‘ตึกตู้ปลา’ หรือ ตึกบัญชี เป็นที่รู้จักในฐานะชื่อเล่นของอาคารเรียนคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เนื่องจากตัวตึกมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับตู้ปลาขนาดใหญ่ เป็นสถาปัตยกรรมอาคารเรียนที่โดดเด่นและทันสมัยในยุคแรกๆ ของอาคารในท่าพระจันทร์
ตึกตู้ปลามักเป็นสถานที่คุ้นตาในฐานะฉากหลังของประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษา 6 ตุลาคม 2519 ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตึกตู้ปลาตั้งตระหง่านเป็นฉากหลัง เบื้องหน้าเป็นภาพของนักศึกษาที่เสียชีวิตและถูกจับกุมจำนวนมาก ตึกตู้ปลาเต็มไปด้วยร่องรอยกระสุนปืนที่มุ่งประหัตประหารนักศึกษาในวันนั้น เป็นประวัติศาสตร์โชกโชนที่สุดเรื่องหนึ่งของอาคารเรียนหลังนี้
เมื่อเวลาผ่านไป ตึกตู้ปลาได้รับการบูรณะซ่อมแซม ร่องรอยของกระสุนที่เคยขีดข่วนอยู่ตามผนังของอาคารเรียนก็หายไป เหลือเพียงความทันสมัยที่โก้หรู ภายในเต็มไปด้วยอุปกรณ์และเครื่องมือที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนการสอนของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
กระทั่งวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ตึกตู้ปลาตกเป็นข่าวอีกครั้ง เมื่อตัวแทนคณาจารย์ 48 คนของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ร่วมแถลงข้อร้องเรียนกรณีการปรับปรุงบริเวณชั้น 1 ของอาคาร โดยคณะพาณิชยฯ ร่วมกับธนาคารไทยพาณิชย์ และร้าน Too Fast To Sleep จะทำการรื้อทำลายสำนักงานของคณะเดิมเพื่อสร้างพื้นที่ใหม่คือ iSpace และ iLab
ข้อขัดแย้งดังกล่าวคือ กลุ่มอาจารย์ที่คัดค้านตั้งข้อสังเกตว่าตึกตู้ปลาตั้งอยู่บนที่ดินราชพัสดุ การเข้ามาใช้ประโยชน์ของเอกชนเป็นอย่างไร นอกจากนี้ยังมีประเด็นแบบสถาปัตยกรรมการปรับปรุงอาคาร การผ่านความเห็นชอบของประชาคม ความโปร่งใสในข้อตกลงการจัดทำโครงการ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาจะส่งผลกระทบต่อนักศึกษาและมหาวิทยาลัยเป็นอย่างมาก ทั้งการใช้ประโยชน์ของอาคาร ไปจนถึงการรักษาความปลอดภัยในกรณีที่ Too Fast To Sleep เปิดให้คนนอกเข้ามาใช้งานพื้นที่มหาวิทยาลัยได้ 24 ชั่วโมง
ในทางกลับกัน สวนทางกับเสียงคัดค้าน ฝ่ายผู้บริหารของคณะ ได้ออกมายืนยันความโปร่งใสว่า การปรับปรุงตึกตู้ปลานั้นไม่มีการเอื้อผลประโยชน์กับเอกชน และเป็นไปตามระเบียบขั้นตอนทุกประการ
เพื่อนำเสนอให้สาธารณะได้รับทราบและขบคิดหาข้อเท็จจริงจากการฟังความสองข้าง WAY ตั้งประเด็นหลักชวนสงสัยในคำถามเดียวกันผ่านบทสัมภาษณ์ขนาดสั้น โดยผู้ตอบคือ รศ.ดร.เอกจิตต์ จึงเจริญ และ รศ.ดร.พันทิศา ภาวบุตร อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ตัวแทนกลุ่มอาจารย์ผู้คัดค้าน และฝ่ายบริหารผู้ยืนยันความโปร่งใสของโครงการ รศ.ดร.พิภพ อุดร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ว่าทั้งสองฝ่ายให้คำตอบแตกต่างกันอย่างไร พร้อมไล่เรียงสรุปเหตุการณ์ ‘ตึกตู้ปลา’ ทั้งหมดไว้ที่นี่
นิยามการปรับปรุงตึก
ตัวแทนกลุ่มอาจารย์ผู้คัดค้าน
เอกจิตต์ อธิบายความสรุปที่มาที่ไปว่า “การปรับปรุงตึกมันมีที่มาที่ไป ประมาณสองปีมาแล้ว ตั้งแต่สมัยคณบดีคนก่อนศาสตราจารย์ ดร.ศิริลักษณ์ โรจนกิจอำนวย ท่านมีดำริที่จะปรับปรุงบางส่วนเพื่อเพิ่มพื้นที่ทำงานให้นักศึกษา ให้มีการดูหนังสือ ปรึกษาหารือ เราก็มีคณะกรรมการปรับปรุงขึ้นมา โดยได้แบบมาจากการมีส่วนร่วมของประชาคม ปรับแก้หลายรอบจนกระทั่งเสร็จเรียบร้อย”
เขาอธิบายต่อถึงรูปแบบการปรับปรุงว่า “เราจะใช้พื้นที่ชั้นล่างที่ติดกับห้องขาว ปรับเป็นห้องที่สามารถเป็น set trade room แล้วก็ห้องที่คล้ายๆ กับห้อง showcases พร้อมๆ กับห้องที่ทำคล้ายๆ flexible study room ในชั้น 2 ห้อง 201 ซึ่งปกติไม่ค่อยได้ใช้ การดำเนินงานถึงขั้นที่เตรียมผู้รับเหมาเสนอราคา ด้วยราคาไม่แพง ประหยัด ช่วงนั้นเป็นช่วงคาบเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านคณบดี ซึ่งก็ทำให้ไม่ได้ทำในที่สุด”
คณบดีคนปัจจุบัน
คณบดีคนปัจจุบัน รศ.ดร.พิภพ อุดร พาเราไปทำความเข้าใจกับประเด็นที่เกิดขึ้น เขาเริ่มกล่าว “ต้องพูดก่อนว่า โดยธรรมชาติของ TBS (คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี) เราเน้นการเรียนการสอนที่พานักศึกษาออกนอกห้องเรียน ใช้โจทย์จริง ปฏิบัติจริง ไม่ได้เรียนแต่ในห้องสี่เหลี่ยม เพราะฉะนั้นเด็กจะต้องศึกษาด้วยตนเอง ฝึกพรีเซนต์ ฝึกนำเสนอ ลงมือปฏิบัติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เราทำการเรียนการสอนมาโดยตลอด แต่ว่า facilities ที่มีอยู่เหล่านี้มันไม่รองรับกับการเรียนการสอนในรูปแบบนี้”
นอกจากนี้ รศ.ดร.พิภพยังเสนอความคิดว่า “จริงๆ แล้ว การปรับปรุงครั้งล่าสุดก็ผ่านมาเกือบ 10 ปีมาแล้ว ประเด็นมันอยู่ที่ว่าปัจจุบันมันไม่เหมาะกับการเรียนการสอน ถ้าเราจะมัวแต่ไปรอให้ใช้ไปอีก 20 ปี พังแล้วค่อยกลับทำใหม่ มันแปลว่าอีก 20 ปีมันจะทำให้เด็กของเราสูญเสียทักษะในการที่จะมีพื้นที่และโอกาสในการใช้งาน”
เกิดอะไรขึ้นที่ตึกตู้ปลา
ตัวแทนกลุ่มอาจารย์ผู้คัดค้าน
เอกจิตต์รับหน้าที่ในการอธิบายต่อไปว่า “หลังจากที่มีการเปลี่ยนผู้บริหารชุดใหม่ ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2560 มีแบบออกมานำเสนอให้คณาจารย์ดู ซึ่งรูปแบบที่ออกมาทำให้กลุ่มอาจารย์เป็นกังวลมาก เพราะมีการใช้พื้นที่ชั้น 4 เกือบครึ่งหนึ่งของตึกตู้ปลาใช้เป็นโซน executive lounge อย่างหรูเลิศเลย คณาจารย์ก็คัดค้านตกไป และมีการปรับแก้กันหลายรอบ บางแบบก็ทำให้พื้นที่ห้องเรียนหายไป
“จนกระทั่งมิถุนายน 2561 ก็มีการเข้าไปชี้แจงกับกรรมการประจำคณะ และมีข้อตกลงว่า จะออกแบบพร้อมกับประชาคมทั้งหมด มีคณาจารย์เป็นตัวแทน มีนักศึกษา มาร่วมออกแบบทางกายภาพกับคณะสถาปัตย์ (ยังไม่ใช่แบบจริง) ปรับไปจนครบ 9 แบบ ปรากฏว่าแบบที่ 9 เป็นแบบที่ไม่ต้องรื้อออฟฟิศข้างล่างเลย เราจะปรับห้องเพิ่มเติมให้นักศึกษา ห้องแคนทีน โดยทุกแบบ 8A 8B และ 9 ต้องรวมแบบกายภาพของตึกอเนกประสงค์ 2 ด้วย
“และจริงๆ คณะมีที่ว่างอีกเยอะเลยที่ไม่ได้ใช้อยู่อีกอาคาร คืออาคารอเนกประสงค์ 2 ชั้น 2 (ตึกริมน้ำ) เราสามารถทำอะไรเพิ่มเติมได้เช่น co-working space ในตรงนั้นได้ สถาปนิกก็ขอกลับไปคิดค่าใช้จ่าย เพราะไม่ต้องรื้ออะไรเลย ช่วงนั้นเป็นช่วง 14 กันยายน 2561 ทางคณบดีก็บอกว่า จะไม่เอาและจะไม่พูดถึงเรื่องนี้แล้ว แล้วก็เอาเรื่องของการปรับปรุงตึกเข้าที่ประชุมกรรมการบริหารเลย และเปลี่ยนหัวจดหมาย จากประชุมเพื่อพิจารณาเปลี่ยนเป็นจดหมายแจ้งให้ทราบเท่านั้น ซึ่งแบบที่ 9 ถูกตัดสิทธิ์ออกไปเลย ก็ไปได้แบบ 8A ซึ่งก็เป็นแบบของ SCB & Too Fast to Sleep แต่แรกมาแทน โดยเขาอ้างว่าตัวแบบ SCB สรรหามาให้ทั้งหมด
“อีกเรื่องคือ การรื้อถอน ทางธนาคารก็แจ้งว่าไม่ได้เกี่ยวข้อง เพราะการรื้อถอนที่เป็นทรัพย์สินของราชการ ต้องเป็นส่วนของมหาวิทยาลัยดำเนินการ อันนี้ต้องค้นหาว่าใครเป็นคนสั่งให้ดำเนินการ ระหว่างคณะกับมหาวิทยาลัย ส่วนนี้เป็นเรื่องที่ยังดำมืดอยู่ มีบุคคลมารื้อ แต่ไม่มีการแจ้งประชาคมสักอย่าง ตรงนี้เราถึงได้ทำหนังสือร้องเรียน”
คณบดีคนปัจจุบัน
การอธิบายของฟากฝั่งคณบดีเริ่มขึ้น “ผมเข้ารับตำแหน่งปลายปี 2559 ต้องการจะพัฒนาการเรียนการสอนให้ทันสมัย ต้องการภาพลักษณ์ของความเป็น world class ของ TBS ด้วย เพราะตัวอาคารก็ค่อนข้างอยู่มานาน เราก็นำเสนอแบบให้เหล่าคณาจารย์ได้ดู คณาจารย์ก็มีการท้วงติง ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องจริงที่ว่าทำมากเกินไป เราก็ใช้เวลาปรับไปเรื่อยๆ ตั้งแต่การปรับใหญ่ครั้งแรกเราก็ตั้งใจอยู่แล้วว่าจะให้พื้นที่ทั้งหมดด้านล่างเป็นพื้นที่นักศึกษา และส่วนอื่นๆ ด้วย ซึ่งก็อาจจะต้องหาเงินมาทำเอง เราก็เลยบอกว่า ถ้าอย่างนั้นก็ปรับเฉพาะส่วนของนักศึกษาก่อน เพราะส่วนนักศึกษามันก็ไปพอดีกับความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับ SCB เราก็เลยขอว่า เอาความร่วมมือที่มีกับพาร์ทเนอร์มาทำเลยโดยที่ไม่ต้องไประดมลงทุนเอง
“ช่วงเฟสแรกก็ตั้งแต่แจ้งเรื่อง MOU คณาจารย์ขออย่างเดียวว่าต้องเอาสัญญาเช่ามาให้ดู ถ้า 18 พฤษภาคม 2561 เอาสัญญาเช่ามาให้ดู คือจบ ผมก็เอาเข้ามา สัญญาเช่านี่ก็เป็นของ Too Fast to Sleep และ SCB เราเอาสัญญาเข้ามามันต้องจบ แต่ในวันที่ 14 มิถุนายน บอกไม่เอา ทั้งๆ ที่ต้องเดินตาม SCB บวก Too Fast to Sleep แล้ว ก็เริ่มใหม่หมดเลย มีทางเลือกสามแบบ หนึ่งคือใช้แบบของคณะบริหารชุดเก่า สองคือแบบของ SCB และสามให้คณะสถาปัตย์เข้ามาทำแบบให้
“พอเราหาคนกลางอย่างคณะสถาปัตย์มาปุ๊บ ได้เลย์เอาท์ออกมา ก็มาชนกันพอดีกับแบบของ SCB เห็นแบบ 8A ใช่ไหม เดิมมันก็เป็น Too Fast to Sleep ตัวนี้เป็น SCB ก็เลยได้ข้อสรุป พอคณะสถาปัตย์ทำออกมาแล้วมันตรงกันกับแบบ SCB มันก็ต้องจบ ถูกไหม เราก็แฟร์นะ ถ้าเขากลัวว่าเราจะคิดคนเดียว เราก็ต้องไปเอาคณะสถาปัตย์มา และพอเอาคณะสถาปัตย์มาช่วยคิดก็ดันตรงกับแบบที่สอง”
MOU ระหว่างมหาวิทยาลัยกับ SCB เป็นอย่างไร
ตัวแทนกลุ่มอาจารย์ผู้คัดค้าน
มาถึงส่วนคำตอบที่สำคัญ คือเรื่องสัญญา เอกจิตต์ตอบว่า “SCB ก็ได้เข้ามาอย่างใกล้ชิด มีให้ทุนผู้บริหารไปดูงานที่อังกฤษ กลับมาก็มีสัญญาของธรรมศาสตร์กับธนาคารไทยพาณิขย์ มาเซ็นที่คณะ จริงๆ แล้วในคณะกรรมการประจำคณะบัญชีก็ประกอบด้วยผู้บริหารของไทยพาณิชย์หนึ่งคน บอร์ดของไทยพาณิชย์ด้วยหนึ่งคน แล้วอีกคนมีภรรยาเป็นผู้บริหารระดับสูงของไทยพาณิชย์ด้วย เราก็ขอรายละเอียดดู ถ้ามี SCB & Too Fast to Sleep เข้ามา มีสัญญาเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถามนะ”
จนถึงวันนี้ คณาจารย์ผู้คัดค้านยังคงยืนยันว่ายังไม่ได้เห็นสัญญาของ SCB & Too Fast to Sleep ที่ทำกับทางคณะที่คณบดีกล่าวอ้าง
คณบดีคนปัจจุบัน
พิภพอธิบายให้เห็นภาพว่า “คณะมี MOU อยู่กับ 84 บริษัท ให้เขาเข้ามาช่วยให้โจทย์ ให้ความร่วมมือให้นักศึกษาไปดูงานบ้าง ทำหลายรูปแบบ ไทยพาณิชย์ก็เป็นหนึ่งในความร่วมมือที่เรามีพาร์ทเนอร์ ไทยพาณิชย์มีความโดดเด่นในการที่จะมุ่งไปสู่ technology company เขาพูดชัดเลยว่าเป็น technology company มีบริษัทด้าน digital venture อยู่กับเขา
“นอกจากคุยกับ SCB เราก็คุยกับหลายแห่งเหมือนกัน พอคุยกับ SCB มันมีความลงตัวกันในหลายเรื่อง ก็เลยมาทำ MOU กับระดับมหาวิทยาลัย ระดับมหาวิทยาลัย ไม่ใช่คณะนะ เวลามี MOU จะมาลง 5-6 อย่าง เขาก็จะเขียนกว้าง พัฒนาการเรียนการสอน และอื่นๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ เขียนว่าจะมาพัฒนาพื้นที่ที่เรียกว่า SCB Business Center พร้อมกับ Too Fast to Sleep”
ทำไมเรื่องราวถึงลุกลามใหญ่โต
ตัวแทนกลุ่มอาจารย์ผู้คัดค้าน
พันทิศาบอกกับเราว่า “ความโปร่งใสมันมาจากจริยธรรม การทำธุรกิจต้องไม่มีประโยชน์ทับซ้อน ตัวโครงสร้างของคณะกรรมการเอง โดยมารยาทแล้ว คณะกรรมการที่มีความเกี่ยวข้องกับ SCB ก็ไม่ควรจะมาพิจารณาโครงการที่ให้ผลประโยชน์กับตนเอง
“เมื่อไหร่ที่ประสิทธิภาพในการถ่วงดุลไปอยู่ในจุดเดียว ก็แสดงว่ามันไม่เกิดความยุติธรรม ซึ่งตอนนี้โครงสร้างออกจะประหลาดนิดหนึ่ง คืออำนาจตัดสินใจ คณบดีนั่งเป็นประธานในทุกๆ ที่ประชุม โดยมารยาท ถ้าคณบดีนั่งบอร์ดบริหารก็ไม่ควรนั่งบอร์ด audit (ผู้ตรวจสอบ) แล้วไม่ใช่แค่นั้น คณบดีก็เป็นคนเลือกสมาชิกในบอร์ดอีก ควบสามชั้นเลย good governance ที่ดี มันไม่ได้ เราเป็นองค์กรที่พร่ำสอนหนังสือ แต่เราดันมาทำเสียเอง มันไม่ได้”
คณบดีคนปัจจุบัน
“ในทางปฏิบัติ การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ๆ ในองค์กร มันก็จะมีทั้งคนที่คุ้นเคยกับแบบเดิมและไม่คุ้นเคย เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงทุกครั้งมันมีแรงต้านเสมอ ซึ่งจริงๆ ก็มีหลายประเด็น แต่หลักๆ เลยผมมองว่าคนบางส่วนไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง มีความกังวล หวง ห่วง อีกเหตุผลคือไม่เห็นด้วยกับพาร์ทเนอร์ กังวลว่าพาร์ทเนอร์จะดีไหม แบบจะดีไหม การที่คนจะเห็นตรงกันว่าดีหมด มันเป็นไปไม่ได้ อาจจะต้องเจรจาหาข้อสรุป แล้วเมื่อเสียงส่วนใหญ่ไปทางไหนเราก็ควรเคารพ ซึ่งแบบที่เราเดินหน้านี้ เป็นแบบที่ศูนย์นวัตกรรมจากคณะสถาปัตย์เข้ามาเป็นคนกลาง ช่วยพูดคุยจากประชาคม ผู้แทนสี่ฝ่าย มีส่วนร่วม จนมีแบบ 8A และ 8B เกิดขึ้นได้”