จัดลำดับเป้าหมาย SDGs ในภาวะโควิด-19

ครั้งหนึ่ง ความเหลื่อมล้ำเคยถูกมองว่าไม่เป็นปัญหา หรือหากเป็น ก็เป็นปัญหาที่รองลงมาจากปัญหาอื่นๆ เช่น เมื่อพูดถึงปัญหาความยากจน ก็มักมุ่งแก้ที่ความยากจนเป็นหลัก โดยไม่ได้สะสางปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เป็นหนึ่งในต้นตอของความยากจน มุมมองเช่นนี้คือสิ่งที่เชื่อกันเมื่อต้นทศวรรษ 2010 แต่ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับแล้วว่า ความเชื่อเช่นนั้นอาจไม่ถูกต้องนัก 

ความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมที่สำคัญในอันดับต้นๆ ที่จะต้องถูกกำจัด มันคือจุดอ่อนที่จะไปเสริมสร้างให้ปัญหาอื่นๆ แข็งแกร่งมากขึ้น ไม่ว่าจะปัญหาความยากจน ปัญหาสภาพภูมิอากาศ ความสามารถในการประกอบอาชีพ หรือความสามารถในการแข่งขัน ในทางเศรษฐศาสตร์เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า ‘Heterogeneous Effects’ ดังนั้น การพัฒนาที่ยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต ก็จำต้องดำเนินควบคู่ไปกับการลดความเหลื่อมล้ำในปัจจุบัน 

หากจะก้าวไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำและความยั่งยืนในอนาคต จึงจำเป็นต้องตอบคำถามว่า ภายใต้ทรัพยากรจำกัด จะจัดลำดับความสำคัญของแต่ละเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) อย่างไร อะไรคือประเด็นเร่งด่วน และต้องปลดล็อคตัวแปรใดก่อนหรือหลัง

เพื่อตอบคำถามดังกล่าว ผศ.ดร.มณเฑียร สติมานนท์ จากศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม (CRISP) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ใช้ machine learning, data mining และ data visualization เป็นเครื่องมือในการศึกษา และนำเสนอผ่านบทความ ‘ความเชื่อมโยงระหว่างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ความเหลื่อมลํ้าและความยั่งยืนในประเทศเอเชียตะวันออก’ ณ เวทีสัมมนาวิชาการ EconTU Symposium ประจำปี 2564 ครั้งที่ 43 ของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้หัวข้อหลัก ‘ก้าวต่อไปเพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน’ 

งานศึกษาชิ้นนี้มีวิธีการศึกษาต่างไปจากอดีต จากเดิมจะใช้การวิเคราะห์ตัวอักษรตามแบบบรรณารักษ์ เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลของแต่ละประเทศ ในขณะที่งานศึกษาชิ้นนี้ใช้วิธีการที่เรียกว่า ‘Supervised Machine Learning’ ที่สามารถใช้ข้อมูลจากหลายฐาน อาทิ SDGs Report 2019-2020, SGDs Database, Oxford Our World in Data, United Nations: WIID Database และ WID: World Inequality Database เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ค่อนข้างครบถ้วนรอบด้าน นอกจากนั้นยังสามารถแบ่งกลุ่มเพื่อจัดลำดับความสำคัญ (prioritize) หรือกำหนดเป้าหมายไว้ว่าจะลดความเหลื่อมล้ำอย่างไรให้ดีขึ้น ผ่านการเทียบเคียงสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศ

เหตุที่ต้องมีการลำดับความสำคัญของแต่ละเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เนื่องจากแต่ละเป้าหมายเป็นทั้งการส่งเสริม ทดแทน และมีช่องว่างระหว่างกัน 

“เป้าหมายของ SDGs มีทั้งสิ้น 17 เป้าหมาย 235 ตัวแปร ถ้าจะเอาทฤษฎีมาจับทั้งหมด คงไม่มีทฤษฎีไหนครบถ้วนสมบูรณ์พอที่จะสามารถอธิบายได้ทั้ง 17 เรื่อง หรือ 235 ตัวแปรในเวลาเดียวกัน”

ก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป้าหมายของ SDGs ที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ดีที่สุดจากทั้งหมด 17 เป้าหมาย คือเป้าหมายที่ 3 เรื่องของสุขภาวะ ซึ่งเป็นเป้าหมายการพัฒนาที่สามารถอธิบายถึงความเหลื่อมล้ำในสถานการณ์โรคระบาด ตามมาด้วยเป้าหมายที่ 4 การศึกษาที่ดี, เป้าหมายที่ 6 น้ำสะอาดและสุขาภิบาล, เป้าหมายที่ 9 อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน และเป้าหมายที่ 16 สันติภาพและสถาบันยุติธรรมเข้มแข็ง ตามลำดับ

ทั้งนี้ ในการค้นหาว่าเป้าหมายใดจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำและส่งเสริมให้เกิดการลดความเหลื่อมล้ำได้ดีที่สุด นักเศรษฐศาสตร์จะทำผ่านการจับ 2 คู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่สามารถอธิบายความเหลื่อมล้ำได้ดีมาก เพื่อนำมาเปรียบเทียบกัน

ก่อนเกิดโควิด-19

ก่อนเกิดโควิด-19 (ปี 2019) จะพบว่าประเทศที่อยู่ในกราฟเส้นสีฟ้าเป็นกลุ่มที่ลดความเหลื่อมล้ำได้มาก กลุ่มประเทศเหล่านี้สามารถที่จะเสริมความเข้มแข็งด้านสุขภาวะ พร้อมกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมทางทะเล มาสร้างแรงเสริมกันและกัน (synergies) ซึ่งทำให้ประเทศลดความเหลื่อมล้ำลงได้ ขณะเดียวกัน หากมองไปในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกหรือกลุ่มประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น จะพบว่าจำเป็นต้องมีการแลก (trade-offs) ระหว่างสุขภาวะที่ดีกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล เพื่อให้ความเหลื่อมล้ำลดลง

“ลองคิดง่ายๆ แต่อาจจะฟังดูเข้าใจยาก ก่อนเกิดโควิด-19 เรามีนักท่องเที่ยวไปทะเลปีละกี่คน ถามว่าทำไมเราต้องมีนักท่องเที่ยวเยอะขนาดนั้น เพราะเราต้องการรายได้ ถ้าคนส่วนใหญ่รวยพอ ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมก็จะเกิดน้อยลง แต่ในกรณีของไทย ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลแย่ลง เพื่อที่จะให้คนมีรายได้ดีขึ้น ขณะที่ในด้านสุขภาวะของเรายังโอเคอยู่”

ผศ.ดร.มณเฑียร สรุปว่า เพื่อให้ความเหลื่อมล้ำลดลง เราจึงต้องมีเป้าหมายสุขภาวะที่ดีเป็นอันดับแรก รวมทั้งการศึกษาที่ดีด้วยเช่นกัน

“ก่อนเกิดโควิด-19 สุขภาวะเป็นเป้าหมายสำคัญที่สุด เราอาจมองดูตัวอย่างจากประเทศอื่นๆ ก็ได้ว่า ถ้าเขาไม่มี universal healthcare แบบประเทศไทยแล้ว เขาทำอย่างไรเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งประเด็นหลักก็คือต้องลดความยากจนให้ได้ หากลดความยากจนได้เมื่อไหร่ สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือความเหลื่อมล้ำลดลง แต่ก็มีบางบทเรียนที่ต้องถอดว่า ถ้าลดความยากจนไม่ได้ คุณต้องมุ่งไปทางไหนในการลดความเหลื่อมล้ำ คำตอบคือ ต้องพัฒนานวัตกรรมให้ดีขึ้น แต่ถ้าคุณทำตามที่กล่าวมาไม่ได้เลย จะมุ่งไปทางไหนต่อ สิ่งที่พบคือ เราต้องเริ่มสร้างสังคมให้มีความยุติธรรมสูงขึ้น กับอีกด้านเราต้องสร้างสังคมที่ทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานที่ยั่งยืนได้”

หลังเกิดโควิด-19

จากข้อมูลเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2020 แสดงให้เห็นว่า เป้าหมายที่ 3 หรือสุขภาวะ เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ตามมาด้วยนวัตกรรม การบริโภคและการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

ผศ.ดร.มณเฑียร ชี้ว่า โควิดทำให้เห็นภาวะที่ทดแทนกันอย่างชัดเจน ไม่ว่าประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำดีขึ้นหรือแย่ลง ต่างต้องเลือกระหว่าง 2 เป้าหมาย คือ ต้องเลือกระหว่างการจัดการน้ำและสุขาภิบาล (เป้าหมายที่ 6) กับการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน (เป้าหมายที่ 12)

“หลังโควิด-19 เราควรต้อง trade-offs อะไร ระหว่างการมีน้ำที่สะอาด กับการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน ยกตัวอย่าง เราต้องแลกอะไรกับน้ำหนึ่งขวด น้ำในขวดพลาสติกคือการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนตามเป้าหมายที่ 12 ไหม คำตอบคือไม่ … แล้วเป็นไปตามเป้าหมายที่ 6 ไหม ลองจินตนาการดูว่า ทำไมในแคมป์คนงานถึงได้ติดโควิดกันมาก เขามีน้ำดื่มสะอาดไหม ทุกคนมีขวด มีแก้วไหม พอเขามีน้ำสะอาดแล้วสิ่งเหล่านี้สามารถแสดงให้เห็นความเหลื่อมล้ำที่ลดลงหรือไม่”

เมื่อมองผ่านวิทยาศาสตร์ข้อมูล (data sciene) จะเห็นว่า ในปีที่ผ่านมาประเทศที่ลดความเหลื่อมล้ำได้ในสถานการณ์โควิด ต้องแลกมากับการลดลงของการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน (เป้าหมายที่ 12) เช่น ต้องยอมให้มีขวดน้ำพลาสติกมากขึ้น 

“…เขายอมให้เป้าหมายที่ 12 แย่ลงในระยะสั้น ยอมให้มีขยะ อาทิ ขวดน้ำพลาสติก ภาชนะใช้แล้วทิ้ง มากขึ้น หรือมีผลกระทบทางอื่นมากขึ้น เพื่อที่จะลดความหิวโหยให้ได้ และต้องมีอาหารให้กับทุกคน นากจากนี้การลดความเหลื่อมล้ำทางเพศก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญ คนที่ได้รับผลกระทบจากโควิดมากที่สุดคือเพศหญิง คนที่ทำงานในภาคบริการ ภาคท่องเที่ยว แต่ถ้าไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้อีก เป้าหมายที่ 3 เรื่องสุขภาวะก็มีความจำเป็นที่ต้องมีการพัฒนาให้มากยิ่งๆ ขึ้น แล้วถ้าทำไม่ได้จริงๆ ต้องไปเพิ่มความยุติธรรมที่ดีขึ้นในสังคม ซึ่งเป็น 5 ตัวแปรสำคัญที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ”

ถ้าจะลดความเหลื่อมล้ำ สุขภาวะที่ดีคือเรื่องสำคัญที่สุด

ผศ.ดร.มณเฑียร กล่าวว่า งานศึกษาชิ้นนี้สอดคล้องกับงานศึกษาทั่วโลก กล่าวคือ เพื่อจะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ว่าในอนาคตจะยังมีโควิด-19 อยู่หรือไม่ เป้าหมายที่ 3 หรือการมีสุขภาวะที่ดี ก็ยังคงเป็นเป้าหมายที่มีลำดับความสำคัญมากที่สุด และจะเป็นเป้าหมายที่เชื่อมโยงกับพัฒนาการของเป้าหมายอื่นๆ

เมื่อพิจารณาการมีสุขภาวะที่ดีในกรณีของไทย สิ่งที่ไทยทำได้ดีอยู่แล้วคือ มี universal healthcare ที่ครบและครอบคลุม อันเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ได้รับผลกระทบจากโควิดในรอบแรกน้อย รวมทั้งประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตของแม่และทารกที่ต่ำมากมาโดยตลอด 

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ประเทศไทยจะต้องมุ่งพัฒนาให้ดีขึ้นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและมุ่งไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน คือ 

  1. การเพิ่มสัดส่วนบุคลากรทางการแพทย์ต่อจำนวนประชากร
  2. การลดอุบัติเหตุทางท้องถนน 
  3. การแก้ปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร 
  4. การพัฒนาวัคซีน 

ผศ.ดร.มณเฑียร กล่าวว่า โครงสร้างประชากรจะเป็นปัญหาในระยะยาว เนื่องจากปัจจุบันไทยมีอัตราการเกิดต่ำที่สุดในแถบอาเซียน ส่งผลให้ประเทศไทยจะก้าวสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว หรือ ultra aging, super aging หรือ whatever aging ภายในเร็วๆ นี้ นอกจากนี้ การพัฒนาวัคซีนในสถานการณ์โควิดก็เป็นเป้าหมายที่ไทยทำได้แย่มาโดยตลอด 

“เราโชคดีที่รัฐบาลปัจจุบันให้เงินสองพันล้านบาทเมื่อต้นปีที่ผ่านมาในการพัฒนาวัคซีน แต่คำถามง่ายๆ คือ พอไหม แล้วจะต่อเนื่องหรือเปล่า ถ้าเปรียบเทียบว่าโควิดสร้างความเสียหายเดือนละสองแสนล้านบาท แล้วคุณลงทุนวิจัยพัฒนาวัคซีนสองพันล้าน หรือแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ มองในมุมเศรษฐกิจ มองในมุมธุรกิจ ยังไงก็ไม่คุ้ม น้อยไปไหม ช้าไปไหม นั่นคือเรื่องหนึ่ง”

เรากำลังอยู่ในเหตุการณ์หายาก

ทางด้าน ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองในตอนท้ายของการสัมมนาว่า งานศึกษาของ ผศ.ดร.มณเฑียร มีประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อการวางนโยบายของรัฐที่ต้องกล่าวขยายความเพิ่มเติม

ผศ.ดร.ธานี เสริมว่า สำหรับเขาแล้วการจัดลำดับความสำคัญของเป้าหมาย SDGs ทั้ง 17 ข้อ อาจไม่ได้อยู่ที่ปี ค.ศ. ใด แต่อยู่ที่วาระหรือสถานการณ์ขณะนั้น กล่าวคือ งานของ ผศ.ดร.มณเฑียร สามารถทำให้เห็นความสัมพันธ์ของเป้าหมายแต่ละตัวที่มีต่อความเหลื่อมล้ำ เพราะมีข้อมูลทั้งในภาวะปกติ คือในปี 2019 และภาวะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นภาวะวิกฤติในปี 2020 ยิ่งกว่านั้นยังมีข้อมูลภาวะการปรับตัวหลังวิกฤติปี 2021 อีกด้วย ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ที่มีโอกาสพบเห็นได้ยากมาก หรือเรียกได้ว่า ‘rare event’ 

ความน่าสนใจก็คือ หากมองข้อมูลจากงานศึกษาของ ผศ.ดร.มณเฑียร จะพบว่า ในปี 2019-2020 มีเป้าหมาย SDGs ที่แสดงถึงความความสัมพันธ์กับความเหลื่อมล้ำมากที่สุดใน 6 เป้าหมาย โดยสามารถจัดลำดับแตกต่างกันไปได้ ได้แก่ เป้าหมายที่ 3 (สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี), เป้าหมายที่ 9 (อุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน), เป้าหมายที่ 12 (การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน), เป้าหมายที่ 6 (น้ำสะอาดและสุขาภิบาล), เป้าหมายที่ 4 (การศึกษาที่มีคุณภาพ) และเป้าหมายที่ 16 (สันติภาพและสถาบันยุติธรรมเข้มแข็ง) หมายความว่า ไม่ว่าสถานการณ์ปกติหรือสถานการณ์วิกฤติจากโรคระบาด หากมุ่งเน้นไปยัง 6 เป้าหมายนี้ก็จะช่วยให้เกิดการลดความเหลื่อมล้ำได้

ทั้ง 6 เป้าหมาย มีส่วนสำคัญในการช่วยลดความเหลื่อมล้ำทั้งในสถานการณ์ปกติและสถานการณ์วิกฤติ แม้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้าง (structural change) แต่ 6 เป้าหมายนี้ ก็นับได้ว่าเป็นเป้าหมายระดับพื้นฐานที่สุดที่ภาครัฐของทุกประเทศต้องให้ความสำคัญ

นั่นนำไปสู่ประเด็นว่า ลำดับเป้าหมายที่เปลี่ยนแปลงไปกำลังบอกอะไรเรา?

ผศ.ดร.ธานี แสดงให้เห็นว่า หลังเกิดภาวะวิกฤติ มีอยู่ 3 เป้าหมายด้วยกันที่มีการขยับลำดับ คือ เป้าหมายที่ 5 (บรรลุความเท่าเทียมระหว่างเพศ) และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สตรีและเด็กหญิง (achieve gender equality and empower all women and girls) ซึ่งขยับสูงขึ้นมากว่า 8 ลำดับ จากในปี 2019 

“ในสภาวการณ์ปกติการทำงานในสังคมบางสังคม ผู้ชายอาจจะเป็นคนหารายได้หลักและต้องมีรายได้สูง แต่พอถึงช่วงวิกฤติ เกิดปัญหาการว่างงาน หรือต้องทำงานที่บ้าน ทำให้บทบาทของผู้หญิงในการจัดการงานบ้าน การจัดการ work from home รวมทั้งงานนอกระบบ ถูกยกระดับความสำคัญมากขึ้น เช่น ผู้ชายตกงาน แต่ผู้หญิงยังมีงานทำอยู่ เช่น การรับงานมาทำที่บ้าน หรืองาน informal เป็นต้น”

การที่มิติเรื่องเพศมีบทบาทต่อการลดความเหลื่อมล้ำมากขึ้นนี้ อาจทำให้ต้องกลับมาพิจารณามิติเรื่องเพศในการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างจริงจังในอนาคต

บันทึกงาน EconTU Symposium ครั้งที่ 43
สนับสนุนโดย

Author

อภิสิทธิ์ เรือนมูล
นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ WAY ผู้ร่ำเรียนนิติศาสตร์ แต่สนใจปรัชญา เพราะปรัชญามอบคำอธิบายถึงชีวิตทั้งในมิติ fiction และ non fiction มีความเชื่อว่าชีวิตในและนอกตำรา ทฤษฎีและการปฏิบัติ ไม่อาจแยกขาดออกจากกัน

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า