58 ปี เสด็จประพาสหาดราไวย์ พระเจ้าแผ่นดินในทะเลทรงจำของชาวไทยใหม่

ปี 2502 แม้จะอายุ 12-13 ปีแล้ว แต่ตอนนั้นเขาเรียนอยู่เพียงชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เป็นเด็กโข่งที่ครูอนุญาตให้เรียนได้เพราะอยากเห็นชาวเลคนแรกที่เรียนจบ ป.4 ในขณะที่คนก่อนๆ ชิงจบการศึกษาด้วยการบ่ายหน้าจากเสาธงสู่ท้องทะเลตั้งแต่ ป.1 หรืออย่างมากก็ ป.2 เท่านั้น

มันเป็นวันที่พร่าเลือนในทรงจำ แต่เดือนปีพุทธศักราชไม่ผิดพลาดเป็นแน่

มีนาคม พ.ศ. 2502 วันนั้นโรงเรียนวัดสว่างอารมณ์ ตำบลราไวย์ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต มีการสอบไล่ ‘เด็กชายหงีม ดำรงเกษตร’ ในชุดนักเรียนอยู่ที่นั่นเพื่อแข่งขันกับตัวเอง เสร็จสรรพเขากลับบ้าน และพบว่าชุมชนที่เคยมีผู้คนอยู่อาศัยกลับเงียบสงัด บางทีอาจมีเฉพาะคลื่นทะเลและสายลมเท่านั้นที่ยังส่งเสียง

“ไม่มีเลยสักคน ผมก็อาบน้ำ แต่งตัว แล้วเดินออกมาเรื่อยๆ กระทั่งเจอกับทหารองครักษ์ เขาบอกว่าในหลวงมาๆ เท่านั้นแหละผมวิ่งเข้าไปเลย” เขาลำดับฉากความทรงจำ

“พื้นที่รับเสด็จแบ่งเป็นสี่จุดหลักๆ จุดแรกเป็นคนไทย จุดที่สองเป็นชาวเลแต่ก็มีคนไทยปะปนด้วย จุดที่สามนี่ก็เป็นชาวเลอีกเหมือนกัน และจุดที่สี่เข้าไปในพื้นที่ชุมชน

“หลังจากพระองค์ท่านยืนดูชายหาด ดูเกาะ จากนั้นก็ขึ้นมาเยี่ยมชาวบ้าน”

เด็กชายหงีม ดำรงเกษตร วิ่งมารวมกับพี่น้องในกลุ่มที่สอง เขามาทันช่วงสำคัญพอดี ฉากพระราชปฏิสันถารของพระเจ้าแผ่นดินกับชาวเลเป็นภาพที่เขาจดจำทุกถ้อยคำจนถึงวันนี้

“ในหลวงถามชาวบ้านว่า ‘อยู่กันสบายดีไหม’ ชาวบ้านก็ตอบว่า ‘อยู่กันสบายดี’ ในหลวงถามอีกว่า ‘ทำอาชีพอะไร’ ชาวบ้านตอบว่า ‘ทำอาชีพประมง’ ในหลวงถามว่า ‘ทำอะไรบ้างละประมงนั่น’ ชาวบ้านตอบว่า ‘ทำปลา ทำหอย วางลอบ อะไรแบบนี้’

“แล้วในหลวงก็ถามอีกว่า ‘อยู่กันลำบากไหม’ ตอนนั้นก็ไม่มีปัญหาอะไรก็บอกว่า ‘อยู่กันสบาย ไม่เป็นไร อยู่กันสบายดี’ แล้วก็มีทหารองครักษ์คนหนึ่งมาพูดกับในหลวงว่า ‘นี่คือพวกชาวน้ำนะ’ ในหลวงก็บอกว่า ‘อย่าไปเรียกเขาอย่างนั้น ไม่ได้ ให้เรียกเขาว่าชาวไทยใหม่’ ก็เลยติดคำว่าไทยใหม่มาตั้งแต่วันนั้นเลย

“พระองค์ท่านพระราชทานนามว่าไทยใหม่ ตอนแรกไปเรียกว่าชาวน้ำเขาก็ไม่พอใจ เพราะใครๆ ก็เกิดจากน้ำทั้งนั้น”

หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชก็เสด็จจุดต่อไป แล้วทอดพระเนตรบ้านเรือนและเรือของชาวเล ส่วนเด็กชายหงีมไม่กล้าติดตามไปดูมากกว่านั้น เป็นเด็กนั่นก็ใช่ แต่เหตุผลสำคัญกว่านั้นคือเขากลัวทหาร และคนในเครื่องแบบ

“ราวปี 2488 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ชาวบ้านกลัวทหารมาก เห็นคนในเครื่องแบบไม่ว่าแต่งตัวสีกากีหรือสีอื่นใดเป็นต้องอยู่ให้ห่าง ขนาดหมอจะมาตรวจยังต้องเดินหนีเลย”

คนรุ่นก่อนหน้าเขาถือว่าผืนดินเป็นของพระเจ้าแผ่นดิน และใครจะเข้ามาอยู่อาศัยก็ได้ แต่พระเจ้าแผ่นดินที่หงีม ดำรงเกษตร พูดถึงก็เป็นเพียงภาพบนผืนกระดาษ บ้างจากหนังสือพิมพ์ บ้างปฏิทิน แต่ไหนแต่ไรพระเจ้าแผ่นดินเป็นผู้อยู่ห่างไกลที่พวกเขาได้แค่จินตนาการถึง การเสด็จพระราชดำเนินของในหลวงรัชกาลที่ 9 ไปถึงหน้าบ้านของเขาคราวนั้นจึงมีความหมายสำคัญสุดที่จะประเมินได้

“ไม่เคยมีมาก่อนที่พระเจ้าแผ่นดินจะมาถึงชุมชน เราก็ปรารถนาที่จะเห็นเจ้าบ้านเจ้าเมืองหรือพระเจ้าแผ่นดินอยู่แล้ว ถ้าได้เห็นก็นับเป็นบุญแล้ว เพราะกี่ชั่วอายุคนก็ไม่มีใครได้เห็น คราวนั้นจึงปลื้มใจมาก เพราะได้เห็นพระเจ้าแผ่นดินมาถึงชุมชน ก็คิดว่าตัวเองมีวาสนา คิดไปแบบนั้น”

หลายทศวรรษผ่าน จากที่เคยตอบคำถามพระเจ้าแผ่นดินว่า “อยู่ได้ สบายดี” ทุกอย่างกลับตาลปัตร

สึนามิเมื่อปี 2547 คือจุดเปลี่ยนสำคัญ หลังความเกรี้ยวกราดของผืนทะเลคือคดีความนับไม่ถ้วนที่ชาวไทยใหม่ต้องประสบพบเจอ โดยเฉพาะข้อพิพาทเรื่องที่ดิน

หากอยู่กลางผืนทะเลพวกเขาเป็นผู้ยิ่งใหญ่ แต่เมื่อต้องขึ้นโรงขึ้นศาล พวกเขากลายเป็นผู้ยิ่งเล็ก ตัวลีบ และไม่มีความรู้ใดๆ มากพอที่จะปกป้องตนเอง กระทั่งคนที่คงแก่เรียนมากที่สุดคนหนึ่งของชุมชนอย่างหงีม ดำรงเกษตร ยังจบเพียง ป.4 หลายร้อยชีวิตจึงตกเป็นจำเลยของ 20-30 คดีที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนให้พูดถึงในบัลลังก์ศาล

หงีม ดำรงเกษตร ชาวไทยใหม่ ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต / ภาพโดย: ชาญวิทย์ สายวัน

“หลังสึนามิมีการวางแนวเขตห้ามจับปลา ทำประมง ตามเกาะต่างๆ ก็ห้าม เริ่มมีปัญหา หลังสึนามิก็ทำมาหากินไม่สะดวกแล้ว

“นายทุนเขามีช่องทางที่จะเล็งว่าทำอะไรก็ได้ เพราะชาวเลไม่ค่อยรู้กฎหมาย ด้อยกว่าเพื่อน” หงีม ดำรงเกษตร อดีตเด็กชายที่กลายเป็นชายชราวัยเฉียด 73 ปี พูดถึงอดีตกาลเมื่อไม่นานมานี้

พสิษฐ์ ถาวรล้ำเลิศ เป็นหมอความให้กับชาวไทยใหม่มา 4-5 ปีแล้ว การช่วยทำคดีทำให้เขาได้ศึกษาข้อมูลของชุมชน และพบว่าคนที่นี่อยู่มานานอย่างน้อยเจ็ดชั่วคนแล้ว โดยสาเหตุที่ทำให้คนรุ่นหลังต้องต่อสู้ทั้งกับคลื่นทะเลและคดีความ ต้องย้อนไปสู่จุดเริ่มต้นที่สำคัญเมื่อปี 2497

“ปี 2497 เป็นปีที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ กฎหมายกำหนดว่าบุคคลใดที่ได้ถือครองที่ดินให้แจ้งการครอบครองที่ดิน ซึ่งก็มีการดำเนินการแจ้งการครอบครองที่ดินของตนกันหมด”

ใครๆ ก็แจ้งการเป็นเจ้าของแผ่นดิน ยกเว้นชาวไทยใหม่ ทั้งด้วยความเชื่อว่าแผ่นดินไม่ใช่ของตน และไม่มีความรู้มากพอ หลังจากนั้นไม่กี่ปีผืนดินที่ตัวเองอยู่อาศัยก็กลายเป็นกรรมสิทธิ์ของใครสักคน

ปี 2508 เอกสารแจ้งการครอบครองที่ดิน หรือ ส.ค.1 ก็กลายเป็นโฉนด มันหมายถึงสิทธิ์เต็มบนผืนดินกว้างยาวเหล่านั้นไม่ใช่ของเขาอีกต่อไป กระนั้นชาวไทยใหม่ก็อยู่อาศัยเรื่อยมากระทั่งเกิดปัญหาขึ้นหลังช่วงสึนามิ

ความเกรี้ยวกราดของท้องทะเลกวาดผืนดินจนราบเป็นหน้ากลอง การฟื้นตัวหลังธรณีวิบัติภัยมาพร้อมกับความพยายามที่จะจัดการที่ดินเพื่อรองรับการท่องเที่ยว ช่วงเวลานั้นผู้ถือครองเอกสารสิทธิ์ทางกฎหมายเริ่มดำเนินการขับไล่ชาวไทยใหม่ผู้ไม่มีใบรับรองใดๆ ออกไป แต่พวกเขาปฏิเสธด้วยเหตุผลสำคัญว่าที่นั่นคือ ‘บ้าน’ และมันมีความหมายเช่นนั้นตั้งแต่บรรพบุรุษแล้ว

การต่อสู้เริ่มต้น เฉพาะที่ดินประมาณ 19 ไร่ ริมหาดราไวย์มีหลายคดีเกิดขึ้น และหนึ่งในนั้นมีคดีหมายเลขดำ พ.1133/58 ที่ต้องพูดถึง คดีนี้ผู้มีชื่อถือครองที่ดินฟ้องขับไล่ชาวไทยใหม่ 4 รายออกจากพื้นที่ การสู้คดีต้องใช้หลักฐานหลายอย่างเพื่อหักล้างคำฟ้องของฝ่ายโจทก์

พสิษฐ์ ถาวรล้ำเลิศ ผู้เป็นทนายความของคดีนี้บอกว่า ศาลได้พิจารณาประเด็นหลักๆ ตามหลักฐานที่ให้ไปคือ การออกใบแจ้งครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) การทำประโยชน์ในพื้นที่ การเข้าเรียนของเด็กชาวเลในโรงเรียนวัดสว่างอารมณ์ และภาพการเสด็จพระราชดำเนินของในหลวงรัชกาลที่ 9

“การเข้าเรียนที่วัดสว่างอารมณ์นั้นเป็นช่วงก่อนปี 2497 ซึ่งเป็นปีที่มีการออกใบ ส.ค.1 ขณะนั้นมีชาวเลไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดสว่างอารมณ์ ตำบลราไวย์ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ซึ่งจากการตรวจสอบของผู้อำนวยการโรงเรียนพบว่ามีชาวเลมาเรียนในชั้น ป.1 ประมาณ 30 คน

“ชาวเล 30 คนนั้นอย่างน้อยต้องอาศัยอยู่ที่หาดราไวย์แล้วในช่วงของปี 2497 แล้วมาประกอบกับในส่วนของแบบแจ้งการครอบครองใบ ส.ค.1 ซึ่งมีการสืบพยานนั้นทางฝ่ายของโจทก์ก็ได้ยอมรับว่าเดิมผู้ครอบครองซึ่งเป็นผู้ขอออกโฉนดอยู่อีกฝั่งของที่ดินในปัจจุบันนี้ และเขาก็ยอมรับอีกว่ามีชาวเลอยู่ก่อนแล้วจริงในพื้นที่

“อีกทั้งหลักฐานในการออกใบ ส.ค.1 ได้ขัดแย้งกันกับใบไต่สวนตรงที่มีรายชื่อเพิ่มเข้ามาโดยที่ไม่มีการเซ็นกำกับ และเป็นการเพิ่มเข้ามาโดยไม่ตรงกับเอกสารที่เจ้าหน้าที่ที่ดินเก็บเอาไว้

“ลักษณะของการใช้ประโยชน์ก็มีการเขียนขัดกัน อย่างเช่นในส่วนของใบไต่สวนเขียนว่า ได้มีการทำประโยชน์ในพื้นที่มาประมาณ 10 ปี ใบใต่สวนออกปี 2508 ดังนั้นก็ย้อนไปถึงเพียงปี 2498 ไม่ถึงปี 2497 ก่อนออกโฉนดแต่อย่างใด ประกอบกับในใบไต่สวนมีความชัดเจนว่ามีชาวเลอยู่ แต่ไม่ได้ระบุว่าในพื้นที่พิพาทนั้นมีชาวเลอาศัยอยู่ กลับยืนยันถึงกรรมสิทธิ์ของฝั่งผู้ออกโฉนด ทำให้ศาลดูว่าโฉนดเริ่มมีปัญหา เนื่องจากการแจ้งครอบครองมีปัญหา

“นอกจากนี้ก็มีหลักฐานของการขุดโครงกระดูก ซึ่งจากการตรวจสอบก็พบว่าเป็นกระดูกของชาวเลซึ่งฝังอยู่บริเวณนั้นไม่ต่ำกว่า 60 ปีแล้ว การตรวจนี้ยืนยันโดยหน่วยงานของกรมศิลปากรและหน่วยงานนิติวิทยาศาสตร์

“ขณะที่ภาพการเสด็จพระราชดำเนินของในหลวงรัชกาลที่ 9 นั้นจากการตรวจสอบแล้วสอดรับกับพื้นที่ปัจจุบัน เช่น บริเวณที่พระองค์ท่านประทับยืนนั้นด้านหลังเป็นเกาะบอน เกาะเฮ และจากภาพดังกล่าวก็จะพบต้นมะพร้าวที่มีการทำประโยชน์มาไม่น้อยกว่า 40-50 ปีแล้ว แต่ฝั่งผู้ออกโฉนดแจ้งแต่เพียงว่ามีการทำประโยชน์มา 10 ปี มันก็เลยขัดกับภาพเสด็จของในหลวง

“ทั้งหมดพอมาประกอบสรุปผลกันแล้วศาลเชื่อว่าการออกโฉนดน่าจะมีปัญหา ก็เลยชนะคดีไป” พสิษฐ์ ถาวรล้ำเลิศ ผู้เป็นทนายความลำดับเรื่องคดีให้ฟังอย่างย่นย่อ

ชัยชนะในคดีที่ศาลชั้นต้นเพิ่งอ่านคำพิพากษาเมื่อ 31 มกราคม 2560 เป็นเพียงยกแรก เพราะหลังจากนั้นฝ่ายโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ โดยพฤศจิกายน 2560 นี้ศาลจะอ่านคำพิพากษา และจะเป็นอีกครั้งที่ชาวไทยใหม่แห่งหาดราไวย์ จังหวัดภูเก็ต จะต้องละจากแผ่นดินผืนน้ำที่คุ้นเคยสู่ห้องพิจารณาคดี

มันเป็นการต่อสู้ทางกฎหมายโดยไม่มีทีท่าว่าจะจบสิ้น ราวกับเกลียวคลื่นแห่งคดีความที่ไม่รู้จะสงบลงเมื่อไร

Author

โกวิท โพธิสาร
เพลย์เมคเกอร์สารพัดประโยชน์ผู้อยู่เบื้องหลังเว็บไซต์ waymagazine.org มายาวนาน ก่อนตัดสินใจวางมือจากทีวีสาธารณะ มาร่วมปีนป่ายภูเขาลูกใหม่ในฐานะ ‘บรรณาธิการ’ อย่างเต็มตัว ทักษะฝีมือ จุดยืน และทัศนคติทางวิชาชีพของเขา ไม่เป็นที่สงสัยทั้งในหมู่คนทำงานข่าวและแม่ค้าร้านลาบ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า