รื้อเพิงพักอูรักลาโว้ย ปัญหาซ้ำซากของชาวเลอันดามัน และกฎหมายที่ไม่เคยเห็นหัวประชาชน

กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลในพื้นที่ภาคใต้รอนแรมไปตามเกาะแก่งต่างๆ และตั้งหลักปักฐานริมฝั่งอันดามันตามแนวทางของบรรพบุรุษมาเป็นเวลาหลายร้อยปี จนเมื่อรัฐเริ่มประกาศกฎหมายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้พื้นที่ดำรงชีวิตของคนกลุ่มนี้หดแคบลง ภายใต้คำจำกัดความว่าผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นประเด็นข้อขัดแย้งที่ยังต้องถกเถียงเพื่อหาทางออกกันอย่างยาวนาน 

กรณีล่าสุดอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา หมู่เกาะพีพี มีคำสั่งให้รื้อถอน ‘บาฆัด’ (ทับหรือเพิงพักระหว่างรอการออกเรือ) ของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลที่เกาะจำ ตำบลศรีบอยา อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ ซึ่งตั้งอยู่ที่หน้าหาดเพื่อใช้เป็นที่พักระหว่างหากินตามฤดูกาล เป็นเหมือนกระท่อมตามคันนาของชาวนา การสั่งรื้อถอนบาฆัดจึงถือเป็นการตัดตอนวิถีชีวิตอย่างหนึ่งที่ไม่อาจยอมรับได้

สนชัย ฤทธิชัย เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการพื้นที่ มูลนิธิชุมชนไท ซึ่งดูแลรับผิดชอบกลุ่มชาวเลทั้งหมด 5 กลุ่ม ในพื้นที่อันดามัน อธิบายว่ากลุ่มชาวเลในพื้นที่อันดามันมีอยู่ 3 กลุ่ม ใน 5 จังหวัดอันดามัน ได้แก่ กลุ่มมอแกน อยู่บริเวณจังหวัดระนองและพังงา กลุ่มมอแกลน อยู่บริเวณพังงาและภูเก็ตบางส่วน และกลุ่มใหญ่คือกลุ่มอูรักลาโว้ย อยู่บริเวณจังหวัดภูเก็ต กระบี่ และสตูล ในกรณีของเกาะจำส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มอูรักลาโว้ยและกลุ่มมอแกลนบางส่วน 

“ชาวเลที่หากินอยู่ตามเกาะจำ เกาะพีพี และเกาะลันตา เริ่มมีปัญหาเรื่องการหากินเพราะการประกาศเป็นเขตอุทยานบ้าง เป็นเขตเพาะพันธุ์สัตว์น้ำบ้าง เป็นเขตอนุรักษ์บ้าง ไม่กี่วันที่ผ่านมามีหนังสือประกาศจากอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา หมู่เกาะพีพี ให้พี่น้องรื้อถอนบาฆัดและสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่ที่พี่น้องไปหากิน และเมื่อมีประกาศขึ้นมาพี่น้องก็เกิดความรู้สึกกังวลทั้งที่เขาหากินที่นี่มายาวนานแล้ว ประกอบกับในช่วงวิกฤติสถานการณ์โควิดแบบนี้ก็เลยเป็นความกังวลของพี่น้องเป็นอย่างยิ่ง”

เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา หมู่เกาะพีพี ได้ยื่นปิดประกาศครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 แจ้งให้ชาวบ้านรื้อถอนบาฆัดออกจากพื้นที่ หากไม่รื้อถอนจะดำเนินการตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติปี 2562 แต่ชาวบ้านได้ยื่นอุทธรณ์ให้ทบทวนหรือยกเลิกคำสั่งไปก่อน อีกทั้งยังมีการทำหนังสือคัดค้านเพื่อยื่นไปที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา ถึง พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมหรือ P-Move และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายวราวุธ ศิลปอาชา ซึ่งสำนักนายกรัฐมนตรีตอบกลับว่าประเด็นดังกล่าวให้คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลเป็นผู้ดำเนินการเพราะเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง แต่ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด จนกระทั่งในวันที่ 6 กันยายน 2564 เจ้าหน้าที่ก็มาปิดประกาศอีกเป็นครั้งที่ 2 

“พี่น้องก็เข้าใจสถานการณ์โควิดนะ คือออกหาปลาแค่พอเลี้ยงชีพ เมื่อก่อนถ้ามีส่วนที่เหลือจากเลี้ยงชีพก็จะเอาไปขาย แต่พอเกิดสถานการณ์โควิดขึ้นมา คนที่มารับซื้อปลาก็น้อยลง ราคาก็ตกลง ตลาดน้อยลง คนบริโภคก็น้อยลง เพราะกำลังซื้อไม่ค่อยมี ก็เลยมีผลกระทบไปทั้งขบวน”

ขณะเดียวกัน ในพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติปี 2562 กลับมีเนื้อหาที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ม.70 ซึ่งกำหนดให้รัฐส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ให้ดำรงชีวิตตามวิถีดั้งเดิมโดยไม่ถูกรบกวน ด้วยข้อความที่ระบุไว้อย่างกว้างๆ ว่า “…เท่าที่ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ หรือสุขภาพอนามัย…” ซึ่งไม่มีการระบุถึงกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน 

“ที่จริงแล้วคณะรัฐมนตรีตั้งแต่สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีมติเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2553 ให้มีการแก้ปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล 9 ด้าน เช่น ที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย การศึกษา วัฒนธรรม แต่ประเด็นคือมติ ครม. ที่ผ่านมาไม่ได้เกิดเป็นรูปธรรมขึ้นมาจริงๆ เช่น มติคุ้มครองเรื่องการประกอบอาชีพที่ผ่อนปรนให้พี่น้องสามารถเข้าไปทำกินในเขตพื้นที่อุทยานของรัฐได้ แต่เมื่อเข้าไปก็ยังโดนจับหรือโดนคดีอยู่ ซึ่งเราพบว่าเวลาพี่น้องโดนคดีเรื่องพื้นที่ทำมาหากิน ฝ่ายรัฐจะตีความว่ามติ ครม. ไม่ใช่กฎหมาย เป็นแค่นโยบาย หน่วยงานจะทำตามหรือไม่ทำตามก็ได้ เพราะไม่ถือว่าเป็นกฎหมาย ก็เลยเป็นปัญหามาตลอดตั้งแต่ปี 2553

“พื้นที่ที่พี่น้องชาวเลส่วนใหญ่อาศัยตามเกาะต่างๆ เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมในการตั้งที่อยู่อาศัยหลบลม หลบแดด หลบพายุ ด้วยความรู้และภูมิปัญญาของเขาและปลอดภัยจากภัยพิบัติต่างๆ การสร้างบาฆัดทุกที่จึงต้องอยู่ที่หน้าหาด เพื่อจะเอาเรือมาจอด แต่กรณีล่าสุดคือชาวเลเกาะจำถูกสั่งให้รื้อบาฆัด เพราะพื้นที่หน้าหาดมีมูลค่าเยอะ ทำให้รัฐบาลพยายามส่งเสริมการท่องเที่ยวจนอาจลืมคนกลุ่มนี้ 

“เกาะพีพีมีความหลากหลาย ทั้งนักท่องเที่ยว คนพื้นบ้าน และกลุ่มชาติพันธุ์ ผมว่ามันเป็นเรื่องที่น่ารักนะถ้ารัฐเข้าใจความหลากหลายของกลุ่มคน แต่วันนี้คนกลุ่มหลังไม่สามารถอยู่ได้ ทั้งที่เรื่องนี้เราเสนอเชิงนโยบายมาหลายปีแล้ว เช่น เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา มีการทำบันทึกความร่วมมือ (MOU) การพัฒนาและคุ้มครองพี่น้องกลุ่มหลายหน่วยงาน ท่านรัฐมนตรีวราวุธ (ศิลปอาชา) ก็เป็นสักขีพยานพร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะร่วมกันพัฒนาพี่น้องกลุ่มนี้ หลังจากนั้นวันที่ 30 มีนาคม 2564 ก็มีการลงนามแนวทางการแก้ไขปัญหาของพี่น้องกลุ่มนี้โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นเจ้าภาพหลัก”

ถึงแม้จะมีทั้งมติคณะรัฐมนตรี MOU หรือบันทึกความร่วมมือแก้ไขปัญหาร่วมกัน แต่คนชาติพันธุ์ชาวเลก็ยังคงถูกกดดันให้ออกจากพื้นที่ และเป็นเหตุให้พวกเขาต้องเปลี่ยนวิถีชีวิต สนชัยมองว่า จากการทำประมงตั้งแต่เด็กเพื่อเลี้ยงครอบครัวแล้วเปลี่ยนเป็นการใช้ชีวิตแบบคนเมือง เป็นสิ่งที่น่าวิตกกังวล ด้วยความเป็นอยู่ ภาษา หรือระบบเครือญาติที่เป็นเอกลักษณ์ จึงมีบทเรียนว่าการไปอยู่ข้างนอกทำให้ไม่มีความสุขกับสังคมเมือง สุดท้ายคนกลุ่มนี้ก็จะกลับมาอยู่ในกลุ่มเครือญาติของตัวเอง

ที่จริงแล้วชาวเลกลุ่มต่างๆ เคยเสนอการทำการท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิตวัฒนธรรมเพื่อให้อยู่ร่วมกันกับการท่องเที่ยวเชิงพาณิชย์ที่รัฐสนับสนุนได้ ซึ่งมีหลายกลุ่มพยายามทำการท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิต แต่การสนับสนุนยังน้อยเกินไป โดยสนชัยต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้กลุ่มคนที่เป็นชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมอยู่ได้ โดยไม่มุ่งเน้นเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยวหรือธุรกิจ 

“ตอนนี้สหภาพยุโรปหรือทาง UNDP (United Nations Development Programme – สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ) ก็เห็นความสำคัญของกลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์กลุ่มนี้ มีโครงการช่วยสนับสนุนบางเรื่อง เช่น การดูแลทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต วัฒนธรรม แต่ปัญหาคือยังไม่ตรงจุด เพราะโจทย์ใหญ่คือคนกลุ่มนี้ไม่มีความมั่นคงเรื่องที่อยู่อาศัยและที่ดินเป็นหลัก ถ้ายังไม่แก้ที่ประเด็นหลัก ประเด็นอื่นๆ ก็ยังจะเป็นปัญหาอยู่ตลอด

“ผมว่าสิ่งที่ดีคือ รัฐบาลได้ขยับเรื่องกลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์ พี่น้องกะเหรี่ยง พี่น้องชาวเล ด้วยการทำร่างกฎหมายคุ้มครองและส่งเสริมพี่น้องกลุ่มนี้ แล้วมอบหมายให้ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรเป็นกองเลขาฯ ในการดำเนินการ เป้าหมายคือปี 2565 ที่จะถึงนี้ จะทำอย่างไรให้มีกฎหมายที่ส่งเสริมและคุ้มครองพี่น้องชาวเลและพี่น้องกะเหรี่ยงได้ ซึ่งตอนนี้กระบวนการและขั้นตอนคือร่างเสร็จแล้ว อยู่ในกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ให้พี่น้องมาดูว่ามีข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะอะไร แต่อาจจะล่าช้าเพราะโควิดทำให้การดำเนินการต่างๆ ล่าช้าไปตามๆ กัน”

สนชัยมองว่าสิ่งสำคัญคือการสื่อสารให้สังคมสาธารณะรับรู้และเข้าใจ เนื่องจากคนส่วนใหญ่ยังไม่ทราบว่ามีชาวเลอยู่ที่เกาะจำ อีกทั้งยังเข้าใจว่าเป็นกลุ่มชาวมุสลิมกลุ่มหนึ่ง หรือเมื่ออธิบายคำว่า ชาวเล ก็จะเข้าใจกันว่าเป็นกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านทั่วไป แต่ในความเป็นจริงคนกลุ่มนี้มีภาษา วิถีชีวิต และความเชื่อที่แตกต่างออกไป

“สิ่งที่ผมอยากพูดมี 3 อย่างคือ หนึ่ง-ในช่วงสถานการณ์โควิดแบบนี้ อยากให้ทางอุทยานหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนคำสั่งเสียใหม่ ว่าสมควรไหมที่จะมาไล่ชาวบ้านในช่วงที่มีผลกระทบอย่างนี้ เพราะได้รับความเดือดร้อนกันถ้วนหน้า สอง-ตอนนี้รัฐบาลกำลังดำเนินการช่วยเหลือพี่น้องกลุ่มนี้ในด้านต่างๆ อยู่ ดังนั้นต้องมีกลไกเพื่อเร่งดำเนินการไม่ว่าเป็นรัฐบาลชุดใด และสาม-อยากให้ภาครัฐสนับสนุนพวกเขาในฐานะที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์หรือกลุ่มชนพื้นเมืองดั้งเดิมของท้องทะเลอันดามัน ปัญหานี้แก้ได้ถ้าทุกฝ่ายร่วมกันแก้และเข้าใจซึ่งกันและกัน”

Author

ชัญญา อินทร์ไชยา
ชื่อเล่นญี่ปุ่น แต่เลือดอีสานแท้ เว่าลาวได้นิดหน่อย แมวคือสิ่งมีชีวิตที่ทำให้มีความสุข อาหารอร่อยและการ์ตูนสักเรื่องคือเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจ นิยามตัวเองเป็นเป็ดเพราะการเรียนรู้ไม่เคยสิ้นสุด

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า