสดงให้เห็นแนวโน้มที่ไม่เป็นบวกต่อการควบคุมทิศทางการระบาดของโรคนี้ เป็นโอกาสดีอย่างมากต่อแซนเดอร์ส ในการเดินหน้าหาเสียง และใช้โอกาสนี้เป็นเครื่องมือทางการเมืองนำนโยบาย ‘Medicare for All’ ซึ่งเป็นนโยบายชูโรงของเขา ออกมาใช้ตอกย้ำความล้มเหลวของวงการสาธารณสุขและนโยบายการตอบรับภัยพิบัติทางด้านสุขภาพของรัฐบาลอเมริกา เพื่อดึงคะแนนเสียงจากชนชั้นกลาง และชนชั้นแรงงานซึ่งได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจและความมั่นคงในชีวิตจากการระบาดของไวรัส COVID-19

คำถามที่สำคัญคือ เหตุใดเขาจึงต้องออกมาประกาศถอนตัวจากการแข่งขัน อะไรคือสิ่งที่ทำให้แซนเดอร์ส เชื่อว่าแคมเปญของเขาไม่มีหนทางที่จะชนะหลงเหลืออยู่อีกต่อไปแล้ว และเหนือสิ่งอื่นใด ทำไมเขาถึงล้มเหลวในการขึ้นสู่เส้นทางประธานาธิบดีถึง 2 ครั้งติดต่อกัน แม้ว่าในทางปฏิบัติแล้วตัวเขาจะยังไม่ได้เอาตัวเองออกจากศึกชิงตัวแทนผู้สมัครประธานาธิบดีของพรรค เพราะยังไม่ได้ประกาศสนับสนุนไบเดนอย่างเป็นทางการ และยังคงยืนยันจะใช้อิทธิพลด้านฐานเสียงของตนเองเป็นเครื่องมือต่อรองกับไบเดนต่อไปก็ตาม

photo: Gage Skidmore

ป๊อปปูลาร์เฉพาะกลุ่มเอียงซ้าย

ความเป็นไปได้ประการแรกก็คือ แซนเดอร์สมีฐานเสียงในวงที่แคบและจำกัดมาก ทุกการหาเสียง การปราศรัย และการดีเบตนั้น แซนเดอร์สไม่เคยแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการขยายน่านฟ้าของผู้สนับสนุนตัวเองได้เลย

นโยบายหลักของเขาซึ่งชูแนวคิดแบบสังคมนิยม ทำให้ชื่อและแคมเปญของแซนเดอร์สนั้น ดึงดูดได้แค่คนที่มีแนวคิดเอนเอียงไปทางซ้าย และคนรุ่นใหม่อายุไม่เกิน 45 ปีลงไปเท่านั้น ซึ่งถ้าวัดกันจากประวัติการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านๆ มา ก็คงจะเห็นได้ว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่ เยาวชน หรือคน Generation Y นั้นมีอัตราการออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งที่ต่ำกว่า Generation X และ Baby Boomer เอามากๆ ในทางยุทธศาสตร์แล้ว การเดินเกมของแซนเดอร์สจึงเหมือนการพายเรือวนอยู่ในอ่าง ปี 2016 เป็นแบบไหน พอมาปี 2020 ก็ยังคงเป็นแบบเดิม คือไม่สามารถขยายฐานเสียงของตัวเองออกไปยังกลุ่มอื่นๆ เช่น ชาวแอฟริกันอเมริกันที่มักกระจุกตัวรวมกันอยู่ในแถบภูมิภาคทางใต้และทางตะวันตกของสหรัฐอเมริกา อันเป็นฐานเสียงกลุ่มสำคัญของพรรคเดโมแครตได้ ทำให้ไบเดนซึ่งมีภาพลักษณ์เป็นผู้ใกล้ชิดคนสำคัญของ บารัค โอบามา มีแต้มต่อในส่วนนี้ไป

มิหนำซ้ำ เมื่อพิจารณาร่วมกับแผนที่ของการเลือกตั้งไพรมารีในปี 2020 นี้เทียบกับเมื่อปี 2016 นั้นทำให้เห็นได้ว่า แซนเดอร์สนั้นมีความนิยมที่ต่ำลงกว่าปี 2016 ไปมาก พื้นที่เดิมที่เคยเป็นฐานเสียงให้แก่แซนเดอร์ส เมื่อครั้งที่มีศึกไพรมารีกับ ฮิลลารี คลินตัน ในปัจจุบันนี้หลายรัฐก็ตกลงไปอยู่ในมือของไบเดนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งวอชิงตัน ไอดาโฮ มินนิโซตา มิชิแกน โอกลาโฮมา (กระแสความนิยมของไบเดนมาแรงถึงขนาดที่แมสซาชูเซตส์ถิ่นของฐานเสียงสายสังคมนิยมของ เอลิซาเบธ วอร์เรน (Elizabeth Warren) ก็ยังตกเป็นของไบเดน) ในส่วนนี้จะโทษแค่ตัวแซนเดอร์สแต่เพียงฝ่ายเดียวก็คงจะไม่ถูกนัก เพราะคู่แข่งของแซนเดอร์สในปี 2020 นี้คือไบเดน ซึ่งเป็นหนึ่งใน ‘คนวงใน’ คนสำคัญของพรรคเดโมแครต ไม่ต่างอะไรจากคลินตัน ซึ่งต่างก็เป็นคนใกล้ชิดของโอบามาทั้งสิ้น คลินตันเคยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของโอบามา แล้วยังเป็นภรรยาของ บิล คลินตัน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

ส่วนไบเดนก็เคยเป็นรองประธานาธิบดีในสมัยโอบามา ทำให้มีภาษีและเครดิตความน่าเชื่อถือที่ดีกว่าในฐานะผู้ที่เคยผ่านประสบการณ์ในงานฝ่ายบริหารรัฐบาลมาแล้ว ทำให้คนในพรรคนั้นมีความรู้สึกว่า ไบเดนเป็นผู้สมัครที่ไว้วางใจได้ และมีความเหมาะสมมากกว่า อีกทั้งผู้สมัครที่เพิ่งถอนตัวออกไปจากการแข่งขันส่วนใหญ่ก็หันไปสนับสนุนไบเดนกันหมด แทบไม่มีใครคิดจะประกาศตัวสนับสนุนแซนเดอร์สเลย ทั้ง แอนดรูว์ หยาง (Andrew Yang) แคมาลา แฮร์ริส (Kamala Harris) คอรี บุคเคอร์ (Cory Booker) ไมเคิล บลูมเบิร์ก (Michael Bloomberg) และ ตุลสี กับบาร์ด (Tulsi Gabbard) แม้แต่ วอร์เรน ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มคนจากเดโมแครต ที่มีแนวคิดทางนโยบายในแบบที่ใกล้เคียงกันกับแซนเดอร์ส ก็ยังปฏิเสธที่จะประกาศตัวเป็นผู้สนับสนุนแซนเดอร์ส

ภายหลังการประกาศถอนตัวออกจากการแข่งขันของเธอที่หลายคนมองไว้ว่าเป็นความแค้น ความไม่พอใจกันเป็นการส่วนตัวระหว่างแซนเดอร์สและวอร์เรน ที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้ จากการที่มีแฟนคลับและผู้สนับสนุนของแซนเดอร์สจำนวนมาก พากันไประดมฟลัดทวิตเตอร์ของวอร์เรนด้วยอีโมจิรูปงู พร้อมกับปั่นแฮชแท็ก ‘อีงูพิษวอร์เรน’ จนขึ้นเทรนด์ในทวิตเตอร์ เพราะไม่ชอบใจในท่าทีของ เอลิซาเบธ วอร์เรน ที่ไปกล่าวหาแซนเดอร์ส ว่าเป็นคนที่มีทัศนคติเหยียดเพศ และเคยพูดจาดูถูกเธอว่าผู้หญิงไม่เหมาะที่จะขึ้นมารับตำแหน่งระดับประธานาธิบดี ซึ่งค่อนข้างมีเหตุมีผล (กรณีของวอร์เรนนี้เป็นที่เข้าใจได้ เพราะไบเดนนั้นเผยให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการผลักดันวอร์เรนให้ขึ้นเป็นแคนดิเดตรองประธานาธิบดีของเขาในอนาคต)

คนนอก

และนั่นก็นำมาสู่เหตุผลประการถัดมา คือ ความเป็น ‘คนนอก’ ของแซนเดอร์สที่มักหาเสียงด้วยการแยกขาดตัวเองออกจากชนชั้นนำและผู้มีอำนาจภายในพรรค (The Establishment) เช่นเดียวกับ โดนัลด์ ทรัมป์ แม้ว่าแซนเดอร์สจะมีประสบการณ์ในทางการเมืองที่มากกว่าทรัมป์ แต่ก็เป็นแค่ตำแหน่งเล็กๆ เช่นตำแหน่งนายกเทศมนตรี สมาชิกรัฐสภา และสมาชิกวุฒิสภา ไม่เคยมีตำแหน่งในระดับบริหารของรัฐบาลกลางแบบคู่แข่งคนอื่นๆ ในพรรคอย่างคลินตันหรือไบเดนเลย และความจริงอีกชุดหนึ่งที่หลายๆ คนอาจจะไม่ได้สังเกตก็คือ แซนเดอร์สไม่ใช่สมาชิกพรรคเดโมแครต แต่แค่มาอาศัยชื่อและฐานเสียงของพรรคเดโมแครต เป็นบัตรผ่านทางการเมืองของตนเองเท่านั้น เพราะตั้งแต่แรกเริ่มชีวิตการเมืองในระดับประเทศ แซนเดอร์สก็ออกตัวว่าเป็นผู้สมัครอิสระไม่ขึ้นอยู่กับพรรคการเมืองใดมาตลอด (เคยอยู่พรรค Liberty Union แต่ไม่ประสบความสำเร็จจึงลาออก) และจนถึงปัจจุบันนี้ แซนเดอร์สก็ยังใช้จุดนี้เป็นฉลากในการโฆษณาหาเสียงอยู่เช่นเดิม

สำหรับสาเหตุที่ทางพรรคเดโมแครตยอมอนุโลมให้แซนเดอร์สเข้ามาอยู่ในกระบวนการไพรมารีได้ ก็เพราะตัวแซนเดอร์สนั้นได้ลงนามในเอกสารพันธสัญญา (DNC loyalty pledge) ไว้กับทางพรรคว่าจะลงสมัครเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีภายใต้แบรนด์ของพรรคเดโมแครต และหากได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีก็จะเป็นประธานาธิบดีที่สวมหมวกของพรรคเดโมแครต อีกทั้งตัวแซนเดอร์สก็เคยมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับทางพรรคมายาวนานตั้งแต่เข้าสู่วงการเมือง (แถมยังเคยช่วยงานพรรคในภารกิจงานด้านกรรมาธิการของรัฐสภาด้วย) ทำให้ทางพรรคยินยอมให้แซนเดอร์ส เข้ามาใช้ชื่อของพรรคในการหาเสียง

กล่าวอย่างเข้าใจง่ายก็คือ แซนเดอร์สเป็นสมาชิกของเดโมแครตแค่ในทางปฏิบัติเท่านั้น แต่ในทางทฤษฎีแล้ว แซนเดอร์สไม่เคยบอกว่าตัวเองเป็นคนของพรรคเดโมแครต (แซนเดอร์สมักนิยามตัวเองว่าเป็นฝ่ายสังคมนิยม เป็นฝ่ายซ้าย เป็นนักปฏิวัติมากกว่าจะประกาศว่าตัวเองเป็น ‘เดโมแครต’ ทั่วๆ ไป) ความพยายามวางตัวของแซนเดอร์สในฐานะคนนอกนี้สร้างความแคลงใจ และคับข้องใจให้กับสมาชิกคนอื่นๆ ภายในพรรคเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะในระดับปฏิบัติการ หรือระดับผู้ใหญ่ภายในพรรค

มากไปกว่านั้น คนอย่างแซนเดอร์ส เวลาหาเสียงก็มักโจมตีพรรคเดโมแครตอยู่ตลอดเวลา ชอบหาเรื่องวิพากษ์วิจารณ์ผู้ใหญ่ในพรรค โดยตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ว่าพรรคนั้นขาดความเป็นประชาธิปไตย ล้าหลัง ไม่เปิดโอกาสให้กับแนวคิดที่แตกต่างของเขา แถมเขายังเชื่อในทฤษฎีสมคบคิดที่ว่ามี “ขบวนการต่อต้านแซนเดอร์ส” ที่มีชนชั้นนำภายในพรรคคอยหนุนหลัง แอบส่งใบสั่งให้ เอมี โคลบุชาร์ (Amy Klobuchar) และ พีท บุตติเจจ (Pete Buttigieg) ถอนตัวออกจากศึกการเลือกตั้งแบบไพรมารี แล้วประกาศตัวสนับสนุนไบเดนแบบเป็นทางการอย่างกะทันหันอีก โดยที่ไม่ได้พิจารณาถึงปัจจัยความเป็นไปได้ที่สมเหตุสมผลในด้านอื่นๆ นอกจากการมองว่าเป็นความเลวร้ายภายในพรรคซึ่งต้องได้รับการปฏิรูปโดยเร็วที่สุด ทำให้สถานการณ์ภายในและสมาชิกพรรคหลายๆ คนนั้นค่อนข้างมองแซนเดอร์สเป็นลบ และเป็นตัวอันตราย โดยเฉพาะในกลุ่ม New Democrats (หรือในภาษาที่เรียกกันง่ายๆ ว่าเป็นพวก ‘Moderates’) ที่เป็นขั้วการเมืองซึ่งสนับสนุนทางสายกลาง (เอนเอียงไปทางขวาในเรื่องของเศรษฐกิจ และเอนเอียงไปทางซ้ายในเรื่องทางสังคม) ซึ่งครองอิทธิพลอยู่ในพรรคเดโมแครตในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมานี้ มีตัวละครหลักๆ อยู่ คือ คู่สามีภรรยาคลินตัน, โอบามา, ไบเดน, และ อัล กอร์ (Al Gore)

นอกเหนือไปจากความเป็น ‘คนนอก’ ของแซนเดอร์สแล้ว สิ่งที่คนทั้งพรรคเดโมแครต กังวลต่อการเดินหน้าหาเสียงต่อของแซนเดอร์สก็คือ ศักยภาพในเกมการเลือกตั้งเมื่อต้องเผชิญหน้ากับ โดนัลด์ ทรัมป์ ของแซนเดอร์ส ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญที่ทั้งทีมยุทธศาสตร์กับชนชั้นนำภายในพรรคประเมินและโต้เถียงกันอยู่ตลอดเวลา เพราะหากแค่ในกลุ่มฐานเสียงพรรคเดโมแครตเอง แซนเดอร์สยังไม่สามารถที่จะขยายขอบเขตฐานเสียงของตัวเองออกไปให้กว้างขึ้น แล้วสร้างสิ่งที่เรียกว่า ‘Multigenerational, Multiracial Coalition’ หรือ แนวร่วมต่างวัยและสายพันธุ์แบบที่โอบามาเคยสร้างไว้ได้ จนถือเป็นสถิติการเลือกตั้งที่ดีที่สุดของพรรคเดโมแครตในรอบ 20 ปี ก็คงยากที่แซนเดอร์สจะสามารถออกไปเป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีกับ โดนัลด์ ทรัมป์

ดังนั้นไม่ว่าจะอย่างไรเมื่อเทียบกับทางฝั่งของไบเดนที่มีแนวโน้มจะเรียกเสียงสนับสนุนจากคนหลากหลายกลุ่มช่วงวัยและเชื้อชาติพันธุ์ได้มากกว่าแล้ว แซนเดอร์สจึงไม่ใช่ตัวเลือกที่เหมาะสมนักในการเลือกตั้งครั้งนี้ (กล่าวโดยพื้นฐาน คือ นโยบายนั้นไม่ใช่ตัวแปรหลักที่สมาชิกพรรคเดโมแครตใช้เป็นเกณฑ์ในการเลือกผู้สมัคร แต่เป็นเรื่องของ ‘Electability’ หรือโอกาสในการชนะเลือกตั้งเมื่อเข้าสู่สนามใหญ่มากกว่า)

สังคมไม่นิยม

และท้ายที่สุดเลย คือ เรื่องนโยบายสังคมนิยมสุดโต่งของแซนเดอร์ส ไม่ว่าจะ Medicare-for-All, Green New Deal, College-for-All, Student-debt Reform, รวมไปถึง Housing-for-All ที่ถูกโจมตีว่าเป็นนโยบายที่จะนำสหรัฐอเมริกาไปสู่เส้นทางของการล้มละลาย จากการเพิ่มงบประมาณรายปีขึ้นมาอีกกว่าร่วม 6,000,000,000,000 ดอลลาร์ ตลอด 10 ปีข้างหน้า โดยเกือบ 1 ใน 3 นั้นจะถูกดึงมาเพื่อใช้ในการปฏิรูปวงการสาธารณสุข แล้วสร้างระบบประกันสุขภาพแบบสังคมนิยม โดยให้ทุกคนในสหรัฐอเมริกามีสิทธิอย่างเท่าเทียมกันในการเข้าถึงบริการสาธารณะซึ่งรัฐบาลเป็นผู้จ่ายและดูแลเองทั้งหมด

แม้จะเป็นนโยบายที่ได้รับความสนใจจากฐานเสียงจำนวนมากของแซนเดอร์ส โดยเฉพาะกับภาวะวิกฤติในช่วงเดือนมีนาคมก่อนที่ทางรัฐสภาจะมีการสั่งให้การตรวจหาไวรัส COVID-19 เป็นสิทธิที่เข้าถึงได้สำหรับพลเมืองอเมริกันทุกคน แต่ก็มีคำถามตามมามากมายถึง ‘ความเป็นไปได้’ และ ‘วิธีการ’ ที่แซนเดอร์สจะนำมาใช้เพื่อทำให้นโยบายดังกล่าวเป็นจริง และก็อย่างที่กล่าวไปในย่อหน้าก่อนหน้า คือ ต่อให้ผ่านด่านฐานเสียงของพรรคเดโมแครตไปได้ ก็ไม่ได้แปลว่าในสนามการเลือกตั้งใหญ่ระดับประเทศนั้นนโยบายดังกล่าวจะสามารถดึงดูดกลุ่มที่ไม่ใช่เดโมแครตให้หันมาเลือกแซนเดอร์สอยู่ดี

ดังนั้นการหาเสียงด้วยแก่นของ ‘การปฏิวัติ’ ภายในแคมเปญหาเสียงของแซนเดอร์ส จึงแทบไม่ได้สร้างข้อดึงดูดชักจูงจิตใจให้แก่หมู่สมาชิกพรรคเดโมแครตเลย สิ่งที่แซนเดอร์สทำมาทั้งหมดตลอดการหาเสียงทั้ง 2 ครั้ง ทั้งในปี 2016 และปี 2020 นี้ อย่างมากสุดก็แค่ช่วยให้คนอเมริกันมองเห็นความสำคัญของปัญหาเชิงโครงสร้างดังที่เขาเสนอไว้เท่านั้น แต่พอมาพูดถึงวิธีการแล้ว ความคิดของแซนเดอร์สก็ยังไม่สามารถทำให้คนอเมริกัน หรือฐานเสียงของเดโมแครตซื้อความคิดและเลือกเขาอยู่ดี เพราะปัญหาเชิงโครงสร้างลักษณะนี้เป็นสิ่งที่ซับซ้อนถึงจะสามารถมองเห็นได้ แต่วิธีการของแซนเดอร์สจับต้องไม่ได้ และทุกคนที่สนับสนุนพรรคเดโมแครต ก็เข้าใจดีว่า มันขัดกับแนวทางและนโยบายเสรีนิยมแบบอเมริกาอย่างชัดเจนแค่ไหน

พอมาเจอไบเดนในฐานะตัวเลือกที่เสนอตัวว่าจะหมุนย้อนทุกอย่างกลับไปยังสมัยที่ไม่มี โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งหลายคนเข้าใจว่าเป็นการหวนกลับไปสู่อเมริกาและโลกในยุคแบบโอบามา (Pre-Trump World Order) ฐานเสียงภายในพรรคเดโมแครต ซึ่งมีประสบการณ์การอาศัยอยู่ในโลกแบบโอบามามาก่อน มีภาพจำของสหรัฐอเมริกาในยุคโอบามา ฐานเสียงของเดโมแครตจึงรู้สึกพึงพอใจไปโดยอัตโนมัติว่าแผนของไบเดนนั้นมีความจับต้องได้ มีความเป็นไปได้ (และประนีประนอมในเชิงนโยบาย) มากกว่า เพราะความใกล้เคียงที่ไบเดนมีต่อโอบามา (แม้ในปัจจุบัน โอบามาจะยังไม่ได้ออกตัวสนับสนุนไบเดนก็ตาม) เมื่อเทียบกันกับแซนเดอร์สที่เสนอแผนแห่งอนาคต ซึ่งขาดพิมพ์เขียวความเป็นรูปธรรมที่แน่นอน บวกกับสภาพเงื่อนไขที่จำกัด มันจึงสะท้อนว่าคนอเมริกัน (โดยเฉพาะคนกลุ่มที่สมาทานตัวเองอยู่ในสังกัดพรรคเดโมแครตในกระบวนการขั้นตอนไพรมารีนี้) ยังไม่พร้อมอย่างยิ่งที่จะเอียงเข้าไปหาแนวคิดซ้ายจัด หรือรัฐสวัสดิการแบบเต็มสูบด้วยการปฏิวัติระบบโครงสร้างทางสังคมและการเมืองใหม่ตามข้อเสนอของแซนเดอร์ส

อย่างไรก็ดีนั้น ไม่ใช่ความพยายามของแซนเดอร์สจะสูญเปล่า เพราะอย่างที่ทราบกันว่าฐานเสียงของแซนเดอร์ส คือคนรุ่นใหม่ คนละตินอเมริกา คนที่เชื่อในแนวคิดสังคมนิยม การที่แซนเดอร์สยังไม่ประกาศสนับสนุนไบเดนนั้น ก็ยังพอเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ไบเดนต้องยอมเอนเอียงทางนโยบายเข้ามาหาขั้วของแซนเดอร์สไม่มากก็น้อย เนื่องจากไบเดนยังคงต้องการขยายขอบเขตของฐานเสียงตนเองให้กว้างขึ้นไปเท่ากับระดับของโอบามา การเข้าหาฐานเสียงของแซนเดอร์ส จึงยังเป็นสิ่งจำเป็นและสถานการณ์บังคับ เพื่อไม่ให้เกิดสถานการณ์ซ้ำรอยการเลือกตั้งปี 2016 ที่ฐานเสียงของแซนเดอร์สนั้นไม่ได้หันไปสนับสนุนคลินตัน ทำให้ในปี 2020 นี้ถึงแม้แซนเดอร์สจะยังเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในศึกไพรมารี แต่จากประสบการณ์ของแนวร่วมฝ่ายเดโมแครตในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ก็น่าจะเป็นเครื่องมือย้ำเตือนได้อย่างดี ว่าถ้าเดโมแครตต้องการเอาชนะพรรครีพับลิกัน (Republican) ให้ได้ การสร้างแนวร่วมของฐานเสียงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด หากไบเดนต้องการฐานเสียงของแซนเดอร์ส ก็จำเป็นต้องรับเอาข้อเสนอทางนโยบายของแซนเดอร์สไปปรับใช้ในแคมเปญของตนเองในอนาคต เพื่อเพิ่มมิติความเป็นสังคมนิยมให้แก่พรรคเดโมแครต ตามเจตจำนงของแซนเดอร์ส

Author

ปรีชภักดิ์ ทีคาสุข
อดีตนักวิจัยฝึกหัดจากสถาบัน Richardson ประเทศอังกฤษ สนใจในประเด็นทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ กับยุทธศาสตร์ทางด้านการทูตของจีน และไต้หวัน รวมถึงประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายต่างประเทศ มีประสบการณ์ทางด้านมานุษยวิทยาเล็กน้อย ปัจจุบันกำลังศึกษาประเด็นเกี่ยวกับโรฮิงญา และความเป็นไปทางภูมิรัฐศาสตร์ของการเมืองโลก

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า